Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2545 "

(น.90) เราเดินไปจนตลอดอาคารนี้แล้วเลี้ยวซ้าย ตามทางมีอาวุธต่างๆ วางไว้ เช่น ป้อมปืนใหญ่ ใช้ปืนผลิตในเยอรมนีและอังกฤษ เพราะเหตุที่อู่ต่อเรือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ มีการต่อเรือ การฝึกทหารเรือ จึงเป็นที่ถูกโจมตีเมื่อเกิดสงคราม เดินผ่านอาคาร Drawing Making Institute เป็นที่ออกแบบเรือและเครื่องยนต์ มีเนื้อที่ใช้สอย 600 ตารางเมตร เป็นที่ฝึกอบรมช่างต่อเรือด้วย ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารก่ออิฐสอปูน ใช้ปูนผสมน้ำข้าวเหนียวเพราะสมัยนั้นยังไม่มีปูนซีเมนต์ (อายุ 135 ปี) ภายในแสดงประวัติอู่ต่อเรือตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงยุคปัจจุบัน ประวัติสมัย ค.ศ. 1866-1911 มีภาพสำนักงานของอู่ต่อเรือ โรงเรียนนายเรือ หุ่นจำลองต่างๆ ภาพผู้ว่าราชการมณฑลฮกเกี้ยน-เจ้อเจียง ชื่อ จั่วจงถัง (ค.ศ. 1812-1885) ภาพเสนาบดีกระทรวงกิจการเรือ เป็นลูกเขยหลินเจ๋อสู ชื่อ เสิ่นเป่าเจิน ผู้สร้างอู่ต่อเรือสมัยใหม่ (ค.ศ. 1820-1879) ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1866 ขณะนั้นขุนนางในรัฐบาลกลางหลายคนสนับสนุน รวมทั้งพระนางซูสีก็เห็นด้วย แสดงแบบเรือรบที่สร้างในสมัยนั้น แสดงอุปกรณ์ที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์มากในสมัยนั้น สำหรับต่อเรือ เชื่อมโลหะ ปั้นจั่นยกเรือ วิธีการสร้างลำเรือ กระดูกงูเรือ ไม้โดยมากเป็นไม้สักจากไทย (สยาม) ผู้ที่มาควบคุมมักเป็นชาวต่างประเทศ มีชาวฝรั่งเศส เขียนเป็นภาษาจีนว่า รื่ออี้เก๋อ (日意格) (ค.ศ. 1835-1886) เมื่อกลับมาที่กรุงเทพฯ มาค้นพจนานุกรมฉือไห่ ได้ข้อมูลว่า รื่ออี้เก๋อ ก็คือ Prosper Marie Giquel มีการสร้างตึกแบบฝรั่งเป็นที่ทำงาน มีชาวยุโรปมาทำงาน 56 คน มีทั้งชาวฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และอิตาลี เดิมต่อแต่เรือไม้ ภายใน 20 ปีก็ต่อเรือเหล็กได้ กองทัพเรือฮกเกี้ยนใช้เรือที่ต่ออู่นี้ทั้งหมด ทหารที่ฝึกที่นี่เป็นต้นกำเนิดทหารเรือจีน

(น.91) ค.ศ. 1884 เกิดสงครามจีน-ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ยิงเข้ามาที่อู่ต่อเรือ สร้างความเสียหายมาก อู่ต่อเรือแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านต่างๆ เช่น ทหารเรือ นักเดินเรือทะเล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความคิดในการส่งนักเรียนไปศึกษาต่างประเทศหลายสาขาวิชา เช่น การออกแบบ การผลิตอาวุธ ระเบิด การโทรเลข (กลับมาตั้งโรงเรียนโทรเลข สถาบันการศึกษาเรือรบ) นักเรียนที่ได้ไปศึกษาต่างประเทศเหล่านี้ได้พยายามผลักดันการพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัย และเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์กับตะวันตก ผ่านงานเขียนและการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ทำให้คนจีนได้อ่านวรรณคดีของต่างประเทศ เช่น เหยียนฟู่ เป็นนักแปล หลัวเฟิงลู่ เป็นทั้งนักแปลและนักการทูต หลานสาวของเขาเป็นเลขานุการภาษาอังกฤษของประธานเหมา
สงครามทางทะเล
ค.ศ. 1884 มีสงครามจีน-ฝรั่งเศสที่หม่าเจียง (ปากน้ำอยู่ใกล้ๆ อู่ต่อเรือ)
ค.ศ. 1894 สงครามจีน-ญี่ปุ่น
บุคคลชั้นสูงในรัฐบาลจีนสนใจกิจการของอู่ต่อเรือนี้ เช่น จักรพรรดิกวางสู ผู้บัญชาการทหารเรือ สมัยสาธารณรัฐ ซุนยัตเซ็นก็เคยมาดูงาน ที่อู่ต่อเรือมีโรงงานผลิตเครื่องบินด้วย เริ่ม ค.ศ. 1918 นับเป็นแห่งแรกของจีน คนออกแบบสร้างเป็นวิศวกร เรียนมาจากอเมริกา มีช่างอีกคนหนึ่งชื่อหวังจู้ เป็นหัวหน้าวิศวกรของโบอิ้งคนแรก ออกแบบเครื่องบินจอดบนน้ำ สมัยที่เครื่องบินมาปีก 2 ชั้น หวังจู้มีเพื่อนร่วมรุ่นที่จบวิศวกรรมการบินจาก MIT อีก 2 คน ชื่อ เจิงอี๋จิง และปาอวี้เจ่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อู่ต่อเรือนี้ถูกญี่ปุ่นทำลายไปครึ่งหนึ่ง มีภาพถ่ายต่างๆ เก็บไว้ เช่น ภาพเครื่องบินญี่ปุ่นจะมาทิ้งระเบิด ว่าเป็นรูปที่ฝรั่งถ่ายเอาไว้


(น.92) รูป

(น.92) ภาพสมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ค่อยได้ฟื้นฟูอู่ต่อเรือแห่งนี้เพราะมีปัญหาเกาะไต้หวัน อู่ต่อเรือที่นี้อยู่ในจุดที่ล่อแหลมเกินไป มีการพัฒนาบ้าง เช่น ต่อเรือปูนซีเมนต์โครงเหล็ก ราคาถูก เป็นเรือขนาด 3,000 ตัน พอถึงระยะเปิดประเทศ ฟื้นฟูปรับปรุงสถานที่นี้อย่างรวดเร็ว ผู้บริหารที่นี่ได้ไปดูงานที่เซี่ยงไฮ้และถ่ายภาพต่างๆ เก็บไว้ รัฐบาลมณฑลเห็นความสำคัญจึงขยายกิจการใหม่ได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ค.ศ. 1990 ผลิตเรือขนาด 10,000 ตัน ส่งขายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป ขณะนี้สร้างได้ถึง 50,000 ตัน

(น.93) ภาพการประชุมวิชาการ มีผู้เขียนพู่กันจีนมอบไว้ให้ ผู้นำต่างๆ มาเยี่ยมชม มีรูปเรือหลากหลายแบบ มีแม้กระทั่งเรือดำน้ำ มีส่วนที่ใช้ต่อเรือ ซึ่งต่อเรือได้พร้อมกัน 3 ลำ ขนาด 50,000 ตัน 2 ลำ เยอรมนีสั่งต่อลำหนึ่ง อีกลำหนึ่ง Santa Cruz de Tenerife เป็นของสเปน ลูกเรือมารอแล้ว สวีเดนสั่งต่อลำหนึ่งขนาด 17,000 ตัน อีก 2-3 ปีจะผลิตขนาด 100,000 ตัน ดูเสร็จแล้วไปที่ โรงแรมภูเขาว่อหลง (Wolong Mountain Villa) รับประทานอาหารกลางวัน รองนายกเทศมนตรีหญิงกล่าวต้อนรับสั้นๆ แต่แรกจะมีการบรรยายสรุปละเอียด แต่อธิบดีหลี่บอกว่ารีบรับประทานอาหารดีกว่าเพราะรายการตอนบ่ายมีอีกมาก ได้ความคร่าวๆ ว่าบริเวณนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งหนึ่งในกลุ่ม 4 แห่ง ประเภทยกเว้นภาษี สนับสนุนให้มีการลงทุนเน้นเฉพาะให้คนไต้หวันมาลงทุน แต่คนอื่นก็มาได้ถ้าอยากจะมา จริงๆ แล้วพวกที่มามากที่สุดเป็นพวกฮ่องกง มาเก๊า และพวกอะไรก็ไม่ทราบเพราะเป็นบริษัทข้ามชาติ ทำเครื่องไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ มีการเดินเรือร่วมกับไต้หวันด้วย ไปสนามบินขึ้นเครื่องบินสายการบินเซี่ยเหมินไปลงสนามบินอู่อี๋ซาน ใช้เวลาบินประมาณ 30 นาที เมื่อไปถึงฝนตกเล็กน้อย คนขับรถเล่าว่า ตอนที่พระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งฮอลแลนด์เสด็จมา ฝนก็ตกแบบนี้ คนขับรถเป็นพนักงานของฝ่ายวิเทศสัมพันธ์เมืองฝูโจว ขับรถมา 5 ชั่วโมงกว่าระยะทาง 350 กิโลเมตร แล่นรถไปตามอู่อี๋ซานไปหยุดที่พิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ (site museum) เป็นเตาเผาเซรามิก ชื่อ อวี้หลินถิง สมัยราชวงศ์ซ่ง ในกำหนดการใช้คำว่าโรงงาน พวกเราฝ่ายที่เป็นนักซื้อถึงกับเตรียมเงินจะซื้อเครื่องปั้นดินเผากัน แต่ไม่มีของขาย


(น.94) รูป

(น.94) เครื่องเคลือบดินเผาจากเตานี้เป็นที่นิยมทั่วไปในจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตาตรงนี้ขุดค้นพบใน ค.ศ. 1998 จึงจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เรามาดูนี้มีคำอธิบายต่างๆ ทั้งภาษาจีนและอังกฤษ ถ่ายรูปเมื่อขุดพบเตา และอธิบายขั้นตอนการผลิต การขุดแต่ง ขุดค้นบริเวณเตา สิ่งที่พบ ชามต่างๆ เครื่องเคลือบดินเผาที่ญี่ปุ่นชอบใช้ในพิธีชงชา เขาถ่ายรูปและอธิบายสภาพภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมบริเวณนี้ มีบ่อน้ำพุซันเตี๋ย มีรูปสะพานโบราณสำหรับขนส่งของไปทางมณฑลเจียงซี มณฑลเจ้อเจียง สมัยราชวงศ์ซ่ง เขาพบบ่อน้ำที่ใช้ทำเครื่องถ้วย เมืองตรงนั้นพบซ้อนกันหลายชั้น

(น.95) ของที่ใช้ในพิธีชงชามักเป็นเครื่องเคลือบสีดำมีจุดเงินทอง เชื่อว่าใส่ถ้วยอย่างนี้แล้วทำให้สีชาดูดีขึ้น ก่อนลงเคลือบดำ เขียนลายเงินทองลงไปก่อนเป็นรูปตัวอักษรดอกไม้ ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นยังใช้เทคนิคนี้อยู่ เดิมคนญี่ปุ่นไม่เชื่อว่าเป็นเทคนิคของจีน ที่จริงจีนผลิตได้มานานกว่า 800 ปีแล้ว มีรูปเตาเผาที่ 1 เป็นเตาเผาผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบดำ วัดตามความยาวเอียงลาด 73.2 เมตร ตามระนาบ 71.35 เมตร กว้าง 1.15-2.2 เมตร เผาได้คราวละ 50,000 ชิ้น เตาเผาที่ 2 ความยาวตามเอียงลาด 113.5 เมตร วัดตามระนาบ 107.65 เมตร กว้าง 2 เมตร เผาได้คราวละ 80,000 ชิ้น มีคำอธิบายเรื่องชาและการชงชาบริเวณอู่อี๋ซาน แถบนี้เป็นแหล่งผลิตชาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ชอบใช้ถ้วยเคลือบดำข้างในหนากว่าถ้วยแบบอื่น เขาว่าจะเห็นสีชาเขียวสดใส ซึ่งจะเห็นได้อย่างไรก็ไม่ทราบถ้าถ้วยดำมืดไปหมด พันธุ์ชาที่มีชื่อเสียงแถบนี้ เรียกว่า ต้าหงเผา (大红袍) มีต้นชาโบราณขึ้นอยู่บนภูเขาหน้าถ้ำ ถ้ำนั้นจึงได้ชื่อว่า ถ้ำชา มีรูปสวนชาหลวง (Imperial Tea Garden) สมัยราชวงศ์หยวน


(น.95) รูป

(น.96) ออกไปดูข้างนอก มองไปบนภูเขาเห็นบริเวณที่ขุดค้น เขาทำหลังคาครอบเตาเหล่านี้ไว้ มีบ่อน้ำ ศาลเจ้าพ่อเครื่องเคลือบดินเผา ขึ้นรถไปเมืองโบราณ ข้างทางเห็นเป็ดเดินเป็นร้อยๆ ตัว เขาใช้รถอีแต๋นขนแพไผ่ที่ใช้ล่องแม่น้ำ ไปถึงเมืองโบราณของกษัตริย์หมิ่นเยว่ เข้าไปดูที่พิพิภัณฑ์ก่อน ผู้นำชมอธิบายว่า หมิ่นเยว่เป็นอาณาจักรแรกของมณฑลฮกเกี้ยน พวกหมิ่นเยว่เป็นกลุ่มคนที่มาอาศัยอยู่นานแล้ว ที่มาตั้งเป็นอาณาจักรได้ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เพราะผู้นำของพวกหมิ่นเยว่ช่วยฮั่นเกาจู่รบกับจักรพรรดิราชวงศ์ฉิน จึงได้รับสถาปนาเป็นอ๋อง (อ๋อง เป็นภาษาถิ่นฮกเกี้ยน ภาษาจีนกลางว่า หวัง 王) ครองแคว้นหมิ่น สร้างเมือง สร้างวัง นับอายุได้ 2,200 ปีมาแล้ว


(น.96) รูป


(น.97) รูป

(น.97) อาคารพิพิธภัณฑ์ทำเลียนแบบวังของหมิ่นหวัง (ตามจินตนาการ) แต่ขนาดเล็กกว่า เป็นตึกแบบจีนสองหลัง สูงประมาณเท่าตึก 2 ชั้น น่าจะเป็นอาคารแบบจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น พระราชวังของหมิ่นเยว่อยู่ได้ 92 ปี ถูกจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้บุกโจมตีอพยพผู้คนกวาดต้อนไปมณฑลอานฮุยและเจ้อเจียง




(น.98) รูป

(น.98) ด้านในทำเป็นภาพสลักนูนต่ำแบบสมัยราชวงศ์ฮั่น เล่าเรื่องชีวิตประชาชนเล่นกายกรรม ตีเหล็ก ทำกับข้าว ทำนา การรบ ภาพสีน้ำมันตอนหมิ่นหวังได้รับสถาปนา กลับมาสร้างเมือง กลางห้องแสดงซากสุสานของคนธรรมดา เข้าใจว่าเป็นช่วงที่มาสร้างเมือง ในสุสานไม่มีกระดูก คนอธิบายบอกว่าดินเป็นกรด กระดูกถูกย่อยสลายไปหมด มีแต่เครื่องมือสิ่งของต่างๆ ไปดูอาคารหลังที่สอง เป็นอาคารทรงเดียวกันกับหลังแรก มีลานคั่นกลาง กระเบื้องปูลานเป็นลายแบบหมิ่นเยว่ ภายในอาคารแสดงวัตถุโบราณที่ขุดได้แถบนี้

(น.99) ก่อนเข้าอาคาร เขาชี้ให้ดูภูมิสถานของจริงว่า พิพิธภัณฑ์นี้สร้างอยู่นอกเมืองโบราณ เมืองโบราณนี้มีกำแพงล้อม มีหอรบ มีประตูเมือง 4 ประตู พิพิธภัณฑ์อยู่มาทางทิศใต้ ค่อนมาทางตะวันออก ในเมืองมีแต่พระราชวัง คนอื่นๆ อยู่นอกกำแพงออกมา กำแพงยาว 2,896 เมตร ขุดพบเมื่อ ค.ศ. 1958 ข้างในอาคารมีหุ่นจำลองเมืองให้เห็นเมื่อบ้านเมืองยังดี อาคารในพระราชวังแสดงเฉพาะส่วนที่ขุดพบ เมืองไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามภูมิประเทศ ประตูทั้ง 4 อยู่ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก แต่ประตูทางเหนืออยู่ค่อนมาทางทิศตะวันออกมาก เพราะทางทิศเหนือตรงๆ เป็นภูเขาสูง ไม่ดีในการเป็นเส้นทางสัญจรไปมา ในเมืองมีคลองขุดผ่านตรงบริเวณเกือบกึ่งกลางเมือง (แนวตะวันตก ตะวันออก แต่ค่อนไปด้านใต้) ไว้สำหรับให้หมิ่นหวังเสด็จออก และใช้เป็นทางไปมาได้ มีประตูปิดกันข้าศึก (ดูแล้วน่ากลัวว่า ถ้าข้าศึกเข้าคลองได้เมืองจะแตกเป็นสองเสี่ยง) ด้านเหนือค่อนมากลางเมืองมีแม่น้ำอีกสาย แต่ดูเหมือนจะเป็นลำธารธรรมชาติที่ไหลมาเหมือนเป็นอ่างเล็กๆ ไม่น่ามีประโยชน์ด้านคมนาคม

Next >>