<< Back
เจียงซู
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า24
(น.24) ไปกงหวังฝู่ เป็นวังเก่าตั้งแต่สมัยจักรพรรดิหงอู่ ราชวงศ์หมิง แต่ไม่เหลือร่องรอยของสมัยนั้นแล้ว สมัยราชวงศ์ชิง เหอเซิน (ค.ศ. 1750-1799) เสนาบดีผู้เป็นนักปราชญ์ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง เคยได้มาอยู่วังนี้ แต่ในที่สุดเสนาบดีเหอเซินต้องราชภัย วังแห่งนี้จึงถูกยึด ค.ศ. 1857 จักรพรรดิเสียนเฟิงพระราชทานสถานที่นี้ให้เป็นวังอนุชาอี้ซิน (ค.ศ. 1832-1898) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกงชิงหวัง จึงเรียกว่า กงหวังฝู่ มีเนื้อที่ 60,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นสัดส่วนวังและส่วนที่เป็นสวน เราได้ดูแต่ส่วนที่เป็นสวน เพราะส่วนที่เป็นวังยังไม่ได้บูรณะ ส่วนที่เป็นสวนเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่ ค.ศ. 1988 เป็นสวนสวยงาม จัดได้ถูกต้องตามตำราฮวงจุ้ย มีลักษณะคล้ายคลึงกับสวนที่นิยมกันในเจียงหนาน (มณฑลเจียงซูและมณฑลเจ้อเจียง) อันเป็นดินแดนที่จักรพรรดิเฉียนหลงโปรดปราน เสด็จถึง 6 ครั้ง
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า80
(น.80) ไปที่กุฏิของเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสเชิญนั่ง ในห้องรับแขกฝาผนังห้องติดลายพู่กันจีนเอาไว้เต็ม ทั้งที่เป็นป้ายไม้และกระดาษ เจ้าอาวาสอธิบายลักษณะการก่อสร้างวัดทางภาคใต้ ท่านว่าวัดมี 3 แบบ
แบบภาคเหนือมีซุ้มประตูใหญ่ อาคารใหญ่ๆ ไม่ค่อยมีรายละเอียด แบบภาคใต้แถบกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน มีลวดลายละเอียดคล้ายๆ กับศิลปะไทย แบบมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง อานฮุย ใช้สีดำ-สีขาวมาก
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า206,218
(น.206) อาคารซูกงฉือ เป็นศาลเจ้าของกวีซูตงปัว (ค.ศ. 1037-1100) และลูกชาย ใน ค.ศ. 1097 ซูตงปัวถูกเนรเทศมาอยู่ที่เกาะไหหลำ 3 ปี (ถึง ค.ศ. 1100) แล้วจักรพรรดิพระราชทานอภัยโทษจึงกลับไปบ้านเมือง และเสียชีวิตที่มณฑลเจียงซู
(น.218) รูป
(น.218) อนุสรณ์สถานหลี่ซั่วซุน ซึ่งเป็นบิดาของประธานหลี่เผิง สร้างใน ค.ศ. 1986 ตอนนั้นไหหลำยังขึ้นกับมณฑลกวางตุ้ง ยังไม่ได้แยกออกมาเป็นมณฑล หลี่ซั่วซุนเป็นวีรบุรุษที่เซี่ยงไฮ้ ได้ร่วมการปฏิวัติเป่ยฝา (ค.ศ. 1926-1927) และร่วมการปฏิวัติหนานชางใน ค.ศ. 1927 เคยเป็นเลขาธิการพรรค ที่มณฑลเจียงซูและเจ้อเจียง ทำงานร่วมกับโจวเอินไหล จูเต๋อ เนี่ยหลงเจิน เฉินยี่ หลินเปียว เติ้งเสี่ยวผิง ถูกประหารชีวิตในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1931 บุตรชายตือ ท่านหลี่เผิง อายุยังไม่ครบ 3 ปี เหตุที่อนุสรณ์สถานอยู่ตรงนี้เพราะว่าเป็นที่ประหาร ขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ยังไม่แข็งแกร่ง จึงหาศพไม่พบ จึงทำเป็นอนุสรณ์สถานไว้เฉยๆ ส่วนภรรยาของท่านคือ เจ้าจุนเถา ถึงแก่กรรม ค.ศ. 1985 จึงนำมาฝังไว้ที่นี่
มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า44
(น.44)
16.30 น. กลับที่พัก ครูติ๋มภรรยาท่านทูตจัดสาคูไส้หมูและพายแอปเปิ้ลมาให้
17.45 น. ไปที่สถานทูต
ก่อนจะมีงานเลี้ยงได้พบกับครูที่เคยสอนภาษาจีนข้าพเจ้า คือ ครูจาง เดี๋ยวนี้เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษอยู่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ครูฉางปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ครูหวางเย่ เดี๋ยวนี้เป็นผู้อำนวยการสถาบันสอนภาษา และครูกู้ ข้าพเจ้าแปลกใจตัวเองที่สามารถเข้าใจคำพูด (ภาษาจีน) ของครูทุกท่าน และพูดโต้ตอบเป็นภาษาจีนได้
คุยกันสักพักหนึ่งแขกผู้ใหญ่เริ่มมา เช่นท่านรัฐมนตรีกู้ ท่านหัน ท่านไฉเจ๋อหมิน จางเหว่ยเสี้ยะ คุณหลี่เม่า ท่านรัฐมนตรีกู้ชวนไปทางคลองสายใหญ่ คลองนี้ผ่านเจียงซู สองฝั่งก็สวยงามมาก ขณะนี้ได้ขุดลอกคลองเพื่อเป็นประโยชน์ในการขนส่งถ่านหิน เลยเรียนถามท่านรัฐมนตรีว่า ท่านดูแลอุตสาหกรรมเคนั้นดูแลอะไร ท่านว่าท่านดูแลพวกผลิตภัณฑ์เคมีทั้งหมด ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปิโตรเลียม สี การผลิตผ้าใยสังเคราะห์ก็สำคัญเพราะจีนมีคนมาก เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไม่พอ การทำผลิตภัณฑ์จากยางพารา (จีนซื้อจากไทย) การผลิตปุ๋ย มีทั้งปุ๋ยจากถ่านหิน ปุ๋ยจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้หน้า 221
(น.221)ระดับหนึ่ง ส่วนจังหวัดทั่วๆ ไปจะใช้ว่าตี้ชีว์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำว่า “โจว” เป็นศัพท์เก่าแก่ด้านการปกครองที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์จีนมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 220) ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีชื่อเขตการปกครองในระดับต่างๆ ของจีนเป็นจำนวนมากที่มีคำว่าโจวติดอยู่ด้วย โดยที่มิได้มีฐานะเป็นจื้อจื้อโจวแต่อย่างไร ทั้งนี้เพราะคำว่าโจวในเขตการปกครองเหล่านั้นได้ใช้กันมาเป็นเวลานานแล้ว ดังตัวอย่างประกอบข้างล่างนี้
นครที่ขึ้นต่อมณฑล (เสิ่งเสียซื่อ) ที่มีคำว่า “โจว” อยู่ด้วย เช่น หลานโจวในมณฑลกานซู เจิ้งโจวในมณฑลเหอหนาน หังโจวในมณฑลเจ้อเจียง และกว่างโจวในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)
จังหวัด (ตี้ชีว์) ที่มีคำว่า “โจว” อยู่ด้วย เช่น ฮุยโจวในมณฑลอานฮุย หยางโจวในมณฑลเจียงซู และไถโจวในมณฑลเจ้อเจียง
เมืองที่ขึ้นต่อจังหวัด (ตี้ชีว์เสียซื่อ) เช่น สุยโจวในมณฑลหูเป่ย จังโจวในมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และเฉาโจวหรือที่คนไทยเรียกว่าเมืองแต้จิ๋วในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)
ดังนั้น คำว่า “จื้อจื้อโจว” ที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Autonomous Prefecture” จึงน่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “จังหวัดปกครองตนเอง” มีผู้แปลคำนี้ว่า “แคว้นปกครองตนเอง” ซึ่งดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับความรับรู้ของคนไทยเท่าใดนัก เพราะคำว่าแคว้นในภาษาไทยสื่อความหมายถึงเขตการปกครองที่มีอิสระและปลอดจากอำนาจรัฐส่วนกลางในระดับสูง ขณะที่จื้อจื้อโจวของจีนมีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่งปัจจุบัน (ตามสถิติ พ.ศ. 2532) ประเทศจีนมีจื้อจื้อโจวอยู่ 30 จื้อจื้อโจวมณฑลที่มีมากที่สุดคือมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) มี 8 จื้อจื้อโจว รองลงมาคือมณฑลชิงไห่มี 6 จื้อจื้อโจว ภูมิภาคการปกครองตนเอง
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทรายหน้า16-17
(น.16) พบนายกเทศมนตรี ท่านกล่าวต้อนรับบอกว่าคนจีนยังจำวันที่ข้าพเจ้ามาฉงชิ่งเมื่อ ค.ศ. 1996 ได้ (ที่จริงคือวันนี้เมื่อ 5 ปีก่อน) ตอนนั้นฉงชิ่งขึ้นกับมณฑลเสฉวน แต่ขณะนี้สภาพของฉงชิ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1997 สภาประชาชนแห่งชาติมีมติยกฐานะฉงชิ่งเป็นมหานคร ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง นับเป็นมหานครแห่งที่ 4 ในระบบการปกครองของจีนปัจจุบัน และเป็นแห่งแรกของพื้นที่ทางภาคตะวันตก ขณะที่อีก 3 มหานครที่มีอยู่แล้วคือ ปักกิ่ง เทียนสิน เซี่ยงไฮ้ อยู่ทางตะวันออก
ความเปลี่ยนแปลงนั้นสรุปได้ว่ามีพื้นที่บริหารมากขึ้น จาก 20,000 ตารางกิโลเมตร เป็น 82,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรในความรับผิดชอบมากขึ้นเท่าตัว จาก 15 ล้านคน เป็น 30.9 ล้านคน โครงสร้าง
(น.17) ทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไป มีเอกลักษณ์พิเศษคือ มีทั้งอุตสาหกรรมหนักและการเกษตร เศรษฐกิจเมืองใหญ่ และชนบท งานโครงการเขื่อนซานเสียก็ต้องดูแล ตัวเขื่อนใหญ่จะอยู่ที่เมืองอี๋ชางในมณฑลหูเป่ย แต่ปิดเขื่อนแล้วส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำจะอยู่ในฉงชิ่งเป็นส่วนใหญ่ (500 ตารางกิโลเมตร จาก 650 ตารางกิโลเมตร) ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติตามนโยบายเปิดสู่ตะวันตกของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของแม่น้ำแยงซีตอนบน มีหน้าที่ดูแลการอพยพผู้คน คาดว่าเมื่อเขื่อนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2009 จะต้องย้ายคนถึง 1,030,000 คน ขณะนี้น้ำยังไม่ขึ้น ได้ไปตระเตรียมสถานที่ย้ายคนเป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้ย้ายทั้งหมด นอกจากจะย้ายไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ที่กะเอาไว้เดิมแล้ว ยังต้องกระจายไปตามมณฑลต่างๆ ด้วย เช่น ซานตง อานฮุย เจียงซู มหานครเซี่ยงไฮ้ (ซั่งไห่) เจ้อเจียง ฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) กวางตุ้ง (ก่วงตง) เจียงซี หูหนาน หูเป่ย เสฉวน (ซื่อชวน) ข้าพเจ้าถามถึงสวนส้มริมฝั่งน้ำ ท่านนายกเทศมนตรีรับรองว่า สวนที่ย้ายไปสร้างใหม่จะมีปริมาณมากขึ้นและรสอร่อยขึ้น เพราะว่ามีเทคโนโลยีดีขึ้น ฉงชิ่งยินดีรับนักลงทุนต่างประเทศ
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทรายหน้า 122-123
(น.122) ถามมาดามปาซังว่า มณฑลต่างๆ ที่มาช่วยนั้นมีกำหนดเวลาหรือไม่ว่าจะให้ช่วยกี่ปี มาดามบอกว่าแต่เดิมกำหนดไว้ว่า 10 ปี ภายหลังที่ประชุมให้ยืดกำหนดเวลาเป็น 20 ปี ข้าราชการที่มาช่วยเปลี่ยนทุก 3 ปี กระทรวงการต่างประเทศเองก็ส่งคนมาช่วยฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของทิเบต ขณะนี้ความช่วยเหลือที่ว่านี้เข้าปีที่ 7 แล้ว
(น.123) มณฑลตะวันตกอื่นๆ ก็มีการช่วยเหลือเหมือนกันแต่ทิเบตได้มากสุด
เท่าที่ปฏิบัติมา นครปักกิ่งกับมณฑลเจียงซูช่วยลาซา ซานตงและเซี่ยงไฮ้ช่วยรื่อคาเจ๋อ หูหนานกับหูเป่ยช่วยซานหนาน ฮ่องกงก็สนใจที่จะช่วย แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมีบทบาทอย่างไร เมื่อมีการประชุมที่ฮ่องกง ต่งเจี้ยนหัว ผู้นำฮ่องกงกล่าวว่าฮ่องกงพร้อมที่จะร่วมนโยบายพัฒนาภาคตะวันตกของจีน
เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม คำนำ
คำว่า เจียงหนาน หมายถึงพื้นที่ใดในประเทศจีน คงตอบให้แน่นอนได้ยาก ขึ้นอยู่กับความรับรู้ในแต่ละสมัยที่มีความต่างกันไปบ้าง ถามเจ้าหน้าที่ชาวจีนที่มาต้อนรับครั้งนี้ เขาบอกว่าหมายถึง ภาคใต้ของมณฑลเจียงซูและภาคเหนือของมณฑลเจ้อเจียง พื้นที่แถวนี้มีธรรมชาติงดงาม มีทะเลสาบ มีคลื่นทะเลอันเลื่องชื่อ (คลื่นทะเลเฉียนถัง) มีแน่น้ำฉังเจียง (แยงซีเกียง) ที่แต้มสีสันแก่ชีวิตรวมทั้งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองกลับมาเปิดพจนานุกรมขนดใหญ่ดูหลายเล่ม ก็ให้นิยามคำว่า เจียงหนาน ต่างกันบ้างเป็น 3 กลุ่มดังนี้
1. หมายถึง มณฑลเจ้อเจียง และภาคใต้ของมณฑลเจียงซู
2. หมายถึง ภาคใต้ของมณฑลอานฮุย ภาคใต้ของมณฑลเจียงซู และภาคเหนือของมณฑลเจ้อเจียง
3. หมายถึง ภาคใต้ของมณฑลอานฮุย ภาคใต้ของมณฑลเจียงซู และมณฑลเจ้อเจียง
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 กลุ่มกล่าวตรงกันว่า หมายถึง ภาคใต้ของมณฑลเจียงซู ส่วนมณฑลเจ้อเจียงนั้นมีทั้งที่จำกัดเขตเฉพาะภาคเหนือ และที่คลุมพื้นที่ไปทั่ว และมีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รวมพื้นที่ภาคใต้ของมณฑลอานฮุยไว้ในเจียงหนาน
คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า เจียงหนาน หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า กังนั้ม และภาษาไทยออกเสียงเคลื่อนไปว่า กังหนำ เพราะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จประพาสเจียงหนานมาฉายหลายเรื่อง ภายยนตร์จีนกำลังภายในที่ฉายกันทางโทรทัศน์ก็มีอยู่หลายเรื่องที่กล่าวถึงเจียงหนาน เรื่อง มังกรหยก ของกิมย้งก็เอาเจียงหนานมาเป็นฉากส่วนหนึ่งของเรื่อง มีผู้กล้าหาญทั้งเจ็ดแห่งกังหนำ อาจารย์ของก๊วยเจ๋งเป็นตัวละครในเรื่องด้วย เพลงในภาพยนตร์เรื่อง จอมใจจักรพรรดิ หรือ เจียงซานเหม่ยเหริน ก็ร้องบรรยายถึงเจียงหนานเช่นกัน จนคำว่า เจียงหนานเห่า หรือ เจียงหนานแสนงาม เป็นวลีที่ชาวจีนพูดกันติดปาก
เจียงหนานแสนงาม หน้า10
(น. 10) บ้านเกิดของท่านรองนายกรัฐมนตรีเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋ บ้านเกิดของภริยาเป็นเมืองในแคว้นเย่ว์ สองก๊กนี้รบกันดุเดือดมากที่สุด ไปดูบ้านเมืองเดี๋ยวนี้ก็ดูไม่ออกว่าเคยรบกันมาก เรื่องประวัติศาสตร์นี้สนุกดี
ท่านกล่าวต่อไปว่าได้ทราบว่าวันนี้เป็นวันเกิดข้าพเจ้า รู้สึกปลาบปลื้มมากที่ได้จัดงานทั้งเป็นการต้อนรับและอวยพรวันเกิด ข้าพเจ้าว่าเป็นการฉลองวันเกิดในจีนครั้งแรก ท่านว่า รู้สึกดีใจและให้ศีลให้พร ให้มีความสุขสบายระหว่างอยู่ในประเทศจีน เป็นห่วงอยู่แต่ว่าอากาศเย็น ข้าพเจ้าว่าไม่เป็นไร เพราะเคยไปตงเป่ยหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือในหน้าหนาวมาแล้ว ท่านว่ามณฑลเจียงซูและมณฑลเจ้อเจียงสภาพภูมิศาสตร์ต่างจากตงเป่ย อากาศแค่เย็นพอควร ไม่ถึงขั้นหนาวมาก
เจียงหนานแสนงาม หน้า89-92,94
(น. 89) เมื่อไปพบ รองประธานาธิบดี กล่าวว่ารู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้รู้จัก ในนามประธานาธิบดี รัฐบาลจีน และประชาชนจีน ขอต้อนรับในการเยือนจีนครั้งที่ 9 แม้จะพบกันเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่รู้สึกแปลกหน้า เพราะข้าพเจ้าเป็นมิตรที่ประชาชนจีนรู้สึกคุ้นเคยและเคารพ เพราะมีความผูกพันกับจีน สนใจเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน ขยันหมั่นเพียรศึกษาภาษาจีน และได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางเยือนจีนทุกครั้ง เป็นคุณูปการแก่การพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งนี้นอกจากปักกิ่งยังจะได้ไปมณฑลและเจ้อเจียง ทั้งสองมณฑลมีเศรษฐกิจรุ่งเรือง วัฒนธรรมรุ่งโรจน์ที่สุดในจีน เจียงซูเป็นบ้านเกิดของท่านประธานาธิบดีเจียงและเป็นบ้านเกิดของท่านหูเองด้วย ในฤดูกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อนที่มีแสงแดด ในฤดูวสันต์อันอบอุ่น ภูมิทัศน์ก็งดงาม นอกจากจะได้เห็นทัศนียภาพตามธรรมชาติ โบราณสถานมากมายแล้ว ยังจะได้สัมผัสความเจริญทางเศรษฐกิจของมณฑลแถบนั้นด้วย จะได้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำฉังเจียงตอนล่าง เป็นการส่งเสริมความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศเราทั้งสอง
ข้าพเจ้าว่า ถึงจะมาที่เมืองจีนหลายครั้ง แต่ดูไปไม่ถึงครึ่งต้องค่อยๆ ศึกษาไป คราวนี้จะได้ศึกษาทั้งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เพราะว่าเป็นดินแดนที่สวยงาม มีกวีโบราณเขียนบรรยายเอาไว้มาก ในปัจจุบันเป็นช่วงที่จะก้าวสู่ยุคใหม่ ศตวรรษใหม่ จึงอยากไปดูความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ วิชาการ อุตสาหกรรม ไม่เฉพาะแต่อุตสาหกรรมในประเทศ แต่อุตสาหกรรมที่มีการร่วมมือกับต่างประเทศด้วย ต้องศึกษาการพัฒนาและดูเป็น
(น. 90) ตัวอย่าง เดี๋ยวนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศต่างๆ จะต้องร่วมมือช่วยกัน ได้ยินว่าท่านหูไปร่วมประชุมสุดยอด ASEAN ที่เมืองฮานอยด้วย
(น. 91) การไปเยือนเจียงซูและเจ้อเจียง ข้าพเจ้าจะได้ไปเยือนหนานจิง (นานกิง) และหังโจว ซึ่งรวมอยู่ในเมืองหลวงโบราณ 7 แห่งของจีน ทราบว่าข้าพเจ้าเคยไปปักกิ่งและซีอานแล้ว คราวนี้ได้ไปอีก 2 เมือง เป็น 4 เมือง ยังมีลั่วหยัง ไคเฟิง และอานหยัง อีก 3 เมืองคราวนี้คงไปไม่ได้ แต่ว่าคราวหน้ายินดีต้อนรับ จะได้เห็นนครหลวงครบทั้ง 7 เมือง
(น. 92) คราวนี้ข้าพเจ้าจะได้ไปเมืองหยังโจว อยู่ห่างเมืองไท่จงที่ท่านหูเกิดและเติบโตเพียง 50 กิโลเมตร ตั้งแต่เด็กเคยไปหยังโจวหลายครั้ง ยังประทับใจชีวิตสมัยที่เป็นวัยรุ่น ที่ชอบมากคือ ทะเลสาบโซ่วซีหู มีทิวทัศน์สวยที่สุดในมณฑลเจียงซู การล่องเรือที่นี่ก็ไม่เหมือนที่อื่นเพราะทะเลสาบไม่กว้าง คดเคี้ยวไปมา เห็นทิวทัศน์ทีละแห่ง พอเลี้ยวไปก็จะเห็นอีกแห่ง ไม่ใช่เห็นทิวทัศน์กว้างๆ พร้อมๆ กันทั้งหมด แต่ก่อนกล่าวกันว่ามีทิวทัศน์เช่นนี้ถึง 30 แห่ง เดี๋ยวนี้เห็นได้ 10 กว่าแห่ง ในทะเลสาบยังมีภูเขาเล็กๆ บนเนินเขามีศาลเจ้าจินซาน มีตุ้ยเหลียน (คำขวัญคู่) ของกวีสมัยราชวงศ์ชิงกล่าวไว้ว่า เมื่อแสงจันทร์ส่องก็เห็นทั้งทะเลสาบ หากหมอกมากก็เห็นแต่ศาลเจ้าที่บนเนินเท่านั้น คราวนี้คงไม่ได้เห็นภาพเช่นนั้น เพราะไม่ได้ไปกลางคืน นอกจากนั้นยังมีสะพาน 5 ศาลา
(น. 94) ข้าพเจ้าลาท่านหู ออกจากมหาศาลาประชาชนกลับไปที่เตี้ยวอวี๋ไถ รับประทานอาหารเย็นแล้วไปท่าอากาศยาน มีรองอธิบดีกรมเอเชียมาส่ง นั่งเครื่องบิน China Eastern Airline เที่ยวบิน MU 5170 ไปสนามบินหลูโข่วที่นานกิง มีพวกเจ้าหน้าที่มณฑลเจียงซูมาต้อนรับ ฝ่ายไทยมีคุณศรศิลป์ พลเตชา กงสุลใหญ่ ณ เซี่ยงไฮ้ และภรรยา พวกเจ้าหน้าที่เจียงซูกับข้าราชการสถานกงสุลมารับหลายคน ไปที่โรงแรมจินหลิง โรงแรมนี้สร้างขึ้นหลายปีแล้ว แต่ยังปรับปรุงอย่างดี เป็นโรงแรมที่เป็นของจีนแท้ๆ ไม่ได้เป็นสาขามาจากต่างประเทศ ทางสถานกงสุลและโรงแรมจัดอาหารค่ำเอาไว้ เลยฉลองศรัทธา
เจียงหนานแสนงาม หน้า 108,115,117,129,131,134-140
(น. 108) จากนั้นไปพิพิธภัณฑ์นานกิง หรือ พิพิธภัณฑ์มณฑลเจียงซู อาคารพิพิธภัณฑ์สร้างแบบจีนมุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีเหลือง เก็บสิ่งของที่พบในเจียงซู สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1933
(น. 115) ตึกด้านข้าง เป็นห้องที่แสดงการขุดค้นทางโบราณคดีของพิพิธภัณฑ์นานกิงในมณฑลเจียงซูและพื้นที่ใกล้เคียง มีตู้กระจกแสดงแหล่งขุดค้นต่างๆ เช่น
1. การขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคหินเก่า
2. พื้นที่ที่มีหลุมฝังเสา มีเตา ขุดอยู่ตรงกลาง ด้านหลังเป็นฉากแสดงลักษณะของบ้านยุคนี้ที่น่าจะเป็น
3. วัฒนธรรมต้าเหวินโข่ว ฝังนายไว้กับคนใช้ มีเครื่องปั้นดินเผาวางรอบๆ
4. สุสานในวัฒนธรรมชิงเหลียนกัง
5. การฝังคนกับเครื่องหยกในวัฒนธรรมเหลียงจู่ ที่แหล่งขุดค้นโบราณคดีชื่อ ซื่อตุน
6. หีบศพไม้ ขุดพบในแคว้นอู๋ สมัยจั้นกั๋ว
7. สุสานสมัยราชวงศ์ซัง (ก่อน ค.ศ. 1766 – ก่อน ค.ศ. 1122) เด็กวัยรุ่นตาย ใกล้ศพเด็กมีศพสุนัข
8. เนินก่อด้วยหินที่ลุ่มน้ำไท่หู มีเครื่องปั้นดินเผาวางไว้รอบๆ
9. สวนที่ใช้ทำพิธีบูชายัญสมัยราชวงศ์ซัง ทุกศพหันไปทางหินก้อนกลาง พบศพ 20 ศพ กะโหลก 2 กะโหลก สุนัข 12 ตัว ทุกศพถูกมัดมือไพล่หลัง
10. หลุมศพของขุนนางแคว้นอู๋
มีจารึกต่างๆ ฝังไว้ตามกำแพง
(น. 117) พิพิธภัณฑ์นี้เริ่มสร้างเมื่อ ค.ศ. 1933 ใน ค.ศ. 1937 เกิดสงครามกับญี่ปุ่น ต้องย้ายของต่างๆ ไปเสฉวน อาคารนี้ถูกญี่ปุ่นยึดทำเป็นโรงพยาบาล ค.ศ. 1945 จึงย้ายของกลับมา เดิมเป็นอาคารโถง มุขและหน้าต่างประตูเป็นของทำใหม่ ปัจจุบันถือว่าอุปกรณ์ต่างๆ ล้าสมัยแล้ว รัฐบาลมณฑลเจียงซูสนใจศึกษาเรื่องวัฒนธรรม จึงให้งบประมาณสร้างตึกใหม่ มีเนื้อที่จัดแสดง 1,600 ตารางเมตร จะมีอุปกรณ์ทันสมัย เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องปรับความชื้น ระบบป้องกันภัย จะพยายามจัดข้าวของต่างๆ ให้ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้ทันเปิดเดือนตุลาคม
(น. 129)เมื่อเห็นสวนในฤดูชุนเทียน ดอกท้อ ดอกซิ่งสีชมพูอ่อนแก่ ทำให้นึกถึงบทกวีของไป๋จวีอี้ที่ชื่อว่า ชวีเจียงอวี้หยวนจิ่ว หรือ ชวีเจียง คิดถึงหยวนจิ่ว ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า
ฤดูใบไม้ผลิมาถึง ไร้เพื่อน เที่ยวน้อยลง
ความสุขสนุกหายไปสองในสาม
มิต้องกล่าวสวนซิ่งในวันนี้
พบผู้คนมากหลาย แต่มิพบเธอ
บทกวีนี้สื่อให้เห็นถึงความอาทร ความผูกพันที่มีต่อเพื่อน มาเที่ยวสวนในฤดูใบไม้ผลิ พบผู้คนมากมาย แต่ไม่พบเพื่อนรัก ความสุขเลยมลายหายไป เหลือเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่ง ไป๋จวีอี้เขียนร้อยกรองบทนี้ให้หยวนเจิ่น ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท หยวนเจิ่นมีชื่อเล่นที่เรียกกันในหมู่ญาติมิตรว่า หยวนจิ่ว
(น. 131) คำว่า ชวีเจียง ในบทกวีนี้ หมายถึง แม่น้ำชวีเจียง (ชวี = คดเคี้ยว เจียง = แม่น้ำ) เป็นช่วงหนึ่งของแม่น้ำฉังเจียง อยู่ทางใต้ของเมืองหยังโจว มณฑลเจียงซู แม่น้ำช่วงนี้คดเคี้ยว จึงเรียกกันว่า ชวีเจียง
รูป 112 ผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซูเลี้ยง
Dinner hosted by the Governor of Jiangsu.
กลับมาพักผ่อนพักหนึ่ง ตอนค่ำพบกับผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซู ผู้ว่าราชการกล่าวต้อนรับและอธิบายเรื่องเจียงซูว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดของเจียงหนาน วันนี้อากาศดี ขอต้อนรับในนามของรัฐบาลมณฑลและประชาชน 72 ล้านคน เจียงซูเป็นมณฑลที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว มีพื้นที่ 100,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 1 ของประเทศจีน ใน ค.ศ. 1998 มีประชากร 71.8 ล้าน ประมาณร้อยละ 5.8 ของคนทั้งประเทศ GDP 720,000 ล้านหยวน เป็นร้อยละ 9.8 ของประเทศ ตามสถิติ มีเนื้อที่เพียงร้อยละ 1 ประชากรร้อยละ 6 แต่ GDP ได้ถึงร้อยละ 10 ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 12.7 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2 ปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังเติบโตถึงร้อยละ 11 การที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะการดำเนินนโยบาย และการชี้นำของท่านเติ้งเสี่ยวผิงและพรรค รวมทั้งความร่วมมือของประชาชน ปีนี้พยายามให้เจริญราวร้อยละ 10 มากกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3
(น. 136) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน ค.ศ. 2000 ทั่วมณฑลจะต้องมีอันจะกินและภาคใต้ของมณฑลต้องทันสมัย ถึง ค.ศ. 2010 ต้องพัฒนาให้ทันสมัยทั่วทั้งมณฑล รัฐบาลกล่าวฝากความหวังไว้กับพวกเรา ท่านเติ้งผู้ล่วงลับไปแล้วกล่าวว่า อัตราความเจริญทางเศรษฐกิจของเจียงซูควรสูงกว่าอัตราทั่วประเทศ ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินกล่าวว่าเจียงซูเดินหน้าก่อนมณฑลอื่นและทำประโยชน์มากกว่า
มียุทธศาสตร์ 4 ประการในการบริหารงานของมณฑลดังนี้
1. สร้างมณฑลให้รุ่งเรืองด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการศึกษา มหาวิทยาลัยนานกิงและมหาวิทยาลัยโหไห่ที่ข้าพเจ้าจะไปเป็นมหาวิทยาลัยเลื่องชื่อ
2. พัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นสากลขยายสู่ภายนอก พร้อมกับส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ
3. พัฒนาพื้นที่ทุกภาคของมณฑลไปพร้อมกันทั้งภาคเหนือและภาคใต้
4. พยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เน้นเรื่องสภาพแวดล้อมทรัพยากร และควบคุมการขยายตัวของประชากรด้วย
การวางแผนพัฒนานั้นจะต้องพบปัญหาอีกมาก แม้ว่าสภาพขณะนี้จะดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีปัญหาค้างคาอีกหลายเรื่อง หวังว่าจะปรับปรุงได้
การติดต่อระหว่างมณฑลกับไทยมีตลอด ผู้นำเยือนไทยหลายครั้ง ทุกวันนี้คนมีฐานะดีขึ้น จึงออกไปเที่ยวต่างประเทศ มีเงิน 6,000 หยวนก็ไปสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยได้ ประชาชนก็ชอบ
(น. 137) ข้าวไทย ข้าวผัดหยังโจวที่มีชื่อใช้ข้าวไทยผัดก็จะยิ่งอร่อย ปีที่แล้วการค้าระหว่างไทยกับเจียงซูมีมูลค่าห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เจียงซูนำเข้าสี่ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เช่น พลาสติก ยางพารา สิ่งทอ วัตถุดิบ ส่งออกราวร้อยล้าน มีนักลงทุนไทยมาลงทุนมากกว่า 200 แห่ง ยอดการลงทุน 340 กว่าล้านหยวน มีแนวโน้มว่าจะมีมากขึ้น การลงทุนเหล่านี้ดำเนินไปแล้ว
เสร็จแล้วไปรับประทานอาหาร มีเหล้าขาวของมณฑลเรียกว่า จินซื่อหยวน หรือบุญในชาตินี้ ว่ากินแล้วไม่ปวดหัว
ผู้ว่าราชการอธิบายนโยบายคือ จะต้องขยายอุปสงค์ในประเทศให้ตลาดกว้างขวาง ลงทุนสาธารณูปโภค การคมนาคม โทรคมนาคม การศึกษา สถานะของมณฑลใช้ดรรชนีหลายตัววัด เช่น รายได้ต่อหัว การศึกษา การคมนาคมและโทรคมนาคม คุณภาพชีวิตประชาชน ปัจจุบันมีอำเภอที่มีรายได้ต่ำกว่ากำหนดไม่ถึง 10 อำเภอ ที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่อยู่ทางเหนือ ทางมณฑลได้ขอให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาช่วยดูแล ถ้าจะให้โรงงานเจริญขึ้นในทุกอำเภอทันตาเห็นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าให้ทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ปลูกผักทำได้ อาจจะนำมาขายภาคใต้ หรือเป็นวัตถุดิบในการทำอุตสาหกรรมการเกษตร การเกษตรต้องการแรงงานมาก ต้องช่วยให้ประชาชนมีปากท้องอิ่มก่อน แล้วจึงร่ำรวยเจริญขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศที่มากที่สุดคือ อเมริกาและยุโรปตะวันตก มีการลงทุนจากไต้หวันและฮ่องกง รวมทั้งมีการติดต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย สุดท้ายพูดกันถึงขนมของเจียงซู ผู้ว่าราชการบอกว่า ถ้าจะศึกษาเกี่ยวกับขนมเจียงซูต้องไปที่
(น. 138) รูป 113 ศาลเจ้าขงจื๊อ
Confucius Shrine.
Next >>