Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2545 "


(น.44) รูป

(น.44) ตอนมารับตำแหน่งที่มณฑลกวางตุ้งหลินเจ๋อสูเคยเรียกพวก (พ่อค้า) 13 ห้าง (สือซานหัง) ที่ก่วงโจว (เมืองกวางตุ้ง) มาประชุม และบอกว่าวันใดที่ฝิ่นยังไม่หมดสิ้นไป ตัวข้าพเจ้าจะไม่กลับกรุง ขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นไปไม่ได้ที่ฝิ่นจะไม่หมดสิ้น (13 ห้าง คือ กลุ่มพ่อค้าจีนที่ร่วมทุนกับพวกฝรั่ง ได้รับสิทธิพิเศษผูกขาดทางการค้า) แต่แรกเมื่อมีรายงานการปราบฝิ่นส่งเข้ากรุง จักรพรรดิเต้ากวงทรงแทงหนังสือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี รับทราบแล้ว เอกสารฉบับนี้เป็นสำเนา ตัวจริงอยู่พระราชวังกู้กงในกรุงปักกิ่ง จักรพรรดิเต้ากวงรู้ว่าชนะ จึงปิดประกาศ อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่พวกฝรั่งมาทำสงครามฝิ่น
ศาลาที่ 3 สถานการณ์สงครามฝิ่น (ค.ศ. 1839-1842) มีแผนที่ตอนที่พวกฝรั่งไปถึงเมืองเทียนสิน จักรพรรดิเต้ากวงกริ้วหลินเจ๋อสู ปลดออกจากตำแหน่ง ให้ฉีซ่านไปเจรจากับอังกฤษ ค.ศ. 1841 ทหารอังกฤษรุกรานเกาะฮ่องกง มีอิฐกำแพง ค.ศ. 1841 โอ่งดินปืน จักรพรรดิไม่เพียงแต่ปลดหลินเจ๋อสูเท่านั้น แต่เนรเทศไปซินเกียง เขาต้องจากครอบครัวที่เมืองซีอาน เดินทางเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1842 ขณะนั้นเขาร่างวาทะที่เจียงเจ๋อหมินเขียนลายมือพู่กันไว้ เดินทาง 4 เดือน ไปถึงเมืองอีหลี มณฑลซินเกียง ตอนนั้นอายุ 58 ปี เขาเป็นที่เคารพของชาวซินเกียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขุนนางชาวแมนจู ชื่อปู้เหยียนไท่

(น.45) เมื่อไปอยู่ที่ซินเกียงได้สร้างความเจริญหลายอย่าง เช่น ทำโครงการชลประทานหลายโครงการ บางโครงการบริจาคเงินก่อสร้างด้วย ข้าพเจ้าสงสัยว่าต้องราชภัยถึงแค่นี้ยังมีเงินบริจาคอีกหรือ อาจจะอธิบายได้คือ การลงโทษนั้นเป็นการลงโทษเพื่อเอาใจฝรั่ง ไม่ได้ยึดทรัพย์ สร้างทางประมาณ 20,000 ลี้ (10,000 กิโลเมตร) บุกเบิกที่ดินการเกษตร 37,000 เอเคอร์ (ประมาณ 92,500 ไร่) ทำชลประทานทะเลทราย ดึงน้ำจากใต้ดินมาทำการเกษตร (ที่จริงเป็นเทคโนโลยีคนพื้นเมือง อาจจะไปสนับสนุน) รวมความแล้ว กล่าวได้ว่า คนดี มีความสามารถ เมื่อตกไปอยู่ที่ใด ก็สามารถทำให้ที่นั้นเจริญรุ่งเรือง ทำประโยชน์ต่างๆ ได้ ท่านได้เขียนตุ้ยเหลียนเป็นคติสอนใจลูกหลาน (ตุ้ยเหลียนของจริงหายไปแล้ว เหลือแต่ของทำเทียม) มีใจความว่า อาจารย์และญาติมิตรมาเยี่ยมบ้านหลังน้อย เป็นการให้เกียรติอย่างสูง ลูกหลานอย่าปล่อยให้หนังสือกองสูงท่วมหัวโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อพ้นโทษแล้วกลับมาเป็นผู้ว่าราชการมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว มีผลงานด้านการพัฒนาหลายอย่าง เช่น ส่งเสริมให้ชาวบ้านถลุงโลหะ เงิน และทองแดง เมื่อเกษียณอายุราชการ มาสร้างบ้านใหม่ที่ฝูโจว (มีแผนที่บ้านใหม่ให้ดูด้วย) ค.ศ. 1850 มีพระราชโองการแต่งตั้งให้เป็นขุนนางพิเศษ ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ไปปราบกบฏชาวนา เมื่อเดินทางไปถึงอำเภอผู่หนิง (โผวเล้ง) เมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว) ก็ล้มป่วย ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน รวมอายุได้ 66 ปี มีภาพแผนที่ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิง ส่วนที่ระบายสีเอาไว้เป็นมณฑลที่หลินเจ๋อสูเคยไปเป็นผู้ว่าราชการ มี 14 มณฑล


(น.46) รูป

(น.46) อีกห้องมีอักษรต่างๆ เป็นลายมือพู่กันของหลินเจ๋อสู มีกวีนิพนธ์และคติธรรมต่างๆ เช่น
เมื่อได้นั่งสงบ (สมาธิ) และอ่านหนังสืออย่างละครึ่งวัน
ลมเย็น จันทร์กระจ่าง ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่น้อย
เมื่อรอบรู้เรื่องเศรษฐกิจการเมือง อำนวยประโยชน์แก่สาธารณชน
แล้วนำไปปฏิบัติ จะเกิดความปรองดอง และความสุขในครอบครัว
หลินเจ๋อสูไปรับราชการหลายแห่ง ถือว่าเป็นบุคคลที่มีคุณูปการแก่ชาติบ้านเมือง แต่ละมณฑลจึงทำอนุสรณ์สถาน ฝูโจวเป็นเมืองบ้านเกิดยิ่งต้องทำ พิพิธภัณฑ์ฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน)
ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์มารับ พาเข้าห้องรับรองและบรรยายว่า อาคารใหม่ของพิพิธภัณฑ์เพิ่งสร้างเสร็จ ยังตกแต่งไม่เสร็จ มีประวัติว่าสร้างพิพิธภัณฑ์เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1933 ขณะนั้นชื่อว่า หอวิทยาศาสตร์ มณฑลฮกเกี้ยน
ค.ศ. 1949 เปลี่ยนชื่อเป็น หอวิทยาศาสตร์ประชาชนมณฑลฮกเกี้ยน
ค.ศ. 1953 เปลี่ยนเป็น พิพิธภัณฑ์ฮกเกี้ยน
ค.ศ. 2002 ปีนี้เปลี่ยนชื่อและหน้าที่เป็น สถาบันพิพิธภัณฑ์มณฑลฮกเกี้ยน

(น.47) ประวัติของพิพิธภัณฑ์ยาวนาน 70 กว่าปี ปัจจุบันเป็นที่เก็บวัตถุโบราณ ของพื้นเมือง พืชและสัตว์ มีของราว 200,000 ชิ้น มีเจ้าหน้าที่ 160 คน มีห้องจัดแสดง 12 ห้อง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ปีนี้ (พ.ศ. 2545) เปิดได้ 9 ห้อง พิพิธภัณฑ์นี้มีหน้าที่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ของมณฑลอื่นคือ จะต้องเก็บหลักฐานและศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ และงานวิจัย ดูสมัยโบราณ (ขณะที่ชมพิพิธภัณฑ์มีการเปิดเพลงที่คีตกวีญี่ปุ่น Kitaro แต่งสำหรับภาพยนตร์สารคดีเส้นทางสายแพรไหม) เริ่มแต่สมัยหินเก่า อยู่ที่หน้าถ้ำว่านโช่ว อายุประมาณ 200,000 ปี ภาพถ้ำที่มนุษย์โบราณอาศัยอยู่


(น.47) รูป


(น.48) รูป

(น.48) สิ่งของอายุ 6,000 ปี พบในทะเล
สมัยหินใหม่ ราว 5,000-6,000 ปี มีอาวุธหินขัด มีเครื่องปั้นดินเผาราว 4,000 หรือ 5,000 ปี บริเวณทางเหนือของมณฑล
สมัยสำริด ราว 3,000 ปีก่อน พบบริเวณแม่น้ำหมิ่น
กลางห้องตั้งเครื่องดนตรี ลักษณะคล้ายระฆัง ทำด้วยสำริด น้ำหนัก 100 กว่ากิโลกรัม เรียกว่า ต้าเหนา ใบที่เห็นนี้เป็นต้าเหนาที่หนักที่สุด เป็นเครื่องใช้ในพิธีบูชาบรรพบุรุษ

(น.49) เรือ หรือหีบศพรูปเรือ สมัยราชวงศ์ซ้ง-โจว อยู่ในถ้ำสูงประมาณ 50 เมตร แบกขึ้นไปได้อย่างไรก็ยังไม่มีใครทราบ อยู่ที่อู่อี๋ซาน อาณาจักรหมิ่นเยว่ (ปี 202-110 ก่อนคริสต์กาล) พวกหมิ่นเยว่เป็นชนพื้นถิ่นในฮกเกี้ยน ซึ่งเราจะได้ไปดูต่อไป ของที่แสดงไว้มีอุปกรณ์การก่อสร้างเข้าใจว่าเป็นอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในวังโบราณ สมัยราชวงศ์จิ้น ทั้งจิ้นตะวันตกและจิ้นตะวันออก และราชวงศ์ใต้ มีเครื่องดินเผาเคลือบเขียวอ่อนๆ ลักษณะเป็นศิลาดล สมัยราชวงศ์ถัง แสดงกระจกสำริด (เป็นสำริดขัดมันด้านหนึ่ง ส่องได้เหมือนกระจก อีกด้านสลักลวดลายต่างๆ)


(น.49) รูป


(น.50) รูป

(น.50) ปลายสมัยราชวงศ์ถัง ราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 มีเรื่องตระกูลอ๋องหมิ่นและชาวนาจากเหอหนานเข้ามาที่ผู่เถียน สุสานมเหสีหมิ่น มีตุ๊กตาคนรับใช้ตัวเล็กๆ ตัวเป็นคนหน้าเป็นสัตว์ 12 ราศี (บางตัวเล็กกว่าตุ๊กตาสุสานที่เห็นของราชวงศ์ฮั่น) เรือ (จำลอง) แบบที่ใช้ในการค้าขายต่างประเทศสมัยราชวงศ์ซ่ง คริสต์ศตวรรษที่ 12

(น.51) สุสานของผู้หญิงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ต่อราชวงศ์หยวน เสียชีวิตอายุ 17 ปี บิดามารดาของผู้หญิงคนนี้เป็นข้าราชการชั้นสูง ประจำด่านเมืองเฉวียนโจว มีเสื้อผ้าทำด้วยไหม สภาพยังดี มีกางเกงขนาดกางเกงเด็ก ในสุสานนี้พบโบราณวัตถุ 300 กว่าชิ้น ภาชนะเงินสมัยราชวงศ์ซ่ง ชิ้นหนึ่งเป็นถ้วยเงิน จารึกตัวอักษรเล่าความรู้สึกที่สอบจอหงวนได้ ถาดของถ้วยนี้จารึกเป็นรูปอาคาร ภาพสะพานลั่วหยัง เป็นสะพานที่สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ต่อกับราชวงศ์หยวน เป็นสะพานหินข้ามแม่น้ำลั่วหยัง จากเฉวียนโจว ไปฮุ่ยอาน สมัยที่มีการติดต่อกับต่างประเทศอย่างเต็มที่คือ สมัยราชวงศ์ซ่ง พบสิ่งของต่างๆ ที่มาจากสุเหร่า แผ่นจารึกภาษาอาหรับ สิ่งของจากโบสถ์คริสต์ศาสนา เทวรูปศาสนาฮินดู (สันนิษฐานว่าเป็นนางทุรคา) ศาสนามานีเคี่ยน (Manichean) จากเปอร์เซีย ภาษาจีนเรียกว่า หมิงเจี้ยว (ภาษาแต้จิ๋ว เรียกว่า เม้งก่า)


(น.51) รูป

(น.52) สมัยราชวงศ์ซ่งถือเป็นจุดสุดยอดของการศึกษาแบบประเพณี การศึกษาเจริญมาก มีบุคคลสำคัญหลายท่าน เช่น หลี่กัง นักปรัชญาจูซี แสดงแท่นฝนหมึกแบบต่างๆ กระจกทองแดง (สำริด?) รูปเซียนข้ามสมุทร
ลัทธิเต๋า สมัยราชวงศ์ซ่งต่อกับราชวงศ์หยวน
สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) นายพลเจิ้งเหอ เดินเรือไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเทียบเรือที่มณฑลฝูเจี้ยน สร้างระฆังใบหนึ่งไว้เป็นที่ระลึก มีอักษรสลักและมีลวดลายปากั้ว เป็นศิลปะสมัยหมิงที่เลียนแบบซ่ง ภาพแสดงความสามารถของคนในมณฑลนี้สอบจอหงวนได้ มีทั้งจอหงวนสายทหาร (บู๊-อู่) จอหงวนสายพลเรือน (บุ๋น-เหวิน)


(น.52) รูป

Next >>