Please wait...

<< Back

" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 "


(น.92) รูป 98 ครูให้เทปมวยจีน
A video tape on Taijiquan given by the teacher.

(น.93) วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544
เช้ารำมวยจีน วันนี้ต่อท่าใหม่ ครูเอาวีดีโอเทปกับเทปเพลงที่เต้น มีเพลงหลายประเภท แต่เรารำ 24 ท่าไปได้สักครึ่งหนึ่งแล้ว


(น.93) รูป 99 รำมวยจีน
Practising Taiji.

(น.94) เรียนภาษาจีน วันนี้ขึ้นบทใหม่ (บทที่ 3) ครูอ่านให้ฟังแล้วให้ข้าพเจ้าเล่าตามที่เข้าใจ บทนี้เป็นเรื่องครอบครัว การแต่งงานเปรียบเทียบสมัยก่อนกับสมัยปัจจุบัน มีการบ้านแต่ไม่ต้องเขียนเรียงความ เพราะคืนนี้จะไปดูงิ้วอาจจะกลับดึก สนทนาภาษาจีน เรียนเรื่องศูนย์กิจกรรมคนชราที่จะไป เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะไปฟังคำบรรยาย หัวข้อยุทธศาสตร์การต่างประเทศของจีน และเรื่องงิ้วที่จะไปดูคืนนี้ ที่จริงเรียนเรื่องยุทธศาสตร์การต่างประเทศก็ถึงเวลาเที่ยงแล้ว แต่ครูอธิบายเรื่องงิ้ว เพราะเรื่องนี้มีตัวละครหลายตัวกลัวว่าจะสับสน รับประทานอาหารกลางวันมีไก่ผัดพริก และผักอะไรอย่างหนึ่ง เหมือนจะเป็นหัวไชเท้า ซุป พอรับประทานเสร็จทำการบ้านภาษาจีนทันที หวังว่าคืนนี้จะนอนเร็วหน่อย บ่ายสองโมงครึ่ง การบ้านยังทำไม่เสร็จ ครูก็มาตรงเวลา มาถึงบอกว่าเอาหนังสือทอสีเทียบฝัน ไปดูที่บ้านแล้ว ชอบรูปที่ข้าพเจ้าเขียนหลายรูป เช่น รูปรถติดไฟแดง และรูปดอกบัว เลยคิดเปลี่ยนวิธีสอนว่าไม่ต้องสอนการเขียนภาพเบื้องต้นแล้ว สอนเทคนิคต่างๆ เลยดีกว่า วันนี้ครูสอนเขียนภาพดอกบัว เขียนภาพตัวอย่างมาภาพหนึ่ง ร่างด้วยดินสอมาให้ข้าพเจ้าหัดเขียน


(น.94) รูป 100 ดอกไม้ประจำวัน
Today flowers.


(น.95) รูป 101 ดอกบัวที่ครูหลิวผิงสอนวันนี้
Lotus which Teacher Liu Ping taught me to paint today.

(น.95) เริ่มต้นด้วยการตัดเส้นกลีบดอกบัวด้วยสีเทา (หมึกผสมสีขาว) วิธีเขียนเส้นให้ลากยาวๆ เหมือนเขียนพู่กันจีน จากนั้นระบายสีด้วยสีขาว ถ้าสีขาวไม่ชัดพอให้กลับด้านระบายซ้ำ ใบบัวใช้สีเขียวผสมหมึก ใช้พู่กันใหญ่ที่สุดที่มีอยู่จิ้มสีเขียวผสมดำให้ชุ่ม ด้านข้างของพู่กันจิ้มสีเขียวผสมขาวปลายพู่กันจิ้มสีดำ ระบายเร็วๆ ก่อนระบายใช้หมึกลากเส้นเป็นแกนใบ ใช้สีดำ (หมึก) ตัดเส้นกลีบบัวเฉพาะตรงปลาย ระบายฝักบัวพร้อมกับก้านบัว ใช้สีอ่อนๆ (ผสมน้ำ) ตัดเส้น เม็ดบัวใช้สีเขียวผสมดำใส่น้ำมากๆ ระบายเป็นใบที่อยู่ใกล้ๆ (ไม่เห็นเป็นใบ) แต้มสีชมพูที่กลีบบางกลีบเล็กน้อย รวมทั้งกลีบบัวตูม ถึงตรงนี้ก็มีเทคนิคพิเศษ คือ ต้องถือพู่กันสองด้านในมือเดียวกัน คล้ายๆ กับถือตะเกียบ ด้ามหนึ่งจิ้มสีแดงผสมน้ำ ด้ามที่สองสีจางกว่าด้ามแรก อีกมือหนึ่งถือเศษกระดาษไว้ลองสี ระบายด้วยด้ามแรกและเปลี่ยนเป็นด้ามสองอย่างรวดเร็ว ใช้กระดาษอีกแผ่นซับน้ำ

(น.96) ใช้สีเหลืองระบายเกสรบัว ที่จริงก็มีเทคนิคเหมือนกัน แต่อธิบายไม่ถูก สุดท้ายใช้สีเขียวผสมหมึกเจือน้ำ ระบายใบหญ้าในน้ำ ที่จริงจะต้องเซ็นชื่อ แต่วันนี้ไม่มีเวลา และอีกอย่างหนึ่งอยากจะปรึกษาอาจารย์ที่สอนพู่กันจีนก่อนว่าควรจะเซ็นชื่ออย่างไร ครูหลิวผิงใช้เวลา 5 นาที เขียนดอกโบตั๋นสีแดง มีใบสีเขียว สีแดง ก็ต้องมีวิธีผสมปนหมึกเข้าไปหน่อยหนึ่ง ก้านสีน้ำตาล เขียนเสร็จหงเอี้ยนมาบอกว่าเลขาธิการพุทธสมาคมมาแล้ว ของที่เอามาให้อยู่ข้างล่าง พอดีจี้กับอาจารย์นิออนมา (พร้อมอาหาร)


(น.96) รูป 102 ครูวาดดอกโบตั๋นใช้เวลา 5 นาที
The teacher took 5 minutes to paint peony.


(น.97) รูป 103 เลขาธิการเตาซู่เหริน เอาพระไตรปิฎกวัดฝังซานที่พิมพ์มาให้
Secretariat Dao Shuren gave me the new edition of the Tripitaka of Fang Shan Temple.

(น.97) ลงไปที่ห้องข้างล่าง คุณเตาซู่เหริน เลขาธิการพุทธสมาคม เอาหนังสือพระไตรปิฎกที่เพิ่งพิมพ์เสร็จมาให้ พระไตรปิฎกชุดนี้เขาถ่ายรูปจากสำเนาศิลาจารึกที่วัดฝังซาน ข้าพเจ้าเคยไปดูนานมาแล้ว เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2543) ตอนเดือนมีนาคม ไปที่หอสมุดแห่งชาติปักกิ่งได้ไปเห็นรูปถ่ายของวัดติดแสดงไว้ จึงถามถึงพระไตรปิฎกนี้ ทางหอสมุดบอกว่าขณะนี้ไปดูไม่ได้แล้ว เพราะว่ากลัวจะชำรุด จึงฝังลงดินไปใหม่ แต่มีสำเนา 2 ชุด ชุดหนึ่งอยู่ที่หอสมุดแห่งชาตินี่ ส่วนอีกชุดหนึ่งอยู่ที่พุทธสมาคม ข้าพเจ้าขอดูทางหอสมุดบอกว่าดูตอนนี้ไม่ได้ หยิบยาก ทางพุทธสมาคมกำลังพิมพ์เพื่อจำหน่าย ข้าพเจ้าขอให้สถานทูตสืบเรื่องนี้ ได้รายละเอียดการพิมพ์ ราคาชุดหนึ่งเป็นเรือนแสน


(น.98) รูป 104 เปิดตู้พระไตรปิฎก
Opening the Tripitaka cabinet.

(น.98) เมื่อมีโอกาสตามเสด็จสมเด็จแม่มาปักกิ่งอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม (พ.ศ.2543) จึงไปพุทธสมาคมถามคุณเตาว่า จะดูสำเนาจารึกพระไตรปิฎกได้ไหม คุณเตาบอกว่าตอนนี้ดูไม่ได้ เพราะแผ่นโตมากหยิบยาก แต่เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วจะให้ชุดหนึ่ง วันนี้พอครูฟั่นขอนามบัตร คุณเตาบอกว่าไม่ได้เอามา แต่ที่จริงให้ข้าพเจ้า 3 ใบแล้ว ใบแรกให้ตอนไปเจดีย์ที่ปาต้าชู่ ใบที่สองให้ที่พุทธมณฑล ใบที่สามให้ปีที่แล้วที่พุทธสมาคม ข้าพเจ้าว่าเอามาด้วย พระไตรปิฎกโบราณนี้เริ่มสลักสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) พระสงฆ์ชื่อจิงหวั่นเป็นผู้เริ่มสลัก ทำอยู่ 30 ปี ได้เพียงพระสูตรเดียว คือ มหาปรินิวาณสูตรใน ค.ศ.639 ต่อจากนั้นได้สลักต่อๆ กันมาจนมาถึงราชวงศ์ชิง เป็นเวลาพันปีเศษ จึงแล้วเสร็จใน ค.ศ.1691 มีจำนวนแผ่นหิน 15,061 แผ่น รวม 900 กว่าพระสูตร ถ้าจะอ่านก็ต้องใช้แว่นขยายดู ขณะนี้ที่วัดฝังซานดูของจริงได้แล้ว ที่เขาบอกว่าฝังดิน ที่จริงก็คือเอาไว้ห้องใต้ดิน ซึ่งเขาเรียกว่าถ้ำ มีประตูเปิดเข้าได้ เขาให้ตู้ทำด้วยไม้การบูรสำหรับใส่พระไตรปิฎกนี้ การบูรช่วยรักษาหนังสือได้เป็นอย่างดี ไม้มาจากมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) สลักหน้าตู้ว่า พระไตรปิฎกหินจากฝังซาน พุทธสมาคมมอบให้เจ้าฟ้าสิรินธร และมีประกาศนียบัตรกำกับด้วย เขาบอกว่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนแรก ให้พระปานชานลามะเป็นชุดที่สอง แต่ที่จริงดูในประกาศนียบัตรให้ข้าพเจ้าหมายเลข 2 แต่ก็ไม่เป็นไร ถวายพระก่อนก็ถูกต้องแล้ว

(น.99) คุณเตาซู่เหรินบอกว่า ต้องการอะไรเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศจีนก็ให้บอก ข้าพเจ้าถามถึงบัญชีหนังสือคัมภีร์ใบลานภาษาทิเบตและภาษาสันสกฤต เขาบอกว่าจะไปถามที่สถาบันศึกษาทิเบตให้ ทางพุทธสมาคมไม่ได้เป็นผู้จัดทำ ถามถึงคัมภีร์กัณฑวยูหะ สมัยราชวงศ์หมิง เขาว่าจะไปหาถ้าได้จะเอามาให้ เมื่อคุณเตาซู่เหรินและคณะไปแล้ว ข้าพเจ้าขึ้นมารับประทานอาหารกับอาจารย์นิออน จี้ และครูฟั่น ข้าพเจ้าทำผัดผักต่างๆมีบร๊อกโคลี่ ปวยเล้ง และอะไรอีกอย่างลืมไปแล้ว ใส่น้ำมันหอย (ตามเคย) ใส่ซุปแบรนด์ กระเทียม รากผักชี (ลืมโรยพริกไทย) ที่พิเศษคือใส่ข้าวตัง


(น.99) รูป 105 ที่โรงงิ้วฉังอาน คุยกับอดีตผู้ว่าราชการปักกิ่ง
Talking with the former governor of Beijing at Chang-an Grand Theatre.

Next >>