Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันเสาร์ที่ 10 เมษายน 2542 "


รูป 190 ผลงานปักชิ้นหนึ่ง
A fine piece.


(น. 266) รูป 191 ร้านขายภาพปักกำลังแสดงภาพที่ด้านหนึ่งเป็นหมา ด้านหนึ่งเป็นลิง
Embroidered picture with a dog on one side and a monkey on the other.

(น. 266) ของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น ผ้าปักสมัยราชวงศ์หมิงเป็นรูปผู้หญิง มีไข่มุกปักไว้ด้วย รูปกวางสมัยราชวงศ์หมิง ผู้ปักเป็นช่างสำนักอาจารย์แซ่กู้ มาจากเซี่ยงไฮ้ (ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเป็นญาติกับอาจารย์กู้หยาจ่งที่เคยสอนภาษาจีนข้าพเจ้าหรือเปล่า อาจารย์กู้มาจากเซี่ยงไฮ้เหมือนกัน) รูปปักเครื่องหมายทางราชการ ถ้าเป็นภาพสัตว์ต่างๆ เช่น สิงโต กิเลน หมายถึงข้าราชการทหาร นกชนิดต่างๆ หมายถึงข้าราชการพลเรือน

(น. 267) ภาพทิวทัศน์เมืองซูโจว มีภาพนกกระเรียน 10 ตัว เป็นภาพปักที่มองได้ทั้ง 2 ด้าน และยังมีภาพนกเฟิ่ง ภาพล่าสัตว์และภาพทิวทัศน์อื่นๆ นอกจากนั้นยังได้แสดงผ้าปักบางชิ้น ที่พวกชาวบ้านเก็บรักษาไว้ เป็นมรดกงานฝีมือศิลปะการปัก ส่วนที่เป็นสถาบันวิจัยการปักผ้าไหม นั้น มีบางท่านว่าไม่เห็นจะวิจัยอะไร เหมือนเป็นโรงงานเฉยๆ แต่ในความเห็นของข้าพเจ้านั้น คำว่า เหยียนจิว หรือ วิจัย นั้น รวมถึงการศึกษาหาวิธีการที่จะรักษาศิลปะนี้ให้คงอยู่ ให้มีการพัฒนาในทางที่งดงามสอดคล้องกับสภาพกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ข้าพเจ้าคิดว่าหัตถกรรมของจีนสวยงามและคุณภาพดียิ่ง แต่ยังขาดเรื่องการออกแบบให้เป็นที่พอใจของคนที่ใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ สถาบันนี้ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1957 มีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ 200 กว่าคน มีทั้งช่างปักและนักออกแบบ ผ้าที่ใช้ปักไหมมีประมาณ 10 ชนิด ไหมที่ใช้ปักก็มีประมาณ 10 ชนิดเช่นกัน นอกจากไหมปักแล้วยังมีด้ายทำจากวัสดุอื่น เช่น ฝ้าย ทั้งที่เส้นหยาบและละเอียด ขนนกยูง เส้นทอง เส้นผม ขนม้า ไนล่อน หรือเส้นใยสังเคราะห์ชนิดต่างๆ

(น. 268) อุปกรณ์ในการปักมีเข็มชนิดต่างๆ ทั้งเข็มเหล็ก เข็มทำด้วยกระดูก เข็มทำด้วยทองแดง สะดึงขึงไม้สี่เหลี่ยม มีอีกแบบคือ ตั้งกี่เหมือนกับทอผ้าจก มีเส้นยืนเส้นพุ่ง เส้นพุ่งนั้นทำไปตัดไป วิธีการปักก็มีหลายอย่างคือ ปักแบบที่ไทยเราเรียกว่า ปักซอยเพื่อให้เส้นไหมเป็นเนื้อเดียวกัน อีกแบบคือ ปักไขว้ไปไขว้มาดูยุ่งๆ แต่มองไกลๆ ก็สวยดี ผู้ปักก็ต้องเป็นศิลปิน ต้องมีความรู้สึกว่าเส้นจะไปทางไหน อย่างที่เขาปักตาแมว ต้องใช้ไหมถึง 18 สี แมวจึงดูมีชีวิตชีวา มีภาพที่ปักแล้วดูได้ 2 ด้าน บางภาพสองด้านไม่เหมือนกัน เช่น ด้านหนึ่งเป็นลิง อีกด้านหนึ่งเป็นหมา บางภาพดูแบบจากภาพสีน้ำมัน บางภาพดูแบบจากภาพถ่าย ภาพพวกนี้มีทั้งที่ราคาไม่แพงนัก เพราะปักไม่ยาก แต่ที่ปักอย่างละเอียดเป็นภาพใหญ่ๆ ราคาเหยียบล้าน ต้องใช้เวลานานในการปักแต่ละภาพ ไปวัดซีหยวน ผ่านแหล่งอุตสาหกรรม วัดนี้ตามประวัติว่าเป็นวัดโบราณ แต่ที่เห็นในปัจจุบันเป็นวัดใหม่ที่สร้างและบูรณะในสมัยจักรพรรดิกวงสู (ค.ศ. 1875 – 1908) แห่งราชวงศ์ชิง ในวิหารเทวราช มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาล ตรงกลางของวิหารมีรูปปั้นพระเมตไตรย ส่วนในมหาวิหาร มีรูปแกะสลักจากไม้ เป็นรูปพระศากยมุนีพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง ด้านหนึ่งเป็นรูปพระอมิตพุทธ


(น. 269) รูป 192 วัดซีหยวน
Xiyuan Temple.

(น. 269) อีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระไภษัชยคุรุ นอกจากนั้นมีพระกัสสปะ พระอานนท์ พระกวนอิมขี่ปลา เจ้าอาวาสเอาพระสูตรที่เขียนเป็นอักษรข่ายซู ลายมืองาม ทั้งชุดมี 81 เล่ม เขาว่าใช้เลือดเขียน ไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่า ข้าพเจ้าถามว่าทำไมจึงต้องใช้เลือดเขียน คำตอบว่าเป็นการแสดงน้ำใจ เพราะพระถังซำจั๋งไปนำพระไตรปิฎกจากอินเดีย ต้องพบกับความยากลำบากมากมาย เป็นธรรมเนียมประหลาด ของในวัดนี้ยังมีพระอรหันต์ 500 อยู่ในตู้ในห้องโถงพระอรหันต์ มีรูปร่างลักษณะท่าทางและอากัปกิริยาต่างๆ กัน รูปที่พิเศษคือ รูปปั้นพระอรหันต์จี้กงที่มีอาการ 3 อย่าง คือมองข้างซ้ายยิ้ม ข้างขวาร้องไห้โฮๆ ตรงกลางทำหน้าพะอืดพะอม

(น. 270) พระพาไปที่สระน้ำ ในสระนี้มีทั้งเต่าและปลา โยนขนมปังไป ปลาขึ้นมากิน อยู่ที่สระสักครู่หนึ่ง แล้วไปเนินเสือ เมื่อไปถึง หู่ชิว หรือ เนินเสือ เห็นมีต้นไม้ดอกไม้ประดับตกแต่งอย่างดี ช่วงนี้เป็นต้นฤดูใบไม้ผลิ ชาวจีนออกมาเที่ยวเล่นกันเรียกว่า ชุนโหยว ตามสวนสาธารณะมักจัดเทศกาลดอกไม้ตกแต่งบริเวณด้วยดอกไม้สีสันสวยงามนานาชนิด เช่น นำเอาดอกคาร์เนชั่นมาปักเป็นรูปกลมๆ เพื่อต้อนรับช่วงแห่งการท่องเที่ยว ความรื่นรมย์ใจ ทางเดินเข้าทำเป็นซุ้มไม้ดอกไม้ใบ เหมือนซุ้มไม้เลื้อยตามแบบสวนฝรั่ง มีกรงนกแขวนนกขุนทองและนกฮว่าเหมย ซึ่งเป็นนกพูดได้ ชาวซูโจวเมื่อพบกันมักพูดว่า แน้แฮ่ (ภาษาจีนกลาง ว่า “หนีเห่า” คือ สวัสดี) นกขุนทองก็จะร้องอย่างนั้นบ้าง เป็นที่สนุกสนาน เขาว่านกฮว่าเหมยเป็นนกที่ร้องเสียงเพราะ แต่ตอนที่ไปไม่ได้ยินเสียงนกนี้เลย


(น. 270) รูป 193 การตกแต่งดอกไม้
Flower decoration.


(น. 271) รูป 194 การตกแต่งดอกไม้
Flower decoration.

(น. 271) หู่ชิว (หู่ = เสือ ชิว = เนินเขา) หรือเนินเสือ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3.5 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของซูโจว ในบริเวณนี้มีบ่อน้ำ สระกระบี่ ลานหินพันคนหรือลานพันคนนั่ง เจดีย์ และสิ่งน่าสนใจอื่นๆ รวมทั้งมีเรื่องเล่าอยู่มากเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ บนเนินเขานี้ เริ่มจากตัวสถานที่เล่ากันว่า เนินเสือเป็นสุสานฝังศพของพระเจ้าเหอหลีว์ (ก่อน ค.ศ. 514 – ก่อน ค.ศ. 496) แห่งแคว้นอู๋ ในสมัยชุนชิว พระเจ้าเหอหลีว์เป็นบิดาของพระเจ้าฟูชา (ก่อน ค.ศ. 496 – ก่อน ค.ศ. 473) ที่มีพระสนมชื่อ นางไซซี เป็นสาวงามเลอลบที่พระเจ้าโกวเจี้ยนแห่งแคว้นเย่ว์ ส่งมาถวายพระเจ้าฟูชา ตามแผนการใช้สาวงามมาล่มเมือง เล่าขานกันว่า หลังจากฝังพระศพพระเจ้าเหอหลีว์ที่เนินนี้ได้ 3 วัน ก็มีเสือไปหมอบบนสุสานที่สร้างเป็นเนิน เลยเรียกที่ตรงนี้ว่า หู่ชิว หรือ เนินเสือ ส่วนบ่อน้ำก็มีเรื่องเล่ากันว่า น้ำในบ่อนี้คนตาบอดดื่มแล้วตาสว่าง แต่ว่าจะกลายเป็นคนโง่ สระกระบี่ ก็มีเรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้นว่า พระเจ้าเหอหลีว์ชมชอบกระบี่ ได้ให้ช่างตีกระบี่ไว้มากหลายพันด้าม เป็นกระบี่ไร้เทียมทาน และเก็บสะสมไว้ที่เนินเสือ


(น. 272) รูป 195 เขาเนินเสือ สระกระบี่
Tiger Hill and Swords Pond.

(น. 272) ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้ ก่อน ค.ศ. 221 – ก่อน ค.ศ. 210) ได้ยินเรื่องเล่าขานนี้ จึงมาสืบเสาะหากระบี่ของพระเจ้าเหอหลีว์ด้วยพระองค์เอง เมื่อมาถึงเนินเสือ พบเสือโคร่งหมอบบนสุสานจึงกระชากกระบี่ออกแทงเสือ แต่แทงไม่ถูก เสือเลยวิ่งหนีหายสาบสูญไปตั้งแต่นั้น ฉินสื่อหวงตี้ค้นหากระบี่ไม่พบ แต่สถานที่ที่ฝังกระบี่นั้นดินได้ถล่มลงมากลายเป็นสระน้ำ จึงได้ชื่อว่า สระกระบี่ น้ำในสระนี้ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ ใครใช้ล้างหน้าจะสวยไม่สร่าง หนุ่มสาวขึ้น 18 ปี


(น. 273) รูป 196 ถ่ายรูปกับเจดีย์ที่เขาเนินเสือ
Photograph taken with the stupa in the background at Tiger Hill.


(น. 274) รูป 197 จดข้อมูล
Noting down information.

(น. 274) ติดกับสระกระบี่มีลานหินเรียกว่า ลานหินพันคน หรือลานพันคนนั่ง (เชียนเหรินสือ หรือ เชียนเหรินจั้ว เชียนเหริน = พันคน สือ = หิน จั้ว = นั่ง) เล่ากันว่าสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317 - 420) ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ พระเต้าเซิงหรือเซิงกง (ค.ศ. 355 – 434) มานั่งเทศนาที่ลานหินนี้ มีคนมาฟังเทศน์นับพันคน จึงเรียกชื่อลานหินตามที่กล่าวมาข้างต้น ท่านเทศน์ได้ดี แม้แต่หินฟังแล้วยังพยักหน้าชอบใจ จึงมีก้อนหินที่เรียกว่า หินพยักหน้า มีหนังสือคู่มือนักท่องเที่ยวเขียนว่าพระเซิงกงเป็นพระสมัยราชวงศ์เหลียง ได้ตรวจสอบหนังสือพุทธศาสนาในจีนบอกว่าเป็นพระในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก

Next >>