Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 2542"


(น. 55) รูป 41 อาจารย์ฟู่อู่อี้กำลังอ่านบทกวีจีน
Mrs. Fu Wuyi reading Chinese poetry.

(น. 55) อาจารย์ฟู่อู่อี้ ท่านเป็นคนเซี่ยงไฮ้ ตอนนั้นดูเหมือนว่าท่านจะมาอยู่เมืองไทยเพราะสามีทำงานอยู่องค์การระหว่างประเทศ อาจารย์ท่านนี้เคยทำงานกาชาดจีน แล้วย้ายไปอยู่มูลนิธิซ่งชิ่งหลิงจนกระทั่งปัจจุบัน ขณะนี้อายุ 70 ปีแล้ว อาจารย์ฟู่เคยสอนข้าพเจ้าอ่านทำนองเสนาะภาษาจีน ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินคนอื่น

(น. 56) อ่าน คราวนี้อาจารย์ท่องให้ฟัง ท่องไปก็ส่ายศีรษะไปพลาง บอกว่าครูที่เซี่ยงไฮ้สอนแบบนี้ ท่องบทกวีเป็นภาษาจีนกลางไม่ค่อยเข้ากัน ต้องท่องเป็นภาษาจีนสำเนียงเซี่ยงไฮ้ จากนั้นอาจารย์ได้อ่านทำนองเสนาะบทกวีจีนหลายบท เอามาจากหนังสือแปลกวีนิพนธ์จีนที่ข้าพเจ้าแปลไว้และพิมพ์รวมเล่มชื่อ หยกใสร่ายคำ บทกวีที่อ่านได้แก่ ชุนเสี่ยว (รุ่งอรุณฤดูใบไม้ผลิ) จิ้งเยี่ยซือ (ความคิดคำนึงในคืนสงบ) เจียงเสวี่ย (แม่น้ำยามหิมะโปรย) อาจารย์หวังเยี่ย เมื่อสอนข้าพเจ้าแล้วไปสอนภาษาจีนที่เมืองเวนิสและกลับมาสอนที่ปักกิ่ง สอนคุณเบญจมาศ หรือที่เราเรียกกันว่า น้องเก๊กฮวย (เจ้าหน้าที่สถานทูต) ด้วย ขณะนี้เกษียณแล้วแต่ก็ยังสอนหนังสือ อาจารย์หวังเยี่ยช่วยคุณกัวเซวียนอิ่งแปลเรื่อง แก้วจอมซน ในระหว่างที่สอนข้าพเจ้า เมื่อมีตรงไหนที่คุณกัวไม่เข้าใจ ข้าพเจ้าก็ฝากคำอธิบายให้อาจารย์ไปอธิบายต่อให้คุณกัว มีการส่งสิ่งของต่างๆ ไปประกอบด้วย เช่น มะม่วง น้ำพริกปลาทู ไปจนกระทั่งหนังผีเรื่องแม่นาคพระโขนง เป็นเรื่องสนุกสนานกันทั้งสถานทูต อาจารย์ฟั่นชุนหมิง ที่สอนข้าพเจ้าในปัจจุบัน สอนหนักในด้านทักษะการเขียนภาษาจีน ส่วนอาจารย์อีกหลายท่านที่มาไม่ได้คือ อาจารย์จี้หนานเซิง ไม่ทราบไปอยู่ที่ไหน สามีเคยเป็นทูตหลายแห่ง เคยพบกันที่ลาวและสุดท้ายไปอยู่พม่า ถามใครก็ไม่ได้ความ อาจารย์ท่านนี้เป็นผู้แนะนำให้ข้าพเจ้าวาดภาพตามบทกวีจีน อาจารย์ฉังหมิงอวี้ ขณะนี้อยู่เอสโตเนีย (ติดตามสามี)

(น. 57) อาจารย์กู้หยาจ่ง ขณะนี้เห็นบอกกันว่าไปอยู่ออสเตรเลียกับลูกชาย ยังไม่กลับมา อาจารย์ท่านนี้พูดภาษาไทยได้และได้เดินทางไปตามเส้นทางแพรไหมพร้อมกับข้าพเจ้าใน พ.ศ. 2533
อาจารย์หลี่เถียนฟู ขณะนี้ติดตามสามีไปอยู่ที่มอลตา
อาจารย์หวังจวินเซียง ติดตามสามีไปอยู่ไนเจอร์ อาจารย์ท่านนี้ไปกับข้าพเจ้าเมื่อเดินทางไปล่องแม่น้ำฉังเจียงใน พ.ศ. 2539
เมื่อรับประทานแล้วตอนบ่ายไปร้านหนังสือ 2 ร้าน
1. Beijing Foreign Language Publication Ltd. อยู่ข้างร้านขายแมคโดนัล ร้านใหญ่ที่ข้าพเจ้าเคยไปลองรับประทาน ร้านหนังสือนี้ก็เคยไปแล้วเช่นกัน ครั้งนี้ได้ซื้อแผนที่ หนังสือเด็ก (จีน) หนังสือสอนภาษา หนังสือภาษาต่างประเทศที่เกี่ยวกับจีนหลายเล่ม ชั้นบนเป็นซีดี วีดีโอ และเครื่องคอมพิวเตอร์
2. Beijing Tushu Da Shan เขาว่ากันว่าเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งดูแล้วก็น่าเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ มี 4 ชั้น ขึ้นลิฟต์ไปดูชั้นบนสุดก่อน เป็นหนังสือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกสาขา ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ไปจนถึงเคมี ฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์ วิศวกรรม เกษตร ป่าไม้ ฯลฯ และมีร้านคอฟฟี่ชอปให้นั่งกินไปพลางอ่านไปพลาง
ชั้น 3 เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย เช่น แผ่นซีดี เทป วีดีโอ ซีดีรอม ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ อีกด้านเป็นวรรณคดีโบราณและปัจจุบัน ได้เห็นหนังสือรวมงานของกิมย้ง ฉบับปรับปรุงใหม่ เป็นปกแข็งสวยงาม


(น. 58) รูป 42 ร้านหนังสือเป่ยจิงถูซูต้าซานที่เขาว่าเป็นร้านหนังสือใหญ่ที่สุดในโลก
Beijing Tushu Da Shan is said to be the world's largest bookshop.

(น. 58) ชั้นที่ 2 มีหนังสือเด็กและมุมเด็ก มีเด็กๆ มานั่งอ่านหนังสือกันมาก นอกจากนั้นมีหนังสือด้านประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นล่างสุดเป็นหนังสือทั่วๆ ไป ตำรานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ นวนิยาย วรรณคดี มีหนังสือเรื่องประเทศไทย (เป็นภาษาจีน) ด้วย ดูเหมือนว่าคนจะมานั่งอ่านมากกว่าซื้อ มีหนังสือเยอะมาก เขาว่ามี 170,000 ชื่อเรื่อง ในพื้นที่ 1,600 ตารางเมตร หนังสือพิมพ์แล้ว 10 ปีก็ยังมี

(น. 59) ข้าพเจ้าซื้อหนังสือเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ 2 เล่ม หนังสือบทกวีสำหรับเด็กอีกเล่มเท่านั้น อารยาต้องไปรอเข้าคิวจ่ายเงินอยู่เป็นนานเพราะคนเยอะ ร้านเล็กร้านแรกซื้อได้เร็วกว่า กลับมาตอน 5 โมงเย็น ศาสตราจารย์เฉินซู่เผิงมา อาจารย์เฉินบอกว่า ศาสตราจารย์หวังหยังที่บอกว่าจะมาด้วยมาไม่ได้ แต่ก่อนทำงานอยู่ด้วยกัน เคยเป็นผู้อำนวยการ Institute of Remote Sensing แล้วไปทำงานอยู่ที่กวางตุ้ง เป็นรองผู้อำนวยการ Institute of Oceanography และปลดเกษียณไปแล้ว คราวนี้อาจารย์เฉินนำครุยวิทยฐานะของ International Eurasian Academy of Sciences มาให้ (เขาฝากใบประกาศนียบัตรให้ Professor Murai เอามาให้ข้าพเจ้านานแล้ว) คิดว่าปี 2000 จะจัดประชุมอีกในจีนหรือประเทศอื่น จะเชิญผู้แทนจากไทยด้วย ตอนนี้จีนมีสมาชิก 15 คน และเอาหนังสือมาให้หลายเล่ม ได้แก่
1. Remote Sensing for 1998 : Floods in China เป็นหนังสือบันทึกข้อมูล Remote Sensing
ทั้งภาพดาวเทียมและ Airborne Scanner ภาพเรดาร์ มีข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว มีทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน เพิ่งตีพิมพ์เสร็จเมื่อเดือนที่แล้ว


(น. 59) รูป 43 บัตรสมาชิก International Eurasian Academy of Sciences
Member card of the International Eurasian Academy of Sciences.


(น. 60) รูป 44 แต่งเสื้อครุยสมาชิก
Acdemic gown.

(น. 61)
2. Analysis of Radar Remote Sensing Imageries of China ใช้ข้อมูลหลายแหล่ง รวมทั้ง Radar Sat ของแคนาดาด้วย และใช้ Airborne Radar ของจีน
3. Agricultural Atlas of China พิมพ์ ค.ศ. 1994 พิมพ์จำนวนน้อย ท่านรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงรับผิดชอบการจัดทำหนังสือนี้ ท่านเป็นผู้รับผิดชอบตัดสินนโยบายด้านเกษตรเรื่องการศึกษาและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลด้านการเกษตรของจีนทั้งประเทศอย่างละเอียด มีข้อมูลจังหวัดต่างๆ แต่บางทีไม่มีข้อมูลทางการเกษตร เพราะพื้นที่ไม่เหมาะที่จะเพาะปลูก เช่น ในที่สูงๆ ของทิเบต ส่วนข้อมูลแม่น้ำฉังเจียงก็น่าสนใจ การเกษตรลดลง แต่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น มีน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น เป็นปัญหาที่พยายามค้นคว้าวิจัยว่าพฤติกรรมของมนุษย์และการพัฒนาเศรษฐกิจมีผลอย่างไรต่อสภาพแวดล้อม เมื่อน้ำหลากไหลลงทะเลสาบไท่หูได้ แต่เขื่อนริมน้ำทำให้น้ำไหลไม่ได้ ระดับน้ำสูงกว่าพื้นที่เพาะปลูกและเขตชุมชน เดี๋ยวนี้ที่ซูโจวต้องทำเขื่อนกั้นน้ำล้อมเมือง แต่ก่อนเมืองนี้เคยเป็นเวนิสตะวันออก เดี๋ยวนี้สร้างถนนมากขึ้น ทางน้ำน้อยลง
4. Introduce to the China Science Center International Eurasian Academy of Sciences (IEAS-CSC) August 1997 กล่าวถึงสมาชิกใหม่ในปี ค.ศ. 1997 เป็นคนสำคัญๆ เช่น ประธาน Chinese Academy of Sciences ประธานสาขาวิศวกรรมและสาขาสังคมวิทยาของ Chinese Academy of Sciences
(น. 62)

5. Institute of Remote Sensing Applications Chinese Academy of Sciences (IRSA) เป็น directory ประวัติของผู้ทำงานด้าน Remote Sensing ของจีน (ในเล่มนั้นมีภาพนักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำงาน World Meteorological Organization – WMO เพิ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตใกล้ๆ ปักกิ่ง) ศาสตราจารย์เฉินซู่เผิงเห็นว่าหนังสือนี้เป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้ข้าพเจ้าทราบว่ามีใครทำงานด้านนี้บ้าง เล่มนี้มี 32 คน ต่อไปจะมี 50 คน จะพยายามรวมนักวิทยาศาสตร์ชาติอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน แอฟริกาเข้ามาด้วย ปีนี้มีคนหนุ่มสาวมาเป็นสมาชิกมากขึ้น ฉบับหน้าจะพิมพ์ออกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1999 ดูหนังสือแล้วทราบว่าศาสตราจารย์เฉินอายุ 79 ปี และมีบางท่านอายุมากกว่านั้น
6. Mechanism of Remote Sensing Information เป็นงานชิ้นใหม่ของศาสตราจารย์เฉิน เป็นหนังสือที่เขียนละเอียดที่สุดเกี่ยวกับ Remote Sensing พูดถึง Scanner ชนิดต่างๆ การทำภาพสามมิติ Digital Terrain Model การให้ข้อมูลสำหรับการวางแผนเขตชานเมือง
7. Earth System Science เป็นภาษาจีน พิมพ์ไม่มากนัก สำหรับแจกไปตามสถาบันต่างๆ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษา ไม่มีขายในท้องตลาด มี index เป็นภาษาอังกฤษ รวบรวมความรู้ Earth System ทั้งหมด มีผู้เขียนถึง 500 คน
8. Joint Laboratory for Geoinformation Science เป็นการร่วมมือศึกษาค้นคว้ากับ Chinese University of Honkong

(น. 63)

9. American Geographical Society O.M. Miller Cartographer Medal June, 18 1998 เป็นบทความปาฐกถาที่ศาสตราจารย์เฉินกล่าวปาฐกถาตอนไปรับรางวัล ท่านไปสหรัฐอเมริกา 5 สัปดาห์ ไปอยู่ที่วิสคอนซิน ศาสตราจารย์เฉินเล่าว่า เดี๋ยวนี้ที่จีนสนใจเรื่อง Digital Earth ในสหรัฐอเมริกา รองประธานาธิบดี อัล กอร์ ก็สนใจเรื่องนี้มาก จีนจะจัดการประชุมเรื่อง Infrastructure of the Digital Transformation, Earth Science system ใช้ GIS, GPS จีนจะต้องสร้างระบบของตนเอง เพราะมีอะไรหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับสหรัฐอเมริกา จะจัดประชุมนานาชาติที่ฮ่องกงราวกลางเดือนพฤศจิกายน หลังจากจัด Asian Remote Sensing Conference ต่อจากนั้นจะจัดประชุมที่ปักกิ่ง เพื่อจะได้ระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และจะได้วางแผนการศึกษาด้านนี้ต่อไป นอกจากนั้นคุยกันเรื่องการเดินทางของข้าพเจ้าครั้งนี้ และคิดกันว่าคราวหน้าจะไปไหนดี ศาสตราจารย์เฉินบ่นเรื่องสะพานใหม่ที่นานกิงว่าทำให้การคมนาคมทางบกสะดวกขึ้น แต่เตี้ยไปทำให้เรือผ่านได้ยาก ทั้งที่แต่ก่อนเคยขึ้นไปได้ถึงฉงชิ่ง กำลังทำแผนที่แม่น้ำฉังเจียงตลอดสาย คงจะตีพิมพ์ได้ก่อนสิ้นปีนี้ รับประทานอาหารเย็นที่เรือนรับรอง แล้วไปดื่มน้ำชาที่ร้านน้ำชาเหล่าเซ่อ ร้านนี้เป็นอาคารที่ดูข้างนอกก็เป็นตึกสมัยใหม่ธรรมดา อยู่ที่ถนนเฉียนเหมินซี ชื่อร้านน้ำชานี้ใช้ชื่อนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงคือ ท่านเหล่าเซ่อ ชั้นล่างเป็นร้านอาหาร แต่ชั้นบนเป็นร้านน้ำชา ผู้จัดการมารับพาไปที่โต๊ะตรงกลางอยู่หน้าเวที มี


(น. 64) รูป 45 กาน้ำชาที่ร้านเหล่าเซ่อให้เป็นของขวัญ
A teapot given as present at Laoshe Teahouse.

(น. 64) คนมาเสิร์ฟน้ำชา และมีขนมต่างๆ เป็นเครื่องขบเคี้ยว เช่น เปาะเปี๊ยะ ขนมโก๋ ผลไม้มีสตรอเบอรี่ผลใหญ่ มีหลายอย่างที่อยากจะชิม แต่ว่าเพิ่งรับประทานอาหารเย็นเสร็จมาใหม่ๆ ก็เลยสู้ไม่ไหว ผู้จัดการอธิบายว่า ร้านน้ำชาแห่งนี้เป็นที่ส่งเสริมศิลปะการแสดงพื้นบ้านของจีน


(น. 65) รูป 46 รับประทานขนมระหว่างดูการแสดง
Tea and desserts were served during the performances.

(น. 65) มีคนออกมาประกาศการแสดง มีเพลงฝนต้องใบกล้วยยามเช้าที่ปักกิ่ง เครื่องดนตรีเป็นแบบจีนโบราณจำพวก ขิม ผีผา ซอหูฉิน ฯลฯ มีระฆังชุดแบบโบราณ มีงิ้วปักกิ่งสั้นๆ จากเรื่อง ซ้องกั๋ง ตอนหลี่ขุยเยี่ยมมารดา และเปาบุ้นจิ้นโกรธ ร้องประกอบการแสดงงิ้วแบบเหล่าเซิงหรือพระเอกแก่ ต่อไปเป็นงิ้วปักกิ่งตอนฌ้อปาอ๋องลามเหสี ผู้จัดการบอกว่าตัวเขาเคยแสดงบทบาทนี้ ในเรื่องมเหสีฆ่าตัวตาย ต่อด้วยกายกรรมหมุนร่ม ที่น่าสนุกคือ การแสดงที่เรียกว่าหยังโข่วลิ่ง คือ นักแสดงจะออกมาพูดพลางขยับกรับพลาง เพื่อให้เป็นจังหวะ คำพูดจะมีเสียงคล้องจอง กลับไปกลับมา ถ้าไม่ชำนาญลิ้นจะพันกัน

Next >>