<< Back
พระไตรปิฎกวัดฝังซาน
จากหนังสือ
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 97,98
(น.97) รูป 103 เลขาธิการเตาซู่เหริน เอาพระไตรปิฎกวัดฝังซานที่พิมพ์มาให้
(น.97) ลงไปที่ห้องข้างล่าง คุณเตาซู่เหริน เลขาธิการพุทธสมาคม เอาหนังสือพระไตรปิฎกที่เพิ่งพิมพ์เสร็จมาให้ พระไตรปิฎกชุดนี้เขาถ่ายรูปจากสำเนาศิลาจารึกที่วัดฝังซาน ข้าพเจ้าเคยไปดูนานมาแล้ว เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2543) ตอนเดือนมีนาคม ไปที่หอสมุดแห่งชาติปักกิ่งได้ไปเห็นรูปถ่ายของวัดติดแสดงไว้ จึงถามถึงพระไตรปิฎกนี้ ทางหอสมุดบอกว่าขณะนี้ไปดูไม่ได้แล้ว เพราะว่ากลัวจะชำรุด จึงฝังลงดินไปใหม่ แต่มีสำเนา 2 ชุด ชุดหนึ่งอยู่ที่หอสมุดแห่งชาตินี่ ส่วนอีกชุดหนึ่งอยู่ที่พุทธสมาคม ข้าพเจ้าขอดูทางหอสมุดบอกว่าดูตอนนี้ไม่ได้ หยิบยาก ทางพุทธสมาคมกำลังพิมพ์เพื่อจำหน่าย
ข้าพเจ้าขอให้สถานทูตสืบเรื่องนี้ ได้รายละเอียดการพิมพ์ ราคาชุดหนึ่งเป็นเรือนแสน
(น.98) รูป 104 เปิดตู้พระไตรปิฎก
(น.98) เมื่อมีโอกาสตามเสด็จสมเด็จแม่มาปักกิ่งอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม (พ.ศ.2543) จึงไปพุทธสมาคมถามคุณเตาว่า จะดูสำเนาจารึกพระไตรปิฎกได้ไหม คุณเตาบอกว่าตอนนี้ดูไม่ได้ เพราะแผ่นโตมากหยิบยาก แต่เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วจะให้ชุดหนึ่ง
วันนี้พอครูฟั่นขอนามบัตร คุณเตาบอกว่าไม่ได้เอามา แต่ที่จริงให้ข้าพเจ้า 3 ใบแล้ว ใบแรกให้ตอนไปเจดีย์ที่ปาต้าชู่ ใบที่สองให้ที่พุทธมณฑล ใบที่สามให้ปีที่แล้วที่พุทธสมาคม ข้าพเจ้าว่าเอามาด้วย
พระไตรปิฎกโบราณนี้เริ่มสลักสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) พระสงฆ์ชื่อจิงหวั่นเป็นผู้เริ่มสลัก ทำอยู่ 30 ปี ได้เพียงพระสูตรเดียว คือ มหาปรินิวาณสูตรใน ค.ศ.639 ต่อจากนั้นได้สลักต่อๆ กันมาจนมาถึงราชวงศ์ชิง เป็นเวลาพันปีเศษ จึงแล้วเสร็จใน ค.ศ.1691 มีจำนวนแผ่นหิน 15,061 แผ่น รวม 900 กว่าพระสูตร ถ้าจะอ่านก็ต้องใช้แว่นขยายดู ขณะนี้ที่วัดฝังซานดูของจริงได้แล้ว ที่เขาบอกว่าฝังดิน ที่จริงก็คือเอาไว้ห้องใต้ดิน ซึ่งเขาเรียกว่าถ้ำ มีประตูเปิดเข้าได้
เขาให้ตู้ทำด้วยไม้การบูรสำหรับใส่พระไตรปิฎกนี้ การบูรช่วยรักษาหนังสือได้เป็นอย่างดี ไม้มาจากมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) สลักหน้าตู้ว่า พระไตรปิฎกหินจากฝังซาน พุทธสมาคมมอบให้เจ้าฟ้าสิรินธร และมีประกาศนียบัตรกำกับด้วย เขาบอกว่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนแรก ให้พระปานชานลามะเป็นชุดที่สอง แต่ที่จริงดูในประกาศนียบัตรให้ข้าพเจ้าหมายเลข 2 แต่ก็ไม่เป็นไร ถวายพระก่อนก็ถูกต้องแล้ว