Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2539 "


(น.134) รูป 124 แถวอำเภอจื่อกุยนี้ มีสวนส้มแต่ยังไม่สุก

(น.134) ผ่านหมู่บ้านเผยฉือ เป็นหมู่บ้านแรกที่อยู่ในมณฑลหูเป่ย ท่านโกโมโร่เขียนบทกวีเอาไว้ว่า หัวเรืออยู่หูเป่ย หางเสืออยู่เสฉวน เวลาบ่าย เรือจอดที่อำเภอจื่อกุย นายอำเภอหญิงมาต้อนรับ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์มณฑลหูเป่ย นั่งรถไปศาลเจ้าชูหยวน นายอำเภออธิบายว่าอำเภอนี้มีพลเมือง 420,000 คน น้ำจะท่วมส่วนหนึ่งของอำเภอ ใน ค.ศ. 1997 จะต้องย้ายตัวอำเภอไปอยู่ที่ใหม่ทางตะวันออกจากที่ปัจจุบัน 37 กิโลเมตร เวลาสร้างเมืองใหม่ต้องตัดถนนหลายสาย ศาลเจ้าชูหยวนนี้ก็จะต้องย้าย ถึงจะเป็นอำเภอเล็ก ขณะนี้ผู้นำของประเทศมาเยี่ยมกันทุกท่าน ทั้งท่านประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีทุกท่าน เห็นต้นส้มออกผลแล้วยังเขียว ๆ อยู่ นายอำเภอบอกว่าประมาณเดือนพฤศจิกายน ส้มจึงจะสุก ที่นี่เป็นแหล่งปลูกส้ม 1 ใน 7 ที่เริ่มต้นปลูกในแถบนี้


(น.135) รูป 125 ศาลเจ้าชูหยวน

(น.135) ถึงศาลเจ้าชูหยวน ไกด์อธิบายว่าเป็นศาลของผู้รักชาติ อำเภอจื่อกุยไม่เพียงแต่เป็นบ้านเกิดของผู้รักชาติชูหยวน แต่ยังเป็นบ้านเกิดของหวังเจาจวิน 1 ใน 4 นางงามที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์จีน อีก 100 กิโลเมตรจากที่นี่เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความงดงามตามธรรมชาติ


(น.135) รูป 126 อนุสาวรีย์ชูหยวน


(น.136) รูป 127 หอจารึกชูหยวน

(น.136) ศาลเจ้านี้ย้ายมาหลายครั้งแล้วคือ สมัยราชวงศ์ถัง ผู้ว่าราชการเมืองหวังเม่าหยวนย้ายจากที่เดิม ค.ศ. 1976 ตอนจะสร้างเขื่อนเก่อโจวป้าก็ย้ายมาอยู่ที่ตั้งในปัจจุบัน คราวนี้ก็จะย้ายอีก ศาลมีรูปทองสำริดของท่านชูหยวนสูง 3.97 เมตร ผู้ปั้นแบบหล่อสำริดคือศาสตราจารย์หวังฝูเจิน สถาบันศิลปะหูเป่ย รูปปั้นนี้ผู้ปั้นแสดงให้เห็นถึงท่านชูหยวนกำลังครุ่นคิด ข้าพเจ้าถามว่าทำไมต้องย้ายศาลเจ้า ตอนนี้ก็อยู่เหนือระดับน้ำท่วมอยู่แล้ว ไกด์บอกว่าภูเขาที่อยู่หลังศาลเจ้านี้เป็นหินที่พังง่าย จึงคิดว่าย้ายดีกว่า ข้าพเจ้าคิดว่าคงเป็นเรื่องงบประมาณด้วย ไหน ๆ มีเงินแล้วก็ทำเสียให้ดีเลย จากนี้คงไม่ต้องย้ายแล้ว ตามประวัติสมัยที่เขามีชีวิตอยู่ ท่านชูหยวนก็เคยถูกไล่ 3 ครั้ง ขึ้นไปที่หอจารึกชูหยวน มีลายมือท่านโกโมโร่ติดไว้ ลายมือนี้เป็นลายมือสุดท้ายก่อนที่ท่านโกโมโร่จะเสียชีวิต ใครก็ไม่ทราบเล่าให้ฟังว่าชื่อของอำเภอจื่อกุยนี้ก็เกี่ยวเนื่องกับท่านชูหยวน ชื่ออำเภอ


(น.137) รูป 128 ข้อเขียนเกี่ยวกับชูหยวน

(น.137) แปลว่า กลับมาหาพี่สาว เขาว่ากันว่าระหว่างไปรับราชการที่อื่นท่านชูหยวนกลับมาเยี่ยมพี่สาวที่นี่ เข้าไปในหอ เขาเก็บภาพวาด ลายมือ และหนังสือทุก ๆ ภาษาที่เกี่ยวกับชูหยวน และเรื่องเกี่ยวกับอำเภอนี้ที่แปลก ๆ เช่น เป็นที่ที่วัวควายทำนาเอง ไม่ต้องใช้เชือกร้อยจมูก รูปบ่อน้ำที่เชื่อกันว่าชูหยวนเคยใช้ตั้งแต่ยังเด็ก ภาพการทำขนมจ้างในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจีน ในอำเภอจื่อกุยมีพิธีแข่งเรือมังกร มีเพลงเรียกวิญญาณชูหยวน ไกด์ร้องให้ฟังด้วย แต่ก่อนทำถึง 3 วัน คือวันที่ 5, 15 และ 25


(น.138) รูป 129 หนังสือเกี่ยวกับชูหยวน

(น.138) มีรูปสลักหินท่านชูหยวน สมัยราชวงศ์หมิง มีประวัติว่าสมัยนั้นมีนักธุรกิจคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุทางเรือที่นี่ แต่ไม่มีใครในครอบครัวเสียชีวิต จึงเข้าใจว่าท่านชูหยวนพิทักษ์รักษา บริจาคเงินสร้างรูปนี้ไว้ สมัยนั้นไม่ทราบว่าท่านชูหยวนหน้าตาเป็นอย่างไร จึงจินตนาการให้เป็นคนหน้าตาใจดีเหมือนพระ ให้ดูมีบุญตามตำราโหงว เฮ้ง ถ้าใครไหว้รูปสลักหินนี้จะสมความปรารถนา


(น.138) รูป 130 เพลงเรียกวิญญาณชูหยวน


(น.139) รูป 131 รูปสลักหินท่านชูหยวน

(น.140) ไปดูสุสาน ไกด์เล่าว่ามีคนสงสัยว่าตามประวัติท่านชูหยวนเสียชีวิตในแม่น้ำมี่โหลเจียง มณฑลหูหนาน ทำไมศพมาอยู่ที่นี่ คำตอบคือที่นี่ไม่มีศพ ชาวบ้านในสมัยโบราณจัดพิธีเรียกวิญญาณมาอยู่ที่นี่ เขาเล่ากันว่า มีปลาเทพส่งศพกลับมาบ้านเกิด ชาวบ้านจัดพิธีรำลึกให้อย่างสูงสุด โดยปกติจะมีแต่จักรพรรดิที่มีพิธีแบบนี้ได้ ส่วนบนของสุสานจึงทำเป็นรูปปลา วิญญาณอยู่ในโลงศพไม้แดง (ไม้ทาสีแดง) ข้าพเจ้าดูสุสานวิญญาณของท่านชูหยวนแล้ว ต้องประกาศให้รู้ทั่วกันว่า ถ้าข้าพเจ้าตายห้ามเรียกวิญญาณโดยเด็ดขาด ข้าพเจ้าต้องการเป็นวิญญาณอิสระพเนจร ไม่ต้องการถูกขังในกรงเช่นนี้


(น.140) รูป 132 สุสานชูหยวน

Next >>