<< Back
" ย่ำแดนมังกร วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2524 "
(น.60) รูป 31 กำแพงเมืองจีน
รูป 32 กำแพงเมืองจีน
(น.61) ปักกิ่ง (เป็นศิษย์อาจารย์ชื่อ สิทธิชัย) เพราะสนใจ ขณะนี้ทำงานอยู่กรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศ ไม่ค่อยมีโอากาสใช้ภาษาไทยเท่าไรนักนอกจากพยายามอ่านหนังสือพิมพ์ไทยอยู่เสมอ บอกว่ารู้สึกว่าภาษาไทยยากมาก
ตอนเรียนก็คิดว่าง่าย เวลาใช้งานจริงมันไม่ง่ายเหมือนที่คิด เมื่อเดินลงมาถึงที่ซึ่งคณะท่านผู้หญิงคอยอยู่ (โปรดสังเกตว่าป้าจันและป้าไลปีนกำแพงเมืองจีนไปถึงยอด ไม่อยู่ในคณะรอ) ก็ถ่ายรูปร่วมกัน มองลงไปเห็นคนขี่อูฐถ่ายรูปกัน
ข้าพเจ้าอยากขี่อูฐบ้าง แต่ไม่มีเวลา พยายามถ่ายรูปให้ติดอูฐ ดูเหมือนว่ารูปนั้นก็เสีย จำต้องใช้ปากบรรยายเอาเองว่า อูฐตัวนั้นน่ารักกว่าอูฐที่อื่น เป็นอูฐสองตะโหงก ขนยาว แต่ดูไม่สกปรกใครก็ไม่รู้บอกว่าเป็นอูฐของมองโกล
เดินลงจากกำแพงเมืองจีนแล้วเขาให้เข้าไปนั่งในห้องพัก เลี้ยงน้ำส้มและผลไม้ตามธรรมเนียม ยังมีธรรมเนียมอีกอย่างคือจะต้องเอาผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นมาเช็ดมือ แม้แต่ระหว่างการเลี้ยงอาหารก็ต้องเช็ดมือหลายหน
เรานั่งคุยกับภรรยาท่านเสิ่นผิงซึ่งพูดภาษาฝรั่งเศสได้ เพราะเคยอยู่สวิส 4 ปี เลยไม่ต้องใช้ล่าม! แล้วออกไปข้างนอกมีที่ขายของ เห็นรูปเขียนรูปม้าเขียนด้วยหมึกจีนบนผ้าชาวบางๆ เขียนได้มีชีวิตชีวาดีมาก
และยืมเงินคุณกัลยาก่อนเพราะตัวเองยังไม่ได้แลกเงินจากดอลล่าร์ (ต้องใช้ตั๋วเงินจีน คนต่างชาติเขาไม่ให้ใช้เงินจีน ให้ใช้เป็นใบแทนเงิน (Foreign exchange
(น.62) certificate) หรือ เหรินเหมินปี้ (RMB) เพื่อความปลอดภัยตั้งแต่ไปเมืองจีนเคยเห็นเงินจีนครั้งเดียวที่ใครเขาทอนภุชชงค์มา) ปรากฏว่าลืมคิดเงินและคูณผิด มาคิดทีหลังตอนใช้เงินเขาเพิ่งรู้ว่ารูปนี้แพงน่าดู
ตอนเอามาให้น้องเล็กๆ หัวเราะใหญ่ว่าเที่ยวนี้น้องเล็กได้ของฝากแพงๆ เพราะคนฝากคิดเลขผิด ทิพย์ก็ซื้อผ้าปักมาฝากน้องเล็กเพราะทิพย์คิดเงินผิดเหมือนกัน ข้าพเจ้านั้นรู้สึกโมโหว่าเสียเกียรติด้วย โดยปกติเรื่องเงินๆ ทองๆ นี่ไม่เคยคิดผิดเลย ก่อนซื้ออะไรคำนวนเปลี่ยนอัตราแลกเงิน และคิดเงินทอนเป็นอย่างดี
เราลาไกด์เพื่อไปชมสุสานราชวงศ์เหม็ง ซึ่งอยู่ระหว่างทางกลับ เมื่อขึ้นรถ ท่านเสิ่นผิงอธิบายว่า แถวนี้แห้งแล้งมาก ฝนจะตกเฉพาะเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ปีหนึ่งๆ ก็ประมาณ 700 มม. ต้นไม้ที่เห็นนั้นปลูกมาประมาณ 20 ปีนี้ มีต้นไหวและต้นหลิวที่โตเร็ว แต่เนื้อไม้ไม่ดี
รถแล่นผ่านหมู่บ้าน ท่านเสิ่นผิงบอกว่า แถวนี้เป็นคอมมูน ฮันโช่ว ชาวบ้านประกอบอาชีพทางการเกษตร จะปลูกธัญพืชต่างๆบางคนก็ประกอบอาชีพเป็นกรรมกรในโรงงานของคอมมูนเอง โรงงานพวกนี้ผลิตเครื่องจักรกลทางการเกษตร ซ่อมเครื่องจักร และเล่าว่าคอมมูนใหญ่ๆ บางแห่งมีคนถึง 7-8 แสนคน มีโรงเรียนมัธยมและโรงเรียนอาชีวะของคอมมูนด้วย
ดินแถบนี้เป็นดินสีแดงคล้ายๆ กับดินลูกรังบ้านเรา มีหินปนอยู่มาก พูดถึงการใช้สัตว์ไถนาและพาหนะเขาอธิบายว่าทางเหนือนี้ใช้วัว ม้า ลา ภาคกลางนิยมใช้วัว และทางใต้นิยมใช้ควาย
(น.63) รถแล่นเข้าเขตที่มีสุสาน เราจะมองเห็นได้ตามเขตภูเขา มีเก๋งจีนเป็นเครื่องหมายว่าตรงนี้มีฮวงซุ้ย ทางเข้าฮวงซุ้ย ติ้งหลิง สองข้างทางเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น สิงโตแบบ “ไลอ้อน”
(ไม่ใช่สิงโตเมืองจีนแบบอับเฉาเรือที่มาตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ ในเมืองไทย) มีเสือ อูฐ 2 ตะโหงก ช้างนั่ง ช้างยืน ม้า ตอนที่เข้าใกล้สุสานทำเป็นรูปคนข้าราชการฝ่ายบู๊ ฝ่ายบุ๋น ทั้งตงฉิน กังฉิน พร้อมมูล รถผ่าน ฉางหลิง ซึ่งเป็นสุสานที่ใหญ่ที่สุดแต่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมา
เมื่อถึงหน้าประตูมีผู้ดูแลสุสานมารับ พาเข้าไปในห้อง “บรรยายสรุป” ซึ่งเเต็มไปด้วยขนมกับผลไม้ “มหาดเล็กหญิง” ซึ่งเป็นคนเสิร์ฟน้ำประจำทั้งที่บ้านพักและหิ้วตามไปที่ต่างๆ ก็หันมายิ้มหลิ่วตากับข้าพเจ้าทีหนึ่งก่อน
แล้วหันไปสาละวนอยู่กับการจัดน้ำหวานให้พวกเรา ไกด์อธิบายว่าบริเวณที่นี้เป็นสุสานของจักรพรรดิ 13 องค์ใน 16 องค์ ของราชวงศ์เหม็ง สร้างระหว่าง ค.ศ. 1365 – 1641 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 277 ปี สุสานของจักรพรรดิองค์แรกคือ
พระเจ้า หงอู่ อยู่ที่ นานกิง จักรพรรดิองค์ที่สองคือพระเจ้า เจี้ยนเหวิน เกิดความวุ่นวายในแผ่นดินเรื่องแย่งชิงบัลลังก์ พอเป็นจักรพรรดิได้ 4 ปีก็ฆ่าตัวตาย ของจักรพรรดิองค์ที่ 7 ไปอยูที่ เซียงซาน
ส่วนสุสานจักรพรรดิ หย่งเล่อ (Yunglo) องค์ที่ส่งขันทีชื่อ เจิ้งเหอ (Cheng-Ho) มาแถวๆ Southeast Asia และมหาสมุทรอินเดียนั้นยังมิได้เปิดศึกษา
สุสาน ติ้งหลิง นี้เป็นของจักรพรรดิองค์ที่ 14 หรือพระเจ้า ว่านลี่ พระองค์ครองราชย์ใน ค.ศ. 1573 เมื่อพระชนม์ได้ 10 พรรษา เริ่มสร้างสุสานตอนพระชนม์ได้ 22 พรรษา สร้างเสร็จ
(น.64) รูป 33 ในสุสานติ้งหลิง
(น.64) ตอนพระชนม์ชีพได้ 28 พรรษา จักพรรดิองค์นี้ครองราชย์อยู่นานที่สุดใน 16 พระองค์ สวรรคตใน ค.ศ. 1620 สุสานนี้ขุดพบใน ค.ศ. 1956 ค้นใน 1 ปี วัตถุโบราณที่ค้นได้ 3,000 กว่าชิ้น มีเพชรพลอย มงกุฎ รวมทั้งเครื่องลายคราม หรือเครื่องถ้วยจีน เขาบอกว่าเตายังอยู่ที่เมือง จิ่งเต๋อเจิ้น
แล้วพวกเราก็พากันเดินกันเพื่อเข้าชมสุสาน สุสานมีกำแพง 2 ชั้น พอเข้าประตูแรกข้างในเป็นสวนผลไม้ มีแอปเปิ้ล พลับ เดินเข้าประตูมีที่ตั้งเก้าอี้รับจ้างถ่ายรูป ให้มี background
เป็นสุสานแถมมีดอกไม้ประดิษฐ์แดงๆ เหลืองๆ ฟ้าๆ ใส่แจกันวางไว้ข้างๆ เราเดินเข้าไปในสุสานต่อไป ก่อนหน้านั้นยังไปเจออะไรต่อมิอะไร
(น.65) อีกหลายอย่าง แต่อ่านที่จดไว้ไม่ออก ภัณฑารักษ์บอกว่าไปพบศิลาจารึกซึ่งเขียนว่าทางเข้าสุสานมีสองทาง คนสมัยใหม่เลยขุดเข้าไปได้ กำแพงโบราณทำด้วยหินจับดูเย็นมากเลย
เขาบอกว่าแต่เดิมประตูใช้อิฐปิดตาย นักสำรวจเอาอิฐออกก็เห็นประตูหินอ่อนหนักบานละ 4 ตัน ข้างบนเป็นสำริดหนัก 10 ตัน เขาเอากระจกปิดประตูหินอ่อนเอาไว้ เป็นการเก็บรักษาอย่างดี หินนี้มาจากภูเขา ฝานซาน ในมณฑลหูเป่ย
ข้างในห้องเขาแสดงภาพตอนที่พบสุสาน ที่เพดานสุสานเขาเอาลวดตาข่ายคลุมไว้เพื่อความปลอดภัยเพราะเก่าแล้ว ในห้องแรกนี้มีอาสนะหินอ่อนของพระเจ้าแผ่นดิน และพระมเหสีซึ่งจะดูออกได้ว่าอาสน์ไหนเป็นของใคร โดยดูว่ารูปที่สลักเป็นรูปอะไร ถ้าเป็นรูปมังกรก็เป็นจักรพรรดิ
รูปหงส์เป็นของมเหสี แต่ดูไปดูมามังกรกับหงษ์เกิดหน้าตาเหมือนกันเข้าไปอีก เลยไม่ทราบว่าตัวไหนเป็นตัวไหน ในห้องนั้นมีโอ่งมังกรใส่น้ำมันพืชและมีเชือกทำเป็นแบบไส้ตะเกียงจุดเอาไว้ โดยถือคติว่าจะต้องมีแสงสว่างอยู่ตลอดเมื่อไปค้นพบนั้นเหลือน้ำมันอยูครึ่งโอ่ง
อีกห้องเป็นโลงที่ไว้พระศพจักรพรรดิและพระมเหสี 2 องค์ มีหีบสมบัติอีก 16 หีบ หีบทั้งหมดเป็นหีบจำลอง เพราะของจริงผุพังไปแล้ว เขาบอกว่าโลงทำด้วยไม้ หนานมู่ ซึ่งเป็นไม้ชนิดที่ดีที่สุด
(น.66) รูป 34 สุสานติ้งหลิง บัลลังก์หินอ่อนขาวๆ นั้นเป็นของจักรพรรดิเพราะมีรูปมังกร
(น.66) อีกห้องหนึ่งมีที่สำหรับวางโลงศพ เขาบอกว่าตอนที่เอาศพจักรพรรดิและมเหสีเข้ามานั้นเป็นหน้าฝนมีน้ำมาก เลยเอาเข้าไปไว้ในห้องไม่ได้ (จักรพรรดิมีมเหสี 2 องค์ องค์แรกตายก่อนจักรพรรดิ 3 เดือน องค์ที่สองตายก่อน 9 ปี) ในสุสานนี้ใช้ไม้ทำเป็นรูปคนและม้าเอาไว้ด้วย
(น.67) รูป 35 บริเวณสุสาน
(น.67) เมื่อออกจากสุสานเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่เก็บของต่างๆจากสุสานไว้เป็นบางส่วน เช่น บันทึกประวัติทำด้วยไม้หนานมู่เป็นของจริง เครื่องใช้ต่างๆ เครื่องประดับพระเศียรมเหสี อ่างทองสำหรับพระจักรพรรดิล้างหน้า
แท่งเงินแท่งทอง มงกุฎมเหสีทำเป็นรูปมังกร 10 ตัว ทำด้วยเส้นทอง หงส์ 9 ตัว ทำด้วยขนนกชนิดหนึ่ง มงกุฎจักรพรรดิทำด้วยทองเส้นเดียวขดกันไปมา
เขาบอกว่ายังมีอะไรต่อมิอะไรน่าดูอีกมาก แต่หมดเวลาเสียแล้วเราลาภัณฑารักษ์ นั่งรถกลับบ้านพัก ขากลับชักง่วงนอนกันทุกคน คุณดำรงก็บ่นว่าง่วง ข้าพเจ้าพยายามหาเรื่องคุยจะได้แก้ง่วง ท่านเสิ่นผิงเล่าเรื่องอ่างเก็บน้ำ ซือซานหลิง ที่อยู่ใกล้เคียงว่า
(น.68) มีน้ำไม่พอ ตอนสร้างข้าราชการและทหารมาสละแรงงานช่วยกันทำ ท่านประธานเหมาก็เคยมา ท่านโจวเอินไหลก็เคยมา รัฐมนตรีต่างๆ ก็มาช่วยกัน ตั้งแต่ช่วงก้าวกระโดดไกล (ค.ศ. 1958 – 1960) เป็นต้นมา
ได้พัฒนาเรื่องคลองชลประทานที่ส่งน้ำไปปักกิ่งและจะส่งน้ำต่อจากปักกิ่งไปเทียนสิน เป็นคลองกว้างจนเรือขนาด 300 – 500 ตันแล่นได้ คลองนี้จะไปเชื่อมกับคลองใหญ่ที่ขุดสมัยราชวงศ์ สุย ในศตวรรษที่ 6 จากปักกิ่งไปหังโจว
ลำเลียงของ เช่น ข้าวจากภาคใต้ไปปักกิ่ง ต่อมาคลองนี้ไม่ได้ใช้ เลยตื้นเขิน ใช้ได้เฉพาะบางตอน การสนทนายังไม่ได้สิ้นสุดแค่นี้ แต่มันชักง่วงมากขึ้น สมองเลยสั่งน้อยลงๆ... คณะสำรวจ (ไม่ทราบคณะเดิมรึเปล่า) ก็ยังอยู่ เที่ยวนี้กำลังทำ plane table แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ซักถามอะไรเพิ่มเติมอีก
รถไปถึงบ้านก็รีบรับประทานอาหารกลางวันกัน อาหารกลางวันวันนี้มีกระเพาะวัว ไข่เยี่ยวม้า พริกฝรั่งผัดไข่ แฮม ไก่ผัดพริก แกงตะพาบน้ำ เนื้อน้ำมันหอย ผัดหอมหัวใหญ่ ขนม ซุปไข่ ปลาดำต้มยำ ของหวานมีแตงโม
ถึงเวลาบ่ายสองโมงผู้ที่มารับคือมาดามเหอหลี่เหลียง ซึ่งเป็นภรรยาของ ฯพณฯ หวางหัว ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรี มาดามเหอเองเป็นรองอธิบดีกรมองค์การและการประชุมระหว่างประเทศ
กฎหมาย และสนธิสัญญา กระทรวงต่างประเทศ มาดามพูดอังกฤษได้ดีและเป็นคนที่เข้ากับแขกต่างชาติได้เก่ง ข้าพเจ้าเคยพบมาดามเมื่อเกือบ 3 ปีแล้ว เมื่อคราว ฯพณฯ เติ้งเสี่ยวผิง มาเยือนประเทศไทย ครั้งนั้น
(น.69) ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับท่านเติ้งข้าพเจ้าคุยกับมาดามเหอหลี่เหลียง โดยมีพี่อู๋เป็นล่าม
คราวนั้นเราคุยกันถึงงเรื่องมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษข้าพเจ้าเล่าให้มาดามฟังถึงเรื่องที่เรามีการจักสานด้วยไม้ไผ่ และถามว่าข้าพเจ้าเคยเห็นงานฝีมือของชาวจีนที่ทำด้วยไม้ไผ่ มีความสวยงามมาก อยากทราบว่าใช้ไม้ไผ่ชนิดใดและขอดูตัวอย่าง
(ข้าพเจ้าหมายถึงท่อนไม้ไผ่) อีกไม่นานหลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้รับต้นไผ่ (เป็นๆ) เป็นจำนวน 2 เข่ง น่าเสียดายที่ต้นไม้ไผ่นี้ตายไปเป็นส่วนมากคงเหลืออยู่เพียงสองสามต้น จึงมอบให้กรมทางไปปลูกในสวนไผ่ของกรมทาง
มาดามบอกว่าขณะนี้ ฯพณฯ หวางหัว ป่วยอยู่โรงพยาบาลจึงมารับข้าพเจ้าไม่ได้ พอนั่งในรถมาดามเหลือบไปเห็น “โพย” ที่ข้าพเจ้าจดไว้พูดภาษาจีน รวมทั้งหนังสือภาษาจีนเลยเอามาดู และพูดสนทนาในนั้นเล็กน้อย หลังจากนั้นก็คุยกันกับเรื่องต่าง
ๆ เป็นภาษาจีนบ้างภาษาอังกฤษบ้าง จนถึงโรงงาน Art and Craft Factory ผู้ควบคุมโรงงานมารับพาเข้าห้องบรรยายสรุปซึ่งจัดไว้อย่างสวยงามด้วยสิ่งของต่างๆ ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นในโรงงาน เมื่อเข้าในห้องนั่งเรียบร้อยแล้วเขาบอกว่ายินดีต้อนรับ
และเล่าว่าโรงงานนี้สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1960 เป็นโรงงานศิลปหัตถกรรมมีคนงาน 1,300 คน เป็นหญิง 52% ครึ่งหนึ่งเป็นคนหนุ่มสาว ผลิตภัณฑ์สำคัญมี ถมปัด (Cloisonné) ลงยา แกะสลักหยก งาช้าง เครื่องเขิน เขียนภาพข้างในขวด ปั้นแป้งข้าวเหนียวเป็นตุ๊กตา สานเส้นเงิน และอื่นๆ
(น.70) รูป 36 กำลังจดชื่อหินที่ใช้ทำเครื่องถมปัด จดได้แต่ชื่อภาษาอังกฤษ ไม่ทันจดภาษาจีน ของ 3 ชิ้นบนถาดคือถมปัดที่ทำเสร็จแล้ว
(น.70) งานเหล่านี้เป็นศิลปะเก่าหลายร้อยปีมาแล้ว ฉะนั้นการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ในโรงงานนี้จึงเป็นการสืบทอดศิลปะเก่า สำหรับราคานั้นของใหม่และของเก่ามีราคาไม่แตกต่างกันนัก
เพราะของใหม่ก็ทำยากด้วยฝีมืออันประณีต ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นใหม่นอกจากจะเลียนแบบของเก่ายังมีการสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการใหม่ๆ เช่นการก่อสร้างทางน้ำ การก่อสร้างทางรถไฟ
(น.71) ผลงานอันเป็นที่ภาคภูมิใจของโรงงานคือของขวัญที่จีนมอบให้แก่สหประชาชาติ คืองาช้าง 8 ชิ้นที่นำมาต่อกันแล้วสลัก ของชิ้นนี้ใช้คน 30 คน ทำในเวลา 1 ปี (งาช้างเวลาต่อเข้าด้วยกันแล้วจะกลายเป็นชิ้นเดียวกันใช้สลักได้)
จีนไม่มีงาช้าง ฉะนั้นต้องสั่งซื้อจากแอฟริกา การที่ต้องทำงาช้างมาก เพราะงานี่แตกตรงไหนก็เชื่อมเข้าใหม่ได้ แก้ไขได้ไม่เสียเลยเหมือนหยก ฉะนั้นจึงใช้สอนนักเรียนได้ ผลิตผลของโรงงานนี้ส่งขายต่างประเทศถึง 92 ประเทศ
ภายในผลงานทั้งหมดข้าพเจ้าสนใจงานถมปัดมากที่สุด มันน่าสนใจที่ว่าเขามียาสีหลายสีขณะที่ของเรามีอยู่ไม่กี่สีในเวลานี้ เขาเอาก้อนวัตถุที่ใช้ทำน้ำยาใส่ตู้ มีชื่อจีนและอังกฤษกำกับข้าพเจ้าจึงจดชื่อภาษาอังกฤษเอาไว้
เช่น malachite, white jade, turquoise, crystal, black jade, jasper (เป็นสีเขียว), lapislazuly, coral (เขาบอกว่าแพงที่สุด เพราะปะการังสีแดงนั้นหายากมาก),
amber, rose quartz, aventurine, sea shell, yellow jade, gold star, agate, tiger eye, Hsia jade หลังจากนั้นไปดูของในตู้โชว์ มีของชิ้นงามๆ หลายชิ้น
เราได้ไปดูในห้องแกะสลักงาช้าง เขามีคนทำหน้าที่ออกแบบคนหนึ่งและมีคนที่เขียนให้บนงาให้ช่างตัดหรือแซะตรงไหนออก ทำรูปโกลนก่อน แล้วมีคนแต่งรายละเอียดทำลวดลายตามที่มีคนเขียนให้ เครื่องมือที่ใช้ทำมี 2 ประเภท
คือใช้เหล็กแกะอย่างสมัยก่อนลักษณะของเหล็กแกะของจีนคล้ายๆ กับเหล็กแกะที่เราใช้แกะโลหะ แกะแร่เครื่องถม กรอบพระ ตลอดจนป้ายชื้อโลหะ มีขนาดต่างๆ
(น.72) รูป 37 สลักงา
Next >>