Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2542 "

(น. 68) วันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2542
เช้าวันนี้ (08.30 น.) ไปมหาวิทยาลัยปักกิ่ง อธิการบดี (ศาสตราจารย์เฉิน) กล่าวต้อนรับว่า ข้าพเจ้าได้มาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว เป็นมิตรเก่าที่คนจีนคุ้นเคย และแนะนำบุคคลต่างๆ ที่มาร่วมรับรอง มีรองอธิการบดีซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศ ศาสตราจารย์จังเยี่ยนชิว ที่เคยสอนภาษาจีนข้าพเจ้า เป็นศาสตราจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นมีคณบดีการศึกษาโพ้นทะเล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา รวมทั้งหัวหน้าแผนกเอเชียและแอฟริกาของกองวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย ท่านอธิการบดีเองเป็นนักฟิสิกส์ทางด้านปรมาณู (particle acceleration) ท่านว่าเครื่องมือที่มหาวิทยาลัยนั้นมีแต่ขนาดเล็ก ข้าพเจ้าถามถึงการฉลองมหาวิทยาลัยปักกิ่งครบรอบร้อยปี อธิการบดีบอกว่า งานนี้ประสบความสำเร็จดี ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินเอาใจใส่เป็นพิเศษมาร่วมงามด้วย จัดงานฉลองที่มหาศาลาประชาชน มีศิษย์เก่ามากันประมาณเจ็ดแปดหมื่นคน สิ่งที่สำคัญคือการจัดสัมมนาทางวิชาการหลายครั้ง ได้เชิญอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยมีชื่อในโลก 90 กว่าคน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยในประเทศประมาณร้อยกว่าคน หัวข้อสัมมนาคือ การพัฒนาการอุดมศึกษาสู่ศตวรรษที่ 21 และยังได้จัดให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจีน


(น. 69) รูป 49 อธิการบดีมอบหนังสือ
The Chancellor giving me some books.

(น. 69) ศึกษาจากหลายประเทศมาประชุมกันด้วย เรื่องวิวัฒนาการและการพัฒนาจัดการวัฒนธรรมจีนสู่ศตวรรษที่ 21 การที่จัดพิธีฉลองได้ใหญ่โตเพราะเหตุผล 2 ประการ 1. รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจูหรงจีจะสร้างสรรค์ประเทศให้ก้าวหน้าด้วยการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุดมศึกษา เพื่อให้เป็นแกนนำในการสร้างองค์ความรู้พัฒนาประเทศชาติ
2. ตลอดร้อยปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยปักกิ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชของประชาชาติจีน

(น. 70) ส่วนสำคัญของการฉลองคือสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินที่ว่า จีนจะต้องเน้นการพัฒนาอุดมศึกษามหาวิทยาลัยต้องเป็นพลังสำคัญในการสร้างสรรค์ประเทศ จีนพยายามสร้างมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศให้ได้มาตรฐานเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ความหวังเช่นนี้ยังห่างไกลจากความเป็นจริง ทุกคนพยายามทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ประธานาธิบดีตั้งไว้ มหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติหน้าที่เสมือนสะพานที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนวิชาการระหว่างประเทศ ข้าพเจ้าถามถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยปักกิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจะพัฒนาประเทศสู่ศตวรรษใหม่ อธิการบดีตอบว่าในด้านเศรษฐกิจมีส่วนร่วมคิดเรื่องการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ได้ศึกษาปัญหาวิกฤติการณ์ทางด้านการเงินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นบทเรียนในการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ถามถึงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อธิการบดีตอบว่าได้ติดต่อกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศถึง 150 แห่ง มีนักศึกษาต่างประเทศมาเรียนทั้งในระยะยาวและระยะสั้นรวมแล้ว 2,000 กว่าคน มีนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเรียนระยะสั้น มีการศึกษาวิชาเกี่ยวกับประเทศต่างๆ เช่น ไทยคดีศึกษา การศึกษาปัญหาเกี่ยวกับอเมริกาและญี่ปุ่น มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์และจัดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ถึง

(น. 71) ปริญญาเอกร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ Kelloggs School ของ Northwestern University ส่วนบริษัทที่สนับสนุนการศึกษาทางด้านวิศวกรรมก็มีหลายแห่ง เช่น Motorolla และ IBM พวกนักศึกษาจากต่างประเทศที่มาเรียนส่วนใหญ่จะมาเรียนด้านภาษาจีน วรรณคดีจีน เศรษฐศาสตร์ และกฎหมาย ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิศวกรรมมีน้อย จากนั้นเดินไปที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะและโบราณคดีอาเธอร์ เอ็ม. แซคเกลอร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Arthur M. Sackler Museum of Art and Archaeology at Peking University) ระหว่างเดินข้าพเจ้าเล่าให้อธิการบดีฟังว่าเคยไปที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและอยู่ที่บ้านอธิการบดี ดร. แคสเปอร์ ซึ่งเล่าให้ฟังว่ามาร่วมฉลองงานร้อยปีด้วย เมื่อไปถึงหน้าพิพิธภัณฑ์ อธิการบดีขอตัวว่ามีแขกมาอีกคณะหนึ่ง ขอให้รองอธิการบดีอยู่รับรองข้าพเจ้าต่อไป พิพิธภัณฑ์นี้เป็นตึกใหญ่สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1993 เป็นที่เก็บศิลปวัตถุที่อาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้มาจากการขุดค้นหรือมีผู้บริจาค เราไม่มีเวลาดูครบทั้งหมด


(น. 71) รูป 50 กระดูกมนุษย์โบราณ
Display of ancient human skulls and bones.


(น. 72) รูป 51 วัฒนธรรมหินใหม่
Potteries of Neolithic Culture.


รูป 52 เครื่องปั้นดินเผา
Earthenwares.

(น. 72)
1. ห้องแรก แสดงโบราณวัตถุที่อาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดีของมหาวิทยาลัยขุดค้นในการศึกษาภาคปฏิบัติที่เขาจินหนิว มณฑลเหลียวหนิง เรียกว่า วัฒนธรรมหงซาน พบซากโครงกระดูกคนและสัตว์ต่างๆ อายุประมาณ 280,000 ปี
2. วัฒนธรรมยุคหินใหม่ พบเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับหินขัดของไทย แต่จะใช้ทำอะไรเราก็ไม่ทราบ พบกระดูกที่ใช้ในการเสี่ยงทาย (ตรงทางเดินมีแจกันใบใหญ่ปากกว้างที่มีตัวอักษรจีนเขียนไว้)
3. วัฒนธรรมยุคหินใหม่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน (Neolithic in North West China) ลุ่มแม่น้ำฉังเจียง แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ หม้อต่างๆ ที่ใช้ในพิธีกรรม
4. วัฒนธรรมหินใหม่ในมณฑลซานตง (Neolithic in Shandong) มีภาชนะ 3 ขา และถ้วยเหล้าดินเผาทำได้บางมาก ความสูง 20 เซนติเมตร หนักเพียง 40 กรัมเท่านั้น ทำเมื่อ 2,500-200 ปีก่อนคริสตกาล


(น. 73) รูป 53 เครื่องสำริด
Bronze artefacts.


รูป 54 กระเบื้องเชิงชาย (ขวา) คันฉ่อง, หัวหอก (ซ้าย)
Eave tiles on the right, mirrors and spearheads on the left.

(น. 73)
5. วัฒนธรรมเอ้อร์หลิงโถวและก่อนราชวงศ์ซาง (Erlingtou and Proto Shang) เป็นเครื่องปั้นดินเผาสีดำ เครื่องสำริดขนาดกลางและเล็ก
6. เครื่องปั้นดินเผาสมัยจั้นกั๋ว (เลียดก๊ก) สิ่งของต่างๆ ที่จัดแสดงมีอาทิ เงินตราโบราณสมัยชุนชิวและจั้นกั๋วเป็นสมัยที่จีนแบ่งเป็นก๊กหรือแคว้นต่างๆ แต่ละก๊กมีเงินตราของตนเอง มีลักษณะต่างๆ เงินตราของบางก๊กมีลักษณะคล้ายดาบ บางก๊กมีลักษณะคล้ายจอบ บางก๊กเป็นรูปกลม ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฉิน (ก่อน ค.ศ. 221 – ก่อน ค.ศ. 206) เมื่อฉินสื่อหวงตี้หรือจิ๋นซีฮ่องเต้รวมประเทศได้แล้ว ให้ใช้รูปกลมอย่างเดียว ของสมัยนี้มีกระเบื้องเชิงชาย คันฉ่อง หัวหอกซึ่งผ่านมา 2,000 ปีก็ยังคม เครื่องสำริดที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ


(น. 74) รูป 55 เครื่องปั้นดินเผารูปตุ๊กตาพาหนะที่ใส่ในหลุมศพ
Earthen figures buried in the grave.

(น. 74) 7. การขุดค้นสุสานที่เทียนหม่าชวน (Tian Ma Chuan 771 B.C. – 11 B.C.) ในแคว้นฉินหรือจิ๋น พบสุสานโบราณ 10 กว่าแห่ง มีข้าวของฝังไว้มาก ทั้งเครื่องประดับหยก เกราะหยกสำหรับคนตาย เครื่องสำริดเป็นภาชนะใส่เหล้า
8. เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 8) มีเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปเครื่องใช้ประจำวันของคนตาย แต่ก่อนเคยมีธรรมเนียมพิธีศพของผู้มีอำนาจจะต้องฝังข้าทาสบริวารลงไปด้วย เป็นการฝังทั้งเป็น แต่ในสมัยราชวงศ์ฉินมีการเปลี่ยนประเพณีเป็นการใช้ตุ๊กตาฝังลงไปแทน และได้ปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยหลัง มีอาคารบ้านเรือนจำลองของผู้คน ทำเป็นเรือน มีเล้าหมู (มีห้องสุขาอยู่มุมเล้าหมู) คอกแพะ ยุ้งข้าว บ่อน้ำ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ครกกระเดื่อง

(น. 75)

9. ศิลปะสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 317 – ค.ศ. 589) และราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – ค.ศ. 907) มีเครื่องปั้นดินเผารูปรถจำลอง กองทหารดินเผา เป็นตุ๊กตาขนาดเล็กของราชวงศ์ฉีเหนือ (Northern Qi ค.ศ. 550 – ค.ศ. 577) พบในสุสานที่เมืองหวังหัง (Wang hang) มณฑลเหอเป่ย รูปปั้นดินเผาของบุคคลต่างๆ ในสมัยราชวงศ์ถัง รูปอูฐ ภาพชาวต่างชาติ รูปม้า รูปทหารขี่ม้า รูปทำด้วยเครื่องเคลือบสามสีสมัยราชวงศ์ถัง เข้าใจว่าเป็นของที่สำหรับใส่กับศพอีกตามเคย ทางมหาวิทยาลัยจะทำวิจัยเรื่องราชวงศ์ถังทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม

Next >>