Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2545 "


(น.170) รูป

(น.170) ศาสนาเต้าหรือเต้าเจี้ยวเจริญมากในสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง บริเวณนี้ดูเหมือนฮวงจุ้ยดี ข้างหลังเป็นภูเขา ข้างหน้าเป็นทะเล ถือว่าเป็นมงคลเปรียบเหมือนคนใจกว้างดั่งทะเลรับน้ำได้มากมาย แต่สมัยนี้สร้างตึกบังกะโลบังทะเลไปหมด ฮวงจุ้ยเสียไปหรือเปล่า ด้านหลังรูปเหลาจื่อมีหน้าผาชื่อหนานไถ รูปเหลาจื่อรูปนี้แกะได้ดีดูมีชีวิตชีวา ไกด์ให้ดูมือเหลาจื่อว่าแกะได้เหมือนมือคนที่ฝึกชี่กงเป็นประจำ ทำให้อายุยืน สุขภาพแข็งแรง คนมาที่นี่ก็มักจะมาอธิษฐานให้สุขภาพแข็งแรง พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ

(น.171) จุดหมายที่ 4 คือ สะพานลั่วหยัง สร้างสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ใช้เวลา 6 ปี 8 เดือน ระหว่าง ค.ศ. 1053-1059 ผู้สร้างชื่อไช่เสียง ผู้ว่าราชการจังหวัดเฉวียนโจว เป็นหนึ่งใน 8 คนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี 8 คนของฮกเกี้ยน สะพานยาว 731 เมตร กว้าง 4.5 เมตร ทำด้วยหินแกรนิต สร้างมา 940 กว่าปีแล้ว แต่ยังใช้ได้ดี ซ่อมครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1431 สมัยราชวงศ์หมิง รวมซ่อมใหญ่ 19 ครั้ง ครั้งสุดท้ายซ่อมเมื่อ ค.ศ. 1993 แต่แรกสะพานนี้ชื่อ สะพานว่านอาน เป็นคำอวยพรให้ปลอดภัย เนื่องจากการข้ามแม่น้ำลั่วหยังบริเวณนี้ค่อนข้างอันตราย การสร้างสะพานช่วยให้ชีวิตชาวบ้านปลอดภัยขึ้นมาก ดูสมัยนี้ยังเห็นมีเรือสัญจรไปมาอยู่ไม่น้อย มีเรือพื้นเมืองของแถบนี้ทาสีต่างๆ ดูสดใส ด้านหน้าของเรือมีรูปดวงตาเจ้าแม่หมาจู่ มีคนแจวเรือแบบนี้ผ่านมา ในเรือมีรถจักรยานคันหนึ่ง ข้างๆ สะพานมีเกาะเล็กๆ บนเกาะมีต้นไม้เล็กๆ มีนกเกาะเป็นฝูง


(น.171) รูป


(น.172) รูป

(น.173) เรื่องแปลกอีกเรื่องที่ไกด์อธิบายคือ ช่างมีวิธีทำให้สะพานนี้มั่นคงแข็งแรง คือเลี้ยงหอยนางรมให้เกาะหิน เมื่อเอาชิ้นส่วนหินมาต่อกันจะได้ติดกันสนิทเป็นเนื้อเดียวกันไม่ลื่น เขาว่า เทคนิคแบบนี้ใช้เป็นครั้งแรกในโลก (ไม่ทราบว่าหลังจากนั้นมีคนใช้เทคนิคนี้อีกหรือเปล่า สมัยใหม่ต้องมีคนคอยขูดหอยออกกลัวจะกัดสะพานหรือเสาอาคาร) บางคนอธิบายว่าใช้หอยเป็นวัสดุสร้างรากฐานเพิ่มความแข็งแกร่ง เพราะเป็นน้ำจืดน้ำเค็มมาบรรจบกัน ทำให้น้ำเชี่ยว ที่หมายต่อไปคือ สุเหร่าชิงจิ้ง ข้างทางมีร้านขายตุ๊กตาหินแกะสลัก เป็นรูปมงคลที่พ่อค้าชอบวางไว้หน้าร้าน เช่น รูปสิงโต รูปเจ้าแม่กวนอิม


(น.173) รูป


(น.174) รูป

(น.174) ที่สุเหร่ามีนายกสมาคมมุสลิมชื่อ Hajji Abdullah Huang Quirun มารับ ศาสนาอิสลามเข้ามาในจีนราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 ลูกศิษย์ของพระมะหะหมัดได้เดินทางมากับเรือสินค้า เข้ามาอยู่ที่เมืองเฉวียนโจวและเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่เมืองนี้จนถึงแก่กรรม และมีสุสานอยู่ที่นี่ด้วย มีข้อมูลบอกว่าในสมัยราชวงศ์ซ่งมีชาวมุสลิมจำนวนมากเป็นหมื่นๆ คนอยู่ที่นี่ มาจากเมือง Shiraj บริเวณอ่าวเปอร์เซีย ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) เป็นผู้บูรณะสุเหร่านี้เมื่อ ค.ศ. 1310 ในสมัยราชวงศ์หยวน ปัจจุบันนี้เหลือเพียงประมาณ 1,000 คน ผู้สร้างสุเหร่าเป็นคนอาหรับ สร้างในปี ค.ศ. 1009 ตามประวัติว่าสร้าง 7 แห่ง ขณะนี้เหลืออยู่แห่งเดียว และเป็นวัด-ศาสนาสถานที่สำคัญ 1 ใน 10 ของจีน ที่รัฐบาลประกาศให้อนุรักษ์ใน ค.ศ. 1992 ที่เขาติดป้ายไว้ให้ดู มีดังนี้
1. สุเหร่าชิงจิ้ง เฉวียนโจว (คือที่เราดูอยู่)
2. วัดเส้าหลิน มณฑลเหอหนาน
3. วัดหันซาน เมืองซูโจว
4. วัดไป๋หม่า เมืองลั่วหยัง
5. วัดหลิงอิ่น เมืองหังโจว
6. วัดเซี่ยงกั๋ว เมืองไคเฟิง
7. วัดพระนอน ปักกิ่ง
8. วัดหลงซิง อำเภอติ้ง มณฑลเหอเป่ย
9. วัดจ๋าสือหลุนปู้ ทิเบต
10. วัดถ่าเอ่อร์ มณฑลชิงไห่

(น.175) คำว่า ชิงจิ้ง ที่เป็นชื่อสุเหร่านั้น หมายถึง การถือศีล ภาษาอาหรับเรียกสุเหร่านี้ว่า Ashab Mosque ตั้งตามชื่อเพื่อนพระมะหะหมัด สมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิหย่งเล่อประกาศพระบรมราชโองการในรัชศกหย่งเล่อปีที่ 5 ตรงกับ ค.ศ. 1407 จารึกในหลักศิลามีความตอนหนึ่งว่าให้รักษาศาสนาอิสลามในจีน ไม่ว่าข้าราชการ ชาวบ้าน ทหาร ในพื้นที่ที่มีสุเหร่า ห้ามรังแกชาวอิสลาม ถ้ารังแกจะลงโทษ เข้าไปข้างในมีห้องละหมาด หันหน้าไปทางกรุงเมกกะ มีลักษณะศิลปะแบบจีน แต่ก่อนมีประวัติว่าเป็นศิลปะแบบอาหรับ แต่ชำรุดผุพังไปตามกาลเวลา ที่เห็นอยู่นี้ทำขึ้นสมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง ราชวงศ์ชิง


(น.175) รูป


(น.176) รูป

(น.176) หน้าห้องมีนาฬิกา 6 เรือน ยังเดินอยู่เรือนเดียว คือ เวลาที่ปักกิ่ง นอกนั้นใช้สำหรับบอกเวลาให้มาทำละหมาด ดังนี้
เฉิน ตอนเช้าที่พระอาทิตย์เริ่มขึ้น ราว 05.15 น.
สั่งราวบ่ายโมง
ปู บ่าย 3 โมง – 5 โมงเย็น
ฮุน เริ่มมืดเย็น 6 โมง พระอาทิตย์จะตก
เซียว กลางคืน มืดสนิท ประมาณทุ่มหนึ่ง
เวลาพวกนี้ไม่แน่นอน แล้วแต่ฤดูกาลหน้าร้อน หน้าหนาว หน้าห้องละหมาดมีกระถางธูปและแท่นเผากำยานแบบจีน ทำด้วยหินจากโซ่วซาน

(น.177) ห้องนิทรรศการ มีคำอธิบายภาษาจีนและอังกฤษ แสดงเรื่องศาสนาอิสลามในเฉวียนโจว เริ่มด้วยการแสดงวิธีการทำละหมาดที่ถูกต้อง ต่อด้วยสาระความรู้อื่นๆ เช่น ในสมัยราชวงศ์ถัง เฉวียนโจวเป็นท่าเรือที่สำคัญ 1 ใน 4 ของจีน ได้แก่
1) เฉวียนโจว
2) กว่างโจว (เมืองกวางตุ้ง)
3) หังโจว
4) หมิงโจว (เมืองหนิงโปในปัจจุบัน)
ท่าเรือเฉวียนโจวนั้นพัฒนาไปได้ระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยราชวงศ์หยวน เปรียบได้กับท่าเรืออเล็กซานเดรียในอียิปต์


(น.177) รูป

(น.178) เรื่องสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามริมฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ของจีน (Coastal Shrines of Sages and Saints) ที่สำคัญคือ สุสานศิษย์ของพระมะหะหมัดที่มาเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่เฉวียนโจว หนังสือทั้งของจีนและต่างชาติที่เขียนเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ที่นี่มุสลิมชาวจีนยังศึกษาภาษาอาหรับ ภาพถ่ายสิ่งของโบราณวัตถุเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ประวัติที่นายพลเรือเจิ้งเหอ ตอนที่เดินทางออกไปสำรวจทะเลใต้มานมัสการทำละหมาดที่สุเหร่าแห่งนี้ เจิ้งเหอเป็นคนมุสลิมแซ่หม่า พื้นเพถิ่นฐานเดิมเป็นคนอำเภอคุนหยัง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) สิ่งของต่างๆ ที่ Hajji Abdullah Qiurun นำกลับมาจากเมกกะ รายชื่อคนอาหรับที่มาประสบความสำเร็จในการมาทำราชการ คนหนึ่งคือ ผูโซ่วเกิง เป็นนายอากร แซ่ต่างๆ ที่คนมุสลิมใช้มี แซ่ Pu (ผู), Gua (กัว), Ding (ติง), Xia (เซี่ย), Jin (จิน), Ma (หม่า), Jie (เจีย), Ge (เกอ), Shan (ซาน), Mi (หมี่), Ha (ฮา), Yang (หยัง), Huang (หวง), Shu (ซู), Lin (หลิน) และ Li (หลี่) ที่นี่ไม่มีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ใครจะเรียนต่ออย่างจริงจังต้องไปเรียนที่อื่น มีเรื่องเกี่ยวกับอาหารอิสลาม และเทศกาลของอิสลาม เช่น เทศกาลอิดิลฟิตรี ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า ไคไจเจี๋ย เทศกาลอิดิลฟิตรี เป็นพิธีฉลองที่จัดขึ้นในวันที่พ้นจากเดือนถือบวชของศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมจะถือบวชในเดือน 9 ตามปฏิทินอิสลาม และจะออกจากการถือบวชในคืนที่ต้องแลเห็นพระจันทร์เสี้ยว ถ้าไม่เห็นก็ต้องยืดไปอีก ในทางปฏิบัติไม่เกิน 3 วัน หมดพิธีถือบวชก็จะมีพิธีฉลอง คนในครอบครัวต้องอยู่ด้วยกัน มีพิธีอธิษฐาน เริ่มรับประทานได้ตามปกติในแต่ละมื้อ มีโมเดลของสุเหร่าเก่าที่คิดว่าจะสร้างขึ้นใหม่เมื่อมีเงิน ของเก่าพังไปหมดตอนแผ่นดินไหวเมื่อ 400 ปีมาแล้ว

Next >>