Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2545 "


(น.179) รูป

(น.179) ไปโรงแรมเฉวียนโจว รับประทานอาหารกลางวัน เจ้าภาพคือ คุณเหอถวนเจียน รักษาการนายกเทศมนตี คุณเหอย้ายมาจากที่อื่น ต่อไปจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่รักษาการอยู่ก็มักจะได้เป็น คุณเหอกล่าวบรรยายสั้นๆ ว่า เฉวียนโจวอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน คนละซีกกับไต้หวัน เป็นบ้านเดิมของชาวจีนโพ้นทะเลหลายตระกูล และยังเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางสายแพรไหมทางทะเล มีท่าเรือสำคัญตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11-12 ยังมีโบราณสถานสำคัญที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศ สถานที่สำคัญที่น่าดูมีหลายแห่ง เช่น วัดไคหยวน พิพิธภัณฑ์การคมนาคมทางน้ำ การปฏิรูปเศรษฐกิจของเฉวียนโจวเป็นไปอย่างต่อเนื่องราบรื่น ความทันสมัยและความมีรากฐานแต่ครั้งโบราณจะสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน

(น.180) เมืองเฉวียนโจวมีอุตสาหกรรม 53% เกษตร 8% การบริการ 39% มีบริษัทระดับตำบล ผลิตรองเท้า วัสดุก่อสร้าง อาหารสัตว์ อาหารสำเร็จรูป หัตถกรรม ปัจจุบันเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ เสื้อผ้าและหมวก เงินลงทุนมาจากกลุ่มธุรกิจในไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก่อนนี้ GDP ต่ำมาก ปัจจุบันพัฒนาเข้าสู่ระดับการเมืองชั้นนำ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ออกจากโรงแรมไปสุสานอันศักดิ์สิทธิ์ (หลิงซานเซิ่งมู่) ตั้งอยู่บริเวณภูเขาหลิงซาน มีประวัติว่าสมัยราชวงศ์ถังสานุศิษย์ของพระมะหะหมัด 4 ท่าน เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในประเทศจีน คนแรกไปที่กว่างโจว คนที่ 2 ไปหยังโจว คนที่ 3 และคนที่ 4 มาที่เฉวียนโจว และมาถึงแก่กรรมที่เมืองนี้ (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 7) สุสานของท่านถือเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ใน ค.ศ. 1988 รัฐบาลขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอนุรักษ์


(น.180) รูป


(น.181) รูป

(น.181) บริเวณสุสานมีแผ่นศิลาจารึกโบราณที่สำคัญอยู่ 5 แผ่น สมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง เป็นภาษาอาหรับ แผ่นแรก ค.ศ. 1322 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบูรณะศาสนสถาน อีกแผ่นหนึ่ง ค.ศ. 1417 ปีที่ 15 ของจักรพรรดิหย่งเล่อ นายพลเจิ้งเหอได้มาคารวะสุสานนี้และได้ไปที่ต่างๆ หลายแห่ง มีการกล่าวถึงเมืองล่าถง เมืองถง เมืองหลี่เฉิง ทั้งหมดนี้เป็นชื่อของเมืองเฉวียนโจว คนอาหรับชื่อถังซง กล่าวถึงศิษย์พระมะหะหมัดที่พูดว่า “เราจะไปหาความรู้ จะไม่กลัวทางไกล” (ไปประเทศจีน) คริสต์ศตวรรษที่ 17 สมัยราชวงศ์ชิง มีจารึกกล่าวถึงข้าราชการชั้นสูงที่นับถือศาสนาอิสลามต้องมาคารวะที่นี่




(น.182) รูป


(น.183) รูป

(น.183) บริเวณใกล้สุสานมีหินก้อนหนึ่งชื่อว่า หินลมพัด (เฟิงต้งสือ) ค.ศ. 1604 และค.ศ. 1607 แผ่นดินไหว หินไม่เคลื่อนไปไหน แต่คนผลักเพียงคนเดียวก็สั่นได้

(น.184) ที่หมายสุดท้ายที่เราไปเยือนในมณฑลฮกเกี้ยนคือ พิพิธภัณฑ์การคมนาคมทางน้ำ (Historical Museum of Maritime Transportation) พิพิธภัณฑ์นี้แสดงเส้นทางการเดินเรือจากเฉวียนโจวไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา ตะวันออก เปอร์เซีย และที่อื่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันของสันติภาพ มิตรภาพ ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม การย้อนกลับไปมองดูอดีต การมองไปข้างหน้าสู่อนาคต เข้าไปในพิพิธภัณฑ์ มีรูปเรือจำลองจากเรือที่ใช้กันในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นเรือท้องแหลมยาวประมาณ 34 เมตร เรือจริงกลับมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอับปางลงในอ่าวเฉวียนโจว ในเรือมีเครื่องเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


(น.184) รูป


(น.185) รูป

(น.185) แสดงแผนที่อ่าวเฉวียนโจว มีท่าเรือหลายแห่ง เป็นเส้นทางเดินเรือที่เรือส่วนใหญ่ไปเอเชียตะวันออก-เฉียงใต้ มีเส้นทางเดินเรือตามฝั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผ่านเวียดนามไปสิงคโปร์ ผ่านเกาะลังกาไปอ่าวเปอร์เซีย ไปต่อเรือที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองไทย และยังนิยมซื้อข้าวไทยด้วย (น.186) ช่วงที่มีการเดินเรือไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันจำนวนมากนั้น เป็นช่วงที่ในประเทศจีนเองมีคนย้ายถิ่นฐานจากทางเหนือและตอนกลางของประเทศลงมาภาคใต้มาก สินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ต้องการในตลาดค้า เช่น เครื่องเทศ ไข่มุกน้ำจืด ชาด ครั่ง ของป่า ทางภาคใต้ของจีนมีการพัฒนาคมนาคมไม่เฉพาะแต่การคมนาคมทางเรือระหว่างประเทศเท่านั้น หากแต่พัฒนาการคมนาคมทางบกด้วย เช่น การสร้างสะพาน เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11-12 มีสะพานหินหลายแห่ง เช่น สะพานลั่วหยัง สะพานอานผิง (ยาวที่สุดราว 2,255 เมตร กว้าง 5 เมตรเศษ) มีการพัฒนาบ้านเมือง เช่น การออกเอกสารโฉนดที่ทำด้วยเหล็ก การพัฒนาการเดินเรือ ตอนที่มาร์โคโปโลเดินทางกลับอิตาลี เขามาลงเรือที่เฉวียนโจว มีคนเขียนเรื่องว่า นำเจ้าหญิงมองโกเลียไปแต่งงานถึงที่ยุโรป มีผู้ติดตามไปประมาณ 600 กว่าคน (ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่) เจิ้งเหอเดินทางไปโซมาเลีย และว่ามีเจ้าชายจากอาณาจักรเล็กๆ ในอินเดีย (Marwar?) มาตั้งรกรากในจีน มีเรื่องเล่าด้วยว่า คนที่เดินเรือไปอินเดียไม่ถึงปีกลับมาได้กำไร 100 กว่าเท่า คนที่เดินเรือไปอินเดียกลับมาเขียนจารึกขอบคุณเทพเจ้าที่ดูแลอย่างดีทำให้ปลอดภัยกลับมาร่ำรวย


(น.186) รูป

Next >>