Please wait...

<< Back

เทียนโห้ว

จากหนังสือ

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 146

(น.146) การที่มีคนจีนเดินทางเรือออกนอกประเทศเป็นจำนวนวนมากเช่นนี้ทำให้ความเชื่อเรื่องเจ้าผู้พิทักษ์คุ้มครองทะเลแพร่ขยายเพิ่มขึ้น มีการสร้างศาลเทพเจ้าที่ดูแลท้องทะเล ได้แก่ เทียนโห้ว หรือหมาจู่ เกิดมีองค์กรที่บริหารวัดหรือศาลเจ้าเหล่านี้ (Temple Management) นอกจากนั้นมีการตั้งแสดงหลักกิโลเมตร (ของเขาใช้เป็นไมล์) จากอเบอร์ดีนไปวิกตอเรีย 5 ไมล์ (ไมล์หนึ่งเท่ากับ 3 ลี้)

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 274,278


(น.274) รูป 211 พิพิธภัณฑ์ทางทะเลมาเก๊า

(น.274) ที่หมายที่ 4 คือ พิพิธภัณฑ์ทางทะเล (Macao Maritime Museum) เป็นของนาวิกโยธินโปรตุเกส ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ใกล้เคียงกับจุดที่โปรตุเกสได้มาขึ้นฝั่งที่มาเก๊าเป็นครั้งแรก เป็นสถานที่แสดงวัฒนธรรมโปรตุเกสและจีน อาคารพิพิธภัณฑ์คล้ายๆ กับเรือ พอเข้ามาในชั้นล่างเป็นห้องโถง แสดงวิถีการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน ตลอดจนความเชื่อถือของชุมชนชาวประมงบริเวณชายฝั่งทะเลตอนใต้ของจีน มีการแสดงประวัติของเทพธิดาอาม่า หรือที่เรียกอีกชื่อว่าทินเฮ่า (เทียนโห้ว ในภาษาจีนกลาง) ทางแต้จิ๋วเรียกว่าหมาจู่ ซึ่งเป็นเทพแห่งท้องทะเลผู้คุ้มครองรักษาชาวเรือให้พ้นจากภัยอันตรายทางทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งไต้ฝุ่นแสดงร้านค้าต่างๆ บริเวณท่าเรือ ตลอดจนอุปกรณ์ในการจับปลา การเพาะเลี้ยงหอยนางรม กระดานสำหรับถีบหาหอยในโคลน การทำงานในเรือสำเภา และเรื่องการเฉลิมฉลองเทศกาลประจำปีของชาวจีน เช่น วันตรุษจีน วันเกิดเทพธิดาทินเฮ่า และเทศกาลแข่งเรือมังกร เป็นต้น มีไม้ชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการสร้างเรือ เครื่องมือต่อเรือ

(น.278) มีร้านค้าขายหนังสือและของที่ระลึก และมีภัตตาคารให้คนที่มาชมพิพิธภัณฑ์ ได้หนังสือมา 2 เล่ม เรื่อง Memorandum of the Fleets เป็นภาษาโปรตุเกส จีน และอังกฤษ เป็นรูปถ่ายจากต้นฉบับโบราณรูปเรือใบต่างๆ พิมพ์ใน ค.ศ. 1995 และเรื่อง Ship of China เป็นภาษาโปรตุเกส จีน และอังกฤษเช่นกัน เป็นหนังสือทำนองเดียวกับเล่มแรก แต่เป็นภาพเขียนยุคปัจจุบัน เดินออกไปศาลเจ้าเจ้าแม่อาม่า ทินเฮ่า หรือหมาจู่ ซึ่งเป็นเทพลัทธิเต๋าที่คุ้มครองคนเดินเรือดังที่กล่าวถึงแล้วหลายหน ในศาลเจ้านี้มีรูปเจ้าแม่กวนอิมด้วย มีหลวงจีนท่านหนึ่งมาต้อนรับและพยายามอธิบาย แต่สื่อสารกันไม่ค่อยได้ เลยไม่รู้เรื่อง อ่านจากหนังสือว่าศาลแห่งนี้มีมาก่อนที่โปรตุเกสจะเดินทางมาถึงมาเก๊า แต่อาคารที่เห็นปัจจุบันสร้างสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 บางคนบอกว่าชื่อเมืองมาเก๊ามาจากคำว่า อามาเกา หมายถึง ท่าเรือของอาม่า


(น.278) รูป 217 ศาลเจ้าเจ้าแม่อาม่า