Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2524 "

(น.299) ชมป่าหิน
วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2524

(น.300) วันนี้ตั้งแต่เช้าก็ยุ่งอยู่กับการเตรียมการอวยพรท่านผู้หญิง ยังให้ของขวัญไม่ได้ เพราะยังเซ็นกันไม่ครบ พี่อู๋เขียนคำอวยพรและชื่อพวกเราเป็นภาษาจีน เมื่อรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว ถึงเวลาที่จะไปชมป่าหิน ซึ่งใครๆ บอกกับข้าพเจ้าว่าสวยนักสวยหนา ผู้ที่มารับจะไปชมป่าหินวันนี้คือท่านท้าวราชวงศ์ ซึ่งเป็นชาวไต่ มาจากแคว้นสิบสองปันนาเดิมท่านเป็นประธานคณะกรรมการปฏิวัติของสิบสองปันนา ตอนที่ญี่ปุ่นบุกถึงสิบสองปันนา ปลาย 1944 ถึงต้น 1945 มีการสู้รบท่านก็ได้สู้ด้วย เมื่อค.ศ. 1977 ย้ายมารับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการมณฑลอยู่ที่คุนหมิง ท่านบอกว่าคุนหมิงถึงสิบสองปันนาระยะทาง 700 กว่ากิโลเมตร ท่านเล่าว่า อาชีพของประชาชนที่สิบสองปันนา นอกจากการเกษตรมีการทอผ้า การสาน การแกะสลักและปัก บ้านเรือนราษฎรทำด้วยไม้มีเสาสูง ใช้รถม้า มีงานอีกอย่างคือการทำป่าไม้และมีป่าทึบเขตสงวนพันธุ์พืชของรัฐบาล สองข้างทางมีคนขี่ควายและจูงควายเดินไปเดินมา ถามจากท่านท้าวฯ ท่านบอกว่าที่นี่เวลาทำนาเขาไถนาเสียก่อน ตอนนั้นยังปล่อยน้ำเข้านาไม่มากนัก แล้วจึงปล่อยน้ำเข้าให้มากขึ้นอีกหน่อยแล้วคราดอีก 3 ครั้ง ด้วยวิธี “เล่นสกี” อย่างที่ได้กล่าวแล้วในตอนที่เขียนถึงเมืองเสฉวน ต้นไม้ที่ปลูก 2 ข้างทางส่วนใหญ่จะเป็นต้น อัน หรือต้นยูคาลิปตัส ซึ่งชาวไต่เรียกว่าต้นใบหอม มีการปลูกตามคันนา ทำ


(น.301) รูป 135 อ่างเก็บน้ำอีกแห่ง ถ่ายจากหน้าต่างรถ

(น.301) สวนท้อและข้าวสาลี ก็ปนกันลงไปในบริเวณใกล้ๆ นั้น ส่วนมากข้าวสาลีเขาจะปลูกใต้ต้นท้อนั่นเอง ในนาบางที่ปลูกบัว ซึ่งท่านท้าวฯ ออกเสียงเป็น โบ ซึ่งเขาปลูกขายทั้งดอกทั้งฝัก น้ำแถวนี้ได้จากอ่างเก็บน้ำ ซงหมง ซึ่งสร้างมากว่า 20 ปีแล้ว ที่สูงๆ ตามไหล่เขาก็ปลูกโดยการส่งน้ำขึ้นไป ไกลออกไปอีกมีเขื่อนดินใหญ่และอ่างเก็บน้ำชื่อว่าอ่าง ซุงโหม (ห เป็นอักษรนำ) อ่างนี้เก็บน้ำได้ประมาณล้านกว่าลูกบาศก์เมตรเขาถือว่าเป็นอ่างขนาดเล็ก มีเหมืองส่งน้ำไปเข้าไร่นา (น้ำเหมืองนี้


(น.302) รูป 136 พักผ่อนระหว่างการเดินทางไปป่าหิน แต่อาจารย์สารสิน และท่านทูตอาจจะปรึกษาอะไรอย่างเครางเครียด (ดูจากภาพ)

(น.302) ภาษาไต่ออกเสียงว่าน้ำ เหมิง) สังเกตเห็นว่าแถวนี้เป็นเขตหินปูนทั้งนั้น ถนนที่เราแล่นอยู่นี้ เป็นถนนยางมะตอย ซึ่งเรียบดีมาก ข้างถนนมีทรายกองอยู่สำหรับซ่อมถนนที่ชำรุด เห็นคนเดินมาข้างทางหาบกระบุงด้วยไม้คาน ข้างหนึ่งเอาลูกใส่ไว้กระบุงอีกข้างใส่ของ

(น.303) ท่านท้าวฯ เล่าว่าควายเป็นของคอมมูนแต่คอมมูนจะให้ชาวนาเลี้ยงตามบ้านควายที่เป็นของชาวนาเองก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกลุ่มน้อย ส่วนมากจะเลี้ยงของตนเอง รถไถเป็นของคอมมูนก็มี ของส่วนตัวก็มี ถ้าเป็นของชาวนา ถ้าคอมมูนจะขอยืมก็ต้องให้ค่าเช่า ผู้ที่มีรถไถเองมักจะต้องซื้อน้ำมัน ซึ่งไม่ใช่คอมมูน แต่เป็นของรัฐบาล คอมมูนเองก็ต้องซื้อน้ำมันรัฐบาล โรงสีจะเป็นของกองการผลิต (เซิง ฉาน ตุ้ย) บางโรงก็เป็นของรัฐบาล โรงสีขนาดเล็กมีตามหมู่บ้าน เช่น เขตสิบสองปันนามี่ทั้งครกกระเดื่องที่ใช้เท้าเหยียบและแบบใช้มือตำ นั่งรถตั้งนานแล้วไม่มีทีท่าว่าจะถึงได้ ชักไม่มีเรื่องจะคุยแล้วท่านท้าวราชวงศ์ไม่ได้ช่างคุยเท่าไร จึงให้ท่านสอนภาษาไต่ ถามว่าคำนั้นแปลว่าอะไร คำนี้แปลว่าอะไร เช่น ม้า ไต่ว่า หม่า วัว ว่า โว ไก่ ว่า ไก่ ไข่ ว่า ไข่ ช้าง ว่า จ๊าง เสือ ว่า เสือ คำว่าช่วยกัน ภาษาไต่ว่า เติบจ้วย เติบเลื่อน หรือเติบหัน ทางไกลว่า ตางไก่ พอดีรถเลี้ยวเข้าที่จอดรถ ซึ่งเขาบอกว่ายังไม่ถึงที่เราจะไป แต่เป็นครึ่งทางพอดี เขาพาเข้าที่นั่งพักกินผลไม้ตามธรรมเนียม ที่ตรงนี้เป็นทะเลสาบ หยางจงไห่ เป็นทะเลสาบธรรมชาติ ท่านท้าวฯ รีบอธิบายว่าเป็นน้ำสมุทร ศัพท์คล้ายๆ กันนี้พอจะพูดกันเข้าจริงกลับไม่รู้เรื่อง ต้องใช้ล่ามจนได้ ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกคนคงจะเซ็นชื่อใน “ของขวัญ” ท่านผู้หญิงสุประภาดาครบทุกคนแล้ว จึงทำพิธีมอบพร้อมทั้งกล่าวอวยพรว่า “เซิง รื่อ ไคว่ เรื่อ” แปลว่า สุขสันต์วันเกิด

(น.304) ท่านผู้หญิงชอบมาก แต่บอกให้พวกเราไปล่าลายเซ็นของฝ่ายจีนด้วย หลังจากนั้นข้าพเจ้าออกไปเดินเล่นข้างนอก จนถึงเวลาที่จะต้องเดินทางต่อ เขาชี้ให้ดูโรงไฟฟ้าแถวๆ นี้ บอกว่ามีเขื่อนผันน้ำเสียไม่ให้ไหลเข้าในทะเลสาบ เขาจะให้ของเสียตกตะกอนมารวมกันเป็นแผ่นดำๆ ซึ่งทำปุ๋ยได้ ตามทางมีเตาเผาอิฐอยู่ด้วย ตามนาข้าวสาลีซึ่งเกี่ยวไปแล้วมีกองปุ๋ยหมักอยู่เป็นระยะๆ นาแถวนี้เลี้ยงด้วยน้ำห้วย (ภาษาไต่เรียกอย่างนี้)


(น.304) รูป 137 อ่างเก็บน้ำที่เราไปพักกลางทางที่เราจะไปป่าหิน

(น.305) ข้าพเจ้าถามว่ามีการเลี้ยงไหมหรือไม่ ท่านท้าวฯ บอกว่ามี มีทั้งชนิดเลี้ยงตามบ้าน และเลี้ยงในโรงรวมกัน เดี๋ยวนี้การเลี้ยงไหมเป็นอาชีพรองของครอบครัวสมาชิกคอมมูน ตามคอมมูนมักจะมีเครื่องสาวไหม คันนาที่นี่ส่วนใหญ่จะไม่โตนัก ไม่ค่อยจะมีการปลูกผักตามคันนามากเท่าที่เสฉวน มีการปลูกถั่วอยู่บ้างแต่ก็น้อย มีการปลูกถั่วเหลืองสำหรับทำเป็นอาหาร ถามว่าทำถั่วเน่า (อาหารไทยใหญ่ทำจากถั่วเหลือง ข้าพเจ้าคิดว่าเรียกได้ว่าเป็นข้าวเกรียบอย่างหนึ่ง) บ้างหรือเปล่า พูดคำว่า ถั่วเน่า ท่านท้าวฯ ก็รู้จักทันทีแล้วบอกว่าแถวสิบสองปันนาเขาก็ทำกัน ทางชลประทานแถวนี้เวลาหน้าน้ำเขาปล่อยน้ำอยู่ตลอดเวลาหน้าแล้งจะเปิดคูน้ำ ส่งน้ำเลี้ยงเป็นเวลา รถผ่านแม่น้ำ หนานผันเจียง เห็นคนเดินไปมาหน้าตาเหมือนคนไทย เพื่อป้องกันการง่วงนอน ข้าพเจ้าจึงหาเรื่องชวนคุยกันเรื่อยๆ ข้าพเจ้าถามว่าผีของชนชาติไต่หน้าตาเป็นอย่างไร ท่านท้าวฯ ตอบว่าผีน่ะไม่มี ข้าพเจ้าบอกว่า ไม่ได้หมายความถึงสมัยนี้แต่คนไต่โบราณเขาเล่ากันมาอย่างไร ท่านเลยเล่าว่าผีและเทวดาหน้าเหมือนคนบ้าง เหมือนสัตว์บ้าง เช่น ม้า ควาย ถามเรื่องผีอีกท่านก็ไม่เล่า


(น.306) รูป 138 ตอนหยุดพักจะไปป่าหิน


(น.307) รูป 139 บทกวีของท่านประธานเหมาเจ๋อตุง กล่าวชมธรรมชาติ

(น.307) หินแถวๆนี้ เรียกว่าหิน ฟงฮั่ว มีลักษณะเป็นชั้นๆ ลอกออกได้เป็นชั้นๆ ป้ายข้างถนนของที่นี่เขาเขียนได้รูปสวย ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์เฉยๆ เหมือนของเรา เช่น ทำเป็นรูปรถยนต์กับจักรยานชนกัน ที่สังเกตเห็นอีกอย่างหนึ่ง คือแถวนี้เป็นหินปูนทั้งนั้น จึงมีที่เผาปูนทำเป็นปูนขาวก่อสร้าง รถแล่นเข้าบริเวณป่าหิน ท่านท้าวฯ อธิบายว่าหินถูกลม ฝน น้ำ เสียดสีหมื่นกว่าปีแล้ว จึงเป็นรูปต่างๆ เมื่อ 2-3 ปีนี้จัดการปรับปรุงให้ชาวต่างชาติมาเยี่ยมชมได้ เมื่อไปถึงป่าหินจะมีผู้จัดการโรงแรมที่นั่นมาคอยรับ เขาบอกว่าโรงแรมนี้ปัจจุบันมีที่รับได้ 1,500 คน ก่อนอื่นเราก็เข้าห้องน้ำกัน ระยะทางจากพักมาป่าหินราวๆ 120 กิโลเมตร เราใช้เวลา 3 ชั่วโมงกว่า ได้รับคำอธิบายว่า 200 กว่าล้านปีมาแล้ว ดินแดนแถบนี้อยู่ใต้ท้องทะเลและสภาพธรรมชาติค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแผ่นดิน ที่รู้ว่าเคยอยู่ใต้ทะเลเพราะได้ตรวจหินปูน และพบส่วนของซาก


(น.308) รูป 140 หินรูปช้างที่ป่าหิน

(น.308) สัตว์ทะเล หินของป่าหินนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพราะถูกแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม คลื่นใต้น้ำ การที่แผ่นเกิดยกตัวกลายเป็นที่ราบสูง เมื่อขึ้นมาเหนือดิน แล้วก็ถูกน้ำฝนซึ่งมีกรดคาร์บอลิก ยิ่งกัดกร่อนหินเป็นรูปเป็นร่างต่างๆ เป็นแท่งๆ บริเวณที่มีลักษณะเช่นนี้กว้างใหญ่สุดลูกหูลูก พื้นที่หินปูนแบบนี้ดูเหมือนจะเรียกว่าภูมิประเทศแบบ คาร์สต์ (Karst) ฉะนั้นการไปดูป่าหินนี้จะเป็นการประกอบการศึกษาแบบที่เคยเรียนตอนเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี

(น.309) ตอนแรกเขาพาเข้าป่าหินเล็กก่อนแล้วจึงไปป่าหินใหญ่ มีก้อนหินซึ่งดูแล้วเป็นรูปต่างๆ หลายอย่าง เช่น แม่ทัพแต่งชุดทหารโบราณ หันหน้าทางทิศเหนือ อันนี้ข้าพเจ้ามองไม่ออก มีรูปช้างซึ่งมองไม่ออกเหมือนกัน เขาอธิบายว่าแถวๆ นี้ ประชากรเป็นชนชาติอี๋ ซึ่งเป็นคนที่รื่นเริง รักความสนุกสนาน วันที่ 24 มิถุนายนจะมีงานของชนชาติอี๋ คนอี๋จะมาเต้นรอบกองไฟ ร้องรำทำเพลงตรงลานในป่าหินที่เรายืนอยู่นี้


(น.309) รูป 141 ป่าหิน (ทางเข้าป่าหินเล็ก)

(น.310) บนผาหินแห่งหนึ่งมีบทกวีของท่านประธาน เหมาเจ๋อตุง สลักไว้ด้วยสีแดง เขาแปลให้ว่าข้อความในบทกวีเป็นการสรรเสริญดอกเหมยว่าต้านทานความหนาวเย็นได้ แม้ว่าหิมะตกหนัก น้ำแข็งจับก็ยังอยู่ได้ ในป่าหินเล็กนี้ยังมีมีนิยายปรัมปราของชนชาติอี๋ที่เล่าต่อกันมา ถึงสาวน้อยชาวอี๋ชื่ออาซือหม่า มีหนุ่มคนรักชื่ออาเฮยวันหนึ่งในระหว่างที่อาเฮยไม่อยู่ ออกไปเลี้ยงแพะ มีผู้ร้ายจับอาซือหม่าไปขังไว้ แต่พอดีที่คุมขังมีคูน้ำ อาซือ หม่าจึงสามารถเขียนจดหมายลอยน้ำมาบอกให้อาเฮยทราบ อาเฮยเป็นคนมีความสามารถช่วยอาซือหม่าออกมาได้ แต่ก็อีกนั่นแหละถึงคราวเคราะห์ที่มีผู้ร้ายเอาหินที่กั้นน้ำไว้ออก ทำให้อาซือหม่าจมน้ำตายและกลายเป็นหินในป่าหิน ส่วนอาเฮยก็เสียใจมากมาคอยร้องเรียกอาซือหม่าทุกวัน และไม่พบรักอีกจนตาย


(น.310) รูป 142 ป่าหิน

Next >>