Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2543 "

(น.95) เข้าประตูใหญ่เรียกว่า ประตูหลิงซิง สร้าง ค.ศ. 1514 สมัยราชวงศ์หมิง เดิมเป็นอาคารไม้ แต่สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1736-1796) ซ่อมแซมสร้างเป็นหิน จากประตูนี้เดินไปเป็นร้านรวงต่างๆ และมีป้ายทางเข้าเขียนว่า ไท่เหอหยวนชี่ สร้างสมัยราชวงศ์หมิง บริเวณศาลเจ้านี้เดิมเป็นที่อยู่ของท่านขงจื่อ แต่เมื่อท่านเสียชีวิตใน ค.ศ. 479 ก่อนคริสตกาลจึงปรับปรุงเป็นอนุสรณ์สถานหรือศาลเจ้า ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 จึงสำเร็จดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน รอบๆ มีอาคารต่างๆ 150 กว่าหลัง มีป้ายจารึกสองพันกว่าหลัก ค.ศ. 1994 ได้เป็นมรดกโลก เดินต่อถึงประตูหงเต้าเหมิน สร้างสมัยราชวงศ์หมิง แปลว่า ประตูเผยแพร่วัฒนธรรม แล้วเดินเข้าประตูต้าจงเหมิน อยู่หน้าอาคารแรกของศาล สร้างสมัยราชวงศ์ซ่ง เข้าอาคารขุยเหวินเก๋อ เป็นที่เก็บพระราชสาส์นและเอกสารต่างๆ ที่จักรพรรดิพระราชทานมา สร้างในสมัยจักรพรรดิซ่งเจินจง ปีที่ 2 รัชศกเทียนสี่ (ค.ศ. 1018) เดิมชื่อ ฉังซูโหลว แปลว่า หอหนังสือ ค.ศ. 1191 ซ่อมแซม ค.ศ. 1500 ต่อเติมเป็นสามชั้น สูง 23.35 เมตร ภาพเขียนในอาคารเป็นประวัติขงจื่อ เป็นภาพเขียนพิมพ์ไม้เมื่อ ค.ศ. 1592 รวม 120 ภาพ แต่ละภาพเป็นเรื่องหนึ่ง หน้าอาคารมีต้นไป๋อายุกว่า 500 ปี

(น.96)


รูป 70 บริเวณศาลเจ้าขงจื่อ
In the ground of the Shrine.

(น.96) อาคารด้านซ้ายของขุยเหวินเก๋อเป็นอาคารไม้สำหรับเป็นที่ประทับของเหล่าพระประยูรญาติที่เสด็จมาเซ่นไหว้ขงจื่อ ขวามือเป็นศาลาจารึก มีจารึกอยู่สามหลัก จารึกในสมัยราชวงศ์ จิ้น ซ่ง และหมิง มีฐานตั้งป้ายเป็นรูปเต่าและสัตว์อื่นๆ บ้าง มีจารึกหลักหนึ่งที่จักรพรรดิคังซี (ค.ศ. 1662-1722) ทรงย้ายจากปักกิ่งโดยลำเลียงทางคลองขุดใหญ่ เหลือระยะทางอีก 45 กิโลเมตร ใช้วิธีรอให้ถึงหน้าหนาวเอาน้ำราดถนน น้ำกลายเป็นน้ำแข็งแล้วใช้วัวลากมา ใช้เวลาครึ่งเดือน ศิลาจารึกนี้หนักถึง 65 ตัน ต้องใช้วัวลาก 465 ตัว มีต้นไม้ต้นหนึ่งอ้างกันว่าขงจื่อเป็นผู้ปลูก สองข้างต้นไม้มีป้ายสรรเสริญคุณงามความดีและการเผยแพร่ความคิดของขงจื่อ

(น.97)


รูป 71 บริเวณศาลเจ้าขงจื่อ
In the ground of the Shrine.

(น.98)


รูป 72 เสาหินลายมังกร
Dragon stone pillar.

(น.98) ศาลาซิ่งถัน เป็นที่ขงจื่อนั่งสั่งสอนลูกศิษย์ ปัจจุบันเห็นแต่ต้นไป๋ ต้นซิ่ง (อัลมอนด์) ตายไปหมดแล้ว ต้นซิ่งไม่ใช่ต้นไม้อายุยืน แค่ 40-50 ปีก็ตายแล้ว จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาเคารพขงจื่อที่นี่ถึง 8 ครั้ง ทรงจารึกคำสรรเสริญขงจื่อไว้เรียกว่า ซิ่งถานจั้น (การแสดงเคารพต้องคุกเข่า 3 ครั้ง กราบไหว้ 9 ครั้ง จึงถือเป็นการเคารพสูงสุด) มีเสาหินลายมังกร สูง 6 เมตร สลักใน ค.ศ. 1742 เมื่อจักรพรรดิเสด็จมาครั้งใดต้องเอาผ้าคลุม เพราะสวยงามเกินกว่าเสาในพระราชวังหลวง เสาหินงดงามแบบนี้มีแต่ที่ชวีฝู่เท่านั้น รูปเคารพในอาคารมีรูปขงจื่อยู่ตรงกลาง สองข้างเป็นรูปลูกศิษย์ดีเด่น รวม 13 คน อยู่สมัยเดียวกับขงจื่อ อีก 3 คน เป็นลูกศิษย์ดีเด่นของลูกศิษย์ มีป้ายเขียนว่า ว่านซื่อซือเปี่ยว เป็นลายพระหัตถ์ของจักรพรรดิคังซี ส่วนป้ายที่เขียนว่า ซือเหวินไจ้ซื่อ แปลว่า ปัญญาชนคนเก่งเกิดใหม่ เป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิกวงซวี่ มีตุ้ยเหลียนของจักรพรรดิเฉียนหลง

(น.99) ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา เมื่อผลัดแผ่นดิน จักรพรรดิองค์ใหม่จะต้องเสด็จมาเซ่นไหว้ขงจื่อ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า มีจักรพรรดิเสด็จมาที่นี่ 12 องค์ ในห้องมีเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงระหว่างพิธี ด้านนอกอาคารเป็นลานกว้างสำหรับฟ้อนรำในพิธีเซ่นไหว้ ตรงข้ามเป็นที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษขงจื่อ ด้านนอกมีจารึกชื่อลูกหลานขงจื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง ปัจจุบัน (ค.ศ. 2000) มี 85 ลำดับชั้น ประมาณ 3 ล้านกว่าคน ผู้ที่มาบรรยาย (ศาสตราจารย์ข่งเซียงหลิน) ให้ฉันวันนี้เป็นลำดับชั้นที่ 75 ฉะนั้นไม่สามารถจารึกชื่อทั้งหมดได้ กำลังทำรายชื่อใส่ซีดีรอม คนแซ่ข่งไม่ใช่มีแต่ในจีน ได้แยกย้ายกันไปอยู่ในต่างประเทศ 10 กว่าประเทศ ไปดูหลู่ปี้ เขาว่ากันว่าเคยเป็นที่อยู่เดิมของขงจื่อ มีฝาผนังที่เล่ากันว่าจักรพรรดิฉินสื่อหวงตี้สั่งเผาตำราขงจื่อ หลานชื่อขงฝู่ได้เก็บหนังสือไว้ในผนังแห่งนี้ ต่อมาสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ก่อน ค.ศ. 140 – ก่อน ค.ศ. 87) เจ้าเมืองหลู่จะมาก่อสร้างบ้านใหม่ รื้อกำแพงจึงพบ กล่าวกันว่าขงฝู่เป็นผู้มีคุณงามความดีที่เก็บหนังสือไว้ ฉันเคยอ่านที่ไหนไม่ทราบว่าฉินสื่อหวงตี้ให้เผาหนังสือขงจื่อก็จริง แต่พระองค์เองก็เก็บไว้ที่หอหลวง เห็นจะเป็นทำนองเดียวกันกับหนังสือต้องห้ามของศาสนาคริสต์ในยุคกลางที่ไม่ให้ใครอ่าน แต่ก็ต้องเก็บไว้ในหอสมุดของอาราม ศาลาซือหลี่ถัง เป็นศาลาที่ขงจื่อนั่งสั่งสอนบุตรหลาน มีต้นไม้ที่อ้างว่าอายุพันกว่าปี ไปบ้านตระกูลข่ง ใน ค.ศ. 1055 ลูกหลานขงจื่อ เฉพาะลูกชายคนโตได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นกง (ต่ำกว่าอ๋องหรือหวังเล็ก น้อย) เรียกว่า เหยี่ยนเซิ่งกง ใน ค.ศ. 1377 ได้ขยายอาณาเขตกว้างถึง 12 เฮกตาร์ ตำแหน่งเหยี่ยนเซิ่งกงนี้เลิกไปเมื่อ ค.ศ. 1935 มีประตูบานหนึ่งที่จะเปิดเมื่อจักรพรรดิเสด็จและรับพระบรมราชโองการเท่านั้น

(น.100)


รูป 73 บ้านตระกูลข่ง
House of Kong family.

(น.100) เข้าไปข้างในมีสำนักงานดูแล หัวหน้าสำนักงานเป็นอีผิ่นซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงพอควร เหยี่ยนเซิ่งกงในสมัยราชวงศ์ชิงมีความสัมพันธ์อันดีกับพระนางซูสีไทเฮา พระนางพระราชทานลายพระหัตถ์อักษรโซ่ว (อายุยืน) มาสำหรับเป็นป้ายจัดงานแซยิด เวลาวันประสูติของพระนาง เหยี่ยนเซิ่งกงก็ต้องไปร่วมงาน ในบ้านมีเก้าอี้จักรพรรดิเฉียนหลงและพระบรมราชโองการจักรพรรดิเป็นภาษาจีนและภาษาแมนจู มีที่เขียนกำชับด้วยว่าให้ดูแลลูกหลานให้ดี มีลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลงทรงเขียนสรรเสริญตระกูลข่ง ซึ่งครอบครัวอยู่ด้วยกัน 6 ชั่วคนว่า ทั้ง 6 ชั่วคนได้อมน้ำตาลเล่นกับหลาน (หานอี๋น่งซุน) หมายความว่าผู้เฒ่าผู้แก่อายุยืนทันได้ชื่นชมหลาน

(น.101) ปรัชญาของขงจื่อเน้นเรื่องการสร้างความสงบปรองดองของประเทศ สังคม และครอบครัว สถาบันครอบครัวจึงมีความสำคัญมาก ขงจื่อเน้นเรื่องความสุขของครอบครัว การมีลูกหลานอยู่ในครอบครัวใหญ่จึงเป็นพื้นฐานของสังคมจีนแต่โบราณ มีห้องที่ใช้ในงานแต่งงานของเหยี่ยนเซิ่งกงลำดับชั้นที่ 7 เขาเกิด ค.ศ. 1920 ชื่อข่งเต๋อเฉิง ปัจจุบันอยู่ไต้หวัน ห้องเฉียนถังโหลว เป็นห้องสำหรับคนในบ้านอยู่รวมกัน มีเครื่องปรับอากาศ ทำความอบอุ่นในฤดูหนาว แต่สามารถเก็บน้ำแข็งที่ตัดมาในฤดูหนาวไว้ในห้องใต้ดินมาใช้ในฤดูร้อน (เขาเล่าว่าสมัยก่อนน้ำแข็งก้อนหนากว่าสมัยนี้) เขาว่าสมัยก่อนผู้หญิงผู้ชายอยู่ด้วยกันไม่ได้ แม้แต่ในบ้านคนธรรมดา คนที่หาบน้ำมาก็ต้องเทไว้ข้างนอกให้ไหลมาตามรางเหมือนท่อประปา

(น.101)


รูป 74 ตัวอักษรลายพระหัตถ์พระนางซูสี
Empress Cixi's calligraphy.

(น.102) เขาให้ดูห้องต่างๆ เช่น ห้องลูกสาวสองคนตอนเด็กๆ ห้องภรรยา 2 คน มีรูปถ่ายติดข้างฝา เป็นรูปคนในครอบครัว เล่าประวัติครอบครัว ที่จริงฉันก็จดว่าใครเป็นใคร แต่ขี้เกียจเขียนเพราะรู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร ด้านหลังมีสวนหลังบ้านและมีอาคารอีกหลังเรียกว่าโฮ่วถังโหลว เป็นบ้านพ่อแม่ของเหยี่ยนเซิ่งกง เมื่อท่านเสียชีวิตแล้วเป็นเรือนหอ มี ทำเนียบบุตรหลาน แต่ใส่ชื่อเพียงบุตรคนโตเท่านั้น ดูตรงนี้เสร็จแล้วนั่งรถไปโรงแรมฉ่วยลี่เพื่อพักผ่อนเข้าห้องน้ำครู่หนึ่งแล้วเดินทางต่อไปที่พิพิธภัณฑ์ขงจื่อ ที่นี่มีวัตถุโบราณราว 80,000 ชิ้น มีที่ขุดขึ้นได้จากดิน รวมแล้วร่วมแสนชิ้น มีเสื้อผ้าของพวกสมัยราชวงศ์หมิงและชิง มีธรรมเนียมว่าเมื่อสิ้นแผ่นดินราษฎรทั้งปวงจะต้องเอาเสื้อผ้าเก่าเผาทิ้งและเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ อนุญาตแต่บ้านตระกูลข่งเพียงบ้านเดียวให้เก็บเสื้อผ้าเอาไว้ได้ (ฉันไม่เคยได้ยินเรื่องธรรมเนียมเผาเสื้อผ้า มีแต่แต่งไว้ทุกข์โกนหัว ต้องลองค้นคว้าดู)

(น.102)


รูป 75 ดูสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ขงจื่อ เสื้อพระราชทาน
A robe given by the emperor in the Confucius Museum.

(น.103) มีเอกสารบันทึกของตระกูลตั้งแต่ ค.ศ. 1535-1948 รวม 600,000 ฉบับ ของที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์มีหลายอย่าง เช่น เครื่องในพิธีไหว้ขงจื่อที่จักรพรรดิหย่งเจิ้งทำพระราชทานตระกูลเป็นพิเศษ เป็นเครื่องถมปัดจิ่งไท่หลานสีเหลือง เครื่องแต่งตัวตามบรรดาศักดิ์ที่สวมใส่ตามฤดูกาล ของใช้ เช่น ปลอกแว่นตา กระบอกใส่พู่กันสมัยราชวงศ์หมิง สมบัติมีค่า เช่น เครื่องสำริดสมัยราชวงศ์โจว (2,700 ปี) ภาพเขียนและการเขียนตัวหนังสือฝีมือเหยี่ยนเซิ่งกงรุ่นต่างๆ ตั้ง 600 ปีมาแล้วก็มี เขาเอาของที่มีค่าเป็นพิเศษมาให้ดู ได้แก่

(น.103)


รูป 76 รูปขงจื่อและลูกศิษย์ เมื่อใช้แว่นขยายส่องถึงได้เห็นว่าลายเส้นเป็นตัวหนังสือ
A picture of Confucius and his students. The lines are actually formed from scripts visible only through a magnifying glass.

(น.104)
1. เสื้อสมัยราชวงศ์หมิง บางมากสำหรับใส่ฤดูร้อน ใช้ในพิธีสำคัญๆ ต้องได้รับพระราชทานจึงใช้ได้ ลายปักเป็นรูปสัตว์คล้ายมังกรและมีแค่ 4 เล็บ
2. รูปขงจื่อและลูกศิษย์ 2 คนคือ เหยียนหุยและเจิงจื่อ มองดูคร่าวๆ เหมือนภาพเขียนธรรมดา แต่เมื่อใช้แว่นขยายส่องดูจะเห็นว่าลายเส้นเป็นตัวหนังสือ คนอธิบายว่าเป็นหลุนอวี่ทั้งคัมภีร์ ทางพิพิธภัณฑ์ให้หนังสือหลุนอวี่เป็นของขวัญ
ที่หมายสุดท้ายเป็นสุสานตระกูลข่ง ศาสตราจารย์ข่งเซียงหลินนั่งรถไปด้วยเพื่ออธิบาย สุสานตระกูลข่งมีเนื้อที่ราว 200 เฮกตาร์ สร้างในราชวงศ์หมิง คนตระกูลข่งจากทั่วโลกจำนวนเป็นแสนเมื่อเสียชีวิตแล้วจะนำมาฝังที่นี่ ขณะนี้ยังอนุญาตให้นำมาฝังได้ แต่ไม่อนุญาตให้ตั้งป้าย เพราะว่าสมัยนี้คนมีเงินมีทองที่จะทำป้าย ขืนอนุญาตก็จะอุดมไปด้วยป้าย ใครฝังญาติโยมไว้ที่ไหนก็จำกันเอาเอง คนส่วนมากปีหนึ่งๆ ก็จะมาไหว้ที่สุสานสองครั้ง สุสานของเหยี่ยนเซิ่งกงมีหุ่นรูปคนและม้า มีลำดับชั้นที่ 70 และ 76 พูดถึงตำแหน่งเหยี่ยนเซิ่งกงนี้ก็ไม่ใช่ว่าใหญ่จนไม่มีการควบคุม ถ้าทำผิดก็ถูกจักรพรรดิลงโทษได้ ความผิดเล็กน้อย เช่น สร้างอาคารใหญ่เกินมาตรฐานก็ถูกปลดได้ นับว่าตระกูลข่งเป็นตระกูลที่มีประวัติละเอียดที่สุด เขาทำทำเนียบลำดับชั้นเรียงไว้ 85 ลำดับชั้น ทุก 60 ปีต้องทำบัญชีกันใหม่ ไปดูสุสานของขงจื่อ ซุ้มประตูสร้างใน ค.ศ. 1523 ต้นไม้บริเวณนั้นอายุ 400-500 ปี สัตว์หินแกะสลักใน ค.ศ. 1119 (ว่าตามไก ด์) เป็นจำพวกสัตว์ประหลาด เช่น เหวินเป้า เหมอนเสือดาวพ่นไฟได้ เป็นสัตว์ดุร้าย แต่ขงจื่อเลี้ยงจนเชื่อง เจี๋ยว์ตวน เป็นสัตว์ในจินตนาการ เดินได้วันละ 18,000 ลี้ รู้ภาษาทุกภาษา รู้เรื่องต่างประเทศ รู้จักแยกแยะสิ่งผิดสิ่งถูก ฉันว่าคนส่วนมากไม่รู้ภาษา และไม่รู้สิ่งผิดชอบ ฉะนั้นใครรู้ก็กลายเป็นสัตว์ประหลาดไป

(น.105)


รูป 77 สัตว์ประหลาด
Mythical animals.

Next >>