Please wait...

<< Back

" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 "

(น.57) วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544
ตอนเช้าวิ่ง 3 รอบทะเลสาบ เกือบ 9 โมงแล้วยังไม่มีใครมา ข้าพเจ้าเตรียมของที่จะให้เป็นที่ระลึก ครูฟั่นมาบอกว่าวันนี้รถติดมาก ก่อนจะออกพวกสถานทูตถึงได้มา


(น.57) รูป 58 วิ่งตอนเช้า
Morning jog.


(น.58) รูป 59 ครอบครัวหวังเหมิง
Wang Meng's family.

(น.58) ไปบ้านหวังเหมิงซึ่งเขียนเรื่อง “ผีเสื้อ” ที่ข้าพเจ้าแปล คุณหวังเหมิงอยู่ชั้นที่ 9 ขึ้นไปถึงเจอลูกสาว ลูกชาย ลูกเขย ลูกสะใภ้ หลานๆ อยู่กันอุ่นหนาฝาคั่ง เพราะเป็นวันสุดสัปดาห์ วันธรรมดาคุณหวังเหมิงอยู่ด้วยกัน 2 คนสามีภรรยา คนอื่นๆ แยกไปอยู่ที่อื่นเฉพาะวันหยุด คุณหวังเหมิงและภรรยาเชิญนั่งห้องรับแขก ข้าพเจ้าให้หนังสือที่แปลเป็นภาษาจีน 3 เล่ม คือ ย่ำแดนมังกร มุ่งไกลในรอยทราย เกล็ดหิมะในสายหมอก หนังสือแปลบทกวี หยกใสร่ายคำ หนังสือ ทอสีเทียบฝัน และคำแปลภาษาอังกฤษ หนังสือบรรณานุกรม Bibliography of the Works of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn


(น.59) รูป 60 เซ็นหนังสือให้หวังเหมิง
Autographing books for Wang Meng.


(น.60) รูป 61 หวังเหมิงเซ็นหนังสือให้
Wang Meng autographing books for me.

(น.60) คุณหวังเหมิงให้หนังสือที่เขาเขียนหลายเล่ม หนังสือรวมบทกวีสมัยราชวงศ์ถัง พิมพ์จากบล็อกไม้ของเก่า ภาพจำลองลายพระหัตถ์จักรพรรดิคังซี ทรงเขียนคำว่า ฝู (หรือที่ภาษาแต้จิ๋วว่า ฮก) อักษรจารึกกระดองเต่าราชวงศ์ชังจำลอง เพื่อนของคุณหวังเหมิงเป็นนักเขียนเหมือนกัน ที่จริงมีประชุม แต่ทราบว่าข้าพเจ้าจะมาที่บ้านคุณหวังเหมิงก็เลยอยู่คอยพบ เขาเคยไปเมืองไทย เขาให้เข็มกลัดและโล่สมาคมนักเขียนจีน แล้วลาไปประชุม คุณหวังเหมิงเอารูปที่ถ่ายสมัยก่อนมาให้ดู อธิบายว่าไปไหนมาบ้าง รูปสมัยที่อยู่ซินเจียงถ่ายรูปกับชาวเหวยอู๋เอ่อร์ (หรืออุยกูร์) เป็นพวกเชื้อสายเตอร์ก คุณหวังเหมิงพูดภาษาอุยกูร์ได้ก็เลยพูดกับคนตุรกีรู้เรื่อง แล้วชวนไปดูห้องหนังสือ ไปห้องหนังสือของภรรยาก่อน ให้ดูหนังสือที่เขียนอยู่เล่มหนึ่งชื่อ ข้าพเจ้ากับหวังเหมิง เป็นอัตชีวประวัติ ที่ห้องหนังสือของหวังเหมิงมีตู้หนึ่งรวบรวมหนังสือที่เขียนไว้ รวมทั้งที่มีผู้อื่นแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ฮังกาเรียน อุยกูร์ (ลายเซ็นบนปกหนังสือที่เป็นภาษาอุยกูร์เป็นลายมือคุณหวังเหมิงเขียนเอง) คาซัก โรมาเนียน ยูโกสลาเวียน ดูเหมือนจะมีอีก แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ ภาษาไทยมีเฉพาะเล่มที่ข้าพเจ้าแปล เดี๋ยวนี้คุณหวังเหมิงใช้คอมพิวเตอร์เขียนหนังสือ


(น.61) รูป 62 ถ่ายกับหวังเหมิงและภรรยา
With Wang Meng and his wife.


รูป 63 ห้องทำงาน
His studying room.


(น.62) รูป 64 calligraphy ภาษาเหวยอู๋เอ่อร์ หรืออุยกูร์
Uigur calligraphy.

(น.62) นอกจากนั้นมีลายมือพู่กันภาษาอาหรับหรือภาษาอุยกูร์ ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ เขียนคำจากคัมภีร์อัลกุรอาน ปฏิทินมีรูปทิวทัศน์ ผู้คนจากมณฑลทางตะวันตก เช่น ซินเจียง ทิเบต ยูนนาน กวางสี (ตามนโยบายเปิดกว้างสู่ตะวันตก) นอกจากนั้นมีลายมือพู่กันจีน มีคำว่า อู๋เลี่ยง เป็นคำทางพุทธศาสนาแปลว่า ประมาณมิได้ (อมิตะ) มีตุ้ยเหลียนหรือคำขวัญคู่ติดอยู่ที่ข้างประตู รูปผลไม้ทางซินเจียง ในห้องรับแขกยังมีตู้ใส่ของขวัญหลากหลายที่ได้เป็นของขวัญจากการเดินทางไปประเทศต่างๆ คุณหวังเหมิงให้หนังสือเกี่ยวกับกวีสมัยราชวงศ์ถังชื่อ หลี่ซังอิ่น และหนังสือวิจารณ์วรรณคดีเรื่อง หงโหลวเมิ่ง หรือความฝันในหอแดง นอกจากท่านจะเป็นนักเขียนนวนิยายและบทความแล้ว ยังเป็นนักค้นคว้าและวิจัย (หรือจะเรียกว่าวิจารณ์) วรรณคดีโบราณ สำหรับกวีราชวงศ์ถังนั้นท่านสนใจศึกษากวีหลี่ซังอิ่นเป็นพิเศษ เพราะมีเรื่องที่ยังต้องศึกษาอีกมาก นักค้นคว้าวิจัยวรรณคดีก็ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ท่านได้นำบทกวีบทหนึ่งของหลี่ซังอิ่นมาเป็นชื่อหนังสือ

(น.63) ที่จริงยังมีเรื่องสนทนากันอีกมาก แต่เวลาหมดแล้ว เลยต้องลาเดินทางไปที่วัดต้าเจวี๋ย (ซึ่งน่าจะแปลว่า วัดมหาโพธิ) ที่วัดมีคนที่ดูแลวัด คุณซูเสี่ยวเฟิง ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมกรุงปักกิ่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (มีทั้งที่ตามข้าพเจ้าจากมหาวิทยาลัยแต่แรกและรออยู่ที่วัด) วัดต้าเจวี๋ยตั้งอยู่ที่เชิงเขาหยังไถ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอไห่เตี้ยน สร้างเมื่อ ค.ศ.1068 สมัยราชวงศ์เหลียว สมัยก่อนเรียกชื่อว่าชิงสุ่ยย่วน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดหลิงเฉวียนในสมัยราชวงศ์จิน (ค.ศ.1115-1234) ในค.ศ.1428 สมัยจักรพรรดิเซวียนเต๋อ (ค.ศ.1426-1435) ราชวงศ์หมิง มีการซ่อมครั้งใหม่เปลี่ยนชื่อเป็น ต้าเจวี๋ย วัดนี้มีลักษณะพิเศษคือ หันทางทิศตะวันออก วัดอื่นๆ หันทางทิศใต้ เรื่องทิศทางของวัดนี้ข้าพเจ้าไม่สู้จะเข้าใจดีนัก สันนิษฐานว่าทิศใต้ถือว่าเป็นทิศหลัก บางคนก็ว่าเลียนแบบวัดที่สร้างวัดแรกที่ภูมิประเทศบังคับให้หันทางทิศใต้ ที่หันทางตะวันออกบางคนว่าเป็นด้วยภูมิประเทศบังคับเช่นกัน หรือเป็นธรรมเนียมของราชวงศ์เหลียว แต่ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมีเหตุผลทางศาสนาคือ เมื่อสาธุชนเดินเข้าไปไหว้พระ เข้าทางตะวันออกก็จะเป็นพระอยู่ทางตะวันตก คือ ดินแดนสุขาวดี มีวิหารต่างๆ เช่น วิหารจตุโลกบาล วิหารมหาวีระ (ต้าสยงเป่าเตี้ยน) วิหารอมิตภะ (อู๋เลี่ยงโซ่วฝอเตี้ยน) วิหารมหากรุณา (ต้าเปยถาน) นอกจากนั้นยังมีวิหารอะไรต่อมิอะไรอีกแยะ (ซื่ออี ซีหยุน หลิงเย่า หลงหวังถัง) มีหอกลอง หอระฆัง ที่สำคัญอีกอย่างคือ มีธารน้ำและสระน้ำที่มีน้ำตลอดเวลา เราดูปลาที่สระน้ำนี้ได้เพราะว่ามาจากน้ำพุร้อนหลิงเฉวียน น้ำจึงไม่เป็นน้ำแข็งตอนหน้าหนาว

(น.64) ในวัดนี้มีต้นไม้ที่น่าสนใจ เป็นต้นไม้ที่ทางการอนุรักษ์ปกปิดรักษาอยู่หลายต้น เช่น ต้นไผ่ชนิดหนึ่งลำไผ่มีสีเขียวและสีเหลืองสลับกัน (ทางยาว) ในข้อเดียวกัน เขาถือว่าสีเหลืองคือทอง สีเขียวคือหยก และคนอธิบายบอกว่าเกี่ยวกับยินหยาง ปากั้ว รายละเอียดเป็นอย่างไรฟังไม่เข้าใจ ตันไป๋ (สนอย่างหนึ่ง) พันกับต้น Chinese Wisteria เขาว่าต้นนี้มีอายุราว 800 ปี เจดีย์ล้อมรอบด้วยต้นซง (สน) และต้นไป๋ ต้นแป๊ะก๊วยยักษ์อายุพันปี ต้นนี้เป็นต้นตัวผู้ เขาบอกว่าต้นไม้แบบนี้เรียกกันว่า ต้นปู่และหลาน เพราะว่าปู่เป็นผู้ปลูก ถึงรุ่นหลานจึงใช้ประโยชน์ได้


(น.64) รูป 65 กอไผ่สีเหลืองเขียวสลับกัน
Yellow and green bamboos.

Next >>