<< Back
" หวงเหออู่อารยธรรม วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2543 "
(น.209) จดหมายฉบับที่ 11
(น.210) โรงแรมอิ๋งเจ๋อ นครไท่หยวน มณฑลซานซี
วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2543
สวัสดีหลวงตาประพจน์
เข้าวันนี้วิ่งอีก วิ่งไปทางอาคารเตี้ยวอวี๋ไถหลังเก่า วันนี้พวกทีวีไม่ได้ลงมา
รับประทานอาหารเช้าแล้วไปที่มหาศาลาประชาชน มาดามเฉินจื้อลี่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจีนต้อนรับ มาดามบอกว่าได้เจอฉันที่มาเก๊า เข้าห้องมณฑลเจ้อเจียง
เพื่อทำพิธีมอบรางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน เรื่องรายละเอียดฉันเห็นจะต้องให้ซุปเล่า เพราะเขารู้ละเอียดดีกว่าฉันเสียอีก ฉันถูกจับนั่งเก้าอี้ไว้จดก็ไม่ได้ ที่ต้องเขียนไว้ (โดยลอกแกมดัดแปลงจากซุป) เพราะเรื่องราวจะได้ครบถ้วน
รางวัลนี้เป็นรางวัลนานาชาติที่กระทรวงศึกษาธิการจีนตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1999 อันเป็นปีที่ 50 แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน มีจุดประสงค์
(น.210)
รูป 157 พิธีมอบรางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน
Presentation of Friendship of the Chinese Language, Culture Award.
(น.211)
รูป 158 พิธีมอบรางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน
Presentation of Friendship of the Chinese Language, Culture Award.
(น.211)
1. เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในนานาประเทศ
2. เพื่อเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีนให้กว้างไกล
3. เพื่อเพิ่มพูนมิตรภาพวัฒนธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างชาวจีนและชนชาติอื่นๆ ในประชาคมโลก
คนที่ได้รางวัลนี้จะต้องมีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน หรือศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านจีนวิทยา หรือแนะนำเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีน หรือมีคุณูปการยิ่งในการเสริมสร้างมิตรภาพทางวัฒนธรรมระหว่างชาวจีนกับประชาชนในประเทศอื่นๆ
การพิจารณาให้รางวัลจะเริ่มจากการให้หน่วยงาน คณะบุคคล หรือบุคคล รวมหลายฝ่ายมีสิทธิ์เสนอชื่อผู้ที่เหมาะสม แล้วกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดสรรผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามา เพื่อเลือกผู้ที่สมควรได้รับรางวัล ผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อมีดังนี้
(น.212)
รูป 159 กล่าวปาฐกถา
Delivering the speech.
(น.212)
1. กระทรวงศึกษาธิการ
2. ฝ่ายการศึกษาของรัฐบาลมณฑลต่างๆ สาธารณรัฐประชาชนจีน
3. สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมจีน
4. อาจารย์ระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีน และต้องเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง
5. ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงและเชี่ยวชาญในการสอนภาษาจีนแก่ชาวต่างประเทศ
6. หน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมด้านการแลกเปลี่ยนมิตรภาพและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศ
7.หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการต่างประเทศ ที่ประจำอยู่ต่างประเทศ เช่น สถานทูต สถานกงสุล
จะมีการมอบรางวัลนี้ 3 ปีครั้งหนึ่ง
กรรมการชุดที่พิจารณาให้รางวัลฉันมี 6 ท่าน
1. ศาสตราจารย์เหรินจี้อวี๋ ผู้ทรงคุณวุฒิวิชาปรัชญาและศาสนา ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติจีน
2. ศาสตราจารย์หลี่เสวียฉิน ผู้อำนวยการสถาบันประวัติศาสตร์ สภาสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน ผู้ทรงคุณวุฒิทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี
3. ศาสตราจารย์หูหมิงหยัง มหาวิทยาลัยเหรินหมิน
(น. 213)
4. ศาสตราจารย์จี้เสี้ยนหลิน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษา-วัฒนธรรมจีนและอินเดียสมัยโบราณ
5. ศาสตราจารย์หลินเต้า มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดี
6. ศาสตราจารย์หลี่ว์ปี้ซง มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง
ลำดับพิธีการคือ เขาให้ฉันนั่งเก้าอี้หน้าห้องหันหน้าเข้าหาผู้ที่มาร่วมงาน โดยนั่งเรียงลำดับคือท่านทูต ศาสตราจารย์จี้เสี้ยนหลิน ฉัน นางเฉินจื้อลี่ รัฐมนตรี นายหลี่ว์ฝูหยวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและทำหน้าที่เป็นพิธีกรด้วย
พิธีกรกล่าวถึงรางวัลนี้ แล้วเชิญให้รัฐมนตรีเฉินจื้อลี่กล่าวประกาศเกียรติคุณให้ฉันว่าได้ทำอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน มีเนื้อหาคล้ายกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เขียน
เมื่อจัดนิทรรศการตอนที่ฉันได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาภาษาจีน เมื่อกล่าวจบแล้ว ได้มอบเหรียญรางวัลให้แก่ฉัน มีนักศึกษาไทยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งแต่งชุดไทยมารับไป
(น.213)
รูป 160 ท่านทูตปาฐกถา
Speech by the Thai ambassador.
(น.214)
รูป 161 รางวัลที่ได้รับ
The award given to me.
(น.214) หลังจากนั้นฉันกล่าวขอบคุณที่ได้รับรางวัล และได้กล่าวด้วยว่าได้เรียนภาษาจีนและสนใจวัฒนธรรมจีน ได้เดินทางมาประเทศจีน 11 ครั้ง (นับไปงานรับมอบมาเก๊าด้วย) การเดินทางนี้เป็นวิธีการเรียนที่ดียิ่ง ฉันได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเยือนจีน เพื่อให้คนไทยได้รู้จักจีนมากขึ้น หวังว่ามิตรภาพจีน-ไทยจะสถิตสถาพรต่อไป
ศาสตราจารย์จี้เสี้ยนหลินกล่าวแสดงความยินดีในฐานะที่ท่านเป็นนักวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน และในฐานะที่ฉันเป็นมิตรเก่าของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และท่านได้สอนที่มหาวิทยาลัยนี้มา 50 ปีแล้ว
การที่ฉันได้รับรางวัลถือเป็นเกียรติของมหาวิทยาลัย ไทยกับจีนมีประวัติศาสตร์ติดต่อกันมานาน แม้ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เหตุการณ์ต่างๆ ในโลกเปลี่ยนแปลงไปแต่มิตรภาพไทยจีนจะยั่งยืน
ท่านทูตเป็นผู้กล่าวคนสุดท้าย กล่าวถึงงานเขียนต่างๆ ของฉัน
คุณอู๋จวินเป็นผู้แปลสุนทรพจน์อื่นๆ เว้นที่ท่านทูตพูด คุณขลุ่ย (ชัยรัตน์) เป็นคนแปล
เท่านี้ก็จบงาน เขาให้ฉันไปนั่งรออยู่ในห้องเสฉวน ที่จริงแล้วเขาน่าจะให้ฉันได้สังสรรค์กับแขกที่มาในงานบ้าง เพราะคนที่นั่งอยู่นอกจากเป็นคณะที่มาจากกรุงเทพฯ
และคณะสถานทูตแล้ว ฝ่ายจีนมีข้าราชการจากหลายหน่วยงาน อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัย
(น.215) ภาษาต่างประเทศปักกิ่ง มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง อาจารย์ที่เคยสอนภาษาจีนให้ฉัน กรรมการเป็นบุคคลที่น่าสนใจทั้งนั้น ฉันได้พบศาสตราจารย์หลินเต้าหลายครั้งแล้ว
แต่คนอื่นๆ ไม่แน่ใจ ศาสตราจารย์จี้เสี้ยนหลินที่นั่งข้างๆ ฉัน ฉันก็ไม่มีโอกาสได้สนทนา ด้านประวัติศาสตร์ฉันก็สนใจเพราะว่าเคยได้เรียนแต่กับอาจารย์ที่ศึกษามาด้านยุโรปและสหรัฐอเมริกา ไม่ได้พบกับอาจารย์จีนมากนัก ถ้าฉันไปเรียนที่ปักกิ่งอาจจะมีโอกาสบ้าง
ระหว่างนั่งรอ คุยกับมาดามฉงจวินเรื่องการศึกษา ที่จริงพักนี้ฉันชักจะมั่นใจที่จะพูดภาษาจีนแล้ว
ไปอีกห้องพบกับท่านหลีเถี่ยอิ้ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ (Chinese Academy of Social Sciences หรือ CASS) ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญมาก วางนโยบายทางสังคมของจีนคู่กับ
Chinese Academy of Sciences หรือ CAS เรียกอีกอย่างว่า Academia Sinica ที่วางแนวทางทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ดูเหมือนว่าท่านรู้สึกชอบใจที่ฉันไปเหยียนอานเพราะเป็นสถานที่ที่ท่านเกิดและเติบโต จึงคุยเรื่องนี้ซึ่งข้อมูลก็เหมือนกับที่ฉันเขียนไว้แล้วเมื่อไปที่เหยียนอาน
(น.215)
รูป 162 พบท่านหลีเถี่ยอิ้ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์
Meeting with Mr. Li Tieying, the Director of Chinese Academy of Social Sciences.
(น.216) เรื่องน่าสนใจที่ท่านเล่าคือ เมื่อสี่ปีก่อน ค.ศ. 1996 ได้ส่งเสริมให้ทำโครงการศึกษายุคประวัติศาสตร์ขาดช่วง เรื่องและเหตุการณ์จากปี 541 ก่อนคริสต์กาลนั้น ซือหม่าเชียน (ราชวงศ์ฮั่น)
ได้บันทึกเรื่องต่างๆ ไว้ เรื่องก่อนหน้านั้นไม่มีใครบันทึก จึงอาศัยแต่ข้อสันนิษฐานทางโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ลงความเห็นกันว่า การแบ่งเวลาระหว่างราชวงศ์เซี่ยกับซัง
ควรจะเป็นว่าราชวงศ์เซี่ยเริ่ม 2,000 ปีก่อนคริสต์กาล ราชวงศ์ซัง 1,600 ปีก่อนคริสต์กาล อย่างไรก็ตามเรื่องระยะเวลาระหว่างราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซังยังไม่มีความชัดเจน
แต่สมัยราชวงศ์โจวเริ่มชัด นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีนับพันคนศึกษาแล้วพบว่า ปี 1146 ก่อนคริสต์กาลมีเรื่องของโจวอู่หวังกับอินโจ้วหวัง ถ้าหนังสือเล่มนี้พิมพ์เสร็จจะฝากมาให้ทางสถานทูต
หากโครงการเสร็จจะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย ท่านคงมีประสบการณ์ดีมากในการเดินทางเยือนประเทศไทยจึงวกกลับไปคุยเรื่องนี้บ่อย
ฉันก็พยายามถามเรื่องงานของสถาบัน ท่านเล่าว่าสถาบันนี้มีเจ้าหน้าที่ 4,000 คน มีบุคลากรระดับศาสตราจารย์ 1,500 คน ศึกษาเรื่องทางสังคมทุกอย่างเว้นทางการทหาร
แขนงที่วิจัยมี ปรัชญา สังคมวิทยา มนุษยศาสตร์ ภาษาวรรณคดี การเมืองในและนอกประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประวัติศาสตร์แบ่งเป็นหลายหน่วย เช่น ประวัติศาสตร์ยุคต่างๆ
และภาคต่างๆ เป็นต้น เฉพาะเรื่องประเทศไทยก็มีการศึกษากันอยู่หลายหน่วยงาน เช่น หน่วยงานวิจัยประวัติศาสตร์โลก (ประวัติศาสตร์ของเขาแบ่งเป็นประวัติศาสตร์โบราณ ประวัติศาสตร์สมัยใหม่
ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และประวัติศาสตร์โลก) ภาษาต่างประเทศ สถาบันวิจัยเอเชียแปซิฟิก เป็นต้น นอกจากมีสถาบันวิจัยมากมายแล้วยังมีสถาบันการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก
ปัจจุบันมีนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกกว่า 4,000 คน มีศูนย์วิจัย 50 กว่าแห่ง มีวารสารวิชาการออกประจำ 80 เล่ม มีหนังสือรายงานผลการศึกษาวิจัยค้นคว้าตลอดเวลา มีเรื่องวรรณคดี เขาว่าจะพิมพ์วรรณคดีภาษาคนกลุ่มน้อย เรื่องภาษาและวรรณคดีต่างประเทศ
(น.217) สนทนากันได้ถึงตรงนี้หมดเวลา ท่านหลี่ให้เอกสารแนะนำหน่วยงาน แผ่นซีดีเรื่อง Current Trends and Thoughts Perspectives in Some Fields of China’s Social Sciences
และหนังสือที่ท่านเขียนเองทั้งที่เป็นภาษาจีนและอังกฤษเรื่อง Exploring the Course of Reform and Opening (Gai Ge Kai Fang Tan Suo)
เดินทางต่อไปที่จงหนานไห่เพื่อพบท่านประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน เมื่อเข้าไปถึงท่านประธานาธิบดีลุกขึ้นต้อนรับ แล้วมานั่งสนทนากัน ท่านว่าปีที่แล้วท่านนำคณะเยือนไทย ปีนี้ฉันนำคณะเยือนจีน ได้พบกันอีก
ฉันท้วงว่าที่มาเก๊าก็ได้พบกัน ท่านว่านั่นแหละมิตรแท้ย่อมเจอกันบ่อย มาดามเฉินจื้อลี่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเคยทำงานด้วยกันที่เซี่ยงไฮ้บัดนี้ก็มาเจอกันอีก
ฉันว่าฉันก็ดีใจที่ได้พบท่านเพราะว่ามาเยือนจีนครั้งนี้กะทันหัน ท่านยังอุตส่าห์แบ่งเวลามาพบ เมื่ออยู่ที่เกาะภูเก็ต ท่านประธานาธิบดีเขียนบทกวีของหลี่ไป๋ให้ ตอนนี้ใส่กรอบติดไว้และท่องบทกวีนี้ได้แล้ว
ท่านประธานาธิบดีชมว่าฉันมีความรู้ภาษาจีนดีและรู้ภาษาอังกฤษด้วย ดีกว่าตัวท่าน ฉันจะท้วง ท่านก็เลยพูดว่า จะชมใครก็ต้องพูดความจริง เอาเป็นว่าท่านรู้ภาษาจีนดีกว่า แต่ฉันก็พยายามเรียนได้ดี และรู้ภาษาอังกฤษดีกว่าท่าน (ที่จริงก็อาจจะไม่จริงอีก)
ท่านแก้กำหนดการซึ่งแต่เดิมจะพบกันชั่วโมงเดียว และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพเลี้ยง ท่านจะเป็นเจ้าภาพเองและให้รัฐมนตรีมารับเลี้ยงด้วย
ท่านถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อยากทูลเชิญให้เสด็จพระราชดำเนินเยือนจีน ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงสะดวกก็ขอเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จก่อน ฉันพูดถึงที่ฉันอยากจะมาเรียนภาษาจีน ท่าน
(น.218) ประธานาธิบดีว่า ฉันดูจะมีอิสระเสรีดีผิดกับท่าน ฉันอธิบายว่าฉันไม่มีหน้าที่กำหนดนโยบายการเมืองการปกครองประเทศ จึงมีเวลาไปไหนต่อไหน ท่านประธานาธิบดีเป็นผู้ใหญ่ มีหน้าที่ดูแลความเป็นความตายของคนจำนวนมากต้องอาศัยพวกเลขานุการหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจัดคิวงานให้
ท่านพูดจีนกับฉันบ้างเพื่อให้ฉันฝึกซ้อมภาษา เล่าว่าท่านทำงานหนักเช้าจดเย็น ทำงานหนักแล้วอยากพักผ่อน วิธีการพักผ่อนก็คือ การฟังเพลง อ่านและท่องบทกวี ท่านได้มอบหมายให้ล่ามแปลบทกวีภาษาต่างประเทศเป็นภาษาจีน
เช่น Ode to the Nightingale ของ Keats และยังให้แปลบทกวีราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่งเป็นภาษาอังกฤษด้วย (ท่านให้เลขานุการไปนำสำเนามาให้ฉัน) ในความเห็นของท่าน กวีชาติใดก็ตาม ใช้ภาษาของตนเองจะดีที่สุด
เพลงก็เช่นเดียวกัน เพลงต่างประเทศเมื่อแปลเนื้อร้องเป็นภาษาจีน รสชาติก็เปลี่ยนไปไม่ถึงใจ อย่างเพลงที่ Pavarotti ร้องเป็นภาษาอิตาเลียน มาแปลก็ไม่เพราะ (ท่านเอ่ยถึงเพลงที่นอกจากจะมีภาษาอิตาเลียนแล้วยังมีภาษาท้องถิ่น)
ฉันมีความรู้สึกว่าความรู้สึกที่อยู่ในแต่ละภาษาล้วนแต่ต่างกัน แต่งบทกวีเป็นภาษาหนึ่ง แล้วแปลเป็นอีกภาษาหนึ่ง ความหมายและอารมณ์ย่อมต่างกัน
ท่านประธานาธิบดีก็ให้ความเห็นในเรื่องการใช้คำในภาษาต่างๆ ว่ากลอน Ode to the Nightingale นี้ยาวมาก เมื่ออ่านตอนแรกคิดว่าเป็นกลอนบรรยายทิวทัศน์
แต่ความจริงแฝงปรัชญา กวีทั่วโลกเมื่อเขียนบทกวีต้องมีความหมายด้านปรัชญาด้วย บทกวีราชวงศ์ถังจะแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องให้คนที่มีความรู้และคุ้นเคยกับ
ภาษาอังกฤษมาแปล อย่างพวกล่ามกระทรวงการต่างประเทศ เขาได้อยู่ต่างประเทศ มีสภาพแวดล้อมส่งเสริม เขาจะเลือกคำมาใช้ได้ดีกว่า เพราะแต่ละคำมีความหมายไม่เหมือนกัน เช่นว่า เมฆขาวลอยบนฟ้า ใบไม้สีเหลืองปูเต็มพื้น สีสดใสของฤดูใบไม้ผลิ
(น.219) ถ้าฉันมาศึกษาภาษาจีน ต้องหัดท่องบทกวีจีน บทกวีของฟั่นจังเยียนและเยี่ยนซูเป็นบทกวีที่ไพเราะ น่าเรียนมาก
บทกวีของไป๋จวีอี้ เป็นบทที่ดีและไพเราะมากเช่นกัน ภาษาอาจจะไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย จึงมีคนนิยมมาก
ท่านถามท่านทูตว่าพูดภาษาจีนได้ไหม ท่านว่าไม่ได้ แต่ภริยาพูดได้ ฉันเสริมว่าเขาพูดซื้อของได้ ท่านประธานาธิบดีบอกว่าการซื้อของก็เป็นการฝึกภาษาได้อย่างหนึ่ง
ชาวต่างชาติที่มาเรียนภาษาจีนจะพูดได้ แต่ว่าเขียนลำบาก ท่านชมว่าฉันลายมือดี และพูดกันถึงการเขียนหนังสือจีนว่า หมึกและกระดาษสำคัญมาก หมึกข้นมากก็ไม่ได้
หมึกใสไปก็เขียนไม่ดี เซี่ยงไฮ้กับเมืองไทยอยู่ใกล้ทะเล มีความชื้นสูง เขียนได้ง่าย ถ้าไปทางเหนืออากาศแห้ง ต้องปรับน้ำหมึกให้ดี ที่ท่านเขียนให้ฉันนั้น ท่านเอากระดาษและหมึกไปเอง
ฉันก็เลยต้องสารภาพว่าที่ฉันเขียนก็ใช้หมึกของท่าน ท่านบอกว่าดีแล้ว ฉันยังเสริมด้วยว่าการเขียนพู่กันจีนนี้ สุดแต่จิตใจ วันไหนสบายใจ มั่นใจก็เขียนได้ วันไหนไม่สบาย สมาธิไม่ดี ใจไม่สบาย ก็เขียนไม่ดี ไม่มีพลัง
ท่านประธานาธิบดีเห็นด้วยตอบว่าท่านเองก็เหมือนกัน บางทีเขียนครั้งเดียวก็เสร็จ บางทีเขียน 7-8 ครั้งก็ยังไม่พอใจ ประเทศไทยอยู่ในเอเชียเป็นคนตะวันออกเหมือนกับจีน
วัฒนธรรมไทย-จีนใกล้เคียงกันมาก คนยุโรปและอเมริกันน้อยคนที่จะชอบตัวอักษรจีนที่เขียนด้วยพู่กัน แต่แปลกมาก เมื่อท่านไปเยือนฝรั่งเศส ประธานาธิบดีชีรักก็ชอบตัวอักษรจีน
ท่านประธานาธิบดีปรารภถึงคราวไปเยือนประเทศไทยว่าไปภูเก็ต อยากว่ายน้ำ เสียดายลมแรง ว่ายไม่ได้
ฉันว่าในช่วงนั้นมีเครื่องหมายธงแดง แสดงว่าคลื่นลมแรงอันตรายลงเล่นน้ำไม่ได้ มองจากข้างบนอาจเห็นว่าไม่มีอะไร แต่มีคลื่นใต้น้ำ คิดจะนำท่านไปอีกฝั่งซึ่งเล่นน้ำได้
แต่ไม่แน่ใจว่าเวลาจะอำนวยหรือเปล่า ไม่ทราบว่าฝ่ายจีนจัดกำหนดการอย่างไรจึงไม่ได้เสนอ ประธานาธิบดีว่าเข้าใจฝ่ายไทยดี ท่านลงไปชายทะเลเห็นคลื่นก็รู้ว่าอันตราย เป็นการเสี่ยงที่ไม่จำเป็น
Next >>