Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2524 "


(น.218) รูป 102 หมีแพนด้าในสวนสัตว์ซีอาน

(น.219) หลังจากนั้นก็ชวนกันเดินชมสวนสัตว์ ผู้ดูแลสวนสัตว์อธิบายว่า เมืองซีอานมีสวนสัตว์ตั้งแต่ ค.ศ. 1956 เดิมอยู่ในเมือง แต่จะขยายถึงต้องย้ายออกมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบันซึ่งเป็นเขตนอกเมืองเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1976 ขณะนี้ต้นไม้ที่ปลูกรอบๆ บริเวณก็ยังไม่โตเต็มที่ ที่เดิมมีเพียงขนาดเฮกตาร์เดียว ที่สร้างใหม่มีขนาดถึง 23.5 เฮกตาร์ (351 โหม่ว) มีสัตว์ร้อยกว่าอย่าง มีสัตว์ซึ่งพบในประเทศจีนเท่านั้นมีกวางเรนเดียร์ นกกระเรียนหัวแดง เสือภาคอีสาน ลาป่า นกแก้ว เสฉวน เสือดาว หมีดำ หมีสีน้ำตาล สิงโตแอฟริกา และ ม้าลาย และยังมีสัตว์ญี่ปุ่นที่ทางโตเกียวและนาราให้สวนสัตว์ซีอาน (มีการแลกเปลี่ยนสัตว์กัน) มีนกฟลามิงโก หงส์คอดำ นกไก่ฟ้า นกภูเขาเขา กวาง ฯลฯ เมื่อเดินถึงกรงสัตว์ เสียงที่ได้ยินก่อนคือเสียงนกยูงร้อง มีทั้งนกยูงขาว และนกยูงธรรมดา กำลังรำแพนหาง เราเดินไปดูหมี แพนด้าใหญ่ ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า ต้าสยงเมา (da xiong mao) ต้า แปลว่า ใหญ่ สยง แปลว่า หมี (แต่คำที่ออกเสียงเดียวกันอาจแปลว่า ความกล้า ก็ได้ หรือตัวผู้ก็ได้) เมา แปลว่า แมวในที่นี้คงแปลว่า หมีแมว เจ้าหมีแมวหรือแพนด้านี้ตามธรรมชาติอยู่ป่าโปร่ง กินใบไผ่ เขาเลี้ยงไว้ในบ่อ หมีแพนด้าส่านซีตัวหนึ่งแพนด้าเสฉวน 2 ตัว และหมีแพนด้าเล็กอีกจำนวนหนึ่งน่าสงสารมันเพราะในบ่อไม่มีต้นไม้ร่มๆ เลย อากาศก็ร้อน ความจริง

(น.220) เขามีทางให้เดินเข้ากรงหลบแดดได้ แต่มันก็ไม่ยักเข้า หมีแพนด้าตัวหนึ่งนอนเอาหัวพาดก้อนหินแลบลิ้นแผล็บๆ อีกตัวหนึ่งย่องมาข้างหลังมาสะกิดชวนคุย เจ้าตัวแรกยังไม่อยู่ในอารมณ์ หันขวับมาตะปบแล้วขู่แฟ่ เล่นเอาเจ้าแพนด้าช่างคุยถอยกรูด แพนด้าเล็กอยู่ในห้อง (เป็นกรง) หน้าตาผิดกับแพนด้าใหญ่มากคือไม่เป็นสีดำขาว แต่เป็นสีน้ำตาล แล้วมีหน้าด่างขาวๆ กรงสัตว์ใต้ถุนนี้เขารักษาความสะอาดได้ดีมาก ไม่เหม็นเลย ทางเดินระหว่างกรงมีทางน้ำสำหรับให้น้ำที่ล้างกรงไหลลง ตามกรงที่อยู่ใต้ถุนนี้มีหมีควายแบบเมืองไทยด้วย [**หมีแพนด้า เหมย เหมย อายุ 7 ปี ตกลูกตัวหนึ่งที่สวนสัตว์เฉิงตูในมณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 18 กันยายน ศกนี้ ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวซินหัวของจีน เหมย เหมยได้ผสมพันธุ์กับหมีแพนด้าชื่อเจียง เจียง อายุ 7 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม สำหรับลูกหมีแพนด้า ที่เกิดมานี้ยังไม่ได้ตั้งชื่อและไม่รู้กันว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ขนาดของลูกหมีที่เกิดยาว 10 ซม. หนัก 100 กรัม ทั้งแม่หมีและลูกหมีมีอาการดีมากหลังคลอด เจ้าหน้าที่สวนสัตว์กล่าวว่า ลูกหมีแพนด้าอีกตัวหนึ่งชื่อรองเจ๋ง ซึ่งเกิดก่อนจากแม่เดียวกัน หยุดเล่นและหันมาดูการเกิดของลูกหมีตัวใหม่ด้วยความสนใจ
** ข่าวจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2524


(น.221) รูป 103 พยายามถ่ายรูปหมีแพนด้า

(น.221) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2523 เหมย เหมยเคยตกลูกแฝดหลังจากที่ทำการผสมเทียม แต่ก็เหลือรอดอยู่ตัวเดียว คือรองเจ๋ง สวนสัตว์เฉิงตูนี้ ถือกันว่าเป็นถิ่นเกิดของหมีแพนด้า ซึ่งเวลานี้มีแพนด้าอยู่ 10 ตัวด้วยกัน**] เดินออกจากใต้ถุนจะไปกรงลิง เห็นเด็กนักเรียนชั้นประถมตัวกระจ้อยร่อยกลุ่มใหญ่ ห้อยกระติกน้ำคนละใบมากับครูเป็นกลุ่มใหญ่ (วันนี้เป็นวันเสาร์) มีระเบียบดี ในระหว่างทางเดินเขาชี้ให้ดูสุสานของบิดาพระจักรพรรดิ ฉินสื่อหวังตี้ อยู่บนภูเขา

(น.222) เมื่อไปถึงกรงลิง เห็นลิงกระโดดห้อยโหนไปมาอยู่ เดี๋ยวเดียวก็หลบเข้ากรงหมด เขาพาลงไปดูข้างล่าง (ที่กรง) เห็นลิงขนสีทอง หน้าสีฟ้า สีหน้าท่าทางก็เป็นลิงธรรมดาๆ เรานี่เอง ทุกตัวกำลังง่วนกินเมล็ดดอกทานตะวัน เคี้ยวหมุบๆ ด้วยฟันหน้า คนเลี้ยงเขาผ่าแอปเปิ้นส่งเข้าไปให้ในกรง ตัวหนึ่งมองซ้ายมองขวา ค่อยๆ ย่องมารับ มีอยู่ตัวหนึ่งมิไยผู้ดูแลจะเรียก ก็ทำท่าหยิ่งไม่สนใจ พอดูลิงเสร็จเดินออกมา เห็นตัวอะไรอยู่ในอ่างเคลือบ ก็เดินไปดู เห็นเป็นสัตว์อย่างหนึ่งหน้าตาแปลกประหลาดคล้ายสัตว์โลกล้านปีหัวโต ปากแบนๆ มีรูจมูก มีขาสี่ขา แต่ละขามีนิ้ว 5 นิ้ว น่าเกลียดมาก ลองจับดูเป็นเมือกลื่นๆ ขนาดเวลาชักมือออกจากอ่างยังลื่นติดมือขึ้นมา เขาบอกว่า เรียกว่า ปลา หวาวา (wa wa yu)


(น.222) รูป 104 ปลาเด็กหรือปลาต้าหนี่ซึ่งเป็นปลาตีนอย่างหนึ่ง กินได้


(น.223) รูป 105 กำลังจดรายละเอียดเกี่ยวกับปลาต้าหนี่หรือปลาหวาวาหยู ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าน่าเกลียดกว่าตุ๊กแกเพราะตัวมันลื่นๆ

(น.223) แปลว่า ปลาทารก เขาบอกว่าปลาชนิดนี้หัวใหญ่เหมือนหัวเด็กที่ว่าเป็นปลาเพราะขึ้นบกไม่ได้ต้องอยู่ในน้ำ ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วว่าเป็นปลาตีนก็ไม่ใช่ เลยถามเขาว่ามีเหงือกเหมือนปลาหรือเปล่า ออกลูกเป็นตัวหรือเป็นไข่ ชอบกินปลาตัวเล็กๆ เป็นอาหาร พอดีอาจารย์สารสินมา ข้าพเจ้าเลยขอให้อาจารย์ถามผู้ดูแลตัวประหลาดนี้ว่ามันชื่ออะไรอีกที และให้จดในสมุดของข้าพเจ้าให้ด้วย อาจารย์จดให้ว่า ชื่อปลา ต้าหนี่ หรือภาษาฝรั่งเรียกว่า ซาลามานเดอร์ (Salamander) เครื่องหมายประจำพระองค์ของพระเจ้า ฟรองซัว ที่ 1 กษัตริย์ฝรั่งเศส คุณซุนหมิงบอกว่า ปลานี้มีต้นกำเนิดอยู่ทางใต้ของมณฑลส่านซีตอนหลังเขามาเพาะพันธุ์สำหรับรับประทาน เพราะเนื้ออร่อยมากหวานกว่าเนื้อไก่ มณฑลส่านซีเตรียมที่จะเปิดภัตตาคารที่อาหารทุกอย่างประกอบด้วยหัวเด็กแบบเดียวกับภัตตาคารเป็ดปักกิ่งมีแต่อาหารที่ประกอบด้วยเป็ด


(น.224) รูป 106 สวนสัตว์

(น.225) ข้าพเจ้าถามผู้ดูแลสวนสัตว์ว่า สวนสัตว์นี้มีช้างหรือไม่ เขาบอกว่าที่ซีอานนี้ไม่มีช้าง มีแต่ที่ปักกิ่ง แล้วข้าพเจ้าถามถึงสมเสร็จ 2 ตัว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ฯพณฯ เติ้งเสี่ยวผิง ครั้งที่มาเยือนไทยเมื่อ 2-3 ปีก่อน เขาบอกว่าขณะนี้อยู่สบายดีที่ปักกิ่ง ก่อนจะกลับได้เห็นนกกระเรียนหัวแดง (ไม่ใช่หัวล้านอย่างนกตะกรุม เป็นแต่ขนที่หัวสีแดง) เป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืน มาจากมณฑล เฮยหลงเจียง ภาคอีสานของจีน ในรถขากลับ คุณซุนหมิงบอกว่ามณฑลส่านซียังมีการแสดงละครลิงที่เมือง เสียนหยาง ข้าพเจ้าถามว่าในมณฑลส่านซีมีอูฐไหม คุณซุนหมิงว่ามีอยู่ที่ มองโกเลียใน เหนือมณฑลส่านซี เขาใช้เป็นสัตว์พาหนะ อูฐที่นี่มีแต่อูฐสองตะโหงก อูฐตะโหงกเดียวไม่มี เห็นอูฐแล้วนึกขึ้นมาได้อย่างหนึ่งว่า อูฐภาษาจีนนั้นว่า ลั่วทัว หรือ เลาะเทาะ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว มีพระราชลัญจกร มหาโลโต สำหรับปิดพระราชสาส์นไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนสมัยราชวงศ์ เช็ง โดยได้ทราบว่าทำเป็นรูปอูฐหมอบ คำว่า โลโต จึงแปลว่าอูฐ ตอนนี้มีรถเทียมม้า 5 ตัวสวนทางมา รถผ่านโรงแรม คุณซุนหมิงบ่นว่าโรงแรมมี 500 เตียงเท่านั้น อยากจะรับนักท่องเที่ยวมากๆ ก็ไม่ได้ รวมทั้งหมดดูเหมือนจะมี 700 หว่าเตียงเท่านั้น ที่หวาชิงฉือมี 30 กว่าเตียง ที่นี่มีที่น้อย คนมามาก

(น.226) ปีที่แล้วเดือนสิงหาคมคนมากที่สุด ปีนี้ไม่ทันถึงเดือนสิงหาคมก็มีคนมากแล้ว บางคณะติดต่อว่าจะมา ทางจีนไม่มีที่พักจึงให้มาไม่ได้ซึ่งน่าเสียดายมากเพราะจีนอยากให้ต่างประเทศมาลงทุน ไปไปมามาทำไมไปพูดเรื่องหมูก็ไม่ทราบ คุณซุนหมิงเล่าว่าที่นี่ทุกครอบครัวชอบเลี้ยงหมู เขาเก็บหญ้าและผักที่เหลือจากคนกินคือที่เน่าบางส่วนไปทำอาหารหมู แต่เดิมมีหมูไม่พอ เดี๋ยวนี้มีหมูมากขึ้นพอสนองความต้องการของประชาชน แล้วถ้าพืชผลดีก็เลี้ยงได้มาก ก่อนวันที่ 10 มิถุนายน นี้ ถ้าไม่มีลมร้อนหรือลูกเห็บตกก็คงจะเก็บพืชผลได้ดี คุณซุนหมิงอธิบายว่าทางอเมริกาเขาให้ดินพักบ้างปลูกบ้าง และผลัดกันปลูกพืชนิดต่างๆ ก็ไม่เหมือนกันแต่ละปี ของจีนปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง บางแห่งปลูกพืชน้ำมัน ข้าว ทำให้ดินดีกว่าปลูกพืชอย่างเดียว นอกจากนั้นยังปลูกถั่วเขียว เก็บส่วนหนึ่งไปทำประโยชน์ นอกจากนั้นไม่เก็บจะไถกลบลงในดินเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกข้าวสาลี คุยไปแค่นี้พอดีถึงบ้านพัก ต้องรีบรับประทานข้าวเพราะเราจะต้องออกจากบ้านพักบ่ายโมงยี่สิบ เมื่อถึงบ้านพบคุณออม คุณแป๊ว แสดงว่าท่านผู้หญิงมณีรัตน์กลับมาแล้ว ที่ห้องอาหาร พบท่านผู้หญิงมณีรัตน์ข้าพเจ้าก็ทักว่าทำไมไม่ตามไปสวนสัตว์ คำถามนี้พอดีไปจี้จุดที่ท่านผู้หญิงโมโห ท่านผู้หญิงโกรธเตี่ยที่ขับรถช้า ทำให้อดไปสวนสัตว์ ส่วนที่ไปดูก็พอใจดี เล่าว่าการทอผ้ามีแต่การทอด้วยเครื่องจักร ทอด้วยมือไม่มีเลย เป็นผ้าฝ้ายอย่างธรรมดาๆ แบบเสื้อที่คนจีนใส่กัน มีสีขาว สีน้ำเงิน ท่านผู้หญิงอยากจะซื้อเขา

(น.227) บอกว่าซื้อไม่ได้เพราะเป็นที่ผลิต ไม่ใช่ที่สำหรับขาย ต่อจากทอผ้าท่านผู้หญิงกับคณะได้ดูการปักของจีน ซึ่งท่านผู้หญิงและตุ๋ยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า วิธีปักของจีนเหมือนกับวิธีปักของไทย คือมีสะดึงสี่เหลี่ยม แล้วปัก 2 มือ มือหนึ่งอยู่ข้างบน อีกมือหนึ่งอยู่ข้างล่าง (ต้องปักให้ได้ทั้งมือซ้ายมือขวา) ท่านผู้หญิงบอกว่า ของเขาดีตรงที่ขึงผ้าตึงดี และเวลาปักเขาปักเฉพาะที่ นอกจากบริเวณที่เขากำลังปักอยู่เขาจะใช้ผ้าปิดเอาไว้ ข้าพเจ้าบอกว่าของเราก็ทำอย่างเดียวกันนี้แหละ (ที่ถูกต้อง) เวลาข้าพเจ้าทำ “ขบวนการพี่เลี้ยง” พิถีพิถันกันมากในเรื่องนี้ อีกอย่างหนึ่งที่ของเขาไม่เหมือนของเราคือเขาจะเขียนลายและให้สีไปบนผ้าเลย ไม่ต้องเขียนบนกระดาษแล้วเอากาวติดหรือเนาแบบกระดาษติดกับผ้า ข้าพเจ้าคิดว่าฝีมือคนไทยก็ไม่แพ้คนจีนในเรื่องการปัก เพียงแต่ว่าคุณภาพของไหมจีนอาจจะดีกว่า ข้าพเจ้าสังเกตดูเห็นที่ตามร้าน เส้นจะเล็กละเอียดกว่าของเรา ท่านผู้หญิงบอกว่าบางทีก็มีที่เส้นอูดๆ ขึ้นมาและเส้นแตกเหมือนกัน ถ้าสนเข็มไว้ยาวเกินไปอย่างไรก็ตามข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะลองเอาไหมจีนมาปักดูบ้าง ของจีนเขามีสีให้เลือกมากกว่าด้วย ผ้าปักที่ท่านผู้หญิงไปดูเขาก็ไม่ขายเหมือนกัน เขาทำสำหรับส่งญี่ปุ่นซึ่งมาสั่งเอาไปจำนวนมากๆ ตุ๋ยเล่าว่าเขามีปักดิ้นทองด้วย และน่าชมว่าคนที่ปักดูมีสมาธิดีมาก ไม่สนใจคนที่มา และไม่คุยกัน ต่างคนต่างทำ ถามจากโรงงานนี้ได้ความว่า ทุกคนทำงานกันแข็งขันเป็นเวลาวันละ 8 ชั่วโมง ได้รายได้เดือนละประมาณ 500-600 บาท ถ้าทำงาน 2 กะ หรือทำล่วงเวลาก็จะได้เงินมากกว่านี้

(น.228) อาหารกลางวันมีหมูทอด มันแกวผัด ผักกาดผั บะหมี่ (เป็นต้น) มีลูกท้อด้วย เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็ขอบใจคนเสิร์ฟอาหารทุกคนขึ้นไปดูเก็บข้าวของเป็นวาระสุดท้าย เสร็จแล้วข้าพเจ้าเดินไปหน้าบ้านเห็นหมอดนัยกำลังถ่ายรูป ศ.ร.ภ. ข้าพเจ้าเลยไปขอถ่ายรูปกับ ศ.ร.ภ. บ้าง สำหรับกล้องถ่ายรูปของข้าพเจ้ากับกล้องของท่านผู้หญิงมณีรัตน์นั้นเหมือนกัน แต่ของข้าพเจ้าใช้การได้ดีกว่ากล้องท่านผู้หญิงซึ่งมักจะป่วยตลอดกาล ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะถ่านหมดจึงได้ “ขอยืม” (ขอไปเลย) ถ่านจากเครื่องคิดเลขของคุณหญิงตุ๊กตาใส่กล้อง ดูมันอาการดีขึ้นนิดหน่อยแล้วกลับทรุดไปอีก ท่านผู้หญิงจึงชอบขอยืมกล้องของข้าพเจ้าอยู่เนืองๆ ก่อนออกจากบ้านไป มีคนเอาผ้าที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์อยากจะซื้อ แล้วเขาบอกว่าซื้อไม่ได้ มาให้ท่านผู้หญิงและบอกว่าเป็นของขวัญจากซีอาน ข้าพเจ้าขอบใจพวกเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ของซีอานและคนอื่นๆ เสร็จแล้วก็ขึ้นรถไปกับคุณซุนหมิง ในรถข้าพเจ้าเล่าว่า เมื่อกี้นี้รับประทานลูกท้ออร่อยดี คุณซุนหมิงเลยอธิบายว่า ที่ซีอานนี้มีท้อลูกเล็ก มักจะส่งขายต่างประเทศญี่ปุ่นชอบ ท้อชนิดนี้มีข้อดีอยู่อีกอย่างคือทนปมลงได้ เดี๋ยวนี้มีชนิดที่ไม่ต้องปลูกเลย (เป็นท้อป่า) เขาใช้ทำท้อกระป๋องด้วยข้าพเจ้าถามว่าโดยทั่วๆ ไปจะต้องฉีดยาฆ่าแมลงหรือไม่ เขาบอกว่าโดยทั่วไปยาฆ่าแมลงใช้เฉพาะกับผลไม้ ผักไม่ต้องใช้ แมลงศัตรู

(น.229) พืชมีไม่มากนัก การฆ่าแมลงบางทีใช้ควันรม สำหรับปุ๋ยนั้นส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยหมัก บางทีใช้ขี้เถ้าจากปล่องไฟ สำหรับนาข้าวสาลีบางทีใช้ปุ๋ยเคมีบ้าง แต่สวนผลไม้เขาจะไม่ใช้ ปุ๋ยเคมีอันไหนควรจะทำอะไรก็ต้องดูตามสภาพ ขนาดแตงกวาซึ่งปลูกง่าย ก็ต้องมีวิธีเขาจะขุดร่องใส่น้ำให้ลึกๆ แต่ถ้าไม่ระวังปล่อยให้แช่น้ำก็ขึ้นราได้ง่าย อำเภอหลินถงแถวๆ หวาชิงฉือ บางทีมีลูกเห็บตก ทำให้นาข้าวสาลีเสียไป อย่างนี้ถ้าปล่อยให้เกิดแล้วก็แก้ไม่ได้ ต้องใช้วิธีทำให้เมฆกระจายไปเสียก่อน พอดีถึงสนามบินข้าพเจ้าขอบคุณคุณซุนหมิงซึ่งได้ช่วยเหลือและอธิบายสิ่งต่างๆ ในซีอานเป็นอย่างดี พร้อมทั้งลานายกเทศมนตรีคนอื่นๆ ที่มาส่ง รวมทั้งเตี่ย หลังจากนั้นเครื่อง CAAC ลำเดิมก็พาเราจากมหานครซีอานเมืองประวัติศาสตร์ เมืองประวัติศาสตร์อันควรแก่การทรงจำ ในเครื่องบินท่านหวังนั่งอยู่ด้วยอย่างเคย ข้าพเจ้าถามท่านหวังว่าที่ดินซึ่งแต่ละคอมมูน แบ่งให้สมาชิกนั้นเท่ากันหรือเปล่า ท่านหวังบอกว่าแต่ละคอมมูนมีสภาพต่างกัน บางคอมมูนมีสมาชิกหลายพันคน บางคอมมูนก็ให้ถึงหมื่น 2 หมื่นคน บางคอมมูนแต่ละคนมีที่ดิน 1-5 โหม่ว บางคอมมูนก็ให้ไม่ถึง โหม่ว กฎของคอมมูนแต่ละแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ต่างมณฑลกันมักจะไม่เหมือนกัน ท่านผู้หญิงมณีรัตน์เล่าถึงการไปดูโรงงานปักผ้า ท่านหวังบอกว่า ผ้าปักจีนที่มีชื่อเป็นของ เสฉวน เจียงซู หูหนาน บ่ายนี้อาจจะได้ดูฝีมือของเสฉวนก็เป็นได้

(น.230) ท่านหวังชี้ให้ดูยอดเขา ฉินหลิ่ง ซึ่งเป็นภูเขากั้นระหว่างมณฑลส่านซีกับมณฑลเสฉวน แล้วก็สอนภาษาจีนต่อ พูดถึงภาษาจีนที่ใช้ตัวอักษรอย่างใหม่ ท่านหวังเทียบตัวอักษรใหม่และเก่า บอกว่าของใหม่เป็นผลงานที่นักวิชาการคิดค้นคว้ามาหลายปีเริ่มใช้ใน ค.ศ. 1955 ตอนเริ่มต้นเขาสอนในหนังสือพิมพ์ ขณะนี้ใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ที่อื่นๆ เช่น คนจีนในเมืองไทยก็ใช้อย่างเดิม ท่านหวังบอกว่ามีนคนคิดจะใช้ระบบอักษรโรมันเสียด้วยซ้ำไปแต่ประสบอุปสรรคใหญ่หลวง ข้าพเจ้าเลยว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็แย่ เราก็ไม่ต้องเรียนหนังสือจีนกันแล้ว แอร์โฮสเตสเดินมาบอกว่าใกล้จะถึง เฉิงตู แล้ว อุณหภูมิที่เฉิงตู 24 ํ ท่านหวังบอกว่าเฉิงตูเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์มากข้าพเจ้ามองลงไปทางช่องหน้าต่างเห็นพืชพันธุ์ธัญญาหารเขียวไปหมดได้ทราบว่าที่นี่ทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง ท่าหวังว่าขณะนี้เก็บข้าวสาลีแล้ว กำลังเก็บ อิ๋วไช่จื่อ ซึ่งเป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่ง เมื่อเครื่องบินลง ก็มีคณะเมืองเฉิงตูคอยต้อนรับ แนะนำทุกคนที่บันไดเครื่องบินอย่างที่เคย แต่ที่นี่แปลกกว่าที่ปักกิ่งและซีอาน คือ เขาพาเดินขึ้นตึกรับรองของสนามบินและเชิญนั่งรับประทานน้ำชา รองนายกเทศมนตรีเมืองเฉิงตูกล่าวคำต้อนรับและให้รองหัวหน้าสำนักงานวิเทศกิจอ่านหมายกำหนดการ ว่าต่อจากนี้เราจะได้ไปดูโรงงานทอผ้าไหม ถึงเวลา 19.00 น. ผู้ว่าการมณฑลเสฉวนจะเลี้ยง วันรุ่งขึ้น 7.00 น.รับประทานอาหารเช้า 8.00 น. จะไปดูชลประทาน ตูเจียงเอี้ยน ดูการผลิตไหมของกองการผลิต (เซิง ฉ่าน ตุ้ย – production team) ของคอมมูน


(น.231) รูป 107 เมื่อถึงเสฉวนนายกเทศมนตรีคนใส่แว่นตาดำต้อนรับ

(น.231) รับประทานข้าวเที่ยงที่ชลประทาน บ่ายกลับเฉิงตู บ่ายสี่โมงออกไปสนามบิน เมื่อรองหัวหน้าสำนักงานวิเทศกิจพูดจบแล้ว ก็เชิญให้เราพักผ่อนเข้าห้องน้ำหรือบางคนก็ซื้อของซื้อรองเท้าอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งแล้วเขาก็พาเดินไปขึ้นรถ สังเกตเห็นได้ว่าสนามบินเฉิงตูนี้ใหญ่มากทีเดียว และสะอาดเรียบร้อยดี คนที่นำข้าพเจ้าในวันนี้ก็คือรองหัวหน้าสำนักงานวิเทศกิจชื่อคุณ จางหุ้ยหมิง เป็นคนช่างอธิบายพอๆ กับคุณซุนหมิงที่เมืองซีอาน

(น.232) อธิบายให้ข้าพเจ้าว่า มณฑลเสฉวนมีประชากร 97 ล้านคน เป็น 1 ใน 10 ของประเทศจีน มีเนื้อที่ 5 แสน 6 หมื่นตารางกิโลเมตร อาชีพหลักของประชาชนคือการเกษตร ประชาชน 80% เป็นชาวนา พืชที่ปลูกมี ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพด มันเทศ ฝ้าย พืชน้ำมัน อ้อย ใบยาสูบ ข้าวเจ้าและข้าวสาลีปลูกทางทิศตะวันตก ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบสูง ปลูกข้าวโพด มันเทศ 30% ของพื้นที่เป็นเนินสูง ใช้เลี้ยงสัตว์ ปลูกป่าไม้ ที่ราบมีน้อยเพียง 6% เท่านั้นขณะนี้กิจกรรมที่กำลังทำอยู่มีการเก็บข้าวสาลีและพืชน้ำมัน และกำลังดำนาอยู่ ข้าพเจ้ามองออกทางหน้าต่างรถเห็นชาวนากำลังดำนาบ้างไถนาบ้าง น่าดูเป็นที่สุด เสียดายที่กล้องถ่ายรูปอยู่ที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ และอีกอย่างหนึ่งเตี่ยเมืองเฉิงตูขับรถไม่ช้าเหมือนเตี่ยเมืองปักกิ่ง และเตี่ยเมืองซีอาน คุณจางอธิบายต่อว่า ทางตะวันตกปลูกข้าวสาลี ข้าวเจ้า 2 ครั้งทางตะวันออกส่วนที่อากาศร้อนปลูกได้ถึง 3 ครั้ง มีข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพดและมัน ข้าวเจ้าซึ่งปลูกบนที่ราบภาคตะวันตกใช้น้ำจากชลประทานตูเจียงเอี้ยน ส่วนของเสฉวนที่อุดมสมบูรณ์คือทางตะวันตก มณฑลเสฉวนนี้อากาศเปลี่ยนแปลงมาก จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ทางตะวันตกอากาศเย็น แต่มีชลประทานดี จึงไม่แห้งแล้ง ส่วนอากาศทางตะวันออกร้อนมาก ที่ จุงกิง ร้อนสูงสุด 44 ํ บริเวณที่ราบสูงอุณหภูมิจะต่ำ บริเวณนั้นมีคนอยู่บ้างแต่น้อยเต็มที บริเวณนั้นน้ำแข็งและหิมะจับตลอดปี ส่วนอากาศดีที่สุดคงจะเป็นที่ราบสูงเฉิงตู อากาศร้อนสุดไม่เกิน 38 ํ และอุณหภูมิจะไม่ลงต่ำถึง 0 ํ น้ำจะไม่จับแข็งปลูกผักได้ตลอดปี

(น.233) บ้านพักของชาวนาจะปลูกต้นไผ่โดยรอบ สังเกตดูอิฐหรือดินที่นี่เป็นสีออกดำ ผิดกับที่ซีอานซึ่งอิฐจะมีสีออกแดง คุณจางบอกว่าเขาปลูกไม้ไผ่เอาไว้ปลูกบ้าน ทำเครื่องมือการเกษตรและจักสาน เขาเล่าต่อว่า ตอนนี้ปริมาณผลผลิตการเกษตรเพิ่มกว่าเมื่อก่อนปลดแอกใน ค.ศ. 1949 ถึง 20 เท่า ถึงแม้ว่าเสฉวนจะมีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่เมื่อ 10 ปีก่อน ได้รับความเสียหายเพราะเกิดการปฏิวัติภายใน เกิดผลิตไม่พอกินเพราะนโยบายของผู้ปกครองสมัยนั้นไม่ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต ไม่ส่งเสริมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ข้าวในเสฉวนกลับไม่พอกิน ต้องเอาข้าวจากต่างมณฑล 1,000 กว่าล้านชั่ง ต่อมาเมื่อ 4 ปีมานี้ผลิตดีกว่าเก่ามาก (เมื่อเปลี่ยนผู้นำ) ข้าพเจ้าได้ทราบว่า เสฉวนเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงตอนบน อุดมด้วยทรัพยากรมีทั้งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ท่านรองประธานพรรคเติ้งเสี่ยวผิงเป็นชาวเสฉวน ก่อนที่ท่านจ้าวจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็เคยเป็นข้าหลวงเมืองเสฉวน ประชาชนมณฑลนี้ต่างชื่นชมต่อนโยบายเศรษฐกิจเสรีและส่งเสริมให้ยกฐานะการครองชีพของประชาชนจนมีคำขวัญว่า “ต้องการอาหาร ต้องหาจื่อหยาง” ติดปากทุกคน ข้าพเจ้าสังเกตดูว่าส่วนมากจะใช้ควายในการทำนา ใช้รถแทรกเตอร์หรือรถไถน้อย คุณจางเล่าต่อว่า แต่ก่อนนี้ในเสฉวนไม่มีอุตสาหกรรมนอกจากโรงช่างแสงเล็กๆ ในระยะหลังเสฉวนได้พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้า อุตสาหกรรมเคมี เครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์

Next >>