Please wait...

<< Back

" ใต้เมฆที่เมฆใต้ วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2538 "


(น.120) รูป 128 ที่เก็บหนังสือ

(น.120) ลงมาชั้นล่างห้องสมุด มหาวิทยาลัยยูนนานมอบหนังสือให้ข้าพเจ้าจำนวนหนึ่ง รวมทั้งหนังสือที่ท่านอธิการแต่งเองด้วย มาดามเฉินบอกว่าแต่ก่อนนี้มหาวิทยาลัยยูนนานมีคณะเกษตร คณะแพทย์ และคณะอุตสาหกรรม ขณะนี้แยกออกมาเป็นมหาวิทยาลัยต่างหาก เส้นทางจากมหาวิทยาลัยกลับโรงแรม เห็นบ้านเก่าๆ มาก แต่ก่อนถือว่าแถวนี้เป็นศูนย์กลางของเมือง มีร้านขายยา บ้านมาดามเฉินเองก็อยู่แถวนี้ ผ่านวัดหยวนทง มาดามบอกว่าแถวนี้มีร้านขายธูปแยะ สวนสัตว์คุนหมิง ข้ามแม่น้ำหลงเจียง ตัวเมืองคุนหมิง ตึกที่ทำงานของกรรมาธิการวิทยาศาสตร์มณฑล ผ่านบ้านรับรองของรัฐบาล แต่เดิมเป็นบ้านของหลงหยุนแม่ทัพก๊กมินตั๋ง เมื่อมาครั้งก่อน (14 ปีมาแล้ว) ได้มาพักที่นี่ ตอนที่สมเด็จป้าเสด็จมาก็ประทับที่นี่เช่นเดียวกัน ได้ทราบ


(น.121) รูป 129 ไปเชียงรุ่ง

(น.121) ว่าขณะนี้เปิดให้บุคคลทั่วไปเช่าพักส่วนหนึ่ง และอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ผ่านสถานีรถไฟ นับว่าโรงแรมมังกรทองที่เรามาพักกันอยู่นี้อยู่ในพื้นที่ที่ดี สะดวก คือใกล้สถานีรถไฟ และไม่ไกลจากสนามบินนัก ถึงโรงแรมรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้วมีเวลาพักผ่อนครู่หนึ่งจึงเขียนบันทึกนี้ ถึงเวลาไปสนามบิน ขึ้นเครื่องบินสายการบินยูนนาน เครื่องบินช้า (delay) ไปหน่อยหนึ่ง ก่อนเครื่องบินขึ้นพนักงานต้อนรับอธิบายเรื่องการสูดอากาศในกรณีฉุกเฉิน และเรื่องอื่นๆ จิปาถะ ตามธรรมเนียมเครื่องบินโดยสาร เธอพูดเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษคล่องปรื๋อไม่ต้องอ่านเลย มองจากเครื่องบินเห็นภูเขา ป่าไม้ถูกตัดเป็นส่วนมาก ยิ่งใกล้ๆ จะถึงสนามบินเชียงฮุ่ง (เชียงรุ่ง) หรือที่ภาษาจีนเรียกว่าจิ่งหง ซึ่งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติไต่สิบสองปันนายิ่งเห็นถูกตัดมาก


(น.122) รูป 130 ชาวเชียงรุ่งต้อนรับ

(น.122) เมื่อไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชื่อเตาอ้ายหมินกับคณะต้อนรับ มีสาวๆ ถือขันใช้ดอกไม้ใบไม้ใบไม้พรมน้ำส่วนหนึ่ง นอกนั้นถือดอกไม้ผ้าสองมือ แต่งตัวพื้นเมืองแบบต่างๆ เป็นพวกไทลื้อมากกว่าอย่างอื่น มีสาวกางร่มอีกพวกหนึ่ง ตอนขึ้นรถมาดามเฉินนั่งด้วยตามเคย ทิวทัศน์สองข้างถนนเป็นไร่นา ไม่ต่างจากบ้านเรามากนัก มีต้นไผ่หลายชนิด กล้วย สวนยาง ตามบ้านมีมะม่วง ดอกเฟื่องฟ้า มะพร้าว มาดามบอกว่าเมืองสิบสองปันนานี้มีการเพาะปลูกมากกว่าจังหวัดอื่น ปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้ง บางแปลงก็ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ เพื่อให้ดินได้พัก ช่วงนี้หลังจากนาฤดูที่แล้วก็ปลูกแตงโม ถั่วลันเตา ปลูกพริก


(น.123) รูป 131 สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรสิบสองปันนา

(น.123) ตอนเข้าตัวเมืองเห็นได้ว่าเป็นเมืองที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงสูง มีการก่อสร้าง ถนนสองข้างปลูกปาล์มน้ำมัน (ที่นี่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเพียงแต่สำหรับประดับถนน) ถนนที่เราแล่นผ่านเป็นสายหลัก เราพักที่ Crown Hotel ซึ่งเป็นโรงแรมใหม่เพิ่งเปิดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง โดยบริษัทบุหรี่ของมณฑลยูนนานเป็นผู้ลงทุน ขณะนี้มีคนมาจากมณฑลอื่นๆ มาลงทุนหลายบริษัท พนักงานของโรงแรมนี้หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสคล่องแคล่วดี เวลาเดินผ่านจะพูด Good Morning, Good afternoon (ตามโอกาส) และโค้งแบบญี่ปุ่น พักผ่อนที่โรงแรมครู่หนึ่งแล้วไปสวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรสิบสองปันนา ขึ้นกับกรรมาธิการวิทยาศาสตร์การแพทย์ของจีน นายเฉินซินหรง รองผู้อำนวยการศูนย์บรรยายความเป็นมาของศูนย์ว่าสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1983 สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์สมุนไพรแห่งจีน มีหน้าที่วิจัยพรรณไม้แถบร้อนและอบอุ่น วิจัยสมุนไพรที่คนกลุ่ม


(น.124) รูป 132 สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรสิบสองปันนา


(น.124) รูป 133 ยาต่างๆ ที่ทำจากสมุนไพร

(น.124) น้อยในสิบสองปันนาใช้และที่อยู่ในป่าแถบภาคใต้ ปัจจุบันมีพนักงาน 87 คน เป็นบุคลากรระดับศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ 5 คน ช่างเทคนิค 17 คน มีแผนกวิจัย 3 แผนก มีห้องวิจัยทางเคมีแผนกปลูกพืชสมุนไพร และแผนกวิจัยธรรมชาติสิบสองปันนา มีงานวิจัยสกัดตัวยาจากพืช เช่น ต้นเลือดมังกร (จันทน์ผา Dracaena cochinchinensis) วงศ์ Agavaceae พืชชนิดนี้มีอายุยืน มีคุณค่าทางยา ช่วยรักษาเลือดลมสตรี ยังมีเห็ดหลินจือปลูกไว้ที่นี่ด้วย ต้นไม้ที่เรียกเป็นภาษาจีนว่าฟางต้าไห่ มีคนบอกว่าภาษา


(น.125) รูป 134 พืชต่างๆ ที่เขาเก็บดองเอาไว้

(น.125) ลาวเรียกว่าจอมบ้าน คือ ต้นพุงทะลาย (Scaphium scaphigerum) ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก อยู่บริเวณเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ต้นเหมี่ยนเฉีย (มะค่าโมง) ใช้เม็ดเป็นยา นอกจากนั้นยังมีต้นขี้กา (Gymnostemma centaphylla) หญ้าหนวดแมว แก้ร้อนในและบำรุงตา กระวาน หมากแนง สีเสียด หมากสามตอน ฯลฯ เข้าไปดูในห้องแสดงพันธุ์ไม้มีแผนผังสวน แบ่งออกเป็นอาคาร สำนักงาน ที่พักพนักงาน บริเวณแปลงปลูกพืชสมุนไพร ในห้องเห็บตัวอย่างเมล็ดพืชต่างๆ และส่วนต่างๆ ของพืชที่ดองเก็บไว้ในขวด


(น.126) รูป 135 เที่ยวชมในสวน

(น.126) ออกไปข้างนอกกลางสนามมีต้น “เลือดมังกร” หรือจันทน์ผา ที่สวนนี้มีจันทน์ผาอีกชนิดหนึ่งมาจากโซมาเลีย (Dracaena draco) จีนมีเพียง 2 ต้นเท่านั้น อีกต้นอยู่ที่เมืองอู่ซี (ในมณฑลยูนนาน) เดินเข้าสวนสมุนไพร มีต้นปรง (ใช้ราก) แก้ร้อนใน แก้อักเสบในกระเพาะ ในสวนมีต้นไม้ ส่วนมากปลูกเอาไว้ราว 30 กว่าปีมาแล้ว คือต้นระย่อม (Rauvolfia vomitoria) แก้โรคโลหิตจาง ต้นตันเซียง เป็นไม้หอมที่ได้จากอินเดีย (Santalum album) ต้นไม้ชนิดนี้เขาว่าในอินเดียต้องใช้เวลา 30 ปี ไม้จึงมีกลิ่นหอม ที่จีนนำมาปลูกได้ 15 ปีแล้ว นอกนั้นมีต้นกฤษณา (Aquilaria sinensis) ชะมวง ต้น


(น.127) รูป 136 ปลูกต้นไม้

Next >>