<< Back
" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2545 "
(น.73) วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2545
วันนี้ตื่นขึ้นมาจัดของถึงนาทีสุดท้าย ลงไปรับประทานที่ห้องอาหารชั้น 26 แล้วเดินทางไปเลย ไม่กลับมาที่โรงแรมนี้อีก นั่งรถไปกู่ซาน
สองข้างทางทิวทัศน์เหมือนเมืองไทย มีควาย นั่งรถขึ้นเขา คนอื่นๆ ที่มาเที่ยวมักจะเดินขึ้นเขา มีคนมากพอใช้ทั้งๆ ที่เป็นวันธรรมดา ไม่ใช่วันหยุด ข้างถนนมีต้นสนมาก
กู่ซาน แปลว่า ภูเขากลอง ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะมียอดเขารูปร่างเหมือนกลอง และว่ากันว่าเวลาฝนตกจะมีเสียงเหมือนตีกลอง ที่จริงเทือกเขานี้มีหลายยอด ที่สูงที่สุดเหนือระดับน้ำทะเล 969 เมตร
ครอบคลุมบริเวณกว้างถึง 48 ตารางกิโลเมตร มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มาได้สะดวกเพราะห่างเมืองมาทางตะวันออกราว 8.5 กิโลเมตรเท่านั้น เรามีเวลาให้ดูเพียงแห่งเดียว คือ วัดหย่งฉวน รถไปจอดหน้าประตูด้านนอก ที่เรียกว่า สือกู่ซาน
(น.74) รูป
(น.75) รูป
(น.75) จากตรงนั้นเป็นทางเดิน ทำเป็นทางยาว มีกำแพงสองด้านไม่สูงนัก ทางเดินเป็นหิน มองไม่เห็นวัด จนเข้าไปถึงลานใหญ่ หน้าวิหารพระเมตไตรย ตามทางสลักลายเขียนพู่กันบนหินหลายจุด มีประตูหลายประตู
ที่ซุ้มประตูเขียนพู่กันจีน ล้วนเป็นคำที่มีคติ พระที่พาเดินขึ้นไปห่มจีวรสีเหลือง โกนศีรษะแต่มีหนวดยาว บอกว่าเป็นพระนิกายฉานจง (นิกายฌาน) ตามทางเดินถ้าถนนหักมุมมักจัดสวนไว้เป็นระยะๆ ตามสวนมีหินสลักลายพู่กัน
เช่น ลายมือจูเต๋อ เขียนว่า หลานฮัวผู่ (สวนกล้วยไม้) เขียนเมื่อ ค.ศ. 1961 ต่อจากนั้นเป็นทางเดินยาว มีเจดีย์พระอรหันต์ 18 องค์เรียงริมทางเดินซ้ายขวา ด้านละ 9 องค์
ตรงองค์ระฆังของเจดีย์ของเจดีย์สลักรูป ตรงด้านเหลี่ยมสลักชื่อพระอรหันต์และชื่อผู้บริจาค เช่น เศรษฐีสิงคโปร์ แซ่ลิ้ม สมาคมพุทธศาสนาแห่งสิงคโปร์
(น.76) ประตูแห่งหนึ่ง ด้านหน้าเขียนข้อความแปลว่า ผู้มีวาสนา (ฮก) มากมายมาที่วัด อีกด้านเขียนว่า หันหัวกลับไปคือฝั่งน้ำ แปลว่า กลับตัวกลับใจก็จะถึงพระโพธิญาณ ประตูก่อนถึงลานใหญ่เขียนว่า เสาหลักทะเลและฟ้า
ที่ลานหน้าวัด หน้าผาตรงข้ามกับวิหารแรกเขียนว่า จือเอิน เป้าเอิน แปลว่า กตัญญู กตเวที เขียนคำ “เอิน” ตัวแรกเล็กๆ ตัวหลังเขียนโต พระอธิบายว่า เวลาคนอื่นทำบุญคุณแก่เรา เราต้องตอบแทนคุณให้มาก
วัดนี้มีประวัติย้อนไปถึงสมัยปลายราชวงศ์ถัง ค.ศ. 906 มีชื่อเสียงมากในประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(น.76) รูป
(น.77) รูป
(น.77) ที่หน้าวิหารริมบันไดทางขึ้นมีเจดีย์ดินเผาสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ค.ศ. 1082 (รัชศกหยวนเฟิง) ทำเป็นเจดีย์หลายชั้นแบบจีน มีพระพุทธรูปอยู่ในซุ้ม หน้าวิหารมีป้ายชื่อวัดลายพระหัตถ์จักรพรรดิคังซี มีพระราชลัญจกรสลักอยู่บนอักษร
วิหารหน้า มีพระเมตไตรยอยู่กลางจตุโลกบาล 2 ข้าง ข้างละ 2 องค์ ด้านหลังพระเมตไตรยหันหน้าไปหาลานใหญ่ของวิหารกลาง มีรูปเหวยถัว (พระสกันทะ หรือพระขันทกุมาร) ประนมมือ เป็นผู้รักษาพระไตรปิฎก
สองด้านเป็นหอกลองและหอระฆัง ด้านซ้ายของวิหารกลางเป็นหอกลอง ตีกลองตอนเย็น ด้านขวาเป็นหอระฆัง ตีตอนเช้า เรียกพระมาสวดมนต์ตอนเช้าตอนเย็น
(น.78) รูป
(น.78) วิหารกลาง (ต้าสยงเป่าเตี้ยน) ด้านในมีพระประธานสามองค์เรียงกัน พระที่เป็นผู้อธิบายบอกว่า เป็นพระศากยมุนี 3 ยุค คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่พวกเราคิดว่าน่าจะเป็นพระอมิตาภะ พระศากยมุนี
และพระเมตไตรยหรือพระทีปังกรมากกว่า หน้าพระศากยมุนีมีพระกัสสปะ พระอานนท์ รอบพระประธานมีพระอรหันต์ 18 องค์ ด้านหลังพระประธานมีพระรูปพระอมิตาภะ ด้านขวาของพระอมิตาภะ คือ พระผู่เสียน
(พระสมันตภัทร) ด้านซ้ายคือ พระอวโลกิเตศวร หน้าพระอวโลกิเตศวร (กวนอิม) มีโต๊ะเครื่องบูชาแบบจีน ทำด้วยไม้ของจีนชนิดหนึ่งเรียกว่า ไม้จีซือ (ไก่เส้น) เขาว่าปัจจุบันหาไม้ชนิดนี้ไม่ได้แล้ว โต๊ะบูชานี้จึงเป็นของล้ำค่าสิ่งหนึ่งในของล้ำค่า 3 สิ่งของวัดนี้
(น.79) รูป
(น.80) ไปที่กุฏิของเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสเชิญนั่ง ในห้องรับแขกฝาผนังห้องติดลายพู่กันจีนเอาไว้เต็ม ทั้งที่เป็นป้ายไม้และกระดาษ เจ้าอาวาสอธิบายลักษณะการก่อสร้างวัดทางภาคใต้ ท่านว่าวัดมี 3 แบบ
1. แบบภาคเหนือมีซุ้มประตูใหญ่ อาคารใหญ่ๆ ไม่ค่อยมีรายละเอียด
2. แบบภาคใต้แถบกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน มีลวดลายละเอียดคล้ายๆ กับศิลปะไทย
3. แบบมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง อานฮุย ใช้สีดำ-สีขาวมาก
ท่านเล่าว่าเป็นเจ้าอาวาสมา 10 ปีแล้ว ห้องรับแขกที่เรานั่งอยู่นี้ชื่อซานไหลถัง (三来堂) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นรำลึกถึงเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง สมัยก่อนมีกฎว่าเลือกเจ้าอาวาสใหม่ทุก 3 ปี
เจ้าอาวาสรูปนั้นอาวุโสสูง ได้รับเลือกถึง 3 ครั้ง ห้องรับแขกจึงมีชื่อว่า ซานไหลถัง แปลว่า อาคารมา 3 หน ชื่อเดิมเขียนบนป้ายเก่าว่า เสิ้งเจี้ยนถัง เอาไปติดไว้ด้านใน (เสิ้งเจี้ยนถัง แปลว่า อาคารธนูศักดิ์สิทธิ์)
(น.80) รูป
Next >>