Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2524 "

(น.143) จากปักกิ่งไปซีอาน
วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2524

(น.144) วันนี้รีบตื่นมาตั้งแต่ตีห้าเพื่อดูความเรียบร้อยข้าวของต่างๆ ต่อจากตอนกลางคืน ลงไปรับประทานอาหารเช้า วันนี้มีปาท่องโก๋ ข้าวต้ม ปลากระป๋อง ขนมจีบ ผักดอง น้ำเต้าหู ฯลฯ วันนี้เราจะจากปักกิ่งไปซีอาน จึงต้องร่ำลาทุกๆ คนที่ปักกิ่ง ข้าพเจ้าพยายามขอบใจมหาเล็ก และชาวที่ที่บริการพวกเราทุดๆ คนให้ครบ (แต่ก็ไม่ครบ) อยู่ที่เรือนเตี้ยวหยูว์ไถนี้สะดวกสบายทุกประการ สำหรับเจ้าหน้าที่ประเภทอื่นนั้น ทุกคนตามเราไปด้วย นอกจากคุณ จุงเหวิน ซึ่งจะต้องอยู่คอยรับคณะของพลเอก เสริม ณ นคร นัยว่าคุณ จุง เป็นคนเก่งในเรื่องภาษาทหาร ตอนจะออกเดินทาง มหาดเล็กและชาวที่ทั้งหลายก็ได้มายืนคอยส่งอยู่หน้าประตูเรือน เราออกจากเรือนแปดโมงเช้าพอดี ผู้ที่มารับข้าพเจ้าคือท่านหันเนี่ยนหลง ระหว่างทางเราก็คุยกันถึงเรื่องต่างๆ ร้อยแปดพันประการ จำได้บ้างไม่ได้บ้าง เท่าที่จำได้เราคุยกันเรื่องหนังสือภาพของจีนว่าทำได้ดี คนต่างชาติก็ได้รู้จักเรื่องเมืองจีนจากรูปเหล่านี้ นอกจากนั้นท่านหันได้คุยถึงปัญหาบ้านเมืองจีนว่าขณะนี้การพัฒนาประเทศจีนบางแห่งก็ดีบางแห่งก็ไม่ดี มีปัญหาอยู่มาก เมื่อพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษานั้นจีนจะต้องคิดถึงเรื่องปัญหาประชากรซึ่งมีอยู่ถึงพันกว่าล้านคน แม้ว่าขณะนี้จีนจะมีโครงการคุมกำเนิด (ถ้าฟังไม่ผิดดูเหมือนจะมีการตกรางวัลคนที่มีลูกคนเดียว) คนจีน 800 กว่าล้านคนเป็นเกษตรกร ฉะนั้นจะต้องพัฒนาการเกษตรให้ดี การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนให้ดีขึ้นนั้น อาจจะต้องสู้อีกกว่าครึ่ง

(น.145) ศตวรรษทีเดียว หลังจากนั้นท่านหันก็เล่าถึงเมืองต่างๆ ที่ข้าพเจ้าจะได้ดูบอกว่า เฉิงตู เป็นเมืองเก่า มีกวีจำนวนมากเขียนบทกลอนพรรณนาเอาไว้ ท่านยกตัวอย่าง มีกวีสมัยฮั่นชื่อ หยางฉยุง (เขียนถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้) หลี่ไป๋ ไป๋จูอี้ ตู้ฝู่ กวีสมัยราชวงศ์ ถัง และ ซูตงโพ กวีสมัยซ้อง ที่ เฉิงตู (นครหลวงของมณฑลเสฉวน) ยังมีที่พักของ ตู้ฝู่ และ หลี่ไป๋ จีนมีหนังสือรวมบทกวีของกวีหลายสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์ถัง ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าเคยอ่านบทกวีจีนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ทราบว่าเขาจะแปลได้ตรงหรือไม่ แต่ก็เห็นว่ามีความไพเราะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทที่กล่าวถึงธรรมชาติ มีความละเอียดอ่อนมาก สำหรับมณฑลเสฉวนนั้นท่านว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ฯพณฯ เติ้งเสี่ยวผิง ก็เป็นคนเสฉวน ท่านนายกจ้าวจื่อหยางก็มามีชื่อเสียงที่เสฉวน เสฉวนมีทรัพยากรมาก มีแร่มาก ดีสำหรับการยกระดับของประชาชน ซึ่งต้องให้เศรษฐกิจพัฒนา อากาศที่เฉิงตูดีมาก ที่ซีอาน เฉิงตูอากาศไม่หนาว ที่ซีอานก็มีของน่าดูหลายอย่าง เช่น หุ่นจำลองรูปทหารจากสุสาน คนโบราณสร้างเก่งมา สมัยนี้แม้จะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ยังทำอะไรอย่างเก่าไม่ได้ ข้าพเจ้าถามว่า การที่วัฒนธรรมบางอย่าง (หรือวิชการ) ที่ไม่ส่งผ่านถึงคนรุ่นหลังและไม่ได้มีการพัฒนา จะเป็นเพราะคนจีนมักจะหวงวิชาใช่หรือไม่ ท่านหันบอกว่าเดี๋ยวนี้ยังค่อยยังชั่วขึ้นหน่อย ไม่ค่อยหวงวิชาเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ข้าพเจ้าเล่าให้ท่านหันฟังถึงว่าคนไทยก็มีการหวงวิชาเหมือนกัน ส่วนมากเขาจะบอกว่าวิชาเกิดแต่ตัวเขา ฉะนั้นจะต้องตายกับ

(น.146) เขา มาวันหนึ่งข้าพเจ้าคุยกับเจ้านายองค์หนึ่ง ท่านเป็นผู้รู้วิชายาไทยโบราณ มีนักวิชาการหลายคนมาขอตำราของท่าน แต่ท่านไม่สอนให้ บอกว่าจะสอนแต่ลูกหลาน และท่านก็บอกว่า ถ้าข้าพเจ้าอยากเรียนท่านจะสอน ถ้ามีเวลา แล้วท่านให้เหตุผลว่า ตำรายาหรือวิชาการต่างๆ นั้นเปรียบเสมือนดาบสองคม ถ้าไม่ระวังแล้วอาจจะเป็นผลร้ายได้ ยกตัวอย่างว่า ยาชนิดหนึ่งใส่ตัวยาสามชนิดแต่หาตัวยาได้เพียงสองชนิด คนที่สะเพร่าจะปรุงยาใส่เพียงสองชนิดเท่านั้น ที่ถูกแล้วตำรับไหนหาตัวยาไม่ครบก็ไม่ทำยาตำรับนั้นเสียเลย (เพราะยาบางอย่างฆ่าพิษซึ่งกันและกัน) ที่ว่าสอนแต่ลูกหลานนั้นเป็นเพราะคนที่ใกล้ชิดย่อมรูจักนิสัยใจคอกัน พอดีรถเราเข้าในสนามบิน ข้าพเจ้าลาท่านหันเนี่ยนหลงและคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ตามเราไปด้วยรวมทั้งข้าราชการสถานทูตคุณหญิงตุ๊กตา และคุณเชต ตนสุดท้ายที่ข้าพเจ้าไม่ลืมที่จะร่ำลาคือ “เตี่ย” เป็นอันว่าพวกเราทั้งหมดก็อำลากรุงปักกิ่ง นครหลวงแห่งแผ่นดินจีนอันกว้างใหญ่ เครื่องบิน CAAC เจ้าเก่าคราวนี้คึกคักดีขึ้นอีกเป็นกองเพราะมีผู้โดยสารชาวจีนขึ้นเพิ่มขึ้น ในห้องที่ข้าพเจ้านั้งนี้มีท่าน ร.ม.ช. หวังโย่วผิง อยู่ด้วย ท่านหวังเป็นคนที่แทนท่านมาดาม คุณพี่ของข้าพเจ้า ท่านเป็นคนชานตุง ท่านเคยเป็นเอกอัครราชาทูตจีนประจำมาเลเซีย เวียดนาม และเป็นเอกอัครราชทูตประจำสหภาพโซเวียตตอนนี้เป็น ร.ม.ช. ต่างประเทศ รับผิดชอบงานด้านโซเวียต งานสำคัญที่ทำในปัจจุบันคือเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนจีนในการเจรจาปรับความสัมพันธ์กับโซเวียต เคยมาเมืองไทยกับมาดามเติ้งอิงเชา อีกคนที่นั่งอยู่ด้วยคือคุณเฉิน เครื่องบินขึ้นเวลา 9.00 น. วันนี้แอร์โฮสเตสบริการดีคือถามกัปตันมาเรียบร้อยว่ากี่โมงจะถึงที่ไหน แล้วยังเอาแผนที่ประเทศ


(น.147) รูป 74 บนเครื่องบินจากซีอานไปเสฉวน ท่าน ร.ม.ช. หวัง กำลังอธิบายเรื่องแผนที่กับเรื่องตัวหนังสือจีน

(น.148) จีนมาสำหรับเทียบด้วย ท่านรัฐมนตรีหวีงชี้แผนที่ให้ดู ฉะนั้นช่วงเวลานี้จึงเป็นชั่วโมงภูมิศาสตร์ ภรรยาท่าน ร.ม.ช. ก็คุยกับท่านผู้หญิงมณีรัตน์ได้ถูกคอดี เราบินอยู่เหนือภูเขา ซีซาน (เขาตะวันตก) มุ่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านเมืองน้อยใหญ่ แม่น้ำสายต่างๆ ผ่าน มณฑลเหอเป่ย ซานซี ข้ามแม่น้ำหวงเหอ เข้าในมณฑลส่านซี ตามเขตลุ่มแม่น้ำนาข้าวสาลีสีเขียวขจี แม่น้ำหวงเหอเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นที่สองของจีน (ต่อจากหยางจื่อเจียง) ลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ถือเป็นอู่อารยธรรมจีนอันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปี น้ำในแม่น้ำได้พาเอาตะกอนดินอันอุดมสมบูรณ์มาเป็นกำนัลแก่ผืนแผ่นดินแถบนี้ ตะกอนดินนี้พอกพูนขึ้นมาเป็นปีๆ ทำให้ดินบริเวณแม่น้ำสูงกว่าพื้นดินปกติถึง 10 เมตรในบางที่ แต่ก่อนนี้กระแสน้ำในแม่น้ำหวงเหอเคยทำอันตรายแก่มนุษย์ ก่อให้เกิดอุทกภัยบ่อยครั้ว ภายหลังเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า อันตรายเหล่านี้ก็ถูกควบคุม จนปัจจุบันจะไม่มีเกิดขึ้นอีก วันนี้อากาศดีมากเห็นแม่น้ำหวงเหอได้ชัดเจน ภูเขาแถวๆ มณฑลส่านซี มีรูปร่างแปลกคือเป็นชั้นๆ เหมือนโมเดลรูปภูเขาที่ทำด้วยปูปลาสเตอร์ที่เราเรียนเส้นระดับในวิชาภูมิศาสตร์ จะว่าเป็นที่ซึ่งเขาทำนาขั้นบันไดก็ไม่ได้เพราะมันสูงกว่าที่มนุษย์จะไปทำอะไรๆ อย่างนั้น นอกจากวิชาภูมิศาสตร์แล้วยังมีการเรียนภาษาจีนด้วย เช่น เรียนว่า ตุ๊กแก เรียกว่า เก๋อเจี้ย จิ้งจกว่า ปี้หู่ หมูว่า จู หมูป่าว่า เหย่จู นาข้าวว่า เต้าเถียน และคำว่า เซินหลิน แปลว่า ป่า เป็นต้น

(น.149) เครื่องบินถึงซีอานเวลาประมาณ 11 โมงเศษ อุณหภูมิที่ซีอานเวลานี้ประมาณ 20 ํC มีนายกเทศมนตรีซีอานมารอรับพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ต่างๆ เช่น หัวหน้าสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ของมณฑล ผู้แทนสภาสตรีของมณฑล ฯลฯ เขาเอารถมารับเพื่อไปที่บ้านพักรับรอง ข้าพเจ้านั่งรถมี “เตี่ย” คนใหม่เป็นผู้ขับ มีคุณฟ่าน คุณเฉิน คุณดำรง เป็นทีมเดิม ผู้ที่นั่งรถและคอยอธิบายอะไรต่อมิอะไรที่ซีอานนี้คือคุณ ซุนหมิง รองหัวหน้าสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ของมณฑลส่านซี คุณซุนหมิงแม้ว่าจะดูหน้าตาเฉยๆ แต่ก็ช่างเล่า และมีความรู้ดี เมื่อข้าพเจ้าถามอะไรมากๆ ก็ควักเอาสมุดปกเขียวทำนองว่าเป็น guide book ออกมากางอ่านเอาทีเดียว ที่ ซีอาน นี้มองเห็นมีการเพาะปลูกมากทีเดียว ตลอดทางจากสนามบินถึงบ้านพักเห็นนาข้าวสาลีปลูกมาจนถึงขอบถนน คุณ ซุนหมิง บอกว่าอีก 3 อาทิตย์ก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว สำหรับต้นไม้ข้างถนนก็เป็นเรื่องที่เราสรรเสริญกันมิได้หยุดหย่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้หญิงมณีรัตน์ ถึงกับมากำชับข้าพเจ้าว่า ถ้าจะเขียนเรื่องเมืองจีนหรือไปพูดที่ไหนอย่างลืมเรื่องต้นไม้ที่เขาปลูกเป็นชั้นๆ เตรียมเผื่อขยายถนน (บางทีตั้งสามชั้น) และการตัดแต่งต้นไม้ให้แตกงามอยู่เสมอ คุณซุนหมิงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า มณฑลส่านซีนี้มีแม่น้ำสำคัญคือแม่น้ำเว่ยเหอ ซึ่งมีความแปลกอยู่ที่แม่น้ำสายนี้มีสาขาสองสาย สายหนึ่งมีสีเขียว อีกสายหนึ่งเป็นสีเหลือง ลืมถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น สีเหลืองคงเป็นเพราะดิน (เหมือนสีแม่น้ำหวงเหอ แม่น้ำนี่

(น.150) ก็เป็นสาขาแม่น้ำหวงเหอด้วย) สีเขียวคงเป็นพืชแขวนลอยอย่างหนึ่งจำพวกสาหร่าย (นี่แต่งเองนะ) กล่าวถึงน้ำสีเขียวเหลืองทำให้นึกถึงหนังสือเรื่องกามนิต ที่ว่าแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนานั้นสีเหลืองและเขียวรวมกันบ้างแยกกันบ้าง เปรียบเหมือนวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์ ที่บางครั้งก็มีความแตกแยกกัน...อ้าว...ทำไมพูดเรื่องเมืองจีนอยู่ดีๆ แล้วไถลไปเมืองอินเดียได้ แม่น้ำ เว่ยเหอ นี้ไหลจาก กานซู หลังจากนั้นคุณซุนหมิงก็ “บรีฟ” เกี่ยวกับเมืองซีอานและสถานที่ต่างๆ ซึ่งข้าพเจ้าพยายามจดเอาไว้ อาจจะวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่บ้างก็ขออภัยเป็นครั้งที่ 2 เขาว่าเมืองซีอาน เคยเป็นเมืองหลวงของจีนมาหลายยุคหลายสมัย กว่าสองพันปีมาแล้ว จนถึงราชวงศ์ ถัง เคยมีจักรพรรดิอยู่ถึง 11 ราชวงศ์ มีซากเมืองโบราณสมัย โจว ฉิน ฮั่น ถัง และ เหม็ง เมืองปัจจุบันเป็นเมืองสมัย เหม็ง แต่ก่อนนี้เมือง ซีอาน เรียกกันว่า ฉางอัน หรือ เฉี่ยงอาน ในภาษาแต้จิ๋ว ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ ซีจิง ภายหลังที่ย้ายนครหลวงไป ปักกื่ง แล้วมีบางคนเรียกเมืองปักกิ่งว่าฉางอานด้วย ปัจจุบันนี้ซีอานเป็นเมืองสำคัญของจีนในตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการคมนาคมของมณฑล ส่านซี อุตสาหกรรมหลักของเมืองซีอานคือการทอผ้า และอุตสาหกรรมเบาโดยทั่วไป เครื่องจักรมีอยู่บ้าง สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าแก่การชมมี ต้าเอี้ยนถ่า (เจดีย์ห่านใหญ่) ซึ่งเราจะได้ไปชมในวันรุ่งขึ้น และเรายังจะได้ดู

(น.151) สุสานของ ฉินซีหวั่งตี้ หวาชิงฉือ (สระน้ำ หวาชิง) ซึ่งเป็นบ่อน้ำร้อนที่เราจะได้ไปดู พิพิธภัณฑ์ยุคหินที่ ป้านโพ มณฑล ส่านซี นี้คนทำการเกษตรมีการปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด ฝ้าย มณฑลนี้มีสภาพแปลกคือ มีภูเขา ฉินหลิ่ง หรือ เหลียงซัน ตัดมณฑลออกเป็น 2 ตอน ตอนกลางๆ ดินฟ้าอากาศอุดมสมบรณ์ดีที่สุด มีข้าวสาลีและฝ้าย (ตรงเมือง ซีอานเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ) ทางใต้ที่ติดกับมณฑล เสฉวน มีสวนคล้ายภาคใต้ของจีน คือมีข้าวเจ้าและผลไม้ บนภูเขามียาสมุนไพรมาก มีสัตว์ป่ามีค่า เช่น หมีแพนด้า ลิงขนสีทอง ชาวภาคใต้ยังปลูกหม่อน เลี้ยงใหม ปลูกส้มโอ ข้าพเจ้าถามว่าแล้วที่ซีอานนี้มีอะไรอีก คุณซุนหมิงเลยเล่าต่อเรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้าง (ตามแต่จะคิดได้) ว่ายังมีหอระฆัง จงโหลว มีแต่ราชวงศ์ ถัง หอปัจจุบันสร้างในศตวรรษที่ 16 บูรณะในศตวรรษที่ 18 ศุง 68 ฟุต สมัยก่อนใช้เป็นสัญญาณเตือนภัย ต่อมาใช้บอกเวลาเปิดประตูเมือง 4 ทิศ มีหอกลอง สมัยราชวงศ์ เหม็ง (ทำด้วยไม้) บอกเวลาประตูปิด มีที่น่าดูอีกแห่งคือ สุสานราชวงศ์ ถัง หรือสุสาน เฉียนหลง เป็นฮวงซุ้ยของจักรพรรดินี อู่เจ๋อเทียน หรือที่คนไทยเรียกว่า บู่เช็กเทียน และฮวงซุ้ยบุคคลอื่นๆ ทางจีนจะเปิดค้นคว้าสุสาน อู่เจ๋อเทียน เร็วๆ นี้ บริเวณฮวงซุ้ยมีศิลาจารึก รูปปั้นหิน มีฮวงซุ้ยใต้ดิน แห่งหนึ่งเปิดแล้ว ทางการจีนได้นำวัตถุที่พบแสดงในพิพิธภัณฑ์แต่เราไม่มีเวลาได้ดู รถแล่นผ่านตึกต่างๆ ซึ่งคุณซุนหมิงอธิบายว่า เป็นตึกใหม่ๆ สร้างขึ้นหลังสมัยปลดแอกทั้งนั้น ผ่านประตู เหอผิงเหมิน หรือ

(น.152) ประตูสันติภาพ พอดีเห็นเจดีย์ห่านอยู่แถวๆ นั้น คุณซุนหมิงเลยอดจะเล่าไม่ได้ทั้งๆ ที่พรุ่งนี้ก็จะได้ไปอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเลยได้ฟังเรื่องล่วงหน้าว่า เจดีย์นั้นสร้างในราชวงศ์ ถัง ศตวรรษที่ 7 ผู้สร้างเจดีย์ 7 ชั้น สูง 46 เมตรนี้คือพระถังซำจั๋ง (เสวียนจ้าง) ผู้ที่เดินทางไปอินเดีย เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกมาสู่ประเทศจีน เจดีย์เก่าสร้างในศตวรรษที่ 7 ผุพังไปแล้ว ที่เห็นในปัจจุบันสร้างในศตวรรษที่ 13 บูรณะเสร็จในศตวรรษที่ 16 พระถังซำจั๋งนี้ใครๆ ก็รู้จักเพราะเราชอบอ่านเรื่อง ไซอิ๋ว ที่เขาพิมพ์ออกมาเป็นเล่มเล็กๆ มีรูปเขียนภาษาไทยและจีน ดูเหมือนจะออกอาทิตย์ละเล่ม คนจีนในปัจจุบันนี้ยกย่องท่านในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีบทบาทในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม คุณซุนหมิง บอกว่า เจดีย์อิฐนี้มีความแข็งแรงมาก มีบันไดเวียนขึ้นไป แต่ก่อนมีพระไตรปิฎกอยู่บนยอด มีประวัติมาว่า แต่ก่อนในแถบนี้เกิดทุพภิกขภัย ผู้คนยากจนมาก ไม่มีอะไรจะกิน พอดีมีห่านฟ้าบินมาตัวหนึ่งตกลงตรงบริเวณที่ต่อมาเป็นตั้งเจดีย์ คนได้กินเนื้อห่านรอดตายไปได้ จึงระลึกถึงบุญคุณของห่านจึงสร้างเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึก ตำนานอีกอย่างว่า พระถังซำจั๋งเห็นว่าที่อินเดียบริเวณที่เป็นอัฟกานิสถานปัจจุบันมีเจดีย์เช่นนี้ เมื่อเอาพระไตรปิฎกจากอินเดีย ก็ต้องสร้างเจดีย์ให้เหมือนกัน


(น.153) รูป 75 โต๊ะเขียนหนังสือที่บ้านรับรองซีอาน

(น.153) ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเราจะได้ดูเหมือนกัน มีหลักศิลาจารึกมากมายเหมือนป่า บางทีเลยเรียกว่าป่าจารึก จะได้เห็นลายมือเขียนแบบจีนแบบต่างๆ มาก คนที่เขียนลายมือดีๆ ก็มาสลักไว้เป็นจารึก ลายมือก็คงอยู่ ทำให้เรารู้ประวัติของแต่ราชวงศ์ด้วย รถแล่นผ่านโรงพยาบาล คุณซุนหมิงเลยเล่าว่า ยังมีโรงพยาบาลใหญ่อีกโรงกำลังสร้างยังไม่เปิด เมื่อคุยเรื่องโรงพยาบาลแล้ว ก็คุยเรื่องโรงเรียนต่อ คราวนี้ชักเกิดเรื่องยุ่งเพราะมีการยกตัวเลขว่ามีอะไรเท่าไร คุณซุนหมิงควักสมุดปกเขียวมาอ่าน ตอนแรกอ่านผิด ตอนแก้ไขใหม่ เล่นเอาทั้งคุณเฉินและข้าพเจ้าชักงง เช่นว่ามีโรงเรียนประถม มัธยม มหาวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัย เจียวต้า

(น.154) ซึ่งมีชื่อทั่วประเทศ มีมหาวิทาลัยมณฑล 3 แห่ง ร.ร.อาชีวะ 54 โรง ร.ร.มัธยม 7,000 โรง ร.ร.ประถม 40,000 โรง มีนักเรียนนักศึกษา 6 ล้านกว่า ต่อไปมีสถิติโรงพยาบาล 300 โรง ทั้งมณฑล สถิติเตียง 5,000 หว่า หมอ พนักงาน พยาบาล 7 หมื่นกว่า หน่วยภาพยนตร์ (หนังกลางแปลงรัฐบาล) 3,000 กว่าหน่วย โรงหนัง 28 โรง นาฏศิลป์ 28 คณะ ศิลปินกว่าคน รถแล่นเข้าบริเวณเรือนรับรองจนถึงเขตบ้านแล้ว ยังเห็นข้าวสาลีมากมาย ปลูกจนกระทั่งถึงรอบๆ ต้นไม้ คุณซุนหมิงบอกว่าแม้จะขยายถนนก็ไม่กล้าทำเพราะกลัวเสียที่ปลูกข้าวสาลีเข้าไปใกล้เขตเรือนรับรองจนติดหน้าต่างยังปลูกข้าวสาลี (ยังมีใคร


(น.154) รูป 76 เขาจะเพาะปลูกจนถึงตึก

(น.155) ไม่ทราบฝ่ายจีนบ่นอีกว่าเรือนรับรองใหญ่ไป เสียดายพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีแถวๆ นี้ซึ่งดินดีมาก) ทราบว่าข้าวสาลีปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว ถ้าไม่มีลมจะเก็บเกี่ยวได้ดี คุณซุนหมิงบอกว่ายังมีปลูกข้าวฟ่าง มันฝรั่ง แอปเปิ้ล เขตเขามีการเลี้ยงสัตว์ แพะ แกะ วัวเนื้อพันธุ์ดี เมื่อถึงบ้านพัก คุณซุนหมิงก็ลาไปและบอกว่าบ่ายๆ จะมารับไปอีก บ้านพักแห่งนี้ใหญ่โตและสวยงามมาก ได้ทราบว่าแต่ก่อนเคยเป็นของเอกชน และภายหลังเมื่อเป็นของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลก็ได้สร้างบ้านพักเพิ่มเติมอีก ให้มีหลายๆ ตึกสำหรับรับแขกเมืองตอนมาดาม มาคอส มาก็พักอยู่ที่นี่ นอกจากจะมีต้นข้าสาลีแล้วต้นไม้ใหญ่ก็มี หยางขาว ใบคล้ายๆ ใบโพธิ์ แต่มันกว่าและแคบกว่าใบโพธิ์ ต้นหลิว และข้างบ้านยังมีต้นไผ่อยู่มากมาย เมื่อเข้าประตู บนผนังด้านซ้ายมีป้ายไม้ทำเป็นลายมือของท่านประธาน เหมาเจ๋อตุง เขียนว่าอะไรก็ไม่มีใครแปลให้ เลี้ยวขวาไปตามทางเดิน ผ่านห้องอาหาร เดินต่อไปก็ถึงห้องของข้าพเจ้า แต่ต้องเข้าในห้องเขียนหนังสือ แล้วจึงจะเข้าห้องนอน ห้องเขียนหนังสือกว้างใหญ่มาก มีโต๊ะเขียนหนังสือซึ่งนอกจากจะมีกระดาษ ปากกาแล้ว ยังมีพู่กันจีนขนาดต่างๆ (ส่วนมากอันโตๆ) มีหินฝนหมึก มีกระดาษเหมือนกระดาษวาดเขียนแต่บางหน่อย ไม่ยักมีหมึกไว้ให้ เวลาข้าพเจ้าจะวาดกุ้ง (กุ้งอีกแล้ว) ก็ต้องเอาแท่งหมึกของตัวเองใช้นอกจากนั้นยังมีเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับสถานที่ซึ่งจะไปดู ข้าพเจ้า

(น.156) ปรึกษาคุณหญิงว่าเอกสารพวกนี้เราจะเก็บกลับบ้านได้ไหม คุณหญิงบอกว่าเก็บกลับได้ แล้วรู้สึกว่าถ้าไม่เก็บกลับบ้านเขาอาจจะเสียใจไปเสียอีก เขายังเตรียมผลไม้ ขนม ชา และเครื่องดื่มขวด มีน้ำส้ม น้ำแร่ และลักกี้โคล่า (ไม่ใช่เป็ปซี่โคล่า หรือโคคาโคล่า) ในห้องนอนมีสองเตียง (เขาเตรียมเผื่อน้องเล็กด้วย) คลุมด้วยผ้าแพสีแดง ส่วนห้องน้ำใหญ่กว่าห้องนอนสองเท่า มีอ่างอาบน้ำ ที่อาบน้ำฝักบัว ส้วมชักโครก ส้วมซึม อ่างล้างหน้า มียาสีฟัน แปรงสีฟัน แป้ง ครีมชนิดต่างๆ แก้วน้ำ ฯลฯ อีกด้านมีเก้าอี้คล้ายๆ เก้าอี้หมอฟันอยู่หน้ากระจก และที่โต๊ะมียาทาเล็บสีต่างๆ ลิปสติก กรรไกรตัดเล็บไว้ให้เสร็จ ใกล้ๆ อ่างอาบน้ำมีเก้าอี้หวายตัวใหญ่ คลุมด้วยผ้าคลุมขนหนู ข้างๆ เก้าอี้มีโต๊ะ มีอ่างเคลือบและรองเท้าแตะวางไว้ ออกจากห้องน้ำเป็นตู้เสื้อผ้า ซึ่งมีเสื้อคลุมไว้ให้ด้วย ประตูตู้เหมือนประตูห้อง เพราะฉะนั้นระหว่างอยู่ซีอานเพียงคืนเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าก็เปิดประตูเดินเข้าตู้ไปหลายครั้ง ตอนนั้นได้เวลากินข้าวพอดี ก็เลยได้ใช้ภาษาจีนถามหาห้องอาหาร และบอกเขาว่าอยากรับประทานอาหารแล้ว และช่วยจัดการหาห้องของท่านผู้หญิงทั้งสองด้วย (ซึ่งก็ใหญ่เหมือนกัน) อีกห้องที่น่าจะกล่าวถึงเป็นห้องรับแขกซึ่งใหญ่โตมากเหมือนกัน มีทีวี มีเก้าอี้ แต่เขาไม่จัดเป็นหมู่ๆ จัดเป็นแถวๆ รอบๆ ห้อง ตรงกลางมีโต๊ะ มีแจกันปักดอกกุหลาบสีต่างๆ บางดอกกลิ่นหอมยังกับกุหลาบมอญ ยังมีอีกอย่างที่แปลกคือ ไฟติดเพดานทั้งหมดจะต้องมีตาข่ายคลุม (อันนี้คุณดำรงสังเกตเห็น)ไม่ทราบเหตุผล

(น.157) ในห้องอาหารมีโต๊ะ 3 โต๊ะ มีรูปเขียนแบบจีนประดับฝาผนังห้องของจีนทุกห้องจะมีรูปเขียนแบบจีน บางห้องเป็นภาพรูปภูเขาสูงๆ มีแม่น้ำตัดกลาง แต่เป็นรูปทางยาวซึ่งค่อนข้างจะหายากข้าพเจ้าชี้ให้คุณแป๊วดูรูปต่างๆ เพราะคุณแป๊วบ่นตั้งแต่อยู่ปักกิ่งแล้วว่ามีคนฝากซื้อรูปจีน โดยจะเอาเป็นรูปวิว แต่ไม่เอารูปต้นไผ่กับเก๋งจีนสองอย่างเพราะเบื่อแล้ว จนแล้วจนรอดคุณแป๊วก็ยังเลือกไม่ได้ จนข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าวาดรูปกุ้งให้ดีกว่า อาหารกลางวันมื้อนี้มีกุ้งชุปแป้งทอด แห้วผัด เห็ดหูหนู ปลาเปรี้ยวหวาน (จีนเรียกว่า ถังชู่หยู หรือปลาทอดกรอบราดซอสหวาน) ไก่คลุกไข่ขาวผัด ก้านดอกกระเทียมผัดกุนเชียงของหวานมีลำไยกระป๋องลอยแก้ว น้ำส้มขวดของเมืองนี้รสไม่เหมือนกับที่ปักกิ่ง และไม่ค่อยเหมือนน้ำส้มเท่าไร ใครๆ ก็ไม่เชื่อว่าเป็นน้ำส้ม ข้าพเจ้าถามคนเสิร์ฟเขาก็บอกว่าเป็นน้ำส้ม ก็ยังนึกว่าฟังผิด พออาจารย์สารสินมา ให้อาจารย์ถามเขาก็บอกว่าน้ำส้ม อาจารย์สารสินเล่าว่าฉางอานเมืองเก่าใหญ่กว่าปัจจุบันนี้มาก (ประมาณ 7 เท่า) และญี่ปุ่นที่สร้างเมือง นารา ก็มาลอกแบบเมืองและรับวัฒนธรรมจากจีนที่ซีอานนี้ ฉะนั้นใครอยากจะดูว่าเมืองซีอานเก่าเป็นอย่างไรให้ไปดูนารา ต่อมาเราคุยกันเรื่องผี เพราะบ้านพักนี่ใหญ่โต พวกเราก็อยู่กันคนละบ้านด้วย แต่ละบ้านก็ไกลกัน น่ากลัวผีหลอก ภาษาจีน กุ่ย แปลว่า ผี พ่ากุ่ย แปลว่า กลัวผี ข้าพเจ้าบอกคุณหญิงว่าระวังให้ดีอยู่บ้านโน้นกับ ต้าสื่อ สองคนระวัง กุ่ย จะมาหาแล้วถามอาจารย์สารสินว่าอาจารย์ไม่ พ่ากุ่ย หรือ กุ่ยจีน คงมาหา


(น.158) รูป 77 นาข้าวเสฉวน

(น.158) อาจารย์แน่ๆ เพราะรู้เรื่องภาษาจีนอย่างดีอยู่คนเดียว พวกพนักงานเสิร์ฟพลอยหัวเราะไปกับเราด้วย เพราะฟังออกว่าเราพูดเรื่องอะไรกัน กินข้าวเสร็จแล้วข้าพเจ้าเตรียมการเซ็นหนังสือสองชุด สำหรับผู้ว่าการมณฑลส่านซี และนายกเทศมนตรีเมืองซีอาน และจัดการผูกโบว์ให้เรียบร้อย ประมาณบ่ายสองโมงคุณซุนหมิงก็มารับไปดูรายการภาคบ่ายต่อไป เขาอธิบายให้ข้าพเจ้าว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังปรับปรุงให้ซีอานเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวมาได้ เมื่อปีที่แล้วก็สร้างโรงแรมสูง 13 ชั้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่พักของคนมาเที่ยว

(น.159) ที่หมายแรกของเราเป็นสุสานของพระจักรพรรดิฉินสื่อหวังตี้ คุณซุนหมิงก็เล่าเรื่องว่า ในปี 1974 ชาวนาขุดบ่อน้ำก็พบสุสานนี้เข้าจึงรายงานทางการ จึงมีการขุดค้นขึ้น พงศาวดารบันทึกไว้ว่ามีสุสานแต่ก็ไม่ได้บันทึกไว้ว่ามีหุ่นกองทัพขนาดใหญ่ฝังไว้ด้วย (ตอนนี้ทำให้นึกถึงที่อยุธยา กรมศิลปากรเขาอ่านเอกสารพรรณนาถึงกรุงศรีอยุธยา และพระราชวัง แล้วขุดลงไปตรงพระราชวังปรากฏว่าพบอะไรต่อมิอะไรอีกมาก ต้องตามจดหมายเหตุที่จดไว้และยังมีเพิ่มเติมกว่านั้นไปอีก)


(น.159) รูป 78 วิวข้าวถนนซีอาน

(น.160) ขณะนี้เปิดขุดขึ้น 3 แห่งแล้ว พบกองทัพทหารม้า ทหารรถ ทหารเดินเท้าและทหารธนู หุ่นที่มีอยู่นั้นเขาปั้นหน้าปั้นตาได้อย่างประณีต สูงถึง 1.9 เมตร จะเห็นอาวุธฝังอยู่ด้วย เช่น หัวธนูทำด้วยฝีมือประณีตมาก หัวธนูแหลมวิธียิงกึ่งอัตโนมัติ ลั่นไกแบบปืน หลุมที่สองเป็นรถม้าเหมือนกับม้าจากมณฑลกานซู ทำได้งดงามรูปร่างใหญ่โต ท่าทางดี เมื่อพูดถึงตอนนี้ข้าพเจ้าออกนอกหน้าต่าง เห็นสวนผักเขียวสุดลูกหูลูกตา สวยงามมาก เรื่องการเกษตรนี้น่าชมเขา แถวๆ ปักกิ่งระยะทางจากสนามบินถึงบ้านพักยังมีทุ่งหรือไร่พืชอีกอย่างมีดอกเป็นสีเหลือง เป็นพืชน้ำมัน สกัดน้ำมันจากเม็ด เขาบอกชื่อจีนว่า อิ๋วไช่จื่อ คุณภาพน้ำมันไม่ค่อยดี

Next >>