<< Back
" เจียงหนานแสนงาม วันพุธที่ 7 เมษายน 2542 "
(น. 141) วันพุธที่ 7 เมษายน 2542
เช้านี้ผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซูสั่งขนมชนิดหนึ่งเป็นแป้ง ทำเป็นลูกกลมๆ คลุกงา คุยกันเรื่องเหตุการณ์สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในตอนนี้คือ ท่านนายกรัฐมนตรีจูหรงจีเยือนสหรัฐอเมริกา
เยือนตอนนี้ค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากมีเรื่องโคโซโวเป็นจุดสนใจของสหรัฐอเมริกา และยังมีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสองประเทศ เช่น เรื่องที่สหรัฐอเมริกาประณามจีนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และเรื่องที่กล่าวหาว่าจีนจารกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา
หลังอาหารเข้า ไปมหาวิทยาลัยนานกิง อธิการบดียืนรับอยู่หน้าอาคารหรูซิงโหลว ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานสมาคมนิสิตเก่า ไปที่ห้องรับแขก อธิการบดีแนะนำผู้ที่มาร่วมต้อนรับ
ตัวท่านเองเป็นศาสตราจารย์ทางด้านฟิสิกส์ ส่วนรองอธิบดีเป็นศาสตราจารย์ทางด้านธรณีวิทยา นอกจากนั้น มีผู้อำนวยการฝ่ายจีนของ Hopkins-Nanjing Center ผู้อำนวยการฝ่ายอเมริกันของศูนย์นี้ และฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย
อธิการบดีกล่าวต้อนรับ และเล่าว่ามหาวิทยาลัยนี้ตั้งมาแล้ว 97 ปี ใน ค.ศ. 2002 ก็จะครบ 100 ปี ปัจจุบันมีนักศึกษาประจำ 13,000 คน นักศึกษา part-time 6,000 กว่าคน คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ 4,300 กว่าคน
(น. 142) รูป 116 มหาวิทยาลัยหนานจิง
At Nanjing University.
(น. 142) ก่อน ค.ศ. 1994 มหาวิทยาลัยแบ่งเป็นสองส่วนคือ มหาวิทยาลัยส่วนกลาง และมหาวิทยาลัยจินหลิง ทั้งสองส่วนมีพื้นฐานทางวิชาการที่มั่นคง มารวมกันเป็นมหาวิทยาลัยนานกิงทุกวันนี้
ปัจจุบันมีสถาบัน 14 แห่ง คณะวิชา 36 คณะครอบคลุมวิชาการสาขาต่างๆ ตั้งแต่เกษตรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และอื่นๆ ส่วนที่ได้เปรียบ
คือ มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซู ซึ่งมีทรัพยากรมนุษย์ดี ระดับการศึกษาจึงสูงกว่าที่อื่นๆ ในประเทศจีน ทำให้มหาวิทยาลัยนี้อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ มหาวิทยาลัยยังมี
(น. 143) อาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับชาติ และมีห้องทดลองระดับชาติอีก 10 ห้องด้วย ห้องทดลองเหล่านี้มีประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยพื้นฐานที่นี่ก้าวหน้ามาก
มีชื่อเสียงติดอันดับของประเทศต่อเนื่องกันถึง 6 ปีแล้ว มีการพิมพ์วิทยานิพนธ์และรายงานการวิจัยเผยแพร่ทั้งในและนอกประเทศ จึงมีบทบาทด้านการอุดมศึกษาระหว่างประเทศด้วย อนึ่ง รายงานและวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยนั้นใช้อ้างอิงในวงวิชาการททั้งในและนอกประเทศจนติดอันดับหนึ่งต่อกัน 4 ปี
มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานพิเศษ เช่น Hopkins-Nanjing Center เป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ของสหรัฐอเมริกา ตั้งมา 13 ปีแล้ว รับนักศึกษาปีละ 100 คน ผลิตบัณฑิตแล้วกว่า 1,000 คน ออกไปทำงานตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา จีน ไต้หวัน และฮ่องกง
อดีตอธิการบดีได้เริ่มโครงการทำหนังสือประวัตินักคิดจีน หนังสือชุดนี้ถ้าทำเสร็จจะมี 200 เล่ม แต่ละเล่มจะแนะนำนักคิดแต่ละคน เริ่มตั้งแต่ขงจื๊อไปจนถึงซุนยัดเซ็น ดำเนินการไปแล้วได้ครึ่งหนึ่งคือประมาณ 100 เล่ม เดือนพฤษภาคมจะแถลงข่าวเรื่องนี้ที่ฮ่องกง
มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญทางด้านการวิจัย จึงเป็นที่น่าสนใจของวงการศึกษาต่างประเทศ มีการติดต่อกับหน่วยงานในมหาวิทยาลัยต่างประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ยังมีวิทยาเขตใหม่อยู่ทางเหนือของแม่น้ำแยงซี มีนักศึกษา 5,000 คน
(น. 144) ข้าพเจ้าขอบคุณอธิการบดีและคณะที่มาต้อนรับ การมาครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักมหาวิทยาลัยในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอีกแห่ง หนึ่ง มหาวิทยาลัยทั้งของไทยและของจีนต้องพัฒนาอย่างมากเพื่อเป็นแกนนำการพัฒนาบ้านเมืองต่อไป
เมื่อคืนท่านผู้ว่าราชการมณฑลเล่าความเป็นมาของมณฑลว่า มีความเจริญรวดเร็ว ผู้คนมีฐานะดีแต่ก็ยังมีบางส่วนที่เป็นปัญหา การแก้ไขก็ต้องให้มหาวิทยาลัยช่วยคิดแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ เพื่อให้สามารถช่วยตนเองได้
มีความเจริญก้าวหน้า มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ติดต่อกับประชาชนผู้อยู่ในวัฒนธรรมเดิม และติดต่อกับประเทศต่างๆ ในโลก เพื่อเรียนรู้ถึงมาตรฐาน ความเป็นไปในประชาคมระหว่างประเทศ และการเรียนรู้เทคโนโลยีนานา แล้วประสานกันเพื่อให้เกิดความสุขความเจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน
อธิการบดีกล่าวว่า ที่กล่าวมานี้นับว่าสำคัญมาก แม้ว่ามหาวิทยาลัยนี้ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง แต่ก็ตระหนักว่าจำเป็นต้องถือการพัฒนาท้องถิ่นเป็นสำคัญ รัฐบาลท้องถิ่นช่วยสนับสนุนมหาวิทยาลัยมาตลอด นอกจากต้องผลิตนักศึกษาให้มีคุณภาพแล้ว
ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จะต้องช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลเจียงซูด้วย มหาวิทยาลัยร่วมมือกับมณฑลจัดตั้งวิสาหกิจที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงหลายแห่ง นักศึกษาที่รับเข้ามาเป็นชาวมณฑลนี้ร้อยละ 65 จะพยายามผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพมากขึ้น
และหวังว่าผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์จะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑล มหาวิทยาลัยยังมีสถาบันการศึกษาโพ้นทะเลด้วย สถาบันนี้ต่างจาก Hopkins-Nanjing Center เพราะรับนักศึกษา
(น. 145) ต่างประเทศเข้าเรียนด้านกฎหมาย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รัฐศาสตร์ ปรัชญา และศาสนา มีส่วนน้อยที่เรียนทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยจะยินดีถ้าประเทศไทยส่งนักศึกษามาเรียนที่นี่บ้าง จะได้มีส่วนทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น
ข้าพเจ้าถามว่า มหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับฝ่ายอุตสาหกรรมอย่างไรบ้าง
อธิการบดีกล่าวว่าเป็นคำถามที่ดี และเล่าว่าแต่ก่อนมหาวิทยาลัยเน้นแต่เรื่องการวิจัยพื้นฐาน ภายหลังเห็นว่าจะต้องผลิตบุคลากรสำหรับเข้าทำงานได้จริง จึงทำวิจัยประยุกต์มากขึ้น ความสัมพันธ์กับฝ่ายอุตสาหกรรมมีหลายแบบ คือ
1. รับโครงการวิจัยมาทำ ทางฝ่ายอุตสาหกรรมให้ทุนค้นคว้าวิจัย
2. ถ่ายโอนผลงานค้นคว้าของมหาวิทยาลัยเองให้ฝ่ายอุตสาหกรรม
3. ผลิตบุคลากรให้ฝ่ายอุตสาหกรรมตามที่ขอมา
4. ร่วมมือกับฝ่ายอุตสาหกรรมตั้งวิสาหกิจที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมมือกับหน่วยงานของมณฑลตั้งบริษัท SOFT ขึ้น เพื่อช่วยพัฒนา software ของมณฑล หวังว่าจะเป็นวิสาหกิจที่สำคัญทางด้านสารสนเทศของมณฑลต่อไป
ที่จริงถ้าจะสนทนาต่อไปก็คงจะได้ แต่จะเสียกำหนดการไปหมด ข้าพเจ้าจึงบอกว่าไม่มีเรื่องอะไรพูดแล้ว ท่านอธิการบดีบอกว่าพอดีท่านติดงาน จะให้ท่านรองอธิการบดีเป็นผู้ตามข้าพเจ้าไป Hopkins-Nanjing Center
(น. 146) ไปถึงที่ศูนย์ เข้าไปที่ห้องประชุม ผู้อำนวยการฝ่ายอเมริกันกล่าวแนะนำข้าพเจ้า และให้ข้าพเจ้าออกมาบรรยายเลย ข้าพเจ้าพูดเป็นภาษาจีนก่อนในตอนกล่าวนำว่า มีความยินดีที่ได้มาศูนย์วิจัยนี้ ข้าพเจ้าสนใจการค้นคว้าวิจัยวัฒนธรรมจีน-อเมริกันของศูนย์
จึงอยากมาศึกษาวิธีการบริหารงานและการค้นคว้าวิจัย ผู้อำนวยการ Elizabeth Knup ได้ขอให้มาบรรยาย ข้าพเจ้าก็จะเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับจีน แต่จะขอพูดเป็นภาษาอังกฤษ
การบรรยายมีเนื้อหาโดยสรุปว่า จีนและไทยได้ติดต่อค้าขายกันมานานแล้ว เท่าที่มีหลักฐานแน่ชัดคือ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 คนจีนที่เดินทางมาเมืองไทยมีทั้งพ่อค้าและผู้ใช้แรงงาน เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองของไทย
นอกจากการแลกเปลี่ยนทางการค้าและการได้ทรัพยากรมนุษย์จากการอพยพเข้ามาของคนจีนแล้ว อิทธิพลของศิลปะและเทคโนโลยีจีนก็มีอยู่ เชื่อกันว่าการทำชามสังคโลกของสุโขทัยก็ได้รับเทคโนโลยีจากจีนสมัยราชวงศ์หยวน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมในบางสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยรัชกาลที่ 3 ได้รับอิทธิพลจีนด้านเครื่องบนอาคาร รัชกาลที่ 3 ทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำให้การค้าสำเภาไทย-จีนเฟื่องฟูที่สุด นอกจากนั้นภาพจิตรกรรมฝาผนังก็มักมีรูปคนจีนหรืออิทธิพลของศิลปะจีนเช่นกัน
ลวดลายมังกรเป็นลวดลายที่เราได้จากจีน ในด้านการแสดงคนไทยก็ชอบดูงิ้ว บางครั้งงิ้วร้องเป็นภาษาไทยเสียด้วยซ้ำ ในชุมชนจีนยังมีการเล่นดนตรีจีนในพิธีทางศาสนาหรือเล่นประกอบการแสดงงิ้ว ครูเพลงไทยหลายท่านแต่งเพลงไทยสำเนียงจีน
(น. 147) รูป 117 ระหว่างการบรรยายและตอบคำถาม
Student asking questions during the lecture.
(น. 147) ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีผู้แปลพงศาวดารและนวนิยายจีนเป็นภาษาไทย เรื่องที่รู้จักกันดีที่สุดคือเรื่องสามก๊กซึ่งถือกันว่าฉบับแปลภาษาไทยนี้เป็นวรรณคดีร้อยแก้วที่ไพเราะที่สุดเล่มหนึ่ง คนไทยชอบอ่านนวนิยายจีนแปลไทยมาก ชอบให้เด็กใช้หัดอ่าน ปัจจุบันนี้คนไทยอาจชอบดูภาพยนตร์จีนกำลังภายในจากโทรทัศน์มากกว่า
สมัยที่พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าพาณิชย์ที่รุ่งโรจน์ มีพ่อค้าและหมอสอนศาสนาจากประเทศต่างๆ ในเอเชียและยุโรปมาพักอยู่ในกรุง ตั้งเป็นหมู่บ้าน
(น. 148) เช่น หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านดัตช์ และหมู่บ้านญี่ปุ่น แต่ไม่มีหมู่บ้านจีนเพราะคนจีนที่เข้ามามักอยู่ร่วมกับคนไทยได้อย่างสมานฉันท์ แต่งงานกับคนไทย และบ้างก็เข้ารับราชการเป็นขุนนางไทย
ชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในไทยส่วนมากมาจากมณฑลกวางตุ้ง (ชาวจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง และจีนแคะบางส่วน) นอกจากนั้นมีที่มาจากมณฑลฮกเกี้ยน (ชาวจีนฮกเกี้ยน) ในขณะที่บางส่วนมาจากภูมิภาคปกครองตนเองกวางสี (ชาวจีนแคะ) และเกาะไหหลำ (ชาวจีนไหหลำ)
สมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งเริ่มต้นใน ค.ศ. 1782 นั้นมีชาวจีนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ชาวจีนเหล่านี้มีบทบาททั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยทุกระดับ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ชาวจีนยังได้นำความรู้ด้านการเกษตร การทำน้ำตาลทราย การทำเหมืองแร่ การทำอาหาร และพุทธศาสนามหายานมาเผยแพร่
คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคม สถานการณ์ดังกล่าวนี้มีผลกระทบต่อการค้าอย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับจีน แต่ความสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมในภาคเอกชนยังดำเนินต่อไป
จักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคมเป็นบ่อเกิดของขบวนการปฏิวัติทางการเมือง การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล
ชาวจีนในประเทศไทยบางกลุ่มเริ่มประกอบกิจกรรมทางการเมืองเพื่อบ้านเกิด พวกเขาส่งเงินไปช่วยขบวนการชาตินิยมต่างๆ ในประเทศจีน แม้เมื่อไม่มีเรื่องทางการเมือง ชาวจีน
(น. 149) ในประเทศไทยก็มักส่งเงินไปช่วยครอบครัวของตน หรือทำสาธารณประโยชน์อื่นๆ เช่น สร้างโรงเรียนในชุมชนบ้านเกิด กิจกรรมเช่นนี้ยังถือปฏิบัติกันต่อมาจนทุกวันนี้ นับเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดี
การที่ชาวจีนโพ้นทะเลเริ่มเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไทยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ต้องเพิ่มความระมัดระวังในด้านนโยบายการรับและปกครองชาวจีนอพยพ เพื่อให้คนจีนที่เข้ามาสามารถอยู่อย่างสันติและสุขสบายในสังคมไทย
มีข้อน่าสังเกตว่า การอพยพของชาวจีนเข้ามาในไทยนั้นได้ดำเนินต่อเนื่องกันมาจากต้นรัตนโกสินทร์มาถึงช่วงระยะแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงยุติลงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในประเทศจีนและในประเทศไทย รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองในสังคมโลก
“สงครามร้อน” ที่สิ้นสุดลงตามมาด้วยสงครามเย็นซึ่งหมายถึง การต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน สงครามเย็นทำให้จีนและไทยต้องห่างเหินกันไป แต่แม้ว่าจะมีอุปสรรคดังกล่าว ตอนเด็กๆ ข้าพเจ้ายังใช้ปากกาและดินสอที่ทำจากเมืองจีน รวมทั้งรับประทานขนมซานจาหรือเซียงจาจากจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย
การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1975 เปลี่ยนแปลงภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง ประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างเปิดเผยและเสรี
(น. 150) ตอนที่ไปเมืองจีนครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1981 นั้น ข้าพเจ้าได้เรียนภาษาจีนมาบ้างแล้ว ขณะนั้นฝ่ายจีนและฝ่ายไทยมีการเยือนในระดับสูงหลายครั้ง ฝ่ายๆไทยมีนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ (ค.ศ. 1975)
นายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ (ค.ศ. 1978) ประธานรัฐสภาหะริน (ค.ศ. 1979) และนายกรัฐมนตรีเปรม (ค.ศ. 1980) ฝ่ายจีนมีท่านเติ้งเสี่ยวผิง (ค.ศ. 1978) มาดามเติ้งอิ่งเชา (ค.ศ. 1980)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหวังหวา (ค.ศ. 1980) นายกรัฐมนตรีเจ้าจื่อหยัง (มกราคม ค.ศ. 1981)
หลังจาก ค.ศ. 1981 ข้าพเจ้ายังคงเรียนภาษาจีนกับครูที่สถานทูตจีนจัดให้ แต่ไม่ได้มีโอกาสเยือนจีนอีกเลยจนเก้าปีภายหลัง ได้เดินทางไปตามเส้นทางแพรไหมใน ค.ศ. 1990 หลังจากนั้นได้เยือนจีนสม่ำเสมอทุกปี ได้ไปหลายแห่ง
เช่น ทางภาคอีสาน เดินทางล่องเรือตามแม่น้ำฉังเจียง เพื่อเยี่ยมชมโตรกเขาซานเสีย ไปเมืองต่างๆ ในมณฑลยูนนาน ไปมณฑลกวางตุ้งระหว่างการไปชมฮ่องกงคืนสู่จีน
การเยือนจีนทุกครั้งช่วยให้ข้าพเจ้ามีความรู้มากและลึกขึ้นเกี่ยวกับประเทศจีน และเป็นแรงกระตุ้นให้ค้นคว้าเรียนรู้ต่อไป เพราะจีนเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ทั้งทางกายภาพและวัฒนธรรม ข้าพเจ้าต้องการเพิ่มพูนความรู้และสนทนากับนักวิชาการจีน
ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าเยือนจีน กลับบ้านแล้วจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง และข้าพเจ้ายังได้แปลนวนิยายจีน ได้แก่ เรื่องผีเสื้อ (หูเตี๋ย) ของหวังเหมิง เกี่ยวกับชีวิตของนักปฏิวัติคนหนึ่งหลังการปลดแอกจนถึงช่วงสี่ทันสมัย เน้นให้เห็นชีวิตในช่วงการปฏิวัติ
(น. 151) เรื่องเมฆเหินน้ำไหล (สิงอวิ๋นหลิวสุ่ย) ของฟังฟัง เล่าชีวิตของอาจารย์มหาวิทยาลัยในช่วงสี่ทันสมัย
นอกจากนั้นยังได้แปลบทกวีจีนประกอบด้วยซือราชวงศ์ถังและฉือสมัยราชวงศ์ซ่ง รวม 34 บท หนังสือเล่มนี้ใช้เป็นหนังสือประกอบการเรียนภาษาจีนของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย 2 แห่ง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)
ข้าพเจ้าใคร่ที่จะจบคำบรรยายด้วยพระนิพนธ์ตอนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีมหาดไทยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และยังทรงเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของไทย ทรงเขียนไว้ว่า
... ความจริงบุคคลต่างชาติกันจะมีชาติใดที่รักชอบกันยืดยาวมายิ่งกว่าไทยกับจีนนี้ไม่เห็นมี ด้วยไม่เคยเป็นศัตรูกัน เคยแต่ไปมาค้าขายแลกผลประโยชน์ต่อกันมาได้หลายร้อยปี ความรู้สึกทั้งสองชาติจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาแต่โบราณจนตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งควรจะหวังว่าจะเป็นอย่างเดียวกันต่อไปในวันหน้า...
ความหวังของพระองค์ท่านได้บรรลุความเป็นจริงแล้ว มิตรภาพระหว่างไทยกับจีนสถาพรยืนนาน
เมื่อข้าพเจ้ากล่าวจบแล้ว ผู้อำนวยการ Knup ขอให้ข้าพเจ้าตอบคำถามสามสี่คำถาม ทางจีนก็บอกว่าหมดเวลาแล้ว ที่จริงข้าพเจ้าน่าจะเป็นฝ่ายได้ถามคำถามบ้าง อีกประการหนึ่งเมื่อดูสูจิบัตรแล้วถึงได้ทราบว่า ที่เขาให้ข้าพเจ้าพูดนั้นไม่เป็นแต่คำปราศรัยที่ได้มาเยี่ยมศูนย์ หากแต่เป็นปาฐกถาประจำปี (Annual
(น. 152) Lecture Series) ชื่อว่า The Clyde Wu Colloquia 1998 – 1999 A Forum on International Relations Clyde Wu เป็นแพทยศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins (ค.ศ. 1952) ที่ได้สนับสนุนงานของศูนย์นี้เสมอมา
เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ได้มีโอกาสที่จะได้สนทนากับอาจารย์และนักศึกษาที่ศูนย์อย่างที่ตั้งใจไว้ จึงใคร่จะเขียนเกี่ยวกับศูนย์นี้อย่างย่อๆ ตามเอกสารที่ได้รับคือ Hopkins-Nanjing for Chinese and American Studies
มีหลักสูตร 1 ปี ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ละปีมีนักศึกษาจีนเข้าเรียนประมาณ 40 คน และมีนักเรียนนานาชาติอีกประมาณ 50 คน นักศึกษาจีนเรียนเป็นภาษาอังกฤษกับอาจารย์ชาวอเมริกัน
ส่วนนักศึกษาต่างประเทศเรียนเป็นภาษาจีนกับอาจารย์ชาวจีน มีการสอนภาษาจีนขั้นสูงให้ด้วย นักศึกษาทั้งที่เป็นคนจีนและที่เป็นชาวต่างชาติอยู่รวมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ใช้บริการต่างๆ ร่วมกัน
สิ่งที่เขาภาคภูมิใจคือ บริการห้องสมุดที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ครบครัน มีหนังสือมากมายที่นักศึกษาและอาจารย์เข้ามาใช้บริการได้ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืน เขามีข้อแนะนำและคำเตือนเกี่ยวกับการดื่มสุราและเรื่องยาเสพติดว่าเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพและผิดกฎหมาย
ในศูนย์ห้ามสูบบุหรี่ นโยบายเกี่ยวกับนักศึกษาที่มีครอบครัวนั้น คนไหนที่อยากอยู่กับครอบครัวก็ต้องอยู่นอกศูนย์ เพราะที่นี่มีนโยบายให้แต่เฉพาะนักศึกษาอยู่ด้วยกัน
(น. 153) รูป 118 มหาวิทยาลัยโหไห่
Hohai University.
(น. 153) จากมหาวิทยาลัยนานกิงเราเดินทางต่อไปที่มหาวิทยาลัยโหไห่ อธิการบดีและรองอธิการบดีมาต้อนรับ
มหาวิทยาลัยโหไห่ (เหอไห่) เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเฉพาะด้านวิศวกรรม แต่ก็สอนให้นักเรียนมีความรู้ทางสาขาวิชาอื่นๆ ด้วย เช่น ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ การบริหาร
มีนักศึกษาประมาณ 13,000 คน ได้รับพิจารณาให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน 100 แห่งที่จะได้รับการพัฒนาก่อนในศตวรรษหน้า มีโครงการ 211 โครงการ
(น. 154) ประวัติของมหาวิทยาลัยนี้คือ เมื่อ ค.ศ. 1915 ตั้งขึ้นเป็น Hohai Civil Engineering School ต่อมารวมกับมหาวิทยาลัยนานกิง ถึง ค.ศ. 1952
ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากรน้ำของมหาวิทยาลัยสำคัญๆ เช่น มหาวิทยาลัยจินทง มหาวิทยาลัยนานกิง มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ฯลฯ รวมกันเป็น
East China Technical University of Water Resources ใน ค.ศ. 1985 จึงกลับไปใช้ชื่อว่า โหไห่ อย่างเดิม มีลายมือของท่านเติ้งเสี่ยวผิงเขียนชื่อมหาวิทยาลัยให้
มหาวิทยาลัยมีหลายวิทยาเขตเช่นที่ ฉังโจว อูรุมฉี หวงซาน มีที่ฝึกงานในนานกิงที่เถี่ยซิงเฉียว มีวิทยาเขตใหม่ที่อำเภอเจียงหนิง เนื้อที่ 60 เฮกตาร์ มีคณะวิชาต่างๆ ได้แก่
College of Civil Engineering
College of Water Resources
College of Water Conservancy and Hydropower
College of Computer and Informatic Engineering
College of Technical Economics
College of Humanities
Department of Mathematics and Physics
Department of Physical Education
มีห้องปฏิบัติการมากกว่า 60 ห้อง ห้องสมุดมีหนังสือมากกว่าล้านเล่ม มีเครือข่ายอินเตอร์เนตใช้ได้ทั่วมหาวิทยาลัย
(น. 155) รูป 119 อาจารย์อธิบายโครงการวิจัย
Explanation on research projects.
(น. 155) อาจารย์ 1,200 คน เป็นศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์กว่า 600 คน มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก มีนักศึกษาหลังปริญญาเอกด้วย มีนักศึกษาต่างชาติ 50 คน มาจาก 20 ประเทศ
มีผลงานวิจัยทางด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นในจีน และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ มีการจัด training course สำหรับ UNDP, UNESCO, WMO, ESCAP, WORLD BANK จัดสัมมนาและจัดประชุมนานาชาติบ่อยครั้ง
(น. 156) ที่จัดให้ดูเป็นเรื่อง Water Resource Development มีการวิจัยเรื่องทรัพยากรน้ำและอุทกวิทยา เริ่มโครงการสร้างห้องทดลองใน ค.ศ. 1989 เริ่มสร้างใน ค.ศ. 1990 เสร็จใน ค.ศ. 1993 เริ่มงานมาแล้ว 9 ปี ได้ทุนจากธนาคารโลก 495,000 เหรียญสหรัฐ ทุนจากที่อื่นๆ รวม 980,000 เหรียญสหรัฐ
งานวิจัยในแผนกนี้ทำเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ การควบคุมน้ำท่วม เรื่องชลประทาน การพยากรณ์ด้านอุทกวิทยา สิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับน้ำ สภาพชายฝั่ง ปริมาณน้ำฝน ใช้ภาพดาวเทียม NOAA ทำ
Vegetation Index, LANDSAT TM ทำ image processing เข้าระบบ GIS ใช้ซอฟท์แวร์ ERDAS ภาพดาวเทียมสั่งซื้อจากปักกิ่ง ศึกษาค้นคว้าตะกอนริมฝั่งทะเล
ความลึกของทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ โดยใช้ข้อมูลดาวเทียมคำนวณความลึก สร้างเป็นรูปจำลองความสูง (Digital Elevation Model DEM) เปรียบเทียบกับเทคนิคเก่าที่ใช้ลูกดิ่งหรือ sonar วัดความลึกของน้ำ
ที่จริงก็น่าสนใจดี แต่ไม่มีเวลาอีกแล้ว เพราะจะต้องไปพบเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลเจียงซู ที่ทำการของพรรคใหญ่โตกว่าที่ทำการรัฐบาลมณฑลมาก
ท่านเลขาธิการกล่าวต้อนรับ และกล่าวต่อไปว่าข้าพเจ้ามาประเทศจีน 8 ครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ถ้าจะพูดถึงมณฑลเจียงซูของเรานั้นมีคำพูดมาแต่โบราณว่า บนฟ้ามีสวรรค์ บนแผ่นดินมีซูหัง
(หมายถึง ซูโจวในมณฑลเจียงซู และหังโจวในมณฑลเจ้อเจียง) ถึงแม้จะดี แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก ถ้าเป็นสวรรค์ก็คงจะต้องหมายถึงว่า คนมณฑลนี้ซึ่งเป็นคนขยันนั้น มี
(น. 157) รูป 120 พบเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมณฑลเจียงซู
Paying a call on the Secretary General of the Communist Party of Jiangsu.
(น. 157) เมตตา กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อ เรื่องขยันก็ต้องยกตัวอย่างว่าเมื่อสองสามปีก่อนมีการประกวดภาษาอังกฤษที่ลอนดอน คนได้ที่ 1 สมควรจะเป็นคนอังกฤษหรือเมริกัน แต่กลายเป็นนักศึกษาปีที่ 3 มหาวิทยาลัยนานกิง เป็นนักศึกษาหญิงด้วย
ท่านเล่าถึงใครต่อใครที่มาเยือนเจียงซู เช่น อดีตประธานาธิบดีบุช รัฐมนตรีอาวุโสลีกวนยู แล้วกล่าวต่อไปว่าท่านลีเลือกซูโจวเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพราะทางใต้ของมณฑลนี้แรงงานมีฝีมือดี อยู่ในขั้นก้าวหน้า
และเป็นเพราะข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ว่าในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงมณฑลนี้สอบจอหงวนได้มากที่สุดในประเทศจีน จึงแน่ใจได้ว่า ไม่เพียงก้าวหน้าทางการศึกษาและวัฒนธรรมในปัจจุบันเท่านั้น หากแต่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานด้วย
Next >>