<< Back
" ย่ำแดนมังกร วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2524 "
(น.201) ชมเจดีย์ห่านฟ้าแห่งซีอาน
ที่อยู่ของพระถั่งซำจั๋ง
วันที่ 16 พฤษภาคม 2524
(น.202) ถึงเวลาก่อนเจ็ดโมงเช้านิดนึง ข้าพเจ้าเดินเข้าห้องอาหารเป็นคนแรกตามเคย (วันนี้สว่างช้ากว่าที่ปักกิ่งหน่อย)
อาหารเช้าวันนี้ มีลำไยกระป๋อง เชอรี่กระป๋อง ไข่ดาว ขนมปัง ขบวนที่จะไปกับท่านผู้หญิงมณีรัตน์ มีคุณออม คุณแป๊ว และตุ๋ย โดยมีคุณหลี่เม่าเป็นผู้นำ
อาจารย์สารสินเล่าว่า มีประวัติเล่าว่าที่แม่น้ำป้า หรือ ป้าเหอตรงที่มีสะพานข้าม (ที่เราผ่านเมื่อวานนี้) ในสมัยราชวงศ์ ถัง เป็นที่อำลาทูตต่างประเทศที่มาประจำอยู่ประเทศจีน เจ้าหน้าที่ (กระทรวงต่างประเทศจีนสมัยโบราณ?) จะหักกิ่งสนกิ่งหนึ่งมอบแก่ทูตเป็นที่ระลึก
เวลาประมาณแปดโมงเช้าคุณซุนหมิงมารับตามเคย ข้าพเจ้าบอกว่าขอบคุณมากที่ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ได้ไปดูงานในด้านที่ท่านสนใจ ความจริงเรื่องเกี่ยวกับการทอผ้านั้น ข้าพเจ้าก็สนใจแต่ว่าความรู้ไม่เท่าท่านผู้หญิง คุณซุนหมิงบอกว่าเรื่องของการปักฝีมือที่มีชื่อเสียงก็มี ซูโจว หังโจว เสฉวน หูหนาน เมืองซีอานก็มีแต่ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงนัก
ตอนนี้ซีอาน กำลังพยายามเร่งเรื่องงานส่งเสริมการท่องเที่ยวมาก ตอนนี้ก็มีนักท่องเที่ยวมามาก ที่มากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น ต่อมามีสหรัฐฯ แคนาดา เยอรมัน ฝรั่งเศส ประเทศในเอเชียอาคเนย์มีสิงคโปร์กับคนไทย
สองข้างทางเป็นทุ่งนา มีทั้งที่เป็นของคอมมูน มีบางส่วนเป็นของรัฐ เดี๋ยวนี้ทางการพยายามจะให้ที่ทั้งหมดเป็นของคอมมูน ให้ประชาชนจัดทำกันเอง คุณซุนหมิงบอกว่าส่วนที่เป็นของรัฐก็จำเป็น
(น.203) จะต้องมี ทำเป็นนาตัวอย่าง และเป็นที่เพาะพันธุ์ข้าวที่ดี ทำสำหรับให้ราษฎรใช้ทำพันธุ์ต่อไป สำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์นั้น รัฐมีเครื่องจักรมาก จึงทำได้ดีกว่าทางคอมมูน แต่ก็มีข้อยกเว้นที่คอมมูนบางแห่งก็อาจจะมีผลงานดีกว่าของรัฐ
คุณซุนหมิงกล่าวต่อไปว่าทางรัฐก็พยายามส่งเสริมคอมมูน ในการทำการเกษตรนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ข้าพันธุ์ดี ชลประทานดี มีปุ๋ยที่ดีพอเพียง แต่ปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญได้แก่ คน ถ้าคนขยันขันแข็งจะรูจักหาวิธต่างๆ ทำให้ได้มาซึ่งปัจจัยอื่นๆ ด้วย
ข้าพเจ้าถามว่าคนที่ทำนารัฐเป็นพวกไหน คุณซุนหมิงตอกบว่าก็เป็นพวกชาวบ้านที่ต้องการเป็นคนงานของรัฐ ได้เงินสม่ำเสมอส่วนงานของคอมมูนนั้นผู้ทำคือสมาชิกคอมมูน แต่รายได้ของสมาชิกคอมมูนอาจจะไม่คงที่นัก เพราะจะขึ้นอยู่รายได้ของคอมมูน
ข้าพเจ้าบอกว่าในเมืองไทยก็เหมือนกัน คนแต่ละคนก็มีความคิดความเห็นที่ต่างกัน บางคนชอบทำงานชนิดที่ไม่ต้องรับผิดชอบตนเองมากนัก แต่บางคนก็ชอบ ยกตัวอย่างที่ข้าพเจ้าเคยประสบมาด้วยตนเอง
เดิมโครงการในพระราชดริแห่งหนึ่งมีการตั้งโรงงานทำอุตสาหกรรม (เบา) ทางโครงการฯ เป็นนายทุนหรือเจ้าของกิจการต่อมามีพระราชดำริว่า ผู้ที่ทำงานในโรงงานมีความรู้ความสามารถพอแล้วน่าจะพระราชทานให้ทุกคนเป็นนายทุนเองเป็นกรรมกรเองอยู่ในตัว
กล่าวคือทุกคนทำงานเองแต่เป็นเจ้าของ คือมีหุ้นของอุตสาหกรรมนี้ แต่ชาวบ้านกลับเลือกจะเป็นคนงานของโรงงานต่อไป
และเมื่อก่อนจะมาที่เมืองจีนนี่ไปที่จังหวัดสกลนคร ได้ถามทุกข์สุขคนในตำบลแห่งหนึ่ง และถามถึงปัญหาที่มีอยู่ในตำบลนั้น
(น.204) ได้ความว่าชาวบ้านขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าราคาประกัน ข้าพเจ้าถามคนหนึ่งว่าคิดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เขาบอกว่าเพราะมีกลุ่มเกษตรกร ข้าพเจ้าจึงถามว่าการมีกลุ่มเกษตรกรน่าจะยิ่งดี
เพราะสะดวกต่อการติดต่อค้าขายและรัฐบาลจะได้ช่วยได้ เขาว่ากลุ่มเกษตรกรได้เงินเท่าราคาพยุง แต่ชาวบ้านไม่ได้ ข้าวจึงถูกลง ข้าพเจ้าติงว่าช้าวบ้านนั่นแหละทำไมไม่เป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกร
บางคนก็ตอบว่าไม่มีพรรคพวกอยู่ในกลุ่มเกษตรกรจึงเข้าเป็นสมาชิกไม่ได้ แต่บางคนอธิบายว่าเขาไม่อยากอยู่ฝนกลุ่ม อยู่นอกกลุ่มแม้ว่าจะขายได้น้อย แต่ก็สบายดีกว่า เพราะไม่อยู่ในบังคับใคร
เป็นอิสระดี ถ้าอยู่ในกลุ่มแล้วจะต้องขายข้าวให้รัฐบาลหรือหาตลาดที่กลุ่มกำหนดและมีกำหนดเวลาด้วย อยู่นอกกลุ่มจะขายใครขายเมื่อใดก็ได้
ข้าพเจ้าเล่าให้คุณซุนหมิงต่อว่า ปีนี้เมืองไทยได้ขยายงานชลประทานไปอีก ฉะนั้นชาวบ้านจะมีหน้าตาสดใส คนเดียวปลูกหลายๆ อย่าง
คุณซุนหมิงเล่าเรื่องอาชีพในคอมมูนว่า เพื่อให้สมาชิกมีรายได้มากขึ้น สมาชิกทุกคอมมูนจะต้องมีอาชีพรองจากอาชีพหลัก อาชีพหลักและอาชีพรองของชาวคอมมูนมีต่างๆ กัน แล้วแต่ท้องที่และสภาพที่อำนวยให้
นอกจากปลูกข้าวก็มีการปลูกผัก ปลูกฝ้าย เลี้ยงวัวควาย เลี้ยงหมู เลี้ยงกระต่าย เลี้ยงแพะแกะ เลี้ยงไก่ ทำอิฐ ที่อยู่ใกล้ๆ เทือกเขามักจะปลูกผลไม้
ยาสมุนไพร บางแห่งก็มีการเพาะเห็ด พวกที่เลี้ยงแพะแกะและกระต่ายมักจะมีกิจการเกี่ยวกับขนสัตว์ มีการขยายขนสัตว์ส่งออกต่างประเทศ
(น.205) คอมมูนที่อยู่ใกล้เจดีย์ห่านฟ้า ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาอยู่เสมอ ชาวคอมมูนจะถือเอาเงื่อนไขนี้ให้เป็นประโยชน์โดยมีอาชีพรองในการเป็นช่างถ่ายรูป เปิดร้านน้ำชา ร้านขายไอศกรีม
ในคอมมูนหลายๆ แห่ง มีอุตสาหกรรมขนาดเล็กซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของคอมมูน ส่วนโรงงานใหญ่ๆ เป็นของรัฐ
พอดีรถเลี้ยวเข้าเขตเจดีย์ห่านฟ้า มองเห็นคนจีนถือกล้องโพลารอยด์ คงเป็นสมาชิกคอมมูนอย่างที่คุณซุนหมิงว่า
เจดีย์ห่านฟ้านั้นสมัยราชวงศ์ถังใช้เป็นสถานที่สอนพระไตรปิฎกซึ่งพระถังซำจั๋งนำมาจากอินเดีย เจดีย์นี้อยู่ในเขตวัดซึ่งพระเจ้าถังเกาจง เป็นผู้สร้าง
ตอนแรกที่เราเข้าไปก็มีคณะเจ้าหน้าที่ผู้อธิบายมารอรับอยู่ตามเคยและพาพกวเราไปที่ ต้าสยุงเป่าเตี้ยน ซึ่งเป็นอาคาร มีพระพุทธรูป 2 องค์ และพระอรหันต์ 18 องค์ แล้วจึงไปที่เจดีย์ห่านฟ้า
หรือ ต้าเอี้ยนถ่า ซึ่งสร้างเป็น 5 ชั้น สมัยจักรพรรดินี อู่เจ๋อเทียน เพิ่มเป็น 10 ชั้น ต่อมาเกิดสงคราม เจดีย์ได้รับความเสียหายสร้างขึ้นใหม่เป็น 7 ชั้น
ชั้นล่างมีพระพุทธรูปสำริดอายุ 400ปี มี rubbing รูปพระถังซำจั๋งผู้นำพระไตรปิฎก 600 กว่าเล่มจากอินเดียมาแปลเป็นพระไตรปิฎกจีน 75 เล่ม ที่วัดพระมหากรุณาธิคุณนี้
นอกจากรูปท่าน เสวียนจ้าง (พระถังซำจั๋ง) แล้ว ยังมีรูปลูกศิษย์ก้นกุฏิอีก 2 ท่าน คือ หยวนเช่อ ตามประวัติว่าเป็นหลานของพระเจ้าแผ่นดินเกาหลี และ ขุยจี เป็นชาวจีน นอกจากนั้นก็มีจารึกลายมือของคน
(น.206) ที่มีลายมือสวยเป็นจำนวนมากรวมทั้งลายมือของผู้ที่สอบจอหงวนได้
คราวนี้ถึงเวลาปีนกระโดดขึ้นเจดีย์ เพื่อไปชมวิวชั้นบน ปีนหอนี้แล้วนึกถึงหอสูงที่พระราชวังบางปะอิน ซึ่งสร้างขึ้นคล้ายหอจีนมีชื่อว่าหอวิทูรทัศน์
ในสมัยก่อนหอวิทูรทัศนาคงจะเป็นหอสำหรับขึ้นไปชมทิวทัศน์บางปะอิน พอมาในรัชกาลนี้หอวิทูรทัศนากลายเป็นที่สำหรับข้าราชบริพารออกกำลังกาย
พวกเราต้องวิ่งขึ้นบันไดเวียนชะโงกหน้าต่างออกมานับชั้นทุกๆ ชั้นจนถึงยอด แล้ววิ่งลงมา จะมีผู้จับเวลาการ “ขึ้นหอ” ของแต่ละคนด้วย ข้าพเจ้าคิดว่าการโผล่หน้าต่างให้ถูกนั้นยากมาก เวลาวิ่งขึ้นไปหมุนๆ แล้วมันชักไม่รู้ทิศไหนทิศเหนือทิศไหนทิศใต้
สรุปแล้ว คณะ “ขึ้นหอ” ไทยก็ไม่ลำบากในการขึ้นหอเจดีย์ห่านฟ้าแต่ประการใด
จากชั้นบนของหอ เราจะเห็นทิวทัศน์ของเมืองซีอาน ไกด์ชี้ให้ดูแนวต้นไม้ซึ่งปลูกในสมัย ถัง ทางทิศตะวันออกมีสุสานของหลายราชวงศ์ และเห็นเจดีย์ห่านฟ้าเล็ก ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อหลวงจีน อี้จิง ไปสืบพระศาสนาที่อินเดีย
พวกเราขึ้นไปถ่ายรูปหมู่กันบนชั้นสูงของเจดีย์ห่านฟ้า แล้วลงมาเดินดูบริเวณรอบๆ เขาจัดบริเวณไว้สวยงาม มีต้นไม้และพุ่มไม้ต่าง
รอบนอกของเจดีย์มีจารึกที่พระเจ้าถังเกาจงเขียนชมเชยพระถังซำจั๋ง เบื้องบนเป็นรูปพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาท ดูมีเค้าศิลปะอมราวดี บนทับหลังเหนือประตูก็มีภาพสลักบนหินเป็น
(น.207) ลายเส้น รูปพระพุทธเจ้าและพระสาวกอยู่ในศาลา แต่หนังสือจีนสลักทับซ้อนๆ อยู่
ที่กลางลานเราถ่ายรูปหมู่ “มิตรภาพไทย-จีน” อีก แล้วเขาพาไปดูหอกลอง ซึ่งมีกลองใบเบ้อเริ่มสำหรับตีบอกเวลา แต่เขาบอกว่าเป็นของทำขึ้นใหม่ อีกแห่งเป็นระฆัง เป็นของเก่าอายุ 400 กว่าปีแล้ว
เราลาเจ้าหน้าที่ดูแลเจดีย์ห่านฟ้าใหญ่ แล้วไปดูพิพิธภัณฑ์ของมณฑลส่านซี รถผ่านโรงงานทำเครื่องจิ่งไท่หลาน (ถมปัด) และมีรูปปั้นคล้ายๆ กับที่เราดูที่ปักกิ่ง ดูรอบๆ
เมือง กำแพงราชวงศ์ เหม็ง ซึ่งเขารักษาไว้อย่างสมบูรณ์ คุณซุนหมิงบอกว่าอิฐของราชวงศ์ เหม็ง นี้ก้อนเล็กกว่าของราชวงศ์ ฉิน และวิธีการเรียงอิฐก็ผิดกันด้วย
พิพิธภัณฑ์ของมณฑลส่านซีเดิมเป็นที่ตั้งศาลเจ้า ข่งเมี่ยว (ที่บูชา ขงจื้อ) สมัยราชวงศ์ เหม็ง ประมาณ 900 กว่าปีมาแล้วสิ่งก่อสร้างต่างๆ มีสมัยราชวงศ์ เหม็ง
ราชวงศ์ เช็ง มีลักษณะเหมือนศิลปะ เช็ง ในอาคารพิพิธภัณฑ์มีศิลปวัตถุตั้งแต่สมัยราชวงศ์ โจว ฉิน และ ฮั่น เช่น ภาชนะสำริดสมัยราชวงศ์ โจว มีรูปร่างต่างๆ
เช่น เวย เจิง ทิง โต้ว กว้าย (รูปร่างอย่างหนึ่งก็มีชื่อเรียกต่างๆ กัน) มีเครื่องมือการผลิต เครื่องมือการเกษตร เขามีภาพแสดงวิธีการบอกด้วยว่าปลูกข้าวอะไรบ้าง ตัวเหลืองๆ
รู้สึกว่าตัวจะใหญ่กว่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นในเมืองไทยเล็กน้อย เขาบอกว่าเป็นเบี้ยมาจากทะเลแถวๆ ชานตุง ในตู้ที่วางไว้ตรงกลางไว้เครื่องดนตรี
(น.208) รูป 97 ไปพิพิธภัณฑ์เมืองซีอาน
(น.208) โลหะขนาดต่างๆ ตีแล้วจะเป็นโน้ตหลายๆ เสีย มีภาชนะต่างๆ สำหรับใส่ไว้กับศพ มีขนาดเล็กกว่าของที่ใช้จริงๆ และไม่ประณีตเหมือนของที่ใช้จริงๆ ด้วย
(ภาชนะที่ไว้กับศพที่ว่านี้ดูเหมือนจะเป็นสมัยราชวงศ์ โจว มีประเพณีต่างจากพวกที่ ป้านโพ ซึ่งเอาของที่ใช้จริงๆ ฝังลงไปด้วย)
ที่แปลกไปอีกอย่างหนึ่งคือมีวัตถุคร่ำเงินคร่ำทองทำในสมัย ชุนชิว (B.C. 770-476) ซึ่งเป็นสมัยที่เมืองจีนแบ่งเป็นก๊กๆ หลังจากราชวงศ์ โจว พอเห็นเข้าข้าพเจ้าก็รีบเรียกแอ๋ว (ซึ่งมีหน้าที่
(น.209) รูป 98 ศาลเจ้าขงจื้อ
(น.209) ดูแลนักเรียนศิลปาชีพฯ ของสมเด็จฯ) ให้มาดูว่าจีนเขาก็มีคร่ำมาแต่โบราณเหมือนกัน พูดถึงคร่ำ หรือว่าคร่ำเงินคร่ำทองนี้เป็นศิลปะไทยที่มีมาแต่โบราณปัจจุบันดาบคร่ำ มีดคร่ำ
ก็ยังมีอยู่ (ในพระบรมมหาราชวังมีหลายด้าน) ในวรรณคดีไทยก็มีที่กล่าวถึง แต่คนปัจจุบันจะไม่รู้จักว่า “คร่ำ” นั้นเป็นอย่างไรบางคนคิดว่าคือการฝังลวดเงินลวดทองลงในเหล็ก
ซึ่งถ้าบอกอย่างนั้นลุง สมาน (ผู้เชี่ยวชายทำ “คร่ำ” อยู่คนเดียว) ต้องว่าๆ ไม่ใช่ แล้วลุงหมานก็จะอธิบายวิธีว่าเราต้องใช้สิ่วตอกเนื้อเหล็กเป็นรอยมีเนื้อหยาบๆ แล้วเอาลวดเลินทอง
ตอกติดเข้าเป็นลวดลาย ลุง หมาน พยายามสอนทุกคนรวมทั้งข้าพเจ้าให้ตอก โป๊กๆ ไปตามๆ กัน ปรากฏว่าข้าพเจ้าตอกจนสามารถติดลวดเงินอยู่ แต่ลวดลายที่ออกมาน่าเกลียดมาก
จึงไม่ได้หัดต่ออีกจนทุกวันนี้ ลุง หมาน เศร้ามากกลัวว่าวิชานี้จะสูญเพราะตัวเองเกือบ 80 แล้ว จึงมาปรึกษากับข้าพเจ้าว่าจะจัดพิธีไหว้ครูแบบอิสลาม (ลุง หมาน เป็นอิสลาม)
ข้าพเจ้าก็ให้เงินไปทำพิธี แรากฏว่าภายหลังลุง หมาน ได้ลูกศิษย์ในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษที่ทำได้ฝีมือดีมาก เล่นเอาลุง หมาน ปลาบปลื้มบอกว่าตอนนี้ตายไปวิชาก็ไม่สูญแล้ว
(น.210) รูป 99 พิพิธภัณฑ์เมืองซีอาน
(น.210) พอดีข้าพเจ้าเหลือบเห็นรูป ซีหนิว หรือแรดซึ่งทำขึ้นในสมัย จ้านกว๋อ (Zhanguo หรือ Warring States B.C. 475-221) แรดนี้ทำเป็นภาชนะใส่เหล้าที่เขาเรียกว่า จุน (tsun) เห็นน่ารักดีเลยเรียกให้ใครต่อใครมาถ่ายรูปเอาไว้
อีกตู้แสดงส่วนประกอบต่างๆ ของอาคารในสมัยโบราณ มีท่อน้ำด้วย
ของแปลกที่อยู่ในอีกตู้หนึ่งเป็นวัตถุสำหรับโปรยตามถนนสำหรับหยุดรถม้า เป็นชิ้นเหล็กแหลมๆ 3-4 ด้าน เหมือนกับ “เรือใบ” อันเป็นอุปกรณ์เจาะยางรถยนต์ของพวกนักปล้นไทยๆ
(น.211) นอกจากนั้นมีของต่างๆ สำหรับใส่ในโลงศพ มีเมล็ดพันธุ์ข้าวชนิดต่าง บ่อน้ำ เครื่องมือการเกษตรทุกอย่าง (แต่ทำเล็กๆ) ตุ๊กตารูปสัตว์ คอกม้า บ้าน เล้าเป็ด รถม้าลักษณะคล้ายๆกับเกวียน สานด้วยไม้ไผ่ที่เราซื้อจากศรีสะเกษ ทุกอย่างทำเล็กๆ เหมือนของเล่นน่าเอ็นดู
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือเครื่องทำนายแผ่นดินไหว เขาทำจำลองเอาไว้ให้ดู ของจริงทำด้วยสำริด อยู่ที่ปักกิ่ง คนคิดชื่อ จางเหิง (ค.ศ. 78-139) อยู่ในสมัยราชวงศ์ ฮั่น เขาทำเป็นรูปมังกรอมลูกแก้ว ถ้าลูกแก้วหล่นจากปากมังกรไปอยู่ในปากกบทางทิศไหน ก็รู้ว่าทางนั้นแผ่นดินไหว
ตู้ที่ต่อจากตู้ที่ไว้เครื่องทำนายแผ่นดินไหวมีรูปแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยโบราณ หมอคนนี้รักษาโจโฉ ชื่อว่า หมอหัวถัว คนไทยเรียกันว่า หมอฮัวโต๋ว
นอกจากนั้นมี จื่อหนานเจิน เข็มชี้ทิศใต้ เขาทำเป็นรูปคนและมีเกลียวซึ่งจะเคลื่อนที่ได้ ถึงเกลียวจะเคลื่อนที่ไปทางทิศใดคนจะไม่เคลื่อน คือจะชี้ไปทางทิศใต้อยู่ตลอด
สิ่งของสุดท้านของอาคารนี้ที่เราดูคือเครื่งระบายน้ำ ในสมัยราชวงศ์ ฮั่น แม่พิมพ์หลอมเงิน โซ่ตรวน
(น.212) เราได้ดูอีกอาคารหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ เขารวบรวมหินสลักจากสุสาน กำแพงสุสาน ที่สลักเป็นรูปชีวิตประจำวัน เช่น การไถนาการล่าสัตว์ และการรบกัน (ดูแล้วคันมืออยากจะทำ rubbing)
และยังมีการบันทึกประวัติของผู้ตายที่สลักด้วยลายมืออันสวยงาม มีรอยว่าก่อนจะจารึกต้องตีตารางสี่เหลี่ยมเสียก่อน หินที่ใช้สลักเรียกว่า หิน ชิงสือ (ชิง แปลว่าเขียว สือ แปลว่า หิน) เป็นหินสีเขียวของมณฑลส่านซี
นอกนั้นยังมีประตูสุสาน โลงหินของเด็กหญิงทำเป็นรูปบ้าน มีรูปสลักหิน (เป็นรูปสลักนูนต่ำ หรือ bas-relief) รูปม้า 6 ตัวที่พระเจ้า ถังไท่จง เคยทรง (เหมือนที่ทำ postcard ที่ข้าพเจ้าซื้อฝากน้องเล็กเมื่อคืนนี้)
มีประวัติว่าพระเจ้า ถังไท่จง เคยทรงม้าเหล่านี้ตั้งแต่ยังมิได้ครองราชย์ เมื่อครองราชย์แล้วโปรดฯ ให้สลักหินเป็นรูปม้าทั้ง 6 เขาบอกว่าม้าพวกนี้เป็นม้าของจีนจากมณฑณ ซิน เกียง และ มองโกเลีย ในม้าแต่ละตัวมีชื่อบอกไว้ เขาสลักเป็นทางทางต่างๆ ไม่เหมือนกัน มีตัวหนึ่งถูกลูกศรยิง
ในห้องนั้นยังมีรูปสลักหินรูปสัตว์ขนาดใหญ่มาก มีรูปแรด (โตกว่าตัวจริง) วัว นกกระจอกเทศ สิงโต (สิงโตไลอ้อน ไม่ใช่สิงโตชนิดหน้าตาเหมือนสุนัขปักกิ่ง) เขาบอกว่าสิงโตนี้ผ่านการฝึกมาแล้ว ให้เต้นรำได้ด้วย มีรูปปั้นคนฝึกสิงโตอยู่ด้วย
ตามตู้มีพระพุทธรูป ดูเหมือนจะเป็นสมัยฮั่น ซึ่งเป็นระยะต้นๆ ที่จีนรับพุทธศาสนาจากอินเดีย ลักษณะพระพุทธรูปองค์นี้จึงมีเค้าคนอินเดีย หรือพระพุทธรูปอินเดียมากทีเดียว มาถึงสมัย ถัง พระพุทธรูปจะมีเค้าพระพักตร์กระเดียดไปทางจีนมากขึ้น
(น.213) รูปพระโพธิสัตว์ กวนอิม (ซึ่งอยู่อีกตู้หนึ่ง) ก็เหมือนกัน รูปนี้เศียรหายไป แต่ท่ายืนเป็นลักษณธตริภังค์ เหมือนรูปเขียนที่ถ้ำ อชันตา แสดงว่าอิทธิพลอินเดียยังอยู่มาก
พระพุทธรูปสมัย ถัง ที่เห็นที่พิพิธภัณฑ์นี้ ครองจีวรเหมือนจีวรจริง แบบพระคันธารราษฎร์
นอกจากนั้นยังมีรูป เหลาจื้อ ศาสดาแห่งลัทธิ เต๋า
เมื่อออกจากอาคารนี้ เพื่อเดินไปที่อาคารเก็บศิลาจารึกหรือ ป่าจารึก (เปยหลิน) เห็นนกกระจอกเอาหญ้ามาทำรังบนหลังคา ภัณฑารักษ์เขาบอกว่าไม่รู้จะทำอย่างไรดี
นกพวกนี้บางทีมาถ่ายมูลรดหลังคา ในขี้นกมีเมล็ดหญ้าปนอยู่ด้วย หญ้าก็งอกบนหลังคาต้องคอยถอนกันเรื่อยๆ
ป่าจารึกนี้เป็นที่รวบรวมศิลาจารึกทั้งหมดหลานสมัย ตั้งแต่สมัย ฮั่น ถัง ซ้อง เช่น บทเรียน 12 เล่ม (จารึก 12 แผ่น) ของสมัยโบราณเขาจะจารึกใส่หินและวางไว้ในห้องสมุด
ให้นักเรียนไปคัดเอาเอง จีนรวบรวมหนังสือเรียนถึง 7 ครั้ง มาสมบูรณ์ที่สุดในสมัยราชวงศ์ ถัง มีตัวหนังสือถึง 6 แสน 5 หมื่นกว่าตัว ฐานของจารึกทำเป็นรูปเต่า ลายที่กระดองของเต่าแต่ละตัวทำไม่เหมือนกันเลย
จีนถือว่าเต่าเป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืน เขาเอาคนที่ลายมือสวยในราชวงศ์ ถัง เขียน ฉะนั้นคนที่จะฝึกหัดคัดลายมือ เขาจะถือลายมือในจารึกที่อยู่ในเปยหลินนี้เป็นหลัก แม้แต่ลายมือของท่านประธาน
เหมาเจ๋อตง เขาก็ว่าเลียนแบบจากจารึกสมัยราชวงศ์ ฮั่น (เป็นลายมือหวัดที่ดีที่สุด) มีบางคนว่าสมัยจิ้น
(น.214) รูป 100 ภาพหมู่ที่พิพิธภัณฑ์ซีอาน
(น.214) จากศิลาจารึกนี้จะเห็นพัฒนาการของตัวหนังสือจีน มีทุกแบบตั้งแต่แบบจีนโบราณที่เป็นรูปภาพ ปัจจุบันนี้เขาเอาแผ่นกระจกปิดจารึกทั้งหมด จะแอบดอดมาทำ rubbing ไม่ได้เลย
รูปหนึ่งเป็นรูปแผนที่ภูเขาในสมัยราชวงศ์ เช็ง มีภูเขา หัวซาน ของมณฑลส่านซี อีกรูปเป็นแผนผังเมือง รูปที่สวยมากรูปหนึ่งใช้ตัวหนังสือจีนเขียนบทกวี แต่ประดิษฐ์ตัวอักษรเป็นรูปใบไผ่
เป็นคำพูดของ กวนอู ที่ไม่ยอมทรยศต่อ เล่าปี่ แต่ไม่ได้เป็นจารึกสมัยนั้น ช่างสลักสมัยหลังมาเขียนขึ้น ใบไผ่มองดีๆ เป็นอักษรที่อ่านได้
(น.215) จริงๆ มีรูปบุคคลหลายคน เช่น พระภิกษุชาวอินเดียชื่อ ตาหมัว หรือ ตั๊กม้อ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว (เดาไม่ออกว่าภาษาอินเดียจะชื่อว่าอะไร) ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มาสอนคัมภีร์ทางพุทธศาสนาแก่ชาวจีน
เราไม่มีเวลาที่จะดูจารึกให้ทั่วหรือมากไปกว่านี้ ความจริงในป่าศิลาจารึกแผ่นหนึ่งเป็นพจนานุกรม เขียนเป็นตัวจีนโบราณและมีตัวอักษรจีนแบบธรรมดากำกับ ที่นี่มีจารึก 2,000 กว่าหลัก
ถามเขาว่ามีหนังสือที่เขาสำเนาเป็นแผ่นๆ ที่เขาจะพาไปซื้อ ขาออกมามีแหม่มอเมริกันเข้าใจว่าเป็นชุดเดิมที่พบเมื่อวานนี้ที่หลุมหุ่นทหาร
ห้องขาย rubbing รู้สึกว่าจะเป็นห้องสำหรับนั่งพักผ่อนพวกเรารีบไปที่โต๊ะซึ่งเขาขาย มีทั้งรูปภาพและตัวหนังสือ คิดว่าอยากจะได้ลายมือสวยๆ สมัยราชวงศ์ ถัง มาดูเล่น รวมทั้งภาพตัวหนังสือจีนเขียนเป็นต้นไผ่
และอยากได้แผนที่ภูเขามาฝากพรรคพวกนักแผนที่ทั้งหลาย โดยคิดว่าราคาแผ่นละ 50-60 บาทเป็นอย่างสูง ที่ไหนได้รูปสวยๆ พวกนั้นราคา 100-200 หยวน ซึ่งคิดเป็นเงินไทยก็เอา 13 คูณ (คิดคร่าวๆ) อย่างถูกที่สุด 10 หยวน
ซึ่งเป็นเศษกระดาษชิ้นนิดเดียว บางภาพราคา 500 กว่าหยวนก็มี ตกลงข้าพเจ้าก็บอกว่าซื้อไม่ไหวทำไมแพงอย่างนี้ ที่ขายตึก 7 ก็ไม่เห็นจะแพง เขาบอกว่าของที่ขายที่อื่นไมใช่ของแท้ ดูเหมือนจะเป็นของพิมพ์แกะบล็อก
ที่นี่เป็นของแท้ อาจารย์สารสินก็ยังง บอกว่าเมื่อสองปีก่อนซื้อรูปใบไผ่ยังราคา 20 หยวนเท่านั้นทำไมขึ้นเร็วนัก ข้าพเจ้าเข้าใจเขาว่าต้องขาพแพงๆ เพราะเขาเลิกให้
(น.216) รูป 101 จารึกที่อาจารย์สารสินให้
(น.217) ทำให้ (อันนี้เป็นของรัฐบาลขาย) ภ้าปล่อยให้คนทำอย่างบ้านเราหินจะสึกหมด ของเราไม่เห็นมีใครจะต้องซื้อ แค่มีอุปกรณ์ได้แก่กระดาษ กระบอกฉีดน้ำแบบรีดผ้า แปรงขัดรองเท้า ผ้าดิบ สำลี ทำลูกประคบ
และหมึกแบบอินเดียนอิงค์ (ซึ่งรวมทั้งหมดราคาไม่เท่าไร) กับมีความใจเย็นและอดทนก็จะสามารถทำสำเนาได้ปรากฏว่ามีภุชชงศ์คนเดียวที่อาการหนักกว่าข้าพเจ้า คือซื้อมาแผ่นหนึ่งในราคา 100 หยวน
ข้าพเจ้าถามว่าทำไมไม่ซื้อของปลอมอย่างข้าพเจ้า ก็เป็นรูปอย่างเดียวกัน (อาจารย์สารสินก็ว่าอย่างนั้น) เขาบอกว่ามันไม่ซาบซึ้งเหมือนของจริง! อาจารย์สารสินบอกว่ากลับเมืองไทยจะยกรูปใบไผ่ให้ข้าพเจ้า ส่วนคนอื่นๆ เขาไม่สนใจจารึก
ก่อนกลับหัวหน้าภัณฑารักษ์เขาให้กระดาษทำ rubbing มาเป็นที่ระลึก ก็คล้ายๆ ที่เราทำ แต่รู้สึกว่าเนื้อจะละเอียดกว่า
พอขึ้นรถคุณซุนหมิงบอกว่ายังมีของน่าดูอีกหลายอย่างที่พิพิธภัณฑ์ซึ่งไม่มีเวลาดู เช่น เขาเขียนบทกวีประกอบด้วยตัวหนังสือจีน 4 ตัว ไว้บนเม็ดข้าวเดียวได้ ว่าวรูปร่างต่างๆ และหุ่นกระบอก
ทางไปสวนสัตว์ ข้างทางเห็นคนกำลังซักผ้าอยู่ข้างถนน ในอ่างเอาผ้าครูดกับอะไรก็ไม่รู้แทนการขยี้ เห็นคนกำลังขายรูปเขียนและหาบก๋วยเตี๋ยว คำว่าสวนสัตว์นี้ภาษาจีนใช้ว่า ต้งอู้หยวน
(น.218) ที่สวนสัตว์ มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาคอยต้อนรับ และชวนกันเข้านั่งในห้องพัก เพื่อเลี้ยงน้ำชา
ท่านผู้ว่าฯ ทักทาย ถามว่าข้าพเจ้ามีโอกาสดูพิพิธภัณฑ์ทั่วหรือยังข้าพเจ้าตอบไปว่า ยังขาดของสำคัญๆ หลายอย่าง ท่านผู้ว่าฯ จึงอธิบายว่า ยังมีสุสานราชวงศ์ โจว ซึ่งมีหลุมฝังรถม้า 3,000 ปีมาแล้ว
ถ้าคราวหน้ามาใหม่อยากให้มาคุยกับนักโบราณคดีจีนบ้าง ที่นี่มีสถาบันวิจัยด้านโบราณคดี มหาวิทยาลัยภาคพายัพแห่งซีอานก็มีแผนกโบราณคดี ราชวงศ์ ซีโจว ตั้งอยู่ห่างบริเวณเมืองราว 100 ก.ม.
เมืองซีอานมีสถาปัตยกรรมหลายอย่าง เช่น สุสานราชวงศ์ โจว วังของ ฉินสื่อหวังตี้ (สิ่งก่อสร้างไม่มี เหลือแต่ซาก) วังราชวงศ์ ฮั่น วังราชวงศ์ ถัง
Next >>