Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2542 "


(น. 317) รูป 217 ครัว
The kitchen.


รูป 218 ครัว
The kitchen.


(น. 318) รูป 219 พิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่น
Luxun Museum.

(น. 318) เราเดินจากบ้านเกิดหลู่ซวิ่นไปที่พิพิธภัณฑ์ ตอนดูพิพิธภัณฑ์นี้ ดูอย่างคร่าวๆ มาก เพราะมีเวลาจำกัด สังเกตได้แต่ว่า เขาจัดรูปและสิ่งของต่างๆ เป็นระยะๆ เช่น ในสมัยที่หลู่ซวิ่นยังอยู่ที่เซ่าซิง เรื่องบ้าน เรื่องโรงเรียนประถมศึกษาที่เขาเรียน รูปคุณแม่ ชีวิตในวัยเด็ก เขามีโอกาสได้อยู่ในชนบท (แสดงที่ที่เขาเคยไป) ได้รู้จักชาวนา เล่นเก็บขนนก หอย เพรียง แสดงของเล่นต่างๆ ชนิดที่เขาเคยเล่น เรื่องที่ครอบครัวยากจนลงไป ชีวิตตอนที่ไปนานกิง แล้วไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น มีรูปเรือที่เขาโดยสารไปญี่ปุ่น มีรูปนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส Victor HUGO ซึ่งเขาสนใจอ่าน และรูปอาจารย์เถิงเหยี่ย เรื่องอาจารย์เถิงเหยี่ยนี้ข้าพเจ้าสนใจ เพราะเคยเรียนเรื่องของหลู่ซวิ่นว่าเขาเข้าเรียนแพทย์ เมื่อ ค.ศ. 1904 อาจารย์สอนวิชากายวิภาคชื่ออาจารย์เถิงเหยี่ย (ภาษาญี่ปุ่นว่า Mr. Fujino) เป็นคนสอนหนังสือสนุก ใจดี หลู่ซวิ่นรักและเคารพอาจารย์ท่านนี้มาก ช่วยตรวจสมุดจดงานของหลู่ซวิ่นให้เป็นพิเศษ เพราะเห็นเป็นชาวต่างชาติ ถามทุกข์สุขอยู่เสมอ ทำให้หลู่ซวิ่นเกรงใจและพยายามศึกษาอย่างขยันขันแข็ง อยู่มาวันหนึ่งเกิดมีการฉายหนังสารคดีเรื่องคนจีนมุงดูทหารญี่ปุ่นยิงเป้าคนจีนที่เป็นสายลับให้รัสเซีย ดูแล้วนักเรียนญี่ปุ่นตะโกนว่า “บันไซ” เป็นการทำร้ายจิตใจหลู่ซวิ่นมาก เขาคิดจะปลุกสำนึกของชาวจีน จึงเลิกเรียนแพทย์หันไปเรียนทาง

(น. 319) อักษรศาสตร์ ก่อนจะออกจากโรงเรียนได้ไปลาอาจารย์เถิงเหยี่ย อธิบายความรู้สึกของตน อาจารย์เถิงเหยี่ยมีความอาลัยลูกศิษย์ แต่ก็ประทับใจในความรู้สึกรักชาติ ก่อนจากกันอาจารย์เถิงเหยี่ยได้เซ็นรูปให้หลู่ซวิ่น ถึงจะจากญี่ปุ่นมาหลายปี แต่หลู่ซวิ่นก็ระลึกถึงอาจารย์ท่านนี้อยู่เสมอ และได้เขียนบทความเรื่อง “อาจารย์เถิงเหยี่ย” ขณะที่อยู่ปักกิ่งเขาแขวนรูปอาจารย์ท่านนี้ไว้ในห้องทำงาน เมื่อใดที่ได้มองรูปนี้ก็มีพลังที่จะต่อสู้กับอธรรม


(น. 319) รูป 220 พิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่น
Luxun Museum.

(น. 320) เล่าเรื่องมาเสียยาวขอกลับเข้าเรื่องพิพิธภัณฑ์ หลู่ซวิ่นไปเป็นครูที่หังโจวใน ค.ศ. 1909 พิพิธภัณฑ์แสดงการทำภาพพืชอัดแห้ง หนังสือเรียน ค.ศ. 1912 ไปปักกิ่ง ได้พบกับอาจารย์ไช่หยวนเผยอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่งในตอนนั้น ค.ศ. 1927 ไปกว่างโจว ในปีนั้นเจียงไคเช็กก่อการรัฐประหาร หลู่ซวิ่นไม่พอใจ เลยไปอยู่เซี่ยงไฮ้ และอยู่ที่นั่นต่อมาจนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1936 ข้าพเจ้าได้ไปบ้านหลู่ซวิ่นและพิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่นที่เซี่ยงไฮ้แล้ว ผู้สนใจรายละเอียดดูได้ในหนังสือ “เย็นสบายชายน้ำ” ห้องสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมหนังสือต่างๆ เดินไปโรงเรียนซานเว่ย โรงเรียนนี้หลู่ซวิ่นเรียนเมื่ออายุ 12 – 17 ปี เป็นที่ปูพื้นฐานด้านภาษาจีน ซึ่งเป็นประโยชน์กับชีวิตในอนาคตมาก โรงเรียนนี้เป็นสถานศึกษาเอกชนที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในเซ่าซิงสมัยราชวงศ์ชิง ข้าพเจ้าถามผู้บรรยายว่าชื่อโรงเรียนซานเว่ยซึ่งแปลตามศัพท์ว่าโรงเรียนสามรสชาตินั้น ฟังแล้วไม่เข้าใจว่ามีความหมายอะไรอีก ผู้บรรยายอธิบายว่าแต่เดิมโรงเรียนชื่อ ซานอวี๋ ซาน แปลว่า สามอวี๋ แปลว่า เวลาว่าง เหลือ เกิน คำนี้มาจากคำกล่าวของต่งอวี้ในสมัยสามก๊กที่กล่าวว่า ตงเจ่อซุ่ยจืออวี๋ เยี่ยเจ่อรื่อจืออวี๋ อินอวี่เจ่อ ฉิงจืออวี๋ แปลว่า ฤดูหนาวเป็นเวลาว่างของปี ค่ำคืนคือเวลาว่างของวัน ช่วงฝนตกครึ้มเป็นเวลาว่างของยามอากาศสดใส จึงควรใช้เวลาว่างนี้ศึกษาหาความรู้ให้เป็นประโยชน์ คุณปู่ของอาจารย์ของหลู่ซวิ่นชอบคำกล่าวนี้ จึงตั้งชื่อโรงเรียนว่า ซานอวี๋ (สามเวลาว่าง)

(น. 321) ในประเทศจีนสมัยโบราณ ฤดูหนาวเกษตรกรเพาะปลูกไม่ได้ จึงมีเวลาว่าง ยามค่ำคืนและยามฝนตกครึ้มก็ทำอะไรไม่ได้เช่นกัน อยู่ว่างๆ จึงเป็นที่มาของคำกล่าวข้างต้น ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซูตงปัวอ่านคำกล่าวของต่งอวี้ แล้วพอใจมาก จึงเขียนกวีนิพนธ์พรรณนาถึงความสุขจากการอ่านหนังสือในยามว่าง มีบาทหนึ่งพรรณนาว่า ฉื่อเซิงโหย่วเว่ยไจ้ซานอวี๋ แปลว่า ชีวิตนี้มีรสชาติที่ 3 ว่าง ซูตงปัวกล่าวถึงการอ่านหนังสือในยามว่าง ต่อมา คุณปู่ของอาจารย์ของหลู่ซวิ่น ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ซานเว่ย (สามรสชาติ) ข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจอีกนั่นแหละ จึงมีคนอธิบายต่อว่า ซานเว่ย หมายถึง ซานเว่ยซู หรือ หนังสือสามรส มีความคิดเห็นต่างกันบ้างว่า หนังสือสามรสประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่โดยสรุปก็คือ คัมภีร์ ประวัติศาสตร์ และบทกวี มีคำกล่าวว่า การอ่านคัมภีร์ดุจดั่งการกินข้าว ประวัติศาสตร์เสมือนกับข้าว โคลงกลอนดุจน้ำจิ้ม ฟังคำอธิบายเพิ่มเติมแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่า คัมภีร์ คงหมายถึงปรัชญาและความรู้สาขาต่างๆ ความคิดและความรู้มีความสำคัญต่อชีวิต ดุจข้าวที่เลี้ยงชีวิตเรา ประวัติศาสตร์ ทำให้เรารู้ความเป็นมาของชาติบ้านเมือง ได้ศึกษาการสร้างความเจริญ ปัญหาต่างๆและแนวทางการแก้ไขของประเทศ สามารถนำความรู้นี้มาประยุกต์ใช้ในการงานอาชีพตามความรู้ที่ร่ำเรียนมา จึงเป็นเสมือนกับข้าวมาเสริมรสชาติของข้าว บทกวี ให้ปัญญา ความงาม ความสุนทรีย์ จึงเป็นเสมือนน้ำจิ้มช่วยชูรสของข้าวและกับข้าวยิ่งๆ ขึ้น

(น. 322) ในห้องมีตัวอักษรฝีมือพู่กันของศิลปินเอกเหลียงถงซู โต๊ะกลางเป็นโต๊ะครู มีไม้บรรทัดไว้สำหรับตีนักเรียน แต่เขาว่าครูไม่ค่อยตี มีเก้าอี้ที่ครูเอาไว้สำหรับรับแขก เก้าอี้นักเรียนมี 8-9 ตัว ขนาดไม่เท่ากัน เพราะนักเรียนเป็นผู้เตรียมเก้าอี้มาเอง ตัวที่หลู่ซวิ่นนั่งมีลายสลักหนังสือว่า “เจ่า” แปลว่า เช้า มีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่งหลู่ซวิ่นมาโรงเรียนสาย ถูกครูตำหนิ จึงเขียนไว้เตือนตนเอง ด้านหลังโรงเรียนมีสวนเล็กๆ มีต้นกุ้ยฮวา 2 ต้นและมีต้นหล่าเหมยต้นหนึ่ง ต้นกุ้ยฮวานั้นหลังสมัยปลดปล่อยปลูกเพิ่มขึ้นอีกต้น แต่ต้นหล่าเหมยเป็นต้นเดิม สวนนี้เป็นที่ที่หลู่ซวิ่นและเพื่อนเล่นกันอย่างสนุกสนาน ข้าพเจ้านึกภาพไม่ออกเลยว่าโรงเรียนนี้จะสนุกได้อย่างไร เรียนชั้นอนุบาลก็คงจะพอทนได้ แต่เรียนชั้นสูงคงเบื่อ ที่พูดอย่างนี้แล้วก็ต้องตำหนิตนเองว่าคิดตามแบบสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ หน้าโรงเรียนเป็นคลอง มีที่ขายตั๋วเรือสำหรับนั่งเที่ยวชมเมือง แต่เราไม่มีเวลาพอที่จะทำเช่นนั้น ที่หมายต่อไปคือบ้านวีรสตรีชิวจิ่น (ค.ศ. 1875 – 1907) มีผู้ถามข้าพเจ้าว่ารู้จักวีรสตรีชิวจิ่นได้อย่างไร ข้าพเจ้าตอบว่ารู้จักจากการดูหนังจีนในโทรทัศน์ เป็นเรื่องที่เล่นต่อกันหลายตอน ดูบ้าง ไม่ดูบ้าง จึงไม่ค่อยรู้เรื่องและดูนานแล้วด้วย ชิวจิ่นเกิดในตระกูลขุนนาง มีโอกาสรับการศึกษาดี เธออยู่ที่เซ่าซิงจนอายุ 19 ปี จึงไปอยู่หูหนาน ตามบิดาซึ่งไปเป็นข้าราชการการคลังที่นั่น เมื่ออายุ 21 ปี บิดามารดาจัดให้แต่งงานกับบุตรคหบดีชาวหูหนาน บิดามารดาของสามีถึงกับให้ธนาคารเป็น

(น. 323) ของขวัญแต่งงาน ชิวจิ่นไม่มีความสุขในชีวิตสมรส สามีของเธอเป็นคนไร้การศึกษา ทำให้เธอรู้สึกดูถูก ชิวจิ่นมีโอกาสติตามสามีไปอยู่ปักกิ่ง เธอมีบุตร 2 คน ที่ปักกิ่งได้เห็นการขายชาติของรัฐบาลราชวงศ์ชิง และได้มีโอกาสคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูงที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมเหมือนกัน สมัยนั้นชาวจีนนิยมไปศึกษาที่ญี่ปุ่นเพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าไปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเขียนตัวอักษรจีนก็เข้าใจกันได้ และวัฒนธรรมก็ไม่ต่างกันมากนักด้วย ญี่ปุ่นยังเป็นตัวอย่างอันดีของชาวเอเชียทั้งปวงเมื่อได้ชัยชนะรัสเซียในสงคราม ค.ศ. 1904 – 1905 ในช่วงนั้นนักเรียนหญิงจีนมีโอกาสได้ไปศึกษาที่ญี่ปุ่น ชิวจิ่นก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ไป และไปได้ความคิดในการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ล้าหลัง รวมทั้งศึกษาวัฒนธรรมตะวันตก ชิวจิ่นได้เข้าร่วมสมาคมถงเหมิงฮุ่ยของท่านซุนยัดเซ็น และเธอยังเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ใน ค.ศ. 1906 ได้กลับมาบ้าน มาเป็นครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งในมณฑลเจ้อเจียง แต่ก็ยังติดต่อกับนักปฏิวัติอื่นๆ ชิวจิ่นกับเพื่อนๆ ได้ก่อการปฏิวัติต่อต้านราชวงศ์ชิงใน ค.ศ. 1907 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงถูกจับได้และถูกประหารชีวิตในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1907 เป็นนักปฏิวัติหญิงคนแรกที่ถูกตัดศีรษะประหารชีวิต ก่อนถูกประหารได้ขอร้อง 3 ประการคือ
1. ขอเขียนหนังสืออำลาญาติมิตรก่อนตาย
2. ขอไม่ถอดเสื้อเวลาถูกตัดคอ
3. อย่าแขวนศีรษะประจาน

(น. 324) รัฐบาลยอมทำตามข้อ 2 และข้อ 3 แต่ไม่ทำตามข้อ 1 ชิวจิ่นอยากให้ศพของเธอฝังไว้ใกล้ศพของเย่ว์เฟยหรืองักฮุย และให้อยู่บริเวณทะเลสาบซีหูอันสวยงาม แต่ว่าไม่สมหวัง ศพถูกย้ายที่ถึง 9 ครั้ง จึงได้มาอยู่ที่ซีหูตามความต้องการของเธอ บุตรอยู่ในความดูแลของสามี เมื่อเติบใหญ่ได้มีครอบครัว และไปอยู่ที่ไต้หวันกับสหรัฐอเมริกา ชิวจิ่นใช้บ้านหลังนี้เป็นที่พบปะของพวกนักปฏิวัติ เก็บเอกสารอาวุธปืน และลูกระเบิด ใน ค.ศ. 1981 ได้มีการซ่อมแซมบ้านหลังนี้ ค.ศ. 1988 รัฐบาลประกาศให้เป็นโบราณสถานระดับประเทศสำหรับให้เยาวชนศึกษาเรื่องความรักชาติ ของที่ประดับในบ้านมีตุ้ยเหลียนต่างๆ เขียนคำสุภาษิตเตือนใจ เช่น วีรบุรุษต้องอุตสาหะพยายาม นอกจากนั้นมีรูปถ่าย เช่น รูปชิวจิ่นแต่งกิโมโนซึ่งเป็นเครื่องแบบนักเรียนตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่น ภาพชิวจิ่นแต่งกายเป็นชาย ห้องนอนเก็บปืนไว้ด้วย รูปของครอบครัว คำที่ชิวจิ่นเขียนพู่กันว่า ตัวไม่ใช่ผู้ชาย แต่ใจเข้มแข็งกว่า ไปบ้านบรรพบุรุษของท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล บ้านหลังนี้บรรพบุรุษของท่านอยู่มาตั้งแต่ปีที่ 13 รัชกาลจักรพรรดิหงอู่แห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1380) ท่านโจวเอินไหลเองเกิดที่มณฑลเจียงซู เข้าไปที่ห้องโถงใหญ่ตระกูลโจว ปัจจุบันชาวเมืองใช้เป็นที่แสดงนิทรรศการและจัดงานต่างๆ


(น. 325) รูป 221 รูปท่านโจวเอินไหล
Statue of former Premier Zhou Enlai.

(น. 326) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 ท่านโจวเอินไหลกลับมาเยี่ยมเมืองเซ่าซิง ในครั้งนั้นได้นำให้หนุ่มสาวชาวเซ่าซิงเสียสละประโยชน์ส่วนตนในการก่อการปฏิวัติ และต่อต้านญี่ปุ่น กอบกู้ชาติ ในเรือนหลังนั้นมีห้องที่อาจจะเกี่ยวกับท่านโจวเอินไหลคือ ห้องที่ปู่เคยอยู่และเด็กๆ ลูกหลานไปเล่น และหัดเขียนตัวอักษร นอกนั้นเป็นนิทรรศการเล่าเรื่องท่านโจว และเรื่องเมืองเซ่าซิง มีรูปว่าใครเป็นใครในตระกูลของท่านโจว มีบรรพบุรุษเป็นเสนาบดี เล่าเรื่องคนที่มีชื่อเสียงในเมืองนี้ตั้งแต่จักรพรรดิอวี่ กวีลู่โหยว หลู่ซวิ่น ชิวจิ่น ไช่หยวนเผย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีกลอนที่ท่านโจวแต่ง คำพูดที่ว่า “ผมเป็นคนเซ่าซิง” งานอุตสาหกรรมของเซ่าซิงที่ว่าท่านโจวมาช่วยพัฒนาคือ การทำเหล้า ด้านวัฒนธรรมมีงิ้วเซ่าซิง กำหนดการเดินทางของท่านโจวตอนเดินทางมาเซ่าซิง โอวาทที่เขียนให้พวกญาติไม่ให้ลืมวีรสตรีชิวจิ่น ให้สร้างเกียรติประวัติ ภาพทะเลสาบเจี้ยนหู และภาพงานฉลอง 100 ปีท่านโจว ข้ามถนนไปอีกฟากมีรูปหล่อทองแดงท่านโจวไว้สำหรับให้คนที่นี่จัดงานรำลึกถึงท่าน ขากลับคุยกันถึงเรื่องปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบัน ฝ่ายจีนเขาว่าข้าพเจ้าควรเรียนคำจีนเอาไว้สองคำเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์สภาพเศรษฐกิจ คือ เฟินหลิว แปลว่า ให้ออกไปเรียนหนังสือ ไปเรียนเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานเก่า กับ เซี่ยกั่ง แปลว่า ตกงาน เวลานี้ตามหน่วยงานต่างๆ ให้คนออกไปแยะแล้ว กงสุลและคุณโสภา ภรรยา รวมทั้งคุณพิริยะ มาลา พรุ่งนี้จะกลับเซี่ยงไฮ้แล้ว

(น. 327) การไปชมเมืองเซ่าซิงทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีชื่อ หุยเซียงโอ่วซู หรือ เขียนเขียนไปเมื่อกลับบ้านเกิด ที่ข้าพเจ้าเรียนและแปลไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2525 ตอนที่เรียนอาจารย์บอกว่า เป็นบทกวีสมัยราชวงศ์ถัง กวีที่เขียนชื่อ เฮ่อจือจาง (ค.ศ. 659 – 744) เป็นชาวเซ่าซิง และเป็นเพื่อนกับหลี่ไป๋ เฮ่อจือจางมีพรสวรรค์ในการประพันธ์ เขียนบทกวีมาตั้งแต่เยาว์วัย และเขียนต่อเนื่องมาจนมีชื่อเสียง ชอบดื่มเหล้า เป็นหนึ่งในกวี 8 คนที่เป็นเซียนขี้เมาในสมัยราชวงศ์ถัง ในด้านการงานสอบได้เป็นจิ้นซื่อเมื่อ ค.ศ. 695 สมัยจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน หรือบูเช็กเทียน (ค.ศ. 684 – 705) จึงได้เข้ารับราชการเป็นขุนนาง ซึ่งดำเนินไปด้วยดี จนได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ตอนที่ลาออกจากราชการนั้นอายุ 80 กว่าปี จักรพรรดิถังเสวียนจงจัดงานเลี้ยงส่งและเขียนบทกวีให้ด้วย นอกจากจะเป็นกวีที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังได้รับยกย่องว่าเขียนตัวอักษรจีนสวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนแบบหวัด บทกวี หุยเซียงโอ่วซู เขียนพรรณนาว่า
จากบ้านเมื่อเยาว์วัย กลับมายามชรา
ยังคงสำเนียงท้องถิ่น แต่จอนผมบาง
เด็กเด็กพานพบก็ไม่รู้จัก
ถามยิ้มยิ้ม แขกท่านนี้มาจากไหน
คำอ่านภาษาจีน
เส้าเสี่ยวหลีเจียเหล่าต้าหุย
เซียงอินอู๋ไก่ปิ้นเหมาชุย
เอ๋อร์ถงเซียงเจี้ยนปู้เซียงซื่อ
เสี้ยวเวิ่นเค่อฉงเหอชู่ไหล

(น. 328) ในด้านวรรรศิลป์ บทกวีนี้ใช้คำง่ายๆ แต่วางจังหวะเสียงของคำดี ฟังไพเราะรื่นหู สองบาทแรกบรรยายภาพของตัวกวีเองที่จากบ้านเกิดไปอยู่เมืองอื่นนาน กลับมาเมื่อชราอายุมากแล้ว (จอนผมบาง) แต่ก็ยังคิดถึง ผูกพันกับบ้านเกิด ไม่เปลี่ยนแปลง (ยังคงสำเนียงท้องถิ่น) แล้วบรรยายต่อมาถึงเด็กๆ ในหมู่บ้าน พวกเด็กเองก็สนใจคนแก่ที่มา แปลกใจที่มีสำเนียงเหมือนคนหมู่บ้านเรา แต่พวกเด็กก็ไม่รู้จัก จึงถามยิ้มๆ ว่า แขกท่านนี้มาจากไหน ในสภาวะเช่นนี้ กวีเองก็งงที่พวกเด็กถามเช่นนี้ กวีผูกพันกับบ้านเกิด แต่กลับมาแล้วก็รู้สึกว่ามีอะไรมากั้นๆ จากไปนานจนอะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหมด เป็นอารมณ์ที่ซ้อนกันอยู่ กวีสามารถสื่อความทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น (ภาพซ้อน กวี-เด็ก และอารมณ์ที่ซ้อนกันของกวี) อย่างมีอารมณ์ขัน สบายๆ ด้วยบทกวีสั้นๆ เพียง 4 บรรทัด เมื่อเรียนแล้ว ข้าพเจ้าได้นำแนวคิดในบทกวีนี้มาวาดภาพโดยมิได้ตั้งชื่อ เมื่อครั้งที่เพื่อนๆ อ.บ. 41 จัดพิมพ์หนังสือ ทอสีเทียบฝัน (พ.ศ. 2538) ซึ่งรวบรวมภาพที่ข้าพเจ้าวาดไว้มาพิมพ์เผยแพร่ ได้ตั้งชื่อภาพให้ว่า กลับบ้านเกิด รวมทั้งได้เขียนเกร็ดประวัติการวาดและนำบทกวีที่ข้าพเจ้าแปลไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2525 มาตีพิมพ์ด้วย โดยที่ข้าพเจ้ามิได้พิจารณาเกลาให้ไพเราะ จึงมีถ้อยคำต่างจากครั้งนี้บ้าง

Next >>