Please wait...

<< Back

" มุ่งไกลในรอยทราย วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2533 "


(น.325) รูป 211. สามัคคีชุมนุมภาษาจีน ไทย และฝรั่ง (แถม)
Singing Auld Lang Syne.

(น.325) จบรายการข้าพเจ้าขอพูดขอบคุณทุก ๆ คนที่ “ร่วมเป็นร่วมตาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข” มาด้วยกัน ทำให้การสำรวจสำเร็จผลตามความมุ่งหมาย สุดท้ายเชิญชวนดื่ม (คราวนี้ใช้น้ำชา) ที่ปรึกษาเช่ากล่าวตอบในนามฝ่ายจีน สุดท้ายข้าพเจ้ามอบของขวัญให้ท่านที่ปรึกษาเช่า คุณหลี่ ครูกู้ คุณจาง คุณเจียง ซานตงต้าฮั่น คุณหยาง คุณเติ้งอิง และคุณหลิว เป็นอันเสร็จพิธีอำลาของจีน พวกจีนเขาก็ลาออกไปจากห้อง เหลือแต่พวกไทย ตอนนี้ก็จะ

(น.326) เป็นการอำลาของไทย เริ่มด้วยท่านทูตกล่าวถึงการที่ได้ไปด้วยกันเป็นเวลาถึงสองอาทิตย์ ต่างก็ได้เรียนรู้อะไร ๆ มอบของขวัญให้ข้าพเจ้าเป็นสมุดแสตมป์จีน แสตมป์พวกนี้สวยมาก ดวงใหญ่ ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะติดจดหมายจริง ๆ ได้ไหม ติดแล้วดวงเดียวก็เกือบจะไม่มีที่เขียนที่อยู่ ท่านทูตบอกว่าขืนเอาแสตมป์แบบนี้จดหมายไม่ต้องถึง ต้องหายไปก่อนกลางทาง ข้าพเจ้าขอบคุณทุกท่าน ท่านทูต คุณติ๋ม ท่านผู้ช่วยทูตทหารสามเหล่าทัพ (ที่ช่วยมาเป็นองครักษ์) คุณจารุพล คุณวิชัย ข้าพเจ้ามีของที่ระลึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ และฝากให้น้องยาใจลูกสาวท่านทูตด้วย ข้าพเจ้าได้รับความช่วยเหลือจากทุกท่านอย่างมาก ได้รับความรู้ความคิดเห็น ความสุขสบายทั้งกายและใจ ถ้าข้าพเจ้าทำอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วย เมื่อถ่ายรูปเสร็จเรียบร้อยแล้วรีบขึ้นไปเก็บของ เพราะเขาจะเอากระเป๋าตั้งแต่ห้าทุ่ม เที่ยวนี้ได้เห็นมณฑลซินเกียงตามคำแนะนำของท่านทูตเสิ่นผิงผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นมณฑลที่กว้างใหญ่ มีลักษณะทางภูมิศาสตร์หลายอย่าง ทั้งเขาสูง ทุ่งหญ้า ทะเลทราย หิมะ ธารน้ำแข็ง ด้านเหนือเป็นแอ่งจุงการ์ เป็นทุ่งหญ้าซึ่งเป็นที่อยู่ของชนเผ่าเร่ร่อน ด้านใต้เป็นแอ่งทาริม มีดอนเขียวที่อุดมสมบูรณ์อยู่เป็นหย่อม ๆ ล้อมรอบทะเลทรายตากลามากันที่น่าสะพรึงกลัว มณฑลนี้เป็นแหล่งแร่ธาตุ ทรัพย์ในดินมีทั้งน้ำมัน ถ่านหิน ทอง เงิน พลวง ทองแดง และหยก ด้านเกษตรก็เป็นแหล่งผลไม้ ผัก ข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ฝ้าย ยาสูบ พืชน้ำมัน หัวผักกาดหวาน ถ้ามีการพัฒนาคมนาคมดีขึ้นข้าพเจ้าคิดว่าซินเกียงคงจะเป็นมณฑลทีมีความสำคัญที่สุดของจีนในด้านเศรษฐกิจ

(น.327) หลังการท่องเที่ยวในจีน ได้กลับมาร่วมการประชุมซิมโปเซียมที่สถาบันรีโทเซนซิ่ง มหาวิทยาลัยมิชิแกน มาจัดในเมืองไทยทันที ประชุมคราวนี้มีคนจีนมาร่วมด้วยมากและส่งบทความหลายบท พวกนักวิชาการจากสภาวิจัยแห่งชาติของจีน (Academia Sinica) และกระทรวงทรัพยากรธรณี ได้เสนอบทความเกี่ยวกับซินเกียง ข้าพเจ้าเลยได้เอกสาร รวมทั้งภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเขาได้อธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจกระจ่างขึ้น เนื่องจากได้ไปเห็นของจริงมาแล้ว เขาบอกว่าถ้าอยากทราบอะไรเพิ่มเติมเขียนไปถามเขาได้ ตัวอย่างบทความที่ข้าพเจ้าว่าน่าสนใจคือการศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยาของบริเวณทางเหนือของซินเกียง แถว ๆ เทือกเขาอัลไต มองเห็นโครงสร้างหินแกรนิตรูปกลม โครงสร้างหินทรายและหินปูนที่ถูกบีบอัด ที่ราบรูปพัดตามเทือกเขา ข้าพเจ้าหวังว่าคงจะได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านนี้อีก