Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2543 "

(น.62)


รูป 43 ของชิ้นที่ตั้งตรงกลางชั้นบนในภาพนี้เป็นแท่นมีเสา นกอยู่บนยอดเสาตัวหนึ่ง ตรงกลางเสาตัวหนึ่ง ทำด้วยสำริด
In the middle of the upper shelf displayed a small bronze column with two birds, one at its top, the other in the middle.

(น.63) สิ่งของที่ได้จากการขุดค้นที่เซียนเหรินไถใน ค.ศ. 1995 เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยราชวงศ์โจว มีพื้นที่กว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร ที่จริงแล้วพบทั้งวัฒนธรรมเซี่ย โจวตะวันตก ชุนชิว ฮั่น ได้พบสุสานมีของทั้งที่เป็นสำริดและดินเผา ของบางชิ้นมีตัวอักษรสลัก มีภาชนะใส่อาหารที่ยังมีอาหารประเภทข้าวฟ่างติดอยู่ ภาชนะบางอย่างใช้เฉพาะในพิธีกรรม แท่นมีเสาปักอยู่มีนกอยู่บนยอดตัวหนึ่ง ตรงกลางเสาอีกตัวหนึ่ง ทำด้วยสำริด สมัยชุนชิว พบที่เซียนเหรินไถเหมือนกัน เขาอธิบายว่าเป็นความเชื่อของพวกตงอี๋นับถือนก (นกพิราบป่า) ดูอีกทีก็มีอะไรคล้ายๆ เสาหงส์ของบ้านเรา ที่จริงมีคนเขียนบทความสันนิษฐาน แต่เป็นภาษาจีน ฉันคงอ่านยาก พวกเครื่องหยก ของพวกนี้เราเรียกว่าหยกทั้งนั้น ที่จริงเป็นหินมีค่าหลายชนิด ชิ้นที่สำคัญของที่นี่ทำด้วย Nephrite (หยกชนิดหนึ่ง) มาจากซินเกียง ชิ้นอื่นๆ เป็นหยกท้องถิ่น สุสานหมายเลข 6 มีขนาดใหญ่มาก และเก็บรักษาได้เป็นอย่างดี มีภาชนะที่ใช้สำหรับพิธีที่เรียกว่า ติ่ง ขนาดใหญ่ 15 ใบ ปกติสมัยโจวจะมีหลักตายตัวว่าจำนวนติ่งขึ้นอยู่กับยศของคนตาย ที่มากที่สุดคือ 9 ใบ แต่ที่นี่มีถึง 15 ใบ มีชุดสำหรับล้างมือ เป็นพิธีก่อนที่จะเอาของไปถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องดนตรีมีระฆังราวทำด้วยสำริดและระฆังหิน อาวุธต่างๆ เช่น ดาบ มีด ลูกศร มีจานที่ใช้เป็นของขวัญในงานแต่งงาน มีอักษรจารึกว่าเจ้าหญิงไปแต่งงานกับเจ้าชายอีกรัฐ มีเครื่องดินเผา

(น.64) แหล่งโบราณสถานอิ่นเจียเฉิง เป็นแหล่งที่ฝึกนักศึกษาโบราณคดี พบสิ่งของในวัฒนธรรมหลงซานและเยี่ยสือ ของที่มาแสดงไว้มีของที่เป็นเครื่องดินเผาสีดำ วัฒนธรรมหลงซาน มีบางชิ้นปั้นได้บางเรียกว่าเครื่องปั้นเปลือกไข่ มีของสมัยราชวงศ์เซี่ย นอกจากเครื่องดินเผาแล้วยังมีเครื่องมือทำจากกระดูกและหิน มีภาชนะสำริดรูปร่างต่างๆ เช่น กุย (สามขา) แหล่งโบราณคดีติงกง อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านติงกง ตำบลหยวนเฉิง อำเภอโจวผิง มีการประกาศเป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ระหว่าง ค.ศ. 1985-1993 ได้มีการขุดหลายครั้ง ได้ของโบราณมาถึง 6,000 ชิ้น เป็นของก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่เรียกว่า วัฒนธรรมเป่ยซิน วัฒนธรรมต้าเวิ่นโข่ว วัฒนธรรมหลงซาน วัฒนธรรมเยี่ยสือ ต่อมาถึงของในสมัยราชวงศ์ซัง ราชวงศ์ฮั่น และสมัย 5 ราชวงศ์ ของที่พบมีทั้งภาชนะดินเผา เศษดินเผาที่มีอักษรจารึก มีชิ้นหนึ่งมีอักษร 11 ตัว อ่านออกเพียง 4 ตัว มีภาชนะสำริดที่เรียกว่า ลี่ และ กุย ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังทำฐานข้อมูลของเครื่องสำริด ยังมีสิ่งของที่ขุดได้จากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ อีก แต่ฉันไม่ได้ดู ดูของอื่นในตู้ มีกระดูกสำหรับพยากรณ์ (oracle bones) อานหยังมีมากเพราะเป็นราชธานี มีอาวุธสำริด ที่ฝาห้องมีสำเนาจารึกหน้าสุสานสมัยราชวงศ์ฮั่น เขาอธิบายว่าพูดถึงชีวิตในสวรรค์ มีหนังสือคำตอบข้อสอบสมัยราชวงศ์ชิง คนนี้ได้ที่ 37 ตกลงว่าสอบได้หรือไม่ได้ก็ไม่ทราบ เครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์เว่ย ราชวงศ์จิ้น สมัยราชวงศ์ฉี ราชวงศ์สุย ของสมัยหินใหม่แหล่งต้าเวิ่นโข่ว ของสมัยราชวงศ์ฮั่นมีพวกของจำลอง ของใช้ที่สำหรับใส่ในสุสาน เช่น บ่อน้ำ ยุ้งฉาง และครัว คันฉ่อง สำริด เหรียญเงิน เครื่องถ้วยเคลือบ 3 สีสมัยราชวงศ์ถัง ชิ้นนี้มหาวิทยาลัยซื้อเมื่อทศวรรษ 1950 ราคา 6 หยวน

(น.65)


รูป 44 อาจารย์ฉวีเชาเขียนพู่กัน
Calligraphy by Professor Qu Chao.

(น.65) ศาสตราจารย์ฉวีเชา เขียนตัวอักษรพู่กันให้ฉัน ทางมหาวิทยาลัยให้หนังสือบทความทางโบราณคดี และหนังสืออื่นๆ อีกมากมาย เดินทางต่อไปที่พิพิธภัณฑ์มณฑลซานตง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1954 นับเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งแรกระดับมณฑลหลังจากที่ตั้งรัฐบาลจีนใหม่แล้ว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คงเห็นว่าเรามีเวลาน้อยมาก จึงพาเดินแกมวิ่งไปตามตู้ต่างๆ พลางอธิบาย พอจับใจความได้ดังนี้

(น.66)


รูป 45 กาดินเผาสีแดงทำเป็นรูปสัตว์หน้าคล้ายหมู เราเรียกติดปากว่ากาน้ำชา ที่จริงใส่อะไรก็ไม่ทราบ
A red-clay pot in the shape of an animal resembling a pig, generally said to be a teapot but in fact no one knows what it was used for.


รูป 46 ภาชนะสามขา
Tripod vessel.

(น.66) ในสมัยเมื่อ 4,600-6,000 ปีมาแล้วซานตงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเหลืองหรือแม่น้ำหวงเหอ มีอารยธรรมที่โดดเด่น วัฒนธรรมเก่าแก่สมัยหินใหม่เรียกว่า ต้าเวิ่นโข่ว ที่จัดแสดงมีภาชนะดินเผาเขียนสีมีลายเป็นรูปดาว 8 แฉก มีนักวิชาการตีความว่าเป็นการแสดงความเคารพพระอาทิตย์ เห็นได้ว่าคนในยุคนี้เวลาฝังศพจะหันศีรษะทางทิศตะวันออก กาน้ำชาดินเผาสีแดงทำเป็นรูปหมู ภาชนะ 3 ขาที่รียกว่า กุย วัฒนธรรมในยุคต่อมาเรียกว่า วัฒนธรรมหลงซาน ราว 4,600-4,000 ปีมาแล้ว เครื่องปั้นดินเผาได้พัฒนาฝีมือสูงขึ้นมาก สามารถทำได้บางเรียกว่า เครื่องปั้นดินเผาเปลือกไข่ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่คนสมัยหินใหม่ทำได้ขนาดนี้ นอกจากเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ยังมีเครื่องหยก เช่น อุปกรณ์ต่างๆ จอบหิน จอบหยก (ฉันสงสัยว่าจอบหยกจะใช้งานได้จริงๆ หรือ)

(น.67)


รูป 47 ขวานโบราณ
Ancient axe.

(น.67) มีตู้แสดงเครื่องประดับหยกและโมรา มีแผ่นหยกที่ร้อยสำหรับเป็นสร้อยคอ สายคาดเอว ของเหล่านี้สร้างในสมัยชุนชิว ภาชนะสำริดสมัยราชวงศ์ซังสำหรับใส่น้ำใช้ส่องแทนกระจก ภาชนะที่เรียกว่า ลี่ อีกชนิดเรียกว่าติ่ง มีภาชนะที่เรียกว่า เย่ว์ (yue) เป็นภาชนะขนาดใหญ่ ฝาเป็นรูปขวานเป็นเครื่องแสดงอำนาจของกษัตริย์ มีอักษรจารึก ระฆังแถว (เปียนจง) สมัยชุนชิว ใช้บรรเลงเสด็จออกประพาส กุยสำริดสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก เขาว่าสำหรับใส่เนื้อ บนฝามีอักษรจารึกว่าได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ให้เป็นขุนนาง ภาชนะสำริดสำหรับล้างมือมีถาดรอง รอบถาดสำริดมีลายมังกรและปลา เป็นของขวัญให้ลูกสาวที่แต่งงาน เป็นการเปรียบว่า ขอให้มีความสุขเหมือนปลาอยู่ในน้ำ (เขาไม่ได้อธิบายเรื่องมังกร)

(น.68) กาใส่น้ำและเหล้าของรัฐฉีและหลู่ มีจารึกว่าเป็นของขวัญของกงซุนเจ้าให้บุตรสาวแต่งงาน ลายมือที่สลักละเอียด ภาชนะใส่อาหารที่เรียกว่า ฝู่ ฝังหินไข่นกการเวก เรียกว่า ถั่ว เป็นของสมัยจั้นกว๋อ ของอื่นที่ดูมี เครื่องตกแต่งรถม้า ตัวอักษรเขียนบนไม้ไผ่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ก่อนคริสตกาล-ค.ศ. 8) แผ่นที่ค่อนข้างบอบบางต้องแช่ไว้ในน้ำ เรื่องที่แสดงไว้เป็นเรื่องตำราพิชัยสงครามของซุนปิ้น มีบางตอนขาดหายไป บ่อน้ำจำลองสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) ตุ๊กตาหินแกะสลัก สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) มีรูปผู้หญิงเล่นโปโล แสดงว่าสมัยราชวงศ์ถังผู้หญิงยังมีสิทธิทำอะไรได้เหมือนผู้ชาย รูปไม้สลักสมัยราชวงศ์ซ่ง และมีไม้เขียนสีลายพระอรหันต์ สมัยราชวงศ์หมิง มีเครื่องเขิน ฝังมุก สมัยราชวงศ์ชิงมีงาช้างสลัก เครื่องเคลือบ 3 สีของราชวงศ์ถัง มีพระมาลาทำด้วยหนัง ปักด้วยดิ้นเป็นของพระเจ้าอู่เหลียน งาช้างสลักตามเรื่องในนวนิยายหงโหลวเมิ่ง (ความฝันในหอแดง) และเรื่องโป๊ยเซียนข้ามสมุทร สมัยราชวงศ์ชิง

(น.68)


รูป 48 ตุ๊กตาหินแกะสลักสมัยถัง
Stone statuettes, Tang Dynasty.

(น.69) เรื่องของจูถาน (ค.ศ. 1370-1389) เจ้าแห่งรัฐหลู่ พระองค์เป็นโอรสองค์ที่ 10 ของจูหยวนจัง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ได้รับแต่งตั้งให้ไปปกครองเมืองเหยียนโจวฝู่ พระองค์สนพระทัยเรื่องศิลปวัฒนธรรม กลอน และเพลง อยากเป็นอมตะจึงเสวยยาอายุวัฒนะขนานต่างๆ จนตาย ได้รับการขานพระนามว่า เป็นอ๋องไร้สาระ พระศพฝังไว้ที่อำเภอโจวในมณฑลซานตงปัจจุบัน ในการขุดค้น ค.ศ. 1970 พบโบราณวัตถุ 432 ชิ้น เป็นตุ๊กตาดินเผาเขียนสี (สีจางไปแล้ว) และนักดนตรีรวม 406 คน ม้า 24 ตัว รถคันหนึ่ง นอกจากนั้นมีหมากล้อม ตราประทับของอ๋องแห่งแคว้นหลู่ ภาพเขียนสมัยราชวงศ์หยวน ปลอกพู่กันหยก ปลอกพู่กันงาช้าง แท่นฝนหมึกหยก ตราประทับหนังสือ เครื่องเซรามิก แผนภูมิแสดงพระโอรสของจักรพรรดิหงอู่ (จูหยวนจัง) ของอื่นๆ มีเครื่องเขียนสมัยราชวงศ์ซ่ง ของใช้ประจำวัน หวายสานเป็นกลองเล็ก กุญแจต่างๆ ทั้งกุญแจประตู กุญแจหีบ เครื่องเรือนเล็กๆ ทำให้ทราบว่าสมัยก่อนเครื่องเรือนเป็นอย่างไร

(น.69)


รูป 49 ตุ๊กตาหินแกะสลักสมัยถัง
Stone statuettes, Tang Dynasty.

(น.70)


รูป 50 ไดโนเสาร์ซานตงตัวสูงใหญ่มาก
Gigantic Shandong dinosaur.

(น.70) สุดท้ายไปดูเรื่องของสัตว์โบราณ ฉันชอบไดโนเสาร์มาก เพราะการดูไดโนเสาร์ทำให้เราได้ศึกษาเรื่องเปลือกโลกสมัยต่างๆ ได้รู้จักชั้นหินด้วย ไดโนเสาร์ที่โตที่สุดในที่นี้ชื่อว่า Shantungosaurus giganteus พบที่เหวยฟัง ปากเหมือนเป็ด สูง 8 เมตร ยาว 12 เมตร ขุดพบใน ค.ศ. 1958 ตอนที่พบอยู่กระจัดกระจาย 20 กว่าชิ้น แล้วเอามาประกอบกัน มีชนิดที่พบที่ไหลหยัง ตัวเหมือนหมา ปากเหมือนนกแก้ว เป็นพวกกินเนื้อ ในซานตงเจอไดโนเสาร์ 24 ชนิด อีกห้องหนึ่งแสดงวิวัฒนาการของสัตว์ ตั้งแต่ตัว trilobite คล้ายๆ แมงดา ตัว Eurasiaticocoras เป็นหอยกิ้งกือยักษ์ พืชโบราณยุค Carboniferous มีต้นอะไรก็ไม่ทราบที่เปลือกเหมือนเกล็ดปลา อาจจะเป็นต้นปรง Lepidodendrass oculus ฟอสซิลปลา ร่วมสมัยกับไดโนเสาร์

(น.71)


รูป 51 งาช้างโบราณ
Ancient elephant's tusk.

(น.71) สมัย Tertiary เป็นสมัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่หมู่บ้านซานวั่ง พบฟอสซิลของพืชสัตว์ต่างๆ กว่า 300 ชนิด เขาวาดภาพหมู่บ้านซานวั่งสมัยนั้น (จินตนาการ) มีแมลงคล้ายๆ ปัจจุบัน เมื่อ 5,000 ปีก่อนที่นี่มีช้าง แรด และสมเสร็จ มีกวางโบราณ Paleomeryx tricornis ช้างโบราณ 30,000-40,000 ปี งายาว 3.3 เมตร กบและคางคกโบราณ งูโบราณ ตะพาบโบราณ ค้างคาวโบราณ นกโบราณ ชื่อ Shandongornis shanwangensis ตัวนี้อายุราว 15 ล้านปี เขาใช้ศึกษาวิวัฒนาการของนก (น.72) แรดสมัย Pleistocene เจอที่ซานวั่งเช่นเดียวกัน เป็นแรดไม่มีนอ ตัวสูงกว่าแรดปัจจุบัน ไม่น่าจะสูญพันธุ์เลยนะประพจน์เพราะว่าไม่มีนอให้คนทำยา กวางมีเขี้ยว เขามี 5 แฉก กะโหลกมนุษย์วานรอายุไล่เลี่ยกับมนุษย์ปักกิ่ง เป็น homo erectus สมัยนั้นมีสัตว์ร่วมสมัยอยู่ 20 กว่าชนิด รวมทั้งนกกระจอกเทศ ช้างแมมมอธ (มีหลายชนิด) แรดมีขน ดูเพียงแค่นี้ก็กลับเรือนรับรอง รับประทานอาหารกลางวัน ตอนบ่ายไป สวนสาธารณะน้ำพุเป้าทู หรือเป้าทูเฉวียน (เฉวียน แปลว่า น้ำพุ) สวนสาธารณะนี้ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1956 แต่ที่จริงแล้วเขามีประวัติมาถึง 2,700 ปี จัดเป็นสวนสาธารณะทางด้านวัฒนธรรม นอกจากจะมีดอกไม้ นก และทิวทัศน์อันสวยงามแล้ว ยังมีอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงใน ค.ศ. 1987 สร้างสวนชางหยวน และสวนดอกล่าเหมย ตอนนี้กำลังออกดอกพอดี มีกลิ่นหอม พวกคนจีนเล่าว่าต้นล่าเหมยจะออกดอกสวยและหอมเย็นที่สุด มีคำกลอนว่า “หากไม่กล้าสู้ความหนาวเข้ากระดูก ไหนเลยจะได้ชื่นชมความหอมของดอกเหมย” ให้คติว่าหากต้องการความสำเร็จก็ต้องกล้าสู้ความยากลำบากแสนเข็ญก่อน

Next >>