Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2545 "


(น.53) รูป

(น.53) อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ ตรงทางออกจากห้องมีรูปเจิ้งเฉิงกง ห้องต่อไป เล่าเรื่องการปราบฝิ่น มีกระบอกสูบฝิ่น ลายมือหลินเจ๋อสูที่เขียนต่อต้านฝิ่น ภาพทหารอังกฤษเข้ามารบที่เซี่ยเหมิน (เอ้หมึง) ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 จีนถูกบังคับให้เปิดเซี่ยเหมิน (ฮกเกี้ยน-แอ้มุ้ง ฝรั่งเรียกว่า Amoy ไทยเรียก เอ้หมึง) และฝูโจว เป็นสถานีการค้าของชาวตะวันตก เหตุการณ์ชาวนาก่อกบฏ สภาพสังคมจีนหลังสงครามฝิ่น ค.ศ. 1851-สมัยอาณาจักรไท่ผิง มีเรื่องราวของหงซิ่วฉวน หัวหน้ากบฏไท่ผิง มณฑลทางใต้ที่พวกกบฏยึดได้ การตั้งไท่ผิงเทียนกั๋ว (เมืองแมนแดนสันติ) สมัยหลังสงครามฝิ่น คนจีนเห็นว่าตัวเองสู้ฝรั่งไม่ได้ จึงพยายามเรียนรู้เทคโนโลยีของตะวันตก เพื่อต่อต้านตะวันตก (หรือเพื่อปกป้องตนเองให้พ้นจากการยึดครองของตะวันตก) (น.54) ผู้นำ เช่น หลินเจ๋อสู เว่ยหยวน เป็นผู้ที่ศึกษาค้นคว้าความรู้แบบตะวันตก ผู้นำอีกท่านหนึ่งชื่อ จั่วจงถัง ผู้ว่าราชการมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลเจ้อเจียง ทศวรรษ 1860 เรียกได้ว่าเป็นสมัยที่ริเริ่มทำให้ประเทศเป็นแบบตะวันตก (Westernization) ตัวอย่างที่สำคัญคือ อู่ต่อเรือสมัยใหม่แห่งแรกในจีนคือหมาเหว่ย ภาพเรือผิงหย่วน ซึ่งต่อที่อู่ดังกล่าวนี้ และใช้ในราชการกองทัพเรือจีน ภาพนายทหารเรือที่เรียนจบโรงเรียนนายทหารเรือที่อู่ใกล้กับอู่ต่อเรือหมาเหว่ย แสดงหุ่นจำลอง (model) อู่ต่อเรือ การยุทธ์ที่ปากแม่น้ำหมิ่น ฝรั่งเศสรบกับจีน ค.ศ. 1884 ช่วงนั้นฝรั่งเศสรุกรานและพยายามยึดครองเวียดนาม จึงเลยมาถึงจีนด้วย กองทัพเรือของทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกัน มีภาพแสดงระดับน้ำ ในขณะมีการรบ น้ำลงทำให้ฝรั่งเศสเข้ามาถึงที่ตั้งกองทัพเรือจีนได้ สงครามเกาะไต้หวัน ขณะนั้นขึ้นกับมณฑลฝูเจี้ยน จีนรบกับฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าจีนจะเพลี่ยงพล้ำ แต่ว่าฝรั่งเศสก็สูญเสียกำลังทหารไปมาก ใน ค.ศ. 1895 จีนแพ้ญี่ปุ่นต้องทำสนธิสัญญาหม่ากวน ทำให้ยิ่งต้องเร่งปฏิรูปประเทศ ทำให้คนจีนมีความรู้เกี่ยวกับวิชาการตะวันตก มีคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับขบวนการปฏิรูปที่เป็นคนมณฑลฝูเจี้ยน เช่น อาจารย์เหยียนฟู่ (ค.ศ. 1854-1921) ซึ่งต่อมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่งในช่วงยุคที่ 2 (ค.ศ. 1912-1916) เป็นคนฝูโจว เป็นนักแปล แปลหนังสืออังกฤษและฝรั่งเศสหลายเล่ม เช่น หนังสือของ Montesquieu หนังสือ The Wealth of Nations ของ Adam Smith กล่าวกันว่าแม้ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดแปลได้ดีเท่าสำนวนนี้ แปลตำราวิชาการวิทยาศาสตร์อีกหลายเล่ม

(น.55) เมื่อการปฏิรูป 100 วันใน ค.ศ. 1898 ของจักรพรรดิกวางสูล้มเหลว กระแสการปฏิรูปอ่อนลง มีนักปฏิรูปถูกประหารชีวิต บ้านเมืองอ่อนแอ จนถึงการก่อการที่ก่วงโจว (กวางโจว) ครั้งที่ 9 ในปีซินไห้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 มีชาวฝูเจี้ยนเข้าร่วมกับ ดร.ซุนยัตเซ็นจำนวนมาก ในการปฏิวัติที่กวางโจวมีวีรบุรุษ 72 ท่าน หลายท่านเป็นชาวฝูโจว มีอยู่ 19 ท่านที่จารึกชื่อในอนุสาวรีย์ จริงๆ มีมากกว่านั้น ยังมีชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้าร่วมก่อการครั้งนี้อีก 29 คน พวกนี้ตายหมดในคราวเดียวกัน* คนหนึ่งที่มีบทบาทในการปฏิวัติครั้งนี้ ชื่อ หลินเจว้ยหมิน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 มีจดหมายต่างๆ ที่เขาเขียน มาตั้งแสดงไว้ด้วย ลายมือซุนยัตเซ็นที่เขียนว่า “เทียนเซี่ยเหวยกง” “แผ่นดินนี้เป็นของส่วนรวม” (天下为公) หลินซู แปลนิยายฝรั่งเศสมากมาย มีคนแปลให้ฟังและเรียบเรียง (ลักษณะเดียวกับเจ้าพระยาพระคลังแปลสามก๊ก) ที่จริงมีห้องที่ว่าด้วยฝูเจี้ยนยุคใหม่ แต่ไม่มีเวลาดู ไปดูนิทรรศการภาพวาดและเขียนอักษรพู่กันจีนที่ส่วนโดมตรงกลาง ชั้นบนเป็นศิลปะร่วมสมัย ส่วนใหญ่เป็นฝีมือจิตรกรชาวฝูเจี้ยน บางคนไปอยู่ต่างประเทศ มีภาพที่เขียนแบบฝรั่งด้วย * ในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 มีการก่อการครั้งที่ 10 ที่เมืองอู่ชัง (อู่ฮั่น) มณฑลหูเป่ย เมื่อก่อการแล้ว ผู้นำมณฑลต่าง ๆ ก็ประกาศสนับสนุน จึงสามารถล้มราชวงศ์ชิงได้


(น.55) รูป


(น.56) รูป

(น.56) ลงไปชั้นล่างเป็นภาพโบราณตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์ชิง ภาพของจินหนง (ค.ศ. 1687-1764) สมัยราชวงศ์ชิง เป็นคนหยังโจว อยู่ในกลุ่มจิตรกรแปลกประหลาดทั้ง 8 แห่งหยังโจว ภาพของจินหนงหายาก ส่วนมากจะเป็นฝีมือลูกศิษย์ แต่ภาพนี้ของจินหนงจริงๆ
เจิ้งไหน่กวง (ค.ศ. 1912-?) ชาวฝูเจี้ยน
สีว์เป่ยหง เขียนภาพม้า
หวงเซิ่น (ค.ศ. 1687-1770) ภาพคนแก่กำลังปลดปลาออกจากเบ็ด
จิตรกร 4 คน ร่วมกันเขียนภาพเขาหวงซาน


(น.57) รูป

(น.57) หลี่เขอหร่าน เขียนรูปเขาจิ่งกังซานในมณฑลเจียงซี รูปดอกเหมย หงส์ ปลา ฯลฯ เป็นภาพใหญ่ กว้างกว่ารูปที่ใหญ่ที่สุดในพระราชวังหลวงปักกิ่ง ผู้เขียนชื่อ หลี่ว์จี้ ลงไปชั้นล่าง มีรูปต้อนควายเวลาหน้าหนาว สมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นรูปที่เก่าแก่ที่สุดในพิพิธภัณฑ์นี้ ไม่ทราบมาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมื่อไร ใครเขียน สือเทา เป็นเจ้านายสมัยราชวงศ์ชิงเขียนภาพทิวทัศน์ เขียน 12 ภาพ ที่นี่มีภาพสมบูรณ์ที่สุด ภาพการเขียนตัวอักษรจีนแบบต่างๆ
แบบที่เรียกว่า จ้วนซู คนที่มีชื่อคือ เจิ้งป่านเฉียว ผู้ซึ่งเป็น 1 ใน 8 จิตรกรแปลกประหลาดแห่งหยังโจว
楷书 ไข่ซู คือตัวเขียนบรรจง ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีอยู่คือ สมัยราชวงศ์ถัง
行书 สิงซู ตัวหวัดแกมบรรจง มีฝีมือของคังโย่วเหวย
草书 เฉ่าซู ตัวเขียนแบบหวัด


(น.58) รูป

(น.58) ห้องต่อไปที่ดูคือ เรื่องการแสดงในมณฑลฝูเจี้ยน งิ้วมีหลายประเภท แม้แต่ในมณฑลฝูเจี้ยนเท่านั้นก็มีหลายแบบ งิ้วเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน มีงิ้วแบบผู่เซียน (อยู่ใต้ฝูโจวประมาณ 100 กิโลเมตร) หลีหยวน (แถวๆ เฉวียนโจว) สมัยราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง จึงมีงิ้วเกาเจี่ย งิ้วหมิ่น งิ้วเซียง (แถวฮกเกี้ยนตอนใต้นิยมเล่นกันจนถึงปัจจุบันและแพร่ไปที่ไต้หวัน)

(น.59) บริเวณที่แสดงเรื่องงิ้วและหุ่น (คือเป็นงิ้วเหมือนกัน แต่ไม่ใช้คนแสดงใช้หุ่น) แสดงเครื่องดนตรีประกอบ และบทงิ้ว มีแผนที่แสดงสถานที่ที่มีงิ้วประเภทต่างๆ เดิมมีมากเป็นร้อยประเภท เดี๋ยวนี้เหลือเพียงประมาณ 30 เท่านั้น เครื่องดนตรีมี ปี่ ขลุ่ย กรับพวง ซอ พิณ เครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ
งิ้วหมิ่นหนาน ไม่มีร้อง มีแต่ดนตรีท้องถิ่นที่มีมาแต่สมัยราชวงศ์ถัง มีรูปปรากฏที่วัดไคหยวน ปี่ที่ใช้กับงิ้วแบบนี้ยังมีใช้ที่ญี่ปุ่น เครื่องดนตรีผีผาก็มีแบบพิเศษ เล่นทางนอน ผีผาอื่นๆ ต้องวางตั้ง
งิ้วหลีหยวน มีแถวๆ เฉวียนโจว เป็นงิ้วเก่าแก่ที่สุด มีกล่องยาเจี๋ยวกู่ เวลาเล่นวางขาซ้ายบนกลอง วางเท้าที่ต่างกัน เสียงดังออกมาต่างกัน
งิ้วเกาเจี่ย มักเขียนหน้าแต้มสีขาว แต่แรกแสดงกลางแจ้ง กลางถนน ภายหลังจึงเข้าไปแสดงในโรง
งิ้วเซียง เริ่มมีที่ฝูเจี้ยนก่อน แล้วจึงแพร่ไปที่ไต้หวัน เรียกว่า กอเกี้ย กวางตุ้งเรียกว่า เกอไจ่หรือเกอจื่อ ได้รับอิทธิพลงิ้วปักกิ่งมาก งิ้วเซียงเป็นชื่อทางการ


(น.59) รูป

(น.60) งิ้วต่าเฉิง จะเรียกว่างิ้วธรรมะก็คงจะได้เพราะว่าเดิมพระภิกษุร้อง มาจากพิธีสวดมนต์ของสงฆ์ เล่นเรื่องนรก สวรรค์ ปราบผีปีศาจ เครื่องประกอบมีอาวุธต่างๆ ที่ใช้ปราบผี มีทั้งอาวุธเต็มรูปและอาวุธสำหรับแสดงเมื่อฟันลงไปบนตัวผีแล้ว เช่น มีดที่เว้าเป็นหน้า ดาบที่ขาดกลาง เพื่อให้ดูเหมือนจริงว่าฟันเข้าตัวผี งิ้วหมิ่นซีฮั่น เล่นทางตะวันตกของฝูเจี้ยน แถวๆ หลงเหยียน งิ้วแบบนี้มาจากมณฑลหูหนาน มีบทงิ้วและเสื้อผ้าแสดงไว้ นอกจากนั้นมีงิ้วเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่แพร่หลายอีกหลายอย่าง เช่น ซื่อผิง เป่ยลู่ ซานเจี่ยว ฯลฯ เรื่องหุ่น แสดงขั้นตอนการทำหุ่น ใช้ไม้แกะ มี 9 ขั้นตอน ตัวอย่างงิ้วในราชวงศ์ชิง ตัวเป็นหวายสาน ผูกเชือก


(น.60) รูป



Next >>