Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2545 "


(น.81) รูป

(น.81) สถานที่นี้ขณะที่ยังไม่เป็นวัดเป็นสวนดอกไม้ และมีผู้มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมะ เมื่อเกิดอาณาจักรหมิ่นเยว่ กษัตริย์หมิ่นเยว่มาสร้างวัด เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในไต้หวัน 60% สืบสายจากวัดนี้ ที่มาเลเซียก็มี ในหนังสือประวัติวัดที่มาเลเซียเล่าไว้ว่าวัดเคยมีที่ดินในประเทศไทยด้วย เป็นสวนยาง เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนญี่ปุ่นขึ้น สิทธิในที่ดินหายไป ที่จริงวัดนี้มีที่น่าดูน่าชมอีกมาก เช่น สวนศิลาจารึกลายมือผู้มีชื่อเสียง แต่ต้องเดินไปไกลเวลาไม่พอ หน้ากุฏิเจ้าอาวาสมีต้นปรง 3 ต้น คนจีนเรียกว่า ต้นไม้เหล็ก (เถี่ยซู่) ว่าเป็นต้นตัวผู้หนึ่ง ตัวเมียสอง ต้นตัวผู้เอนตามต้นตัวเมียที่เล็กกว่า จึงว่ากันว่า ต้นนั้นเป็นเมียน้อย ส่วนเมียหลวงพยายามเอนตามต้นตัวผู้ เป็นต้นที่เก่าแก่โบราณมีอายุกว่าพันปี ต้องสร้างเสาซีเมนต์ค้ำไว้ ตามประวัติเล่าว่า ต้นตัวเมียเจ้าอาวาสชื่อ อาจารย์เสินเยี่ยนปลูกไว้ ต่อมาหมิ่นหวัง (กษัตริย์หมิ่น) ปลูกอีกต้น ส่วนต้นตัวผู้ย้ายมาจากที่อื่นเมื่อ ค.ศ. 1972 นี่เอง


(น.82) รูป

(น.82) ต้นปรง (Cycas) ที่นี่เล่ากันว่า เคยออกดอกทุก 60 ปี ปัจจุบันออกทุกปีไม่มีเว้น ถือว่าต้นปรงเป็นของดีมหัศจรรย์สิ่งที่ 2 ของวัด เดินลงมาฝ่าถัง เป็นหอธรรมะ เป็นที่เทศน์ และพระใหม่มารับศีล (บวช?) ภายในมีป้าย 3 ป้าย มีป้ายที่กล่าวถึงพี่น้อง 2 คน ที่มาบริจาคเงินบำรุงวัด คือ ชิงหลง เป็นผู้บัญชาการทหารที่ฝูโจว และชิงเป่า เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไต้หวัน ซึ่งขึ้นกับมณฑลฝูเจี้ยนในสมัยราชวงศ์ชิง

(น.83) พระพุทธรูปในหอธรรมะ เป็นพระกวนอิมพันมือหยกขาวพม่า ทางเดินไปหอพระไตรปิฎกมีห้องเล็กๆ เป็นหอหมิ่นหวัง มีอุปกรณ์ประกอบการสวดมนต์ เช่น มู่อวี๋ ซึ่งเป็นเครื่องเคาะจังหวะทำด้วยไม้ และกังสดาล ของเก่าที่อาจจะหาดูได้ยากอย่างหนึ่ง คือ ตะเกียงน้ำมันแขวน หอไตรเป็นที่เก็บคัมภีร์สมัยราชวงศ์หมิงและชิงราว 20,000 ฉบับ มีคัมภีร์ที่เขียนด้วยเลือดทั้งหมด 657 ฉบับ เขียนสมัยราชวงศ์ชิง มีบางฉบับใช้เลือดผสมสีแดง บางฉบับเขียนด้วยเลือดล้วนๆ ผู้เขียนเป็นพระภิกษุวัดนี้หลายรูป การใช้เลือดเขียนคัมภีร์ผู้เขียนจะต้องไม่กินเกลือ เลือดจึงจะเป็นสีสดแดง ฉะนั้นเมื่อเขียนไปได้ระยะหนึ่ง ผู้เขียนก็จะตายไป เพราะขาดเกลือเท่ากับเป็นการเขียนด้วยชีวิต แสดงความศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนา คัมภีร์เหล่านี้จึงถือว่าเป็นของพิเศษอย่างหนึ่งของวัด


(น.83) รูป

(น.84) ที่จริงข้าพเจ้าเคยเห็นคัมภีร์เขียนด้วยเลือดที่วัดอื่นในเมืองจีน แต่มีเพียงฉบับสองฉบับไม่ได้เห็นมีมากมายเหมือนที่นี่ ที่เคยไปดูไกด์อธิบายว่าเป็นการประท้วงการถูกกีดกันทางศาสนา หรือด้วยความไม่พอใจอื่นๆ แต่ที่นี่เป็นด้วยจิตศรัทธา ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือเปล่า ที่เราเรียนพุทธประวัติท่านเล่าว่า พระพุทธองค์ทรงสอนว่าทางไปสู่ความสำเร็จมรรคผลเป็นทางสายกลาง ไม่ใช่การบำรุงบำเรอคนอย่างฟุ้งเฟ้อ หรือการทรมานตนอย่างอุกฤษฏ์ อย่างไรก็ตามยังปรากฏว่า มีผู้ที่นับถือพุทธศาสนาเผาตัวตายหรือใช้เลือดเขียนคัมภีร์ด้วยความศรัทธาหรือเพื่อประท้วง


(น.84) รูป


(น.85) รูป

(น.85) แต่ละคัมภีร์เขียนได้ช้ามาก แต่ละวันเขียนได้ไม่ถึงหน้า ที่เราได้เห็นเป็นคัมภีร์ซึ่งมี 42 บท เป็นคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาจีนคัมภีร์แรก วัดนี้ถึงจะเป็นวัดนิกายฉานจงหรือนิกายฌาน แต่ก็มีสิ่งของและป้ายต่างๆ แสดงว่ามีการนับถือนิกายอื่นด้วยแบบปนๆ กัน ที่หมายต่อไปคือ เจดีย์หลัวซิง (Luoxing) เป็นเจดีย์โบราณแต่ว่าส่วนนี้เป็นส่วนใหม่เพิ่งสร้างเมื่อ ค.ศ. 1983 บริเวณนี้เป็นปากแม่น้ำหมิ่นเจียงที่ไหลลงสู่ทะเลตะวันออก (ตงไห่) เจดีย์ที่ตั้งอยู่ตรงนี้จึงเป็นที่หมายชัดเจนสำหรับนักเดินเรือ ปรากฏอยู่บนแผนที่การเดินเรือที่ใช้กันทั่วโลก ในแผนที่จะเรียกว่าเจดีย์จีน


(น.86) รูป

(น.86) ทางขึ้นไปเจดีย์ต้องเดินขึ้นบันไดไป 300 กว่าขั้น มีจุดที่ใช้วัดระดับน้ำทะเล ยังมีเครื่องหมายอยู่ ปัจจุบันนี้ไม่ใช้ที่นี่แล้ว ใช้ที่ทะเลเหลืองแทน มีต้นไทรใหญ่ดูจะแก่มากแล้ว 2 ต้น ถูกพายุล้มนอนอยู่แต่ไม่ตาย มองไกลๆ เหมือนเป็นป่ามีต้นไม้ขึ้นหลายต้น แต่ที่จริงมีเพียง 2 ต้นเท่านั้น


(น.87) รูป


(น.88) รูป

(น.89) เจดีย์ที่ไปดูนั้นองค์เล็กมาก มีประวัติเล่าว่า สาวงามชื่อหลิ่วชีเหนียงเป็นผู้สร้าง เป็นอนุสรณ์แก่สามีของนาง ซึ่งเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยอยู่เมืองแต้จิ๋ว สามีของนางตายเพราะมีผู้อยากได้นางเป็นภรรยา หาเหตุให้สามีถูกเนรเทศมาที่ฮกเกี้ยน นางติดตามมา สามีตายบริเวณนี้ นางจึงขายสมบัตินำเงินมาสร้างเจดีย์ แต่ก่อนว่ามีสุสานอยู่บริเวณนี้ด้วย เจดีย์เดิมถูกลมพัดล้มไปแล้ว คนสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ เคยมีการรบที่ปากน้ำนี้หลายครั้ง มีประวัติอีกอย่างว่านางหลิ่วชีเหนียงเป็นแม่ที่นั่งรอลูกจนกลายเป็นหิน ชาวบ้านจึงสร้างเจดีย์ให้ ที่หมายต่อไปอยู่ที่บริเวณเดียวกัน คือ อู่ต่อเรือหมาเหว่ย เป็นอู่ต่อเรือเก่าแห่งหนึ่งในจีน ตั้งเมื่อ ค.ศ. 1866 สามารถผลิตเครื่องยนต์ต่อเรือกลไฟได้ ใน ค.ศ. 1887 อู่ต่อเรือนี้ฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ หลังคาเป็นไม้สักจากเมืองไทย สำนักงานบริษัทที่สร้างอู่ต่อเรือนี้อยู่ที่ฮ่องกง ปัจจุบันยังเป็นอู่ต่อเรือที่ใช้การได้ดี ชาวยุโรปที่มาดูยังรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมยังรักษาสภาพนี้ไว้ได้ ถือเป็นต้นกำเนิดอุตสาหกรรมทันสมัยของจีน


(น.89) รูป

Next >>