Please wait...

<< Back

" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม "


(น.274) รูป 211 พิพิธภัณฑ์ทางทะเลมาเก๊า

(น.274) ที่หมายที่ 4 คือ พิพิธภัณฑ์ทางทะเล (Macao Maritime Museum) เป็นของนาวิกโยธินโปรตุเกส ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ใกล้เคียงกับจุดที่โปรตุเกสได้มาขึ้นฝั่งที่มาเก๊าเป็นครั้งแรก เป็นสถานที่แสดงวัฒนธรรมโปรตุเกสและจีน อาคารพิพิธภัณฑ์คล้ายๆ กับเรือ พอเข้ามาในชั้นล่างเป็นห้องโถง แสดงวิถีการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน ตลอดจนความเชื่อถือของชุมชนชาวประมงบริเวณชายฝั่งทะเลตอนใต้ของจีน มีการแสดงประวัติของเทพธิดาอาม่า หรือที่เรียกอีกชื่อว่าทินเฮ่า (เทียนโห้ว ในภาษาจีนกลาง) ทางแต้จิ๋วเรียกว่าหมาจู่ ซึ่งเป็นเทพแห่งท้องทะเลผู้คุ้มครองรักษาชาวเรือให้พ้นจากภัยอันตรายทางทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งไต้ฝุ่นแสดงร้านค้าต่างๆ บริเวณท่าเรือ ตลอดจนอุปกรณ์ในการจับปลา การเพาะเลี้ยงหอยนางรม กระดานสำหรับถีบหาหอยในโคลน การทำงานในเรือสำเภา และเรื่องการเฉลิมฉลองเทศกาลประจำปีของชาวจีน เช่น วันตรุษจีน วันเกิดเทพธิดาทินเฮ่า และเทศกาลแข่งเรือมังกร เป็นต้น มีไม้ชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการสร้างเรือ เครื่องมือต่อเรือ


(น.275) รูป 212 สิ่งของและนิทรรศการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินเรือ ชีวิต ธรรมเนียมประเพณีของชาวเรือ


รูป 213 สิ่งของและนิทรรศการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินเรือ ชีวิต ธรรมเนียมประเพณีของชาวเรือ


(น.276) รูป 214 สิ่งของและนิทรรศการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินเรือ ชีวิต ธรรมเนียมประเพณีของชาวเรือ

(น.276) ชั้นที่สองเป็นการแสดงภาพเกี่ยวกับประวัติการเดินทางทางทะเลของชาวโปรตุเกส เช่น Prince Henry, the Navigator การเดินทางด้วย Blackship (เรียกว่า Blackship เพราะว่ากระดูกงูเรือเป็นไม้สีดำ) ใน ค.ศ. 1618 จากกัวผ่านมาเก๊า ไปญี่ปุ่น การเดินทางของ Vasco da Gama, Bartholomew Dias เป็นต้น และการเดินทางทางเรือที่สำคัญในยุคเดียวกัน เช่น แผนที่และภาพการเดินทางของนายพลเจิ้งเหอ การค้นพบมาเก๊า การสำรวจทางทะเล แบบจำลองของเรือเดินทะเลประเภทต่างๆ ตลอดจนวิวัฒนาการของการใช้เรือสินค้าสำคัญที่ค้าขายกันในสมัยโบราณ เช่น ใบชา เครื่องเทศ พริกไทย อบเชย ขิง กระวาน กานพลู และเครื่องปั้นดินเผา ศิลาจารึกต่างๆ เช่น จารึกลังกาสมัยราชวงศ์หมิง นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงของมา


(น.276) รูป 215 สิ่งของและนิทรรศการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินเรือ ชีวิต ธรรมเนียมประเพณีของชาวเรือ


(น.277) รูป 216 มีโทรศัพท์เล่าข้อมูลต่างๆ

(น.277) เก๊าในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งประกอบด้วยกำแพงเมืองและป้อมปราการ เป็นต้น ชั้นบนสุดแสดงแบบจำลองของเรือบรรทุกสินค้าจากอดีตจนปัจจุบัน รวมทั้งอุปกรณ์ช่วยการเดินเรือบางชนิด รูปหมู่ดาวที่ใช้ในการเดินเรือ เขียนอธิบายทั้งชื่อจีนและภาษาละติน อุปกรณ์ทำแผนที่ทุ่นต่างๆ ที่ใช้เป็นประโยชน์ต่างกัน ภาพจำลองประภาคารกีอาตลอดจนการทำงานภายใน ภาพการเดินทางของเรือโดยสารตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเรือกลไฟจนถึง Jetfoils เรือชนิดอื่นๆ เช่น เรือขุดร่องน้ำในปัจจุบัน รวมทั้งเรือสำเภาที่ใช้ในสงครามทางทะเลในอดีต ส่วนหนึ่งของอาคารเป็น Aquarium แสดงชีวิตและธรรมชาติความเป็นอยู่ของปลาในเขตร้อน รวมทั้งภาพจำลองนกน้ำต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่ตามชายฝั่ง ตลอดจนเปลือกหอยที่หาได้ในบริเวณรอบๆ มาเก๊าและอาณาเขตใกล้เคียง ภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นที่จัดแสดงเรือหาปลาในภาคใต้ของจีน เวียดนาม เรือแข่งประเทศต่างๆ รวมทั้งเรือที่ใช้ในการติดตามโจรสลัดในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19

(น.278) มีร้านค้าขายหนังสือและของที่ระลึก และมีภัตตาคารให้คนที่มาชมพิพิธภัณฑ์ ได้หนังสือมา 2 เล่ม เรื่อง Memorandum of the Fleets เป็นภาษาโปรตุเกส จีน และอังกฤษ เป็นรูปถ่ายจากต้นฉบับโบราณรูปเรือใบต่างๆ พิมพ์ใน ค.ศ. 1995 และเรื่อง Ship of China เป็นภาษาโปรตุเกส จีน และอังกฤษเช่นกัน เป็นหนังสือทำนองเดียวกับเล่มแรก แต่เป็นภาพเขียนยุคปัจจุบัน เดินออกไปศาลเจ้าเจ้าแม่อาม่า ทินเฮ่า หรือหมาจู่ ซึ่งเป็นเทพลัทธิเต๋าที่คุ้มครองคนเดินเรือดังที่กล่าวถึงแล้วหลายหน ในศาลเจ้านี้มีรูปเจ้าแม่กวนอิมด้วย มีหลวงจีนท่านหนึ่งมาต้อนรับและพยายามอธิบาย แต่สื่อสารกันไม่ค่อยได้ เลยไม่รู้เรื่อง อ่านจากหนังสือว่าศาลแห่งนี้มีมาก่อนที่โปรตุเกสจะเดินทางมาถึงมาเก๊า แต่อาคารที่เห็นปัจจุบันสร้างสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 บางคนบอกว่าชื่อเมืองมาเก๊ามาจากคำว่า อามาเกา หมายถึง ท่าเรือของอาม่า


(น.278) รูป 217 ศาลเจ้าเจ้าแม่อาม่า


(น.279) รูป 218 พบกับผู้ว่าราชการมาเก๊า

(น.279) ไปทำเนียบผู้ว่าราชการมาเก๊า เป็นอาคารสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เดิมเป็นบ้านของคหบดีชาวมาเก๊า พบผู้ว่าราชการ General Vasco Joaquim Rocha Viera เคยเป็นผู้แทนทางการทหารของโปรตุเกสประจำนาโต้ในเบลเยี่ยม และได้เป็นรัฐมนตรี มีหน้าที่รับผิดชอบ Autonomous Region of Azores (เป็นหมู่เกาะอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ) ก่อนจะมาเป็นผู้ว่าราชการที่มาเก๊า

Next >>