Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2543 "

(น.85) จดหมายฉบับที่ 5

(น.86)


รูป 61 ไปภูเขาไท่ซาน ขึ้นรถกระเช้าไฟฟ้าไม่ต้องปีนเขา
Going up to Tai shan in a cable car. I don't have to climb on foot.


รูป 62 ไปภูเขาไท่ซาน ขึ้นรถกระเช้าไฟฟ้าไม่ต้องปีนเขา
Going up to Tai shan in a cable car. I don't have to climb on foot.

(น.87) เรือนรับรองหนานเจียว จี่หนาน มณฑลซานตง
วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2543
สวัสดีจ้ะประพจน์
วันนี้นั่งรถไกลอีกแล้วจ้ะ ไปถึงภูเขาไท่ซานซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลไท่อาน รองนายกเทศมนตรีต้อนรับและอธิบายว่า ขณะนี้เมืองไท่อานมีโครงการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคบริเวณภูเขาไท่ซาน เพราะฉะนั้นมาวันนี้จะไม่ค่อยสะดวกนัก โครงการลงทุนถึง 250 ล้านหยวน จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 1 ตุลาคมปีนี้ (จะทำให้เสร็จวันชาติจีน) ภูเขาไท่ซานมีอายุถึง 2,450-2,500 ล้านปี (ฉันไม่ทราบว่าเขาเอาอะไรวัด อาจจะเป็นอายุทางธรณีวิทยา) ได้เป็นมรดกโลกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จักรพรรดิจีนทุกราชวงศ์ต่างเสด็จมาทำพิธีเซ่นไหว้ที่ภูเขาไท่ซาน ทั้งนี้เพื่ออาศัยความสูงตระหง่านของภูเขาทำให้เกิดความสุข สันติภาพ และความรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติ จะว่าภูเขาไท่ซานยิ่งใหญ่เพราะจักรพรรดิทั้งหลายเสด็จเยือนแค่นั้นไม่พอ ที่ภูเขามีแหล่งโบราณคดี มีจารึกโคลงกลอน และมีอาคารต่างๆ อำเภอไท่อานเป็นเมืองระดับกลาง มีฐานะสำคัญมากในมณฑลซานตง เพราะเป็นที่ตั้งของภูเขาไท่ซาน ซึ่งอุดมด้วยแร่ธาตุถึงครึ่งหนึ่งของแร่ธาตุที่มีในมณฑล นอกจากนั้นยังอยู่ในเส้นทางจากปักกิ่งไปเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งไปฝูโจว การคมนาคมสะดวกมาก ยอดเขาสูงที่สุดของภูเขาไท่ซานคือ ยอดเขาอวี้หวงติ่ง สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,500 กว่าเมตร ที่เรากำลังอยู่นี้สูงกว่าระดับน้ำทะเล 845 เมตร ตัวเมืองไท่อานอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 130 เมตร เหตุนี้จึงทำให้ภูเขาไท่ซานดูสูงขึ้น รถกระเช้าแล่นจากตรงนี้ไปยังประตูหนานเทียนเหมิน ใช้เวลา 8 นาที หากต้องปีนขึ้นไปต้องใช้เส้นทางขวามือ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง

(น.88) ภูเขาไท่ซานมีสำนักปรัชญาขงจื่อ ศาสนาเต๋า และศาสนาพุทธ อยู่ร่วมกัน เห็นว่ารอบๆ ภูเขามีวัดตามความเชื่อดังกล่าว สร้างมา 1,500 ปีแล้วก็มี เช่น วัดหลิงเหยียนซื่อ สมัยราชวงศ์ถัง เป็นวัดทางพุทธศาสนาที่สำคัญ เขาพูดอย่างนี้ แต่พอไปค้นหนังสือมาอ่าน อธิบายว่า วัดนี้ไกลจากเขาไท่ซาน อยู่ระหว่างเมืองจี่หนานกับเมืองไท่อาน บริเวณเขาไท่ซานมีวัดผู่เจ้า สร้างสมัยหกราชวงศ์ อีกวัดชื่อ อวี้เฉียน เป็นวัดสมัยใหม่ มีเทพเจ้าบนภูเขาไท่ซาน เป็นเทพเจ้าตามลัทธิเต๋า มี 2 องค์ เทพชายคือ ตงเยี่ยต้าตี้ และเทพสตรีคือ ปี้เสียหยวนจวิน ทั้งสองเป็นเทพแห่งการปกปักรักษา ชาวบ้านกล่าวกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ขออะไรก็ได้ (ในลัทธิเต๋า มีเทพสตรีที่ยิ่งใหญ่สองท่านคือ หมาจู่ เป็นเทพสตรีทางทะเล คุ้มครองคนเดินเรือ ซึ่งฉันเขียนหลายครั้งแล้ว และเทพสตรีปี้เสียท่านนี้เป็นเทพทางภูเขา ซุปบอกว่าที่ภูเก็ตก็มีศาลเจ้าหมาจู่ ตั้งชื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยว่า ศาลเจ้าแม่ย่านางเรือ)

(น.88)


รูป 63 ไปถึงหนานเทียนเหมิน
Arriving at Nan tian Gate.

(น.89) ขงจื่อเคยขึ้นมาบนเขานี้ กล่าวว่าเมื่อขึ้นมาบนภูเขาไท่ซาน ทำให้มองเห็นโลกเล็กลงไป จุดที่ขงจื่อหยุดมองทิวทัศน์กลายเป็นสถานที่มีชื่อเสียง เมิ่งจื่อก็เคยมา กวีกัวมัวรั่วก็เคยมาเช่นกัน ที่กล่าวมาแล้วเป็นวัฒนธรรมขุนนาง ไท่ซานยังมีวัฒนธรรมของประชาชน เป็นเทศกาลของคนภาคเหนือ แต่ละวันมีคนนับไม่ถ้วนมาที่ภูเขานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลต่างๆ เราขึ้นกระเช้าไปหนานเทียนเหมินซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของไท่ซาน สมัยก่อนที่ต้องเดินขึ้นไปเองนั้นมีโค้งอันตราย 18 โค้ง เนื่องจากไท่ซานสูงมากมองกลับไปจะเห็นทะเลเมฆ สมัยก่อนร้านรวงตามถนนนี้ (เรียกว่า ถนนแห่งสวรรค์ หรือเทียนเจีย) จะไม่มีป้ายชื่อร้าน ร้านไหนขายอะไรก็เอาของชนิดนั้นมาตั้งไว้หน้าร้าน คนซื้อก็ทราบ เช่น ร้านอาหารเอาทัพพีวางไว้ เมื่อ 50 ปีมานี้เริ่มมีป้ายชื่อ อาจจะเป็นเพราะคนซื้อไม่เข้าใจสัญลักษณ์แบบเดิมแล้ว ระหว่างทางมีลายมือของคนมีชื่อเสียงหลายท่าน มีลายมือท่านเติ้งอิ่งเชา (เขียนเมื่ออายุ 80 ปีแล้ว) ท่านเฉียวฉือ ท่านหลี่เผิง เป็นต้น

(น.89)


รูป 64 ระหว่างทางเดินมีหินสลักลายมือคนมีชื่อเสียง
Calligraphy by famous persons carved on the rocks along the path.

(น.90) ศาลเจ้าปี้เสียฉือ มีเรื่องเล่าว่าเทพแห่งไท่ซานได้พบกับพระนางซีหวังหมู่หรือเทพมารดรแห่งตะวันตก มีสาวสวรรค์มารับใช้ 7 นาง ศาลนี้สร้างใน ค.ศ. 1009 เมื่อจักรพรรดิซ่งฮุยจงเสด็จมาที่ภูเขาไท่ซาน ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้สร้างศาลเจ้า สมัยราชวงศ์หมิงใช้เป็นที่ทำพิธีเซ่นไหว้ ที่ศาลเจ้ามีนักพรตเต๋าสองท่านออกมาต้อนรับ เล่าว่าเป็นศาลบูชาตงเยี่ยต้าตี้ และปี้เสียหยวนจวิน (ตั้งไว้เป็นประธาน) ซ้ายขวามีเทพมารดาแห่งดวงตา (เชื่อกันว่าไหว้แล้วตาสว่าง ไม่ทราบว่าหมายถึงตาสว่างรู้ความจริงที่คนอื่นหลอก หรือหายง่วง) และเทพมารดาส่งบุตร (ส่งไปไหนไม่ทราบ) นักพรตสวดอวยพรให้ฉันและให้หนังสือเหลาจื่อเล่มเล็กๆ (เต้าเต๋อจิง) ภูเขาไท่ซานมีทิวทัศน์ที่สวยงาม 108 แห่ง เป็นที่รับรองประมุขประเทศและผู้นำมา 108 ท่าน ผู้ที่ฝึกพลังภายในมาที่นี่เชื่อว่าจะได้รับ “ชี่” คือพลัง ตอนที่เดินกลับเห็นจารึกลายมือท่านเผิงเจิน อดีตประธานสภาใน ค.ศ. 1985 เป็นประโยคสั้นๆ มีอักษร 4 ตัว ว่า ซาน เกา วั่ง หย่วน แปลว่า ภูเขาสูง มองได้ไกล อ่านจากตัวท้ายมาตัวหน้าก็ได้ความหมายว่า มองภูเขาสูงที่ไกลลิบ อีกจารึกจารึกอักษรทางศาสนาเต๋าที่คนธรรมดาอ่านไม่รู้เรื่อง มีคนอ่านได้ว่าข้างบนเป็นชื่อเหลาจื่อ ว่าหลีเอ่อร์ ข้างล่าง 4 ตัวแปลว่า ชื่อเสียงระบือไกลเป็นหมื่นปี อาณาเขตของภูเขาไท่ซานกว้างไกลไปเกือบถึงกำแพงเมืองจี่หนาน กว้างถึง 426 ตารางกิโลเมตร ภูเขาไท่ซานเป็นหนึ่งในบรรดาภูเขาสำคัญของจีน
ทิศตะวันตกคือ ฮั่วซาน
ทิศใต้คือ เหิงซาน (衡山) เดิมคือ เทียนจู้ซาน ซึ่งอยู่ที่มณฑลอานฮุย จากราชวงศ์สุยเป็นต้นมาเปลี่ยนเป็นเหิงซาน
(น.91)


รูป 65 ประตูเทียนเจีย
Tian jie Gate.

(น.91) ทิศเหนือคือ เหิงซาน (恒山) เริ่มสมัยราชวงศ์ชิง สมัยก่อนไม่มี
กลางคือ ซงซาน
ตะวันออกคือ ไท่ซาน
ทางทิศใต้และทิศเหนือนั้นออกเสียงพ้องกันว่า เหิงซาน แต่เขียนตัวอักษรต่างกัน

(น.92)


รูป 66 ที่โรงแรมหัวเฉียว เจ้าภาพให้ซอเอ้อร์หู
At Hua qiao Hotel. A Chinese musical instrument is given to me by the host.

(น.92) จากนั้นไปรับประทานที่โรงแรมหัวเฉียวโดยมีรองนายกเทศมนตรีเป็นเจ้าภาพ ระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน นักดนตรีจีนเล่นเพลงต่างๆ ให้ฟัง รวมทั้งเพลงเซียงซือเหอพั่น หรือ ริมฝั่งถวิลหา ซึ่งได้ฟังทุกครั้งที่ไปจีนและได้ฟังในหลายเมือง จนรู้สึกคุ้น และแปลกใจว่าทำไมถึงเล่นเพลงนี้บ่อย คราวนี้ได้คำตอบ หลังอาหารเจ้าภาพให้ซอเอ้อร์หูเป็นของขวัญและเชิญให้ฉันเข้าร่วมวงเล่นด้วย โดยเล่นเพลงที่เขาคิดกันว่าเป็นเพลงไทยคือ เพลงริมฝั่งถวิลหา ที่จริงแล้วตามประวัติเป็นเพลงในภาพยนตร์จีน ผู้แต่งเนื้อร้องและทำนองชื่อ จี้อวิ๋นเฉิง เป็นนักหนังสือพิมพ์จีนที่อยู่เมืองไทย (เกิดที่ไต้หวัน) เนื้อร้องรำพันถึงความเศร้าที่พรากจากกัน และฝั่งที่พรากจากกันนั้นในเนื้อเพลงไม่ได้บอก แต่ก็คือ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นักร้องไต้หวันเป็นคนร้อง เป็นเพลงเก่า

(น.93)


รูป 67 ร่วมเล่นกับวงดนตรี
Joining in the ensemble.

(น.93) เกือบ 30 ปีแล้ว พอฉันเล่นจบ ซุปไปขอเนื้อเพลงและโน้ตเพลงมาดู จึงรู้ว่าเขาแต่งเนื้อใหม่และตั้งชื่อเพลงว่ากู้เซียงเลี่ยนฉิง (คะนึงหามาตุภูมิ) และบอกว่าเป็นทำนองเพลงไทย เห็นไหม กาลเวลาทำให้ข้อมูลคาดเคลื่อนจากทำนองเพลงจีนเป็นทำนองเพลงไทย การสีซอจีนนี่ต้องรูดนิ้วลงมาเพื่อให้เสียงสูง นึกถึงตอนอยู่ที่ชมรมดนตรีไทย อาจารย์เจริญใจว่าคนที่สีซอแล้วรูดเหมือนสีซอจีน

(น.94)


รูป 68 ศาลเจ้าขงจื่อ
Confucius Shrine.

(น.94) นั่งรถไปเมืองชวีฝู่ ไปศาลเจ้าขงจื่อ ซุ้มประตูแรกคือ ประตูหยั่งเซิ่งเหมิน ป้ายบนประตูเขียนว่า ว่านเริ่นกงเฉียง แปลว่า กำแพงพระราชวังหมื่นเริ่น (เริ่นหนึ่งประมาณ 7-8 ฟุต) ประตูนี้สร้างใน ค.ศ. 1513 ในรัชศกเจิ้งเต๋อ ปีที่ 8 ราชวงศ์หมิง ที่รอบกำแพงมีบ้านคนอยู่ ประตูกลางจะเปิดเฉพาะเวลาจักรพรรดิเสด็จ ทางเมืองรับพระบรมราชโองการ หรือมีพิธีใหญ่ หน้าประตูเป็นทางเดินสู่สวรรค์ เรียกว่าเสินเต้า สองข้างทางมีต้นไม้เก่าแก่อยู่หลายต้น เข้าไปมีอาคารสร้างใน ค.ศ. 1538 สมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง นอกจากจะมีหินสลัก ตุ้ยเหลียน 2 คู่บนเสาแล้ว บนฐานเสายังเป็นฐานบัวรองรับสัตว์ประหลาดที่เรียกว่า ตัวปี้ซี่ ซึ่งเป็นสัตว์สิริมงคลสามารถขจัดสิ่งเลวร้ายต่างๆ ได้ เขาว่าสัตว์นี้จะนำมาประดับได้เฉพาะบ้านเสนาบดีผู้ใหญ่เท่านั้น

(น.95)


รูป 69 ในศาลามีศิลาจารึก
An inscription in a pavilion.

Next >>