<< Back
" ย่ำแดนมังกร วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2524 "
(น.45) ปีนกำแพงเมืองจีน วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2524
(น.46) วันนี้ตื่นขึ้นมาตั้งแต่ตีสี่กว่าเพราะมันสว่างเร็วเหลือเกินกะว่าจะทำอะไรๆ เพื่อฆ่าเวลาไม่ให้เกิดความหิวในระหว่างที่รออาหารเช้าอย่างใจจดใจจ่อ ป้าจัน ต้มกาแฟก็อุตส่าห์ไม่กิน เพราะจะรออาหารเช้าแบบจีน
ดูเหมือนว่าข้าพเจ้าจดแล้วว่าอาหารเช้ามีอะไรบ้าง แต่มาถึงเมืองไทยนี้ที่จดอะไรต่อมิอะไรตามที่ต่างๆ มันหายไปไหนหมดก็ไม่รู้ เท่าที่จำได้วันที่แรกจั่วหน้ามาก็รับประทานไข่เยี่ยวม้า ไข่เค็ม หัวไชโป๊วเค็ม (ซึ่งจืด) ข้าวต้ม
ซาลาเปาไส้ขนมกุ้ยช่าย นมเปรี้ยว นมสด และ ฯลฯ สรุปได้ว่ากินโต๊ะจีนตั้งแต่ 7 โมงเช้า ผลไม้มีแตงโมงตามเคย ใครๆ อธิบายว่าตอนนี้เป็นหน้าแตงโม คนที่มาเสิร์ฟทุกคนหน้าตายิ้มแย้ม
(น.46) รูป 25 ไปกำแพงเมืองจีน
(น.47) และบริการดีมาก ท่านทูตและภริยาไม่ได้กลับไปที่บ้านพัก ค้างอยู่กับพวกเราที่เตี้ยวหยูว์ไถเลย พอถึงเวลาก็เตรียมตัวไปเที่ยวกำแพงเมืองจีนกัน
ข้าพเจ้าคุยกับ ตุ๋ย ตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯ แล้วว่าเราสองคนสนใจกำแพงเมืองจีนด้วยกันทั้งคู่ รู้สึกตื่นเต้นอยู่ตรงนี่เอง ผู้ที่มารับในวันนี้คือท่าน เสิ่นผิง อธิบดีกรมเอเชีย
1. ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะมาเป็นทูตจีนประจำประเทศไทยแทนท่าน จางไหวเลี่ย ต้าสื่อ (ต้าสื่อ แปลว่า ทูต) นั่งในรถระยะทางเพียง 70 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น “เตี่ย”
(พวกเราเรียกคนขับรถว่าเตี่ย) ขับซะชั่วโมงครึ่ง เลยมีเวลาคุยกันแยะ ข้าพเจ้าถามท่านอธิบดีถึงเรื่องทะเลทราย โกบี เพราะตอนเด็กๆ
เรียนว่าจะมีฝุ่นจากทะเลทรายโกบีพัดมาฤดูหนึ่งฝุ่นนี้เรียกว่า “โลส” (Loess) เป็นฝุ่นสีเหลืองที่นำความอุดมสมบูรณ์และทำให้ แม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำฮวงโห) หรือแม่น้ำเหลืองเป็นสีเหลือง
ท่านอธิบดีอธิบายว่า คำว่า โกบี เป็นภาษา ซินเกียง เขาว่ากันว่าเป็นทะเลทรายที่เคลื่อนที่ได้ ลมพัดแล้วจะเอาทรายมากองเป็นกองๆ พอลมพัดอีกทีกองๆ เหล่านี้จะหายไปแล้ว แต่เดิมก็เป็นอย่างว่า
คือฝุ่นผงนี้ถูกพัดกระจุยกระจายไม่มีใครควบคุมได้ ที่ ซินเกียง เมืองถูกทำลายไปก็มี ปัจจุบันนี้รัฐบาลมีโครงการจะต่อสู้กับธรรมชาติโดยวิธีปลูกป่าที่จะต้องใช้เวลาเติบโตถึง 20 – 50 ปี
เป็นอาณาเขตหลายพันล้านเฮกตาร์เพื่อกั้นทรายไม่ให้พัดมาในเมืองต่างๆ ท่านอธิบดีบอกว่าท่านเคยเห็นปักกิ่งเวลาลมจากทะเลทรายโกบี
(น.48) พัดมาแรงๆ อากาศจะเต็มไปด้วยฝุ่นทราย ที่พื้นนั้นทรายหนาถึง 2 เมตร มืดไปหมดต้องเปิดไฟกลางวันแสกๆ แม้ขณะนี้การปลูกป่ายังไม่พอเลย ท่านอธิบดีเสิ่นผิงเคยไปอยู่แถวๆ นั้นในระหว่างสงคราม
บอกว่าถ้าข้าพเจ้ามีโอกาสมาประเทศจีนครั้งหน้าควรจะหาโอกาสไปเที่ยวทะเลทรายโกบีเพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่เหมือนกับที่อื่น คือมีหินก้อนเล็กก้อนใหญ่ เม็ดทรายที่ทับถมกันหลายหมื่นปี
จะเป็นที่ราบกว้างขวางหลายสิบกิโลเมตร เป็นทางแข็งๆ จนกระทั่งเวลาจะสร้างถนนไม่ต้องทำอะไรมากแค่วาดเขตว่าตรงนี้จะให้เป็นถนนก็พอ ในบางส่วนแห้งแล้งยากลำบากมากไม่มีน้ำ ไม่มีหญ้า ไม่มีต้นไม้
เวลาคนไปอยู่ก็เจาะน้ำบาดาลแถวใกล้ๆ ภูเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม ชาวนาที่ไม่มีดินจะไปบุกเบิกที่รกร้างว่างเปล่านี้ เวลาจะปลูกข้าวเขาขุดเอาน้ำบาดาลเป็นอุโมงค์ข้างล่างเป็นคูยาวหลายกิโลเมตร
ที่ยาวที่สุดนั้นคือยาวถึง 30 กิโลเมตร น้ำเย็นและใสมากไหลจากภูเขาหิมะ การที่ต้องเอาน้ำไว้ใต้ดินก็เพราะเกรงว่าน้ำจะสูญเสียได้ด้วยการระเหย ท่านชี้ว่าในกรณีนี้จะเห็นว่าปัญญาของประชาชนมีมาก จึงสามารถต่อสู้กับธรรมชาติเพื่อการอยู่รอดได้
พูดถึงแม่น้ำเหลืองท่านยกตัวอย่างว่าแถวๆ ซีอาน นั้นภูมิประเทศเป็นภูเขาดินสูง แต่ก่อนมีต้นไม้ปกคลุมอยู่เต็ม ต่อมาเกิดสงคราม การต่อสู้ รวมทั้งภัยธรรมชาติ ทำให้ต้นไม้ถูกทำลายไปมาก ดินไหลลงแม่น้ำ
ยิ่งเวลาฤดูร้อน น้ำกับดินไหลปนกันทำให้น้ำกลายเป็นน้ำโคลนไปอย่างที่ว่า ท่านเคยเห็นที่ เยนอาน ในมณฑลส่านซี (ห่างซีอานราว 400 กม.) ตอนนั้นญี่ปุ่นยึดครองจีนอยู่ ฝ่ายจีน
(น.49) มีทั้งท่าน เหมาเจ๋อตุง และท่านโจวเอินไหล ขุดถ้ำอยู่กันที่นั่นถึง 7 ปี ตอนนั้นไปตั้งฐานกำลังถึงกับตั้งโรงเรียน มีนักเรียนถึง 4 หมื่นคน
เล่าเรื่องมาถึงตอนนี้พอดีรถออกไปถึงนอกเมือง บรรยากาศดีมาก สองฟากถนนเขาปลูกต้นไม้สวยร่มรื่น ออกมานอกเมืองนี่รถไม่มีมาก คนธรรมดาเขาก็ขี่จักรยาน บางคนมีจักรยานยนต์ก็เอารถอะไรก็ไม่ทราบพ่วงข้างๆ
ไว้อีกคันด้วย มีรถเทียมม้า เทียมวัว รวมความแล้วเห็นพาหนะหลายอย่าง ชานเมืองเขาปลูกผักกันมาก ผักกาดของเขางามดี หัวโตเบ้อเริ่ม ถามดูอธิบดีอธิบายว่าปลูกผักนี้เขาใช้น้ำบาดาล ขุดเป็นบ่อเอาเครื่องสูบน้ำสูบขึ้นมาแถบๆ
ที่รถผ่านนี้ มีอ่างเก็บน้ำซึ่งจะเอาน้ำมารดได้ถึง 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ข้าพเจ้าสงสัยว่าคนจีนในเมืองจีนนี่เขารดน้ำผักกันอย่างไร จะเมือนพวกคนจีนทำสวนผักในเมืองไทยที่ทำร่องมีน้ำในน้ำร่องเขาก็ปลูกข้าวเป็นแถว
คนที่เก่งๆ เขาเอาพวยมีด้ามยาวๆ วิดน้ำเป็นฝอยๆ ถ้าทำไม่เป็น (อย่างข้าพเจ้า) น้ำจะลงมาเป็นก้อนๆ ผักเน่าตายหมด ท่าเสิ่นผิงบอกว่า จีนปลูกผักเดี๋ยวนี้มีวิธีสองอย่าง คือทำร่องแบบโบราณ อีกอย่างหนึ่งก็ใช้เครื่องพ่น (Sprinkler)
จีนปลูกข้าวสาลีหนึ่งในสามธัญญาหารทั้งหมด อีกสองในสามปลูกข้าวเจ้า และธัญญาพืชอื่นๆ ข้าวสาลีจะปลูกมากทางเหนือๆ แถวซีอาน ใน เสฉวน แถวเมือง เฉิงตู ปลูกข้าวเจ้า พูดถึงปุ๋ย
ท่านคุยว่า การเลี้ยงหมูนั่นแหละดี “มูลฝอยหมู” (นี่จดตามล่าม) นี้ใช้ได้ประโยชน์มาก หมู 1 ตัว ปลูกพืชได้ 2.4 โหม่ว (= 1/15
(น.50) เฮกตาร์) หลายพันปีมาแล้วจีนใช้ปุ๋ยธรรมชาติ จากวัว ควาย แพะ แกะ หมู ฯลฯ ทำให้ดินดี ท่านว่าปุ๋ยเคมีส่วนประสมไม่เหมาะถ้าไม่ระวังดินจะเสีย เราเลยบอกเขาบ้างว่า เมืองไทยก็มีปุ๋ยหมักเหมือนกันนะ
เรากำลังส่งเสริมการใช้ “มูล” ต่างๆทำปุ๋ยและมีผลพลอยได้คือเราได้แก๊สชีวภาพ แล้วยังมีประโยชน์ใหญ่หลวงทางด้านสาธารณสุข คือ กำจัดอะไรที่มันสกปรกรกรื้อเหม็นๆ (คือให้มันเหม็นเสียที่เดียวตรงบ่อหมัก)
ป้องกันเชื้อโรค แถมยังคุยต่อว่าของคนเราก็ใช้ เมื่อวันพืชมงคลปีก่อนโน้น คุณ ทวี ชูทรัพย์ อธิบดีกรมราชทันฑ์ ยังมายืนเข้าแถวอยู่กับคณะทดลองเรื่องทำปุ๋ยหมัก
ได้ความว่าท่านให้นักโทษทำโครงการด้วย หมู่นี้ไม่ได้เจอกันเลย ไม่ทราบว่าโครงการดำเนินไปถึงไหนแล้ว ท่านอธิบดีเสิ่นผิงบอกว่าอย่างนั้นดีมาก ที่เสฉวนใช้แก้สชีวภาพในการหุงต้มมาก
ข้าพเจ้าถามว่าเมืองจีนทำนาหว่านหรือนาดำ ท่านบอกว่าทำนาดำทั้งนั้น นาดำโตเร็วดี เวลาเพาะต้นกล้าเขาไม่รอให้รากลงลึกนัก รีบถอนเร็วๆ รากจะได้ไม่กระทบกระเทือน ท่านอธิบดีเคยไปดูที่เกาหลี
เดี๋ยวนี้การทำนาเขาก้าวหน้าไปมาก สามารถร่นเวลาให้เร็วกว่าเดิมได้ถึง 10 วันการทำให้ข้าวโตเร็วนี่มีความหมายมากสำหรับประเทศอย่างจีนและเกาหลี เพราะอากาศเปลี่ยนเร็ว
ถ้าข้าวโตตอนลมหนาวเข้า เม็ดข้าวจะลีบ อย่างที่ทางภาคอีสานของจีนเป็นในปี 1979 ในปีนั้นข้าวสาลี ข้าวโพด ไม่มีเม็ดเลย เกิดความเสียหาย ประชาชนมีความทุกข์ยากมาก
ข้าพเจ้าคิดไปถึงหน้าหนาว พ.ศ. 2518 ปีนั้นหลังจากน้ำท่วมหนัก อากาศในกรุงเทพฯ และภาคกลางโดยทั่วไปหนาวขนาด
(น.51) ต้องใส่เสื้อหนาวกัน เม็ดข้าวไม่มีเสื้อหนาวใส่ เม็ดจึงลีบ ชาวนาเดือดร้อนกันมาก สาเหตุของข้าวลีบ บางคนก็บอกว่าไม่ใช่เป็นเพราะความหนาวเย็น แต่เป็นเพราะที่ดินขาดปุ๋ย เนื่องจากการกั้นเขื่อน
ทำให้ตะกอนแขวนลอยมากับน้ำที่เรียกว่า Alluvium ไม่มาทับถมทำความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ ทฤษฎีนี้ข้าพเจ้าคิดว่าไม่น่าเชื่อเพราะเรามีเขื่อนอยู่ตั้งนานแล้ว ข้าวเพิ่งมาเสียตอนปี’18 แล้วตอนหลังก็ไม่เห็นเสียอีกเลย
ท่านเสิ่นผิงกล่าวต่อไปว่า ความหนาวเย็นนี่เป็นศัตรูร้ายที่แก้ไม่ตก การขาดน้ำหรือน้ำท่วมเรายังใช้วิทยาการสมัยใหม่ควบคุมได้ แต่อุณหภูมินี่ไม่รู้ว่าจะควบคุมอย่างไร
ท่านอธิบดีบอกว่าเมืองจีนยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือเวลาฝนตกหนักๆ ลูกเห็บตกเยอะแยะ ลูกเห็บของจีนแต่ละลูหนักตั้งกิโลหนึ่งแน่ะ ข้าพเจ้าเลยบอกว่าเมืองไทยก็มีลูกเห็บตกในทางภาคเหนือของประเทศ
บางทีลูกเห็บก็ทำให้พืชผลเสียหายบ้าง ตัวข้าพเจ้าเองก็เกือบแย่เพราะลูกเห็บ ว่าแล้วก็เล่าเหตุการณ์นานมาแล้วที่เฮลิคอปเตอร์ถูกพายุลูกเห็บ สามารถลงได้ก่อนลูกเห็บลูกแรกตกเพียงสองนาที (เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าตื่นเต้นแบบกำลังภายในเพื่อสลับฉาก)
คุยถึงตรงนี้รถผ่านเทือกเขาข้าพเจ้าถามขึ้นว่านี่มันเทือกเขาอะไรกัน ท่านอธิบดีบอกว่านี่แหละคือภูเขา เอี้ยนซาน เป็นเทือกเขาประจำปักกิ่งซึ่งมีพรรณนาไว้ในหนังสือหลายเล่ม แต่ก่อนนี้เรียกปักกิ่งว่าเมือง เอี้ยนจิง มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในอดีตก็เรียกว่า มหาวิทยาลัย เอี้ยนจิง
(น.52)“เตี่ย” ของเราค่อยๆ พารถแล่นเรื่อยๆ ต่อไป จนถึงเขตภูเขา มองเห็นปล่องโรงงานพ่นควันฉุย ข้าพเจ้าเกิดนึกออกที่มีคนฝากมาถามว่า
เมืองจีนมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่สามารถดูดอากาศที่เป็นพิษเอาไว้ได้จริงหรือเปล่า อธิบดีหัวเราะแล้วบอกว่าถ้ามีก็ดีซิ ตอนนี้เมืองจีนเริ่มจะผจญปัญหา pollution เข้าเหมือนกัน เรา (ตอนนี้หมายถึงจีน)
พยายามขยายผลิตผลอุตสาหกรรม แต่ก็พยายามหามาตรการแก้ปัญหาอากาศเป็นพิษ อากาศเหม็นที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ ข้าพเจ้าบอกท่านอธิบดีว่าโรงงานที่รัฐควบคุมได้ก็ค่อยยังช่วยหน่อย
แต่ถ้าโรงงานที่ไม่ใช่เป็นของรัฐนี่ เมื่อให้เขาทำการป้องกันสารพิษที่ปล่อยออกมา มาตรการของเขาแพง เขาเลยเอาไปบวกกับราคาสินค้า ทำให้คนจนแย่ ท่านเสิ่นผิงบอกว่านั่นก็แย่เหมือนกัน
รถแล่นใกล้เข้าไปอีกจึงเห็นว่าเป็นโรงปูนซีเมนต์ ดูแล้วก็เหมือนโรงปูนซีเมนต์ที่ทุ่งสงที่เราไปอยู่ มีรถไฟเข้าออก รถไฟของเขาใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ไกลออกไปอีกช่างสำรวจกำลังขะมักเขม้นอยู่กับงาน
คนหนึ่งกำลังส่องกล้อง Theodolite คนหนึ่งถือไม้ Staff อีกคนหนึ่งกำลังจด filed book ข้าพเจ้าเลยนึกถึงอาจารย์ วิชา ขึ้นมาได้ก่อนไปเมืองจีนคุยกับอาจารย์เรื่องเมืองจีน
อาจาร์บอกให้ไปพัฒนาด้าน Photogrammetry ส่วนการสำรวจภาคพื้นดินนั้นเขาจะมีวิธีการพิเศษที่เป็นของจีนเองหรือเปล่า ข้าพเจ้าเคยเห็นในหนังสือ China Pictorial
เขาก็ใช้เครื่องไม้เครื่องมืออย่างที่เราใช้กันธรรมดาๆ นี่แหละ แต่ลองถามเขาดูเผื่อจะได้วิธีการของจีนโบราณ
(น.53) แล้วนำมาปฏิบัติได้ ถือเป็นเทคโนโลยีเหมาะสม นึกถึงเมื่อไปเชียงใหม่หลายปีมาแล้วเจอลุงคนหนึ่งแกเคยเป็น สล่า (นายช่าง) ทำเหมืองฝาย บอกเราว่าเดี๋ยวนี้แกเองเฒ่าแล้ว
ไม่ทำงานอีกต่อไปจึงมอบเครื่องมือให้ข้าพเจ้าไว้เป็นที่ระลึก เครื่องมือนั้นทำด้วยไม้เป็นรูปสามเหลี่ยม มีเชือกห้อยลงมาถ่วงด้วยตะกั่ว เราถือไม้นี้ส่องจะเห็นระดับที่เท่ากัน นี่เป็นวิธีการของนายช่างที่เป็นชาวบ้าน
ข้าพเจ้าเลยถามท่านเสิ่นผิงว่าของจีนมีวิธีอย่างไรบ้าง นอกจากเครื่องมือสมัยใหม่แล้ว ท่านเสิ่นผิงบอกว่า เรา (จีน) มีพวกหนุ่มสาวที่สร้างระบบชลประทาน ที่มณฑล เหอหนาน มีการสร้างคลอง ธงแดง (หงฉี)
ซึ่งชาวบ้านทำกันเอง ใช้วิธีเอากาละมังน้ำตั้งบนไม้ เอาขวดผูกเชือก ฯลฯ ฯลฯ...ฟังไม่รู้เรื่องเลย เลยบอกว่าอยากรู้เหมือนกันเวลากลับบ้านทำให้ดูหน่อย จะได้เห็นภาพท่านก็หัวเราะ
พอดีรถเข้าเขตกำแพงเมืองจีนทำเอาโล่งใจไปหน่อย การเขียนเรื่องอะไรยาวๆ เหล่านี้เป็นการฆ่าเวลาคอยรถแล่นเท่านั้น เมื่อรถไปถึงกำแพงเมืองจีน ไกด์ก็ถามว่าจะเข้าห้องน้ำไหม
ข้าพเจ้าหันไปถามพรรคพวกต่างก็บอกว่าไม่จำเป็น ก็เลยขึ้นดูเลย กำแพงเมืองจีนส่วนที่เราดูนั้นเรียกว่า ปาต๋าหลิ่ง อยู่ในอำเภอ เหยียนชิ่ง ซึ่งทางการจีนยุคปัจจุบันได้ซ่อมแซมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
กำแพงเมืองจีน (หรือในภาษาจีนเรียกว่า ฉางเฉิง) นั้นยาวทั้งหมด 6,700 กิโลเมตร เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างหนึ่งทีเดียว ได้ยินว่าเมื่อมนุษย์อวกาศออกนอกโลกไปแล้วหันกลับมามองโลกของเราอีก สิ่งสุดท้ายที่ได้เห็นบนโลกคือกำแพงเมืองจีนนี่แหละ
(น.54) ประวัติความเป็นมาในการสร้างกำแพงเมืองจีนนี้เล่ากันว่า ประมาณศตวรรษที่ 4-3 ก่อนคริสต์กาลเป็นสมัยที่เรียกว่า จ้านกว๋อ หรือ Warring States ประเทศจีนยังไม่รวมเป็นปึกแผ่น
ยังคุมอำนาจกันเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย ต่างฝ่ายต่างสร้างกำแพงป้องกันพื้นที่ยึดครองหรือเขตอิทธิพลของตนให้พ้นจากการโจมตีของแคว้นใกล้เคียง พอถึงราชวงศ์ ฉิน พระเจ้า ฉินสื่อหวังตี้ (ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล)
ได้รวมจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระองค์ได้เชื่อมกำแพงของแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกัน การสร้างกำแพงนี่ถือว่าเป็น “งานช้าง” ประจำรัชกาลทีเดียว โดยกล่าวว่าเพื่อป้องกันชนเผ่าศัตรูที่จะเข้ามารุกราน
บางคนเขาก็นินทาว่าท่านทำการครั้งนี้เพื่อล้างสมองคนไม่ให้คิดต่อต้านท่าน ให้เสียเวลาสาละวนอยู่กับการสร้างกำแพงเมืองจีน จะได้ไม่มีปัญญาคิดเรื่องอื่น อีกประการหนึ่งการถูกส่งไปทำกำแพงเมืองจีนนั้น
เหมือนเป็นการถูกกำจัดไปเลยเพราะเป็นงานที่ยากลำบาก อยู่บนยอดเขาสูง ราชวงศ์ที่ต่อจากราชวงศ์ ฉิน ก็ได้ซ่อมแซมกำแพงนี้ จนถึงราชวงศ์เหม็ง (คริสต์ศตวรรษที่ 14) กำแพงเมืองจีนสำเร็จบริบูรณ์ เท่ากันที่เราเห็นทุกวันนี้
หลังจากนั้น...สำหรับพวกเรา...รายการเดินทางไกลแบบลองมาซก็บังเกิดขึ้น...เขาให้เราเดินบนกำแพงซึ่งกว้างพอที่รถจะแล่นได้ แต่ก็คงแล่นไม่ได้เพราะบางตอนก็เป็นทางเรียบๆ ส่วนบางตอนก็มีชั้นบันได มีคนมาเที่ยวกันแน่นขนัด ดูแล้วคณะเราเดินอย่างเอาเป็น
(น.55) รูป 26 กำลังปีนกำแพงเมืองจีน
(น.55) เอาตายกว่าเพื่อน คณะท่านผู้หญิง คุณหมอดนัยบอกว่าขอรออยู่ข้างล่างดีกว่า ไม่ไปถึงยอดหรอก ข้างๆทางเดินเขาทำราวเหล็กสำหรับเกาะ คนที่มาเที่ยวบางคนนั่งบนท่อแล้วปล่อยตัวไหลปรู๊ดลงมา เล่นเอาอยากลองบ้าง
สำหรับขาขึ้นคนแก่ๆ ใช้วิธีเกาะราวและเดินถอยหลังขึ้นไป ป้าไลบอกว่าทุ่นแรงดี เมื่อเดินแกมวิ่งขึ้นไปถึงป้อม (ซึ่งมีอยู่เป็นระยะๆ) สุดเขตที่เขาบูรณะเอาไว้ก็เริ่มดูวิวชมทิวทัศน์ได้ ตอนที่เดินขึ้นนั้นใจคิดอยู่ตลอดเวลาว่า
ถ้ากำแพงเมืองจีนนี้อยู่เมืองไทยคงจะเป็นกรรมของพวกเรา เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ โปรดการออกกำลังกายด้วยการวิ่งขึ้นลงบันไดมาก ท่านเห็นกำแพงเมืองจีนนี่คงโปรดแย่เลย เราก็ต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงตามเสด็จ
(น.56) ขึ้นไปบนนั้นอากาศสบายวิวภูเขาสวยดี มีคนอธิบาย (บอกว่า “คน” เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จะเป็นไกด์ อาจารย์สารสิน หรืออื่นๆ...ก็ไม่ได้มอง) ว่ากำแพงเมืองจีนนี่ยาวถึง 6,700 กม. มีสาขาแยกเป็นช่วงๆ
ออกไปหลายสาย แต่สายใหญ่ๆ นั้น ถ้านับจากปักกิ่งไปทางทิศตะวันตกก็ไปถึงมณฑลกานซู ทางตะวันออกไปจดทะเลแถวๆ เหอเป่ย ทีเดียว ขึ้นไปบนป้อมมองไปทางตะวันตก ก็เป็นเขตเหอเป่ย ทางตะวันตกเป็นมณฑลซานซี
ส่านซี และจะไปถึงทะเลทรายโกบี รวมความว่าผ่านมณฑล 5 มณฑล และเขตปกครองตนเองถึง 2 เขต มองออกไปห่างกำแพงเมืองจีนที่เรากำลังยืนอยู่มีซากป้อมเล็กๆ ซึ่งเขาบอกว่าแต่ก่อนให้คนไปอยู่ตรงนั้น แล้วส่งข่าวบอกจำนวนศัตรู
ด้วยสัญญาณไฟและสัญญาณควัน ดูๆ แล้วข้าพเจ้าก็ขำอีกเพราะนึกถึงหอคอยสูงชื่ออะไรก็ไม่ทราบ ลืมไปแล้วอยู่ทางใต้ของฝรั่งเศสที่เราไปดูมาเมื่อปีก่อน ซึ่งไกด์อธิบายว่าสำหรับทหารวิ่งขึ้นไปดูกำลังข้าศึก ตอนนั้นเรายังนึกเลยว่าถ้าวิ่งขึ้นไปแล้วคงตาหูลาย เห็นข้าศึกคนเดียวเป็น 2 คน 3 คน เป็นแน่แท้
“ปาต๋าหลิ่ง” เป็นป้อมซึ่งเป็นด่านป้องกันกรุงปักกิ่ง กำแพงตรงนี้ (ดูเหมือนว่าจะทำในสมัย เหม็ง) ทำด้วยอิฐก้อนโตมาก มองดูเหมือนแท่งหิน ทุกๆ ระยะ (จะประมาณ 200-300 เมตร) จะมีหอ 2 ชั้น กำแพงสูงโดยเฉลี่ย 7.8 ม. กว้าง 5.8 ม.
(น.57) รูป 27 ส่วนหนึ่งของผู้พิชิตกำแพงเมืองจีน
(น.57) เราสงสัยว่า อิฐเหล่านี้ก็ใหญ่โตมโหฬาร แล้วสร้างบนเทือกเขาสูงทั้งเทือก จะขนขึ้นมาอย่างไร ที่เขมรสร้างปราสาทหินยังไม่สูงเท่านี้ (ที่นี่สูง 400 ม.) เขาบอกว่าเขาขึ้นมาเผาอิฐกันบนภูเขาเลยสำหรับปูนที่ใช้ฉาบนั้นจีนใช้ข้าวเหนียวผสมปูน
และผสมด้วยดินพิเศษอย่างหนึ่ง ขณะที่อยู่บนกำแพงเรือบินบินไปบินมา บางคนบอกว่าเขามาโปรยยาฆ่าหญ้า บางคนบอกว่าเขามาเล่นหนังต่างหาก
พอได้เวลาสังเกตเห็นคุณจาง ซี่งเป็นพวกกรมพิธีการทูตจีนชักทำท่ากระวนกระวาย แสดงว่าถึงเวลากลับแล้ว ตอนขาลงก็ต้องต้องระวังหน่อย เพราะหลายตอนที่บันไดชำรุด ข้าพเจ้าเดินคุยกับล่าม
(น.58) รูป 28 ขาขึ้นกำแพงเมืองจีน
รูป 29 กำแพงเมืองจีน โปรดสังเกตราวบันไดที่ใช้เกาะซึ่งมีคนหนึ่งรูดลงมาเป็นการทุ่นแรง
(น.59) รูป 30 กำแพงเมืองจีน
(น.59) อีกคนที่ชื่อคุณ อู๋หุ้ยชิง หรือที่เราเรียกกันว่า พี่อู๋ ข้าพเจ้าร้องทักพี่อู๋ตั้งแต่วันวานที่วังอนุชน แต่ไม่มีเวลาพูดกันมากเพราะพี่อู๋เป็นล่ามรถคันหลัง เราเคยพบกันเมื่องครั้งพี่อู๋เป็นล่ามมาในขบวนของท่าน
เติ้งเสี่ยวผิง เมื่อ 3 ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าจำเขาได้เพราะเขาเป็นช่วยแปลให้ข้าพเจ้า ตอนนั้นพี่อู๋ยังไม่ได้แต่งงาน ตอนนี้มีลูกชายคนหนึ่งอายุขวบกว่าแล้ว สามีเคยทำงานสถานทูตจีนในไทย พี่อู๋ไม่เคยอยู่เมืองไทย ที่เรียนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย
Next >>