Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน 2542 "

(น. 284) วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน 2542
เช้านี้อึ่งบอกว่าทางโรงแรมตกใจว่าเขาอุตส่าห์โทรมาปลุกแล้วทำไมข้าพเจ้าไม่รับโทรศัพท์ ตื่นหรือเปล่าให้ช่วยไปดู ที่จริงข้าพเจ้าลุกไปไหนๆ เสียนานแล้ว รับประทานอาหารเช้าแล้ว ไปสถานีรถไฟ ทางการจีนจัดรถไฟให้ แต่ให้ข้าพเจ้านั่งในห้องพิเศษอยู่สองคนกับท่านทูตจังเหลียน ตอนนี้ไม่ค่อยจะเดือดร้อนแล้วเรื่องนั่งกับคนจีน เพราะข้าพเจ้าพอจะพูดกับเขาเข้าใจแล้ว ท่านทูตจังเหลียนพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ข้าพเจ้าพยายามพูดภาษาจีน ถือว่าเป็นโอกาสฝึก ตอนแรกเขาเปิดเพลงออกลำโพงดังมาก ข้าพเจ้าไม่กล้าว่าเขา แต่ท่านทูตจังเหลียนออกไปจัดการ เพลงก็หยุดไป เดี๋ยวนี้เป็นแฟชั่นว่าทุกคนต้องฟังเพลงดังๆ เมืองไทยก็เหมือนกัน ไปงานที่ไหนก็ทรมานกับเรื่องนี้ รถหยุดที่เมืองคุนซาน ชมทิวทัศน์สองข้างทางรถไฟเห็นไร่นาอุดมสมบูรณ์ดี ช่วงนี้หลังการเก็บเกี่ยวข้าว เขาปลูกผักกวางตุ้ง ผักกาด มีสวนผลไม้บ้าง หยุดที่เซี่ยงไฮ้อีกแห่ง ก่อนจะไปถึงหังโจว ในรถไฟข้าพเจ้าพยายามใช้เวลาเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ ที่จริงก็ยากหน่อย เพราะไม่ได้เขียนมาพักใหญ่แล้ว เล่าให้ท่านทูตจังเหลียนฟังว่า การเขียนเรื่องไปเยือนต่างประเทศ แล้วพิมพ์เผยแพร่นั้น นอกจากจะเป็นการบันทึกเรื่องไว้แล้ว ยังเป็นการหาทุนสำหรับส่งนักเรียนเรียนหนังสือด้วย เรามีปัญหาที่คนยากจนไม่สามารถเรียนระดับสูงได้ ทุกคนต้องช่วยกัน มีคนเอาเงินมาให้

(น. 285) ข้าพเจ้ามาก รวมทั้งช่วยซื้อหนังสือที่พิมพ์ขาย เขาทราบว่าข้าพเจ้าใช้เงินส่วนใหญ่ในการสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษา แสดงว่าเขาเห็นด้วยในการทำกิจกรรมเช่นนี้ เมื่อถึงที่หังโจว รองผู้ว่าราชการมณฑลเจ้อเจียง มาดามเย่ว์หรงเปามารับ มาดามเล่าว่าเมืองหังโจวเป็นเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียง มีประชากร 1,160,000 คน เมืองระดับอำเภอ 7 เมือง ตอนนี้ใช้สถานีรถไฟเก่าไปก่อน กำลังสร้างสถานีรถไฟใหม่ให้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก 4,000 กว่าปีก่อนแถวนี้ยงมีทะเล ต่อมาแม่น้ำทำให้ทรายงอก สองปีมานี้ขยายถนนใหม่ มีบ้านเรือนใหม่ๆ สร้างขึ้นมามาก จีนมีทะเลสาบที่ชื่อว่า ซีหู 25 แห่ง แต่ซีหูที่นี่ถือว่าทิวทัศน์งามที่สุด มีภูเขาล้อมอยู่ 3 ด้าน อีกด้านหนึ่งเป็นเมือง


(น. 285) รูป 202 หังโจว
Upon arrival at the railway station in Hangzhou.

(น. 286) ปัจจุบันมณฑลเจ้อเจียงมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มี GNP เป็นที่ 4 ของประเทศรองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู ซานตง ปัจจุบันพัฒนาการค้าและอุตสาหกรรมมาก ใช้ระบบกลไกตลาดแบบสังคมนิยม มีการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน อุตสาหกรรมที่นี่มีด้านโทรคมนาคมและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก สร้างเครื่องโทรศัพท์มือถือและเพจเจอร์ นอกนั้นมีเวชภัณฑ์ เครื่องจักร รถ รถตู้ รถจักรยานยนต์ เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับน้ำมันบางอย่าง เสื้อผ้า เครื่องไฟฟ้าจำพวกตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ มาดามเองเคยไปเมืองไทยเมื่อ ค.ศ. 1987 เพื่อไปดูการผลิตและได้นำเข้า compressor ตู้เย็นที่ไทยผลิตร่วมกับสหรัฐอเมริกาในนิยมอุตสาหกรรม ข้าพเจ้าถามว่ามีปัญหาเรื่องแรงงานประท้วงบ้างไหม มาดามว่าเคราะห์ดีที่หังโจวเศรษฐกิจดีจึงมีปัญหาน้อย ที่อื่นมีมากกว่า ตอนนี้เริ่มมีปัญหาคนว่างงาน ทางมณฑลมีศูนย์ฝึกอบรมเพื่อให้แรงงานสามารถเข้าทำงานใหม่ มีเบี้ยเลี้ยงให้ 280 หยวน ในช่วงการฝึกอบรม เป็นการประกันสังคม และให้ค่ารักษาพยาบาลในวงเงิน 500 หยวน แต่ถ้าครบ 3 ปียังไม่ได้ทำงาน ก็เลิกกันไป พยายามหาแนวทางหลายอย่างที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ค่าดำรงชีวิตขั้นต่ำ การช่วยเหลือสอดส่องดูแลด้านสวัสดิการสังคม เป็นการสังคมสงเคราะห์ เช่น พยายามดูแลแต่ละครอบครัวสามีภรรยาให้ว่างงานเพียงคนเดียว ไม่ให้ว่างทีเดียวสองคน พยายามสร้างงานใหม่ๆ เช่น งานโรงงาน ธุรกิจการท่องเที่ยว การบริการในภัตตาคาร การส่งเสริมกิจการส่วนตัว เช่น ส่งเสริมให้เปิดร้านค้าหรือกิจการย่อย ลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น

(น. 287) รถแล่นเลียบทะเลสาบซีหู มองแล้วเป็นทิวทัศน์ที่ข้าพเจ้าชอบมาก ด้านหนึ่งเป็นป่าเขา ด้านที่เป็นทะเลสาบมีทางคนเดินเหมือนเป็นสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้เป็นชั้นๆ เหมือนทิวทัศน์ทะเลสาบในประเทศตะวันตก ไปพักที่เรือนรับรองซีจื่อ ห้องใหญ่มาก จัดได้ดีสวยงาม เคยเป็นบ้านของพ่อค้าชาและยกให้เป็นของรัฐ อยู่ริมทะเลสาบซีหู เดินไปหากันต้องใช้เวลาและดูทางดีๆ เพราะบ้านใหญ่โตเหลือเกิน กลัวจะหลงทาง แค่เดินในบ้านก็เป็นการออกกำลังกายอย่างดี ข้างฝามีรูปติด มีรูปท่านประธานเหมาทำกิจกรรมต่างๆ และภาพชาวต่างประเทศที่มาเยี่ยม เช่น ดร.คิสซินเจอร์ ซีจื่อ ที่ใช้เป็นชื่อเรือนรับรองนั้นหมายถึง นางไซซี หญิงงามเลอลบแห่งแคว้นเย่ว์ที่พระเจ้าโกวเจี้ยน ส่งมาถวายพระเจ้าฟูชาแห่งแคว้นอู๋ พระเจ้าฟูชาลุ่มหลงนางจนรบพ่ายแพ้พระเจ้าโกวเจี้ยน เรื่องนางไซซีมีตำนานเล่าขานกัน เผยแพร่ทั้งในรูปหนังสือ ภาพยนตร์จอเงินจอแก้ว รับประทานอาหารกลางวัน แล้วออกเดินทางไปพิพิธภัณฑ์ รองผู้ว่าฯ เย่ว์กับมาดามจัง ภรรยาท่านรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงมาด้วย บ่ายนี้ฝนตก แต่บริเวณซีหูก็ยังมีคนมาเที่ยวเต็มไปหมด พิพิธภัณฑ์มณฑลเจ้อเจียง สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1929 อยู่แถบภูเขากูซาน ใกล้ทะเลสาบซีหู ส่วนหน้าของพิพิธภัณฑ์เคยเป็นหอสมุดชื่อ เหวินหลานเก๋อ เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเจียงหนาน และเป็นส่วนหนึ่งของวังสมัยราชวงศ์ชิง

(น. 288) ส่วนที่เราไปมีลักษณะการจัดแบบพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หรือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา หรือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ไม่ได้เป็นแบบพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงศิลปวัตถุต่างๆ คงจะจัดไว้หลายปีแล้ว ในหนังสือ จีนตะวันออก ก็กล่าวไว้ หัวข้อเรื่องที่จัดแสดงไว้เป็นเรื่องวัฒนธรรมข้าว ข้างหน้ามีประติมากรรมข้าวของศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ ทานาเบ้ วางไว้ เมื่อตอนที่ข้าพเจ้าไปประชุมเรื่องข้าวที่ IRRI จัดที่โตเกียวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นายทานาเบ้ก็ให้ประติมากรรมข้าวมาวางที่สถานีทดลองข้าวปทุมธานี เริ่มต้นแสดงวัฒนธรรมหินใหม่เหอหมู่ตู้ อยู่ในอำเภออวี๋เหยา ริมฝั่งแม่น้ำเฉียนถังเจียง ในมณฑลเจ้อเจียง มีอายุประมาณ 7,000 ปี มาแล้ว ขุดพบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1973 พบเมล็ดข้าวที่กลายเป็นหิน ที่พบทั้งรวงก็มี ตอนขุดพบเปลือกข้าวยังเป็นสีเหลือง แต่เมื่อถูกอากาศก็เปลี่ยนสี เป็นข้าวที่คนปลูก ไม่ใช่ข้าวขึ้นเองตามธรรมชาติ นอกจากนั้นยังพบสากตำข้าวโบราณ เตาเชิงกราน หม้อนึ่งข้าว และกระดูกสัตว์ด้วย ทำให้รู้ว่าสมัยก่อนมีสัตว์อะไรบ้าง ส่วนอุปกรณ์ทำการเกษตรที่พบมี พลั่ว และมีจอบที่ทำด้วยกระดูกสัตว์ ใช้หวายมัด


(น. 288) รูป 203 ของในพิพิธภัณฑ์มณฑลเจ้อเจียง เมล็ดข้าวโบราณ
Zhejiang Museum. Rice found at the archaeological site is on display.

(น. 289) ในตู้แสดงภาพวาดและสร้างหุ่นรูปบ้านเรือนสมัยนั้นเป็นบ้านเรือนเครื่องผูก ใต้ถุนสูง แบบเดียวกับบ้านของผู้คนในสิบสองปันนา มีเครื่องมือทอผ้า เครื่องมือสานเสื่อ ฟั่นเชือก สิ่งของสมัยนั้นมีหัวไม้เท้าสลักเป็นรูปหนอนไหม นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่า สมัยนั้นมีการเลี้ยงไหมแล้ว พบอุปกรณ์การทอผ้า เช่น กี่ และกระสวย พบเข็มทำด้วยกระดูก แสดงว่ามีการเย็บเสื้อผ้า พบเครื่องเขิน เศษเครื่องปั้นดินเผา มีลวดลายเป็นพืชและสัตว์ต่างๆ พบเครื่องหยกเก่าที่สุดในประวัติศาสตร์จีน งาแกะลายนก นกหวีดทำด้วยกระดูก มีการศึกษาวิจัยจากเศษพืชและกระดูกสัตว์ที่ขุดพบ แสดงว่าสมัยนั้นมีการตกปลาและเก็บพืช เช่น น้ำเต้า กระจับ ส่วนสัตว์มีช้าง แรด นกกระเรียน ซึ่งปัจจุบันมีแต่ในเขตร้อน ลิงหน้าแดง ปัจจุบันมีแต่ในสิบสองปันนาแสดงว่าสมัยก่อนอากาศอาจจะต่างจากปัจจุบัน มีรูปการขุดค้นพบเสาเรือน แสดงว่าตอนนั้นมีการปลูกเรือนโดยวิธีเข้าเดือยไม้ไม่ใช้ตาปู วัฒนธรรมหินใหม่เก่าแก่อีกแห่งที่พบคือ วัฒนธรรมหม่าเจียปัง พบทางตอนใต้ของแม่น้ำเฉียนถังเจียงในทศวรรษ 1950 พบเครื่องมือหิน ขวานหิน เครื่องปั้นดินเผา อายุประมาณ 6,000 หรือ 7,000 ปี วัฒนธรรมซงเจ๋ออยู่ใกล้เซี่ยงไฮ้ ประมาณ 5,900 ปีมาแล้ว พบเครื่องมือเกษตรที่ก้าวหน้าขึ้น แต่เครื่องปั้นยังมีลักษณะแบบโบราณ วัฒนธรรมเหลียงจู่ประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว อยู่ชานเมืองหังโจว แถบทะเลสาบไท่หู พบเมื่อ ค.ศ. 1936 มีเครื่องหยก เป็นหยกโปร่งแสงซึ่งหายาก ก่อนพบหยกในวัฒนธรรม

(น. 290) หินใหม่ที่นี่ นักวิชาการคิดว่าคนจีนเริ่มใช้เครื่องหยกในสมัยจั้นกั๋ว เครื่องปั้นดินเผาสมัยนี้มีหม้อสีดำ และพบผ้าไหม ก่อนหน้านั้นใช้ผ้าทำด้วยป่าน สมัยราชวงศ์ซังและโจว มีเครื่องสำริด พบเบ้าหลอมสำริดสมัย 770 – 476 ปีก่อนคริสต์กาล ลักษณะไม่เหมือนของภาคกลาง แต่ของที่พบก็คล้ายๆ กัน เช่น เครื่องดนตรีระฆังแถวในสุสาน สมัยชุนชิว พบเครื่องสำริด ส่วนใหญ่เป็นอาวุธ ผู้บรรยายเล่าว่าสมัยนั้นแคว้นเย่ว์และแคว้นอู๋ทำสงครามกัน มีของจากแคว้นเย่ว์ (พระเจ้าโกวเจี้ยน) ซึ่งผู้บรรยายว่ามีลักษณะคล้ายของกวางสีหรือของที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากอาวุธมีเครื่องมือทำการเกษตร เช่น จอบ เสียม พลั่ว


(น. 290) รูป 204 ดูของที่แสดง
Looking at objects on display.

(น. 291) สมัยราชวงศ์ฉิน ฮั่น หกราชวงศ์ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นเริ่มพบว่ามีการหลอมเหล็กและหลอมทองแดง พบเครื่องมือทำการเกษตร คันฉ่อง ตุ๊กตาดินเผา ศิลาจารึกของหวังซีจือ และศิลาจารึกอื่นๆ สมัยราชวงศ์สุย ถัง ห้าราชวงศ์ แสดงเครื่องประดับ เช่น ปิ่นปักผม และอุปกรณ์เกี่ยวกับอาหารการกิน เช่น ทัพพี ของที่ใช้ในพิธีชงชา กระโถน ชามฝาสลักลายฉลุ สมัยห้าราชวงศ์ ผู้ปกครองเลื่อมใสศาสนา มีเจดีย์กะไหล่ทอง พบในเจดีย์จินหวาโฝ แผ่นเงินสลักคำอธิษฐานขอความคุ้มครองจากเทพมังกร คัมภีร์ศาสนาสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน มีหีบลงรักใส่คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร หีบพระธาตุสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10 – 12 ทั้งสี่ด้านเป็นรูปพระพุทธรูปและรูปกวนอิม เขาบอกว่ายังมีพระพุทธรูปงามๆ อยู่ในโกดังไม่ได้เอาออกมาแสดง ถามว่ากลัวขโมยใช่ไหม เขาว่าไม่ใช่ ของบางอย่างที่แสดงเป็นของจำลอง ของจริงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อื่น หรืออยู่ไต้หวัน อีกตึกหนึ่งแสดงสิ่งของสมัยราชวงศ์ชิงและต้นสาธารณรัฐ มีเตียงสลักลวดลาย ทำด้วยไม้แดง บางส่วนใช้กระดูกวัวและไม้หวงหยังสลักติดเข้าไป เกี้ยวเจ้าสาว เกี้ยวหลังนี้ถือว่าเป็นที่รวมศิลปะต่างๆ หลายอย่าง เช่น ลงรัก ปิดทอง ติดกระจก สลักไม้ สร้างสมัยสาธารณรัฐ นอกจากนี้มีเครื่องเรือน ฝังมุกไฟ

(น. 292) ไปอีกตึกหนึ่ง แสดงเครื่องปั้นดินเผาของเจ้อเจียงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซังถึงราชวงศ์ชิง สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก สมัยชุนชิวพบเครื่องปั้นดินเผาปั้นเลียนแบบเครื่องสำริด สมัยราชวงศ์ฮั่นมีตุ๊กตาหน้าตาเหมือนคนอินเดีย สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก สมัยสามก๊ก สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกและพวกราชวงศ์ใต้ มีเครื่องปั้นดินเผาสีดำเต๋อชิง สมัยราชวงศ์สุย ถัง ห้าราชวงศ์ มีเครื่องปั้นดินเผาที่ส่งถวายจักรพรรดิ และของที่พบในสุสาน สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือและซ่งใต้ มีของจากหลงเฉวียน นอกจากนั้นยังแสดงเครื่องปั้นดินเผาอื่นๆ ที่ทำในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้และราชวงศ์หยวน ราชธานีของซ่งใต้อยู่ที่หังโจว จึงมีเตาเผาหลวงหลายเตา เครื่องเคลือบหลงเฉวียน สมัยนั้นส่งออกต่างประเทศ เช่น ประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย มีข้อมูลประวัติศาสตร์จีนว่า ตั้งแต่คริสต์ศตวรรรษที่ 13 – 14 ประเทศไทยได้เทคนิคไปทำเอง สมัยราชวงศ์หมิงและชิง มีตู้กระจกบอกวิธีทำเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่เริ่มหมักดิน ขึ้นรูป เขียนลวดลาย จนถึงเคลือบและนำเข้าเตาเผา และยังมีแผนที่แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลที่จีนส่งเรือไปค้าขาย


(น. 292) รูป 205 เครื่องเคลือบ
Ceramics.


รูป 206 เครื่องเคลือบ
Ceramics.


(น. 293) รูป 207 ถ้วยทองคำ
Golden bowl.

(น. 293) อีกตึกมีเครื่องสำริดตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซัง มีของที่พบใน ค.ศ. 1995 มีกระบี่ของเจ้าแห่งแคว้นเย่ว์ ที่พบนั้นยังอยู่ในสภาพดี มีฝักอยู่เรียบร้อย สมัยจั้นกั๋ว มีกะละมังสำริด เจดีย์เงิน สมัยชุนชิวมีของที่พบที่เมืองเซ่าซิง เช่น ถ้วยทองคำ จากพิพิธภัณฑ์เดินทางต่อไปที่หมู่บ้านเหมยเจียอู ฝนตกไปตลอดทาง ทิวทัศน์ระหว่างทางสวยงาม รองผู้ว่าฯ เย่ว์เล่าว่ามีนโยบายอนุรักษ์ต้นไม้ ถึงจะขยายถนน ก็ไม่ตัดต้นไม้ ที่มีคำกล่าวว่า บนฟ้ามีสวรรค์ บนแผ่นดินมีซูหัง คือซูโจวและหังโจวนั้น สองเมืองมีลักษณะไม่เหมือนกัน ความงามของซูโจวอยู่ที่สวนที่


(น. 294) รูป 208 สาวเก็บชา
Girls picking tea leaves.

(น. 294) มนุษย์สร้างขึ้น แต่หังโจวมีทัศนียภาพธรรมชาติที่ต้องอนุรักษ์ไว้ จะปรับสภาพบ้างก็เฉพาะแต่ที่จำเป็น ทะเลสาบซีหูก็มีการขุดลอกเป็นระยะๆ สมัยราชวงศ์หยวนมีการถมทะเลสาบเพื่อเพิ่มเนื้อที่ทำนา สมัยราชวงศ์หมิงและชิงมีการขุดลอก เอาดินที่ขุดลอกออกจากทะเลสาบไปใช้ประโยชน์ ขณะนี้ก็มีการพัฒนาสร้างสวนสาธารณะ สวนนานาชาติ เมืองสมัยราชวงศ์ซ่ง เพื่อต้อนรับการท่องเที่ยว

Next >>