Please wait...

<< Back

" มุ่งไกลในรอยทราย วันจันทร์ที่ 16 เมษายน 2533 "


(น.248) รูป 158. ถ่ายรูปกับอูฐ
Posing for a picture with a camel.

(น.248) เรากลับมาพักที่โรงแรมอีกพักหนึ่ง ข้าพเจ้าขอถือโอกาสตรงนี้อธิบายเกี่ยวกับตุนหวงเพิ่มเติมสักเล็กน้อย แต่ก่อนข้าพเจ้าเคยคิดว่าตุนหวงคือถ้ำ ไม่ทราบว่าเป็นเมืองทั้งเมือง ตั้งแต่ในสมัยที่เส้นทางสายแพรไหมยังเป็นเส้นทางเดินทางสำคัญ หลังจากนายพลหัวชู่ปิ้งรบชนะพวกฉยุงหนูแล้วตุนหวงก็เป็นที่มั่นของจีน ได้มีการก่อสร้างกำแพงเมืองจีนมาจนถึงที่เมืองนี้ อันเป็นแหล่งเสบียงอาหารท่ามกลาง

(น.249) ทะเลทราย ถ้ำโมเกาเป็นที่อยู่ของพวกพ่อค้าวาณิชที่ต้องเสี่ยงภัยเดินทาง จึงสร้างถ้ำประดิษฐานพระในเขตตุนหวงนี้ ถ้ำแรกสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 พวกทิเบตยึดอำนาจในตุนหวงพักหนึ่ง กองทัพจีนยึดคืนในสมัยราชวงศ์ถังในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 พวกอุยกูร์ (บรรพบุรุษของเววูเอ๋อร์) ครองอำนาจในแคว้นซาโจว (ตุนหวง) มีการแต่งงานระหว่างตระกูลขุนนางจีนที่ตุนหวงกับตระกูลกษัตริย์เหอเถียน คริสต์ศตวรรษที่ 11 ตกอยู่ใต้อิทธิพลอาณาจักรซีเซี่ย พอคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นของอาณาจักรมองโกล ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ศาสนาอิสลามเผยแพร่มาแถบนี้ เมืองตุนหวงก็ซบเซาไปพักหนึ่ง จนถึงราชวงศ์ชิงก็ได้ทำนุบำรุงขึ้นมาใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตั้งแต่หวางเต้าซือพบคัมภีร์ในถ้ำ ข่าวก็ร่ำลือ พวกนักโบราณคดีฝรั่งพากันมาตุนหวงเพื่อมาซื้อคัมภีร์ ภาพเขียน พระพุทธรูปที่พอจะขนไปได้ จึงได้เกิดวิชาการศึกษาตุนหวงสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ที่เรียกว่าถ้ำโมเกาอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตุนหวง มีลักษณะเป็นภูเขาเตี้ยๆ เจาะเป็นถ้ำจำนวนมหาศาล ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4-14 ถ้ำที่ยังอยู่ในสภาพดี มีภาพเขียนฝาผนัง ภาพปูนปั้น มีจำนวนเกือบ 500 ถ้ำ เนื้อหาเรื่องที่เขียนมีหลายอย่าง ทั้งนิทานชาดกและพุทธประวัติ เพื่อแสดงถึงการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของศิลปะจีนในด้านตัวภาพและลวดลาย ภาพสลักมักจะยึดแบบศิลปะอินเดีย ซึ่งขยายอิทธิพลด้านพุทธศาสนามาจากเอเชียกลาง จะมีอิทธิพลศิลปะแบบกรีก (ศิลปะคันธาระ) อยู่บ้าง แต่การใช้สีจะเป็นแบบจีน

(น.250) ภาพที่ข้าพเจ้าคิดว่าน่าสนใจแต่ไม่มีโอกาสดู เพียงแต่ได้เห็นในภาพคือภาพของผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้ขุดถ้ำ ในสมัยเป่ยเว่ยและสุย (คริสต์ศตวรรษที่ 4-7) จะวาดเป็นภาพเล็กๆ จะวาดเป็นภาพใหญ่แต่งตัวหรูหราในสมัยถัง เมื่อเป็นที่ทราบกันว่าถ้ำโมเกามีสมบัติก็มีนักวิชาการฝรั่งมากันเต็มไปหมด ค.ศ. 1905 เซอร์ออเรล สไตน์ ซื้อหนังสือจากหวางเต้าซือเป็นเงิน 130 ปอนด์ สำหรับซ่อมถ้ำ ที่ได้ไปเป็นของดีๆ ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัชรสูตรฉบับพิมพ์ ค.ศ. 868 เป็นหนังสือที่พิมพ์เก่าที่สุดในโลก ขณะนี้หนังสือต่างๆ อยู่ที่บริติชมิวเซียมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเดลลี
ค.ศ. 1908 พอล เปลิโยต์ ไปที่ถ้ำ เจอของเหลือจากสไตน์ยังตื่นเต้นแทบแย่ ยอมจ่ายอีก 90 ปอนด์เพื่อซื้อไว้เป็นสมบัติของตน ขณะนี้ของที่เปลิโยต์ซื้ออยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์
ค.ศ. 1911 ญี่ปุ่นมาเอาของ 1914 รัสเซียก็มาอีก มีพวกที่ใช้กาวลอกเอารูปภาพไป การลอกภาพหรือเอาของไปเช่นนี้ก็มองได้ 2 แง่ มองแง่หนึ่งก็ถือว่าเป็นการปล้นวัฒนธรรม
เพราะโบราณวัตถุควรอยู่ในสถานที่ที่ค้นพบจึงจะใช้เป็นที่ศึกษาได้ แต่ผู้ที่นำโบราณวัตถุและเอกสารต่างๆ ไปก็อ้างว่านำไปเพื่อศึกษาและเก็บรักษาให้อยู่ยงเป็นสมบัติวัฒนธรรมของโลก และเป็นเกียรติแก่ประเทศที่เป็นเจ้าของว่ามีอารยธรรมรุ่งเรืองมาแต่โบราณ อย่างไรก็ตามของที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม รวมทั้งภาพเขียนฝาผนังก็ควรจะอยู่ที่สถานที่ดั้งเดิมจะเป็นประโยชน์ด้านการศึกษามากกว่า สำหรับคัมภีร์หรือเอกสาร ถ้ามีเยอะแยะเก็บไว้ที่ต่างประเทศบ้างก็ดี เพราะเขามีที่เก็บเอกสาร รักษาความชื้นและอุณหภูมิอย่างดี การที่จะสร้างที่เก็บแบบนี้ทั้งหมดก็สิ้นค่าใช้จ่ายมาก อาจจะใช้วิธีทำบรรณานุกรมก็ได้

(น.251) ออกเดินทางจากตุนหวง คุณเฉิงบอกว่าจะส่งแขกไกลแค่ไหนก็ต้องจากกัน ถ้าข้าพเจ้ามาที่กานซูอีกทีให้ไปที่ไหมจี๋ซาน มีเอกลักษณ์ในด้านการแกะสลัก จากนั้นก็คุยกันเรื่องปัญหาปากท้อง การทำมาหากิน คุณเฉิงเป็นเลขาธิการมณฑลก็มีความรู้ในเรื่องเช่นนี้เป็นอย่างดี เล่าให้ฟังว่าชาวนาจีนต้องการปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง แต่รัฐบาลมีไม่พอให้ ทั้งๆ ที่อยากสนับสนุนให้ทำนา จะให้ใช้ปุ๋ยคอกก็ไม่ทันอกทันใจ ปุ๋ยเคมีที่รัฐบาลผลิตไม่เพียงพอต้องซื้อจากต่างประเทศ ข้าพเจ้าบอกว่ามาคราวนี้ไม่มีเวลาที่จะไปดูงานทางด้านเกษตร เพราะเป็นเรื่องที่ชอบมาก ก่อนมาข้าพเจ้าอ่านข้อมูลว่าที่หลานโจวมีสถาบันวิจัยทะเลทราย มณฑลกานซูมีทะเลทรายใหญ่ คงจะหาวิธีที่จะทำการเพาะปลูกหรือปรับปรุงพื้นที่ได้ เมืองไทยมีที่เป็นทรายมาก ถึงจะไม่เป็นทะเลทรายก็อาจจะมีอะไรที่น่าสนใจก็ได้ คุณเฉิงบอกว่ายังมีสถาบันวิจัยธารน้ำแข็ง สถาบันวิจัยดินฟ้าอากาศในที่ราบสูง เรื่องสำคัญของมณฑลกานซู คือเรื่องขาดน้ำ ที่ดินมีกว้างขวาง แต่ก่อนนี้เดินทางยากมาก เพราะขาดแคลนน้ำ พูดกันว่ามีน้ำก็มีนา มีนาก็มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเข้ารัฐ พูดถึงเรื่องการเดินทางตอนจัดหมายอยากให้ข้าพเจ้าค้างอีกสักคืนสองคืน แต่ตอนนี้ไม่มีสนามบินต้องเดินทางด้วยรถไฟจึงเสียเวลาไปกับการเดินทาง ทางรถไฟที่ไปในทะเลทรายบางทีก็มีปัญหาที่ทรายมักจะมาถมในราง บางทีก็ต้องเอาฟางข้าว หญ้าอูฐหรือหงหลิวกั้นทรายไว้ ถ้ามีเวลาคราวหน้าเขาคิดจะจัดให้ไปที่หยางกวนน่าสนใจมาก เราอาจจะเข้าไปขอ

(น.252) รับประทานอาหารในบ้านชาวนา แต่ก่อนนี้เคยมีบทกวีของหวางเหว่ย กวีสมัยราชวงศ์ถังว่า
ฝนในเมืองเว่ยตอนเช้าทำให้ฝุ่นบนพื้นดินเปียกชื้น
กิ่งอ่อนของต้นหลิวที่โรงแรมเป็นสีเขียวอ่อน
ขอให้เพื่อนดื่มสุราอีกสักจอก
เพราะเมื่อออกจากด่านหยางกวนไปทางตะวันตก ท่านจะไร้ผู้คุ้นเคย
สองบรรทัดสุดท้ายสมัยใหม่เขาเปลี่ยนไปเป็นว่า
“อยากให้เพื่อนกินแตงโมเสี้ยวหนึ่ง
ออกจากด่านหยางกวนจะไม่คิดถึงบ้าน”
ข้าพเจ้าบอกว่ารู้จักบทกวีนี้ คุณเฉิงบอกว่าบทกวีจีนสมัยราชวงศ์ถังนั้น แม้แต่สำหรับคนจีนก็ถือว่ายาก สมัยใหม่เข้าใจได้ไม่ลึกซึ้ง มีสุภาษิตจีนอยู่บทหนึ่งว่า “บทกวีนั้นต้องเข้าใจด้วยตนเอง ช่วยอ่านให้ไม่สำเร็จ” คุณเฉิงพูดถึงการเป็นนักวิจัยที่ตุนหวงว่าเป็นคนที่เสียสละแม้แต่เรื่องครอบครัว คุณเฉิงว่าเคารพจิตใจในการค้นคว้าของพวกเขามาก คนขับรถคือคุณหวางอธิบายว่า ในหยางกวนมีหลุมศพโบราณมากเพราะเป็นสนามรบ ใครตายก็ฝังเอาไว้ตรงนี้เลย มีทั้งศพขุนนาง และทหาร การขุดค้นแถวๆ นี้ไม่ค่อยพบอะไรมาก เพราะศพพลทหารมักจะไม่มีอะไร หลุมศพที่อยู่บริเวณตุนหวงจะพบวัตถุมากกว่า เพราะเป็นหลุมของขุนนาง ช่างวาดภาพหรือพระ คุณเฉิงกลับมาพูดถึงการทำไร่ทำนาอีกครั้งหนึ่งว่า การส่งน้ำหล่อเลี้ยงนานั้นจะให้น้ำทีเดียวมากเกินไปก็ไม่ดี ทำให้เป็นนาเกลือเพราะเกลือมากับน้ำ ฉะนั้นต้องให้สม่ำเสมอ การปลูกข้าวก็จะใช้ข้าวพันธุ์พิเศษ ต้องปลูก


(น.253) รูป 159. หลังจากขี่อูฐแล้วก็กลับขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางไปมณฑลซินเกียง
After a camel ride, we were back to the train heading to Xinjiang.

(น.253) หลายๆ ครั้ง ปีสองปีแรกหวังผลอะไรไม่ได้ เป็นการทำเพื่อปรับปรุงพื้นที่ สามสี่ครั้งจึงจะสำเร็จผล ได้ผลมาแล้วบริเวณแม่น้ำหวงเหอ วิธีการที่ใช้แต่ละแห่งไม่เหมือนกันต้องค้นคว้า และที่เราอาจจะเห็นว่าทะเลทรายที่นี่เป็นกรวดดูน่าเกลียด แต่มีประโยชน์มาก เพราะกรวดช่วยให้น้ำระเหยไปช้า คุณหวางเสริมว่าวิธีการที่เล่ากันมานี้เป็นวิธีของมณฑลกานซูเท่านั้น สภาพของกานซูมีหินมาก ที่อื่นไม่มีหินก็จะใช้หินแก้น้ำระเหยไม่ได้ ที่กานซู


(น.254) รูป 160. รอเวลาจนกว่ารถไฟจะออก
Waiting for the departure.


(น.254) รูป 161. เที่ยวนี้เราอยู่ในรถไฟสิบกว่าชั่วโมง เวลาสว่างก็ชมวิวทะเลทราย บางเวลาก็ผ่านเมืองหรือหมู่บ้าน ถ้าไม่เห็นวิว (เพราะมืด) ก็นั่งเขียนเรื่องหรือคุยกันเอง
The Time we were on the train for more than ten hours. While it was still light we enjoyed the scenery such as the desert, villages and towns; otherwise we wrote and chatted.

(น.255) นี้ปลูกแตงโมได้งามดี คุณเฉิงก็เลยเล่าต่อว่าถ้ามีเวลาน่าจะดูทุ่งหญ้ากานซูกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด สีเขียว มีภาษากวีบรรยายว่า ท้องฟ้าสีเขียว ดินเขียว เห็นแต่แพะแกะในพื้นที่สีเขียว รถก็เกือบจะถึงสถานีหลิ่วหยวนอยู่แล้ว คุรเฉิงบอกว่าถ้าขับเร็วๆ ป่านนี้ก็ถึงแล้ว แต่ขับรถขบวนต้องขับให้พอดีๆ กล่าวโดยทั่วไปการทำอะไรพอดีๆ นั้นดี แต่ในเรื่องหน้าที่การงานคุณเฉิงบอกว่าทำแต่พอดีทำให้ไม่ก้าวหน้า ที่สถานีรถไฟ มีเจ้าหน้าที่จากซินเกียงมารับ 2 คน คือคุณจูหม่าหง ผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์ เป็นชาวเววูเอ๋อร์ กับเจ้าหน้าที่พิธีการทูตของวิเทศสัมพันธ์ เป็นชาวคาซักชื่อโมฮัมหมัด พวกเราลาและขอบคุณพวกกานซูที่ได้ดูแลเราเป็นอย่างดีมาหลายวัน พวกกานซูไปกันแล้วแต่รถก็ยังไม่ออก เพราะหัวรถจักรที่จะมาลากรถเราไปมาไม่ตรงเวลา พอสองทุ่มครึ่งเราจึงกินข้าวทั้งๆ รถยังจอด รถออกร่วมสี่ทุ่ม คุยกันไปจนจะสองยาม เข้าห้องไปนั่งเขียนหนังสือ กว่าจะหลับจริงๆ ก็เห็นจะถึงตีสี่ แถมนอนแล้วฝันเห็นผี