Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2539 "


(น.64) รูป 65 ไปท่าเรือ


(น.65) รูป 66 แพสำหรับลงเรือ

(น.65) ไปถึงท่าเรือ เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์และมาดามหลู่กล่าวลา มองดูแม่น้ำเจียหลิงเจียงใสกว่าแม่น้ำฉางเจียงมาก ซึ่งก็เหมือนกันทั่วโลก แม้แต่แม่น้ำมูลที่ไหลลงแม่น้ำโขงก็ใสกว่าแม่น้ำโขง จนมีคำพูดว่า โขงสีปูน มูลสีคราม ลงเรือท่องเที่ยวปาซาน ยังไม่ถึงเวลารับประทานอาหาร ก็เลยไปนั่งหน้าเรือ แล้วไปรับประทานอาหารกลางวัน ปรากฏว่าวันนี้อาหารสมเป็นอาหารเสฉวนตามคำเล่าลือ คือรสเผ็ดมากทุกอย่าง รับประทานอาหารแล้วกลับไปนั่งเขียนเรื่องต่อที่ข้างเรือ ชมทิวทัศน์ไปพลาง ตามก้อนหินเขียนระดับน้ำไว้ ริมแม่น้ำฉางเจียงนี้มีที่ปลูกผักสวนครัวแบบเดียวกับแม่น้ำในเมืองไทย ตึกรามบ้านช่อง 2 ข้างฝั่งน้ำมีแต่ตึกแบบสมัยใหม่ บางที่เป็นโรงงาน น้ำเป็นสีแดงและมีมลภาวะบ้าง การเดินเรือขณะนี้ไม่ค่อยพลุกพล่านนัก


(น.66) รูป 67 ในเรือปาซาน คุณถังเฟิงหยุนบรรยายเรื่องโครงการเขื่อนซานเสีย

(น.66) เวลา 15.00 น. คุณถังเฟิงหยุน รองอธิบดีประจำสำนักงานบริหารคณะกรรมการก่อสร้างโครงการซานเสีย บรรยายให้ฟัง เขาได้รับมอบจากสำนักงานของเขาซึ่งขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีให้มาต้อนรับ รัฐบาลตั้งคณะทำงานโครงงานนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1992 เพื่อให้การก่อสร้างเขื่อนซานเสียเป็นไปโดยราบรื่น ท่านนายกรัฐมนตรีหลี่เผิงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของคณะ มีรองนายกรัฐมนตรีผู้ว่าราชการมณฑลเสฉวนและมณฑลหูเป่ยเป็นกรรมการ รวมทั้งผู้แทนของกระทรวงต่าง ๆ 27 กระทรวง สำนักงานนี้แบ่งหน่วยงานออกเป็น 3 ส่วนคือ

(น.67)
1. ฝ่ายธุรการ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นประธาน ผู้บรรยายมาจากหน่วยงานฝ่ายนี้
2. สำนักงานอพยพชาวบ้าน มีรัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นประธาน
3. บริษัทพัฒนาโครงการซานเสีย (China Yangtze Three Gorges Project Development Corporation) รับผิดชอบการก่อสร้างและการดำเนินกิจการเมื่อสร้างแล้วเสร็จ มีที่ทำการอยู่ที่เมืองอี๋ชาง เริ่มบรรยายบนแผนที่ (ซึ่งทำด้วยผ้าไนลอน) ว่าเขื่อนซานเสียตั้งอยู่ที่ตำบลซานโต่วผิงในเมืองอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย ปิดกั้นแม่น้ำฉางเจียง ณ จุดซึ่งมีเกาะจงเป่าตั้งอยู่กลางน้ำค่อนมาทางฝั่งขวา ดังนั้นร่องน้ำลึกจึงไหลผ่านทางด้านซ้ายของเกาะ (การเรียกทำได้ 2 อย่าง คือเรียกตามกระแสน้ำเป็นฝั่งซ้าย ฝั่งขวา หรือฝั่งเหนือ ฝั่งใต้ เพื่อความสะดวกใช้ซ้ายและขวาจะดีกว่า)


(น.67) รูป 68 แผนที่ส่วนที่จะสร้างเขื่อนซานเสีย

(น.68) จุดประสงค์หลักของการก่อสร้างโครงการซานเสียซึ่งเป็นเขื่อนแรกบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำฉางเจียงมีอยู่ 3 ประการคือ
1. เพื่อควบคุมและบรรเทาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่สองฝั่งในช่วงกลางและช่วงล่างของลุ่มแม่น้ำฉางเจียง
2. เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศจีน รวมทั้งบริเวณภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวน
3. เพื่อปรับปรุงเส้นทางเดินเรือช่วงตั้งแต่ตัวเขื่อนขึ้นไปเหนือน้ำจนถึงนครฉงชิ่ง และลงมาทางด้านท้ายน้ำจนถึงปากแม่น้ำ โดยเฉพาะในหน้าแล้งให้ดีขึ้น

ลักษณะโดยทั่วไปของโครงการประกอบด้วยเขื่อนคอนกรีตสูง 175 เมตร ยาว 2,309 เมตรสันเขื่อนอยู่ที่ระดับ 185 เมตร และระดับเก็บกักปกติอยู่ที่ 175 เมตร เขื่อนนี้กักน้ำได้ 39,300 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 8.7 % ของปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยทั้งปี ซึ่งมีถึง 450,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อมีน้ำหลากหรือน้ำนองเกิดขึ้นในฤดูฝนก็สามารถเก็บกักน้ำสูงสุดได้ถึงระดับ 180.40 เมตร และจะต้องพร่องน้ำโดยระบายออกผ่านทางช่องระบายน้ำล้น พร้อมทั้งพยายามระบายผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับการผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาหลังหน้าฝนและในหน้าแล้งจนลดลงไปอยู่จุดต่ำสุดที่ระดับ 145 เมตร และรักษาระดับนี้ไว้จนถึงเดือนกันยายน ดังนั้นในปลายเดือนตุลาคมน้ำในอ่างก็เพิ่มขึ้นจนถึงระดับเก็บกักสูงสุดอีก ฉะนั้นอ่างเก็บน้ำนี้จึงมีความจุประสิทธิผล (effective storage) เพียง 22,100 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และอ่างยาวขึ้นไปตามร่องน้ำประมาณ 600 กิโลเมตร จนถึงนครฉงชิ่ง แต่มีความกว้างเฉลี่ยเพียง 1,100 เมตรเท่านั้น

(น.69) เขื่อนออกแบบให้มีช่องระบายน้ำล้น (spillway) อยู่ตรงกลางแม่น้ำจำนวน 22 ช่อง พร้อมกับช่องระบายระดับล่าง (bottom outlet) อีกจำนวน 23 ช่อง โดยมีบานประตูปิด-เปิดบังคับได้ซึ่งสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 110,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และขนาบด้วยโรงไฟฟ้าทางฝั่งขวาซึ่งมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 12 เครื่อง เครื่องละ 700 เม็กกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าทางฝั่งซ้ายมี 14 เครื่อง เครื่องละ 700 เม็กกะวัตต์เช่นกัน จึงติดตั้งเครื่องทั้งหมดรวม 26 เครื่องและมีกำลังผลิตทั้งหมด 18,200 เม็กกะวัตต์* สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 84,700 กิกะวัตต์ชั่วโมง** และยังสามารถขยายได้อีกโดยการ * วัตต์ (Watt – W) เป็นหน่วยของกำลังงาน โรงไฟฟ้าจะกำหนดขนาดกำลังผลิตเป็นกำลังงานคือ kilowatt หรือ Megawatt โดย
1 กิโลวัตต์ (Kilowatt – kW) = 1,000 W. หรือ 103 W.
1 เม็กกะวัตต์ (Megawatt – MW) = 1,000 kW.หรือ 106 W.
1 กิกะวัตต์ (Gegawatt – GW) = 1,000 MW. หรือ 109 W.
** พลังงานเป็นหน่วยที่ใช้กับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าจำหน่ายแก่ผู้บริโภค โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้
พลังงาน (energy) = กำลังงาน (power) x เวลา (time)
เช่น เปิดไฟขนาด 100 วัตต์ นาน 10 ชั่วโมง พลังงานที่ใช้คิดคำนวณได้ดังนี้
พลังงาน = 100 x 10 = 1,000 วัตต์ชั่วโมง (Wh) หรือ 1 กิโลวัตต์ ชั่วโมง (1kWh)
พลังงานจากโรงไฟฟ้าแต่ละโรงจะกำหนดเป็นพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยที่ผลิตได้ต่อปี รายได้จากการผลิตไฟจะคิดจากจำนวนพลังงานที่ขายได้ เช่น
โรงไฟฟ้าผลิตได้ 1,000 GWh ต่อปี สมมุติว่าขายได้ 1.25 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง รายได้ของโรงไฟฟ้าต่อปีจะคำนวณได้ดังนี้
1,000 (GWh) x 106 (kWh) x 1.25 (บาท) = 1,250 ล้านบาทต่อปี


(น.70) รูป 69 แผนที่แม่น้ำฉางเจียง

(น.70) ก่อสร้างโรงไฟฟ้าทางด้านฝั่งขวาซึ่งจะติดตั้งเครื่องเพิ่มเติมได้อีก 6 เครื่อง ขนาดกำลังการผลิตเครื่องละ 700 เม็กกะวัตต์เช่นกัน เขื่อนซานเสียจึงเป็นเขื่อนใหญ่ที่สามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้มากที่สุดในโลก กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นจะส่งไปใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของจีนโดยระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าตรงขนาด 500 กิโลโวลต์ รวมทั้งบริเวณภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวนโดยระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าสลับขนาด 500 กิโลโวลต์เช่นกัน นอกจากนี้ทางด้านฝั่งซ้ายถัดจากโรงไฟฟ้าออกไปยังมีคลองขุดสำหรับให้เรือผ่านบริเวณเขื่อนได้อีก 2 ช่อง คือ ช่องแรกเป็นคลองสำหรับการยกเรือ (ship lift) สามารถยกเรือขนาด 3,000 ตัน และ

(น.71) ช่องที่สองเป็นคลองเดินเรือ มีบานประตูทดน้ำบังคับขนาดถึง 5 ชั้นด้วยกัน สามารถให้เรือขนาด 10,000 ตันผ่านได้ เมื่อเขื่อนซานเสียนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้การเดินเรือในแม่น้ำฉางเจียงขึ้นไปถึงนครฉงชิ่ง (เมืองจุงกิงในสมัยก่อน) ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางเรือได้ถึง 35 % ทั้งนี้เพราะอ่างเก็บน้ำนี้จะมีร่องน้ำลึกมากขึ้นและกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวก็จะลดลงด้วย การก่อสร้างโครงการเขื่อนซานเสียใช้เวลาทั้งสิ้น 17 ปี ได้เริ่มลงมือมาตั้งแต่ ค.ศ.1993 แบ่งขั้นตอนการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะแรก เป็นขั้นการเตรียมงานและผันลำน้ำ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ ค.ศ.1993 มาจนถึง ค.ศ.1997 เป็นเวลา 5 ปี ได้มีพิธีเปิดการก่อสร้างเป็นทางการ โดยท่านนายกรัฐมนตรีหลี่เผิง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1994 ดำเนินการก่อสร้างทำนบดินปิดช่องลำน้ำทางฝั่งขวาทั้งทางด้านเหนือและท้ายน้ำเชื่อมติดกับเกาะจงเป่า เพื่อขุดเบิกทางลำน้ำให้กว้างและลึกลง พร้อมกับก่อสร้างกำแพงคอนกรีตบดอัดตามแนวยาวขนานกับตัวเกาะเพื่อใช้สำหรับผันลำน้ำฉางเจียง ขุดคลองเดินเรือชั่วคราวทางด้านฝั่งซ้าย รวมทั้งดำเนินงานอพยพราษฎรบริเวณหัวงานและอ่างเก็บน้ำ ระยะที่สอง ค.ศ.1998-2003 เป็นเวลา 6 ปี เป็นการก่อสร้างทำนบดินและหินด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำ มาเชื่อมติดกับกำแพงคอนกรีตบดอัดซึ่งก่อสร้างไว้ในระยะแรกโอบล้อมลำน้ำทางด้านซ้ายของเกาะจงเป่า เพื่อผันน้ำเข้าสู่คลองผันน้ำที่ขุดไว้ด้านฝั่งขวาซึ่งแล้วเสร็จในระยะแรก แล้วจึงขุดและก่อสร้างตัวเขื่อน ทางระบายน้ำล้นและโรงไฟฟ้าทางฝั่งซ้าย คาดว่าจะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า


(น.72) รูป 70 แผนที่บริเวณโครงการสามแห่งของแม่น้ำฉางเจียง

(น.72) 2 เครื่องแรกให้แล้วเสร็จ และผลิตไฟฟ้าได้ใน ค.ศ.2003 ซึ่งเป็นปีที่ 11 ของการก่อสร้างเขื่อนซานเสีย พร้อมทั้งก่อสร้างคลองเดินเรือถาวรทั้ง 2 ช่องทางให้แล้วเสร็จในระยะนี้ด้วย ระยะที่สาม ค.ศ. 2004 – 2009 เป็นเวลา 6 ปี เป็นการถมทำนบดินและเขื่อนคอนกรีตบดอัดทั้งด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำ ปิดคลองผันน้ำฝั่งขวาอีกครั้งหนึ่งเพื่อผันน้ำให้ไหลผ่านทางระบายน้ำล้นและช่องเปิดระดับล่าง (bottom outlet) จำนวน 23 ช่อง ซึ่งอยู่ใต้ทางระบายน้ำล้นกลางลำน้ำและได้ดำเนินการแล้วเสร็จในระยะที่สอง สำหรับการเดินเรือก็ให้เดินผ่านทางคลองเดินเรือถาวรทั้งสองช่องซึ่ง

(น.73) ก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะที่สองเช่นกัน แล้วจึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าฝั่งขวาและปีกเขื่อนในบริเวณคลองผัน รวมทั้งติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งหมด 26 เครื่องให้แล้วเสร็จภายใน ค.ศ.2009 ด้วย ความก้าวหน้าของการก่อสร้างตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในแผนการก่อสร้างระยะแรก ได้ขุดดินและหินทางด้านฝั่งขวาในบริเวณคลองผันน้ำ และก่อสร้างกำแพงคอนกรีตแบบบดอัดตามแนวยาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวทำนบและคลองผันน้ำชั่วคราว จะแล้วเสร็จและผันน้ำได้ประมาณเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1997 รวมทั้งการขุดดินและหินทางด้านฝั่งซ้ายและก่อสร้างประตูและคลองเดินเรือชั่วคราวเพื่อใช้ในการเดินเรือได้ให้แล้วเสร็จ ได้ก่อสร้างและปรับปรุงถนนจากเมืองอี๋ชางระยะทาง 40 กิโลเมตร และสะพานแขวนซีหลิงข้ามแม่น้ำทางด้านท้ายน้ำของบริเวณตัวเขื่อนแล้วเสร็จเช่นกัน เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 18,200 เม็กกะวัตต์ และให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 84,700 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพื่อส่งไปใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศจีนจนถึงนครเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวน สามารถทดแทนการเผาเชื้อเพลิงที่เป็นถ่านหินอันจะทำให้เกิดมลภาวะได้ปีละ 40-50 ล้านตันแล้ว ยังอำนวยประโยชน์ทางด้านการเดินเรือเหนือเขื่อนขึ้นไปถึงนครฉงชิ่งซึ่งยาวถึง 600 กิโลเมตร และสามารถให้เรือขนาด 10,000 ตันแล่นไปได้โดยสะดวก ทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งทางน้ำได้ถึง 5 เท่า คือเพิ่มจากเดิมปีละ 10 ล้านตันเป็น 50 ล้านตันและลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 35 % ส่วนทางด้านท้ายเขื่อนลงไปถึงปากน้ำก็จะเดินเรือได้ดีขึ้นในช่วงหน้าแล้ง เพราะสามารถปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาช่วยได้

(น.74) ส่วนประโยชน์ในด้านการควบคุมและบรรเทาอุทกภัยนั้น เขื่อนนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบควบคุมน้ำท่วม ซึ่งแต่เดิมได้ออกแบบและก่อสร้างไว้เป็นคันกั้นน้ำในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่างของทั้งสองฝั่ง ให้รับปริมาณน้ำท่วมขนาดความถี่ 10 ปีครั้ง ที่มีอัตราการไหลสูงสุด 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มมาเป็นการรับน้ำท่วม ที่มีขนาดความถี่ 100 ปีครั้ง มีอัตราการไหลสูงสุดขนาด 83,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีได้ ทั้งนี้จากบันทึกสถิติ 2,000 ปี ได้มีน้ำท่วม 200 ครั้ง หรือประมาณ 10 ปีครั้ง เป็นต้นว่าใน ค.ศ.1870 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ บริเวณที่น้ำท่วมมากอยู่แถว ๆ เมืองอี๋ชาง มีน้ำไหลผ่านประมาณ 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผู้คนล้มตายถึง 380,000 คน สาขาของแม่น้ำฉางเจียงคือ แม่น้ำจินเจียง เป็นที่อยู่ของชาวอี๋ เป็นเขตที่อันตรายที่สุด ในศตวรรษที่ 20 นี้ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้งใน ค.ศ.1931, 1935 และ 1954 ตามลำดับ ภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในค.ศ. 1931 และ 1935 ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหายถึง 3.4 และ 1.51 ล้านเฮกตาร์ และผู้คนล้มตายถึง 145,000 คน และ 142,000 คนตามลำดับ ส่วนน้ำท่วมที่เกิดขึ้นใน ค.ศ.1954 นั้นทำให้ท่วมพื้นที่เพาะปลูกถึง 3.15 ล้านเฮกตาร์ ผู้คนล้มตายเพียง 33,000 คน แต่ผู้คนที่ได้รับความเสียหายและมีผลกระทบมากถึง 18.88 ล้านคน ทางรถไฟสายกรุงปักกิ่ง-กวางโจวถูกน้ำท่วมใช้งานไม่ได้ถึง 100 วัน นครอู่ฮั่นถูกน้ำท่วมนานถึง 3 เดือน ดังนั้นเมื่อเขื่อนซานเสียก่อสร้างเสร็จก็จะลดอุทกภัยและความเสียหายลงได้อย่างมากมาย

(น.75) บางคนถามว่าถ้าสร้างเขื่อนเล็กหลาย ๆ เขื่อนน่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เหมือนกัน แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยวิธีการนี้คงจะทำได้ลำบาก เพราะเขื่อนขนาดเล็กไม่สามารถเก็บกักน้ำแล้วผ่อนระบายลงท้ายน้ำได้มากนัก ประกอบกับในบริเวณภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวนและภาคตะวันตกของมณฑลหูเป่ยเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกหนักมากจึงทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อย ดังนั้นต้องก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จึงจะช่วยบรรเทาอุทกภัยได้ เรื่องการอพยพราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญ มีผู้ตั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศจีน รัฐบาลตรวจสอบทำสถิติได้ทราบว่า บริเวณที่ก่อสร้างโครงการนี้จะกระทบประชาชน 840,000 คนตามที่ได้สำรวจไว้ใน ค.ศ.1992 เวลาผ่านไป 17 ปี ประชากรจะเพิ่มขึ้นอีกคาดว่ากว่าจะแล้วเสร็จจะมีประมาณ 1,150,000 คน จำนวนนี้อยู่ในมณฑลเสฉวนประมาณ 85% อยู่ในมณฑลหูเป่ยราว 15% งบประมาณที่จะให้ในการแก้ปัญหาประมาณ 40,000 ล้านหยวน รัฐบาลถือว่าเรื่องนี้สำคัญ จึงวางนโยบายเอาไว้ดังนี้
1. การอพยพเชิงพัฒนา แต่ก่อนเมื่อทำโครงการประเภทนี้ มักบังคับคนให้ย้ายไป ไม่ได้ช่วยจัดการอะไรให้เลย คราวนี้จะช่วยในเชิงพัฒนาแก่ผู้ที่ต้องอพยพโยกย้าย
2. การหาที่อยู่ให้ใหม่ ให้เงินปลูกบ้านใหม่ มีที่สำหรับเพาะปลูก
3. การฝึกให้ทำงานอาชีพต่าง ๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าก่อนการอพยพ เช่น ที่ฝูหลิง ว่านเซี่ยน และอี๋ชาง จะพัฒนาให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตเท่าเทียมกับบริเวณที่อยู่ริมทะเล งบประมาณขั้นแรกราว 500 ล้านหยวน

(น.76) เมืองต่าง ๆ จาก 26 มณฑลทั่วประเทศจีนช่วยกันสนับสนุนมณฑลที่ถูกน้ำท่วม เมื่อคุณถังพูดมาได้ถึงตรงนี้ ฝ่ายการท่องเที่ยวมาบอกว่า เรือผ่านบริเวณฝูหลิง ในบริเวณนี้มีหินสลักอยู่ใต้น้ำหลายสมัย เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ประมาณ 10 ปีน้ำจะลดพอที่จะมองเห็นหินสลักเหล่านี้ เขาบอกว่าทางการจีนกำลังคิดหาวิธีการสร้างโครงกระจกคลุมหินสลักเอาไว้ หาวิธีให้คนดำน้ำหรือทำเรือดำน้ำให้คนลงไปดูหินสลักได้ ข้าพเจ้าดูสภาพน้ำแล้วก็รู้สึกว่าไม่รู้สึกอยากดำน้ำเลย และถึงจะดำน้ำลงไปได้ ก็คงไม่เห็นรูปสลักเพราะน้ำขุ่นมาก ฝ่ายจีนยืนยันว่าถ้าทำโครงการแล้วน้ำจะใสกว่านี้ บริเวณที่มีหินสลักมีระยะทางราว 2 กิโลเมตร มองเห็นปากแม่น้ำอูเจียง กลับไปฟังการบรรยายของคุณถัง : งบประมาณที่ใช้ในเรื่องการย้ายคนราว 40,000 ล้านหยวน ให้มณฑลที่ได้รับผลกระทบ 2 มณฑลรับเงินไปตามสัดส่วนประชาชน งบประมาณนี้ตั้งขึ้นใน ค.ศ.1993 แต่ละปีก็เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ (ตอนนี้ประมาณ 14% ต่อไปเขาจะพยายามให้ต่ำกว่า 10%) ประชาชนที่ต้องย้ายออกไปเกือบหมดอยู่ในจังหวัดว่านเซี่ยนและจังหวัดฝูหลิง (ในมณฑลเสฉวน) เมื่อทำโครงการแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจจะพัฒนาเร็วขึ้น ในแผน 8 ทั้ง 2 จังหวัดมีมวลรวมการผลิตเพิ่มขึ้น 11.9% กับ 14.6% ตามลำดับ รายได้ประชาชาติเพิ่มราว 19.1% กับ 24.2% เศรษฐกิจของฝูหลิงในแผน 8 เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่ากว่าที่เพิ่มขึ้นในรอบ 40 ปี ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 6,503 ล้านหยวน กับ 14,400 ล้านหยวน จังหวัดอี๋ชาง (ในมณฑลหูเป่ย) ขณะนี้มีการก่อสร้างเป็น 2 เท่าของ ค.ศ.1990 ก่อนเริ่มโครงการเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 6 พอเริ่มโครงการ

Next >>