Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นเมืองกวางตุ้ง

จากหนังสือ

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 82,83,84,85,86

(น.82) ที่หมายที่ 4 คือ บ้านตระกูลเฉิน และพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นเมือง รองนายกเทศมนตรีเปิดรถไฟใต้ดินแล้วกลับมารับ นายหลี่จัวฉีเป็นคนนำชม บ้านหลังนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1890-1894 ผู้ที่ริเริ่มสร้างเป็นบุคคลตระกูลเฉิน 3 คน คือ เฉินหุ่ยหลาน เฉินซีหลาน และเฉินเจียงหลิน มีคนคิดว่าคนตระกูลเฉินที่สอบคัดเลือกมาจากอำเภอแล้วจะต้องมาสอบระดับสูงขึ้นที่กวางโจว น่าจะมีสถานที่เป็นที่พักและศึกษาหาความรู้เพื่อเตรียมตัวสอบ จึงเรี่ยไรคนในตระกูลเฉินรวม 72 ครอบครัว เพื่อสร้างเป็นสถานศึกษา ครั้งแรกได้เงินไม่พอต้องเรี่ยไรอีกครั้งหนึ่ง โดยแจ้งวัตถุประสงค์เสียใหม่ว่า เพื่อสร้างเป็นศาลเจ้าของตระกูล การเรี่ยไรคราวนี้เพียงพอ


(น.83) รูป 82 ประตูสลัก ภาพไก่ลูกดก กล้วยใบใหญ่

(น.83) เมื่อก๊กมินตั๋งเข้ามาปกครองประเทศ ใช้สถานที่นี้เป็นที่ฝึกหัดนักกีฬาของมณฑลกวางตุ้ง จนถึง ค.ศ. 1957 จึงประกาศเป็นโบราณสถาน ใน ค.ศ. 1957 จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นเมืองของกวางตุ้ง เก็บของต่างๆ ถึง 20,000 ชนิด การก่อสร้างเป็นศาลเจ้าจีนตามแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ ประกอบด้วยอาคารน้อยใหญ่ 19 อาคาร การก่อสร้างใช้ไม้เชื่อมต่อกันโดยไม่ใช้ตะปู มีเนื้อที่ใช้สอยทั้งหมดราว 15,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน คือส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง เครื่องประดับตกแต่งอาคารทั้งหมดถือได้ว่าเป็นการรวบรวมแบบอย่างศิลปกรรมมณฑลกวางตุ้ง คือ มีทั้งการสลักอิฐ สลักไม้ ประดับกระเบื้องและเครื่องปั้นดินเผา อาคารประธานมีประตูไม้สลักบานใหญ่ๆสลักเป็นรูปภาพตามภาษิตโบราณของจีน เช่น ให้กิจการยิ่งใหญ่(ภาพต้นกล้วยใบใหญ่) ให้มีลูกมีหลานเจริญรุ่งเรือง(ภาพไก่ลูกดก)


(น.83) รูป 83 ประตูสลัก รูปลำไม้ไผ่ ตัดเป็นรูปฮกกลับแสดงว่านำความรุ่งเรืองสู่เรือน


(น.84) รูป 84 รูปปั้นแสดงสถานที่สำคัญๆ รูปบ้านเรือนอยู่บนหลังคา

(น.84) เสาเป็นไม้หุ้มปูนทำด้วยหินตำ ทำเป็นรูปลำไม้ไผ่มีความหมายว่าให้เด็กในตระกูลเรียนหนังสือต่อสูงขึ้นไปเรื่อยๆ รูปสลักอื่นๆ เช่น เรื่อง ลำบากไปก่อนแล้วจึงจะสบาย งานใหญ่ต้องสำเร็จภายหลัง รูปไม้ไผ่ดัดเป็นรูปฮก (福) กลับข้าง หมายถึงนำความมั่งคั่งเข้าสู่บ้านเรือน อาคารประธานอยู่บนยกพื้นมีกำแพงแก้วล้อมลายในช่องกำแพงเป็นเหล็กดัด หัวเสาทำเป็นถาดใส่ผลไม้ที่มีในมณฑล ถือว่าเป็นการไหว้เจ้าทุกวัน ส่วนประกอบหลังคา และขื่อประดับด้วยเครื่องปั้นดินเผา และรูปสลักหินตำ มีรูปอาคารบ้านเรือน มีปลามังกร (อ๋าวหยู)ประดับ หมายถึงให้เรียนหนังสือได้ดี อักษรจีนคำว่า เรียนหนังสือดี มีเสียงเหมือนกับชื่อปลานี้ และตัวอักษรก็มีส่วนเหมือนกัน บนขื่อมีรูปปั้นนูนสูง แสดงสถานที่สำคัญ 8 แห่งของกวางโจว หนึ่งในแปดนั้นคือพิพิธภัณฑ์กวางโจว อาคารอื่นๆ เป็นที่แสดงศิลปหัตถกรรมที่สำคัญของเมืองกวางโจว


(น.84) รูป 85 รูปปั้นเคลือบแสดงสถานที่สำคัญ 8 แห่งของกวางโจว


(น.85) รูป 86 ประตูไม้สลัก

(น.85) อาคารที่แสดงเครื่องปั้นดินเผา มีประตูสลักไม้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญบ้าง สลักเรื่องตามภาษิตจีนบ้าง เช่น ประวัติศาสตร์เยว่เฟย(งักฮุย) เสวียเริ่นกุ้ย (ซิยิ่นกุ้ย) หวงเฟยหง หานซิ่น การกลับบ้านเดิมอย่างมีเกียรติ รูปสลักตามกวีนิพนธ์ของหลี่ไป๋ เครื่องปั้นดินเผาที่แสดงในอาคารที่มีชื่อเสียงมากคือเครื่องปั้นแบบเฟิงซี ปั้นขึ้นรูปแล้วฉลุ ประดับลายอย่างละเอียด มีตู้แสดงขั้นตอนการทำ ตั้งแต่ขึ้นรูป วาดลายละเอียด ฉลุ เขียนสี เผา มีเครื่องมือที่ใช้วางไว้ให้ดูด้วย


(น.85) รูป 87 ประตูไม้สลัก


(น.86) รูป 88 ภาพแสดงเครื่องปั้นดินเผา

(น.86)แจกันลายน้ำทองแบบกวางโจว อาคารชั้นใน มีที่บูชา มีรูปปั้น อาคารข้างๆ แสดงศิลปหัถกรรมหลายอย่าง แสดงการปักไหม ผ้าลูกไม้ทำมากสมัยราชวงศ์ชิง มักจะทำประสมกับการปักผ้า ผ้าชาวเขาเผ่าต่างๆ ในไหหลำ มีพวกม้ง พวกเย้า ตามลานเก็บกระถางไม้ดัดโบราณ ก่อนจะกลับคุณหลี่ ผู้นำชม แสดงการเขียนตัวอักษร


(น.86) รูป 89 ทางเดินระหว่างอาคาร