Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2543 "

(น.35) จดหมายฉบับที่ 3

(น.36) เรือนรับรองหนานเจียว จี่หนาน มณฑลซานตง
วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2543
ประพจน์รับประทานอาหารเช้าแล้ว ไปที่เจดีย์เป๋าถ่าซาน ตอนแรกคนอธิบายพูดเป็นภาษาอังกฤษ ฉันฟังไม่ทัน เพราะสมองยังคิดอยู่ว่าต้องเป็นภาษาจีน และ แปลเป็นไทย ที่จริงก็เป็นแบบฝึกหัดที่ดีคือ หัดฟังภาษาจีน แต่ยังฟังไม่เก่งพอที่จะจับเนื้อหาเป็นภาษาจีนได้ครบถ้วน ตอนหลังเห็นจะเป็นนกกุ๊กกูที่จัดการให้เขาพูดเป็นภาษาจีน ได้ความว่าบริเวณนี้เรียกว่า เขาเจียงหลิง เจดีย์นี้สร้างสมัยราชวงศ์ถังใน ค.ศ. 766-778 แต่ว่าที่เราเห็นนี้เป็นส่วนที่ บูรณะใหม่ในสมัยราชวงศ์หมิง สมัยใหม่นี้ก็บูรณะอีก มีบริษัทไฟฟ้าที่เซี่ยงไฮ้มาบริจาคไฟติดที่เจดีย์

(น.36)


รูป 26 ไปเจดีย์เป๋าถ่าซาน
Visiting the Baota shan pagoda.

(น.37)


รูป 27 บริเวณเจดีย์เป๋าถ่าซาน ซึ่งอยู่บนเขาจึงเป็นที่ชมทิวทัศน์เมืองเหยียนอาน
Situated high up on the mountain, it is the best spot to admire the view of Yan-an.

(น.37) ความสำคัญของเจดีย์นี้ในยุคปัจจุบันที่พอจะมองเห็นได้คือ เป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่จะใช้เป็นจุดอ้างอิงได้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือเจดีย์ตั้งอยู่ที่สูง ถ้าไต่ขึ้นไปถึงยอดชั้นที่ 9 ก็ยิ่งสูงเข้าไปใหญ่ (เขาไม่ได้เชิญให้ฉันไต่ขึ้นไปและฉันก็ไม่ได้เรียกร้องที่จะไต่) รอบๆ บริเวณนั้นมีระฆังสมัยราชวงศ์หมิง สร้างในเดือนเมษายน ค.ศ. 1628 ตรงกับรัชศกฉงเจิน ปีที่ 1 มีรูปยันต์ 8 ทิศ ระฆังนี้เคยเก็บรักษาไว้ที่วัดเต๋า ตอนสงครามต่อต้านญี่ปุ่นจึงยกมาใช้ที่นี่ ค.ศ. 1938 มีเครื่องบินญี่ปุ่นมาทิ้งระเบิดที่เหยียนอาน ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องย้ายที่มั่นอยู่เรื่อยๆ มองภูมิประเทศเหมือนกับที่อนุสรณ์สถานที่ดูเมื่อวานนี้ แต่เป็นของจริง คือมีภูเขาล้อมรอบ 3 ด้าน และมีแม่น้ำผ่านกลาง มองเห็นยอดเขาเฟิ่งหวง เขาชิงเหลียน ตึก 9 ชั้นในเมือง ไกด์บอกว่าแม่น้ำเหยียนเหอและแม่น้ำหนานชวน รวมกันทางภาคตะวันตกกลายเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำหวงเหอ มีสะพานข้ามแม่น้ำเหยียนเหอ สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1958 สะพานเป๋าถ่าสร้างเสร็จ ค.ศ. 1975 เขาเล่าว่าเมืองนี้สมัยราชวงศ์สุยราว ค.ศ. 607 เป็นจังหวัดเหยียนอานจวิ้น สมัยราชวงศ์ถังเปลี่ยนเป็นเหยียนอานฝู่ เชิงเขามีซากเมืองโบราณ แสดงว่าแถวนี้เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่

(น.38)


รูป 28 บริเวณเจดีย์เป๋าถ่าซาน ซึ่งอยู่บนเขาจึงเป็นที่ชมทิวทัศน์เมืองเหยียนอาน
Situated high up on the mountain, it is the best spot to admire the view of Yan-an.

(น.39) บริเวณนี้มีการตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงาม ให้เยาวชนมาช่วยกันปลูกต้นไม้ มองไปที่ภูเขาที่สูงกว่าเขาลูกนี้ มีศาลาว่านโค่ว เมื่อสมัยราชวงศ์ซ่ง ฟั่นจ้งเยียนซึ่งเคยมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมาสร้างไว้ แต่พังไปนานแล้ว ที่เห็นนี้สร้างขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1987 หอนี้มีชื่อว่าหอเด็ดดวงดาว เป็นด่านชายแดนสมัยราชวงศ์ซ่ง สำหรับป้องกันการรุกรานของพวกซีเซี่ย จากนั้นเราไปที่เจ่าหยวนหรือสวนพุทราจีน บริเวณนี้เคยเป็นบ้านของเจ้าของที่ดิน แต่สมัยต่อมาถูกขุนศึกยึด บริเวณบ้านมีสวนผลไม้หลายอย่าง เช่น ท้อ สาลี่ และเหง (apricot) เคยเป็นที่ตั้งสำนักงานกลางของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1947 ตอนนั้นมีเลขาธิการ 5 คน มีหน่วยสังคมคังเซิง มีหอประชุม อาคารหลายหลังสร้างสมัยนั้น เช่น อาคารที่ใช้เป็นสโมสรและใช้เป็นที่ประชุมกรรมการกลาง สมาชิกสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติชื่อเสียวลี่ทาง เป็นผู้ออกแบบ ใช้ศิลปะกึ่งจีนกึ่งรัสเซีย ข้างในจัดเป็นโต๊ะประชุม บนผนังติดรูป รูปหนึ่งเป็นรูปประธานเหมากำลังจะเดินทางไปฉงชิ่งหรือจุงกิงเพื่อเจรจากับก๊กมินตั๋ง อีกรูปหนึ่งประธานเหมาถอดหมวกทักทายประชาชนที่มาส่ง และมีรูปที่ประชาชนราว 4,000-5,000 คนคอยต้อนรับเมื่อเดินทางกลับมาจากฉงชิ่ง (ฉันคิดว่ารูปพวกนี้อาจจะเพิ่งติดเมื่อจัดที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์) ทุกวันเสาร์มีการจัดรายการบันเทิงในตึก มีลายมือประธานเหมาเขียนไว้ว่า “บริการประชาชน” คนที่ทำงานที่ศูนย์บัญชาการนี้เมื่อมีเวลาว่างจะต้องออกไปช่วยประชาชน กองทัพกับชาวบ้านมีความสัมพันธ์กันเหมือนน้ำกับปลา ในศูนย์บัญชาการมีชาวบ้านมาร่วมงานบันเทิงต่างๆ เช่น ในวันตรุษจีน ค.ศ. 1944 ประชาชนชาวเจ่าหยวนมาอวยพรคนในพรรค ประธานเหมาจัดทอฟฟี่และขนมปังไว้ต้อนรับประชาชน เวลาขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย เทศกาลหยวนเซียวจะเชิญคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมาร่วมงาน

(น.40)


รูป 29 เจ่าหยวน สำนักงานกลางของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์
Zaoyuan. The Central Headquarters of the Communist Party.

(น.40) มีคูที่ขุดเมื่อ ค.ศ. 1940 ให้น้ำแก่หมู่บ้านเจ่าหยวน 1,400 โหม่ว ประชาชนมีผลผลิตดีขึ้น คูนี้จึงได้ชื่อว่า คูความสุข ไปดูที่อยู่ของผู้นำ สถาปัตยกรรมแถวนี้แปลก สร้างบ้านเหมือนกับเป็นอุโมงค์ เข้าไปเป็นห้อง เขาจัดข้าวของต่างๆ ของผู้นำแต่ละคนไว้ในห้อง ติดรูปที่เกี่ยวข้องกับผู้นำท่านนั้นๆ รวมทั้งผลงานหนังสือที่แต่งด้วย เช่น บ้านเหรินปี้สือ (ค.ศ. 1944) เดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 ได้ไปมอสโกในฐานะตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำโคมินเทอร์น กลับจากมอสโกใน ค.ศ. 1940 มาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดูแลกิจการในเขตนี้ เหรินปี้สือเสียชีวิตในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1950 ที่ปักกิ่ง อายุได้ 57 ปี ห้องพักนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล มีห้องนอนและห้องทำงาน ขณะอยู่ที่นี่ (ค.ศ. 1944-1947) มีหน้าที่ดูแลการติดต่อกับต่างประเทศและการเจรจาการเมือง ระหว่างอยู่ที่เจ่าหยวนไปฉงชิ่งถึง 9 ครั้ง ในห้องนอนมีเครื่องปั่นด้าย ด้ายที่นายกฯ โจวปั่นได้รับคัดเลือกเป็นด้ายระดับเอ ในตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ถือคำขวัญว่า “สร้างโลกใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ ทรหดอดทนและพึ่งตนเอง”

(น.41)


รูป 30 ห้องที่นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหลเคยอยู่
Prime Minister Zhou Enlai's room.


รูป 31 สิ่งของต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล
Prime Minister Zhou Enlai's belongings.

(น.41) ในห้องติดรูปนายกฯ โจวเอินไหลและภริยาคือ ท่านเติ้งอิ่งเชา ในภาพท่านโจวสวมเสื้อโค้ตหนังที่สตาลินให้ใน ค.ศ. 1938 เมื่อไปรักษาตัวที่มอสโก ห้องจังเหวินเทียน ท่านผู้นี้มีหน้าที่ดูแลการวิจัยนโยบายทางการเมือง ภายหลังท่านไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภริยาเมื่อ ค.ศ. 1945 ในตู้มีหนังสือที่เขียนตอนไปสำรวจหมู่บ้าน

Next >>