Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2545 "

(น.161) วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2545
รับประทานอาหารเช้าเสร็จไปอำเภอจี๋เหม่ย เป็นบ้านเกิดของเศรษฐีชาวจีนโพ้นทะเลที่ชื่อเฉินเจียเกิง เมื่อมีฐานะมั่งคั่ง ได้กลับมาสร้างคุณประโยชน์ด้านการศึกษาแก่บ้านเกิดมากมาย เช่น เริ่มจากในปี ค.ศ. 1913 สร้างโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาสำหรับนักเรียนชาย สำหรับนักเรียนหญิง แล้วทำต่อเนื่องมา ตั้งโรงเรียนพาณิชย์นาวี วิทยาลัยฝึกหัดครู ใน ค.ศ. 1921 ตั้งมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ต่อมายกกิจการเหล่านี้ให้รัฐบาล บ้านตระกูลเก่าของเขาสร้างเป็นอนุสรณ์สถานที่เราไปดู ข้างๆ มีสวนอ๋าวหยวน อนุสรณ์สถานนี้ใช้เวลาสร้าง 10 ปีระหว่าง ค.ศ. 1951-1961 มีศิลาสลักตรงทางเดินเล่าประวัติศาสตร์จีนเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 จนถึงการสร้างสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากประวัติศาสตร์ ยังมีเรื่องประวัติโบราณ นิทานเก่าแก่ เช่น เรื่องสามก๊กหลายตอน เพื่อเป็นคติธรรม มีส่วนที่เป็นประวัติการทำงานของเฉินเจียเกิงและเป็นฮวงซุ้ยด้วย ที่ฮวงซุ้ยมีรูปเต่าสิริมงคล


(น.162) รูป

(น.162) เฉินเจียเกิงเกิดที่บ้านจี๋เหม่ยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1874 เขาจากบ้านเกิดไปค้าขายที่สิงคโปร์เมื่ออายุได้ 17 ปี ได้ไปทำกิจการสวนยางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน ค.ศ. 1940 ส่งคณะแพทย์ไปช่วยรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ที่เหยียนอาน ครั้งนั้นประธานเหมาและนายพลจูเต๋อเลี้ยงอาหารเขาที่เหยียนอานตามประสายาก มีแต่อาหารง่ายๆ ทุกคนตื่นเต้นกันมาก เฉินเจียเกิงคิดว่าระบอบของเหยียนอานเป็นอนาคตของจีน (ในขณะนั้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้แต่สหรัฐอเมริกายังไปเหยียนอานเจรจากับประธานเหมา เพราะคิดว่าจริงจังในการต่อสู้ญี่ปุ่นมากกว่าฝ่ายจีนคณะชาติ) ค.ศ. 1950 เฉินเจียเกิงกลับจี๋เหม่ยซึ่งเขาจากไป 60 ปี เขาใช้ชีวิต 12 ปีสุดท้ายที่จีน วันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1962 ตายที่ปักกิ่ง อายุ 88 ปี โจวเอินไหลให้เกียรติมาเป็นประธานในงานศพของเขาด้วยตนเอง รัฐบาลกลางเป็นเจ้าภาพงานศพ มีธงชาติจีนคลุม เขามีลูก 17 คน ยังมีชีวิตอยู่ 8 คน ชาย 5 หญิง 3 อยู่ต่างประเทศ อนุสาวรีย์ตรงกลางนอกจากมีประวัติคร่าวๆ แกะสลักไว้แล้ว ยังมีความรู้เรื่องพืช สัตว์ และยาจีนเหมือนตำราที่วัดโพธิ์

(น.163) ด้านนอกมีสวนสาธารณะชื่อว่า อ๋าวหยวน (อ๋าว แปลว่า เต่ายักษ์ทะเล เป็นสัตว์สิริมงคลในตำนาน) นั่งรถต่อไปอีกชั่วโมงกว่า ไปทางเมืองเฉวียนโจว ถึงวัดไคหยวน ซึ่งสร้าง ค.ศ. 686 สมัยราชวงศ์ถัง แต่ก่อนนี้เคยเป็นสวนหม่อน และมีนิทานเล่าว่าหม่อนที่สวนนี้ออกดอกมาเป็นดอกบัวซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคล เพราะเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา วัดนี้จะเหลือต้นหม่อนเก่าแก่อยู่ต้นหนึ่ง เรียกกันว่า หม่อนพันปี ค.ศ. 1925 ฟ้าผ่าต้นหม่อนต้นนี้เป็น 3 ส่วน ทางวัดเอาเสามาค่ำเอาไว้ ค.ศ. 1994 พายุพัดมาอีก นอกจากนั้นมีต้นโพธิ์มาจากวัดหนานผู่ถัวคู่หนึ่งอายุราว 100 กว่าปี


(น.163) รูป


(น.164) รูป

(น.164) วัดนี้ก็เหมือนวัดอื่นๆ คือ มีต้าสยงเป่าเตี้ยน (หรือวิหารมหาวีระวิหารกลาง) อยู่ด้านหน้า ที่วิหารนี้มีป้ายเขียนว่า ซางเหลียนฝ่าเจี้ย แปลว่า หม่อนบัวธรรมะ มีเสาหินกว่า 100 ต้น จึงเรียกกันอีกอย่างว่า อาคารเสา 100 ต้น พระแย่งไกด์อธิบายว่า วัดนี้ถือตามนิกายเป่ยฉวน หรืออุตรนิกาย มีพระพุทธรูป 5 องค์ มีพระยูไล อู่จื้อ เป็นนิกายมี่จงหรือตันตระ ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ ตรงหัวเสามีรูปเทวดาเหาะ 24 องค์ เรียกว่า เป็นเฟยเทียน ดูคล้ายๆ กับเทวดาบินที่พบตามเส้นทางสายแพรไหม ที่นี่ในมือถือคัมภีร์ แต่เจ้าอาวาสเพิ่งไปเมืองลังกาก็เลยบอกว่าเหมือนลังกา ข้าพเจ้าจะไปว่าไม่เหมือนก็ไม่ได้เพราะไม่เคยไปลังกา ด้านหลังมีรูปพระอรหันต์ 18 องค์ และมีรูปกวนอิม เสาหินของวิหารนี้ดูเหมือนกับว่าเป็นเสาแบบแขก พระเล่าว่าสมัยราชวงศ์ซ่งในเมืองนี้มีวัดฮินดู ต่อมาวัดฮินดูพังจึงเอาเสามาไว้ที่วัดนี้ ตามเสามีรูปจำหลัก เช่น รูปนรสิงหาวตาร ด้านบนเป็นรูปพระกฤษณะ เสาบางต้นดูเป็นฝีมือจีนไม่เป็นแขก


(น.164) รูป


(น.165) รูป

(น.165) พระอธิบายว่า วัดนี้มีการปฏิบัติทั้งแบบฉานจงและมี่จง ฉานจงหรือเซ็นมีการเข้าฌาน สมาธิ สวดมนต์ มี่จงหรือตันตระมีการทำมือเป็นมุทรา คือ ท่าทางต่างๆ ที่มีความหมาย อาคารเจี้ยถาน ดูเหมือนจะเป็นที่ประกอบพิธีอุปสมบท (พิธีรับศีล) มีพระพุทธรูปตั้งอยู่เป็นชั้นๆ 5 ระดับ ซึ่งพระอธิบายว่าเป็นศีล 5 ขั้น มีเฟยเทียนเหมือนกัน ในมือถือเครื่องดนตรีโบราณของฝูเจี้ยน สร้าง ค.ศ. 1019 ซ่อมใน ค.ศ. 1666


(น.166) รูป

(น.167) ออกมาที่ลานวัด วัดนี้มี 2 ลาน และมีเจดีย์ 2 องค์ เป็นเจดีย์หินที่ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดในจีน คือ เจิ้นกั๋วถะ (คุ้มครองพิทักษ์ชาติ หรือเจดีย์ตะวันตก) สร้าง ค.ศ. 1250 และเจดีย์เหยินโซ่วถะ (เมตตาและอายุยืน) สร้าง ค.ศ. 1237 ดูลักษณะคล้ายกันมาก ทำด้วยหินแกรนิตเหมือนกัน แต่ว่าสูงไม่เท่ากัน และสร้างต่างเวลากัน ใช้เวลาสร้าง 22 ปี ค.ศ. 1604 แผ่นดินไหว 8 ริกเตอร์ใน 8 มณฑล เจดีย์ 2 องค์นี้ไม่เป็นอะไร ที่ฐานเจดีย์แกะสลักนิทานในพุทธศาสนา เป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมสลักรูปคนแคระแบกเจดีย์ มีคนแคระที่เขาอธิบายว่าเป็นหัวหน้าคอยให้เสียงเป็นจังหวะให้แบกพร้อมกัน อาศัยเข้าห้องน้ำที่วัด พระท่านให้หนังสือและ VCD เรื่องวัด ภาษาอังกฤษและภาษาจีน รถแล่นผ่านเมือง มีที่ขายไม้ดัด


(น.167) รูป


(น.168) รูป

(น.169) ชิงหยวนซาน (ภูเขาสวนน้ำใส) เป็นสวนสาธารณะ ในสวนดูหินแกะเป็นรูปเหลาจื่อ (เล่าจื้อ) สูง 5.5 เมตร สร้างสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1017) รูปเหลาจื่อ ทำให้คิดโยงไปถึงเรื่องศาสนาเต้า (เต้าเจี้ยว) คำว่า “เจี้ยว” แปลว่า ศาสนา ศาสนาเต้าหรือเต้าเจี้ยวก่อกำเนิดในสมัยจักรพรรดิซุ่นตี้ (ค.ศ. 125-144) ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ผู้ก่อตั้งชื่อ จางหลิง แนวคิดศาสนานี้ รวมแนวคิดหลายๆ แนวเข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องความเชื่อผีสางเทวดา คำพยากรณ์ ฮวงจุ้ย และลัทธิเต๋า เอาคัมภีร์ของเหลาจื่อมาเป็นคัมภีร์หลัก และยกย่องเหลาจื่อเป็นใหญ่สูงสุด ลัทธิเต้าที่เหลาจื่อเป็นเจ้าลัทธินั้น (หรือเต๋า ในภาษาไทย) มีมาตั้งแต่สมัยชุนชิว (770-481 ก่อนคริสต์กาล) ต่อมาถูกจางหลิงอ้างเป็นเต้าเจี้ยว (ศาสนาเต้า) จึงควรแยกกันระหว่าง ลัทธิเต้า (เต้าเจีย) และศาสนาเต้า เพราะต่างกัน


(น.169) รูป

Next >>