Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2543 "

(น.72)


รูป 52 ดอกล่าเหมย
La mei.

(น.73)


รูป 53 หวังเสวี่ยเทา
A bust of Wang Xuetao.

(น.73) เราเข้าไปชมอาคารเก็บรวบรวมผลงานของหวังเสวี่ยเทา (ค.ศ. 1903-1987) ท่านเป็นศิลปินที่ชำนาญเขียนภาพนกและดอกไม้ เป็นลูกศิษย์ฉีไป๋สือ มีจารึกลายมือไว้แปลความว่า ครามกลายเป็นสีน้ำเงิน ตีความว่าลูกศิษย์เก่งกว่าครูแล้ว ครามเมื่อสกัดเป็นสีแล้ว จะสีเข้มข้นกว่าสีครามในธรรมชาติ ฉันรู้สึกว่าเป็นเรื่องพูดยากที่จะบอกว่าใครดีกว่ากัน ถ้าครูบอกว่าลูกศิษย์เก่งกว่าก็หมายความว่า ครูพอใจในการสอนของตน อาคารแห่งนี้รวบรวมผลงานของหวังเสวี่ยเทาไว้กว่า 200 ชิ้น มีลายมือและภาพวาดที่ฉี่ไป๋สือเขียนเมื่ออายุ 85 ปี ยังเขียนได้ละเอียด (มือไม่สั่น) ให้สีสวยงาม ภาพเขียนสำนักนี้เขียนภาพธรรมชาติเป็นส่วนมาก ไม่ได้เขียนแบบประดิษฐ์ แต่จะนิยมเขียนเหมือนจริง บางภาพดูแล้วเหมือนภาพเขียนแบบตะวันตก ในอาคารนี้มีของที่ระลึกขาย ซื้อหนังสือภาพของฉีไป๋สือซึ่งเป็นนักเขียนภาพจีนที่ฉันชอบมาก

(น.74)


รูป 54 รูปปั้นหลี่พานหลง
Statue of Li Panlong.

(น.74) ไปอาคาร ไป๋เสวี่ยโหลว มีประวัติของหลี่พานหลง (ค.ศ. 1514-1570) เป็นชาวจี่หนาน เคยดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง (ค.ศ. 1522-1566) และจักรพรรดิหลงชิ่ง (ค.ศ. 1567-1572) ของราชวงศ์หมิง ในสวนนี้มีน้ำพุหลายแห่ง เช่น น้ำพุไร้กังวล น้ำพุเป้าทูเกิดจากน้ำใต้บาดาลธรรมชาติ มีอุณหภูมิ 18 องศา คำว่า เป้าทู หมายถึง เต้นหรือกระโดด ในช่วงที่มีน้ำมากที่สุดมีปริมาณน้ำ 24,000 ลูกบาศก์เมตร น้ำใสสะอาดและเขาบอกว่ามีรสออกหวาน ชงน้ำชาเป็นสีอำพัน เวลาจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาก็ใช้น้ำที่นี่ชงน้ำชา น่าเสียดายว่าปีนี้น้ำน้อย ฤดูนี้ก็ยังไม่ใช่หน้าน้ำก็เลยไม่มีน้ำพุ เห็นแต่ในรูปดูเหมือนน้ำซับ ไม่ได้พุพุ่งออกมาสูงๆ

(น.75)


รูป 55 หอประวัติหลี่ชิงเจ้า
Li Qingzhao's Hall.

(น.75) หอประวัติและผลงานของหลี่ชิงเจ้า ข้างหน้ามีลายมือของกัวมัวรั่วที่เขียนไว้เมื่อ ค.ศ. 1959 ว่า อีไต้ฉือเหริน แปลความว่า กวีผู้แต่งฉือแห่งยุค ข้างหน้าหอมีน้ำพุซู่อวี้เฉวียนหรือน้ำพุล้างหยก กล่าวกันว่าเป็นที่กวีหลี่ชิงเจ้าเคยมาแต่งตัว หลี่ชิงเจ้าเป็นกวีหญิงชาวจี่หนานผู้มีความสามารถในการแต่งฉือ บิดาของเธอเป็นนักอักษรศาสตร์มีชื่อ ต่อมาเป็นลูกสะใภ้ของเสนาบดี สามีชื่อเจ้าหมิงเฉิง เป็นนักสะสมของเก่า หนังสือเก่าและนักอ่านจารึก นอกจากหลี่ชิงเจ้าจะเขียนบทกวีแล้วยังเขียนจินสื่อลู่ รวบรวมจารึกบนโลหะและหิน (เล่มนี้เขียนกับสามี) เมื่อสามีตายแล้วหลี่ชิงเจ้าต้องใช้ชีวิตที่ระหกระเหินและลำบาก บทกวีจึงออกมาในแนวเศร้า แต่ก็เป็นที่นิยมมาจนปัจจุบัน กล่าวกันว่าที่จริงแล้วเธอเขียนบทกวีเอาไว้ถึง 6 เล่ม แต่เหลือมาถึงเราในปัจจุบันเพียง 50 กว่าบท ครูหวังเยี่ย (ครูคนเก่า) สอนบทกวีหลี่ชิงเจ้าไว้ให้ฉันหลายบท จะเอามาเขียนใหม่แล้วพิมพ์สักที

(น.76)


รูป 56 นั่งเรือชมทะเลสาบ
Admiring the view of the Lake from a boat.


รูป 57 นั่งเรือชมทะเลสาบ
Admiring the view of the Lake from a boat.

(น.77) เมื่อเร็วๆ นี้ศาสตราจารย์ Haun Saussy แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ส่งหนังสือที่เขาเขียนใหม่มาให้ฉัน เรื่อง Women Writers of Traditional China มีประวัติของหลี่ชิงเจ้าด้วย จากสวนสาธารณะนี้คุณอู่บอกว่าคนที่มากับฉันทั้งหลายอยากจะซื้อของ ก็เลยจะพาไปที่ห้างสรรพสินค้า ไปถึงก็รู้สึกกันว่าคล้ายๆ ของไทย ที่จริงที่นี่เป็นของคนจีนแต่ว่าใช้คนไทยจัด ก็ดีเหมือนกันแต่ฉันไม่ได้ซื้ออะไร ที่จริงพวกนั้นเขาบอกว่าอยากซื้อที่ตึกขายของที่ในเรือนรับรองเท่านั้น จากร้านขายของไปที่ทะเลสาบต้าหมิง ลงเรือ เกิดปัญหาว่านั่งตรงไหนดี ฉันอยากขึ้นไปบนดาดฟ้า คิดว่าอากาศจะบริสุทธิ์ดี พอขึ้นไป ใครๆ ก็ตามไป เหล่าเติ้ง (หัวหน้าตำรวจ) ก็บอกว่าคนมากเกินไปบ้าง น้ำหนักไม่สมดุลบ้าง จนใครๆ รำคาญลงไปข้างล่างกันแยะ ตอนหลังฉันเองก็รู้สึกหนาวทั้งๆ ที่ใส่เสื้อโค้ตแล้วก็เลยลงไปข้างล่างด้วย ไกด์เล่าว่าทะเลสาบนี้อายุ 1,400 กว่าปี เป็นทะเลสาบธรรมชาติ น้ำมาจากน้ำพุ แต่ก่อนมีขนาดใหญ่กว่าที่เห็นนี้ คือ กว้างเกือบเท่าเมืองจี่หนาน น้ำลึกเฉลี่ย 3 เมตร รอบทะเลสาบยาว 4.25 กิโลเมตร มองจากทะเลสาบจะเห็นหอสมุดมณฑลซานตงซึ่งสร้างใน ค.ศ. 1949 และศาลของกวีเอกซินชี่จี๋ กวีราชวงศ์ซ่งเช่นเดียวกับซูตงปัว ทิวทัศน์ของทะเลสาบนี้งามทุกฤดูกาล ในฤดูร้อนมีดอกบัวบานสีชมพูเต็มทะเลสาบ ต้นหลิวริมทะเลสาบเขียวขจี ฤดูหนาวต้นหลิวที่ใบร่วงเหลือแต่ก้านดูเหมือนหมอกควัน

(น.78)


รูป 58 ศาลาลี่เซี่ย
Li xia pavilion.

(น.78) เรื่องราวของทะเลสาบมีที่เล่าขานกันมากมาย เช่น เรื่องที่ว่าที่ทะเลสาบนี้ไม่เห็นงูและไม่ได้ยินเสียงกบร้อง เรื่องมีอยู่ว่าเวลาที่จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาที่ทะเลสาบต้าหมิงหูนี้ พวกงูและกบตื่นเต้นดีใจที่จะได้ชมพระบารมี งูก็เต้นไปมา กบก็ร้องถวายชัยมงคล (น่าจะดี) แต่จักรพรรดิเฉียนหลงทรงคิดว่าเป็นการกวนพระทัย จึงทรงสั่งให้งูกลับถ้ำและกบเงียบเสียง เมื่อเสด็จกลับเมืองหลวงแล้ว ทรงลืมถอนคำสั่ง สัตว์สองชนิดจึงต้องปฏิบัติตามจนตราบเท่าทุกวันนี้ มีคนพยายามอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ว่าอุณหภูมิของน้ำมีอิทธิพลต่อสัตว์เหล่านี้ การโต้แย้งก็ยังไม่ยุติ

(น.79) ในต้าหมิงหูมีเกาะ 6 เกาะ มีอยู่เกาะหนึ่งมีศาลากลางทะเลสาบ (หูซินถิง) ที่เกาะฉวินฟังเซียงเต่า มีสวนบุปผชาติ มีวัดทางศาสนาเต๋า และศาลาแปดเหลี่ยมชื่อ ลี่เซี่ย ซึ่งมีประวัติว่าสร้างมา 1,400 กว่าปีแล้ว แต่ที่เห็นในปัจจุบันคือ ศาลาที่สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ 32 มีประวัติ 300 กว่าปีเท่านั้น ป้ายหน้าศาลาเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง ข้างในจัดให้มีรูปคนดังเมืองจี่หนานทุกยุคทุกสมัย 15 ท่าน คือ
1. โจวเหยียน สมัยจั้นกว๋อ ก่อน ค.ศ. 355-265 ปี เป็นนักปรัชญา
2. ฝูเซิง สมัยราชวงศ์ฮั่น ในยุคที่ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) สั่งเผาคัมภีร์ขงจื่อจนหมด แต่ท่านผู้นี้จำไว้ได้ ภายหลังท่องให้ผู้อื่นเขียน
3. หลวงจีนอี้จิ้ง สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 635-713) เป็นผู้นำคัมภีร์พุทธศาสนาจากอินเดียมา 300 กว่าเรื่อง แปลได้ 107 เรื่องก็ถึงแก่มรณภาพ
4. กวีเอกหลี่ชิงเจ้า สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1084-1151) มีชื่อเสียงในด้านการแต่งบทกวีรักและโศก
5. ซินชี่จี๋ (ค.ศ. 1140-1207) สมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นกวีผู้รักชาติ
6. ตู้เหรินเจี๋ย สมัยราชวงศ์จินหรือกิมก๊ก (ค.ศ. 1210-1280) เป็นนักแต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว
7. จังหยั่งเหา สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1270-1329) นักแต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว
8. จังฉี่เหยียน สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1285-1353) เป็นนักประวัติศาสตร์

(น.80)


รูป 59 รูปบุคคลมีชื่อเสียงสมัยต่างๆ
Pictures of famous persons of different periods.

(น.81)

9. เปิ้นถง สมัยราชวงศ์หมิง เป็นกวี
10. หลี่ไคเซียน (ค.ศ. 1502-1568) สมัยราชวงศ์หมิง แต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว
11. หลี่พานหลง สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1514-1570) กวีเอกและนักปกครอง
12. อวี๋เซิ่นสิง สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1559-1608) นักวิชาการ และเป็นเสนาบดี
13. จังเอ่อร์จือ สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1612-1678) นักวิชาการขงจื่อ
14. หวังสือเจิน สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1634-1711) นักแต่งนวนิยาย
15. ผู่ซงหลิง สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1640-1715) เขียนเรื่องสั้น เรื่องผี เรื่องสัตว์แปลกๆ ประชดประชันสังคมและคนจริงสมัยนั้น
นอกจากนั้นยังมีรูปหลี่ไป๋และตู้ฝู่ สลักบนหินสีดำ มีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นที่ศาลาลี่เซี่ยนี้มากมาย เรื่องหนึ่งเล่ากันว่าตู้ฝู่ กวีเอกราชวงศ์ถัง มาถึงเมืองจี่หนาน หลี่ยง นักเขียนลายมือพู่กัน เป็นเจ้าเมืองเป่ยไห่ ดีใจมากเชิญตู้ฝู่และผู้มีชื่อเสียงทางวรรณศิลป์ทั้งหลายมาชุมนุมกันที่ศาลาลี่เซี่ย แต่งกลอนกันอย่างสนุกสนาน หลี่ยงเจ้าเมืองวัย 67 ส่วนตู้ฝู่เป็นหนุ่มฉกรรจ์อายุเพียง 34 ปี ทั้งสองเป็นเพื่อนต่างวัยที่ศรัทธาซึ่งกันและกัน จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาที่ศาลานี้ถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 ที่ศาลาลี่เซี่ย ทรงพบหญิงสาวกำลังดีดพิณอยู่ในศาลา หญิงสาวผู้นี้หน้าตาสวยงามยิ่งกว่าหญิงงามสามพันในวัง ยิ่งเมื่อได้ทรงสนทนาก็ยิ่งถูกพระทัย หญิงสาวผู้นี้ชื่ออวี่เหอ เป็นลูกสาวผู้มีตระกูลในเมืองนี้ เป็นผู้รอบรู้ดนตรี บทกวี และความรู้อื่นๆ ทั้งสองได้โต้ตอบบอกรักกันด้วยบทกวีเสมอ เรื่องกบกับงูที่ฉันเขียนก็เกิดขึ้นระหว่างประทับคุยกับนาง ฉันเลยเข้าใจว่าทำไมจักรพรรดิจึงหงุดหงิดพระทัย

Next >>