Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2545 "

(น.9) วันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2545
เช้านี้ เอบอกว่าเมื่อคืนไม่ได้มารับข้าพเจ้า เขียนบทความยังไม่เสร็จ เขาเอาหนังสือที่ซื้อจากมหาวิทยาลัยหนานจิงมาให้ รับประทานอาหารเช้า หมอวิภูมาด้วย เช้านี้ไปมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่ห้องหลินหูเซวียน อาจารย์หมินเหวยฟางรองอธิการบดีมารับแทนอธิการบดีซึ่งไม่อยู่ นอกจากนั้นเป็นคณะอาจารย์ที่เคยต้อนรับก็มาด้วย คราวนี้เขาพาไปดูหอแสดงประวัติมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เริ่มสร้าง ค.ศ. 1998 เนื่องในโอกาสฉลอง 100 ปีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพิ่งเปิดให้คนเข้าชมในวันที่ 4 เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2002 มีเนื้อที่ 3,100 ตารางเมตร อาคารนี้มี 3 ชั้น 2 ชั้นอยู่ใต้ดิน ชั้นหนึ่งอยู่บนดิน เหตุที่ต้องสร้างอย่างนี้เพราะว่าในเขตมหาวิทยาลัยปักกิ่งห้ามสร้างอาคารสูง จุดมุ่งหมายของการสร้างหอประวัติมหาวิทยาลัยคือเพื่อเก็บและแสดงหลักฐานเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเพื่อ การศึกษาวิจัย


(น.9) รูป

(น.10) ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินเป็นผู้เขียนป้ายชื่อหอประวัตินี้ เนื่องจากเรามีเวลาน้อยจึงมีโอกาสดูเฉพาะชั้นใต้ดินชั้นแรก เริ่มต้นด้วยภาพถ่ายทางอากาศของมหาวิทยาลัย เขียนคำขวัญของมหาวิทยาลัยไว้ตรงฐานของภาพ ให้รักชาติ ประชาธิปไตย วิทยาศาสตร์


(น.10) รูป


(น.11) รูป

(น.11) ประวัติของมหาวิทยาลัยปักกิ่งมีความผูกพันกับการพัฒนาของประเทศจีนยุคใหม่ ถือว่าเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมใหม่ เป็นสถานที่ก่อกำเนิดขบวนการ 4 พฤษภาคม เป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิมาร์กซิสม์ เป็นแหล่งกำเนิดความคิดประชาธิปไตย เป็นสถาบันที่บุกเบิกความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นสถานศึกษาระดับสูงในจีน จึงดึงดูดนักวิชาการที่มีชื่อเสียง และผู้เชี่ยวชาญทุกยุคทุกสมัยให้มาถ่ายทอดวิทยาการแก่นักศึกษาสมองเลิศรุ่นแล้วรุ่นเล่า ดีเด่นในศาสตร์หลายสาขา นิทรรศการนี้แบ่งประวัติของมหาวิทยาลัยออกเป็น 9 ยุค (แต่ละยุคให้รายละเอียดไว้มากมาย แต่ดูไม่ทัน) จึงขอบรรยายเพียงคร่าวๆ

(น.12) ยุคที่ 1 เป็นมหาวิทยาลัยหลวงแห่งปักกิ่ง (ค.ศ. 1898-1912) ขณะนั้นเป็นช่วงปลายราชวงศ์ชิง ระหว่างที่มีการปฏิรูปบ้านเมือง ค.ศ. 1898 มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่รวมวิทยาการหลากหลายสาขา ถือเป็นหน่วยราชการ เทียบปัจจุบันใกล้เคียงกับกระทรวงศึกษาธิการ ผู้นำของมหาวิทยาลัยมีตำแหน่งเป็นเสนาบดี ปรัชญาการศึกษาของยุคนี้คือ นำนักศึกษาให้คิดให้ถูกแนว เที่ยงตรง ฝึกให้รู้รอบกว้างไกล ความรู้พื้นฐานต้องเป็นความรู้แบบจีน แต่ต้องเรียนวิทยาการตะวันตกเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
ยุคที่ 2 คือ ช่วงต้นของสมัยสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912-1916)


(น.12) รูป

(น.13) เปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยหลวงแห่งปักกิ่ง (Imperial University of Peking) เป็นมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) อธิการบดีชื่อ เหยียนฟู่ (ค.ศ. 1854-1921) พยายามใช้ระบบประชาธิปไตย ปรับปรุงการบริหารและการเรียนการสอน แต่ติดอยู่ที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินขณะนั้นคือหยวนซื่อไข่ (Yuan Shikai) ไม่สนับสนุน จึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
ยุคที่ 3 มหาวิทยาลัยปักกิ่งช่วงระยะก่อน-หลังการเกิดขบวนการ 4 พฤษภาคม (May Fourth Movement – ค.ศ. 1919) ยุคนี้คือ ช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1916-1927 เดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 อธิการบดีชื่อ ไช่หยวนเผย์ (Cai Yuanpei) ปฏิรูปการศึกษาให้เป็นอิสระตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพิ่มจำนวนนักศึกษาให้มากขึ้น เป็นสมัยที่ออกแบบตรามหาวิทยาลัยที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ (รูปคน 3 คน) ออกแบบธงมหาวิทยาลัย เชิญคนที่มีความสามารถสูงมาเป็นอาจารย์ เช่น หลู่ซุ่น เฉินตู๋ซิ่ว หลี่ต้าเจา เป็นต้น ส่งเสริมความคิดแนวทางต่างๆ มีวารสารออกมาจำนวนมาก เน้นการแลกเปลี่ยนวิทยาการกับชาวต่างประเทศ จัดปาฐกถาบ่อยครั้ง ผู้บรรยายมีทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศ เช่น จอห์น ดิวอี้ (John Dewey ค.ศ. 1859-1952) นักการศึกษาคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งถึง 2 ปี
ยุคที่ 4 มหาวิทยาลัยปักกิ่งในทศวรรษ 1930 (ค.ศ. 1927-1937) รัฐบาลพยายามรวมมหาวิทยาลัยปักกิ่งกับมหาวิทยาลัยอื่น แต่มหาวิทยาลัยปักกิ่งไม่ต้องการ อธิการบดีชื่อ เจี่ยงเมิ่งหลิน (ค.ศ. 1886-1964) เรียนจบมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ช่วงนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่งมาจากโคลัมเบียหลายท่าน อธิการบดีท่านนี้ตั้งหลักการว่า อาจารย์ต้องสอนและค้นคว้าวิจัย นักศึกษาต้องเล่าเรียน เจ้าหน้าที่ต้องทำงาน อธิการบดีต้องบริหาร นักศึกษาทั้งสายวิทยาศาสตร์และสายอักษรศาสตร์ควรมีความรู้พื้นฐานข้ามสาขา

(น.14) ยุคที่ 5 สมัยสหมหาวิทยาลัยแห่งชาติตะวันตกเฉียงใต้ (National Southwest Association University) ค.ศ. 1937-1946 เป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนถูกญี่ปุ่นรุกราน เมื่อเกิดสงครามต่อต้านญี่ปุ่น (เริ่ม 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937) เริ่มที่สะพานมาร์โคโปโล รวมมหาวิทยาลัยหนานไค (ที่เทียนสิน) มหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงหัวอพยพไปที่นครฉางซา มณฑลหูหนาน ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉพาะกาล ในที่สุดอพยพไปอยู่ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จึงได้ชื่อว่า สหมหาวิทยาลัยแห่งชาติตะวันตกเฉียงใต้ ยุคนี้เป็นยุคที่น่าศึกษา เพราะเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จมาก ถึงจะยากลำบากเพราะการย้ายสถานที่ ขาดแคลนอุปกรณ์ เขาแสดงรูปห้องสมุดสมัยนั้น เอาหนังสือใส่หีบตั้งซ้อนๆ กัน สมัยนั้นมีศาสตราจารย์ที่มีชื่อหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์เหวินยี่ตัว นอกจากสอนมหาวิทยาลัยแล้ว ต้องไปสอนโรงเรียนมัธยม และหารายได้เพิ่มเติมด้วยการแกะตรา มหาวิทยาลัยมีผลงานมากมาย เช่น สร้างบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ 163 คน นักวิทยาศาสตร์ 2 คน คือ หลี่เจิ้งเต้า และหยังเจิ้นหนิง ได้รับรางวัลโนเบล
ยุคที่ 6 มหาวิทยาลัยปักกิ่งกลับคืนสู่ปักกิ่ง (ค.ศ. 1946-1949) อธิการบดีชื่อ หูซื่อ ขยายสาขาวิชาจากที่มีอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์และกฎหมาย เพิ่มสาขาวิชาแพทย์ และเกษตร
ยุคที่ 7 สมัย 17 ปีแรกของสมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. 1949-1966) ป้ายชื่อมหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นลายมือประธานเหมา ใน ค.ศ. 1952 ปรับปรุงหลักสูตร เพิ่มภาควิชาต่างๆ เนินวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ย้ายที่ตั้งมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน รวมกับมหาวิทยาลัยเยี่ยนจิง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของอเมริกัน ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาการ รวมทั้งการผลิตอาวุธนิวเคลียร์

(น.15) ยุคที่ 8 ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966-1976) มหาวิทยาลัยถูกเหตุการณ์ทางการเมืองกระทบมาก แต่พยายามสร้างผลงานดีเด่นสืบเนื่องต่อมา เช่น มีหนังสือ 5,000,000 เล่ม เป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยของจีน สร้างศูนย์คอมพิวเตอร์ สถานีรับสัญญาณดาวเทียม
ยุคที่ 9 ยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ (ค.ศ. 1976-2001) มหาวิทยาลัยพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มีนักศึกษาปริญญาตรี 12,657 คน พยายามเพิ่มจำนวนนักศึกษาปริญญาโทและเอก เพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติเป็น 1,374 คน มากที่สุดในจีน ติดต่อกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ สร้างหอสมุดใหญ่หลังใหม่ มีรายชื่อผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1983 ถึงปัจจุบันมี 21 คน (ข้าพเจ้าเป็นคนที่ 21) ก่อน ค.ศ. 1983 มี 3 คน


(น.15) รูป

(น.16) ในหอประวัติเก็บสิ่งของเก่าๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น ป้ายชื่อมหาวิทยาลัยป้ายแรก ระฆังที่นักศึกษารุ่น ค.ศ. 1906 บริจาคเงินสร้าง โต๊ะทำงานของอาจารย์ไช่หยวนเผย์ ตู้หนังสือของอาจารย์หูซื่อ ดูแล้วดีเหมือนกัน เหมือนกับได้ใกล้ชิดนักวิชาการใหญ่ของจีน ข้อสังเกตที่ได้ดูนิทรรศการในหอประวัตินี้คือ ทุกยุคเน้นเรื่องประชาธิปไตย ไม่ได้ถามเขาว่าประชาธิปไตยแต่ละยุคมีความหมายเหมือนกันหรือไม่ คนสมัยนั้นๆ เขียนไว้เองว่าเน้นเรื่องประชาธิปไตย หรือเป็นการตีความของผู้จัดนิทรรศการในยุคปัจจุบัน มหาวิทยาลัยปักกิ่งแต่ละยุค มีปรัชญาการศึกษา เป็นเป้าหมายสำหรับการปฏิบัติดำเนินการต่างๆ จากนั้นไปที่สถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ อยู่ชั้น 8 มีอาจารย์ประมาณ 100 คน มีนักศึกษาเกือบ 1,000 คน ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก มีโครงการสร้างสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะนี้มีศูนย์วิจัย CPU เป็นหน่วยงานแรกของจีนที่วิจัยเรื่องนี้ กำลังพัฒนา microprocessor ขนาด 16 MB+ เพื่อให้คุณภาพดี ราคาถูก นักศึกษาใช้ได้ ที่ภาควิชามีห้องทำงานของอาจารย์และนักศึกษาที่มาทำงาน มีระบบ internet ติดต่อสะดวก ส่วนงานวิจัยอยู่ใน intranet ทำงานร่วมกันภายในภาควิชา มีงานวิจัยทั้งด้าน hardware & software


(น.16) รูป


(น.17) รูป

(น.17) โปรแกรมที่ใช้มีทั้งของต่างประเทศและส่วนที่พัฒนาเอง มีชื่อว่า จ้งจื้อ ภาษาอังกฤษว่า Unity มีเครือข่าย email @mprc.pku.edu.ch ขณะนี้ version 0.2.6 2002 ปีหน้าจะมี version 2003 มีโครงการพัฒนา software บน Linux


(น.18) รูป

(น.18) อุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัยห้ามใช้เล่นเกมเด็ดขาด (ห้ามเหมือนกันทุกที่) ถ้าจะไปพักผ่อนเล่นเกม คลายเครียด ให้เล่นในห้องพัก มีที่นอน ที่กินขนมให้ด้วย (น.19) จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งไปบ้านครูฟั่นชุนหมิง (ครูสอนภาษาจีนที่มาอยู่กับข้าพเจ้าเมื่อปีก่อน (พ.ศ. 2544) ช่วงที่มาเรียนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง) ครูกับสามีอยู่ชั้น 15 แต่ลูกชายซึ่งเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ ทิ้งชั้นเรียนมาไม่ได้ จึงไม่ได้มาต้อนรับ ครูฟั่นมาประจำอยู่ที่สถานทูตจีนในประเทศไทย และสอนภาษาจีนข้าพเจ้า 3 ปีเท่านั้น แต่สนิทกับข้าพเจ้ามาก จึงทราบว่าข้าพเจ้าชอบรับประทานอะไร เตรียมเอาไว้ให้ นั่งคุยกัน 2 คน มีเวลาคุยกันครึ่งชั่วโมง แล้วไปที่หมายต่อไป

Next >>