Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2543 "

(น.189) จดหมายฉบับที่ 10

(น.190) อาคารที่ 12 เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถ
วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2543
สวัสดีจ๊ะประพจน์
เช้านี้ออกไปวิ่ง หงเยี่ยนมาพอดี ผู้ช่วยทูตทหาร 3 เหล่าทัพ นิด จี้ ป้าจัน อ้อย ใหญ่ วิทยา (คณะทีวี) ลงไปด้วย หลังอาหารเช้าไปมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ไปดูหอพักของอาจารย์ที่มาเยือนซึ่งห้องดีมาก ทั้งห้องนอน ห้องน้ำและห้องครัว อยู่ใกล้ศูนย์คอมพิวเตอร์

(น.190)


รูป 148 มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
Beijing University.

(น.191)


รูป 149 สนทนากับศาสตราจารย์เฉินจังเหลียง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
Talking with Professor Chen Zhangliang, Vice Chancellor of Beijing University.

(น.191) ดูอาคารหอพักเสร็จแล้วไปที่ห้องรับรอง ศาตราจารย์เฉินจังเหลียงเป็นรองอธิการบดี ต้อนรับ ท่านเป็นอาจารย์ทางด้าน Protein Engineering, Plant Genetic Engineering จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เล่าประวัติมหาวิทยาลัยปักกิ่งว่ามีอายุถึง 102 ปีแล้ว เริ่มก่อตั้งใน ค.ศ. 1898 ในรัชสมัยของจักรพรรดิกวางซวี่ เดิมมีชื่อว่า จิงซือต้าเสวียถัง (โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งนครหลวง) เดิมตั้งอยู่ที่ ซาทาน ซึ่งอยู่ระหว่างเทียนอันเหมินและจงหนานไห่ หลังจากปลดแอกย้ายมาที่ตั้งปัจจุบัน ที่นี่เดิมเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเยี่ยนจิง (เป็นชื่อเก่าชื่อหนึ่งของปักกิ่ง) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาจัดตั้งและดำเนินงาน เมื่อสองมหาวิทยาลัยมารวมกันแล้ว ก็เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แถวนี้มีทิวทัศน์สวยงาม ทางเหนือติดกับอุทยานหยวนหมิงหยวน ทางตะวันตกติดพระราชวังฤดูร้อนอี้เหอหยวน มหาวิทยาลัยปักกิ่งมีทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศแห่งหนึ่ง

(น.192) ศาสตราจารย์เฉินกล่าวถึงเรือนหลังนี้ว่าเดิมเป็นที่พำนักของซีถูเหลยเติง (Stuart Leighton) ซึ่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเยี่ยนจิง และยังเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาด้วย ท่านผู้นี้นิยมสะสมของเก่า เช่น รูปภาพ เครื่องเรือนและวัตถุโบราณอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นวัตถุโบราณสมัยราชวงศ์ชิง วัตถุโบราณของท่านยังเก็บรักษาไว้ในเรือนหลังนี้
จากนั้นแนะนำอาจารย์หลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์จังเยี่ยนชิว ภาควิชาภาษาอังกฤษ (อาจารย์สอนภาษาจีนคนแรกของฉัน)
ศาสตราจารย์หลินเต้า มีชื่อเสียงทางภาษา ภาควิชาภาษาและวรรณคดีจีน เชี่ยวชาญภาษาจีน (ปักกิ่ง) และตัวอักษรจีน
ศาสตราจารย์กัวเจิ้นหัว ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาจีนสำหรับชาวต่างประเทศ
ศาสตราจารย์เวินรู่หมิน ผู้อำนวยการภาควิชาภาษาและวรรณคดีจีน
รองศาสตราจารย์เผยเสี่ยวรุ่ย ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา หัวหน้าภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย คณะวิชาภาษาต่างประเทศ
รองศาสตราจารย์ฟู่เจิงโหย่ว รองผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษาและสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา
ศาสตราจารย์เวินรู่หมินอธิบายเรื่องการสอนภาษาจีนในภาควิชาภาษาและวรรณคดีจีน ซึ่งจะมีอายุ 90 ปีในสัปดาห์หน้า เปิดสอนวิชา 3 สาขาคือ วรรณคดีจีน ภาษา จารึกอักษรโบราณ (บันทึกข้อมูล) มีศาสตราจารย์ 51 คน (ทำไมแยะอย่างนี้) รองศาสตราจารย์ 40 คน นักศึกษา 800 คน ในจำนวนนี้มีนักศึกษาต่างประเทศ 200 คน ในช่วงเวลา 90 ปี ภาควิชาได้ผลิตบัณฑิตมากมาย ทำงานอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศและในต่างประทศ มีการแลกเปลี่ยนนักวิชาการและอาจารย์กับต่างประเทศประมาณปีละ 40 คน ทุกปีจะส่งอาจารย์ไปสอนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในต่างประเทศปีละ 15 คน ไปสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ในประเทศไทย ได้ส่งอาจารย์ไปสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังว่า

(น.193) ต่อไปจะมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยมากขึ้น ศาสตราจารย์กัวเจิ้นหัวกล่าวว่า ศูนย์ภาษาจีนสำหรับชาวต่างประเทศมีหน้าที่สอนภาษาจีนให้ชาวต่างชาติ เปิดตั้งแต่ ค.ศ. 1984 จนถึงปัจจุบันมีนักศึกษามาจากต่างประเทศจำนวนมาก จาก 40 กว่าประเทศ มีนักศึกษาเรียนแบบระยะยาว 300 กว่าคน มีอาจารย์ 54 คน ส่งอาจารย์ไปสอนต่างประเทศหลายประเทศ ประเทศไทยได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ขณะนี้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา การเรียนการสอนในศูนย์เริ่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน คณาจารย์ของศูนย์เรียบเรียงและผลิตตำรา จัดการเรียนเป็น 20 ระดับ จัดให้เรียนตอนเช้าเป็นวิชาเฉพาะ วิชาเลือกในตอนบ่าย จัดสันทนาการให้นักศึกษาออกไปทัศนศึกษาแถบชานเมือง เพื่อให้มีโอกาสฝึกฝนภาษาในสถานการณ์จริงในโอกาสต่างๆ มีการเปิดสอนระดับปริญญาโทด้านภาษาจีนปัจจุบันและการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ นักศึกษาไทยสำเร็จการศึกษาจากที่นี่หลายคนแล้ว มีห้องปฏิบัติการภาษาและห้องคอมพิวเตอร์ ศาสตราจารย์หลินเต้ากล่าวว่า เคยเดินทางมาประเทศไทยเมื่อ ค.ศ. 1991 เพื่อไปดูงานและเจรจาตกลงความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงจะไม่ได้พบฉัน แต่ก็ได้ทราบข่าวว่าฉันสนใจภาษาจีน แสดงความยินดีที่ฉันจะได้รับรางวัลเกี่ยวกับการส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมจีนในพรุ่งนี้ หวังว่าจะทำประโยชน์ให้แก่การส่งเสริมวงการการศึกษาภาษาจีนต่อไป รองศาสตราจารย์เผยเสี่ยวรุ่ยกล่าวว่า สาขาวิชาภาษาไทยก่อตั้งมา 30 ปี มีนักศึกษาปริญญาตรี 16 คน ปริญญาโท 4 คน ทุกๆ 4 ปี จะรับนักศึกษารุ่นหนึ่ง ปัจจุบันมีอาจารย์ 3 คน นอกจากนี้ยังมีสถาบันไทยคดีศึกษาซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่งสนับสนุนอยู่

(น.194) ฉันถามเรื่องการเรียนวรรณคดีจีนเผื่อศศิพร ถึงเขาจะเข้า Berkeley ได้แล้ว แต่เผื่อว่าจะมาวิจัยพิเศษหรือศึกษาเพิ่มเติมจะได้มีข้อมูลไว้ ศาสตราจารย์เวิ่นรู่หมินบอกว่า ภาควิชาภาษาและวรรณคดีจีน มีการศึกษาวิจัย และสอนวรรณคดีในสมัยราชวงศ์หยวน หมิง และชิง ถ้ามีนักศึกษาสนใจศึกษาก็ยินดีรับ ส่วนภาษาแมนจูไม่มีสอน ต้องถามภาควิชาภาษาตะวันออก รองศาสตราจารย์เผยเสี่ยวรุ่ยบอกว่ามีอาจารย์สอนภาษาแมนจูชื่อเจ้าเจี๋ย แต่ไม่ได้มาวันนี้ (ได้ความว่าการสอนภาษาแมนจูในภาควิชาภาษาตะวันออกเป็นเพียงขั้นพื้นฐานและศึกษาในแง่ภาษาศาสตร์เชิงประวัติเท่านั้น หากจะศึกษาลึกซึ้งในด้านอื่นๆ ต้องลองไปถามสถาบันชนชาติแห่งประเทศจีน) ศาสตราจารย์เฉินจังเหลียงจึงขอให้รองศาสตราจารย์ฟู่เจิงโหย่ว ช่วยดูแลเรื่องนี้และถ้าศศิพรสนใจ อาจให้ติดต่อโดยตรงกับอาจารย์ เขียนจดหมายหรือส่ง email ก็ได้ ก่อนกลับศาสตราจารย์เฉินจังเหลียงพาไปดูสิ่งของต่างๆ ของ Stuart Leighton เล่าว่าที่จริงแล้วท่านผู้นี้รักจีนมาก บอกว่าตายแล้วอยากฝังศพอยู่ที่จีนเสียด้วยซ้ำ แต่ไม่มีโอกาส เมื่อกลับมาที่อาคาร 12 ได้พบกับศาสตราจารย์ทางด้านโภชนาการสองท่านคือ ศาสตราจารย์ เฉินชุนหมิง (หญิง) ขณะนี้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของ Chinese Academy of Preventive Medicine และที่ปรึกษาพิเศษในการร่วมมือกับต่างประเทศของ Union School of Public Health และ ศาสตราจารย์ ดร.เก้อเขอโย่ว (ชาย) เป็นศาสตราจารย์ประจำ Institute of Nutrition and Food Hygiene, Chinese Academy of Preventive Medicine ผู้ที่แนะนำให้ฉันพบกับศาสตราจารย์ทั้งสองท่านนี้คือศาสตราจารย์ ดร.เนวิน สกริมชอว์ นายแพทย์ผู้เป็นนักโภชนาการและเป็นกรรมการนานาชาติของรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล เวลาฉันไปทางบอสตันก็ได้ท่านผู้นี้ช่วย

(น.195) แนะนำศึกษาความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโภชนาการ แต่ทั้งสองท่านก็รู้จักนักโภชนาการไทยเป็นอย่างดี ศาสตราจารย์เก้อให้หนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ The Dietary and Nutritional Status of Chinese Population (1992 National Nutrition Survey) Volume One ซึ่งท่านเป็นบรรณาธิการ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะโภชนาการของบุคคลต่างๆ ในจีน มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เราได้สนทนากันพักใหญ่ ครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับโภชนาการทั่วๆ ไป บอกทีก็บอกไม่ถูกว่าใครเป็นคนพูดอะไร เพราะความคิดก็คล้ายๆ กัน ป้อม (สุกัญญา) เป็นผู้ช่วยบันทึกการสนทนา ฉันเล่าถึงเรื่องที่ฉันได้ทำโครงการเพื่อส่งเสริมโภชนาการแก่เด็กก่อนวัยเรียนและในวัยเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับประถมศึกษา และได้รับความรู้จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งศาสตราจารย์ทั้งสองรู้จักดี ศาสตราจารย์เฉินเห็นว่าควรเริ่มตั้งแต่การบำรุงมารดาที่ตั้งครรภ์ ทั้งนี้ควรให้ความรู้แก่มารดาด้วย เช่น การให้นมมารดาแก่ทารกแทนที่จะให้แต่นมผง การแก้ปัญหาประชากรโดยเฉพาะเด็กขาดธาตุอาหารและวิตามิน ไทยและจีนมีปัญหาคล้ายคลึงกันคือ การขาดธาตุเหล็กทำให้เด็กไม่กระฉับกระเฉง ความสามารถในการเรียนรู้ต่ำ IQ ต่ำ และเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ความต้านทานโรคน้อยลง ศาสตราจารย์เฉินเล่าว่าในจีนมีการทดลองในโรงงานทอผ้า ศึกษาหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นโรคโลหิตจาง เมื่อให้ธาตุเหล็กการทำงานของหญิงเหล่านี้ดีขึ้น ในประเทศไทยภาวะโลหิตจางมีสาเหตุหลายอย่าง อาจจะเกิดจากการขาดธาตุเหล็กหรืออาจจะเกิดจากพยาธิ ต้องรักษาด้วยวิธีต่างๆ กัน ศาสตราจารย์เฉินเห็นด้วย เล่าว่าในประเทศจีนโรคโลหิตจางมักเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก จึงแก้ปัญหาโดยการเติมธาตุเหล็กลงในซีอิ๊ว เพราะคนจีนเกือบร้อยละ 60 ใช้ซีอิ๊วทุกวันในครัวเรือน การเพิ่มธาตุเหล็ก Ferrous Sulphate ทำให้กลิ่น

(น.196) ซีอิ๊วไม่ดีนัก ทางองค์การอนามัยโลกส่งเสริมให้เสริมธาตุเหล็กในอาหารที่แปรรูปจากธัญพืช ฉันถามว่ามักได้ยินเสมอว่ารับประทานผักใบเขียวจะได้ธาตุเหล็ก แต่บางคนก็ว่าไม่มีประโยชน์นัก เพราะธาตุเหล็กในผักจะไม่สามารถดูดซึมเข้าเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ ศาสตราจารย์เฉินกล่าวว่าเป็นจริงเช่นนั้น คนจีนรับประทานแต่ผักก็ไม่ได้ธาตุเหล็กพอ ถ้าจะให้พอก็ต้องรับธาตุเหล็กจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์หรือตับ ซึ่งประชาชนจะรับประทานเฉพาะเวลามีงานฉลองเป็นพิเศษ ฉันและศาสตราจารย์เฉินมีความเห็นตรงกันคือ การแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร ควรแก้ที่โภชนาการ ให้รับแร่ธาตุจากอาหารก่อนที่จะได้รับจากยาเม็ดหรือการเสริมวิตามิน ซึ่งต้องแจกกันเรื่อยไปและไม่ได้พึ่งตนเอง สู้ให้ความรู้ให้รับประทานอาหารให้ถูกหลัก ยกเว้นบางรายที่จำเป็นจริงๆ รอให้รับประทานอาหารบำรุงก็จะไม่ทันการณ์ เช่น หญิงมีครรภ์หรือเด็กเล็กๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อายุต่ำกว่า 1 ปี) ฉันเล่าเรื่องการขาดสารไอโอดีน เมืองไทยใช้วิธีเติมในเกลือและในน้ำดื่ม ศาสตราจารย์เฉินถามว่าใส่ในน้ำปลาจะได้ไหม ฉันว่าก็มีใส่บ้างและคนรับประทานน้อยกว่าเกลือและน้ำ ได้ผลดีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน ที่น่าเป็นห่วงคือ เวลาโรงเรียนปิดเทอมเด็กๆ ไม่ได้รับอาหารที่ถูกต้องที่บ้าน อาจกลับมาโรงเรียนในสภาพที่ขาดอาหารได้ ศาสตราจารย์เฉินว่าในกรณีนี้ก่อนปิดเทอมอาจจะต้องให้ธาตุอาหารเป็นพิเศษเพื่อให้ครอบคลุมการขาดสารอาหารช่วงที่อยู่บ้าน 2-3 เดือนได้ ฉันถามถึงเรื่องการขาดวิตามิน เอ ว่าจีนมีปัญหาหรือไม่ เล่าให้เขาฟังว่าได้ไปเนปาลกับทีมโภชนาการของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ดูงานวิจัยเรื่องการใช้วิตามินเอเพื่อลดการตายของมารดาและทารกซึ่งทำมา 10 ปีแล้ว ฝ่ายจีนกล่าวว่ามีปัญหาเหมือนกัน และก็มีการแจกวิตามินเอไปให้ชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ แต่ก็ยังเน้นเรื่องวิตามินที่มาจากอาหาร ให้คนกินผัก

(น.197) กินอาหารที่มีวิตามินเอมาก พยายามส่งเสริมสุขภาพของเด็กเน้นอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปีเป็นพิเศษ ทั้งสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมอาหารที่ถูกต้อง ได้ผลดีลดอัตราการตายของเด็กไปได้มาก ฉันปรารภว่าสภาพแวดล้อมก็สำคัญ นอกเหนือจากโภชนาการที่ถูกต้อง เช่น การมีน้ำสะอาดบริโภค มีระบบสุขาภิบาลที่ดี หรือการหุงหาอาหารให้เด็กได้ทุกมื้อ เคยได้ไปที่ชุมชนที่แม่ไม่มีเวลาหุงหาอาหารให้ลูก เพราะแม่ต้องไปกรีดยางตั้งแต่ตีสาม เด็กๆ ไม่ได้กินอาหารเช้า ศาสตราจารย์เฉินเห็นด้วยว่าสภาพแวดล้อมสำคัญ การให้การศึกษาที่ดีก็จำเป็น รายได้นั้นอาจจะทำให้การขาดอาหารลดลงไปบ้าง เช่น ในจีนพบว่าถ้ารายได้เพิ่มขึ้น 100 หยวนต่อคนต่อปี อัตราการขาดอาหารลดลงร้อยละ 1-3 แต่การมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพหรือการขาดสารอาหารได้เสมอไป เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นอาจจะไปใช้ทางอื่น เช่น ซื้อบ้าน ซื้อโทรศัพท์ แทนที่จะใช้ในการบำรุงโภชนาการ แก้สภาพแวดล้อม การส่งเสริมการศึกษาจะช่วยให้ปัญหาทางโภชนาการลดลง ดีกว่าเพิ่มรายได้ ฉันบอกว่าฉันเห็นใจนักโภชนาการจีนที่ต้องแก้ปัญหาโภชนาการของคนทั้งประเทศ ภาระขอบเขตงานกว้างขวางกว่าของไทยมาก เนื่องจากพื้นที่ของจีนกว้างใหญ่ มีประชากรมาก บางมณฑลของจีนมีพลเมืองมากกว่าประเทศไทยทั้งประเทศ นอกจากนั้นอาหารและอุปนิสัยในการกินของคนแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันมาก การวางนโยบายและแนวทางแก้ไขน่าจะยากมาก ฝ่ายจีนบอกว่าการพัฒนาโภชนาการของจีนเป็นเรื่องที่ท้าทายมากอย่างที่ฉันว่า แต่ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้นักวางแผนพัฒนาหรือผู้บริหารของจีนเข้าใจว่า โภชนาการมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (เด็กเรียนได้ดีขึ้น ผู้ใหญ่มีแรงทำงานมากขึ้น) ผู้กำหนดนโยบายมักมองเห็นว่าการส่งเสริมด้านโภชนาการเป็นการเสียงบประมาณ แทนที่จะเข้าใจว่าเป็นการสร้างเงิน สร้างคนที่มีศักยภาพในการผลิตได้ดีขึ้น

(น.198) ศาสตราจารย์เก้อบอกว่าปัจจุบันปัญหาโภชนาการของจีนอีกอย่างคือการกินดีอยู่ดีเกินไปในเขตเมืองใหญ่ ทำให้เกิดโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุจากความอ้วน เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในสิบปีมานี้ เป็นสาเหตุการตายในหมู่ประชากรจีนเกือบร้อยละ 5 จีนจึงพยายามให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ อาหาร 5 หมู่ พีระมิดอาหาร แนวทางพื้นฐานในการรับประทานอาหาร (foodbase guideline) ให้กินอาหารครบถ้วนถูกต้อง หลังจากนั้นไปรับประทานอาหารกับพวกครูที่สอนภาษาจีนมีอาจารย์จังเยี่ยนชิว อาจารย์จี้หนานเซิง อาจารย์หวังเยี่ย อาจารย์ฟั่น (อาจารย์คนปัจจุบัน) และฝ่ายไทย มีพี่สุคนธ์ พี่หวาน ซุป ปกรณ์ ป้อม ตู่ อาจารย์จี้หนานเซิงบอกว่าที่จริงก็ไม่ได้ไปไหน อยู่ที่ปักกิ่งนั่นเอง แต่ทำไมเมื่อปีที่แล้วไม่มีใครมาบอก ปีนี้อาจารย์ฟู่อู่อี้ไปอยู่ฉังชุนจึงมาไม่ได้ อาจารย์จี้หนานเซิงเอารูปตอนที่ฉันไปเจอกับเขาที่เมืองจีน ตอนนั้นสามีเขาเป็นทูตจีนประจำลาว แปลกที่ในรูปฉันดูเด็กมาก จนครูคนอื่นทายไม่ถูกว่าอายุเท่าไร ครูจี้หนานเซิงแปลบทกวีภาษาฝรั่งเศสบางบทของฉันเป็นภาษาจีน ก็เลยมีบทแปล 2 สำนวน เพราะอาจารย์หวังเยี่ยได้แปลไว้แล้ว และตีพิมพ์ในบทกวีภาษาฝรั่งเศสของฉันที่ตั้งชื่อว่า Reflexion หรือ ความคิดคำนึง ในห้องที่รับประทานอาหารกลางวันมีรูปเขียนที่เขาว่าเป็นฝีมือของภริยาเหล่าเซ่อซึ่งเป็นนักเขียนที่ถูกพวกเรดการ์ดบังคับให้ฆ่าตัวตาย ภริยาเป็นจิตรกร ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ มีเวลาอยู่อีกนิดหน่อยก็เลยไปร้านที่เตี้ยวอวี๋ไถ พอดีไปเห็นกาน้ำชามีจารึกเขียนว่า เตี้ยวอวี๋ไถ ก็เลยซื้อให้ประพจน์และซื้อให้ตัวเอง จะได้เป็นคนมีวัฒนธรรม ใช้กาน้ำชา ไม่ชงในถ้วยแก้วธรรมดาๆ

(น.199)


รูป 150 หอสมุดแห่งชาติปักกิ่ง สนทนากับศาสตราจารย์ เหรินจี้อวี๋ ผู้อำนวยการ
At the National Library. Meeting with Professor Ren Jiyu, the Director.

(น.199) ช่วงบ่ายไปหอสมุดแห่งชาติ ที่จริงที่ไปเที่ยวนี้เพราะตอนที่ไปประชุม ICAI ที่ Berkeley ไปพบคุณซุนเฉิงเจียน ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการ ประพจน์จำได้ไหมที่เขาแนะนำที่งานเลี้ยงที่ Modern Art Museum ดูเขาไม่ค่อยจะสันทัดภาษาอังกฤษนัก ฉันไปคุยภาษาจีน (ที่จริงก็แบบไม่ค่อยจะสันทัดเหมือนกัน) เขาก็เลยชอบใจ นัดกันว่าตอนฉันไปเมืองจีน จะได้เจอกันอีกที ที่ห้องรับรอง ผู้อำนวยการชื่อ ศาสตราจารย์เหรินจี้อวี๋กล่าวต้อนรับ อาจารย์เหรินอายุ 84 ปีแล้ว สมองยังดีแต่ว่าเดินไม่สะดวกนักแล้ว เข้าใจว่าคุณซุนคงเป็นคนช่วยงานบริหารต่างๆ ท่านผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปรัชญาและศาสนา

(น.200)


รูป 151 ดูนิทรรศการที่หอสมุด
Exhibition in the Library.

(น.200) ศาสตราจารย์เหรินกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนไม่ใช่ความสัมพันธ์ธรรมดาเหมือนประเทศอื่น แต่เป็นความสัมพันธ์ฉันญาติมิตร วันนี้เป็นครั้งแรกที่เขาได้พบฉัน รู้สึกดีใจมาก แต่ว่าได้เคยอ่านหนังสือที่ฉันแต่งหลายเล่ม ชมความรู้เรื่องจีนของฉัน และชมว่าเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ไทยจีน เมื่อกล่าวจบได้ให้หนังสือเกิงจือถู เป็นหนังสือบทกวีจีนและภาพจีนที่เกี่ยวกับการทำไร่ไถนาและการทอผ้า เขียนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ผู้เขียนชื่อโหลวสวี บางคนกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ปัจจุบันเหลือเพียงกลอน 35 บทเท่านั้น บ้างก็ว่าสูญหายไปหมดแล้ว ศาสตราจารย์เหรินอธิบายว่าเป็นธรรมเนียมของคนจีนแต่โบราณที่ผู้ชายจะทำนา ผู้หญิงทอผ้า ฉบับนี้เพิ่งพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1999 นี่เอง เป็น facsimile ส่วนของอีกอย่างคือ แผ่นซีดีเกี่ยวกับหอสมุด

(น.201)


รูป 152 ดูหนังสือโบราณหายาก
Ancient rare books.

(น.201) ที่จริงฉันมาที่หอสมุดแห่งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ไม่จำเป็นต้องบรรยายอะไรมาก ดูนิทรรศการหนังสือเก่า ผู้บรรยายคือ หัวหน้าฝ่ายหนังสือโบราณหายากชื่อ คุณหวงรุ่นหวา หนังสือเหล่านี้รวบรวมหลังสมัยปลดแอก ใน ค.ศ. 1937 ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ายึดมณฑลซานซี พวกทหารปาลู่จวินบอกชาวบ้านให้เอาหนังสือและของมีค่าไปซ่อน หลังจากปลดแอกปักกิ่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1949 รัฐบาลปักกิ่งขอให้รัฐบาลท้องถิ่นส่งหนังสือเหล่านี้มาเก็บไว้ที่ปักกิ่ง มีทั้งหมด 4,800 กว่าเล่ม อยู่ในสภาพที่ไม่ดี จึงต้องซ่อมแซมใช้เวลานานถึง 17 ปี เล่มแรกที่ดูเป็นหนังสือคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรที่เขียนในราชวงศ์จิน ได้มาจากวัดกวงเซิ่งซื่อ หนังสือหัวเหยียนจิง หรืออวตังสกสูตร

(น.202) คัมภีร์ฉบับตัวเขียนที่มาจากถ้ำตุนหวง เช่น คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นต้น หนังสือเกี่ยวกับมาร์โคโปโลฉบับลายมือเขียน เขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 15 บทสวดสรรเสริญกวนอิมพันกรเขียนในราชวงศ์ชิง สำเนาจารึกพระไตรปิฎกฉบับฝังซานมี 1,500 กว่าหลักที่ประพจน์อยากดู ฉันเคยไปดูมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นกำลังเริ่มทำสำเนา (rubbing) ทำสำเร็จแล้วก็เลยจับฝังลงไปในดินอย่างเดิมเพราะกลัวจะเสียหาย สำเนามีอยู่ 2 ชุดคือ อยู่ที่หอสมุดนี้กับอยู่ที่พุทธสมาคม ฉันถามถึงฉบับพิมพ์ เขาว่าไม่มี เห็นจะต้องถามอีก มีรูปวัดตั้งแต่สมัยก่อน แล้วถูกญี่ปุ่นระเบิดซ่อมใหม่ใน ค.ศ. 1949 หนังสือกระดูกสมัยราชวงศ์ซัง หลังจากปลดแอกแล้ว มีนักสะสมนำมามอบให้หอสมุดแห่งชาติ

(น.202)


รูป 153 แผนที่จีนโบราณ
Ancient map of China.

Next >>