Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2545 "


(น.19) รูป

(น.20) ที่หมายต่อจากบ้านครูฟั่น ไปศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมสำหรับคณะผู้แทนด้านการทูตแห่งปักกิ่ง (Beijing Language and Cultural Center for Diplomatic Missions) ผู้อำนวยการสถาบันมาคอยรับ ครูหวังจวินเซียงก็มาด้วย ครูหวังสอนภาษาจีนข้าพเจ้าก่อนครูฟั่น เมื่อปี พ.ศ. 2539 เคยไปแม่น้ำฉางเจียงด้วยกัน เพิ่งกลับจากประเทศไนเจอร์ (สามีไปเป็นทูต) ครูหม่าเยี่ยนหัวก็มารออยู่ด้วย ไปที่ห้องประชุมหลัก ผู้อำนวยการบรรยายภารกิจของสถาบัน กล่าวต้อนรับว่าดีใจที่ข้าพเจ้ามาที่สถาบันแห่งนี้ เพราะสถาบันได้จัดครูไปสอนข้าพเจ้าที่กรุงเทพฯ ถึง 6 คน และข้าพเจ้าดูแลครูเป็นอย่างดี ศูนย์แห่งนี้สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งในทศวรรษ 1950 เปลี่ยนชื่อศูนย์หลายครั้ง กว่าจะได้ชื่อที่ใช้ในปัจจุบัน


(น.20) รูป




(น.21) รูป

(น.21) หน้าที่ของสถาบันคือ สอนภาษาจีนให้นักการทูต เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ สื่อสารมวลชนต่างประเทศ และคู่สมรสของบุคคลเหล่านี้ ที่พำนักอยู่ในกรุงปักกิ่ง มีผู้จบการศึกษาไปกว่า 15,000 คน มีเอกอัครราชทูตกว่า 200 คน บุคคลสำคัญอื่นๆ มีอดีตประธานาธิบดีบุชและอดีตประธานาธิบดีอินเดียท่านหนึ่ง ลักษณะพิเศษของการสอนที่นี่คือ พวกลูกศิษย์เป็นคนที่มีงานมาก หาเวลามาเรียนยากและไม่สม่ำเสมอ ต้องมีวิธีการสอนหลายรูปแบบ เช่น สอนนอกเวลาทำงานปกติ เวลาสุดสัปดาห์ มักพยายามเรียนให้เร็วเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ในหน้าที่การงาน (แต่ละคนมีความสามารถ และความต้องการไม่เหมือนกัน) ต้องการเข้าใจวัฒนธรรมจีน ครูต้องดูแลลูกศิษย์ในชีวิตประจำวัน เช่น การไปซื้อของ ไปรับประทานอาหารตามภัตตาคาร มีการสอนเป็นชั้นรวมกัน แต่ส่วนใหญ่จะสอนตัวต่อตัว

(น.22) ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 เพิ่มการสอนแบบออกนอกสถานที่ ไปท่องเที่ยว เช่น ไปปืนเขาไท่ซาน ไปบ้านขงจื่อ ไปกงหวังฝู่ ดูงิ้ว ไหว้พระจันทร์ และเรียนภาษาจีนไปพร้อมๆ กับการเรียนเรื่องเมืองจีน ศูนย์เป็นที่สอบวัดมาตรฐานภาษาจีนด้วย ตำราเรียนมีหลายชุด เช่น ชุดสะพาน ชุดเรียนภาษาจีนเป็นขั้นๆ (ปู้ปู้เกา) มีครูกว่า 100 คน มีครูที่เกษียณแล้ว 60 กว่าคนที่มีประสบการณ์ดีและยังยินดีสอน ก็จ้างมาสอนต่อ เช่น ครูฟั่น ครูหวังเย่ (ครูคนที่ 5 ที่สอนข้าพเจ้า) ครูหวังจวินเซียง มีการส่งครูไปสอนต่างประเทศ มี 16 คนที่เคยไประยะยาว 18 ครั้ง มี 3 คนสอนระยะสั้น 5 ครั้ง มีครูที่มีชื่อเสียง มีประสบการณ์มาก ได้รับยกย่องเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับชาติคือ ครูหวังเย่ อีกท่านชื่ออาจารย์หยู หรือ สู (ฟังไม่ถนัด) สอนภาษาจีนนักการทูตฝรั่งเศสมาตลอด เป็นคนเขียนพู่กันจีนได้สวย รู้เรื่องงิ้วปักกิ่ง สอนชาวต่างประเทศได้ด้วย เคยได้รับเหรียญตราจากประเทศฝรั่งเศส


(น.22) รูป


(น.23) รูป

(น.23) เมื่อจีนเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ ศูนย์ก็ยังต้องจัดการเรียนการสอนสำหรับนักการทูตอย่างเดิม แต่รับบุคคลอื่นด้วย เปิดสอนให้บริษัท เช่น Nokia Motorolla บริษัทญี่ปุ่น รวมแล้วประมาณกว่า 50 บริษัท ร่วมมือกับสถาบันต่างประเทศสอนภาษาจีน เมื่อ 3 ปีก่อนเปิดศูนย์ภาษาจีนที่อินโดนีเซีย สอนชาวจีนโพ้นทะเล เรียกว่า Global Mandarin Center ที่ศูนย์สอนดนตรี (เปียโน) เขียนภาพและเขียนพู่กันจีน มีการจัดการแสดงเป็นครั้งคราว ได้ไปดูห้องที่สอนภาษาจีนตัวต่อตัว และห้องสอนเปียโน จากนั้นไปโรงแรม St. Regis มี International Club อยู่ใกล้ๆ กับศูนย์ภาษา รับประทานอาหารกลางวันกับครู 6 คน เว้นครูฉางหมิงอวี้ ซึ่งไม่ได้ติดต่อกันนานแล้ว ครูกู้หย่าจงไปอยู่ออสเตรเลีย ครูจางเยี่ยนชิว และครูฟู่อู่อี้ไปต่างจังหวัด ครูหวังจวินเซียงเพิ่งกลับจากไนเจอร์ ส่วนครูหลีเถียนฟูเพิ่งกลับจากเซียร่าเลโอน เกษียณอายุแล้วไม่ได้กลับไปทำงาน

(น.24) ช่วงบ่ายไปกงหวังฝู่ เป็นวังเก่าตั้งแต่สมัยจักรพรรดิหงอู่ ราชวงศ์หมิง แต่ไม่เหลือร่องรอยของสมัยนั้นแล้ว สมัยราชวงศ์ชิง เหอเซิน (ค.ศ. 1750-1799) เสนาบดีผู้เป็นนักปราชญ์ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง เคยได้มาอยู่วังนี้ แต่ในที่สุดเสนาบดีเหอเซินต้องราชภัย วังแห่งนี้จึงถูกยึด ค.ศ. 1857 จักรพรรดิเสียนเฟิงพระราชทานสถานที่นี้ให้เป็นวังอนุชาอี้ซิน (ค.ศ. 1832-1898) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกงชิงหวัง จึงเรียกว่า กงหวังฝู่ มีเนื้อที่ 60,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นสัดส่วนวังและส่วนที่เป็นสวน เราได้ดูแต่ส่วนที่เป็นสวน เพราะส่วนที่เป็นวังยังไม่ได้บูรณะ ส่วนที่เป็นสวนเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่ ค.ศ. 1988 เป็นสวนสวยงาม จัดได้ถูกต้องตามตำราฮวงจุ้ย มีลักษณะคล้ายคลึงกับสวนที่นิยมกันในเจียงหนาน (มณฑลเจียงซูและมณฑลเจ้อเจียง) อันเป็นดินแดนที่จักรพรรดิเฉียนหลงโปรดปราน เสด็จถึง 6 ครั้ง


(น.24) รูป


(น.25) รูป

(น.25) ทางเข้ามีประตู เข้าไปมีก้อนกินก้อนหนึ่งมีชื่อว่า ตู๋เล่อเฟิง (Peak of Solitary Enjoyment) หมายถึง สนุกอยู่คนเดียว ไม่ทำราชการ หินก้อนนี้มีลักษณะเหมือนหินที่มาจากทะเลสาบไท่หู ซึ่งเชื่อกันว่ากันผีได้ แต่ที่จริงนำมาจากฝังซาน ชื่อ ตู๋เล่อเฟิง เป็นคำมาจากงานเขียนของซือหม่ากวง ปราชญ์สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (ตอนนั้นกงชิงหวังยังไม่มีอำนาจ ต้องการชีวิตอย่างสงบสุข)


(น.26) รูป

Next >>