Please wait...

<< Back

ภาคผนวก

ภาคผนวก ข ภูมิศาสตร์และพฤกษศาสตร์มณฑลยูนนาน


(น.231) ภาคผนวก ภูมิศาสตร์และพฤกษศาสตร์มณฑลยูนนาน
< ภูมิประเทศ
- เนื้อที่ 383,000 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของพื้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประมาณ 1 ใน 4 ส่วนของพื้นที่ประเทศไทย
- ระหว่างเส้นรุ้ง 21° 9´ - 29° 15´ เหนือ เส้นแวง 97° 39´-106° 12´ ตะวันออก
- ระยะทางจากทิศเหนือจรดใต้ 990 กิโลเมตร ทิศตะวันออกจรดตะวันตก 865 กิโลเมตร
- พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา 84% พื้นที่ราบสูง (plateau) ภาคกลางและภาคตะวันออก (1,800-2,000 เมตร) 10% พื้นที่ราบในหุบเขา (mountain basin) 6% และพื้นที่ราบฝั่งแม่น้ำระหว่างหุบเขา (river basin)
- ข่าเก๋อโป๋เฟิงเป็นยอดเขาสูงสุด (6,740 เมตร) บนเทือกเขาเหมยหลี่เสวี่ยซาน ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนานพื้นที่ต่ำสุด 76 เมตร บริเวณแม่น้ำหงเหอ และแม่น้ำหนานซี บรรจบกันทางภาคใต้ของมณฑล
- เทือกเขาขนาดใหญ่วางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ พื้นที่สูงเริ่มจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลาดลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเทือกเขาใหญ่มีระยะห่างกันไม่มากนัก ทำให้เกิดหุบเขาที่ลาดชันสูงและลึกมาก มีแม่น้ำสายใหญ่ 3 สายขนานกัน


(น.232)ไหลจากทิศเหนือลงใต้ ได้แก่ แม่น้ำจินซาเจียง (Jinshajiang), แม่น้ำโขง (หลานชางเจียง-Lancangjiang) และแม่น้ำสาละวิน (นู่เจียง-Nujiang) หุบเขาขนาดใหญ่หลายแห่งมีสภาพลาดชันจากฝั่งแม่น้ำขึ้นไปตามแนวดิ่งสูงกว่า 3,000 เมตร ความลาดชันจากยอดสูงสุด คือ ข่าเก๋อโป๋เฟิงลงสู่ฝั่งแม่น้ำโขง มีความแตกต่างของระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลางถึง 4,700 เมตร ภูมิประเทศทางภาคตะวันตกของมณฑลยูนนานจึงได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่แห่งหุบเขาใหญ่ (gorge area)
-มณฑลยูนนานเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำอันมหาศาล มีแม่น้ำใหญ่-น้อย และสาขาเกือบ 1,000 สาย บรรจบกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ของเอเชีย 6 สาย ได้แก่ แม่น้ำหนานผานเจียง ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำจูเจียงหรือแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง แม่น้ำหนานผานเจียงเมื่อไหลเข้ามณฑลกวางสีเรียกกันว่า แม่น้ำหงสุ่ยเหอ นอกจากนั้นมีแม่น้ำแดง (หยวนเจียง) แม่น้ำแยงซี (จินซาเจียง) แม่น้ำโขง (หลานชางเจียง) แม่น้ำสาละวิน (นู่เจียง) และแม่น้ำอิระวดี (ยุ่ยลี่เจียง) แม่น้ำเหล่านี้ให้น้ำถึงปีละ 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีทะเลสาบขนาดใหญ่บนที่ราบสูงได้แก่ ทะเลสาบเทียนฉือ เอ๋อร์ไห่ และหลูกูหู ภูมิอากาศ
- มณฑลยูนนานได้รับอิทธิพลของลมมรสุมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย ลมมรสุมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้และมวลอากาศ (air mass) จากที่ราบสูงทิเบต ฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายน - ตุลาคม ฝนตกหนักช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีจึงแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละท้องที่ บางแห่งมีปริมาณฝนมากกว่า 1,500 มม./ปี (ชายแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลและชายแดนใต้ของ

(น.233) จังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนา) บนพื้นที่ราบสูงภาคกลางและภาคตะวันออกของมณฑล ปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000 มม./ปี หรือน้อยกว่า พื้นที่บางแห่งเป็นที่อับฝน ได้แก่ หุบเขาใหญ่ที่ร้อนและแห้งแล้ง (arid area) ปริมาณฝนลดลงเหลือเพียง 500 มม./ปีหรือน้อยกว่า เช่น หุบเขาแม่น้ำหยวนเจียง
- สภาพเทือกเขาสูงและหุบเขาใหญ่ทำให้เกิดภูมิอากาศเฉพาะแห่ง (microclimate) มากมาย บนเทือกเขาขนาดใหญ่จะมีภูมิอากาศแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ที่เชิงเขาจนถึงยอดสูงสุด จากแบบ tropic, subtropic, warm-temperate, temperate, cold จนถึงแนวเขตที่มีหิมะปกคลุม (snow-line) สังคมพืชป่าไม้และพรรณพฤกษชาติ
- ความแตกต่างของสภาพพื้นที่และภูมิอากาศของมณฑลยูนนานก่อให้เกิดความหลากหลายของสังคมพืชและพรรณพฤกษชาติ
- สังคมพืช ได้แก่ Tropical rain forest (ป่าดิบชื้น)
Monsoon rain forest หรือ Seasonal rain forest (ป่าดิบแล้ง)
Subtropical evergreen broad-leaf forest (ป่าดิบเขา หรือ Montane forest)
Alpine needle-leaf forest (ป่าสนเขา)
Alpine scrub (ป่าละเมาะเขา)
Alpine meadow (ทุ่งหญ้าภูเขา)
- พรรณพฤกษชาติที่มีท่อลำเลียงน้ำ-อาหาร (vascular plants) ของมณฑลยูนนานมีประมาณ 15,000 ชนิด หรือประมาณครึ่งหนึ่งของ

(น.234) พรรณพฤกษชาติทั้งหมดของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเปรียบเทียบเนื้อที่ของมณฑลซึ่งมีเพียง 1 ใน 25 ส่วนของพื้นที่ทั้งประเทศ มณฑลยูนนานจึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของพรรณพฤกษชาติสูงมาก โดยเฉพาะจังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนา ซึ่งมีพื้นที่เพียง 19,200 ตารางกิโลเมตร แต่มีพรรณพฤกษชาติชั้นสูงประมาณ 5,000 ชนิด (พรรณพฤกษชาติของประเทศไทยมีประมาณ 10,000-11,000 ชนิด) นครคุนหมิง
- ตั้งอยู่บนที่ราบสูงภาคกลางของมณฑลยูนนนาน ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1,900 เมตร
- ถนนมีบาทวิถีกว้าง มีไม้ใหญ่ปลูกเป็นแนว 1-2 แถวร่มรื่น ส่วนใหญ่เป็นพรรณไม้ต่างถิ่น Silky oak (Grevillea robusta) และต้นอันหรือยูคาลิปตัสหลายชนิด (Eucalyptus spp.) จากออสเตรเลียแทรกด้วยไม้ conifers พื้นเมือง และหลิว (Salix spp.) ตามสวนสาธารณะและสวนหย่อม ท้อ (Prunus persica) ดอกสีชมพูบ๊วย (Prunus mume) ดอกสีขาวและสีแดง กำลังบานสะพรั่งในต้นฤดูใบไม้ผลิ มีทั้งชนิดดอกลาและดอกซ้อน ชาวจีนนิยมนำมาใส่กระถางแบบไม้ดัดขนาดใหญ่ กิ่งก้านคดงอไปมาสวยงามเหมือนภาพวาดของจีนที่พบทั่วไป นอกจากนี้ตามโรงแรมและอาคารศูนย์การค้านิยมนำกระถางกุหลาบพันปี (Rhododendron arboreum) สีแดงสด และชา หรือ Camellias หลากสี ตั้งประดับทั่วไป

(น.235) พิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนานและพิพิธภัณฑ์สถาบันชนชาติมณฑลยูนนาน นครคุนหมิง
- ห้องแสดงเครื่องใช้ไม้สอยของชนเผ่า มีตัวอย่างพืช (พรรณไม้แห้ง) ที่ชนเผ่านำมาใช้ประโยชน์ และที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม
- พืชที่ให้สีย้อมผ้า เช่น
Rubia cordifolia (Rubiaceae) พืชล้มลุก ให้สีแดง ไทยเรียก “จิตรลดา” พบบนภูเขาทางภาคเหนือ แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
Juglans regia (Juglandaceae) ไม้ต้นเนื้อแข็ง พวกเดียวกับไม้ walnut หรือมันฮ่อ ไม่พบในไทย เปลือกให้สีน้ำตาล
Dalbergia hupeana (Leguminosae) ไม้ต้นสกุลเดียวกับพะยูง ชิงชัน แต่ชนิดนี้ไม่พบในไทย เปลือกให้สีเหลืองเข้ม
Coptis chinensis (Ranunculaceae) พืชล้มลุก ให้สีเหลืองชอบอากาศหนาวเย็นบนภูเขาสูง ไม่พบในไทย
Baphicanthus cusia (Acanthaceae) พืชล้มลุกให้สีน้ำเงินเข้ม ไทยเรียก “ฮ่อม” ใช้ย้อมเสื้อม่อฮ่อมทางภาคเหนือ
- พืชที่ใช้สื่อความหมาย ชนบางเผ่าในมณฑลยูนนานใช้พืชชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นส่วนใหญ่ มีบางที่ใช้ปนกับพืชชนิดอื่นหรือวัสดุอื่นๆ ในการสื่อความหมายต่างๆ พืชหลายชนิดพบในไทย แต่ไม่ปรากฏรายงานว่าชนเผ่าใดในไทยนำมาใช้สื่อความหมาย เช่น
หญ้าคา (Imperata cylindrica)
หญ้าไม้กวาด (Thysanolaena maxima)
ราชาวดีป่า (Buddleja asiatica)
เฉียงพร้านางแอ (Carallia brachiata)

(น.236)
กำลังเสือโคร่ง (Betula alnoides)
มะขามป้อม (Phyllanthus emblica)
ชาหรือเมี่ยง (Camellia sinensis)
มะกล่ำตาช้าง (Adenanthera pavonina)
ก่อ (Quercus sp.)
สนเขา (Pinus sp.) ฯลฯ
- พืชที่ใช้ทำเครื่องดื่ม ชนบางเผ่านำดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมและน้ำหวานของพืชสกุล Osmanthus วงศ์ Oleaceae (มะลิ) โดยเฉพาะพรรณไม้พื้นเมืองชนิด Osmanthusfragrans มาทำเป็นเครื่องดื่มประเภทเหล้า แต่รสออกหวานคล้ายเชอรี่ เป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนจนถึงปัจจุบันชนิดนี้เป็นพรรณไม้หายากในประเทศไทย พบเฉพาะบริเวณยอดดอยอินทนนท์เท่านั้น สถาบันพฤกษศาสตร์นครคุนหมิง
- เนื้อที่ประมาณ 1,000 เฮกเตอร์ เป็นพื้นที่ตั้งของอาคารประมาณ 50,000 ตารางเมตร ที่เหลือเป็นพื้นที่สวนและแปลงรวมพืชนานาพรรณ
- สถาบัน ประกอบด้วยสวนพฤกษศาสตร์ 2 สวน สวนพฤกษศาสตร์คุนหมิง (Kunming Botanic Garden) ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถาบัน และสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา (Xishuangbanna Tropical Botanic Garden) ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองลุน จังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนา
- แผนกวิชาการ หรือภาควิชาอีก 4 แผนก
แผนกพฤกษอนุกรมวิธานและพฤกษภูมิศาสตร์ (Department of Plant Taxonomy and Geography)

(น.237)
แผนกพฤกษเคมี (Department of Phytochemistry)
แผนกสรีรวิทยาของพืช (Department of Plant Physiology)
แผนกพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Department of Ethnobotany)
พิพิธภัณฑ์หอพรรณไม้ (Herbarium) รวมอยู่กับแผนกพฤกษอนุกรมวิธานและพฤกษภูมิศาสตร์ เป็นหอพรรณไม้ใหญ่ที่สุดของมณฑล มีพรรณไม้แห้ง (herbarium specimen) กว่า 1,000,000 ตัวอย่าง
ห้องสมุดพฤกษศาสตร์มีหนังสือตำรา วารสาร กว่า 100,000 เล่ม
- สถาบันเน้นงานวิจัยด้าน
Forestry วิจัยไม้เศรษฐกิจ นิเวศวิทยาป่าไม้ การใช้ประโยชน์ป่าไม้ และพืชแบบยั่งยืน
Medicine วิจัยพืชสมุนไพร โดยเฉพาะพืชที่ชนเผ่านำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
Perfume วิจัยพืชให้กลิ่นหอมที่ใช้ป้องกันและกำจัดแมลงตลอดจนที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
Flower วิจัยพืชไม้ดอกประดับ อันเป็นที่นิยมทั่วโลก
Fruit วิจัยไม้ผลเศรษฐกิจเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน
- สวนพฤกษศาตร์คุนหมิง มีแปลงรวมพรรณไม้หลายวงศ์ เช่น วงศ์จำปี มณฑา (Magnoliaceae) กลุ่ม Gymnosperms วงศ์กุหลาบ (Rosaceae) วงศ์มะลิ (Oleaceae) วงศ์มะเขือ (Solanaceae) ฯลฯ แปลงหรือสวนรวมพันธุ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมาก ได้แก่ สวนไม้

(น.238) ดอก Rhododendrons และ Azaleas ของวงศ์กุหลาบพันปี (Ericaceae) นอกจากนี้มีสวนสมุนไพร สวนรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับของมณฑลยูนนาน เส้นทางคุนหมิง-ฉู่ฉยง-ต้าหลี่
- ถนนสองข้างทางส่วนใหญ่มีต้นยูคาลิปตัสหลายชนิด (Eucalyptus spp.) ปลูกเรียงแถวถี่ 1-2 แถว โคนต้นทาสีขาวทุกต้นเป็นที่สังเกตได้ง่ายแก่ผู้ขับขี่ยวดยานตอนกลางคืน ไม้โตเร็วชนิดอื่นที่ปลูกแทรก เช่น Silky oak (Grevillea robusta) Alnus nepaulensis ไม้จำพวก conifers บางชนิด ทางการอนุญาตให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงรานกิ่งไปทำเชื้อเพลิงได้ แต่ไม่ให้โค่นต้น ต้นไม้ริมทางหลวงจึงมีทรงชะลูด
- บริเวณภูเขาหัวโล้นจากการแผ้วถางป่ามานานหลายศตวรรษปกคลุมด้วยสนสามใบ ยูนนาน Pinus yunnanensis ซึ่งคล้ายคลึงกับสนสามใบ Pinus kesiya ของไทย ลำต้นของสนส่วนใหญ่แคระแกร็นเนื่องจากผิวหน้าดินถูกกัดชะ ป่าสนเหล่านี้ปลูกโดยอาศัยแรงงานบางพื้นที่ที่ห่างไกลอาศัยการโปรยเมล็ดจากเครื่องบิน (aerial seeding) สนสามใบยูนนานขึ้นยึดพื้นที่เสื่อมโทรมได้ดีมาก สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ตามธรรมชาติ ตามหุบเขาและร่องน้ำที่ชุ่มชื้นจะพบต้นไม้ใบกว้างจำพวก oaks & chestnuts หรือไม้ก่อ (Fagaceae) camellias หรือชา (Theaceae) อบเชย (Lauraceae) ฯลฯ ขึ้นแทรกทั่วไปคล้ายป่าก่อสนเขา (lower montane osk-pine forest) ทางภาคเหนือของไทย
- พื้นที่ภูเขาใกล้หมู่บ้านมักจะปกคลุมด้วยป่ายูคาลิปตัส ซึ่งปลูกไว้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มและให้ความอบอุ่น และนำใบมาสกัดเป็นน้ำมันยูคาลิปตัส

(น.239) เส้นทางเชียงรุ้ง-อำเภอเมืองลุน จังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนา
- เมื่อระดับน้ำในน้ำในแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) ลดลง เป็นทรายที่เคยถูกน้ำท่วมก็กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชสวนครัวของชาวบ้าน ตามหมู่บ้านไตลื้อบนตลิ่งสูงขึ้นไปปลูกไม้ผลและไม้ใช้สอยเขตร้อน เช่น หมาก มะพร้าว มะม่วง ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง กล้วย ฯลฯ ที่ขาดไม่ได้ก็คือต้นขี้เหล็ก สำหรับไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิง
- ริมฝั่งแม่น้ำล้านช้าง พบต้นสนุ่นหรือไคร้น้ำ (Salix tetrasperma) ขึ้นทั่วไป บางตอนที่เป็นแก่งหินจะพบปาล์มสิบสองปันนา (Phoenix roebelinii) ขึ้นเป็นกลุ่มๆ ตามธรรมชาติ แหล่งพันธุ์ของปาล์มชนิดนี้พบตามฝั่งแม่น้ำโขงในจังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนา ลงไปจนถึงหลวงพระบาง-เวียงจันทน์
- พื้นที่บนภูเขาส่วนใหญ่ถูกแผ้วถาง สภาพป่าดั้งเดิมเป็นป่าดิบแล้ง (Seasonal rain forest) พื้นที่เนินเขาลุ่มๆ ดอนๆ และพื้นที่ไหล่เขาที่ไม่ลาดชันมากนัก ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสวนยางพารา ซึ่งกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากชนิดหนึ่งของจังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนา
- พื้นที่ภูเขาที่ถูกร้างมีไฟรบกวนในฤดูแล้ง ไผ่ซาง (Dendrocalamus spp.) จะขึ้นปกคลุมหนาแน่น ชาวบ้านสามารถตัดนำไปใช้ประโยชน์เฉพาะในครัวเรือนได้ ตามป่าไผ่พบเสี้ยวดอกขาว (Bauhinia variegata) ออกดอกบานสะพรั่งเต็มต้น กระจัดกระจายทั่วไปบนไหล่เขา
สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา
- ตั้งอยู่บริเวณคุ้งน้ำรูปน้ำเต้าของแม่น้ำโลวซัว บนฝั่งตรงข้ามอำเภอเมืองลุน มีสะพานแขวนถาวรเชื่อมโยงสองฝั่ง ห่างจากชายแดน

(น.240) ลาว (แขวงพงสาลี) ประมาณ 60 กม. เนื้อที่สวนประมาณ 900 เฮกเตอร์ เป็นสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ พื้นที่เดิมเป็นป่าดิบแล้งผืนใหญ่ ปัจจุบันมีสวนรวมพันธุ์ไม้ประเภทต่างๆ 13 สวน เป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแบบนอกถิ่น (ex-situ conservation) ป่าดิบแล้งดั้งเดิมตามธรรมชาติส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้สำหรับเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแบบในถิ่น (in-situ conservation)
- สวนรวมพันธุ์ภายในสวนพฤกษศาสตร์ เช่น สวนรวมพันธุ์พืชของยูนนานภาคใต้ สวนรวมพันธุ์ไม้สนเขาเขตร้อน (tropical conifers) สวนรวมพันธุ์ไผ่ (กว่า 150 ชนิด) สวนรวมพันธุ์ไม้น้ำ สวนรวมพันธุ์ปาล์ม สวนรวมพันธุ์พืชที่ให้น้ำมัน สวนรวมพันธุ์พืชที่มีกลิ่นหอมและพืชสมุนไพร สวนรวมพันธุ์ไม้ผลเขตร้อน สวนรวมพันธุ์ไม้เศรษฐกิจและไม้โตเร็ว สวนรวมพันธุ์ไม้ฟืนเขตร้อน
- ในบริเวณสวนรวมพันธุ์ไม้หลายแห่ง เช่น สวนสมุนไพร สวนพืชเศรษฐกิจ ได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้และพืชพรรณไว้ใช้ประโยชน์แบบยั่งยืน ดังเช่นพืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจจำพวก เร่ว กระวาน (Amomum spp.) หวาย (Calamus spp.) ฯลฯ จำเป็นต้องอาศัยร่มเงาของป่าไม้สำหรับการเจริญเติบโต การตัดไม้ทำลายป่าเท่ากับทำลายถิ่นกำเนิดของพืชพรรณไม้เหล่านี้ด้วย
- หอพรรณไม้ (Herbarium) มีพรรณไม้แห้งประมาณ 100,000 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นพรรณไม้ของจังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนาห้องสมสุดพฤกษศาสตร์มีหนังสือและเอกสารวิชาการประมาณ 30,000 เล่ม เป็นที่น่าสังเกตว่า สถาบันพฤกษศาสตร์และสวนพฤกษศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่ละแห่งมีนักพฤกษศาสตร์จำนวนมาก แต่ใน

(น.241)ปัจจุบันเกือบจะไม่ปรากฏนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถจำแนกบอกชื่อวงศ์ สกุล ชนิด ของพืชในท้องที่หรือในป่าได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในมณฑลยูนนาน สาเหตุเนื่องจากในปัจจุบันเป็นช่วงสมัยของนักพฤกษศาสตร์หนุ่มสาวถึงวัยกลางคนที่มีความรู้เชี่ยวชาญพืชเฉพาะกลุ่มปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่อยู่ในห้องปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่อยู่ในห้องปฏิบัติการ แต่ขาดประสบการณ์ในการสำรวจและจำแนกพรรณพฤกษชาติในป่า





Next >>