Please wait...

<< Back

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง วันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2537


(น.121) รูป 155 ภายในวังโบราณกู้กง

(น.121) เข้าไปดูชิงหนิงกง เป็นตำหนัก 5 ห้อง (เรียกเหมือนไทย) มีที่ทำพิธีศาสนาเรียกว่า ซ่าหม่านกง ข้าพเจ้างงอยู่นานว่ามันคืออะไร เขาบอกว่า (ลัทธิความเชื่อหลายอย่างปนกัน) มีหมอผีมานั่งทรงผีทำพิธี สักประเดี๋ยวพี่หวานจึงนึกออกว่าเหมือนกับที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Shaman คือหมอผีของศาสนาแถบเขาอูราลอัลไต จีนเขียนว่า ซ่าหม่านเจี้ยว ลัทธิเช่นนี้เป็นความเชื่อดั่งเดิมของพวกแมนจู จักรพรรดิราชวงศ์ชิงยังรักษาลัทธิอันเป็นวัฒนธรรมเดิมนี้ไว้ แม้ว่าได้เข้ามาอยู่ในดินแดนจีนและรับเอาความเชื่อลัทธิขงจื๊อเป็นหลักปฏิบัติในการปกครองแล้วก็ตาม


(น.122) รูป 157 ภายในวังโบราณกู้กง


(น.123) รูป 158 ภายในวังโบราณกู้กง


รูป 159 ภายในวังโบราณกู้กง

(น.123) ข้างในเป็นที่ประทับมี “คั่ง” เป็นเตียงไฟ 2 เตียง ข้าพเจ้าบอกเขาว่าอยากดู เพราะอ่านหนังสือเกี่ยวกับ “คั่ง” (หรือเตียงไฟ) มามาก อยากเห็นของจริง เจ้าหน้าที่จึงไปเอากุญแจมาไข แต่บอกว่าไม่ให้ใครเข้าไปมาก ในนั้นมียกพื้นขึ้นมาเป็นที่นอนมี 2 ด้าน คือ ด้านใต้รับแสงอาทิตย์สำหรับนอนหน้าหนาว ทิศเหนือหลบแดดฤดูร้อน ใต้เตียงและใต้พื้นมีช่อง สุมไฟภายนอก ความร้อนเข้ามาในห้องได้ เป็น heater โบราณ คั่งนี้คนจนก็มีใช้ คือใช้ไฟหุงต้มนั่นเองส่งความร้อนเข้าใต้เตียง


(น.124) รูป 160 ภายในวังโบราณกู้กง

(น.124) พระตำหนักอีก 2 หลังอยู่ด้านซ้ายของพระตำหนักชิงหนิงกง เป็นพระสนมเอก 2 คนพี่น้อง ด้านหน้าตำหนักมีเสาไม้ บนยอดทำที่สำหรับวางของเซ่นไหว้ เรียกว่า สั่วหลุนเซวียน ศัพท์ว่าสั่วหลุนนี้ดั่งเดิมอาจเป็นภาษาแมนจู ของเซ่นไหว้ไกด์บอกว่าวางไว้ให้กากิน ถือว่าบรรพบุรุษเคยได้รับความช่วยเหลือจากกา ไกด์เล่าอีกเรื่องว่าคนแมนจูไม่กินม้าและไม่กินสุนัขเพราะมีบุญคุณ ม้าช่วยชีวิตจักรพรรดิไว้จนม้าตาย ส่วนสุนัขนั้นจักรพรรดิถูกไฟไหม้รอบๆ สุนัขกระโดดลงน้ำและกลิ้งไปรอบๆดับไฟจนตัวเองเหนื่อยตาย อีกอย่างที่ไม่มีคือตรงเสารับชายหลังคา หัวเสาเป็นรูปมังกรทั้งตัว ลักษณะสถาปัตยกรรมดูจะได้อิทธิพลมองโกลหรือทิเบต หรืออิทธิพลทิเบตรับผ่านมองโกล


(น.125) รูป 161 อาคารต้าเจิ้งเตี้ยน


รูป 162 ถ่ายรูปหมู่กับคณะจีน

(น.125) จากนั้นไปที่สือหวังถิง ซึ่งอยู่ในส่วนตะวันออก ตึกนี้เป็นที่ทำการของพวกปาฉี หรือพวกแปดธง กองธงทั้ง 8 ประกอบด้วยธงสีต่างๆ ดังนี้
1. ธงเหลือง ถือเป็นกองที่มีฐานะสูงสุด
2. ธงขาว มีฐานะเป็นที่สอง
3. ธงแดง
4. ธงน้ำเงิน


(น.126) รูป 163 ในห้องที่แสดงธงของพวกกองธงทั้ง 8

(น.126)
5. ธงเหลืองมีขอบแดง มีฐานะเป็นที่สาม
6. ธงขาวมีขอบแดง
7. ธงแดงมีขอบขาว
8. ธงน้ำเงินมีขอบแดง
เติ้งจุนอยู่ที่กรมพิธีการทูตจีน มาจากกระทรวงการต่างประเทศปักกิ่ง เขาบอกว่าบรรพบุรุษเขาเป็นปาฉี เหลืองขอบแดง แสดงว่าใหญ่พอใช้ การแบ่งเป็น 8 เช่นนี้นอกจากจะแบ่งเชื้อพระวงศ์และขุนนางแล้ว ยังแบ่งประ ชาชนด้วย


(น.127) รูป 164 ในห้องที่แสดงธงของพวกกองธงทั้ง 8

(น.127) เป็นการแบ่งหน้าที่ในการปกครอง เวลาเกิดศึกสงครามก็จะรู้ได้ทันทีว่าคนไหนควรอยู่กลุ่มไหนฟังก็ดูก็คล้ายกับการแบ่งกำลังคนในระบบไพร่ของไทยสมัยก่อน ที่พวกไพร่ทุกคนต้องขึ้นสังกัด อยู่ลอยๆไม่ได้ แม้แต่บุตรก็แบ่งว่าเป็นคนของใครของกรมของพ่อ หรือกรมของแม่ เป็นระบบที่แมนจูใช้มาตั้งแต่จักรพรรดิองค์แรก จนถึงภายหลังเมื่อมีการปฏิรูปการทหารตามแบบตะวันตกราวปี ค.ศ. 1901 จึงได้ยกเลิกระบบกองธงไป เรื่องการควบคุมคนในระบบกองธงนี้เป็นเรื่องหน้าสนใจ เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ข้าพเจ้าได้ถามหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอาจารย์เจียแยนจอง ซึ่งขณะนี้มาประจำอยู่สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาฯ ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงระบบกองธงไว้ในภาคผนวก ง

(น.128) อาคารต้าเจิ้งเตี้ยนซึ่งอยู่ส่วนตะวันออก เป็นอาคารเก่าแก่ที่สุด ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเอ่อร์ฮาชื่อ เป็นที่ว่าราชการ มีรูปร่าง 8 เหลี่ยม มีหลังคา 2 ชั้น การก่อสร้างไม่ได้ใช้ตะปูเลย ใช้แต่เข้าเดือยทั้งหมด ตอนที่เริ่มสร้างราชธานียังไม่ทิ้งประเพณีเร่ร่อน อาคารจึงมีลักษณะคล้ายกระโจมที่พวกเร่ร่อนในทุ่งหญ้าใช้ ดูพิพิธภัณฑ์ เข้าไปข้างในหนาวกว่าข้างนอกเสียอีก ข้างนอกวันนี้ฟ้ามืดไม่มีแดด วันนี้เกิดหยิบปากกา ลูกลื่นมาเขียนไปๆมาๆ ก็เขียน (จด) ไม่ออก นอกจากจะมือแข็งด้วยความหนาวแล้ว ปากกาลูกลื่นเขียนไม่ออก เป็นธรรมดา ดินสอก็เตรียมใส่กระเป๋ามา แต่หาไม่เจอว่าซุกอยู่กระเป๋า (เสื้อ) ไหน ปากกาหมึกซึมก็ใช้ไม่ได้ เพราะเวลาหิมะตกจะเลอะ เรื่องจดในที่หนาวก็เตรียมถุงมือที่ลองแล้วว่าเขียนใส่หนังสือได้มาด้วย แต่ว่าเขียนไม่เร็วเท่าถอด อีกอย่างหนึ่งมีถุงมือร้อนเรียกว่า หานถงเล่อ อังกฤษเรียก Warmie ซื้อจากปักกิ่งราคาไม่แพง ถุงละ 1 หยวน เท่ากับประมาณ 3 บาท เมื่อแกะห่อแล้วอยู่ได้ 24 ชั่วโมง เวลาหนาวๆก็กำถุงนี้เอาไว้

Next >>