Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2524 "

(น.249) ดูชลประทานเฉิงตู
“อาณาจักรสวรรค์”
วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2524

(น.250) วันนี้ตื่นเช้าขึ้นมาอากาศขมุกขมัว ฝนตก ยังนึกอยู่ว่าจะดูการชลประทานกันอย่างไรถ้าฝนตกอย่างนี้เรารับประทานข้าวเช้าด้วยกันอย่างเคย มีการคุยกันเรื่องสามก๊กฉบับต่างๆ อาหารเช้าวันนี้มีข้าวต้ม มันทอด ไก่ผัดกับ ถั่วแขก ถั่วลิสง ผัดผักกาด ผักกาดดอง เห็ด แตงกวาดอง หมูทอด ไข่ต้ม ขนมปัง หมั่นโถว (ซาลาเปาไม่มีไส้) และขนมอะไรอีกอย่างหนึ่ง ถึงเวลา 8.00 น. คุณจางมารับอีกตามเคย ฝนยังไม่หยุดอากาศยังครึ้ม คุณจางบอกว่ามีคนกล่าวว่า เมืองเสฉวนนี้หาแดดยาก ถ้าแดดออก หมาต้องร้อง! ระหว่างทาง เห็นคนสีฟันอยู่ข้างท่อ แม่เฒ่าคนหนึ่งกำลังป้อนบะหมี่หลานเล็กๆ รถผ่านพิพิธภัณฑ์ คุณจางอธิบายว่าแต่ก่อนเป็นวัง หลิวเป้ย (เล่าปี่) บ้านเก่ารื้อไปแล้ว ปัจจุบันเป็นหอนิทรรศการศิลปะลายมือ เครื่องจักรต่างๆ ทางการเกษตร อุตสาหกรรมรถยนต์ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถตู้ที่ประกอบที่เมืองเฉิงตู คุณจางบอกว่าระยะทางไปชลประทาน ตูเจียงเอี้ยน 57 กิโลเมตร ตูเจียงเอี้ยนนี้มีประวัติมา 2,000 กว่าปีแล้ว ตั้งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำหมินเจียง ในอำเภอก้วนเสี้ยน เริ่มต้นสมัยจ้านกว๋อ (Warring States B.C. 476-211) แล้วจึงพัฒนามาเป็นตูเจียงเอี้ยน แม่น้ำหมิงเจียงไหลเชี่ยวจากภูเขาลงสู่ที่ราบใกล้เมืองก้วนเสี้ยน กระแสน้ำได้นำเอาตะกอนเป็นจำนวนมากมาตกเต็มท้องน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วม เพื่อจะควบคุมกระแสน้ำและใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านชลประทานได้ หลี่ปิง ผู้ว่าการสมัยนั้นซึ่งเป็นแคว้น

(น.251) สู่ (เสฉวนตะวันตก) ระดมมวลชนสร้างเขื่อนชลประทาน เพื่อดัดแปลงแม่น้ำเป็นสายนอกและสายใน สายนอกระบายน้ำออก สายในเป็นการนำน้ำไปเลี้ยงนา งานก่อสร้างแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นทำนบมีรูปร่างเหมือนปากปลา สร้างอยู่ตรงจุดที่แม่น้ำหมินเจียงไหลลงสู่ที่ราบ ทำนบนี้จะแบ่งแม่น้ำเป็นสองสาย แม่น้ำสายใน (คลอง) และแม่น้ำสายนอก (เป็นแม่น้ำสายหลักซึ่งจะไหลต่อไปลงแม่น้ำหยางจื่อเจียง) ส่วนที่สอง เป็นส่วนที่สร้างขึ้นบังคับให้น้ำตกตะกอน เรียกว่า เฟยซาเอี้ยน ส่วนที่ 3 เขาจะตัดช่องในภูเขา ทำให้น้ำจากคลองสายในไหลเข้าในที่ราบเฉิงตู และไหลเข้าระบบชลประทานที่จะเลี้ยงนาแถวนั้น ช่วงนี้เรียกว่า เป่าผิงโข่ว แปลว่า ปากของขวดอันมีค่า มีการควบคุมจำนวนน้ำในคลองสายใน โดยมีทางน้ำล้นซึ่งจะบังคับให้น้ำที่มีมากเกินจำนวน และตะกอนไหลกลับสู่แม่น้ำสายนอกชลประทานโครงการนี้ทำให้ที่ราบเฉิงตูมีความอุดมสมบูรณ์อย่างที่ได้เห็นอยู่นี้ จนมีนามขนานว่า เทียนฟู่จือกว๋อ หรือ “อาณาจักรสวรรค์” (ข้อความเล่านี้มาจากบันทึกประวัติศาสตร์ ของ ซือหม่าเชียน) ดินตะกอนซึ่งมีลักษณะเบาไม่สามารถรับน้ำหนักทำนบหินได้เขาจึงใช้ไม้ไผ่จักสานเป็นตะกร้ารูปยาวๆ บรรจุก้อนหิน กรุฝั่งคลองและตรงบริเวณทำนบ ตะกร้าใส่ก้อนหินพวกนี้แช็งแรง น้ำสามารถไหลผ่านได้ ฉะนั้นจึงช่วยลดความกดดันบนผนังทำนบ เป็นการป้องกันไม่ให้เขื่อนแตก นายช่างสมัยโบราณคิดถึงเรื่องพวกนี้อย่างรอบคอบ ได้สร้างและบำรุงรักษาระบบชลประทานถูกหลัก มีการ

(น.252) ขุดลอกแม่น้ำและลำคลอง มีการซ่อมตัวทำนบอย่างสม่ำเสมอ โดยคำนึงถึงกฏการไหลของแม่น้ำและการตกตะกอน เรายังใช้วิธีโบราณจนถึงปัจจุบัน ผู้นำจีนปัจจุบันได้ขยายโครงการจนเลี้ยงนาได้ถึง 5 แสน 3 หมื่นเฮกตาร์ ครอบคลุมเขต 27 อำเภอ ในเขตตะวันตกของเสฉวน ตอนที่สร้างชลประทานนี้ไม่มีเครื่องจักร ไม่มีดินระเบิด ไม่มีเครื่องมือทันสมัยใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นเมื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซึ่งทำได้อย่างยากลำบาก ชาวบ้านจึงสร้างศาลเจ้า เอ้อร์ หวัง เมี่ยว เป็นที่ระลึกถึงผู้นำในการสร้าง 2 ท่าน คือ ท่าน หลี่ปิง และลูกชาย ในปัจจุบันได้มีการสูบน้ำจากชลประทานตูเจียงเอี้ยนนี้ไปเลี้ยงนาบนภูเขา และสูบน้ำขังไว้ในบ่อสำหรับใช้ในฤดูแล้งไม่มีฝน คุณจางเล่าว่าปัญหาในเรื่องชลประทานในด้านตะวันออกก็มีเรื่องการใช้แม่น้ำหยางจื่อเจียง ว่าเราจะเอาน้ำในแม่น้ำหยางจื่อเจียงไปใช้บนภูเขาได้อย่างไร รถแล่นถึงถนนที่มีทางแยกไป อาป้า (เขตคนส่วนน้อย) และ ชิงไห่ คุณจางอธิบายว่า อาป้าเป็นเขตปกครองตนเองของชาติ ทิเบต และมีอำเภอหนึ่งเป็นเขตปกครองตนเองของชนชาติ เชียง อาป้า กับ กันจือ เป็นเขตที่ดินสูง แถวนั้นอาชีพปศุสัตว์เจริญมากป่าไม้ก็ดี ทรัพยากรมากทั้งด้านแร่ธาตุและอื่นๆ เดี๋ยวนี้เราดำเนินนโยบายเสมอภาคต่อชนส่วนน้อย เมื่อ 10 ปีก่อนนโยบายเราไม่ถูก คือทางการสั่งให้ทั่วประเทศทำการเพาะปลูกหมดทุกแห่ง ฉะนั้น ผลผลิตก็ไม่ได้มาก มาปัจจุบันที่ซึ่งเพาะปลูกไม่ดีเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ในที่ซึ่งเหมาะสมพวกทำการเพาะปลูกได้ก็ทำไป รัฐบาลสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์ในแถบนี้โดยการลดภาษี ถ้าเลี้ยงสัตว์จะลดภาษีให้ครึ่งหนึ่ง เพาะปลูกลดให้หนึ่งในสาม การลดภาษีเป็นการช่วยเหลือราษฎร แต่ว่ารัฐบาลของเขตปกครองตนเองจะได้รายได้น้อย ฉะนั้นรัฐบาลมณฑลจะช่วยเหลือ ให้ชาวนามีที่นาของตนเอง มีสัตว์ของตนเอง พัฒนาวัฒนธรรมคนส่วนน้อยให้ใช้ภาษาและอักษรของเขาเอง ที่เฉิงตูมีสถาบันคนกลุ่มน้อย อบรมเจ้าหน้าที่ซึ่งจะไปทำงานกับชนกลุ่มน้อย ผู้ปฏิบัติงานเดี๋ยวนี้พยายามเทรนคนกลุ่มน้อย สำหรับช่างเทคนิคต่างๆ ระยะแรกเป็นคน ฮั่น (คนจีน) เดี๋ยวนี้พยายามฝึกหัดช่างเทคนิค ช่างฝีมือจากคนกลุ่มน้อย คนกลุ่มน้อยมีจำนวนพลเมืองไม่มากนัก ฉะนั้นจึงไม่ได้เรียกร้องให้คุมกำเนิด ไม่เหมือนในเมือง ข้าพเจ้าเห็นป้ายข้างถนนที่เฉิงตูอันเบ้อเริ่ม เขียนว่า You better have only one child! คนที่อยู่นอกเมืองเป็นเกษตรกรอนุญาตให้มีหลายๆ คน เพราะช่วยเป็นแรงงาน คุณจางบอกว่า ที่เห็นเสฉวนใหญ่โตอย่างนี้ ตามความเป็นจริงแล้วมีที่ดินเพาะปลูกเล็กนิดเดียว ฉะนั้นทางเดียวที่จะเพิ่มผลผลิตได้นั้น เราต้องยกระดับการผลิตในพื้นที่แต่ละโหม่วให้สูงขึ้นและใช้ที่ดินทุกตารางให้เป็นประโยชน์ คุณจางชี้ให้ดูนาข้างๆ ถนน แล้วอธิบายว่า ชาวนาต้องขยันทำงานในไร่นาตลอดไม่มีเวลาพักผ่อน นอกจากฤดูหนาว บางครั้งอากาศหนาวปลูก

(น.254) อะไรไม่ได้จึงต้องพัก เขาจะทำทั้งนา ข้าวสาลีและข้าวเจ้า บนคันนาจะปลูกหม่อนตรงกลาง ต้นหม่อนจะช่วยยึดดินคันนาด้วย ปลูกผักสองข้าง ปลูกถั่ว หลังคาบ้านชาวบ้านแถวๆ นี้ใช้ฟางข้าวสาลีมุง 2-3 ปีเปลี่ยนครั้งหนึ่ง เวลาเปลี่ยนจะเปลี่ยนทั้งหมด หรือเปลี่ยนเฉพาะส่วนหนึ่งก็ได้ ศัตรูพืชมีไม่มากนัก ที่เสฉวนนี้มีปัญหามากอยู่เรื่องเดียวคือปัญหาเรื่องเชื้อราในการปลูกฝ้าย ถ้าฝนมากก็ปลูกไม่ได้ ฉะนั้นทางตะวันตกจึงไม่ปลูกฝ้าย ปลูกได้แต่เสฉวนตะวันออก เขาถามถึงเมืองไทย ข้าพเจ้าบอกว่าเท่าที่เคยเห็นนั้น ชาวบ้านเขาปลูกฝ้ายตามบ้านคนละไม่กี่ต้น สำหรับเก็บทอผ้าใช้เองในครอบครัว ก็ทำได้แต่ไม่ทุกที่ สำหรับการปลูกฝ้ายที่จะทำมากๆ เป็นงานอุตสหกรรมนั้นทำได้ยากมาก ผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่า เคยทดลองปลูกฝ้ายมากๆ โดยอาศัยวิชาการควบคุม ต้องฉีดยาฆ่าแมลงมากและเป็นเวลา ถ้าเผลอนิดเดียวจะตายหมดไร่ รถผ่านบ้านชาวนา ฝาบ้านบางหลังเป็นไม้ไผ่ขัดแตะเหมือนบ้านเรา คุณจางอธิบายว่าอากาศที่เสฉวนนี้ไม่ค่อยจะหนาวเดือนพฤษภาคมอุณหภูมิสูงถึง 34 องศา พอฝนตกก็เย็นลงหน่อย ทางทิศตะวันออกและทางเหนือของเสฉวนแล้งง่าย ประชาชนคิดว่าถ้าไม่มีน้ำทำนา ก็ทำไร่ข้าวโพด ไร่มันดีกว่าทิ้งไว้เฉยๆ ตอนสมัยที่ 4 คนปกครองเขาไม่คำนึงถึงเงื่อนไขธรรมชาติ กำหนดไปเลยว่าทุกแห่งต้องทำนาสองครั้ง ปริมาณการปลูกจึงต่ำมาก มาสมัยท่าน จ้าวจื่อหยาง มาปกครอง ท่านฟังเสียงประชาชน และดูสภาพพื้นที่ และวางแผนให้ ฉะนั้นเสฉวนจึงกลับเป็นแหล่งผลิตพืชผล


(น.255) รูป 115 ชาวนาคราดนาที่เฉิงตู โรดสังเกต “สกี” ข้างหลังควาย

(น.255) ที่อุมสมบูรณ์ดังเดิม แล้วคุณจางก็สรุปว่าจะทำการเกษตรต้องเริ่มจากสภาพความเป็นจริง ข้างทางเขากำลังไถนา เรียกว่าคราดนาดีกว่า คราดเป็นไม้ยาวๆ บางทีคนก็ขึ้นไปยืนบนคราด คอยจูงบังเหียนให้ควายเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาเท่านั้น เหมือนเล่นสกี ปกติเขามีสกีน้ำ สกีบก (หิมะ) อย่างนี้คงต้องเรียกว่าสกีโคลน


(น.256) รูป 116 โรงเลี้ยงไหมของคอมมูน “ฉงอี้” ที่เสฉวน

(น.256) ข้าพเจ้าชมเขาว่าพัฒนาได้ดีมาก คุณจางหัวเราะแล้วบอกว่าเราไม่ให้ประชาชนอดเท่านั้น จะให้ดีกว่านี้ต้องทำงานอีกมาก แล้วเล่าว่าชาวนาชานเมืองมักมีรายได้ดี มีจักรยาน วิทยุ จักรเย็บผ้า ชาวนาที่อยู่เขตภูเขาสูงสู้ไม่ได้ ดินไม่ดี มีคนแต่งตัวคล้ายๆ ชาวเขาบ้านเราเดินสูบกล้องยางๆ สวนทางมา รถไปถึงคอมมูน ฉงอี้ ที่หน่วยผลิตที่สองของคอมมูน มี นายเหอจงฉวน และนาย หลีจิ่วต้า หัวหน้าผลิตผลที่สูง คอยต้อนรับพาเราเข้าไป ตอนนี้ฝนยังตกอยู่ ทางเข้าคอมมูนเหมือนทางเข้าหมู่บ้านของเราไม่มีผิด ถนนลูกรังโคลน น้ำแหยะๆ นิดหน่อย

(น.257) สองข้างทางเดินเขาปลูกผัก จะว่าไม่มีแมลงเลยทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะผัก (ซึ่งกองโตงามดีมาก) ก็มีรอยปรุๆ เขาบอกว่าผักนี้ไม่ฉีดยาเลย เขาพาไปที่ห้องที่ใช้เลี้ยงไหม ที่บ้านมีหลายห้อง เขาอธิบายว่าไหมของเขาฝักสีขาว ตั้งแต่ไข่ออกมาจนถึงสาวได้ใช้เวลา 40 วัน เท่าๆ ของเรา พวกที่เราได้ดูนี้ เป็นไหมวัยนอนทั้งหมด ยังผอมๆ ไม่น่ารัก ตรงที่โครงการหนองเหียงใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ปู ที่นี่ใช้กระดาษแบบที่สำหรับห่อแพคของ (กระดาษบางๆ) ตามกระด้งเขาใช้ตาข่ายปูสำหรับแยกขี้ไหมใบหม่อนที่กินเหลือๆ ออกจากตัว


(น.257) รูป 117 ไหม

(น.258) ไหมทั้งหมดที่ส่งไปเข้าโรงงานที่เฉิงตูทันทีโดยไม่ต้องต้มเสียก่อน เขาเลี้ยงกันคนละ 30 กระด้ง อีกห้องหนึ่งมีไข่ไหม ตอนแรกคิดจะขอไข่หนอนมาเลี้ยง แต่เขาบอกว่าไม่ได้เพราะไข่รุ่นนี้จะฟักวันนี้แล้ว เพดานของห้องใช้พลาสติกคลุมป้องกันความชื้น วิธีอบห้องใช้ถ่านแต่ไม่ให้มีควัน เดี๋ยวนี้ใช้ไฟฟ้า ในช่วงต่าง ของชีวิตหนอนต้องการอุฆภูมิและความชื้นไม่เหมือนกัน เวลาเพิ่งออกจากไข่ใหม่ๆ อุณหภูมิ 27 ํ ความชื้น 90% วัยนอนขั้นแรกอุณหภูมิ 26 ํ ความชื้น 85% ขั้นกิน (ขั้นที่ 3) อุณหภูมิ 25 ํ ความชื้น 80% ขั้นที่ 4 อุณหภูมิ 24 ํ-25 ํ ความชื้น 75% ขั้นที่ 5 (อาทิตย์


(น.258) รูป 118 พวกเด็กๆ ของคอมมูนมาคอยต้อนรับ

(น.259) เกือบสุดท้าย) อุณหภูมิ 23 ํ ความชื้น 70% เขาบอกว่า ถ้าตัวไหมอยู่อย่างนี้จะโตดี ข้าพเจ้าอยากดูส่วนต่างๆ ของคอมมูน เช่น โรงเรียน แต่เขาบอกว่าไม่มีเวลาแล้ว ระหว่างเราดูไหม ท่านผู้หญิงสมณีรัตน์ไปดูในบ้านเขา ก็บอกว่าเรียบร้อยดี ตามบ้านมีบ่อปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก ถามพวกที่คอมมูนว่าปลูกหม่อนตามคันนาเท่านี้พอหรือ เขาบอกว่าไม่ได้ปลูกที่อื่นเลย เพราะทีเขามีน้อย ที่ดีๆ เอาไว้ปลูกอย่างอื่นดีกว่า ตอนขาเดินกลับไปที่รถมีพวกเด็กๆ ชาวคอมมูนยืนส่ง พอเราเดินผ่านก็ตบมือ เราเลยตบบ้าง ตบกันตลอดทาง พอขึ้นรถก็โบกมือให้พวกคอมมูน ข้าพเจ้าบอกคุณจางว่าอยากจะถ่ายรูปไร่นาเอาไว้เป็นที่ระลึกแต่รถแล่นเร็วเหลือเกิน คุณจางบอกว่าไม่เป็นไร เอาไว้ขากลับค่อยหยุดรถถ่ายรูปกัน นอกจากพืชต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ยังมีปอและข้าวโพด ปอปลูกในที่ลุ่ม 3 เดือนก็ใช้ได้ ข้าพเจ้าเล่าให้คุณจางฟังถึงเรื่องที่สมเด็จฯ ส่งเสริมการเลี้ยงไหมตามบ้านชาวบ้าน ไม่ได้เลี้ยงในโรง (แต่ก็มีอีกแบบ เช่นหนองเหียงเลี้ยงในโรง ก็อยู่ในโครงการในพระบรมราชินูปถัมภ์เหมือนกัน) คุณจางบอกว่า ที่นี่ก็ทำเช่นเดียวกัน คือไหมของคอมมูน


(น.260) รูป 119 ดูไหม

(น.260) เขาจะให้สมาชิกคอมมูนแบ่งกันเอาไปเลี้ยงได้มากเกินจำนวนที่กำหนด ได้ผลดีก็จะให้รางวัลที่เลี้ยงตามบ้านได้ดีกว่าเลี้ยงศูนย์รวมเพราะงานเลี้ยงตัวไหมเป็นของละเอียกถ้าจะให้ดีต้องดูแล ทั้งกลางวันกลางคืน เวลาเลี้ยงที่บ้าน คนแก่และเด็กก็จะช่วยเป็นแรงได้ด้วย เรื่องไหมนี้ เสฉวนนับว่ามีมากทีเดียว ฝนยังไม่หยุดตกเลย มองออกไปทางหน้าต่างพอดีเห็นชาวบ้านเดินจูงหมู (แบบจูงหมา) สวนทางมา หมูที่จูงเป็นหมูกระโดนตัวดำๆ ขนยาว อย่างที่เห็นที่อื่นทั่วๆ ไป แต่มีที่แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือหมูใส่เสื้อฝน คนจูงไม่ยักใส่ ดูเหมือนคุณจาง คุณเฉินมองไม่เห็นหมูใส่เสื้อนี่ เพราะมัวแต่เล่าเรื่องต่างๆ ให้ข้าพเจ้าฟังมาคุยกันทีหลังอารยาก็เห็น และเป็นคนที่ขบขันเรื่องหมู่ใส่เสื้อมาก อารยาบอกว่านั่งหัวเราะมาในรถ พี่อู๋นั่งอยู่ในรถอารยาถามอารยาว่าหัวเราะทำไม อารยาบอกว่าเห็นหมูใส่เสื้อฝน พี่อู๋ตื่นเต้นใหญ่ ไม่ทันได้มองเลยบอกอารยาว่า “ฉันไม่เคยเห็นหมูใส่เสื้อ ถ้าเห็นอีกชี้ให้ฉันดูด้วย” ปรากฏว่าพี่อู๋อดดูหมูใส่เสื้อเพราะเราไม่ได้เห็นอีกเลย

(น.261) คุณจางบอกว่าที่นี่น้ำมัน ถงหยิว มีมาก เป็นพืชน้ำมันต้น ถง เป็นต้นไม้สูงมาก เอาน้ำมันจากเม็ดทำอุตสาหกรรมได้ เมื่อลงจากรถมีไกด์ชื่อนาย กั๊ว มาต้อนรับ เขาพาไปดูศาลเจ้า หลี่ปิง มีรูปหินของ หลี่ปิง ซึ่งนำมวลชนมาสร้างชลประทานหินศาลเจ้าหลี่ปิงนี้สลักมา 1,800 กว่าปีมาแล้ว พบเมื่อ ค.ศ. 1974 รูปสลักนี้หน้าตาไม่ค่อยชัดนัก จมูกก็บี้ สูง 2.9 เมตร น้ำหนัก 4 ตัน รูปหนึ่งหัวขาด อาจจะเป็นลูกชายซึ่งช่วยชักชวนมวลชน ที่รูปหินนี้ ตัวหนังสือจีนสลักอยู่ มีวันที่ มีชื่อสลัก ในห้องศาลเจ้านั้น มีเตาราชวงศ์ ถัง ชนิดที่เรียกว่า ติ่ง หนัก 500 กิโลกรัม ทำด้วยเหล็ก สร้างขึ้นตามลัทธิศาสนาเต๋าเป็นของใช้ที่จักรพรรดิมอบให้ลูกสาวคนที่ 8 เพราะฉะนั้นมีมังกร 8 ตัวเดิมตั้งอยู่บนภูเขา ย้ายมาในปี 1978 หลังจากนั้นพาไปดูแผนที่ซึ่งเขียนเมื่อ 1938 และบรรยายสรุปเรื่องเกี่ยวกับสภาพชลประทาน การระบายน้ำ ฟังแล้วปวดศีรษะ เพราะเขาอธิบายเป็นภาษาจีน และคุณเฉินก็อธิบายเป็นภาษาไทย ข้าพเจ้าก็พยายามจะวาดภาพตามรูปจำลองที่เขาชี้ (ภาพแม่น้ำหมินเจียง) อธิบายเรื่องปากปลา เฟยซาเอี้ยน เป่าผิงโข่ว คล้ายๆ กับที่คุณจางอธิบาย มีเพิ่มเติมว่า เฟยซาเอี้ยน เป็นทำนบคงระดับแม่น้ำสายใน หน้าร้อนน้ำมาก พอน้ำผ่านมาตามทางแคบๆ บังคับให้ส่วนที่มีตะกอนดินหินเข้าแม่น้ำแยงซีเกียง เขาพาไปอยู่ที่เป่าผิงโข่ว เขาสร้างเป็นศาลาเอาไว้ ได้เห็นแม่น้ำหมินเจียงไหลเชี่ยว กว้างใหญ่มาก ขนาดแม่น้ำเจ้าพระยาบางตอนที่กว้างที่สุด ตรงศาลาที่เรายืนอยู่นี้ เดิมช่องเขาที่มองเห็น

(น.262) ติดกันนั้น หลี่ปิงได้ระเบิดหินตรงนี้ออกโดยใช้วิธีเผาไม้ เผาไฟร้อนๆ จี้ที่ภูเขา แล้วเอาน้ำเย็นราด เมื่อหินถูกร้อนกระทบเย็นก็จะแตก เป็นการระเบิดหินอย่างโบราณ หลังจากนั้นเขาพาไปดูหนังเกี่ยวกับชลประทานตูเจียงเอี้ยนเขาบอกว่าเดิมหนังนี้เป็นหนังยาว เต่จะฉายให้ดูตัดตอนพียงสั้นๆ เล่าตั้งแต่ว่าแม่น้ำหมินเจียง นี้อยู่ทางทิศตะวันตกของมณฑลเสฉวน น้ำของแม่น้ำนี้มาจากน้ำฝนและหิมะที่ละลายในฤดูใบไม้ผลินอกจากนั้นก็มาจากน้ำเล็กๆ ที่เป็นสาขาของหมินเจียง พงศาวดารบันทึกไว้ว่าประชาชนสร้างชลประทานนี้ (ภาพที่แสดงเป็นภาพ rubbing จารึก)

ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ ฉิน ต่อไปเป็นภาพที่ราบเฉิงตูรูปพัด สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร อีกส่วนหนึ่งสูง 500
(น.262) รูป 120 ชลประทานตูเจียงเอี้ยนมีที่วัดระดับน้ำ

(น.263) เมตร อาศัยความต่างระดับส่งน้ำเลี้ยงนา การทำทำนบแยกแม่น้ำเป็น 2 สาย อธิบายเรื่องส่วน 3 ส่วนของโครงการ (เขาทำภาพวาดฉายหนังบริเวณจริงๆ ทำให้การอธิบายเข้าใจง่าย) ว่าช่วยในการป้องกันว่าถ้ามีน้ำมากจะไหลเข้านาน้อย ถ้ามีน้อยจะไหลเข้านามาก ภาพยนต์แสดงการแก้ปัญหาเรื่องทรายว่าอาศัยรูปโค้งของน้ำคือให้น้ำไหลชนตรงโค้ง ทรายจะออกในน้ำแรงสายนอก เขาฉายให้เห็นวิธีการทดลองเรื่องหิน ทราย ตะกอน ให้ออกแม่น้ำสายนอกหนังนี้สรุปว่าโครงการได้ผลทางชลประทานและป้องกันน้ำท่วมด้วย ดูหนังเสร็จออกไปดูตรงปากน้ำ ซึ่งเขาบอกว่ากว้าง 20 เมตร ลึก 12 เมตร ความเร็วของน้ำ 300-700 ม3/วินาที การวัดระดับเขาใช้วิธีปักเสา น้ำต่ำสุดประมาณ 10 หว่าเซนติเมตร สูงสุดประมาณ 15 เซนติเมตร มีทุ่นทำด้วยไม้ซุงอยู่กลางน้ำซึ่งจะต้องเปลี่ยนอยู่เสมอ ได้ทราบทีหลังว่าศาลเจ้าที่เราเข้าทีแรกเรียกว่าศาลเจ้า ฟูหลงกวน ซึ่งสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการที่หลี่ปิงนำราษฎรสร้างระบบชลประทานตูเจียงเอี้ยน การที่ศาลเจ้านี้เรียกว่า ฟูหลง มาจากเรื่องตำนานท้องถิ่นกล่าวไว้ว่าหลี่ปิง ปราบน้ำได้ มังกรก็ยอมแพ้ (คนจีนถือว่าน้ำท่วมเพราะมังกรอาละวาด) แม่น้ำตรงนี้เรียกว่าปากขวดเพราะแม่น้ำแคบลงตรงนี้ อีกฟากแม่น้ำมีสถานที่ซึ่งหลี่ปิงใช้เป็นกองบัญชาการ

(น.264) หลังจากนั้นเขาพาเรานั่งรถไปที่สะพานข้ามแม่น้ำซึ่งอยู่ที่ปากปลา รถที่สวนทางมาส่วนใหญ่เทียมวัว รถผ่านไร่ปอ คุณจางเล่าว่าปอมี 2 พันธุ์ ชนิดหนึ่งเป็นปอปลูกในที่ลุ่ม ปลูกปอชนิด 4 เดือน ปอแดงปลูก 3 เดือนตามคันนา ใช้ทำเชือกและกระสอบ คุณจางบอกว่าที่อธิบายไปว่าน้ำมันถงหยิว ใช้ในอุตสาหกรรมหล่อลื่นเครื่องจักรนั้นพูดผิด จริงๆ แล้วใช้ผสมสีทาไม้ บนถนนมีรถแทรกเตอร์แล่นไปมา เขาอธิบายว่ารถแทรกเตอร์ที่นี่ใช้ประโยชน์ทั้งช่วยในการทำนา ขนของ และรับส่ง เป็นพาหนะที่ชาวนาจะไปไหนมาไหน แต่ก่อนนี้ไม่อนุญาตให้ขนของ เดี๋ยวนี้อนุญาตแล้ว รถผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำเก่า ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้แล้ว ย้ายไปที่อื่น ถึงสะพานเขาให้เดินข้ามสะพานไป ตอนแรกเราก็ไม่เห็นความสำคัญของสะพานนี้เท่าใดนัก และไม่มีใครเล่าอะไร เพราะเดินยากจะตาย สั่นคลอนไปมาตลอด พอเดินไปได้ครึ่งสะพานเขาก็บอกว่ากลับได้ รู้สึกเสียเส้นมากทีเดียว จนกลับมาแล้วอ่านในเอกสารว่าสะพานนี้ยาวถึง 500 เมตร สร้างมา 800 กว่าปีแล้วสะพานนี้มีชื่อหลายชื่อเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ในสมัย เหม็ง สะพานถูกไฟไหม้ ต้องใช้เรือข้าม ในสมัยราชวงศ์ เช็ง ในศตวรรษที่ 18 มีครูโรงเรียนคนหนึ่งกับภรรยาเรี่ยไรเงินสร้างสะพานใหม่ ฉะนั้นสะพานนี้จึงเรียกสะพานสามีภรรยา แต่เดิมสะพานนี้สร้างบนเสาไม้

Next >>