Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2524 "


(น.265) รูป 121 ข้ามสะกานที่ตูเจียงเอี้ยน

(น.266) ผูกด้วยตอกไม้ไผ่ ในปี 1974 เขาเปลี่ยนจากตอกไม้ไผ่เป็นลวดเหล็ก เสาคอนกรีต พอขึ้นสะพานเสร็จแล้วเราต่อไปดูศาลเจ้า เอ้อร์หวังเมี่ยว ตั้งอยู่บนเนินเขา หันหน้าสู่แม่น้ำหมินเจียง ศาลเจ้านี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 494 หลี่ปิงและลูกชายได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้า ฉะนั้นศาลเจ้านี้จึงมีชื่อเรียกว่า เอ้อร์หวัง (เจ้า 2 องค์) ข้างในศาลเจ้ามีรูปปั้นของหลี่ปิง และ หลี่เอ้อร์หวัง ลูกชายหลี่ปิง หลี่ปิงถือแผนที่ทำด้วยไหม นั่งสูงท่วมหัวเรา ตาจ้องมองไปเบื้องหน้า แสดงความมุ่งมั่นที่จะปราบแม่น้ำให้อยู่ อีกห้องมีรูปเอ้อร์หวังยืนถือเครื่องมือขุด (ดูจะเป็นพลั่ว) รูปปั้นนี่ทาสีสวยงามมาก พวกเราต่างก็คำนับท่านหลี่ปิงและหลี่เอ้อร์หวัง ฐานเป็นผู้เริ่มงานอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ ข้าพเจ้าขอถ่ายรูปท่านทั้งสอง และเรียกให้ใครๆ ถ่ายด้วย แต่เสียดายที่รูปนั้นไม่ติด มีของคุณพูนเพิ่มคนเดียวที่ถ่ายได้ (ทำให้คิดถึงช่างถ่ายหลวงขึ้นมาทันที เรามีแต่ช่างจำเป็นต่างๆ ถ่ายมาแขนขาขาดบ้าง หัวติดบ้าง) ภาพนี้เป็นภาพ “นายช่างเล็ก” (ช่างชลประทาน) แห่งเมืองจีน ภาพเดียวที่เราได้มา


(น.266) รูป 122 นี่คือรูปปั้นท่านหลี่ปิง ผู้ให้กำเนิดชลประทานตูเจียงเอี้ยน


(น.267) รูป 123 ลูกชายคือท่านหลี่ปิงซึ่งช่วยในการชลประทานครั้งนี้ด้วย

(น.267) นอกจากนั้นในศาลเจ้ายังมีศิลาจารึก คำสั่งต่างๆ ในการบำรุงรักษาระบบชลประทาน ซึ่งเป็นเอกสารสรุปผลงานของหลี่ปิง มีบอกว่าทุกปีจะต้องมีการลอกคลอง ปรับคลองให้ตรงเพราะมีตะกอนตกมาก มีแผนที่ของระบบชลประทานตูเจียงเอี้ยนทั้งระบบ เขียนขึ้นในปลายสมัยราชวงศ์ เช็ง อยู่บนฝาผนัง ยังมีบทสรรเสริญหลี่ปิงอยู่ตามที่ต่างๆ บางบทผู้แต่งเป็นจักรพรรดิและเจ้าในราชวงศ์ เหม็ง และ เช็ง ในศาลเจ้ายังมีของต่างๆ ที่ขุดได้แถวๆ นั้น เป็นพวกแจกันระฆังที่พบในสมัยราชวงศ์ เหม็ง แล้วเขาพาเดินขึ้นไปชมวิวข้างบน มีบันไดเป็นขั้นๆ ระหว่างเดินไกด์เล่าให้ฟังว่าเสฉวนนี้มีอาหารมีชื่อ คือ
1. ไป๋กว่อ หรือ แป๊ะก๊วย
2. เหล้าชิงเฉิงเหมาหลี ทำจากผลไม้ป่า
3. ชา ชิงเฉิง
4. เท่าไช่ (ผักดอง) ที่ใช้ในพิธีกรรมลัทธิเต๋า

(น.268) เมื่อเดินถึงชั้นบน คือถึงถนนค่อยใจชื้นขึ้นหน่อยที่รถยนต์เขาอ้อมมารับทางนี้เลย เดินผ่านรถเห็น “เตี่ย” คนหนึ่งกำลังนั่งเปิดวิทยุฟังเพลง “ดิสโก้จีน” เสียงดังลั่นอย่างสบายอารมณ์ คนที่นั่งรถคันนี้เล่าว่าเตี่ยชอบร้องเพลงมาก ปกติเวลามีเพลงในวิทยุก็มักจะร้องตาม อยู่ตรงข้างบนนี้เห็นวิวทั้งหมดได้ชัดเจน เราเลยเรียกกันถ่ายรูปหมู่ พอดีกล้องข้าพเจ้าเกิดหมุนฟิล์มไม่ไป จึงถอดฟิล์มออกไม่ได้ ต้องให้คุณมานิตช่วยเอาไปถอดให้ในถุงมืดของแก

ต่อจากนั้นคุณจางก็พาขึ้นรถไปรับประทานอาหารที่ห้องรับรองของรัฐบาลอำเภอก้วนเสี้ยน
(น.268) รูป 124 ถ่ายรูปหมู่ที่ชลประทานตูเจียงเอี้ยน

(น.269) เรื่องชลประทานตูเจียงเอี้ยนยังมีอยู่อีกแยะ แต่ข้าพเจ้าจดมาสับสนไม่ค่อยรู้เรื่อง (อันนี้ยอมรับผิด ครั้งหน้าจะปรับปรุง) อีกประการหนึ่ง เขาไม่มีแผนที่ซึ่งแสดงระดับให้ดูเลย ขอเขาดูก็วิ่งไปเอาใบปลิวที่อธิบายถึงตูเจียงเอี้ยนแบบที่เขาแจกนักท่องเที่ยวเอามาให้ ข้าพเจ้าปรารภว่าเป็นการดีที่ประชาชนได้ช่วยกันสร้างอนุสาวรีย์เป็นที่ระลึกแก่คนที่กระทำประโยชน์แก่สังคมเช่นนี้ คุณจางบอกว่าคนดีย่อมได้รับการยกย่อง คุณจางอธิบายว่าบริเวณแถวนี้มีโรงเรียนป่าไม้ด้วย รวมความแล้วประชาชนอำเภอนี้ 4 แสนคนมีอาชีพหลักในการเกษตร ในการพัฒนานั้น แต่ก่อนเราคอยพัฒนาตามรูปแบบของตะวันตกแบบอังกฤษและอเมริกา แทนที่จะเป็นผลดีกลับทำให้เสียหาย ฉะนั้นจึงพัฒนาประเทศให้เป็น 4 ทันสมัย (พัฒนาเกษตร พัฒนาอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ) ถึงห้องรับรอง ผู้ต้อนรับวันนี้คือนายอำเภอแห่งก้วนเสี้ยนชื่อ นายกั๊วอิงเหวิน ท่านนายอำเภอได้อธิบายว่า อำเภอของเราอยู่ชายเขตที่ราบภาคตะวันตกของมณฑลเสฉวน มีประชากร 4 แสน 7 หมื่นคน เนื้อที่ 5 แสนโหม่ว อาชีพหลักของประชาชนคือการเกษตรซึ่งทำรายได้เข้าอำเภอถึง 1/3 ของรายได้ทั้งหมด พืชพันธุ์ที่ปลูกได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ผักน้ำมันพืช ข้าวโพด ฯลฯ

(น.270) นอกจากนั้นยังมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ใบชา ต้นชี้ เป็นต้นไม้ใช้ทำสีทาโต๊ะ ต้นหม่อนจะปลูกเฉพาะตามค้นนา ไม่ปลูกที่อื่นเพราะเสียดายที่ เรามีที่ดินเพาะปลูกน้อย การปลูกหม่อนตามคันนานี้ทำมาประมาณ 10 ปีแล้ว ในอำเภอมีโรงงานประมาณ 40 กว่าโรง เป็นโรงงานทำกระดาษ โรงงานทอไหม โรงงานทำพรม โรงงานทำเครื่องเรือน เริ่มมีโรงงานมาราว 40 กว่าปี ตอนนี้รายได้จากการทำอุตสาหกรรมมีมากขึ้น เป็น 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ในอำเภอมีชลประทานตูเจียงเอี้ยน มีภูเขาชิงเฉิงซาน อายุ 1,000 กว่าปี เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ภูเขาเป็นที่กำเนิดลัทธิเต๋า ขณะนี้ยังมีผู้ที่นับถือลัทธิเต๋าอยู่ประมาณ 20 กว่าคนบองคนอายุ 90 กว่าปี คนที่อายุน้อยที่สุดประมาณ 60 กว่าปี ในถิ่นนี้มีคนที่นับถือพุทธศาสนา ประเทศเรามีหลายชนชาติหลายศาสนา ข้าพเจ้าถามว่าข้าวสาลียังไม่ได้เก็บเกี่ยว แล้วฝนตกอย่างนี้ไม่เสียหรือ ท่านนายอำเภอบอกว่าวันสองวันไม่เป็นอะไร แต่สามวันห้าวันก็อาจจะราขึ้น ที่นี่มีความลำบากตรงที่ฝนตกไม่มีหน้า ตกเมื่อไหร่ก็ตกได้ ข้าพเจ้าถามว่ายุ้งข้าวที่นี่เป็นอย่างไร นายอำเภอบอกว่าสร้างเป็นบ้าน บางทีสร้างด้วยไม้ บางอย่างเป็นอิฐก่อ ก่อนไปรับประทานอาหารเขาเชิญไปเข้าห้องน้ำ เป็นส้วมหลุมไม่เป็นส้วมซึม มีใครก็ไม่ทราบ (คนไทย) อธิบายว่าเขาจะรวบรวมอุจจาระไปเป็นปุ๋ย (ไม่ให้เสียประโยชน์เลย) มีใครคนหนึ่งบอกว่ามิตรภาพไทย-จีนจะสถิตสถาพรยืนนานตอนนี้เอง เพราะไทยมีส่วนพัฒนาจีนด้วย

(น.271) อาหารวันนี้อร่อยมากจริงๆ มีหลายอย่าง เช่น ไข่เยี่ยวม้าสีเหลือง หมูทอด ถั่วลิสงเผ็ดๆ หน่อไม้ชนิดหนึ่ง ผัดผักกับกึ๋นไก่ แตงกวาผัด เนื้อต้ม ถั่วงอก กระเพาะหมู วุ้นไข่ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้กินเกือยจะพร้อมๆ กัน เขาเสิร์ฟเหล้า เหมาหลี 20 ดีกรี (Mao li jiu) เป็นไวน์ขาว (white wine) ทำจากผลไม้อย่างหนึ่งเรียกว่า ฉางโซ่ว แปลว่าอายุยืน เขาอธิบายสรรพคุณเป็นการใหญ่ว่าเหล้าชนิดนี้รับประทานแล้วไม่อ้วน ทำให้สวย รักษาโรคความดันโลหิตสูง (อันนี้ไม่น่าเป็นไปได้) ทุกคนรับประทานไปคนละอย่างน้อย 5 แก้ว เพราะมีการให้พรกันไปมาอยู่หลายเที่ยว ถึงอย่างไร ข้าพเจ้าก็ไม่กล้ามากเกิน 5 เพราะเรายังต้องไปกันอีกไกล เดี๋ยวจะตกกระไดเสียก่อน ต่อมารับประทานขนม เหลียนจื่อเปา (ซาลาเปาไส้ลูกบัว) กระเทียมที่รับประทานเขาจัดเป็นรูปฟันเฟือง แบบที่ป้าจันชอบทำ ตอนที่อาจารย์สารสินเล่าว่าตรงศาลเจ้ามีจารึกรูปคำว่าหัวใจ (心 ซิน) สลักไว้ เป็นที่เสี่ยงทายได้ เขาให้หลับตา แล้วเอามือจับ ถ้าใจวอกแวกใจไม่ดีไม่ยุติธรรม จะจับไม่ตรงหัวใจพอดีข้าพเจ้าไม่ได้ลองเสี่ยงทาย เห็นตัว ซิน เหมือนกัน แต่นึกว่าเขาสลักไว้เฉยๆ ไม่มีใครบอกว่าทำอย่างไร ได้ความว่ามีพวกบางคนเสี่ยงทาย แต่ข้าพเจ้าขอปิดผลการเสี่ยงทายเป็นความลับราชการ นายอำเภอเล่าว่ามาอยู่ที่เสฉวนนี่ 20 ปีเข้าให้แล้ว ย้ายครอบครัวมาหมด ชอบที่นี่มาก เพราะที่นี่มีทั้งน้ำ ภูเขา เสียง (น้ำ) สี (ต้นไม้) ที่ตรงนี้นายอำเภออยู่ 3 ปีแล้ว

(น.272) ท่านทูตโกศลบอกว่า จีนเขาส่งข่าวว่าตอนนี้มาดาม ซุนยัดเซ็น ป่วยหนัก ถ้ามาดามเกิดถึงแก่อนิจกรรมขึ้นมา งานต่างๆ ที่ คุนหมิง จะต้องงดไป เขาจะให้เราเลี้ยงกันเอง ตอนนี้ท่านอายุ 90 กว่าแล้ว ปรอทสูงกว่า 40 องศา ซึ่งเป็นอันตรายสำหรับผู้ใหญ่มาก ท่านมาดามได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีกิตติมศักดิ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงมาก จีนไม่มีประธานาธิบดีมานานแล้ว เพิ่งมีผู้ได้รับแต่งตั้ง เมื่อวันแรกที่เราถึงปักกิ่ง ข้าพเจ้าก็ได้ส่งพวงมาลัยไปให้ท่าน คราวนี้ขอให้ท่านทูตติดต่อไปที่สถานทูต ให้ช่วยจัดดอกไม้ไปเยี่ยมด้วย ตอนที่ท่านมาดามถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้โทรเลขแสดงความเสียใจไป ตอนนี้กำลังกินเต้าหู้ ซาเหวิน ซึ่งเป็นของหวาน เห็ด เต้าหู้ ซึ่งเป็นของคาว หลังจากนั้นมีกระต่าย เขาอธิบายว่าที่เสฉวนมีการเลี้ยงกระต่ายเนื้อใช้กินในประเทศและส่งออกขายต่างประเทศ ส่งขนและหนังด้วย ข้าพเจ้าจึงเล่าบ้างว่า เราก็มีโครงการในหมู่บ้านที่ยากจนทางภาคอีสาน ให้ชาวบ้านเลี้ยงกระต่าย เนื้อจะให้รับประทานกันเอง เพื่อเป็นการเพิ่มโปรตีนและธาตุอาหารซึ่งคนในถิ่นนั้นส่วนใหญ่จะขาด ส่วนขนและหนังจะขาย จานต่อไปมีถั่วฝักยาว ผัดกระเทียมยักษ์ นายอำเภออธิบายว่ากระเทียมมี 2 อย่างคือ กระเทียมมีกลีบและกระเทียมไม่มีกลีบ ต่อไปเป็นปลา หลีฮื้อ ซึ่งเป็นปลาเลี้ยง ต้องเลี้ยงถึงปีกว่าจึงจะใช้ได้ น้ำหนัก 2 ชั่งกว่า (กิโลกว่า) เขาเล่าว่านอกจากจะเลี้ยง

(น.273) ปลาแล้วยังเลี้ยงกวางอีกด้วย เพื่อจะเอาเขากวาง เนื้อก็รับประทานได้ เขาบอกว่ากวางทั้งตัวมีประโยชน์หมด ต่อมากินหน่อไม้ผัดเผ็ด และแกงจืดปลาหมึก ต่อจากนั้นจะกินอะไรอีกหรือเปล่าก็ลืมไปแล้ว กินมากๆ ชักงง จนไม่รู้ว่ากินหรือเปล่าหรือกินวันไหน เมื่อกี้นี้ถามป้าจันว่ากินอะไรบ้าง ป้าจันได้แต่บอกว่าใครจะไปจำได้ ก็กินทุกวัน เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ลานายอำเภอ (ซึ่งจริงๆ แล้วแกคุยอะไรต่อมิอะไรให้ฟังมากมาย แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้) ไปขึ้นรถ ในรถขากลับบ้านก็คุยกับคุณจางอีกตามเคย ข้าพเจ้าถามว่าข้าวสาลี และข้าวเจ้าใส่ในยุ้งเดียวกันหรือเปล่า คุณจางตอบว่ามีที่แยกกัน ถ้าเก็บดีๆ จะเก็บไว้กินได้ 3-5 ปี 10 กว่าปีก็มี ข้าพเจ้าบอกว่าที่เมืองไทยส่วนใหญ่จะกินข้าวหมดเป็นปีๆ ถ้าทำได้เกินกว่าที่จะกินเองก็มักจะขาย นอกจากที่ปักษ์ใต้ เคยเห็นเขาเก็บข้าวได้นานๆ หลายปี มีชนิดที่เก็บไว้ (คงจะไว้เป็นที่ระลึก) 60 ปีก็มี เขาอธิบายว่าการที่เก็บได้นานโดยไม่เสีย เพราะเขาไม่ใช้เคียวเกี่ยวแต่ใช้แกระตัดเป็นรวงๆ คุณจางบอกว่านอกจากพืชที่กล่าวมาแล้ว ชาวบ้านยังปลูกพริก กระเทียม (พริกที่ปลูกคล้ายๆ กับพริกไทย) ลูกผักชี เอาไว้รับประทานเองบ้าง ไว้ขายบ้าง มองไปเห็นร้านขายกระบุง ปุ้งกี๋ เครื่องจักสานต่างๆ มีเยอะแยะ อีกร้านขายขนม วันนี้เป็นวันอาทิตย์ เด็กคงไม่ต้องไปโรงเรียนเห็นวิ่งเล่นกันอยู่เกรียวๆ เห็นชาวอี๋ (คนกลุ่มน้อย) เดินอยู่หลายคน ใส่กางเกงขาใหญ่ๆ โพกหัวเสียบไม้ไผ่

(น.274) ฝนยังไม่หยุดตกเลย คุณจางบอกว่าที่จุงกิงฝนตกชุกกว่านี่อีก มองเห็นหม่อนอยู่ตามคันนา คุณจางอธิบายว่า หม่อนตามคันนานี้ต้นไม่สูงนัก เพราะเขาปลูกถี่ๆ ถ้าปล่อยให้ขึ้นสูงไปจะบังแดดหมด แต่สมัยก่อนหม่อนที่เขาปลูกตามหลังบ้านจะสูงใหญ่กว่า ข้าพเจ้าปรารภว่า รายละเอียดเกี่ยวกับการเกษตรที่คุณจางเล่ามานี้น่าสนใจมาก การเพาะปลูกของเสฉวนเท่าที่เห็นข้างถนนก็น่าสนใจ เป็นการแสดงการเพาะปลูกแบบ intensive ตามสภาพที่ว่าดินเพาะปลูกมีน้อยน้ำชลประทานดี จะปลูกอะไรต่อมิอะไรได้แยะไปหมด ข้าพเจ้าคิดว่าถ้ามีภาพไร่นาของเสฉวนลงในหนังสือ China Pictorial (จงกว๋อฮั่วเป้า) จะมีประโยชน์มากสำหรับคนต่างชาติที่ไม่มีโอกาสมาเยี่ยมชมที่เมืองจีน คุณจางบอกว่าจะรับไว้พิจารณา ข้าพเจ้าเห็นหมูอีกหลายตัว แต่ไม่เห็นหมูใส่เสื้อเลย คุณจางบอกว่า เดี๋ยวนี้คนจีนเลี้ยงหมูกันมากตามบ้าน มีทั้งหมูของตัวเองและหมูของหน่วยผลิต เขาบอกว่าการให้ชาวนาเลี้ยงหมูตามบ้านนี้ไม่ต้องลงทุนลงแรง ถ้าเอามารวมกัน เลี้ยงรวมกันในโรงเลี้ยงหมูจะต้องเสียแรงงานคนมาก อย่างนี้ตอนแรกก็ลงทุนมาก ระยะหลังสบาย ข้าพเจ้าถามถึงเรื่องโรงฆ่าหมู เขาบอกว่าที่นี่โรงหมูเป็นของรัฐ หมูที่ฆ่าจะให้ชาวนาเอาไว้กินเอง และขายให้รัฐอย่างละครึ่ง ที่โรงฆ่ามีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราอยู่เสมอ การฆ่าหมูใช้ไฟฟ้าอย่างสมัยใหม่


(น.275) รูป 125 ปลูกข้าวสาลีและปลูกหม่อนบนคันที่เสฉวน

(น.275) เตี่ยบีบแตรแปร๊นๆ ตลอดทางบอกว่าต้องบอกให้จักรยานรู้ตั้งแต่อยู่ปักกิ่ง เตี่ยปักกิ่งก็บีบแตรตลอดทางเหมือนกัน คนขี่จักรยานมีมาก ใช้พาหนะอื่นน้อยกว่า มีรถเมล์เหมือนกัน เพื่อประหยัดน้ำมันเขามักเอา 2 คันพ่วงกันเป็นคันเดียว ชาวนาที่เสฉวนนี้เขามีจักรยานใช้กันทุกบ้าน และใช้ได้สารพัดอย่าง ผักที่กินไม่หมดก็บรรทุกไปขาย (เขาปลูกผักได้มาก เคยเห็นกองไว้ข้างถนนกองพะเนินเทินทึก ข้าพเจ้ากลัวจะเน่าเสียน่าเสียดาย) ไปซื้อของก็ใช้จักรยาน ไปเยี่ยมญาติก็จักรยานเหมือนกัน คุณจางบอกว่าถ้าฝนไม่ตกจะได้เห็นภาพคนขี่จักรยาน มีลูกนั่งหน้า เมียนั่งหลัง –

(น.276) อุ้มลูกหนึ่งคน ใส่เป้อีกคน แล้วขนผักด้วย ลักษณะนี้จะไม่ได้เห็นในเมือง เพราะในเมืองเขาห้ามมีลูกเกินสองคน (และห้ามบรรทุกคนโดยสารมากอย่างนี้ด้วย) คุณจางบอกว่า การที่ต้องอนุญาตให้คนชนบทมีลูกมากกว่า 1 คนได้ เพราะเขาสามารถใช้แรงงาน คนบางคนมีหนี้สินเพราะมีแรงงานน้อยประการหนึ่ง และขี้เกียจอีกประการหนึ่ง คนขี้เกียจก็จะยากจนลำบากกว่าคนอื่น เพราะจีนถือคติ ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย บางคนที่มีลูกเป็นข้าราชการหรือคนงานก็ไม่มีแรงงานในไร่ ก็ต้องอาศัยเงินเดือนเป็นเครื่องจุนเจือ สำหรับคนชราที่ไม่มีลูกเต้าช่วยเหลือ ในคอมมูนจะมีสถานสงเคราะห์คนชราถ้าคนชราคนใดยังมีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ เขาก็ให้ทำ ยังมีสถานเลี้ยงเด็กอีกอย่างหนึ่ง ให้พ่อแม่เอาลูกไปฝากเวลาทำงานตอนเย็นๆ เลิกงานแล้วก็จะรับลูกกลับ บางคนฝากลูกเอาไว้เลยก็มี ข้าพเจ้าถามว่า จีนมีปัญหาคนว่างงานหรือไม่ คุณจางบอกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจักหางานให้ทุกคนทำ แต่เดิมรัฐบาลต้องรับผิดชอบให้นักเรียนที่เรียนจบมาทุกคนทำงานของรัฐ เขามักจะให้ไปทำงานกิจกรรมกรรมสิทธิ์รวมหมู่ ต่อมาเขาจะส่งไปบุกเบิกที่ซึ่งยังรกร้างว่างเปล่า ระยะต้นจะไม่เก็บภาษี 3 ปี บางทีรัฐบาลจะตั้งร้านค้า ร้านอาหาร ซ่อมวิทยุ ตัดเสื้อ ให้พวกเด็กทำ นอกจากนั้นยังมีโรงงานของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็พยายามให้มีสวัสดิการดีขึ้นตอนนี้พยายามให้การศึกษาและความคิดต่อเยาวชนหนุ่มสาวอยากจะทำงาน

(น.277) นักเรียนที่จบชั้นมัธยมจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาจะเลือกเอาคนคะแนนสูงๆ เข้า ที่เหลือก็เข้าวิทยาลัย ถ้าเข้าเรียนไม่ได้อีกก็ต้องหางานทำและสอบเข้าอีก พวกที่สอบไม่ได้จริงๆ รัฐจะเอามาฝึกงาน ตอนนี้จีนกำลังเสริมงานด้านการท่องเที่ยว ฉะนั้นจะต้องสร้างโรงแรมใหม่ๆ ทำให้คนมีงานทำในการก่อสร้างแล้วยังมีพวกบริกร มัคคุเทศก์ จะต้องฝึกหัดภาษาต่างประเทศหลักสูตร 3 ปี คนที่จบมหาวิทยาลัยแล้วถ้ามีความสามารถ ยังสอบเป็นนักวิจัยเรียนต่ออีก 3 ปี เห็นพืชน้ำมันกองอยู่ข้างทาง เขาคงจะเอาเม็ดไปทำน้ำมันหมดแล้ว ต้นที่กองอยู่ คุณจางบอกว่าเขาใช้เป็นฟืนหุงหาอาหารตอนที่ไม่มีแก๊ส ที่ตลาดเขาแล่หมูขาย แขวนไว้ในร้านข้างทาง มีแขวนไว้ทั้งตัวเบ้อเริ่มเทิ่ม คุณจางบอกว่า น้ำมันเมืองจีนลิตรละ 7 เหมา 5 เฟิน ยังไม่ได้คุยอะไรกันต่อพอดีรถถึงโรงแรม ระหว่างทาง “เตี่ย” หยุดรถให้ถ่ายรูปท้องไร่ท้องนาสองหน ข้าพเจ้าอยากถ่ายต้นหม่อนที่ปลูกตามคันนา 2 ฟาก มีผักกาด ในนามีข้าว มีข้าวโพด มีถั่ว ฯลฯ พร้อมทั้งถ่ายรูปน้ำที่กำลังไหลโกร๊กๆ อยู่มากมาย พอดีขณะนั้นผู้คนที่สัญจรไปมาต่างมามุงดูว่าเรากำลังทำอะไรกัน ข้าเจ้าจึงขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึก มีคุณตาคนหนึ่งหัวเราะชอบใจที่ได้เป็นดาราหน้ากล้อง


(น.278) รูป 126 ขอถ่ายรูปคนแก่ที่เสฉวน แกเลยิ้มหวานให้ถ่ายรูปเป็นอย่างดี

(น.278) ข้าพเจ้าพยายามเก็บภาพเหล่านี้ไว้ เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างว่าสภาพเช่นนี้เป็นการเพาะปลูกอย่าง intensive คือใช้เนื้อที่น้อย (เพราะมีเนื้อที่น้อย) แต่ให้ได้ผลผลิตมากๆ ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อมีปัจจัยที่ดี ประการแรกต้องมีน้ำที่พอเพียงและสม่ำเสมอ กล่าวคือจะต้องเป็นพื้นที่ซึ่งได้น้ำชลประทาน (ซึ่งต้องอาศัยทุน หลักวิชาและสภาพธรรมชาติ) ปราศจากศัตรูพืช หรือมีศัตรูพืชน้อย การปราบศัตรูพืชนี้อาจจะมีความจำเป็นที่จะใช้ยาเคมี และปัจจัยอีกประการหนึ่งคือคุณภาพของดิน การปราบศัตรูพืชและปรับปรุง

(น.279) คุณภาพดินบางทีก็ต้องใช้ทุนสูง ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่าการให้น้ำแก่พืชสม่ำเสมอนั้น เป็นการแก้ปัญหาโรคพืชบางอย่างได้ เช่น ที่เคยเห็นที่สวนส้มวังน้ำค้างของอาจารย์ พันธุ์เลิศ ที่เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม การทำการเกษตรอย่างที่ใช้เนื้อที่น้อยได้มากๆ นั้นอาศัยต้นทุนการผลิตสูง เป็นแบบหนึ่งของการผลิตซึ่งเราจะใช้เมื่อใด ที่ใดก็จะต้องคำนวนดูว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม เมื่อถึงโรงแรม พวกเราก็ดูเหมือนจะเก็บของกัน ข้าพเจ้ารอด้วยความตื่นเต้นว่าเมื่อใดจะถึงเวลาที่มีคนมาแสดงการแกะสลักอะไรเล็กๆ ระหว่างที่รอนั้นข้าพเจ้าก็เดินไปเดินมาตรงหน้าลิฟต์ดูอะไรแถวๆ นั้น สังเกตเห็นว่าเขามีแผ่นกระดาษปะเอาไว้ สำหรับแขกที่มาพักเขียนความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงแรม และมีแผนที่ประทศจีนปะเอาไว้ให้ เวลาประมาณบ่ายสามโมงตามที่นัดเอาไว้ ช่างแกะสลักของเล็กๆ ของจีนก็มาจริงๆ ที่ชั้นล่างตรงร้านค้าของโรงแรม ช่างคนนี้ชื่อ จ้าวจื่อเหริน อายุ 76 ปี กำลังแกะสลักแท่งงาแท่งเล็กๆ บอกว่าจะให้ข้าพเจ้าเป็นที่ระลึก ข้าพเจ้าขอดูเครื่องมือของแกและขอถ่ายรูปใกล้ๆ ที่ตรงนั้น คุณตาจ้าววางนิทรรศการผลงานเอาไว้แปลกประหลาดมหัศจรรย์จริงๆ นั่นแหละ บนชิ้นงาเล็กนิดเดียวสามารถบรรจุตัวอักษรไว้ได้มากถึงแค่นั้น เวลาข้าพเจ้าจะอ่านต้องควักแว่นขึ้นมาใส่และเอาขยายส่องอีกชั้น แต่คุณตาเล่นใช้แต่แว่นสายตาธรรมดาๆ แท่งงาที่แกะให้ข้าพเจ้า ด้านหนึ่งเป็นคำต้อนรับ อีกข้างหนึ่งเป็นรูปวิว และมีชื่อคนแกะวันเดือนปี ขนาดที่แกะถ้าหรี่ตานิดๆ และ

Next >>