<< Back
" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2545 "
(น.135) วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2545
รับประทานอาหารแล้วไปที่ท่าเรือ Ferry ข้ามไปที่เกาะกู่ลั่งอวี่ ระยะทาง 600 เมตร ใช้เวลาประมาณ 5-7 นาที
ช่วงนี้ยังเช้าอยู่ ที่ฝั่งน้ำเห็นผู้สูงอายุมาออกกำลังกาย
เกาะกู่ลั่งอวี่ขณะนี้มีประชาชนประมาณ 16,000 คน แต่ก่อนเคยมีโรงงานอุตสาหกรรม แต่ย้ายไปหมดแล้ว เขาจำกัดจำนวนประชากรที่อยู่บนเกาะอย่างถาวร คนย้ายสำมะโนครัวออกไปได้
แต่ย้ายเข้าไม่ได้ (ไม่ทราบว่ามีกำหนดว่าคนน้อยที่สุดเท่าไรหรือเปล่า ประเดี๋ยวย้ายเพลินไม่เหลือใครเลย เป็นเกาะร้างๆ มีแต่นักท่องเที่ยว และผู้ปฏิบัติงานเหมือนเป็น theme park ก็ไม่ไหว)
เศรษฐกิจของเกาะขึ้นกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ไม่เคยมีรถยนต์แล่นเลย เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มี ใช้รถจักรยานอย่างเดียว
เขาจัดรถกอล์ฟให้เรา พอจะแล่นได้ อีกประการหนึ่งคือ เรียกกันว่าเกาะนี้เป็นเกาะแห่งดนตรี พวกนักดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเปียโน ผู้อำนวยเพลงจากที่ต่างๆ มักนิยมมาที่นี่ นักดนตรี
(น.136) เกิดที่นี่ หรือมาจากที่อื่นมาเรียนที่นี่ นักเปียโนและผู้อำนวยเพลงที่มีชื่อระดับประเทศของจีนเป็นคนที่นี่ ถึงจะมีประชากรไม่มากนัก แต่เกือบทุกครอบครัวมีเปียโนของตนเอง รวมทั้งสิ้นประมาณ 500 หลัง
(ไม่ทราบตัวเลขถูกหรือเปล่า ถ้ามีคน 16,000 เปียโน 500 ก็ไม่น่าจะเรียกว่าเกือบทุกครอบครัวมีเปียโน แต่ก็นับว่ามีมาก หรือเป็นส่วนใหญ่) รางวัลประกวดดนตรีมักจัดที่นี่ จึงมีฉายาว่า “เกาะเปียโน”
เกาะนี้เคยเป็นเขตเช่าของประเทศตะวันตกตั้งแต่หลังสงครามฝิ่นมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีสถานกงสุลของชาติต่างๆ ถึง 14 ประเทศ จึงมีอาคารหลายรูปแบบ จนมีฉายาเป็นพิพิธภัณฑ์ทางสถาปัตยกรรมของโลก
(น.137) ระหว่างที่รถกอล์ฟแล่น ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บรรยายเรื่องเกาะนี้ บ้านของชาวบ้านแถวนี้สร้างระหว่างทศวรรษ 1920-1930 ยังอยู่ต่อๆ กัน
คนต่างชาติฝรั่งเดิมที่เคยอยู่ออกไปแล้ว มีคนต่างชาติเชื้อสายจีนกลับมาอยู่ เช่น มาจากพม่า อินโดนีเซีย ฉะนั้นเกาะนี้จะมีต้นไม้ดอกไม้ที่ชาวจีนโพ้นทะเลนำกลับมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 2,000 กว่าชนิด มีสวนต้นไม้ดอกไม้งาม จึงเรียกกันว่า เป็นสวนดอกไม้บนทะเล
ที่นี่มีโบสถ์คริสต์หลายหลังที่สร้างมาตั้งแต่สมัยที่ต่างชาติยังอยู่ ในปัจจุบันนี้ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนที่เกี่ยวกับศิลปะ เช่น Art Vocational University
โรงเรียนดนตรี ซึ่งเป็นที่ประกวดรางวัลไชคอฟสกี้ พิพิธภัณฑ์บ้านของแพทย์จีนคนหนึ่งชื่อมาดามหลินเฉี่ยวจื้อ มีบ้านพักคนชราพักอยู่ประมาณร้อยกว่าคน
สถานที่ท่องเที่ยวที่เราได้ไปดูคือ
(น.138) 1. รื่อกวงเหยียน (Riguangyan 日光岩) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดสูงสุดของเกาะ มีอีกชื่อหนึ่งว่า เขาหลงโถว (เศียรมังกร) มีหลืบเขาและถ้ำ ขึ้นไปแล้วมองทิวทัศน์ได้ไกล
เมื่อ 300 กว่าปีมาแล้วเป็นที่ฝึกทหารของขุนพลเจิ้งเฉิงกง ซึ่งชาวตะวันตกเรียกว่า คอซิงกา (Koxinga) มาจากภาษาจีนว่า กั๋วซิ่งเหย หมายถึง ผู้อาวุโสที่ใช้แซ่ของประเทศ
บางคนบอกว่าเขาไม่ใช่นักรบเป็นโจรสลัด ที่จริงคือ ผู้มีอิทธิพล ขุนศึก หรือ warlord ที่ไม่ยอมแพ้ผู้อื่นคุมอำนาจอยู่แถบฝั่งทะเลตะวันออกนี้ เจิ้งเฉิงกงคุมกำลังชาวจีนต่อสู้กับพวกฮอลันดา
จนได้ชัยชนะ ยึดเกาะไต้หวันคืนมาได้ ในบริเวณนี้มีศาลเจ้า (รู้สึกว่าไม่ค่อยจะเก่า) เนื่องจากเป็นค่ายทหารเก่า จึงเป็นโบราณสถานที่อนุรักษ์ไว้ เดิมเป็นของฝรั่ง ต่อมาคนเวียดนามเชื้อสายจีนซื้อมาทำสวนส่วนตัว และภายหลังกลายเป็นสวนสาธารณะ
(น.138) รูป
(น.139) รูป
(น.139) เราขึ้นไปบนหอสูงชมวิว บริเวณที่สูงสุด (สูงราว 92.7 เมตร) มองได้ไปถึงเกาะจินเหมิน ซึ่งเป็นเกาะขึ้นกับไต้หวัน บริเวณนี้เป็นที่เจิ้งเฉิงกงเตรียมตัวรบกับฮอลันดาเพื่อยึดเกาะไต้หวันคืน
เห็นอาคารแบบตะวันตกมากมาย ไกด์เล่าว่าหลัง ค.ศ. 1840 เปิดให้ต่างชาติเข้ามาได้ เป็นการเปิดประเทศแบบไม่เสมอภาค แต่ก็มีข้อดีอยู่ที่ว่าเป็นการเปิดประเทศทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมมีนักวิจัยมาจากมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นมาวิเคราะห์เรื่องแบบก่อสร้างบนเกาะนี้
ตามก้อนหินทำรูปปั้นแสดงวิถีชีวิตที่นี่สมัยที่เจิ้งเฉิงกงยังมีอำนาจ มีรูปประเพณีกินขนมเปี๊ยะ และประเพณีไหว้พระจันทร์ เป็นเกมเพื่อให้ทหารที่ฝึกอย่างเคร่งเครียดได้ผ่อนคลาย แข่งขันทอดลูกเต๋า ถ้าใครชนะได้เลข 4 สามลูกได้กินขนมเปี๊ยะ ชาวบ้านแถวนี้เล่นกันมาจนทุกวันนี้ และเผยแพร่ไปที่ใกล้เคียงด้วย
ระหว่างที่เดินชม เขาเปิดเพลงเปียโนเพราะๆ อยู่ตลอด
(น.140) 2. หอประวัติเจิ้งเฉิงกง (Xiamen Zheng Chenggong Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ ก่อตั้งใน ค.ศ. 1962 เพื่อฉลอง 300 ปี ของการที่เจิ้งเฉิงกงตีไต้หวันคืนมาได้จากฮอลแลนด์
เดิมเป็นคฤหาสน์ของชาวจีนที่อพยพกลับมาจากเวียดนาม จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งแบบฝรั่งเศส (ไกด์อธิบายว่าอย่างนี้ ตัวข้าพเจ้าเองแยกไม่ออกว่าอาคารยุค colonial หรือ imperial
แบบไหนเป็นแบบฝรั่งเศส แบบไหนเป็นเยอรมัน ฯลฯ เห็นจะต้องไปถามคนอื่น) ปีนี้เป็นปีที่ดำเนินการพิพิธภัณฑ์มาได้ครบ 40 ปี (ค.ศ. 2002) จึงคิดที่จะปรับปรุงภายในบางส่วน
(น.140) รูป
(น.141) เป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องประชุมเล็กๆ ใช้ในการบรรยาย ไกด์ (ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์) เล่าประวัติเจิ้งเฉิงกงว่า เป็นคนที่มีชื่อเสียงสมัยปลายราชวงศ์หมิงต่อต้นราชวงศ์ชิง
บิดาเป็นพ่อค้าที่ค้าขายกับต่างประเทศ คือฮอลแลนด์กับโปรตุเกส มารดาเป็นชาวญี่ปุ่นเมือง Hirado บนเกาะคิวชู เป็นเมืองที่ญี่ปุ่นในสมัยปิดประเทศอนุญาตให้พ่อค้าจีนมาค้าขายได้
เจิ้งเฉิงกงเกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1624 ที่ญี่ปุ่น อยู่ที่นี่จนอายุ 7 ปี จึงกลับมาเรียนหนังสือที่เมืองจีน สอบเข้ารับราชการได้ ปฏิบัติงานดีเด่นในการรบกับแมนจูเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์หมิง
ตั้งชื่อเมืองเซี่ยเหมินเสียใหม่ว่า ซือหมิงโจว (ซือหมิง แปลว่า คิดถึงหมิง โจว แปลว่า เมือง) ความจงรักภักดีนี้ทำให้จักรพรรดิหมิงหลงอู่ซาบซึ้งในคุณงามความดี ให้เป็นผู้อาวุโสที่ใช้แซ่ของประเทศ ให้ใช้แซ่จู ซึ่งเป็นแซ่ราชวงศ์หมิงได้ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ
ใน ค.ศ. 1624 ฮอลแลนด์ยึดเกาะไต้หวันได้ 38 ปีให้หลังทหารฮกเกี้ยนไปรบ 9 เดือน ไล่พวกดัตช์ออกไปได้
ขึ้นไปดูนิทรรศการที่ชั้น 2 เล่าประวัติศาสนาและประวัติของเจิ้งเฉิงกงตั้งแต่เกิดที่ญี่ปุ่นกลับมาอยู่ที่อำเภอหนานอาน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) บางตำราว่าเกิดที่หนานอาน ไปศึกษาที่หนานจิง
สิ้นราชวงศ์หมิงจึงกลับมาที่บ้านเกิด มีเรื่องการรบกับแมนจู ใช้กำลังทหารที่ฝึกพิเศษ เรียกว่า กองทหารเถี่ยเหรินจวิน (กองทหารมนุษย์เหล็ก) เนื่องจากสวมเกราะเหล็กไปรบกับทหารม้าของพวกแมนจู
และเป็นพวกที่รบเก่งมาก มีตราของนายทหารแสดงไว้ให้ดูด้วย พร้อมกับเล่าถึงการประกาศกฎหมายท้องถิ่น รายได้ที่นำมาใช้ในการรบมาจากการค้าขายกับต่างประเทศ ทางเหนือไปค้าที่ญี่ปุ่น
ทางใต้ไปถึงอินโดนีเซีย เคยค้าขายกับสยามซื้อเสบียงอาหาร เพื่อให้การค้ากับต่างประเทศทำได้สะดวกคล่องตัว จึงทำเงินเหรียญใช้เอง จึงใช้แต่เหรียญทองแดง เจิ้งเฉิงกงทำเหรียญเงินใช้ด้วย เจิ้งเฉิงกงเคยยกกองทัพไปรุกถึงหนานจิง (นานกิง) 3 ครั้ง แต่ไม่สามารถตีได้
(น.142) รูป
(น.142) ขึ้นไปชั้นที่ 3 มีภาพดาวเทียมของเกาะไต้หวัน ซึ่งคนไต้หวันส่งมาให้ แสดงวัตถุโบราณต่างๆ เรื่องประวัติมณฑลฮกเกี้ยน รูปจำลองเรือที่ใช้สมัยเจิ้งเฉิงกง เป็นเรือรบมีรูปตาเขียนไว้ข้างๆ เรือด้านหน้า
อธิบายว่าเป็นดวงตาของเทพธิดาหมาจู่ สถานที่ต่อเรือสมัยนั้นอยู่ตงซานในมณฑลฝูเจี้ยน มีปืนใหญ่โบราณ มีบันทึกเกี่ยวกับการเดินทางไปไต้หวันว่า ออกจากเซี่ยเหมินวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1661
ถึงไต้หวันวันที่ 29 บริเวณที่เรียกว่า ลู่เอ่อร์เหมิน เป็นช่องแคบที่พวกดัตช์คิดว่าเป็นที่น้ำตื้น ปรากฏว่าเวลาน้ำขึ้น เรือของจีนแล่นเข้าไปได้
(น.143) มีเกราะของทหารจีนเป็นไม้ไผ่สานกับหวายแช่น้ำมัน กระสุนของพวกดัตช์ยิงไม่เข้า
สัญญาฉบับแรกที่จีนทำกับประเทศตะวันตกคือ ที่เจิ้งเฉิงกงทำ ฉบับที่เราเห็นเป็นสำเนา เอกสารจริงอยู่ที่ฮอลแลนด์
(น.143) รูป
(น.144) รูป
(น.144) การปกครองไต้หวันสมัยนั้นแบ่งเป็น 2 จังหวัด 2 อำเภอ เจิ้งเฉิงกงนำวิธีการทำนาตามวิธีการทันสมัยในขณะนั้นไปใช้ในไต้หวัน สร้างโรงเรียนตั้งระบบการสอบตามแบบแผ่นดินใหญ่
เจิ้งเฉิงกงป่วยตั้งแต่ตอนที่สู้กับฮอลแลนด์ เสียชีวิตที่ไถหนาน ไต้หวัน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1662 ในปี ค.ศ. 1770 หลานชายย้ายศพกลับมาฝัง ณ สุสานของตระกูล ที่หนานอาน มณฑลฮกเกี้ยน
นอกจากนั้นมีของขวัญที่คนมาเยือนพิพิธภัณฑ์มอบให้
(น.145) 3. สวนชูจวงและพิพิธภัณฑ์เปียโน เป็นสวนที่มีชื่อเสียงที่สุดในเซี่ยเหมิน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ อยู่ใต้รื่อกวงเหยียน เจ้าของเดิมเป็นคนไต้หวันชื่อ นายหลินเอ่อร์เจีย ใน ค.ศ. 1895
รัฐบาลราชวงศ์ชิงทำสัญญาให้ไต้หวันอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น นายหลินไม่อยากอยู่ใต้ญี่ปุ่น จึงข้ามมาที่กู่ลั่งอวี่ ซื้อที่ (คงจะซื้อจากฝรั่ง) สร้างบ้านและสวนตั้งแต่ ค.ศ. 1913-1925 เป็นการออกแบบสวนตามแบบจีนที่เรียกว่า เก็บทิวทัศน์ภายนอกเข้าสวนคือ เอาทิวทัศน์และทะเลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสวน ทายาทของเจ้าของสวนยกให้รัฐบาลกลางใน ค.ศ. 1956
ก่อนจะออกไปเดินดูสวน เข้าไปดูในพิพิธภัณฑ์เปียโน ผู้ที่สะสมเปียโนชื่อ หูโหย่วอี้ เป็นคนที่เกิดบนเกาะนี้ ขณะนี้ไปอยู่ที่ออสเตรเลีย มีเปียโนเก่าประมาณ 70 หลัง โคมไฟสำหรับส่องเปียโนโบราณมากกว่า 100 ดวง
ได้ทำความตกลงกับรัฐบาลท้องถิ่นว่าให้เปียโนตั้งที่นี่ 10 ปี และยกเป็นสมบัติของรัฐบาลท้องถิ่นเป็นสิทธิ์ขาด เปียโนที่ตั้งอยู่ที่นี่มีประมาณ 30 ยี่ห้อ จากอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรีย และออสเตรเลีย เป็นต้น มีหลายหลังที่อายุเกิน 100 ปี เช่น เปียโนของ Clementi & co. London ค.ศ. 1801
Next >>