Please wait...

<< Back

กวนอู

จากหนังสือ

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง หน้า 36

(น.36) ด้านนอกแขวนสำเนาจารึก รูปพระตั๊กม้อ และรูปบทกวีของกวนอูซึ่งประดิษฐ์ตัวอักษรเป็นใบโพ ข้าพเจ้าเคยเห็นตั้งแต่มาเมืองจีนครั้งแรก พระศากยมุนีทำด้วยหินหยก ติดรูปพุทธประวัติซึ่งแขกพิมพ์

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 226

(น. 226)จากนั้นไปเป่ยกู้ซาน ซึ่งมีอยู่ 3 ยอด ยอดข้างหน้าสมัยโบราณเป็นวังของซุนกวน ปัจจุบันเป็นสวนพฤกษชาติที่งามด้วยต้นไม้ใหญ่ ไม้ดอก ไม้ใบนานาชนิด ในสวนมีรูปจำลองเหตุการณ์สำคัญๆ ในเรื่องสามก๊ก เช่น ตอนเล่าปี่ กวนอู เตียวหุยดื่มน้ำสาบานกันในสวนท้อ ตอนเล่าปี่ไปหาขงเบ้ง มีสระที่เล่ากันว่าเป็นที่ที่เล่าปี่และซุนกวนทดลองกระบี่ฟันหินขาดเป็นสองท่อน ตามทางขึ้นเขามีต้นไม้เล็กๆ ดอกสีม่วงเรียกว่า ผักจูกัดเหลียง เป็นผักที่ขงเบ้งให้ทหารกินเมื่อไม่มีอะไรจะกิน แสดงว่าขงเบ้งรู้เรื่องต้นไม้ว่าอะไรกินได้อะไรกินไม่ได้ คนอธิบายบอกว่ารสชาติเหลือทน แต่ดอกสวยดีขึ้นเต็มไปทั้งเขา

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 90

(น.90) ประตูทางเข้าเป็นซุ้มหินอัดแกะสลักเป็นลวดลายภาพนูนสูง เล่าเรื่องสามก๊ก ตอนเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยสาบานเป็นพี่น้องกัน ทั้งประตูด้านตะวันตกและด้านตะวันออกมีซุ้มประตูที่มีลวดลายสลักเช่นนี้ หินอัดที่ว่านี้เขาเรียกว่าเป็นหินขี้เถ้า ไม่ใช่หินแท้ๆ แต่เป็นวัสดุผสมทำจากปูนผสมขี้เถ้าจากการเผาหอย กระดาษ ฟางข้าว และทราย มีคนบอกว่าตุ๊กตาอับเฉาที่เรานำจากเมืองจีนมาประดับสถานที่ต่างๆ ก็ไม่ใช่หินจริง เป็นวัสดุผสมประเภทนี้ ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลยว่าตุ๊กตาทุกตัวเป็นวัสดุประเภทนี้ การหาหินมาสลักน่าจะทำได้ง่ายกว่า หลังคาศาลเจ้ามีเครื่องประดับสันหลังคามาก จนนกเกาะได้ยาก เครื่องประดับหลังคาแบบนี้คงจะเหมือนกับบราลีสถาปัตยกรรมไทย เครื่องประดับสันหลังคานี้ทำด้วยเครื่องเคลือบดินเผาทั้งสิ้น ฝีมือละเอียด สสวยงามมาก รอด ขื่อ ตงเป็นไม้แกะสลัก เป็นลวดลายและเรื่องราวส่วนมากเป็นเรื่องตำนานโบราณหรือเรื่องงิ้ว

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 214

(น.214) จากศิลาจารึกนี้จะเห็นพัฒนาการของตัวหนังสือจีน มีทุกแบบตั้งแต่แบบจีนโบราณที่เป็นรูปภาพ ปัจจุบันนี้เขาเอาแผ่นกระจกปิดจารึกทั้งหมด จะแอบดอดมาทำ rubbing ไม่ได้เลย รูปหนึ่งเป็นรูปแผนที่ภูเขาในสมัยราชวงศ์ เช็ง มีภูเขา หัวซาน ของมณฑลส่านซี อีกรูปเป็นแผนผังเมือง รูปที่สวยมากรูปหนึ่งใช้ตัวหนังสือจีนเขียนบทกวี แต่ประดิษฐ์ตัวอักษรเป็นรูปใบไผ่ เป็นคำพูดของ กวนอู ที่ไม่ยอมทรยศต่อ เล่าปี่ แต่ไม่ได้เป็นจารึกสมัยนั้น ช่างสลักสมัยหลังมาเขียนขึ้น ใบไผ่มองดีๆ เป็นอักษรที่อ่านได้ –

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 106 - 107

(น.106) นั่งสักพักมีสาวสวยใส่กี่เพ้าแนะนำตัวว่าเป็นไกด์ พรรคพวกเรามีแต่สงสัยว่า ใส่กี่เพ้าแบบนี้อุตส่าห์เดินขึ้นเขามาได้ ที่จริงรู้สึกว่าเขาจะเดินขึ้นมาชุดธรรมดา แล้วมาเปลี่ยนข้างบน มีแผ่นหินเขียนกลอนไป๋ตี้เฉิงเป็นลายมือโจวเอินไหล ไปไป๋ตี้เมี่ยว มีศาลาสร้างขึ้น ค.ศ. 1984 ทำหุ่นเรื่องสามก๊กมีหลายตอน เช่น ตอน ค.ศ. 219 กวนอูไปเฝ้าพระเจ้าเล่าปี่ ตอนนั้นพระเจ้าเล่าปี่อยู่ในป่า ลู่ซุ่น (ลกซุ่น) ส่งทหารมาเผาป่า พระเจ้าเล่าปี่แพ้หนีเข้าไป๋ตี้ซึ่งสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกว่าเป๊กเต้ ค.ศ. 223 พระเจ้าเล่าปี่ประชวรหนักจึงส่งหนังสือไปเฉิงตู ขอให้ขงเบ้งมาหาแล้วฝากลูก 2 คน ให้ถือขงเบ้งเป็นพ่อ เมื่อมอบลูกให้แล้ว 2 เดือนเล่าปี่ก็ตาย สถานที่ตายจริงๆ ขณะนี้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูที่เฟิ่งเจี๋ย เรื่องนี้สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนอยู่ตอนที่ 66

(น.107) ป่าจารึก รวบรวมศิลาจารึกที่เจอในอันฮุย เฟิ่งเจี๋ย ห้องที่เป็นศาลเจ้ามีรูปเคารพเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ขงเบ้ง สร้างในราชวงศ์หมิง ข้างนอกมีกวนซิงถิง (หอดูดาว) 6 เหลี่ยม เขาว่าเป็นหอที่ขงเบ้งดูดาว หอนี้ที่จริงสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงนี่เอง

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 169 - 177

(น.169) ไปที่ศาลเจ้า มีรูปเคารพของเตียวหุย ขงเบ้ง เล่าปี่ และกวนอู เรียงกันจากซ้ายไปขวา มีโต๊ะทรายเป็นแผนที่บริเวณนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นเนินสามเนิน คือ ชื่อปี้ หนานผิง และจินหลวนซาน ศาลเจ้านี้เป็นศาลเจ้าลัทธิเต๋า มีนักพรตเต๋าแซ่หลี่ อายุ 81 ปี แสดงการตีกลองปาเจิ้นกู่ตามจังหวะแบบโบราณ

(น.177) ไปที่ห้องหนึ่ง ซึ่งทำหอจำลองนกกระเรียนเหลืองในสมัยต่างๆ เล่าประวัติว่าหอนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสามก๊กประมาณ ค.ศ. 223 ซุนกวนสร้างเป็นหอดูข้าศึก เขาเล่าเรื่องสามก๊กตอนเล่าปี่ตีกังตั๋ง เรื่องกวนอูฆ่าตัวตาย สมัยราชวงศ์ถัง เป็นสถานที่ใหญ่โตหรูหรา มีหลายตึก สมัยราชวงศ์ซ่ง ก็ใหญ่เหมือนราชวงศ์ถัง สมัยราชวงศ์หยวน ใช้ในทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงคือ เอาไว้ดูข้าศึก

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 239

(น.239) อีกห้องมีรูปกวนอู สร้างสมัยราชวงศ์หมิง นอกจากกวนอู มีรูปโจวชังและกวนผิง (กวนผิงเป็นลูกชายกวนอู) กวนอูเป็นคนไฮ่โจว (อักษรตัวนี้เขียนแล้วทั่วไปเขาอ่านกันว่า เจี่ย แต่คนเมืองนี้อ่าน ไฮ่ และเชื่อกันว่ากวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งเงินตรา) ห้องเล็กๆ อีกห้องเป็นที่ประดิษฐานเทพสูงสุดของเต๋า คือ ไท่อี้เจินเหริน (มหาเทพ) สองข้างมีเด็กรับใช้ คนหนึ่งเรียกว่า เย่าถง มีหน้าที่ต้มยา อีกคนหนึ่งเรียกว่า ซูถง มีหน้าที่รับใช้บุตรหลานผู้มีอันจะกินในเวลาเรียนหนังสือ เช่น ช่วยฝนหมึก หยิบหนังสือให้