Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 2542"


(น. 47) รูป 33 โต๊ะที่ใช้ในการลงนามที่ญี่ปุ่นยอมจำนนต่อจีน
Tables used at the signing of Japan's surrender to China.

(น. 47) ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 จักรพรรดิญี่ปุ่นยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไข มีการลงนามยุติสงครามกับฝ่ายพันธมิตรในเรือรบมิสซูรี่ ซึ่งจอดที่อ่าวโตเกียว ในวันที่ 2 กันยายน วันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1945 มีพิธีลงนามญี่ปุ่นยอมจำนนต่อจีน โต๊ะที่จัดพิธีลงนามยอมจำนนนั้นฝ่ายจีนกับฝ่ายญี่ปุ่นมีขนาดไม่เท่ากัน โต๊ะจีนใหญ่กว่า นาฬิกาบอกเวลาที่ลงนามตรงกับ 9 นาฬิกา ลงนามกันที่เมืองนานกิง ภาพประชาชนฉลองชัยชนะ กล่าวโดยสรุปทหารจีนและประชาชนบาดเจ็บเสียชีวิตไป 35 ล้านคน ทรัพย์สินเสียหาย 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ฝ่ายจีนและฝ่ายญี่ปุ่นไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์กันจนถึงวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1972 เมื่อท่านประธานเหมาจับมือกับนายกรัฐมนตรีทานากะ และได้รับสถาปนาความสัมพันธ์ต่อกันอีกครั้งหนึ่ง


(น. 48) รูป 34 บ้านจำลอง
Model of a house.

(น. 48) ห้องที่ 3 แสดงพฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม เวลาญี่ปุ่นจะบุกโจมตีจะทิ้งระเบิดล่วงหน้าก่อน ทั้งที่เซี่ยงไฮ้ และที่ฉงชิ่ง (จุงกิง) ระหว่าง ค.ศ. 1939 – ค.ศ. 1941 ทิ้งระเบิดที่ฉงชิ่ง 124 ครั้ง ผู้คนหนีระเบิดลงหลุมหลบภัยจำนวนมากเกินไปจนไม่มีอากาศหายใจตายไป 9,000 คนในคราวเดียว ญี่ปุ่นเป็นประเทศเล็กไม่มีทรัพยากรอะไร ต้องมายึดจีนแล้วกวาดเอาทรัพยากรไป เช่น ถ่านหิน เหล็ก ไม้ อาหาร เพื่อไปทำสงคราม


(น. 49) รูป 35 บ้านจำลอง
Model of a house.

(น. 49) ความทารุณกรรมต่างๆ หลังจากบุกนานกิงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1937 มีการฆ่าหมู่ 300,000 กว่าคน ข่มขืนสตรี ปล้นชาวบ้าน กองทัพญี่ปุ่นตั้งสถานปลอบขวัญทหาร นำผู้หญิงจีนและเกาหลีมาบริการทางเพศ เอาคนจีนมาทดลองวิทยาศาสตร์หาทางทำสงครามเชื้อโรค ตั้งหน่วย 737 ที่ฮาร์บิน (ดังที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ใน เกล็ดหิมะในสายหมอก)


(น. 49) รูป 36 อุโมงค์จำลอง
During the war a tunnel was secretly built in the house as a hiding place.


(น. 50) รูป 37 อนุสาวรีย์ทหารนิรนาม
The room in memory of unknown soldiers.

(น. 50) ห้องที่ 4 แสดงการต่อต้านญี่ปุ่นของคนจีน ประชาชนทำสงครามใต้ดิน และหาวิธีการอื่นๆ ต่อต้านญี่ปุ่น พยายามโจมตีตัดการคมนาคม เช่น ทำลายทางรถไฟ พิพิธภัณฑ์จำลองหมู่บ้านที่ซ่อนทางลงใต้ดินเอาไว้ใต้เตียงหรือในตู้เสื้อผ้า ทำอุโมงค์จำลองซึ่งเดินลงไปได้ จำลองเหมือนที่ประชาชนทำ มีที่เก็บอาหาร ที่เก็บอาวุธและเครื่องซ่อมต่างๆ ข้าพเจ้าและคณะลองเดินไปในอุโมงค์ สนุกดี ห้องที่ 5 แสดงภาพอนุสาวรีย์ทหารนิรนามและเรื่องเกี่ยวเนื่อง สลักชื่อวีรบุรุษวีรสตรีในสงครามนี้บนหินสีชมพู เป็นพวกทหารระดับผู้บังคับกรม แต่จารึกไว้ไม่หมด เพราะมีส่วนที่ไม่ทราบชื่อ จึงทำสมุดหินอ่อน 14 เล่มตั้งไว้เพื่อแสดงว่ายังมีรายชื่ออีกมากที่ไม่ได้บันทึกไม่ได้จารึกไว้


(น. 51) รูป 38 ห้องฉายหนังจอผ่าโลก แสดงเหตุการณ์วันที่ญี่ปุ่นยึดสะพานหลูโกวเฉียว
Film show on panoramic screen about the day when Lugouqiao Bridge was occupied by Japanese soldiers.

(น. 51) ห้องที่ 6 เป็นห้องฉายหนังแบบจอผ่าโลก แสดงแสงเสียงเหตุการณ์วันที่ญี่ปุ่นยึดสะพานหลูโกวเฉียว และยึดเมืองหว่านผิง เริ่มภาพสะพานหลูโกวเฉียวใต้แสงจันทร์ ร่ายบทกวีชมสะพาน เล่าเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นบุก สร้างภาพยนตร์ได้สมจริงดี ป้าจันบอกว่าทำเสียงระเบิดได้เหมือนมาก เราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าเพราะเกิดไม่ทัน


(น. 52) รูป 39 สะพานหลูโกวเฉียว หัวเสาสะพานสลักรูปสิงโต
Lugouqiao Bridge with lion-shaped posts.

(น. 52) จากพิพิธภัณฑ์นั่งรถไปดูสะพานหลูโกวเฉียว หรือที่ฝรั่งเรียกว่า สะพานมาร์โคโปโล ที่จริงสะพานนี้สร้างก่อนมาร์โคโปโลมาเมืองจีน คือ สร้างตั้งแต่ราชวงศ์จิน (พวกกิมก๊ก) เมื่อประมาณ ค.ศ. 1189-ค.ศ. 1192 แต่มาร์โคโปโลเป็นผู้เขียนชมเชยไว้ว่า สะพานนี้สวยงามแปลกกว่าสะพานอื่นๆ ชื่อของมาร์โคโปโลก็เลยมาติดอยู่กับสะพานนี้

(น. 53) รูป 39 สะพานหลูโกวเฉียว หัวเสาสะพานสลักรูปสิงโต
Lugouqiao Bridge with lion-shaped posts.

(น. 53) สะพานหลูโกวเฉียวเป็นสะพานหิน เสารูปโค้งรับสะพานเป็นช่วงๆ ราวสะพานเป็นเสามีพนัก บนหัวเสาสลักรูปสิงโตทำท่าทางต่างๆ ไม่ซ้ำกัน พูดกันว่ามีถึง 485 ตัว สะพานยาว 266.5 เมตร กว้าง 9.3 เมตร เขาบูรณะซ่อมแซมพื้นสะพานเสียใหม่ให้เรียบ เดินง่าย แต่ว่าตรงกลางทิ้งหินเดิมเอาไว้ให้ดู ตอนนี้แม่น้ำไม่มีน้ำเลยเพราะอยู่ในระหว่างซ่อมแซมสะพาน ขุดลอกแม่น้ำ เดือนกรกฎาคมจึงจะปล่อยน้ำเพื่อตกแต่งให้ทันงานวันฉลอง บริเวณนี้ต่อไปจะทำเป็นสวนสาธารณะ

(น. 54) ตอนกลางวันเลี้ยงอาหารอาจารย์ที่เคยสอนภาษาจีน อาจารย์มาได้ 3 ท่าน รวมทั้งอาจารย์ที่สอนอยู่ในปัจจุบันรวมเป็น 4 ท่าน คือ อาจารย์จังเยี่ยนชิว เคยเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นอาจารย์คนแรกที่สอนภาษาจีนให้แก่ข้าพเจ้า หลักการสอนของอาจารย์จังก็คือให้ออกเสียงต่างๆ ให้ถูกต้องเสียก่อน โดยฝึกพูดดังๆ ทีละตัว แล้วค่อยให้เรียนตัวหนังสือ ต่อมาอาจารย์ไม่ค่อยสบายเดินทางกลับปักกิ่งไปในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังเดินทางย่ำแดนมังกรอยู่ใน พ.ศ. 2524 อาจารย์ได้ช่วยคุณกัวเซวียนอิ่ง แปล แก้วจอมแก่น เป็นภาษาจีน โดยดูจากภาษาอังกฤษที่คุณหญิงจำนงศรีแปลไว้ เพื่อสอบเทียบส่วนที่คุณกัวแปลจากภาษาไทย ปัจจุบันอาจารย์เกษียณอายุแล้ว แต่ยังทำงานอยู่ที่สถาบันภาษาอังกฤษ ได้ทำข้อสอบมาตรฐานสำหรับสอบภาษาอังกฤษ


(น. 54) รูป 40 คณะครูจีนที่มารับประทานอาหารกลางวัน จากซ้ายไปขวา อาจารย์จังเยี่ยนชิว อาจารย์ฟู่อู่อี้ ข้าพเจ้า อาจารย์หวังเยี่ย อาจารย์ฟั่นชุนหมิง
My former Chinese teachers who came to lunch with me, from left to right : Mrs. Zhang Yanqiu, Mrs. Fu Wuyi, I, Mrs. Wang Ye and Mrs. Fan Chunming (the present teacher).

Next >>