Please wait...

<< Back

ภาคผนวก

ภาคผนวก ก สังเขปการปกครองของจีนในอดีตและปัจจุบัน


(น.208) ภาคผนวก ก สังเขปเขตการปกครองของจีนในอดีตและปัจจุบัน

ในประวัติศาสตร์การปกครองของแต่ละประเทศ การจัดระเบียบเขตการปกครองเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง และมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในแต่ละช่วงสมัย ด้วยเหตุนี้คำศัพท์ต่างๆ เกี่ยวกับเขตการปกครองแต่ละระดับนั้น แม้ในบางครั้งจะเป็นคำเดียวกัน อ่านออกเสียงเหมือนกัน หากแต่ว่าในแต่ละสมัยอาจสื่อความหมาย ขอบเขต และพื้นที่ที่แตกต่างกันได้ การศึกษาคำศัพท์ต่างๆ เกี่ยวกับเขตการปกครองของแต่ละประเทศจึงต้องพิจารณาถึงบริบททางเวลาด้วย การจัดระบบเขตการปกครองของจีนมีวิวัฒนาการอันยาวนานคู่มากับประวัติศาสตร์ของจีน ปัญหามีอยู่ว่าการแปลคำศัพท์เหล่านี่มาเป็นภาษาไทยยังไม่ลงรอยเดียวกัน คำเดียวกันแปลต่างกันไป เช่น มีผู้แปลคำว่า “โจว” (Zhou) ในเขตการปกครองของจีนในปัจจุบันว่า “เขต” ว่า “เมือง” ว่า “แคว้น” หรือแปลคำว่า “เสิ่ง” (Sheng) เป็น “มณฑล” บ้าง เป็น “จังหวัด” บ้าง การสื่อความหมายจึงแตกต่างกันออกไป เรื่อง “สังเขปเขตการปกครองของจีนในอดีตและปัจจุบัน” ในภาคผนวกนี้ ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลบางส่วนจากหนังสือประวัติศาสตร์จีนที่นักวิชาการตะวันตกเขียน บางส่วนได้มาจากหนังสือเกี่ยวกับจีนและสารานุกรมจีนบางเล่ม รวมทั้งได้ถามข้อสงสัยบางประเด็นจากศาสตราจารย์เจียแยนจอง ซึ่งขณะนี้เป็นนักวิจัยรับเชิญประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อมูลที่นำเสนอเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน มิได้ลงลึกในรายละเอียดแต่อย่างใด นอกจากนั้นการแปล (น.209)เขตการปกครองต่างๆ ของจีนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น ผู้เขียนพยายามหาคำศัพท์ภาษาไทยที่มีความหมายใกล้เคียงสอดคล้องกับคำในภาษาจีน ในขณะเดียวกันก็หาศัพท์ที่คนไทยคุ้นเคย เพื่อสื่อความหมายให้ใกล้เคียงที่สุด และให้คนไทยเข้าใจได้ด้วย คำแปลเหล่านี้จึงเป็นเพียงการเสนอแนะของผู้เขียน เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าทางด้านจีนวิทยาได้ช่วยกันอภิปรายพิจารณากันต่อไป
1. เขตการปกครองของจีนในอดีต
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน ศูนย์กลางของสังคมอยู่ที่หมู่บ้าน แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นสังคมเมืองที่มีการจัดระเบียบสังคมและการปกครองที่ซับซ้อนขึ้น จีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน การจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนมีหลักฐานให้ศึกษาย้อนกลับไปได้ถึงสมัยชุนชิว (770-476 ปีก่อน ค.ศ.) ในสมัยนี้มีการจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” (Xian) หลังจากนั้นการจัดตั้งเขตการปกครองได้ปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการสืบต่อมา จนกล่าวได้ว่าลงตัวในสมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน หมิง และชิง มีการปรับเปลี่ยนหรือมีการจัดเขตการปกครองที่ใช้เฉพาะสมัยบ้าง แต่ยังคงใช้โครงสร้างหลักสมัยราชวงศ์ถัง คำศัพท์เกี่ยวกับเขตการปกครองของจีนในอดีตที่จะกล่าวถึงในภาคผนวกนี้มี 10 คำ คือคำว่า เสี้ยน (Xian) จวิ้น (Jun) โจว (Zhou) เต้า (Dao) ฝู่ (Fu) ลู่ (Lu) จวิน (Jun) เจี้ยน (Jian) สิงเสิ่ง (Xing Sheng) หรือเสิ่ง (Sheng) และทิง (Ting) ดังจะได้กล่าวอย่างสังเขปตามลำดับต่อไป

1.1 เสี้ยน (县) ตามหลักฐาน การจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” มีขึ้นครั้งแรก เมื่อประมาณ 688 หรือ 687 ปีก่อน ค.ศ. ดังที่ปรากฏคำนี้ในแคว้นฉิน แคว้นจิ้น และแคว้นฉู่ “เสี้ยน”

(น.210)ได้พัฒนาต่อมาจนลงตัวดีในสมัยการปฏิรูปของซางหยางแห่งแคว้นฉินระหว่าง 359-350 ปีก่อน ค.ศ. เขตการปกครอง “เสี้ยน” จะประกอบด้วยเมืองที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบกับบริเวณรอบนอกตัวเมือง “เสี้ยน” ในความหมายดั้งเดิมจึงหมายถึงเขตการปกครองระดับ “เมือง” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Perfecture” ในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) “เสี้ยน” ถูกลดระดับให้เล็กลงจากเดิม ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Subprefecture” ถึงสมัยราชวงศ์ถัง “เสี้ยน” หมายถึง เขตการปกครองระดับ “อำเภอ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “County” บ้าง หรือ “District” บ้าง คำว่า “เสี้ยน” ที่หมายถึงเขตการปกครองระดับอำเภอได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
1.2 จวิ้น (郡) ในสมัยการปฏิรูปของซางหยางได้มีการจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “จวิ้น” ตามอาณาบริเวณพรมแดนของแคว้น เป็นเขตการปกครองที่เน้นเรื่องการทหาร มีฐานะต่ำกว่า “เสี้ยน” เมื่อพระเจ้าฉินสื่อหวงตี้ทรงรวมประเทศจีนได้แล้ว ได้ขยายและปรับเขตการปกครอง “จวิ้น” ให้ใหญ่ขึ้น แบ่งการปกครองประเทศจีนออกเป็น 36 จวิ้น ต่อมาเพิ่มเป็น 42 จวิ้น จวิ้นในสมัยนี้จึงหมายถึงเขตการปกครองระดับ “แคว้น” และปกครองดูแล “เสี้ยน” “จวิ้น” ถูกยกเลิกไปในสมัยราชวงศ์สุย
1.3 โจว (洲) เป็นเขตการปกครองที่เริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ (140-87 ปีก่อน ค.ศ.) ในสมัยนี้ได้แบ่งประเทศจีนเป็น 13 โจว ระดับการปกครองลดหลั่นจากโจว (แคว้นใหญ่) จวิ้น (แคว้นเล็ก) - เสี้ยน (เมือง) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง “โจว” จะถูกลดระดับลงมามีฐานะเป็น “เมือง”
1.4 เต้า (道) ความหมายเดิมของคำว่า “เต้า” หมายถึง หนทาง วิถี วิธีการ เหตุผล แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึง

(น.211) เขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ถังได้จัดเขตการปกครอง “เต้า” ขึ้นเป็นเขตการปกครองสูงสุดระดับมณฑล ในตอนแรกมี 10 เต้า ต่อมาเพิ่มเป็น 15 เต้า ในสมัยราชวงศ์ซ่งได้เปลี่ยนชื่อเขตการปกครองระดับมณฑลมาเป็น “ลู่” (路) มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ขอบเขตและการรวมอำนาจเข้าส่วนกลาง แต่แนวคิดก็ยังเป็นเขตการปกครองระดับมณฑลอยู่ ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงได้จัดตั้งเขตการปกครอง “เต้า” ขึ้นอีก แต่มิได้อยู่ในฐานะของมณฑล หากมีฐานะกลางๆ ระหว่าง “มณฑล” และ “เมือง” ทำหน้าที่ตรวจตราราชการของเมืองในฐานะตัวแทนของมณฑล เช่น ในสมัยราชวงศ์ชิงที่มณฑลยูนนานได้จัดตั้ง “ผู่เอ๋อเต้า” ขึ้นที่ด้านเหนือของเชียงรุ่ง เพื่อกำกับดูแลสิบสองปันนาและหัวเมืองใกล้เคียง

1.5 ฝู่ (府) ความหมายเดิมของคำว่า “ฝู่” หมายถึง ทำเนียบ คฤหาสน์ของขุนนางผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึงเขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ถังได้จัดตั้งเขตการปกครอง “ฝู่” ขึ้น หมายถึง เมืองที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญ ส่วนเมืองที่ขนาดรองลงมาเรียกว่า “โจว” การแบ่งเมืองออกเป็นระดับต่างๆ นั้นไทยเราก็แบ่งเช่นกันเป็นเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา เมืองเอก เมืองโท เมืองตรีนั้นยังมีเมืองเล็กๆ เป็นเมืองบริวารมาขึ้นอยู่ด้วย ดังนั้น คำว่า “เมือง” ในความรับรู้ของคนไทยจึงสื่อความหมายถึง หน่วยการปกครองเหนือระดับหมู่บ้านขึ้นมาจนถึงประเทศ มีระดับของความเป็นเมืองต่างกัน และตรงกับคำภาษาอังกฤษหลายคำตั้งแต่ town, city จนถึง nation state เช่น เมืองบางละมุง เมืองมโนรมย์ (town) เมืองพิษณุโลก เมืองนครศรีธรรมราช (city) เมืองไทย เมืองจีน เมืองอังกฤษ (nation state)

(น.212) ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง มีทั้งโจวที่ขึ้นกับฝู่ และโจวที่มีฐานะเป็นเมืองอิสระ คำว่า “โจว” เป็นคำเก่าแก่ที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การปกครองของจีน เช่นเดียวกับคำว่า “เสี้ยน” ทั้งสองคำนี้มีการปรับเปลี่ยนขอบเขตในแต่ละช่วงสมัย และยังเป็นคำที่ใช้อยู่ในการจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนในปัจจุบัน คำว่า “ฝู่” ที่แปลว่า “เมือง” นี้ คนไทยออกเสียงเพี้ยนไปเป็น “ฟู” เช่น ต้าหลี่ฝู่ เป็น ตาลีฟู
1.6 ลู่ (路) ความหมายเดิมของคำว่า “ลู่” หมายถึง ทาง เส้นทาง ถนน ลู่ทาง แนวทาง แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึงเขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ซ่งได้จัดเขตการปกครอง “ลู่” ขึ้นเป็นเขตการปกครองสูงสุดระดับมณฑล แทนที่เต้าซึ่งได้จัดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง การยุบเลิกเต้าเปลี่ยนมาเป็นลู่เป็นการปรับเปลี่ยนในแง่ของพื้นที่ขอบเขตและการรวมอำนาจเข้าส่วนกลาง แต่แนวคิดยังคงเป็นเขตการปกครองระดับมณฑล สมัยราชวงศ์ซ่งในตอนแรกมี 21 ลู่ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนขึ้นลงเป็น 15 ลู่บ้าง 18 ลู่บ้าง และ 23 ลู่บ้าง ในสมัยราชวงศ์หยวนได้เปลี่ยนมาเรียกเขตการปกครองระดับมณฑลเป็น “สิงเสิ่ง” หรือ “เสิ่ง” ส่วนคำว่า “ลู่” หมายถึง เขตการปกครองที่รองลงมาและขึ้นกับเสิ่ง “ลู่” ในสมัยราชวงศ์หยวนเทียบเท่า “ฝู่” ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ถึงสมัยราชวงศ์หมิงได้ยุบเลิก “ลู่” เปลี่ยนมาตั้ง “เต้า” ขึ้นมาแทน เป็นหน่วยการปกครองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างมณฑลและเมืองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
1.7 จวิน (军) ความหมายเดิมของคำว่า “จวิน” หมายถึง ทหาร กองทัพ และเป็นคำนามที่ใช้ประกอบกับคำอื่นๆ ในการจัดระเบียบหน่วยการปกครองของกองทัพมาตั้งแต่สมัยชุนชิว แต่

(น.213) ในสมัยราชวงศ์ซ่งได้ใช้ความหมายถึงเขตการปกครองด้วย จวินเป็นหน่วยการปกครองที่ตั้งขึ้นเฉพาะในราชวงศ์นี้ มีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกมีฐานะระดับเดียวกับฝู่ โจว และเจี้ยน ขึ้นกับลู่ ส่วนอีกประเภทหนึ่งมีฐานะระดับเดียวกับเสี้ยน ขึ้นกับฝู่หรือโจว หลังสมัยราชวงศ์ซ่ง จวินถูกยุบเลิกไป
1.8 เจี้ยน (监) ความหมายเดิมของคำว่า “เจี้ยน” หากเป็นคำกริยา แปลว่า ควบคุม หากเป็นคำนาม แปลว่า ขุนนาง แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึงเขตการปกครองด้วย เจี้ยนก็เช่นเดียวกับจวิน กล่าวคือ เป็นหน่วยการปกครองที่ตั้งขึ้นเฉพาะในสมัยราชวงศ์ซ่ง เจี้ยนจะจัดตั้งในอาณาบริเวณที่เป็นเขตเศรษฐกิจ เช่น บ่อเกลือ เหมืองแร่ ทุ่งเลี้ยงม้า แหล่งหลอมเงินตรา เป็นต้น เจี้ยนมี 2 ประเภทเช่นกัน ประเภทแรกมีฐานะระดับเดียวกับฝู่หรือโจว ขึ้นกับลู่ ส่วนอีกประเภทหนึ่งมีฐานะระดับเดียวกับเสี้ยน ขึ้นกับฝู่หรือโจว หลังสมัยราชวงศ์ซ่งเจี้ยนถูกยุบเลิกไป
1.9 สิงเสิ่ง (行省) หรือเสิ่ง (省) ในสมัยราชวงศ์หยวนมีการปรับปรุงเขตการปกครองระดับมณฑลทั้งในด้านพื้นที่และการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น “สิงเสิ่ง” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เสิ่ง” ในสมัยราชวงศ์หยวนมี 12 เสิ่ง ถึงสมัยราชวงศ์หมิงมี 15 เสิ่ง สมัยราชวงศ์ชิงในระยะแรกมี 18 เสิ่ง ระยะหลังเพิ่มเป็น 22 เสิ่ง ส่วนในสมัยรัฐบาลจีนคณะชาติ (ค.ศ. 1912-1949) เพิ่มขึ้นเป็น 25 เสิ่ง คำว่า “เสิ่ง” ยังคงใช้อยู่ในการจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนในปัจจุบัน
1.10 ทิง (厅) ความหมายเดิมของคำว่า “ทิง” หมายถึง ห้องโถง เป็นเขตการปกครองเฉพาะที่ตั้งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง ใน

(น.214) อาณาบริเวณที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่แถบชายแดน เช่น อำเภอหลานชางในมณฑลยูนนานที่มีชนชาติมูเซอร์อยู่มาก ได้ตั้งขึ้นเป็น “เจิ้นเปียนทิง” (镇边厅)แปลตามศัพท์ว่า “ปราบชายแดน” ทิงมี 2 ประเภท ประเภทแรกมีฐานะระดับฝู่หรือโจว ขึ้นกับเสิ่ง ส่วนอีกประเภทหนึ่งมีฐานะระดับเสี้ยน ขึ้นอยู่กับฝู่หรือโจว

2.เขตการปกครองของจีนในปัจจุบัน
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ค.ศ. 1949 รัฐบาลจีนได้ยกเลิกการจัดระเบียบเขตการปกครองแบบเสิ่ง ฝู่ โจว และเสี้ยน และได้จัดระเบียบเขตการปกครองขึ้นใหม่ แต่ยังคงยึดหลักการปกครองลดหลั่นกันตามลำดับ เพียงแต่ว่าในแต่ละระดับมีการแบ่งแยกออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมหรือความสำคัญของพื้นที่ มีฐานะที่เท่ากันในระดับนั้นๆ แต่มีการจัดองค์กรที่แตกต่างกันไปบ้าง ดังแผนผังที่แสดงดังต่อไปนี้

(น.215) แผนผังแสดงการแบ่งเขตการปกครองของจีนในปัจจุบัน

(น.216) จากแผนผังที่แสดงไว้นี้ จะเห็นได้ว่าแนวทางการจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนในปัจจุบันนั้นจะลดหลั่นกันไปเป็นลำดับ มีการปรับสภาพองค์กรการปกครองให้สอดคล้องกับสภาพสังคมวัฒนธรรมและความสำคัญของพื้นที่ รวมทั้งมีการกระจายแบ่งปันอำนาจในระดับหนึ่งด้วย จากแผนผังจะเห็นได้ว่าการปกครองจะลดหลั่นจากรัฐบาลกลางลงมาที่ระดับมณฑล (เสิ่ง) ซึ่งในระดับนี้จะมี “ภูมิภาคปกครองตนเอง” (จื้อจื้อชีว์) และ “มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง” (จื๋อเสียซื่อ) ด้วย หน่วยการปกครองทั้ง 3 แบบนี้มีฐานะที่เท่ากัน ถัดจากมณฑลและภูมิภาคปกครองของตนเองก็จะมาถึงระดับ “จังหวัด (ตี้ชีว์) “จังหวัดปกครองตนเอง” (จื้อจื้อโจว) และ “นครที่ขึ้นต่อมณฑลหรือภูมิภาคปกครองตนเอง” (เสิ่งเสียซื่อ, จื้อจื้อชีว์เสียซื่อ) ซึ่งต่างก็มีฐานะที่เท่ากันในระดับนี้ ส่วนมหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางก็จะมีเขต ทั้งที่อยู่ในเมืองและชานเมือง รวมทั้งอำเภอในพื้นที่บริเวณรอบนอกออกไป อยู่ใต้การปกครอง ต่อจากจังหวัดและจังหวัดปกครองตนเองลงมา หน่วยงานที่มีฐานะเท่ากันในระดับนี้ก็จะเป็น “อำเภอ” (เสี้ยน) “อำเภอปกครองตนเอง” (จื้อจื้อเสี้ยน) และ “เมืองที่ขึ้นต่อจังหวัดหรือจังหวัดปกครองตนเอง” (ตี้ชีว์เสียซื่อ, จื้อจื้อโจวเสียซื่อ) ส่วนนครที่ขึ้นต่อมณฑล หรือภูมิภาคปกครองตนเองก็จะมีเขตและอำเภออยู่ใต้การปกครองเช่นกัน ในด้านสาระสำคัญของเขตการปกครองต่างๆ ที่แสดงในแผนผังนั้นอาจสรุปได้ดังนี้
2.1 เสิ่ง (省) คำว่า “เสิ่ง” ที่เป็นศัพท์แสดงเขตการปกครองในภาษาจีนนั้นเริ่มใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน และใช้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Province” ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง

(น.217) พัฒนาจัดระเบียบเขตการปกครอง “เต้า” ขึ้นแล้ว กล่าวได้ว่าการจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคได้ลงตัว รัฐบาลกลางได้เข้าไปมีบทบาทและอำนาจในการควบคุมการปกครองส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น สภาพการณ์ดังกล่าวได้ดำเนินสืบเนื่องต่อมาในสมัยหลัง เพียงแต่ว่ามีการปรับปรุงระดับการควบคุมและขอบเขตพื้นที่บ้างในราชวงศ์ต่อๆ มา รวมทั้งมีการเปลี่ยนชื่อเขตการปกครองแบบ “เต้า” ไปเป็น “ลู่” บ้าง “เสิ่ง” บ้าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อพิจารณาในแง่นี้แล้ว คำว่า “เสิ่ง” ในภาษาจีนจึงน่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “มณฑล” ในความรับรู้ของคนไทยนั้น คำว่า “มณฑล” สื่อความหมายถึง หน่วยการปกครองที่รวมเมืองหรือจังหวัดหลายจังหวัดเข้าด้วยกัน และส่วนกลางได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการปกครองพอควร ในขณะที่คำว่า “แคว้น” สื่อความหมายถึงหน่วยการปกครองที่มีเมืองตั้งแต่ 3-4 เมืองขึ้นไป หรืออาจจะมีนับสิบเมืองมารวมกัน ขอบเขตของแคว้นจึงอาจจะเล็กหรือใหญ่ก็ได้ ที่สำคัญก็คือแคว้นมีความเป็นอิสระและปลอดจากอำนาจรัฐส่วนกลางในระดับสูง รวมทั้งมีเจ้าผู้ครองแคว้นด้วย การแปลคำว่า “เสิ่ง” เป็นภาษาไทยว่า “มณฑล” จึงมีความสอดคล้องใกล้เคียงกับความหมายในภาษาจีน และสอดคล้องกับความรับรู้ของคนไทย ประเทศจีนมีมณฑลอยู่ 23 มณฑล แต่ละมณฑลจะมีรัฐบาลประจำมณฑลที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเป็นผู้บริหารปกครองมณฑล
2.2 จื้อจื้อชีว์ (自治区) จีนเป็นประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่างๆ ถึง 5 เชื้อชาติ บางเชื้อชาติก็มีอยู่มาก บางเชื้อชาติก็มีอยู่น้อย ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้กระจายไปอยู่ในหลายภูมิภาคหลายท้องถิ่น

(น.218) ของประเทศ ในบางภูมิภาคที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่เหมือนมณฑลและมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากนั้น รัฐบาลจีนได้จัดระเบียบเขตการปกครองที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่เพื่อใช้ในภูมิภาคเหล่านั้น เรียกว่า “จื้อจื้อชีว์” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Autonomous Region” ใน ค.ศ. 1954 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ออกกฎหมายให้จื้อจื้อชีว์แต่ละแห่งจัดตั้งองค์กรบริหารปกครองตนเองภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ มีสิทธิตรากฎหมายที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและประเพณีของจื้อจื้อชีว์นั้นๆ ในขณะเดียวกันก็สามารถเสนอให้งดการปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐบาลกลางบางมาตราที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีของชนกลุ่มน้อยในจื้อจื้อชีว์ รวมทั้งมีสิทธิใช้ภาษาพูดภาษาเขียนของชนกลุ่มน้อยในจื้อจื้อชีว์นั้นๆ ด้วย ส่วนข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของจื้อจื้อชีว์จะเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่มากที่สุดในจื้อจื้อชีว์นั้นๆ ประเทศจีนมีจื้อจื้อชีว์หรือภูมิภาคปกครองตนเองอยู่ 5 จื้อจื้อชีว์ คือ ภูมิภาคการปกครองตนเองมองโกเลียใน ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี (กวางสี) ภูมิภาคปกครองตนเองซีจ้าง (ทิเบต) ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย และภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง (ซินเกียง) แม้ว่าภูมิภาคปกครองตนเองเหล่านี้จะมีอิสระในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องขึ้นต่อรัฐบาลกลางของจีน คำว่า “จื้อจื้อชีว์” เป็นคำที่มีปัญหาในการแปลเป็นภาษาไทย มีผู้แปลว่า “เขตการปกครองตนเอง” บ้าง “ภูมิภาคปกครองตนเอง” บ้าง เมื่อพิจารณาถึงคำว่า “เขต” และ “ภูมิภาค” ที่ใช้สื่อความหมายกันในภาษาไทยแล้ว คำว่า “เขต” สื่อความหมายถึงพื้นที่หนึ่งที่อาจเล็กหรือใหญ่ก็ได้ เช่น เขตอินเดียนแดง เขตปลอดควันบุหรี่ ห้ามเข้าเขตนี้ โดยเฉพาะในปัจจุบันนั้นในความรับรู้ของชาวกรุงเทพมหานครจะสื่อใน

(น.219) อีกความหมายหนึ่งว่า “อำเภอ” เช่น ไปแจ้งย้ายทะเบียนที่เขต ในขณะที่คำว่า “ภูมิภาค” สื่อความหมายถึงพื้นที่ที่กว้างใหญ่ เช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก มีข้อน่าสังเกตว่า จื้อจื้อชีว์ของจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ นอกจากนั้นในความรับรู้ของคนไทย จังหวัดหลายๆ จังหวัดจะรวมกันเป็นภาค เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง คำว่า “ภาค” นั้นภาษาอังกฤษใช้ว่า “Region” ด้วยเหตุนี้ คำว่า “จื้อจื้อชีว์” จึงน่าจะแปลว่า “ภูมิภาคปกครองตนเอง”
2.3 จื๋อเสียซื่อ (直辖市) ในประเทศจีนมีเมืองขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในด้านการเมืองเศรษฐกิจ หรือทั้ง 2 ด้าน รัฐบาลจีนได้จัดระเบียบการปกครองเมืองเหล่านี้ให้ขึ้นกับรัฐบาลกลางโดยตรง ไม่ขึ้นกับรัฐบาลมณฑล และแยกพื้นที่ออกมาต่างหาก เรียกกันว่า “จื๋อเสียซื่อ” มีฐานะเทียบเท่ามณฑล จื้อเสียซื่อจะมีเขต (District,ชีว์) ทั้งที่อยู่ในเมืองและชานเมือง รวมทั้งอำเภอในพื้นที่บริเวณรอบนอกออกไปอยู่ใต้การปกครอง ประเทศจีนมีจื้อเสียซื่ออยู่ 3 เมือง คือ เป่ยจิง (ปักกิ่ง) เทียนจิน (เทียนสิน) และซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) จื๋อเสียซื่อของจีนนั้นภาษาอังกฤษใช้ว่า “Municipality directly under the Central Government” หากเทียบกับการจัดระเบียบเขตการปกครองของไทยก็คงจะเทียบได้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราก็มีกฎหมายในการจัดระเบียบการปกครองกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะแยกออกจากจังหวัดอื่นๆ คำว่า “จื๋อเสียซื่อ” จึงน่าจะแปลว่า “มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง” และน่าจะเรียกสั้นๆ ว่า “มหานคร”
2.4 ตี้ชีว์ (地区) คำว่า “ตี้ชีว์” ในภาษาจีนหมายถึง เขตการปกครองที่ลดหลั่นจากมณฑล และขึ้นต่อรัฐบาลมณฑล ภาษา

(น.220) อังกฤษใช้ว่า “Prefecture” ภายในตี้ชีว์จะมีองค์กรบริหารที่ใช้อำนาจปกครองตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลมณฑลในพื้นที่ที่มีขอบเขต ดังนั้นตี้ชีว์จึงมีส่วนคล้ายกับจังหวัดของไทย เพราะจังหวัดก็มีอำนาจปกครองในระดับหนึ่งตามที่ได้รับมอบหมาย และขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทย คำว่า “ตี้ชีว์” หากแปลตามศัพท์จะตรงกับคำภาษาไทยว่า “ท้องที่” แต่คำว่า “ท้องที่” ไม่ได้สื่อความหมายถึงเขตการปกครองแต่อย่างไร ในความรับรู้ของคนไทยคำนี้หมายถึงพื้นที่ในความรับผิดชอบ หรือพื้นที่ที่อยู่นอกเขตเมืองออกไป เช่น ท้องที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจใด ใครดูแลท้องที่นี้ ออกตรวจท้องที่ ท้องที่มีนบุรี คำไวพจน์ของคำว่า “ท้องที่” ก็คือคำว่า “พื้นที่” ดังนั้นคำว่า “ตี้ชีว์” จึงน่าจะแปลว่า “จังหวัด” เพราะใกล้เคียงกับความหมายในภาษาจีน และสื่อความหมายได้สอดคล้องกับความรับรู้ของคนไทย
2.5 จื้อจื้อโจว (自治州) ในตี้ชีว์หรือจังหวัดที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนเป็นชนส่วนใหญ่ของตี้ชีว์นั้นๆ รัฐบาลจีนก็จะให้ตี้ชีว์นั้นๆ เป็นจื้อจื้อโจว มีระเบียบการปกครองที่แตกต่างจากตี้ชีว์ แต่มีฐานะที่อยู่ในระดับเดียวกัน จื้อจื้อโจวจะมีรัฐบาลประจำจังหวัดของตนเอง มีสิทธิออกกฎหมายขึ้นใช้ภายในจื้อจื้อโจวและบริหารงานต่างๆ โดยมีอิสระในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องขึ้นกับรัฐบาลมณฑลหรือภูมิภาคปกครองตนเองที่รับผิดชอบดูแลจื้อจื้อโจวนั้นๆ ส่วนข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของจื้อจื้อโจวจะเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่มากที่สุดในจื้อจื้อโจวนั้นๆ ดังนั้นในปัจจุบันคำว่า “โจว” ในการจัดระเบียบการปกครองของจีนใช้กับเขตการปกครองระดับจังหวัดที่มีการปกครองตนเองใน

(น.221)ระดับหนึ่ง ส่วนจังหวัดทั่วๆ ไปจะใช้ว่าตี้ชีว์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำว่า “โจว” เป็นศัพท์เก่าแก่ด้านการปกครองที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์จีนมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 220) ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีชื่อเขตการปกครองในระดับต่างๆ ของจีนเป็นจำนวนมากที่มีคำว่าโจวติดอยู่ด้วย โดยที่มิได้มีฐานะเป็นจื้อจื้อโจวแต่อย่างไร ทั้งนี้เพราะคำว่าโจวในเขตการปกครองเหล่านั้นได้ใช้กันมาเป็นเวลานานแล้ว ดังตัวอย่างประกอบข้างล่างนี้ นครที่ขึ้นต่อมณฑล (เสิ่งเสียซื่อ) ที่มีคำว่า “โจว” อยู่ด้วย เช่น หลานโจวในมณฑลกานซู เจิ้งโจวในมณฑลเหอหนาน หังโจวในมณฑลเจ้อเจียง และกว่างโจวในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) จังหวัด (ตี้ชีว์) ที่มีคำว่า “โจว” อยู่ด้วย เช่น ฮุยโจวในมณฑลอานฮุย หยางโจวในมณฑลเจียงซู และไถโจวในมณฑลเจ้อเจียง เมืองที่ขึ้นต่อจังหวัด (ตี้ชีว์เสียซื่อ) เช่น สุยโจวในมณฑลหูเป่ย จังโจวในมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และเฉาโจวหรือที่คนไทยเรียกว่าเมืองแต้จิ๋วในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ดังนั้น คำว่า “จื้อจื้อโจว” ที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Autonomous Prefecture” จึงน่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “จังหวัดปกครองตนเอง” มีผู้แปลคำนี้ว่า “แคว้นปกครองตนเอง” ซึ่งดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับความรับรู้ของคนไทยเท่าใดนัก เพราะคำว่าแคว้นในภาษาไทยสื่อความหมายถึงเขตการปกครองที่มีอิสระและปลอดจากอำนาจรัฐส่วนกลางในระดับสูง ขณะที่จื้อจื้อโจวของจีนมีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่งปัจจุบัน (ตามสถิติ พ.ศ. 2532) ประเทศจีนมีจื้อจื้อโจวอยู่ 30 จื้อจื้อโจวมณฑลที่มีมากที่สุดคือมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) มี 8 จื้อจื้อโจว รองลงมาคือมณฑลชิงไห่มี 6 จื้อจื้อโจว ภูมิภาคการปกครองตนเอง

(น.222) ชนชาติอุยกูร์ซินเจียง (ซินเกียง) มี 5 จื้อจื้อโจว มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) และมณฑลกุ้ยโจวมีมณฑลละ 3 จื้อจื้อโจว มณฑลกานซูมี 2 จื้อจื้อโจว มณฑลจี๋หลิน มณฑลหูเป่ย และมณฑลหูหนานมีมณฑลละ 1 จื้อจื้อโจว
2.6 เสิ่งเสียซื่อ, จื้อจื้อชีว์เสียซื่อ (省辖市,自治区辖市) เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ เมืองสำคัญในแต่ละมณฑลหรือภูมิภาคปกครองตนเองนั้น รัฐบาลจีนจะจัดระเบียบการปกครองเป็น “เสิ่งเสียซื่อ” หรือ “จื้อจื้อชีว์เสียซื่อ” ขึ้นอยู่กับว่า “เสียซื่อ” นั้นจะอยู่ในมณฑลหรือภูมิภาคปกครองตนเอง หากอยู่ในมณฑลจะเรียกว่า “เสิ่งเสียซื่อ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Municipality directly under the Province” ถ้าอยู่ในภูมิภาคปกครองตนเองก็เรียกว่า “จื้อจื้อชีว์เสียซื่อ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Municipality directly under the Autonomous Region” มีฐานะอยู่ในระดับเดียวกับตี้ชีว์และจื้อจื้อโจว ผู้บริหารสูงสุดของเสิ่งเสียซื่อหรือจื้อจื้อชีว์เสียซื่อก็คือนายกเทศมนตรี หากเทียบกับการจัดระเบียบการปกครองของไทย เสิ่งเสียซื่อหรือจื้อจื้อชีว์เสียซื่อก็คือจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีเทศบาลนครในการปกครองส่วนท้องถิ่น เสิ่งเสียซื่อหรือจื้อจื้อชีว์เสียซื่อจะมีเขต (District, ชีว์) ที่อยู่ในเมืองและอำเภอในพื้นที่บริเวณรอบนอกออกไปอยู่ใต้การปกครองเมืองหลวงของมณฑลหรือภูมิภาคปกครองตนเองจะมีฐานะเป็นเสิ่งเสียซื่อหรือจื้อจื้อชีว์เสียซื่อ นอกจากนั้นบางมณฑลหรือบางภูมิภาคปกครองตนเองมี 2-3 หรือ 3-4 เสิ่งเสียซื่อหรือจื้อจื้อชีว์เสียซื่อ แต่ก็มีบางมณฑลที่มีถึง 10 เช่น มณฑลเหลียวหนิง มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)

(น.223) คำว่า “เสิ่งเสียซื่อ” หรือ “จื้อจื้อชีว์เสียซื่อ” นี้น่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “นครที่ขึ้นต่อมณฑลหรือภูมิภาคปกครองตนเอง” และน่าจะเรียกสั้นๆ ว่า “นคร”
2.7 เสี้ยน (县) คำว่า “เสี้ยน” เป็นศัพท์เก่าแก่ทางด้านการปกครองของจีนที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยชุนชิว (770-476 ปีก่อน ค.ศ.) ในระยะแรกมีฐานะเป็นเมือง ต่อมาได้ลดฐานะลงเป็นเพียงแค่อำเภอในสมัยราชวงศ์ถัง นับจากนั้นเป็นต้นมาคำนี้ก็ใช้สื่อความหมายถึงเขตการปกครองระดับอำเภอมาจนถึงทุกวันนี้ คำว่า “เสี้ยน” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “County” ส่วนในภาษาไทยนั้นก็แปลลงตัวกันดีใช้ว่า “อำเภอ” ซึ่งก็สอดคล้องกับความหมายในภาษาจีนและสื่อสารได้ตรงกับความรับรู้ของคนไทยถึงเขตการปกครองระดับนี้ ปัจจุบันประเทศจีนมีอำเภอทั้งหมดประมาณ 2,200 อำเภอ
2.8 จื้อจื้อเสี้ยน (自治县) ในอำเภอหรือเสี้ยนที่มีชนกลุ่มน้อยอยู่มากนั้น รัฐบาลจีนก็จะจัดระเบียบการปกครองที่แตกต่างจากอำเภอทั่วไปให้มีอำนาจปกครองตนเองพอควร เรียกเขตการปกครองแบบนี้ว่า “จื้อจื้อเสี้ยน” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Autonomous County” ภาษาไทยแปลลงตัวกันดีว่า “อำเภอปกครองตนเอง” จังหวัดหรือตี้ชีว์และจังหวัดปกครองตนเองหรือจื้อจื้อโจวนั้นต่างก็มีอำเภอปกครองตนเองได้ ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ เช่น จังหวัดปกครองตนเองชนชาติไต่ (ไท) แห่งซีซวงปั่นน่า (สิบสองปันนา) ก็มีอำเภอปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยอื่นที่อยู่ในจังหวัด จังหวัดการปกครองตนเองชนชาติไป๋แห่งต้าหลี่ก็มีอำเภอปกครองตนเองเช่นกัน ส่วนจังหวัดปกครองตนเองที่มีชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่เป็นพวกเดียวกันก็จะไม่มีอำเภอปกครองตนเอง ปัจจุบัน (ตามสถิติ พ.ศ. 2532) ประเทศจีนมีอำเภอ

(น.224) ปกครองตนเองทั้งหมด 110 อำเภอ มณฑลที่มีมากที่สุดคือมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) มี 28 อำเภอ ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี (กวางสี) มี 12 อำเภอ มณฑลกุ้ยโจวมี 11 อำเภอ มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) มี 8 อำเภอ มณฑลกานซู มณฑลชิงไห่ และมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) มีมณฑลละ 7 อำเภอ ภูมิภาคการปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง (ซินเกียง) มี 6 อำเภอ มณฑลหูหนานมี 6 อำเภอ มณฑลเหลียวหนิงมี 5 อำเภอ มณฑลเห่อเป่ย มี 4 อำเภอ มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) มี 3 อำเภอ มณฑลจี๋หลินและมณฑลหูเป่ยมีมณฑลละ 2 อำเภอ มณฑลเจ้อเจียงและมณฑลเฮยหลงเจียงมีมณฑลละ 1 อำเภอ การที่มณฑลหยุนหนานมีจังหวัดและอำเภอปกครองตนเองอยู่มากนั้นเพราะเป็นมณฑลที่มีชนกลุ่มน้อยชนชาติต่างๆ อยู่มากที่สุดในประเทศจีนถึง 20 กว่าชนชาติ
2.9 ตี้ชีว์เสียซื่อ, จื้อจื้อโจวเสียซื่อ (地区辖市,自治州辖市) อำเภอหรืออำเภอปกครองตนเองที่มีเศรษฐกิจดี การค้าเจริญก้าวหน้าและมีประชากรมาก ก็จะจัดระเบียบการปกครองให้เป็นเมืองที่ขึ้นต่อจังหวัดหรือจังหวัดปกครองตนเอง เรียกว่า “ตี้ชีว์เสียซื่อ” หรือ “จื้อจื้อโจวเสียซื่อ” ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจังหวัดแบบใด “ตี้ชีว์เสียซื่อ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Municipality directly under the Perfecture” ส่วน “จื้อจื้อโจวเสียซื่อ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Municipality directly under the Autonomous Prefecture” เช่น เชียงรุ่งเดิมเคยเป็นอำเภอหรือเสี้ยนในจังหวัดปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา ต่อมาได้ปรับมาเป็นจื้อจื้อโจวเสียซื่อ เรียกกันว่า “จิ่งหงซื่อ” หรือเมืองเชียงรุ่ง ในภาษาไทย ตี้ชีว์เสียซื่อหรือจื้อจื้อโจวเสียซื่อจะมีองค์กรทำนองเทศบาลเมืองไทย

(น.225) ตี้ชีว์เสียซื่อหรือจื้อจื้อโจวเสียซื่อเป็นอีกคำหนึ่งที่มีปัญหาในการแปลเป็นภาษาไทย มีผู้แปลว่า “นครที่ขึ้นต่อจังหวัดหรือจังหวัดปกครองตนเอง” บ้าง แต่ก็มีผู้แปลว่า “เมืองที่ขึ้นต่อจังหวัดหรือจังหวัดปกครองตนเอง” ในภาษาไทยหากพูดว่า “จังหวัดชลบุรี” ก็จะสื่อความหมายถึง พื้นที่จังหวัดชลบุรีทั้งหมดที่รวมอำเภอหลายอำเภอเข้าด้วยกัน แต่ถ้าพูดว่า “เมืองชลบุรี” ก็จะสื่อความหมายถึง ตัวเมืองชลบุรีอันที่เป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองและที่ว่าการจังหวัดหรือที่มักเรียกกันว่าศาลากลางจังหวัด ดังนั้นคำว่า “ตี้ชีว์เสียซื่อ” หรือ “จื้อจื้อโจวเสียซื่อ” จึงน่าจะแปลว่า “เมืองที่ขึ้นต่อจังหวัดหรือจังหวัดปกครองตนเอง” และน่าจะเรียกสั้นๆ ว่า “เมือง” เพราะจะสอดคล้องกับความหมายในภาษาจีนและความรับรู้ของคนไทยที่สื่อความหมายของคำว่า “เมือง” หมายถึง เขตการปกครองหลายแบบที่มีระดับต่างกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ในประเทศไทยคือ การจัดระเบียบการปกครองพื้นที่โดยรอบพัทยา ซึ่งเป็นสถานที่ตากอากาศที่มีชื่อของไทย ให้มีรูปแบบการปกครองพิเศษที่ต่างจากการปกครองท้องถิ่นในระดับเดียวกันก็เรียกว่า เมืองพัทยา เมืองพัทยานั้นอยู่ในจังหวัดชลบุรี คำว่า “เมือง” จึงน่าจะเป็นคำแปลที่เหมาะสมและจะสื่อความหมายได้ดี
2.10 ชีว์ (区) มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางโดยตรงจะแบ่งการปกครองในมหานครออกเป็น “ชีว์” และ “เสี้ยน” คำว่า “ชีว์” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “District” ส่วนคำว่า “เสี้ยน” ใช้ว่า “County” แล้ว ส่วนใหญ่แล้ว “ชีว์” จะเป็นเขตการปกครองที่มีพื้นที่อยู่ในเมืองแต่ก็มีบ้างที่อยู่แถบชานเมือง ส่วนเสี้ยนนั้นเป็นเขตการปกครองที่มีพื้นที่อยู่รอบนอกออกไป

(น.226) มหานครปักกิ่งแบ่งเขตการปกครองเป็น 10 ชีว์ และ 8 เสี้ยน เป็นชีว์ที่อยู่ในเมือง 4 ชีว์ และอยู่ในชานเมืองอีก 6 ชีว์ มหานครเทียนสินแบ่งเขตการปกครองเป็น 13 ชีว์ และ 5 เสี้ยน ทั้ง 13 ชีว์นี้ล้วนอยู่ในเมือง ส่วนมหานครเซี่ยงไฮ้แบ่งเขตการปกครองเป็น 12 ชีว์ และ 10 เสี้ยน ทั้ง 12 ชีว์นี้อยู่ในเมืองเหมือนที่มหานครเทียนสิน คำว่า “ชีว์” ที่ใช้กันอยู่ในการจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนในปัจจุบันนั้นน่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “เขต” เพราะสื่อความหมายได้ใกล้เคียงกับความหมายในภาษาจีน และสอดคล้องกับความรับรู้ของคนไทยที่มีการแบ่งการปกครองในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่มีระเบียบการปกครองพิเศษออกเป็นเขตต่างๆ เรื่องเขตการปกครองของจีนในปัจจุบันที่บรรยายในภาคผนวกนี้ได้อธิบายอย่างสังเขปจากระดับมณฑลมาถึงระดับอำเภอเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งลดหลั่นแยกย่อยลงมาอีก นอกจากนั้น ยังไม่ได้กล่าวถึงการจัดเขตการปกครองในภูมิภาคปกครองตนเองมองโกเลียใน ซึ่งเรียกชื่อเขตการปกครองในบางระดับแตกต่างกันออกไป เช่น เหมิง ฉี จื้อจื้อฉี เหมิงมีฐานะอยู่ในระดับเดียวกับตี้ชีว์ จื้อจื้อโจว เสิ่งเสียซื่อ และจื้อจื้อชีว์เสียซื่อ ฉีและจื้อจื้อฉีมีฐานะอยู่ในระดับเดียวกับเสี้ยน จื้อจื้อเสี้ยน ตี้ชีว์เสียซื่อ และจื้อจื้อโจวเสียซื่อ รวมทั้งไม่ได้กล่าวถึงเขตพิเศษหรือเท่อชีว์ (Special District) ในมณฑลกุ้ยโจวซึ่งมีอยู่ 3 เท่อชีว์ เขตอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมหรือกงหนงชีว์ (Industrial-Agricultural District) ในมณฑลเสฉวนซึ่งมีอยู่ 1 กงหนงชีว์ เขตป่าไม้หรือหลินชีว์ (Forest District) ในมณฑลหูเป่ยซึ่งมีอยู่ 1 หลินชีว์ และเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือจิงจี้เท่อชีว์ ได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ ซานโถว และเซี่ยเหมิน เพราะจะละเอียดจนเกินไป

(น.227) อนึ่งมีข้อน่าพึงพิจารณาว่า การแปลคำศัพท์เกี่ยวกับเขตการปกครองของประเทศต่างๆ นั้นไม่ควรยึดขนาดของพื้นที่เป็นหลักในการพิจารณาเทียบคำแปล หากแต่ควรยึดระดับและความสำคัญของเขตการปกครองนั้นในระเบียบการปกครองของประเทศนั้นๆ เพราะพื้นที่ของแต่ละประเทศมีความกว้างใหญ่ไม่เท่ากัน เขตการปกครองที่เทียบเคียงความสำคัญอยู่ในระดับเดียวกันจึงมีพื้นที่ต่างกัน แต่ในแง่ความสำคัญแล้วอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น เสี้ยนหรืออำเภอของจีนนั้นอาจมีทั้งเสี้ยนที่มีพื้นที่มากกว่าจังหวัดของไทย หรือที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดของไทยก็มี แต่เมื่อพิจารณาระดับความสำคัญเทียบเคียงกันในการจัดระเบียบเขตการปกครองทั้งของจีนและไทยแล้ว ก็เทียบได้เท่ากับระดับอำเภอ นอกจากนั้นต้องคำนึงถึงบริบททางเวลารวมทั้งควรหาคำแปลที่สื่อความหมายได้ใกล้เคียงและสอดคล้องกับความคุ้นเคยความรับรู้ของภาษาที่ใช้สื่อสารกันในประเทศนั้นๆ ด้วย อีกประการหนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า การจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนนั้นมีทั้งจื๋อเสียซื่อหรือมหานคร เสิ่งเสียซื่อและจื้อจื้อชีว์เสียซื่อหรือนคร รวมทั้งตี้ชีว์เสียซื่อและจื้อจื้อโจวเสียซื่อหรือเมือง ซึ่งมีฐานะและระดับที่ต่างกันในระเบียบการปกครอง แต่คนจีนก็มักเรียกเขตการปกครองทั้ง 3 ระดับนี้เพียงสั้นๆ ว่า “ซื่อ” เท่านั้นมิได้เรียกโดยจำแนกออกมาอย่างเด่นชัด เช่น มหานครปักกิ่งซึ่งเป็นจื๋อเสียซื่อ คนจีนไม่ได้เรียกว่า “เป่ยจิงจื๋อเสียซื่อ” แต่เรียกว่า “เป่ยจิงซื่อ” นครคุนหมิงซึ่งเป็นเสิ่งเสียซื่อ เรียกกันว่า “คุนหมิงซื่อ” และเมืองเชียงรุ่งซึ่งเป็นจื้อจื้อโจวเสียซื่อ เรียกกันว่า “จิ่งหงซื่อ” หรือในบางครั้งก็เรียกแต่ชื่อมหานครหรือนครหรือเมืองเท่านั้น ไม่มีคำว่า “ซื่อ” อยู่ด้วย การที่คนจีนเรียกเขตการปกครองที่มีฐานะและระดับต่างกันอย่างสั้นๆ รวมกันว่า “ซื่อ” จึงอาจก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องการจัด

(น.228) ระเบียบเขตการปกครองของจีนได้ คำว่า “ซื่อ” ซึ่งแปลว่า “เมือง” นั้นความหมายดั้งเดิมหมายถึง “ตลาด” ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตลาดย่อมเป็นที่ชุมนุมของผู้คน การค้า และกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่าง จากนั้นบริเวณที่เป็นตลาดก็จะขยายใหญ่พัฒนาต่อมาเป็นเมือง คำว่า “ซื่อ” ในเวลาต่อมาจึงมีความหมายเพิ่มเติมว่า “เมือง” ด้วยปัจจุบันเมื่อเอ่ยคำว่า “ซื่อ” ในภาษาจีนจะสื่อความหมายว่า “เมือง” ส่วนคำว่า “ตลาด” นั้นใช้ว่า “ซื่อฉ่าง” นอกจากนั้นคำว่า ตี้ชีว์ จื้อจื้อโจว รวมทั้งเสิ่งเสียซื่อและจื้อจื้อชีว์เสียซื่อ ซึ่งเป็นเขตการปกครองที่อยู่ในระดับเดียวกันนั้น มักเรียกรวมๆ กันว่า ตี้โจวซื่อ เช่น ในมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) มี 7 ตี้ชีว์ 8 จื้อจื้อโจว และ 2 เสิ่งเสียซื่อ ก็มักจะพูดรวมๆ กันว่า มณฑลยูนนานมี 17 ตี้โจวซื่อ ส่วนเขตการปกครองระดับ “เสี้ยน” “จื้อจื้อเสี้ยน” รวมทั้งตี้ชีว์เสียซื่อและจื้อจื้อโจวเสียซื่อ ก็มักเรียกรวมๆ กันว่า “เสี้ยนซื่อ” เช่น จะพูดว่ามณฑลยูนนานมี 128 เสี้ยนซื่อ ซึ่งรวมเขตการปกครองในระดับเดียวกันนี้ทั้ง 3 รูปแบบเข้าด้วยกัน จะเห็นได้ว่า การแปลคำศัพท์เกี่ยวกับเขตการปกครองของประเทศต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่มีข้อพึงพิจารณาอยู่หลายประการ ข้อเขียนในภาคผนวกนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะที่ใคร่ขอให้ผู้ศึกษาค้นคว้าทางด้านจีนวิทยาได้ช่วยกันพิจารณาต่อไป เพื่อให้การใช้คำเกี่ยวกับเขตการปกครองของประเทศจีนในภาษาไทยมีความลงตัวกันดี ไม่ลักลั่นจนสื่อความหมายคลาดเคลื่อน

(น.229) ตารางเทียบคำแปลเขตการปกครองของจีนในปัจจุบัน

ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย
1. เสิ่ง Province มณฑล
2. จื้อจื้อชีว์ Autonomous Region ภูมิภาคปกครองตนเอง
3. จื๋อเสียซื่อ Municipality directly under the Central Government มหานคร
4. ตี้ชีว์ Pretecture จังหวัด
5. จื้อจื้อโจว Autonomous Pretecture จังหวัดปกครองตนเอง
6.1 เสิ่งเสียซื่อ Municipality directly under the Province นคร
6.2 จื้อจื้อชีว์เสียซื่อ Municipality directly under the Autonomous Region นคร
7. เสี้ยน County อำเภอ
8. จื้อจื้อเสี้ยน Autonomous County อำเภอปกครองตนเอง
9.1 ตี้ชีว์เสียซื่อ Municipality directly under the Pretecture เมือง
9.2 จื้อจื้อโจวเสียซื่อ Municipality directly under the Autonomous Pretecture เมือง
10. ชีว์ District เขต

(น.230) บรรณานุกรม
ภาษาอังกฤษ
Gernet, Jacques. A History of Chinese Civilization. Cambridge: Cambridge University Press, 1985. Reischauer, Edwin O. and Fairbank, John K. East Asia the Great Tradition. Boston: Houghton Mifflin Company, 1960. Atlas of the People’s Republic of china. Beijing: Foreign Languages Press. China Cartographic Publishing House, 1989. Protocol Division, Foreign Affair Office, Yunnan Province. Programme for the Visit of H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn of the Kingdom of Thailand to Yunnan Province, P.R.C. 27 February – 6 March 1995.

ภาษาจีนแปลเป็นภาษาไทย
สี่ว์กวาง. ภูมิศาสตร์ประเทศจีน. เป่ยจิง : สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ เป่ยจิง, 1987.
ภาษาจีน
โจวเจิ้นเฮ่อ. วิธีการจัดสรรเมืองและชนบท : ประวัติการแบ่งเขตบริหารประเทศจีนในมุมมองใหม่. บริษัทจงหัวซูจี๋ว์ (ฮ่องกง) จำกัด, 1990.
หยางหงเหนียน. การสอบค้นระบบการปกครองสมัยราชวงศ์ฮั่นและเว่ย. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยหวู่ฮั่น, 1985.
ประมวลข้อมูลจีน. สำนักพิมพ์ประชาชนเจียงซี, 1992.
พจนะสารานุกรมฉือหยวน. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์ซางวู่ยิ่นซูกว่าน, 1979.
พจนะสารานุกรมฉือไห่. สำนักพิมพ์พจนานุกรมเซี่ยงไฮ้, 1979.
พจนะสารานุกรมฮั่นอี่ว์ต้าจื้อเตี่ยน. สำนักพิมพ์พจนานุกรมเสฉวน, 1986. เล่มที่ 1,2,4,5,6.
พจนะสารานุกรมฮั่นอี่ว์ต้าฉือเตี่ยน. สำนักพิมพ์พจนานุกรมเซี่ยงไฮ้, 1986. เล่มที่ 1,2,3,7.




Next >>