Please wait...

<< Back

" ใต้เมฆที่เมฆใต้ วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2538 "

(น.110) วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2538
เมื่อคืนนี้เขียนเรื่องอยู่จนตีสามครึ่ง วันนี้อุณหภูมิ 9°C เวลา 8.30 น. เดินทางไปโรงงานผลิตยานครคุนหมิง มาดามเฉินนั่งไปด้วยเล่าว่าขณะนี้ทางการจีนห้ามการจุดประทัดวันตรุษจีน คนจีนหลายคนรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เพราะว่าถ้าไม่จุดประทัดก็ไม่รู้สึกว่าเป็นวันตรุษจีน ในวันตรุษจีนได้หยุดพักงาน 6 วัน ส่วนวันสุดสัปดาห์นั้นมีสองแบบที่เรียกว่าวันอาทิตย์ใหญ่พัก 2 วัน วันอาทิตย์เล็กพักวันเดียว พวกแม่บ้านชอบพัก 2 วัน เพราะเมื่อทำงานบ้านเสร็จจะได้มีโอกาสพาเด็กๆ ไปเที่ยว ขณะนี้คนจีนมีเงินมีทองสบายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จึงนิยมไปเที่ยวที่ต่าง ๆ เข้าเขตซีซานเป็นเขตอุตสาหกรรม แถว ๆ นี้กำลังสร้าง ตลาดผัก สวนสาธารณะ ขณะนี้มีการแสดงกล้วยไม้ ในวันอาทิตย์จะมีคนมาเต็ม ชาวคุนหมิงชอบเที่ยวในวันอาทิตย์ แม้พวกเด็กนักเรียนก็ชอบไปเที่ยว หรือไปอ่านหนังสือในสวนสาธารณะ ที่คุนหมิงนี้ยังมีทะเลสาบซุ่ยหู ซึ่งบางฤดูมีนกบินมาจากไซบีเรีย (ฤดูหนาว) ชาวบ้านชอบเอาอาหารมาป้อนนก รอบๆ สวนมีคนเอาขนมปังสำหรับเลี้ยงนกมาขาย วันไหนอากาศไม่ดีไม่มีคนมา พนักงานของสวนจะป้อนนกเอง ไปถึงที่โรงงานผลิตยานครคุนหมิง เมื่อเข้าไปแล้วไปที่ห้องพักใส่เสื้อคลุมสีขาว ใส่หมวก มีถุงหุ้มรองเท้า แล้วไปที่ห้องประชุมเล็กๆ นายหลี่หนานเกา ผู้อำนวยการ กล่าวต้อนรับ และบรรยายสรุปเกี่ยวกับความเป็นมาของโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิตยารักษาโรคไข้มาลาเรีย สรุปความได้ว่าโรงงานแห่งนี้เป็นวิสาหกิจผลิตยาหลายชนิดใหญ่ที่สุดในมณฑลยูนนาน ได้รับสิทธิในการประกอบการนำเข้าและ


(น.111) รูป 120 โรงงานผลิตยาคุนหมิง ผลิตยาหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้มาลาเรีย

(น.111) ส่งออกได้ โรงงานมีพื้นที่ 170,000 ตารางเมตร ส่วนที่เป็นพื้นที่ก่อสร้าง 100,000 ตารางเมตร ปัจจุบันมีคนงาน 1,580 คน โรงงานผลิต 11 โรง มีห้องวิจัยทางเภสัชกรรม เครื่องมือทางการแพทย์ และสำนักงานบริหาร ผลิตทั้งยาฉีด ยาน้ำ ยาผง ยาเม็ด แคปซูล และยาเป่า ตลอดจนยาสมุนไพร ยาผสม ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการประกอบยาด้วย มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 200 ชนิด โรงงานได้ใช้ประโยชน์จากการที่มณฑลยูนนานได้ชื่อว่า “เมืองราชาแห่งสมุนไพร” ได้พัฒนายาชนิดใหม่จากธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ชิงเฮาซู่ เฮาเจี่ยหมี ตำรับปรับปรุงใหม่ เจ้าเหรินสูตรสามเจ็ด เทียนหมาซู่ (Gastrodini) และเฉ่าอูเจี่ยซู่ เป็นต้น อันเป็นประโยชน์ต่อวงการเภสัชกรรมและการอนามัย


(น.112) รูป 121 ทัวร์โรงงานผลิตยา

(น.112) วันนี้จะนำชมโรงงานผลิตยาฉีด เฮาเจี่ยหมี (Artemether) เฮาเจี่ยหมีมีทั้งชนิดยาฉีด ยาเม็ด และแคปซูล การผลิตยาชนิดนี้โรงงานและสำนักวิจัยยาเซี่ยงไฮ้ร่วมกันนำเอา “ชิงเถา” อันเป็นสมุนไพรตามตำรับแพทย์แผนโบราณจีนมาวิจัย ใช้เวลาอยู่หลายปีจึงเป็นผลสำเร็จ รักษาโรคมาลาเรียชนิดต่างๆ รวมทั้งมาลาเรียขึ้นสมอง มีผลรักษา 100% ใช้เวลารวดเร็วและมีโอกาสกลับเป็นโรคอีกน้อย มีความปลอดภัย ปัจจุบันเชื้อมาลาเรียได้พัฒนาจนดื้อยาควินินและยาประเภทหวงอันที่เคยใช้กันมานานแล้ว ยาเฮาเจี่ยหมีเป็นยายุคใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่กำลังประสบอยู่


(น.113) รูป 122 ทัวร์โรงงานผลิตยา

(น.113) กระทรวงสาธารณะสุขจีนอนุญาตให้ใช้ยาเฮาเจี่ยหมี เป็นยาใหม่ประเภทหนึ่ง คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์จีนกำหนดเป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง การประชุมนานาชาติด้านเภสัชกรรมครั้งที่ 15 ในปี ค.ศ. 1987 ยอมรับว่าเฮาเจี่ยหมีเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในวงการแพทย์ของโลก ผู้เชี่ยวชาญ WHO ยอมรับว่าเป็นยารักษามาลาเรียดีที่สุดในโลก ได้ออกทุนช่วยในการทดลองต่อคนไข้ในแอฟริกาและเอเชีย 5 ประเทศ ได้เปิดประชุมนานาชาติ 6 ครั้ง เพื่อเผยแพร่ยานี้ เมื่อปีที่แล้ว WHO ได้จดทะเบียนยานี้เป็นรายการผลิตภัณฑ์ยาพื้นฐาน และพจนานุกรมยาโลกได้มีคำอธิบายยานี้ ปัจจุบันยาเฮาเจี่ยหมีชนิดยาฉีดจดทะเบียนจำหน่ายในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกาถึง 27 ประเทศได้จดทะเบียนในประเทศไทยมานานแล้ว ทางโรงงานมีนโยบายเปิดประตูสู่โลก และพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างประเทศ ทั้งร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการค้ากับวงการแพทย์และเภสัชกรรมของไทย


(น.114) รูป 123 เครื่องมือผลิตยา เขาเน้นเรื่องความสะอาด

(น.114) ดร.ธวัชชัยบอกว่าพืชที่ใช้สกัดยารักษาโรคมาลาเรียมาจากพืช Artemisia annua เป็นพืชล้มลุก สูงราว 30 - 80 ซม. อยู่ในวงศ์ Compositae (เช่น ดาวเรือง ทานตะวัน) จัดอยู่ในสกุล Artemisia ซึ่งปรากฏอยู่ในตำรับยาสมุนไพรของไทยเช่นกัน เรียกว่า “โกฐจุฬาลำพา” ใช้รักษาโรคได้ (แต่ไม่ใช่โรคมาลาเรีย) Artemisia annua มีสาร active principle เรียกว่า “Qinghao Su” หรือ Artemisinine มีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย (antimalaria) ได้ดีมาก ได้ดูขั้นตอนการผลิตบางส่วน (ผ่านกระจก) แต่มองไม่ค่อยเห็นเพราะอยู่ไกล เขาเน้นเรื่องความสะอาด การฆ่าเชื้อโรค การตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ก็มีอยู่หลายขั้นตอน มีทั้งการควบคุมภายในโรงงานและหน่วยงานของมณฑลที่มาสุ่มตัวอย่างไปวิเคราะห์ ตัวยาชนิดนี้มีทั้งที่ขึ้นในธรรมชาติ และปลูกในหลายมณฑล ดูในตู้เห็นมียาชื่อทางการค้าต่างๆ กัน คือยาที่ผลิตในประเทศต่างๆ


(น.115) รูป 124 ยาที่ผลิตเสร็จแล้ว

(น.115) จากนั้นไปมหาวิทยาลัยยูนนาน มาดามเฉินเล่าว่าด้านการสาธารณสุขของจีนนั้น มีโรงพยาบาล สถานีอนามัยต้องมีแพทย์ 2 คนทั้งรักษาโรคและป้องกันโรค มาตรการแบบนี้ยังปฏิบัติได้ยากในแถบของชนชาติส่วนน้อย เพราะประชาชนอยู่กันกระจัดกระจาย ยังมีปัญหาเรื่องการส่งยา ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้ยาไปถึงทุกหมู่บ้านภายใน 5 ปี เขตยากจนรัฐบาลต้องช่วยรักษาฟรี นอกจากรักษาโรคยังต้องให้ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ การรักษาความสะอาด การบริโภคอาหารที่เหมาะสมเรื่องเหล่านี้ยังมีปัญหาอยู่ในเขตชนส่วนน้อย ต้องตั้งองค์การ “สาธารณสุขรักชาติ” (อ้าย กว๋อ ไว่ เซิง ยุ่นต้ง) ในแต่ละมณฑล


(น.116) รูป 125 ไปมหาวิทยาลัยยูนนาน

(น.116) ถึงมหาวิทยาลัยยูนนาน นายหวังเสวียเหริน อธิการบดีต้อนรับพาไปนั่งที่ห้องรับแขก กล่าวต้อนรับว่ามหาวิทยาลัยของเขามีนักศึกษาหมื่นกว่าคน มี 20 คณะ 80 กว่าสาขาวิชา มีวิชาการทั้งด้านอักษรศาสตร์ กฎหมาย เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น มีอาจารย์พันกว่าคน มีพนักงานอีกต่างหาก เมื่อ 2 ปีก่อนมีงานฉลอง 70 ปีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ผู้นำของจีนคือประธานาธิบดีและนายกฯ หลี่เผิง มาลงนาม มหาวิทยาลัยยูนนานติดต่อทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกษตรศาสตร์ และเชียงใหม่ เมื่อปีที่แล้วได้พบข้าพเจ้าในงานฉลอง 50 ปีมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัย ยูนนานมีชื่อเสียงในด้านคณิตศาสตร์ อาจารย์ฝังล่าเกิง นักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลกเคยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนี้ 12 ปี เป็นอาจารย์ของอธิการบดี ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์เช่นกัน น่าเสียดายที่อาจารย์ผู้นี้เสียชีวิตแล้วในปี ค.ศ. 1986


(น.117) รูป 126 ห้องสมุดมหาวิทยาลัย

(น.117) ขณะที่ไปปาฐกถาที่ญี่ปุ่น นอกจากนั้นที่มหาวิทยาลัยยูนนานยังมีนักคณิตศาสตร์ที่สามารถอีกหลายคน ไปดูห้องสมุด มีห้องอ่านหนังสือ ห้องที่ 1 มีเรื่องประวัติศาสตร์จีน บรรณารักษศาสตร์ จดหมายเหตุภาษาต่างประเทศ ห้องอ่านหนังสือ ห้องที่ 2 มีหนังสือเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ สารสนเทศศาสตร์ อิเล็กทรอนิกส์ ปฐพีวิทยา มีทั้งภาษาจีนและภาษาต่างประเทศ เป็นพวกหนังสืออ้างอิง อีกห้องมีบรรณารักษศาสตร์และวารสารจีน อีกห้องเป็นห้องศิลปศาสตร์สำหรับนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มีห้องสำหรับพวกศาสตราจารย์นักวิจัย มี 12 ห้อง และมีห้องข้อมูลวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี


(น.118) รูป 127 ห้องหนังสือโบราณ

(น.118) จากนั้นไปดูห้องหนังสือเก่า มี 1,000 กว่าชื่อเรื่อง หนังสือชนชาติต่างๆ จากท้องถิ่น หนังสือราชการเก่าๆ สมัยราชวงศ์หมิงและชิง หนังสือแบบเรียนจีน แบบเรียนภาษาต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม สารานุกรมต่างประเทศ พจนานุกรมต่างๆ หนังสือชนิดต่างๆ หนังสือชนิดโบราณแบบเก่าแก่ มัดเอาไว้ เช่น หนังสือด้านประวัติศาสตร์ ในห้องมีเครื่องป้องกันไฟไหม้ และป้องกันโจรอัตโนมัติ เวลามีโจรมาลักของเสียงจะดัง ส่วนวิธีป้องกันหนอนและความชื้นข้างในหนังสือไม่ทราบว่าทำอย่างไร มีหนังสือประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ซ่ง อายุ 800 กว่าปี ต้องเอามาปะในกระดาษอื่น ที่มหาวิทยาลัยยูนนานมีอยู่เล่มเดียว นอกจากนั้นมีหนังสือคำอธิบายคัมภีร์ซุนชิว หนังสือประวัติศาสตร์เกาหลี (เกาโกลี่) หนังสือประวัติศาสตร์ชุดนี้ทั่วโลกมีอยู่แค่ 3 ชุดเท่านั้น ที่เกาหลีใต้ก็มีไม่ครบ หนังสือโบราณทั้งหมดมี 162,000 เล่ม เล่มที่เก่าสุดมีอายุ 800 กว่าปี ข้าพเจ้าสงสัยว่าหนังสือเก่ามากมายแค่นี้เอามา

(น.119) จากไหน เขาบอกว่าประเพณีจีนคนชอบเก็บหนังสือโบราณ และบริจาคให้มหาวิทยาลัย หนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจเป็นหนังสือนิเวศวิทยาเล่มแรกของจีน มีลักษณะเป็นพจนานุกรมพฤกษศาสตร์ สมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิคังซี ที่จริงตำราเล่มนี้เริ่มเขียนมาตั้งแต่สมัยซ่ง แบ่งเป็นแผนกๆ เช่น แผนกดอกไม้ มีดอกเหมย อธิบายว่ามีกี่ชนิด อะไรบ้าง อธิบายลักษณะและอธิบายด้วยว่าดอกไม้นี้เติบโตอยู่ในสวนธรรมดา หนังสือภาพชนชาติส่วนน้อยในมณฑลยูนนานสมัยราชวงศ์ชิงปีที่ 18 ในรัชกาลกวางสู เขาอวดว่าไม่มีที่อื่นอีก มีภาพสีสวยงามมาก แต่ที่ยากก็คือในสมัยต่างๆ นั้นชื่อชนชาติก็เรียกไม่เหมือนกับในปัจจุบัน เช่นพวกจ้วง เรียกว่า พวกหลงเหริน พวกอาข่า เรียกว่า ซานซู ส่วนพวกไป๋และพวกอี๋ เรียกว่า หลอหลอ ทำให้นึกถึงอาณาจักรต้าหลี่น่านเจ้าโบราณ เห็นจะเป็นพวกหลอหลอ แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นไป๋หรือเป็นอี๋หนังสือเล่มนี้ยังมีภาพชนกลุ่มน้อยอีกหลายเผ่า มานึกได้อยู่อย่างหนึ่งว่าสมัยนี้เราศึกษาเรื่องชนเผ่าต่างๆ เพราะเราสนใจวิชาการด้านมานุษยวิทยา หรือเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าพวกที่แต่งหนังสือเช่นนี้ในสมัยก่อนทำไว้เพื่อประโยชน์ในการปกครอง มองออกนอกหน้าต่างห้องสมุด อธิการบดีชี้ให้ดูตึกบริหาร เป็นตึกเก่าแก่หลังคาสีเหลือง ตึกเรียนการศึกษาต่อเนื่อง ตึกเคมี

Next >>